ThaiPublica > คอลัมน์ > พรรคเพื่อไทยกับแบงก์ชาติ

พรรคเพื่อไทยกับแบงก์ชาติ

29 กันยายน 2023


จิตติศักดิ์ นันทพานิช

‘เศรษฐา ทวีสิน’ นายกฯ และรัฐมนตรีคลัง ตอบสื่อเมื่อถูกถามถึงกระแสข่าวปลดผู้ว่าแบงก์ชาติ ว่าเป็นเรื่องตลก ไม่เคยมีความคิด ซึ่งเป็นการปฏิเสธข่าวดังกล่าวอย่างสิ้นเชิง หากตรวจสอบเส้นทางของเรื่องตลกที่ว่านี้ ก็น่าจะเริ่มก่อตัวจาก นายกฯ เศรษฐาไปหารือกับ ‘เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ’ ผู้ว่าแบงก์ชาติ เกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการออกดิจิทัลวอลเล็ตมูลค่า 560,000 ล้านบาท

ต่อมาผู้ว่าแบงก์ชาติให้สัมภาษณ์สื่อในประเด็นนี้ว่า หากเป็นดิจิทัลแอสเซท (ทรัพย์สินดิจิทัล) แบงก์ชาติมีจุดยืนไม่สนับสนุนมานานแล้ว เพราะจะกลายเป็นตัวกลางชำระเงิน ไม่เอื้อต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ หากเป็น e-money ต้องไปดูว่าเกิดอุปสงค์กระตุ้นเศรษฐกิจและผลกระทบการคลังอย่างไร ซึ่งผู้ว่าแบงก์ชาติย้ำว่า นายกฯ เศรษฐารับฟังมุมมองจากวังบางขุนพรหม แต่ในโลกความเป็นจริงนั้น อย่างไรเสียนโยบายนี้คงออกมา ที่สำคัญคือ ต้องไปดูว่าจะไม่กระทบเสถียรภาพมากเกินไป และไม่เกิดสิ่งไม่พึงประสงค์ตามมา

ส่วนประเด็นพักหนี้ ผู้ว่าแบงก์ชาติบอกว่าไม่เห็นด้วยกับการพักหนี้ในวงกว้าง ควรทำในวงจำกัด หรือทำเป็นการชั่วคราว และไม่ควรยึดเอามาตรการพักหนี้เป็นเครื่องมือหลักในการแก้ปัญหา ฯลฯ

หลังจากนั้นไม่นาน ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีคลัง ได้โพสต์ลงเฟซบุ๊กเปิดผนึกโดยตอนหนึ่งระบุว่า ไม่เชื่อว่าข่าวลือปลดผู้ว่าแบงก์ชาติ ที่โยงถึงมุมมองของผู้ว่าแบงก์ชาติที่ไม่เห็นด้วยกับการออกดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลจะเป็นความจริง

อดีตรัฐมนตรีคลังได้อ้างถึงพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธนาคารแห่งประเทศไทย มีกฎหมายตีกรอบป้องกันเอาไว้ แม้กฎหมายให้อำนาจคณะรัฐมนตรีสามารถปลดผู้ว่าแบงก์ชาติได้ แต่รัฐมนตรีคลังต้องพิสูจน์ให้คณะรัฐมนตรีเห็นว่า ผู้ว่าแบงก์ชาติมีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรงหรือทุจริตต่อหน้าที่ ซึ่งไม่สามารถรวมถึงความขัดแย้งเรื่องนโยบาย นอกจากนี้ รัฐมนตรีคลังยังเสี่ยงถูกกระแสสังคมประณามด้วย

โพสต์ของอดีตรัฐมนตรีคลังกระมัง ที่ทำให้ข่าวลือปลดผู้ว่าแบงก์ชาติกระจายไปในวงกว้างและดูจริงจังมากขึ้น กระทั่งนายกฯ เศรษฐาต้องออกมายืนยันว่าไม่เคยมีความคิด

