ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > เมืองใหญ่ในอาเซียนอยู่ในภาวะอันตราย เสี่ยงภัยพิบัติจาก Climate Changeมากขึ้น จาการ์ตา-กรุงเทพกำลังจะจมน้ำ

เมืองใหญ่ในอาเซียนอยู่ในภาวะอันตราย เสี่ยงภัยพิบัติจาก Climate Changeมากขึ้น จาการ์ตา-กรุงเทพกำลังจะจมน้ำ

2 มิถุนายน 2019


ปัจจุบันเมืองใหญ่ผุดขึ้นทั่วโลก แต่เมืองใหญ่ในเอเชียยังคงเป็นเมืองที่เติบโตเร็วและมีต้นทุนในการพัฒนาไม่สูง อีกทั้งเมืองใหญ่เหล่านี้ยังขยายตัวในแง่ขนาดและความมั่งคั่ง ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของประชากรเมือง

องค์การสหประชาชาติให้ความหมายของเมืองใหญ่ หรือ megacities ว่าเป็นพื้นที่เมืองซึ่งมีประชากรตั้งแต่ 10 ล้านคนขึ้นไป และหากจำนวนประชากรในเขตเมืองยังคงเพิ่มขึ้นในอัตราปัจจุบัน จำนวนเมืองใหญ่หรือ megacities ของโลกจะเพิ่มเป็น 43 เมืองภายในปี 2030 และภายในปี 2050 ประชากรส่วนใหญ่ 75% จะอาศัยอยู่ในพื้นที่เมือง

รายงาน International Construction Costs 2019 แสดงให้เห็นว่า เมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น กัวลาลัมเปอร์ จาการ์ตา หรือกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีต้นทุนถูกที่สุดในโลกสำหรับการก่อสร้างใหม่ ปัจจัยที่มีผลให้ต้นทุนค่าก่อสร้างลดลง คือ ค่าจ้างแรงงานที่ต่ำลง การเข้าถึงวัสดุก่อสร้างที่ง่ายขึ้น และยังมีที่ดินราคาถูกอีกมาก

เมืองใหญ่ในอาเซียนเติบโตของควบคู่ไปกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร ซึ่งมีผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกระจุกตัวและเพิ่มความเชื่อมโยง และนำไปสู่การพัฒนาที่มากขึ้นและการเพิ่มจำนวนประชากร

มีการประมาณการณ์กันว่าจำนวนประชากรของอาเซียนจะเพิ่มเป็น 665 ล้านคนในปี 2020 โดยอินโดนีเซียสูงเป็นอันดับหนึ่งด้วยจำนวน 269 ล้านคน และรองลงมาคือฟิลิปปินส์จำนวน 100 ล้านคน ในปี 2050 จะมี 7 ประเทศในอาเซียนซึ่งมีประชากรอาศัยในเขตเมืองมากกว่า 50% ของประชากรทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ประชากรในอาเซียนยังคงแตกต่างกัน เพราะมีตั้งแต่มีความเป็นคนเมืองสูงดังเช่นในสิงคโปร์และมาเลเซีย ไปจนถึงมีความเป็นคนเมืองในระดับปานกลาง เช่น ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ขณะที่ชาวกัมพูชาส่วนใหญ่ยังอาศัยอยู่ในชนบท

เมืองใหญ่มีแนวโน้มว่าจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าครึ่งหนึ่งของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษในชั้นบรรยากาศทั่วโลก ดังนั้น ความคิดที่มีต่อโลกอนาคตดูแล้วอาจจะเป็นสถานที่ที่ไม่น่าอยู่

เกลน เจ. ลุทซ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของอาร์คาดิส เอเชีย ให้ความเห็นว่า สิงคโปร์ปรับตัวรับเทคโนโลยีใหม่ได้ค่อนข้างเร็ว ซึ่งจะทำให้มีประสิทธิภาพมากกว่าและมีความยั่งยืนในการสร้างสิ่งแวดล้อม สิงคโปร์ได้รับการจัดอันดับเป็นเมืองใหญ่อันดับ 10 ของเอเชีย ที่มีความเป็นอยู่และสภาพแวดล้อมที่ดีและมีการใช้เงินเพื่อการวิจัยและพัฒนารวมทั้งนวัตกรรมที่สูงกว่า ขณะที่เมืองใหญ่อีกหลายเมืองของอาเซียนประสบความยากลำบากในการทำตาม

เมืองใหญ่ของอาเซียนส่วนใหญ่ตั้งอยู่ใกล้พื้นที่ชายฝั่ง จึงได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ Climate Change โดยจาการ์ตาและกรุงเทพฯ กำลังจะจมลงทีละน้อย เนื่องจากมีประชากรอาศัยอยู่จำนวนมาก ขณะที่เมืองใหญ่อื่นๆ ของอาเซียนก็มีความเสี่ยงสูงที่จะประสบกับภัยธรรมชาติประเภทใดประเภทหนึ่งเป็นอย่างน้อย ส่วนเมืองใหญ่อย่างจาการ์ตาหรือมะนิลากำลังประสบกับความเสี่ยงที่จะเจอภัยพิบัติ 3 ประเภทหรือมากกว่านั้น

การขยายตัวทางเศรษฐกิจทำให้ต้องมีการพัฒนาเพิ่มขึ้น แต่ขณะที่ภูมิภาคนี้มีความก้าวหน้า เมืองใหญ่ของอาเซียนกลับประสบความท้าทายในทางปฏิบัติในการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ขณะที่จัดการกับประสิทธิภาพและการกระจายทรัพยากรอย่างยั่งยืนให้รองรับกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น

ประชากรที่เพิ่มขึ้นก็มีผลให้การบริโภคการอุปโภคขึ้นพร้อมๆ กัน ทั้งในด้านทรัพยากร วัตถุดิบ อาหารและพลังงาน ซึ่งมีผลกระทบต่อแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติทั้งป่าและพื้นที่ชุ่มน้ำ นำไปสู่การลดลงของสิ่งมีชีวิตหลายสายพันธุ์ที่มีความสำคัญต่ออาหารและการผสมเกสรดอกไม้ ขณะเดียวกันก็ทำให้โลกไม่สามารถผลิตออกซิเจน ดิน และน้ำสะอาดได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต

ข้อมูลล่าสุดพบว่ามีการปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงสุดของประวัติศาสตร์มนุษย์โลกในระดับ 415.26 ส่วนในล้านส่วน (Parts Per Million-PPM) การกระทำบางอย่าง เช่น การเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิล การตัดไม้ทำลายป่าอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาเมือง กลายเป็นสาเหตุหลักของการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก ซึ่งการคาดการณ์นี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ และคำแนะนำเพื่อบรรเทาผลกระทบก็มีขึ้นมาหลายสิบปี

การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลงอย่างรวดเร็ว การปลูกป่า และการกักเก็บคาร์บอนด้วยเทคโนโลยีใหม่ เป็นทางออกที่ขับเคลื่อนจากคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change – IPCC)

อนาคตของเมืองใหญ่เหล่านี้อาจไม่สดใส แต่ก็ยังมีโอกาสที่จะเป็นส่วนหนึ่งของทางออก

การปล่อยก๊าซคาร์บอนที่ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เศรษฐกิจอาเซียนที่กำลังเติบโตก็มีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

การหยุดใช้ถ่านหินในการสร้างพลังงานโดยทันที และการเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น ก็จะนำไปสู่การบรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ ภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้างเองก็ต้องลงทุนในการสร้างอาคารด้วยวิธีการแบบใหม่และใช้วัสดุที่ยั่งยืนเมื่อก่อสร้างและรักษาเมือง

การป้องกันเมืองจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความสำคัญ แต่ก็จะดีมากหากมีการดำเนินการเพื่อจำกัดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

หากรัฐบาลไม่ปรับเปลี่ยนความสนใจจากการเติบโตไปสู่การสร้างสิ่งแวดล้อมเพื่อความเป็นอยู่ที่มีคุณภาพแล้ว ภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังรุมเร้าก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

เรื่องและภาพจาก aseanpost