ThaiPublica > คอลัมน์ > เมื่อรัฐมนตรีคลังตามหา “วิกฤติเศรษฐกิจ”

เมื่อรัฐมนตรีคลังตามหา “วิกฤติเศรษฐกิจ”

10 ธันวาคม 2023


จิตติศักดิ์ นันทพานิช

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

ตลอดเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ‘เศรษฐา ทวีสิน’นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง รวมทั้งบรรดาแกนนำพรรคเพื่อไทย ออกมาประสานเสียง ว่า เศรษฐกิจเข้าข่ายวิกฤติแล้วซ้ำๆต่อเนื่อง ล่าสุดนายกฯ เศรษฐา ไปกล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมาแห่งหนึ่งได้ระบุตอนหนึ่งว่า “…ดังนั้นต้องคิดว่าในภาวะที่เศรษฐกิจไม่ดี ผมขอใช้คำว่าวิกฤติ”

สัปดาห์ก่อนหน้านี้ นายกฯเศรษฐา ได้ทวีตข้อความว่า “1.5 % Q3 ในขณะที่ประเทศคู่แข่งในอาเซียนโตอย่างต่ำ 2 เท่าของเรา ..วิกฤติครับ” หลังสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ออกมาแถลงเศรษฐกิจไตรมาส 3 ปีนี้ว่าขยายตัว 1.5 % เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

แม้จีดีพี ไตรมาส 3 โตต่ำกว่าคาดการณ์เป็นไตรมาสที่สอง แต่อีกมุมถือว่าเศรษฐกิจยังขยายตัวต่อเนื่องจาก 2 ไตรมาสที่ผ่านมาเช่นกัน โดย สศช.ระบุว่า แรงส่งสำคัญของเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 3 มาจากเศรษฐกิจในประเทศ โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 8.1 % การลงทุนรวมขยายตัว 1.5 % ส่วนที่เป็นตัวฉุด การลงทุนภาครัฐที่หดตัว 2.6 % และภาคส่งออกที่หดตัวกตั้งแต่ปลายปี 2565 จนถึงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้

ความพยายามโน้มน้าวสังคมให้เชื่อว่าเศรษฐกิจปัจจุบันอยู่ในช่วงวิกฤติของ นายกฯเศรษฐา ซึ่งเป็นรัฐมนตรีคลังลำดับที่ 55 ของไทย ถูกโยงว่าเป็นความพยายามสร้างความชอบธรรม ในการผลักดัน พ.ร.บ.กู้เงินดิจิทัลวอลเล็ต 5 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลกำลังจะส่งให้ สำนักงานกฤษฎีกา พิจารณา

เพราะมาตรา 53 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2561 ระบุว่า การจะกู้เงินนั้น ใช้เฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน…

โดยประเด็นสำคัญนายกฯต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า เป็นเรื่องเร่งด่วน และสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันกำลังเผิชญกับวิกฤติจริง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสภาวะเศรษฐกิจวันนี้ แม้จีดีพี โตต่ำกว่าคาดการณ์แต่ยังขยายตัวได้ตามข้อมูลที่กล่าวข้างต้น

ส่วนการส่งออกตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลัก ที่สถานการณ์ค่อยๆพลิกจากติดลบ กลับมาโตต่อเนื่องแล้ว 3 เดือนหลังติดลบมาต่อเนื่องมาหลายเดือน โดยเดือนตุลาคม 2566 ที่เพิ่งผ่านมา ตัวเลขส่งออกขยายตัว 8 %

ตัวเลขดังกล่าว พอใช้เป็นหลักประกันได้ว่าเศรษฐกิจไตรมาสสุดท้ายของปีนี้คงไม่แผ่วไปกว่า 2 ไตรมาสที่แล้วมาเป็นแน่

ก่อนหน้านี้ นักเศรษฐศาสตร์กว่า 100 คน นำโดยอดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติ คือ ‘วิรไท สันติประภพ’ และ ‘ธาริษา วัฒนเกส’ ร่วมกันเข้าชื่อในจดหมายเปิดผนึก ออกมาค้านนโยบายแจกเงินดิจทัลวอลเล็ตโดยให้เหตุผลว่าเศรษฐกิจปัจจุบันอยู่ในภาวะฟื้นตัว สำนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัว 2.8 % และ 3.5 % ในปี 2567 อีกทั้งการบริโภคในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ขยายตัว 7.3 % สูงสุดในรอบ 20 ปี สูงกว่า 2 เท่าของ ค่าเฉลี่ย 10 ปี จึงไม่จำเป็นต้องกระตุ้นการบริโภคส่วนบุคคล

เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 ‘ดนุชา พิชยนันท์’ เลขาฯ สศช. แถลงจีดีพี ไตรมาส 3 ปีนี้ โดย ระบุว่า แรงส่งสำคัญของเศรษฐกิจช่วงไตรมาส 3 นั้น มาจากเศรษฐกิจในประเทศ โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 8.1 % การลงทุนรวมขยายตัว 1.5 % ส่วนที่เป็นตัวฉุด การลงทุนภาครัฐที่หดตัว 2.6 % และภาคส่งออกที่หดตัวตั้งแต่ปลายปี 2565 จนถึงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้

เลขาฯสศช. มองว่า เศรษฐกิจในประเทศยังขยายตัวได้ดี ทั้งเรื่องการบริโภค หรือ ภาคการท่องเที่ยว ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังสามารถขยายตัวได้ หากต้องการขยายตัวมากกว่านี้จำเป็นต้องปรับโครงสร้างโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม

สรุปรวบประเด็นคือ แม้คาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้ถูกปรับลงมาที่ 2.5 % แต่ถือว่ายังอยู่ในทรงขยายตัว และสถานการณ์ยังห่างไกลเมื่อเปรียบเทียบกับ วิกฤติเศรษฐกิจ ในอดีต เช่น

ครั้งวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ระบบการเงินและภาคธุรกิจแทบราพณาสูร คนตกงาน ซีอีโอบริษัทค้าหุ้นรายใหญ่กลายมาเป็นพ่อค้าแซนด์วิช จนรัฐบาลขณะนั้นต้องกู้เงินจาก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) มาหนุนฐานะเศรษฐกิจของประเทศ โดยจีดีพีในปี 2541 ติดลบถึง 10.5 % (ไตรมาส 2 ปี 2541 จีดีพีติดลบ 12.5 % ครองสถิติติดลบสูงสุดมาจนบัดนี้)

หรือวิกฤติไควิดเมื่อในปี 2563 ที่โลกชัตดาวน์เพื่อสกัดการระบาดของไวรัศโควิด -19 จีดีพีใน 2563 ติดลบถึง 6.1 % (ไตรมาส 2 ปี 2563 จีดีพีติดลบ 12.2 %) มีคนว่างงานสูงสุดในรอบ 11 ปี ตลาดหุ้นในเดือนในวันที่ 12 มีนาคม 2563 ปั่นป่วนอย่างสุดๆ จนตลาดหลักทรัพย์ฯต้องงัดมาตรการ เซอร์กิต เบรกเกอร์ หรือหยุดซื้อ-ขายหุ้นชั่วคราว หลังดัชนีทรุดฮวบ 154 จุดลงมาอยู่ที่ 1,095.37 จุด ต่ำสุดในรอบเกือบ 8 ปี ก่อนรัฐบาลประยุทธ์ตัดสินใจ ออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อนำมาเยียวยาประชาชน และฟื้นฟูเศรษฐกิจจากพิษโควิด

หากสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่ยังขยายตัว ภาคส่งออกเริ่มพลิกตัวกลับมาบวก คนว่างงานลดลงมาอยู่ที่ 0.99 % ลดลงต่ำสุดในรอบ 15 ไตรมาส ตามรายงานของ สศช. ถูกตีความว่าเข้าข่าย วิกฤติ ต่อไปคงต้องเปลี่ยนนิยาม วิกฤติเศรษฐกิจกันใหม่