แม้กระแสปลดผู้ว่าแบงก์ชาติจางลงไปแล้วตอนนี้ แต่เชื่อว่า ความเห็นต่างทางนโยบายระหว่างแบงก์ชาติที่มีหน้าที่รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ กับรัฐบาลที่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมือง จะปะทุออกมาให้เห็นเป็นระยะๆ นับจากนี้ไป

เนื่องจากนโยบายประชานิยมของรัฐบาลที่สุดขั้วตามสไตล์ของพรรคเพื่อไทย ที่เชื่อว่านโยบายอย่างแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทถ้วนหน้า หรือนโยบายรับจำนำข้าวทุกเมล็ดยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ฯลฯ คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้พรรคเพื่อไทยสามารถครองใจประชาชนมาได้โดยตลอด

นอกจากนี้ ที่ผ่านมา เมื่อรัฐบาลเพื่อไทยในเวอร์ชันก่อนหน้าขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล มักมีประเด็นเสียดทานกับแบงก์ชาติมาตลอด จนดูเหมือนว่ารัฐบาลจากพรรคเพื่อไทยเชื่อในหลักอิสระแบงก์ชาติน้อยกว่าพรรคการเมืองอื่นที่ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

เช่น รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช (เวอร์ชันพรรคพลังประชาชน) หมอเลี้ยบ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีคลังตอนนั้น แม้นั่งเก้าอี้ขุนคลังได้เพียง 6 เดือนนิดๆ แต่มีปัญหานโยบาดอกเบี้ยกับแบงก์ชาติ (ยุคผู้ว่าฯ ธาริษา วัฒนเกส) มาตลอด เนื่องจากช่วงเวลานั้นเงินเฟ้อพุ่งแรง (เดือนกรกฎาคม 2551 เงินเฟ้อพุ่งขึ้นไปถึง 9.2%) แบงก์ชาติจึงขยับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ขณะที่หมอเลี้ยบมองว่ามีหนทางอื่นในการคุมเงินเฟ้อ และต้องการให้แบงก์ชาติดำเนินนโยบายการเงินหนุนยโยบายการคลังของรัฐบาล แต่ความขัดแย้งรอบนั้นจบลงเมื่อรัฐบาลสมัครสิ้นสุดจากคดีชิมไปบ่นไป

อีกครั้งในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ (พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ) กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และรัฐมนตรีคลัง ขัดแย้งกับแบงก์ชาติยุคประสาร ไตรรัตน์วรกุล (1 ต.ค. 53 – 30 ก.ย. 58) เนื่องจากกิตติรัตน์ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดันดอกเบี้ยนโยบายขึ้นของแบงก์ชาติ ซึ่งกิตติรัตน์มองว่าสูงเกินไป และไม่เห็นด้วยที่ประสารอ้างว่าการกำหนดดอกเบี้ยนโยบายเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประวัติของประสารในวิกิพิเดียมีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า มีการแสดงเจตนาจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ว่ามีความคิดจะปลดเขาทุกวัน

ปัจจุบัน กิตติรัตน์กลับมานั่งเป็นประธานที่ปรึกษาของนายกฯ เศรษฐา

พิเคราะห์จากปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ตามที่กล่าวมาข้างต้นนั้น แม้นายกฯ เศรษฐาใช้แนวทางให้เกียรติซึ่งกันและกันในการสื่อสารกับแบงก์ชาติ แต่เป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้คือจะดันจีดีพีตั้งแต่ปีหน้าให้โต 5% โดยหวังแรงขับจากการบริโภคจากนโยบายแจกเงินดิจิทัลและดูแลค่าครองชีพผ่านการลดราคาพลังงาน ซึ่งต้องใช้งบประมาณมหาศาล

ขณะที่ผู้ว่าแบงก์ชาติมีจุดยืนไม่อยากเห็นนโยบาย มากระทบกับเสถียรภาพมากเกินไปและมีสิ่งไม่พึงประสงค์ตามมา ซึ่งสวนทางกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการปั๊มเศรษฐกิจให้โตไวๆ ด้วยเป้าหมายที่ไม่ต่างจาก สร้างดาวกันคนละดวงเช่นนี้ มีโอกาสที่แบงก์ชาติกับรัฐบาลจะเกิดการเสียดทาน เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต