ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > “อมรวรรณ เรศานนท์” ยก 5 กระบวนทัพ พัฒนาประเทศไทยสู่ ‘เมืองคาร์บอนต่ำ’

“อมรวรรณ เรศานนท์” ยก 5 กระบวนทัพ พัฒนาประเทศไทยสู่ ‘เมืองคาร์บอนต่ำ’

5 มีนาคม 2022


เนื้อหาการบรรยายเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเชิงพื้นที่ (SDG Localization) ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยมีข้าราชการและผู้นำความเปลี่ยนแปลงระดับท้องถิ่นทั่วประเทศเข้าร่วมรับฟัง จัดงานโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ฯ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565

ดร.อมรวรรณ เรศานนท์ ผู้จัดการโครงการ จากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) กล่าวว่า ประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เป็นเป้าหมายที่ประเทศไทยยังล้าหลังและทำได้ไม่ดี โดยในช่วงปี 2542-2561 ประเทศไทยได้รับความเสียหายจากความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศประมาณ 2.4 แสนล้านบาท โดยเฉพาะในภาคการเกษตรที่ได้รับความเสียหายมากถึง 15% จากภัยแล้งและฝนที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ จากปัญหาข้างต้นทำให้ประเทศไทยวางแผน ‘เส้นทางสู่การพัฒนาเมืองคาร์บอนต่ำ’

ดร.อมรวรรณ กล่าวถึงข้อมูลจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่า ในปี 2000 (2543) ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 245 ล้านตัน มาจากภาคพลังงาน 67.20% ภาคการเกษตร 19.93% ภาคอุตสาหกรรมและการผลิต 8.61% และอีก 4.26% จากของเสียในกระบวนการต่างๆ ส่วนในปี 2016 (2559) ปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งสิ้น 354 ล้านตัน มาจากภาคพลังงาน 71.65% ภาคการเกษตร 14.72% ภาคอุตสาหกรรมและการผลิต 8.90% และอีก 4.73% จากของเสียในกระบวนการต่างๆ

ดร.อมรวรรณ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันกับโลกและแปลงเป็นแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติหรือแผน BCG โดยตั้งเป้าให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในปี 2065

“คำว่า ‘ความเป็นกลางทางคาร์บอน’ หมายถึงเราพยายามลดการปล่อยก๊าซลง ถ้าลดไม่ได้ก็ไปหาซื้อจากคนที่คนได้มาหักลบกลบหนี้ แต่คำว่า ‘ปล่อยสุทธิเป็นศูนย์’ แปลว่าไม่อยากให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และต้องหักลบด้วยอะไรที่คงทนถาวร เช่นการปลูกป่าที่ยั่งยืน หรือหน่วยงานราชการใช้รถไฟฟ้าเพื่อลดการปล่อยก๊าซฯ เป็นต้น ”

ดร.อมรวรรณ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยได้วางตัวชี้วัด ได้แก่ (1) ลดการใช้ทรัพยากรลง 1 ใน 4 จากปัจจุบัน (2) ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่น้อยกว่า 20-25% ในปี 2030 (2573) เมื่อเทียบกับปี 2005 (2548) และ (3) เพิ่มพื้นที่ป่าไม่น้อยกว่า 3.2 ล้านไร่ โดยประเทศไทยวางกลยุทธ์เมืองคาร์บอนต่ำทั้งหมด 5 ขั้นตอน ดังนี้

(1) จัดกระบวนทัพ เช่น การจัดเครือข่าย แผนเทศบาลและแผนพลังงานต่างๆ รวมถึงความพร้อมในทุกๆ ด้าน

(2) ประเมินสถานการณ์ปัจจุบันว่าสาเหตุของก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทยมาจากแหล่งใดบ้าง และนำทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงมาประยุกต์ใช้

(3) วิเคราะห์ทางเลือก

(4) จัดลำดับความสำคัญ ดร.อมรวรรณ ขยายความในขั้นตอนนี้โดยยกตัวอย่างการจัดลำดับความสำคัญในภาคพลังงานด้วยการสร้างพลังงานทดแทน การมองถึงนโยบายที่เกี่ยวข้องและการสร้างจิตสำนึก หรือภาคของเสียเองก็ต้องไปแก้ปัญหาด้านการคัดแยกขยะและจิตสำนึก รวมถึงกฎระเบียบและนโยบายต่างๆ ขณะที่โจทย์ของภาคการขนส่งคือทำอย่างไรให้ประชาชนเปลี่ยนวิธีการเดินทางไปใช้ขนส่งสาธารณะและใช้จักรยานมากขึ้น ตลอดจนเทคโนโลยีใหม่ๆ

(5) ดำเนินกิจกรรมและออกแบบโครงการคาร์บอนต่ำ 5 ขั้นตอน ได้แก่ (1) ศึกษาหาข้อมูล (2) หารือกับเมืองถึงโอกาสในการเริ่มพัฒนาโครงการที่ไม่เคยมีมาก่อน (3) กระตุ้นให้โครงการเกิดขึ้นจริง (4) ปรับปรุงประสิทธิภาพของโครงการที่ต่ำให้อยู่ในระดับที่ดีขึ้น (5) พัฒนาโครงการที่ดีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น จากนั้นจึงติดตามและประเมินผล

“ตัวอย่างหนึ่งคือจังหวัดเชียงใหม่ มีป้ายจราจรเยอะมาก 100 ถึง 200 เมตรมีป้ายรถเมล์ของแต่ละเจ้าเต็มเลย เราเลยร่วมกับจังหวัดและเทศบาล คุยกับผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำเป็นเวทีพูดคุยให้มีการจัดผังการเดินรถใหม่ ทำอย่างไรให้ไม่ซับซ้อน หรือรวมป้ายรถเมล์ให้เป็นจุดเดียวกันจนได้มีการทำแอปต่าง ๆ ขึ้นมา แต่ตอนนี้ยังไม่คืบหน้ามากเพราะเจอโควิด แต่การรวมกลุ่มทำให้มีพลังและสร้างเวทีระหว่างภาครัฐ เอกชนและประชาชน ดังนั้นการริเริ่มไม่จำเป็นต้องเป็นเทคโนโลยีอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องการบริหารจัดการเชิงนโยบายใหม่ๆ ได้”

ดร.อมรวรรณ ยกตัวอย่างที่ UNDP ทดลองลงทุน 5% เพื่อร่วมก่อสร้างหลังคาโซล่าเซลล์ในพื้นที่ตลาดสดเทศบาล แล้วไปคุยกับพาร์ทเนอร์ต่อว่าผลประโยชน์และค่าใช้จ่ายจะเป็นอย่างไร เทศบาลไม่ต้องเอาเงินก้อนมาลง แต่ได้ผลงานการประหยัดไฟและลดก๊าซคาร์บอนฯ ทั้งหมดนี้เป็นไอเดียที่มีอยู่แล้วในหน่วยงานราชการ แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสร้างความร่วมมือเพื่อให้ทุกคนเห็นภาพเวลาผลงานจะเกิดขึ้นจริง

ดร.อมรวรรณ เล่าต่อว่า ในเมืองโคราชมีประเด็นการกำจัดน้ำเสีย แม้ว่าจะมีการทำระบบไบโอแก๊ส แต่พบปัญหาว่าเครื่องทำไบโอแก๊สไม่มีประสิทธิภาพ จนพบว่าองค์ประกอบความเข้มข้นของน้ำเสียมีสารอินทรีย์น้อยเกินไป จึงแก้ปัญหาด้วยการไปตลาดสดและขนเอาขยะอินทรีย์มาเทใส่บ่อบำบัดเพื่อเพิ่มองค์ประกอบสารอินทรีย์

“หลายอย่างอยู่ในแผนเทศบาลจังหวัดและแผนด้านการจัดการขยะ แผนจัดการน้ำเสีย มีผลลัพธ์เดียวกันคือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก”

“ในการจัดกระบวนทัพเมืองคาร์บอนต่ำ เริ่มต้นตั้งแต่การศึกษาหาข้อมูล จัดทำพื้นฐาน วางแผน มีการตรวจวัด และทำอย่างต่อเนื่องและจริงจัง นี่เป็นเรื่องที่เราถูกบังคับให้รับการเปลี่ยนแปลงของโลก ถูกบังคับด้วยความจำเป็นเร่งด่วน เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดูเหมือนจะไกลตัว แต่ความจริงเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก ถ้าเราไม่รีบทำ เราจะได้รับกระทบจากภัยแล้งที่ยาวนาน ฝนไม่ตกตามฤดูกาล เรายังมีปัญหาคุณภาพอากาศ PM2.5 อีก ทั้งหมดเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน”