ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup สิงคโปร์ขยายการค้า การลงทุนผ่าน FTA

ASEAN Roundup สิงคโปร์ขยายการค้า การลงทุนผ่าน FTA

10 ธันวาคม 2023


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 2-9 ธันวาคม 2566

  • สิงคโปร์ขยายการค้า การลงทุนผ่าน FTA
  • เวียดนามจะตั้งกองทุนดึง FDI
  • มาเลเซียเตรียมยุติพึ่งพาแรงงานต่างชาติ
  • เวียดนาม-กัมพูชาเปิดชำระเงินระหว่างประเทศผ่าน QR Code

    สิงคโปร์ขยายการค้า การลงทุนผ่าน FTA

    ที่มาภาพ: https://www.channelnewsasia.com/singapore/upgraded-singapore-china-free-trade-agreement-24-signed-annual-top-level-meeting-3972101
    วันที่ 7 ธ.ค. สิงคโปร์และจีนประกาศการลงนามข้อตกลงการค้าเสรีฉบับปรับปรุง ซึ่งจะทำให้ธุรกิจของสิงคโปร์เข้าถึงตลาดจีนได้มากขึ้น

    ข้อตกลงดังกล่าวเป็นหนึ่งใน 24 ข้อตกลงและบันทึกความเข้าใจ (MOU) ที่ลงนามระหว่างสิงคโปร์และจีน เพิ่มขึ้นจาก 19 ฉบับในปีที่แล้วและมากที่สุดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยครอบคลุมในด้านต่างๆ เช่น ความยั่งยืน การศึกษา การค้า ความมั่นคงทางอาหาร และการดูแลสุขภาพ

    ข้อตกลงดังกล่าวได้รับการเปิดเผยในการประชุมสภาร่วมเพื่อความร่วมมือทวิภาคี (Joint Council for Bilateral Cooperation-JCBC) ครั้งที่ 19 ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมฮิลตัน เทียนจิน อีโค-ซิตี้ ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีลอว์เรนซ์ หว่องของสิงคโปร์ และรองนายกรัฐมนตรีจีน ติง เสวี่ยเซียง เป็นประธานร่วม

    JCBC เป็นการประชุมประจำปีระดับสูงสุดระหว่างจีนและสิงคโปร์ ที่จะมีการทบทวนความร่วมมือที่สำคัญระหว่างทั้งสองประเทศและกำหนดทิศทางของความร่วมมือ

    ในช่วงเริ่มต้นการประชุม JCBC รองนายกรัฐมนตรี ติง กล่าวว่า เขามี “การพูดคุยที่ดีมาก” กับนายหว่องและคณะผู้แทนสิงคโปร์ ซึ่งรวมถึงรัฐมนตรีหลายคน ในการประชุมทวิภาคีก่อนหน้านี้เมื่อวันพฤหัสบดี

    “กลไกการประชุมในวันนี้จะมุ่งเน้นไปที่คำสำคัญ 3 คำในความสัมพันธ์ของเรา คือ รอบด้าน คุณภาพสูง และมุ่งเน้นอนาคต” รองนายกรัฐมนตรี ติง กล่าวโดยอ้างถึงชื่อของหุ้นส่วนทวิภาคีสิงคโปร์-จีนที่ได้รับการยกระดับเมื่อเร็วๆ นี้

    ข้อตกลงอีกฉบับที่ประกาศเมื่อวันพฤหัสบดีคือข้อตกลงการเดินทางใหม่ โดยไม่ต้องขอวีซ่าเป็นเวลา 30 วันระหว่างสิงคโปร์และจีน ที่มีเป้าหมายที่จะดำเนินการในต้นปี 2567

    ด้านกระทรวงพาณิชย์จีนระบุว่า ข้อตกลงการค้าเสรีที่ได้รับการยกระดับกับสิงคโปร์ จะส่งเสริมการเปิดเสรีการค้าและการลงทุนระหว่างทั้งสองประเทศ และกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของประเทศทั้งสอง

    ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเปิดเสรีบริการและการลงทุนในรูปแบบของรายการที่ไม่เปิดเสรี(negative list) ซึ่งจะขยายตลาดให้กว้างขึ้นสำหรับนักลงทุนและผู้ให้บริการจากทั้งสองประเทศ กระทรวงฯระบุ พร้อมเสริมว่า จะพยายามขยายความร่วมมือในด้านใหม่ๆ เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล

    นอกจากนี้ข้อตกลงฉบับปรับปรุงซึ่งเป็นก้าวใหม่ในความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าจีน-สิงคโปร์ จะส่งเสริมศักยภาพของความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนด้านบริการระหว่างทั้งสองประเทศ และส่งผลให้มีการปกป้องเชิงสถาบันที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นสำหรับองค์กรต่างๆ ในการเข้าถึงตลาดของแต่ละประเทศ

    ในช่วงสามปีที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายได้เสร็จสิ้นการเจรจาทั้งหมดหลังจากการปรึกษาหารือหลายรอบตั้งแต่เดือนธันวาคม2563 นับจากนี้ไป จีนและสิงคโปร์จะเร่งรัดขั้นตอนทางกฎหมายภายในประเทศ และมุ่งมั่นเพื่อการดำเนินการตามระเบียบการที่ได้รับการยกระดับตั้งแต่เนิ่นๆ

    ภายใต้ CSFTA ฉบับปรับปรุง สิงคโปร์จะสามารถเข้าถึงตลาดในภาคบริการของจีนได้มากขึ้น กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม (MTI) ของจีนระบุในแถลงการณ์

    นอกจากนี้ จีนยังให้คำมั่นที่จะไม่จำกัด เพดานหุ้นต่างประเทศสำหรับนักลงทุนสิงคโปร์ใน 22 ภาคส่วน รวมถึงการก่อสร้าง การค้าปลีกและการขายส่ง และบริการด้านสถาปัตยกรรมและการวางผังเมือง

    นักลงทุนและผู้ให้บริการในสิงคโปร์จะได้ประโยชน์จากกฎเกณฑ์ที่เสรีและโปร่งใสมากขึ้น ซึ่ง ยกระดับสนามแข่งขันสำหรับพวกเขาในการลงทุนและการค้ากับจีน กระทรวงMTI กล่าว

    ข้อตกลงทางการค้าฉบับปรับปรุง จะมีบทบัญญัติเกี่ยวกับบริการโทรคมนาคมใหม่ เพื่อให้กฎและกระบวนการกำกับดูแลชัดเจนและโปร่งใสมากขึ้น สำหรับภาคส่วนนี้ และเอื้อต่อความร่วมมือในอุตสาหกรรมเพื่อนวัตกรรมและการพัฒนา

    นอกเหนือจากข้อตกลงการค้าแล้ว ทั้งสองประเทศจะจัดให้มีเวทีการเจรจานโยบายดิจิทัลระหว่างกระทรวงการสื่อสารและข้อมูลของสิงคโปร์กับคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ(National Development and Reform Commission)ของจีน ซึ่งแนวคิดนี้ได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียงของจีนและนายกรัฐมนตรีลี เซียน ลุงของสิงคโปร์ในระหว่างการเยือนจีนครั้งล่าสุดในเดือนเมษายน

    การเจรจานี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อระบุการทำงานร่วมกันที่เป็นไปได้ระหว่างโครงการริเริ่ม Smart Nation ของสิงคโปร์และแผน Digital China ของจีน โดยช่องทางนี้จะจัดตั้งขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 เพื่อรองรับการหารือเกี่ยวกับการพัฒนาและประเด็นด้านนโยบาย เช่น การค้าดิจิทัล การกำกับดูแลด้านปัญญาประดิษฐ์ และกระแสข้อมูลเชิงพาณิชย์

    นอกจากนี้ ยังมีการประกาศโครงการริเริ่มด้านการเงินดิจิทัลและตลาดทุนใหม่ๆ เพื่อขยายความร่วมมือทางการเงินของสิงคโปร์กับจีน ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์ Exchange Traded Funds ที่เชื่อมโยงระหว่างตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (SGX) และตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ ที่ต่อยอดจากความสำเร็จของการเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์ที่คล้ายคลึงกันระหว่าง SGX และตลาดหลักทรัพย์เสิ่นเจิ้น ซึ่งเปิดตัวในปี 2565

    โครงการนำร่องยังช่วยให้นักเดินทางจากสิงคโปร์และจีนสามารถใช้สกุลเงินดิจิทัลของจีน ซึ่งก็คือ e-CNY เพื่อการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวในทั้งสองประเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวกสบายให้กับนักเดินทางเมื่อซื้อสินค้าระหว่างเดินทางไปต่างประเทศ ธนาคารกลางสิงคโปร์ระบุในแถลงการณ์แยกอีกฉบับหนึ่ง

    ธนาคารของสิงคโปร์และ UnionPay International ของจีนได้เริ่มการหารือในระยะเริ่มต้นเกี่ยวกับการเชื่อมโยงการโอนเงินที่อาจเกิดขึ้นระหว่าง PayNow และ UnionPay เพื่ออำนวยความสะดวกในการชำระเงินข้ามพรมแดนและการโอนเงินระหว่างทั้งสองประเทศ

    ในวันที่ 8 ธ.ค.สิงคโปร์ได้มีการลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีกับ 4 ชาติละตินอเมริกา เพื่อขยายการค้า การลงทนุเช่นกัน

    ที่มาภาพ: https://www.straitstimes.com/business/singapore-signs-free-trade-deal-with-four-nation-latin-american-bloc-to-boost-trade-investment

    ข้อตกลงกับอาร์เจนตินา บราซิล ปารากวัย และอุรุกวัย ซึ่งเป็นกลุ่มที่รวมตัวและรู้จักกันในชื่อย่อภาษาสเปนว่า Mercosur ถือเป็นข้อตกลงการค้าครั้งแรกของสิงคโปร์กับประเทศเหล่านี้ และเป็นข้อตกลงครั้งแรกของกลุ่มกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

    ในเดือนมกราคม 2565 สิงคโปร์ลงนามเขตการค้าเสรีกับกลุ่มเศรษฐกิจละตินอเมริกาอีกกลุ่มที่เรียกว่า Pacific Alliance ซึ่งประกอบด้วยชิลี โคลอมเบีย เม็กซิโก และเปรู

    ข้อตกลงกับกลุ่ม Mercosur มีเป้าหมายเพื่ออำนวยความสะดวกให้การค้ามีการไหลเวียนมากขึ้นผ่านอัตราภาษีที่ลดลง และจากการวางเงื่อนไขการลงทุนที่โปร่งใส กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ระบุ

    นอกจากนี้ยังจะส่งเสริมความร่วมมือในด้านต่างๆ เช่น การอำนวยความสะดวกทางการค้า ซึ่งเป็นกระบวนการที่ทำให้ขั้นตอนการส่งออกและนำเข้าง่ายขึ้น

    ข้อตกลงดังกล่าวเรียกว่าข้อตกลงการค้าเสรี Mercosur-สิงคโปร์ (Mercosur-Singapore Free Trade Agreement หรือ MCSFTA) คาดว่าจะสร้างผู้ประกอบการ เร่งกระบวนการดิจิทัล และส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนและความมั่นคงในการจัดหาอาหาร ขณะเดียวกันก็ช่วยให้ธุรกิขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) พัฒนาทั้ง 5 ประเทศ

    ดร.วิเวียน บาลากริชนัน รัฐมนตรีต่างประเทศและรัฐมนตรีจากประเทศสมาชิก Mercosur ทั้งสี่คนลงนามข้อตกลงในการประชุมสุดยอดประมุขแห่งรัฐ Mercosur และรัฐภาคีครั้งที่ 63 ที่เมืองรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล

    ทั้งห้าประเทศจะดำเนินการตามกระบวนการให้สัตยาบันในประเทศของตนเพื่อให้ข้อตกลงใหม่มีผลบังคับใช้

    ดร. บาลากริชนันกล่าวว่า “การลงนามครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากการเจรจาอย่างเข้มข้นมากว่าสี่ปี MCSFTA เป็นสะพานใหม่ที่เชื่อมระหว่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอเมริกาใต้ ทำให้ภูมิภาคของเราใกล้ชิดกันมากขึ้น”

    ดร. บาลากริชนันกล่าวสุนทรพจน์ที่การประชุมสุดยอดว่า ประเทศต่างๆ จะมุ่งเน้นไปที่การยกระดับการค้าผ่านขั้นตอนศุลกากรที่ง่ายขึ้นและมีความโปร่งใสมากขึ้น เพื่อให้สามารถเคลียร์สินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนมีเสถียรภาพและสามารถคาดการณ์ได้ดีขึ้น เพื่อให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้น

    นอกจากนี้จะช่วยเอื้อการค้าดิจิทัลและสร้างความไว้วางใจในเศรษฐกิจดิจิทัล ในนวทางที่จะให้โอกาสที่เป็นธรรมแก่พลเมืองของทุกประเทศ

    อีกด้านหนึ่งที่มุ่งเน้นคือ การกระชับความร่วมมือเพื่อพัฒนาโอกาสสำหรับ SMEs เพื่อช่วยให้ก้าวไปสู่ระดับสากลและพัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการ และยังคงมีความสำคัญ

    ดร. บาลากริชนันกล่าวว่า นอกเหนือจากการค้าและแง่มุมอื่น ๆ ที่ครอบคลุมอยู่ในข้อตกลงแล้ว สิงคโปร์และMercosur ควรมุ่งมั่นที่จะดำเนินการเพิ่มเติมเกี่ยวกับเศรษฐกิจสีเขียว และพิจารณาการค้าคาร์บอนเครดิต

    เมื่อรวมกับข้อตกลง Pacific Alliance แล้ว สิงคโปร์ก็มี FTA ที่สำคัญกับอเมริกาใต้ส่วนใหญ่แล้ว

    เวียดนามจะตั้งกองทุนดึง FDI

    ที่มาภาพ: https://en.vietnamplus.vn/vietnam-emerges-as-a-major-motorcycle-market-and-manufacturing-hub/254120.vnp
    เวียดนามจะจัดตั้ง กองทุนสนับสนุนเพื่อส่งเสริมและชักชวนนักลงทุนเชิงกลยุทธ์และกลุ่มบริษัทข้ามชาติ เพื่อทำให้มีความน่าสนใจมากขึ้นในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(oreign direct investment) เนื่องจากรัฐสภาได้มีมติให้ใช้อัตราภาษีขั้นต่ำทั่วโลก(global minimum tax)สำหรับบริษัทต่างชาติตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมปีหน้า

    ภายใต้มตินี้ อัตราภาษีขั้นต่ำทั่วโลก 15% จะนำไปใช้กับธุรกิจข้ามชาติ (MNE) ที่มีรายได้เกิน 750 ล้านยูโร (ประมาณ 800 ล้านเหรียญสหรัฐ) หรือมากกว่านี้นาน 2 ปีใน 4 ปีติดต่อกัน นักลงทุนที่ต้องเสียภาษีจะต้องชำระภาษีขั้นต่ำทั่วโลกในเวียดนาม คาดว่าบริษัทข้ามชาติมากกว่า 120 แห่งในประเทศจะได้รับผลกระทบจากภาษีขั้นต่ำทั่วโลก

    การประชุมสมัชชาแห่งชาติสมัยที่ 15 เห็นพ้องในหลักการและขอให้รัฐบาลจัดทำร่างกฎหมายเกี่ยวกับการจัดตั้ง การจัดการ และการใช้กองทุนเพื่อสนับสนุนการลงทุนจากภาษีขั้นต่ำทั่วโลกและแหล่งที่มาทางกฎหมายอื่นๆ เพื่อรักษาเสถียรภาพบรรยากาศการลงทุน และดึงดูดนักลงทุนเชิงกลยุทธ์และบรรษัทข้ามชาติ

    ซึ่งหมายความว่าเวียดนามจะดำเนินโครงการริเริ่มต่างๆ เพื่อรักษาพลังในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ควบคู่ไปกับการยอมรับอัตราภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลก

    ในงาน Vietnam Business Forum (VBF) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อต้นปีนี้ นายกรัฐมนตรีฝ่าม มิงห์ จิ๋ง กล่าวว่า รัฐบาลกำลังจับตาและเรียนรู้ประสบการณ์จากประเทศอื่นๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อร่างนโยบายที่เหมาะสมเกี่ยวกับภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลก เพื่อสร้างเงื่อนไขที่เอื้อต่อธุรกิจต่างชาติในการดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพในเวียดนาม

    ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีกระทรวงวางแผนและการลงทุน เหวียน จิ ดุง ย้ำว่าเวียดนามจะเตรียม “แพ็คเกจสิทธิประโยชน์จูงใจ” เพื่อสนับสนุนนักลงทุนในบริบทที่มีการเรียกเก็บภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลกในปี 2566 ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสภาพแวดล้อมการลงทุนและผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย

    แม้การจัดทำกฎหมายยังใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง แต่ความเคลื่อนไหวของรัฐบาลและรัฐสภาจะมีส่วนสำคัญในการได้รับความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างชาติ

    ด๋าว ถิ ทู ฮเหวี่ยน รองผู้อำนวยการทั่วไปของ Canon Vietnam กล่าวว่า แรงจูงใจด้านภาษีเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับบริษัทในการขยายการผลิตขนาดใหญ่ในเวียดนาม เวียดนามควรมีนโยบายที่ทันการณ์เพื่อคงความมุ่งมั่นที่ได้ให้ไว้ มิฉะนั้นบริษัทต่างชาติจะพิจารณาย้ายโรงงานไปยังจุดหมายปลายทางอื่นๆ ที่มีความได้เปรียบทางการแข่งขันที่ดีกว่า

    บริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งแสดงความกังวลว่าภาษีใหม่ที่ใช้ทั่วโลกจะทำให้พวกเขาแข่งขันในตลาดเวียดนามได้ลดลง ซึ่งอาจนำไปสู่การตัดสินใจถอนทุนออกจากตลาด

    เจิ่น ฮวง ง้าน นักเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า นอกเหนือจากสิ่งจูงใจทางการเงินแล้ว เวียดนามควรให้ความสำคัญกับการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคม การฝึกอบรมทรัพยากรมนุษย์คุณภาพสูง การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว และการอำนวยความสะดวกในขั้นตอนการบริหาร ซึ่งเป็นประเด็นที่นักลงทุนต่างชาติสนใจ

    การไหลเข้าของ FDI ไม่เพียงแต่สร้างเงื่อนไขที่ดีสำหรับเวียดนามในการเร่งการขยายตัวของตลาดต่างประเทศ แต่ยังช่วยให้ประเทศยกระดับกิจกรรมทางธุรกิจในทุกด้าน ซึ่งช่วยลดภาระเงินทุนสำหรับโครงการขนาดใหญ่จำนวนมาก

    นอกจากนี้ การดึงดูดและการใช้ FDI ยังกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจ การปรับโครงสร้างและการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเติบโต เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ภาคธุรกิจ ผลิตภัณฑ์และบริการ และส่งเสริมการปฏิรูปสถาบัน นโยบายทางกฎหมาย และการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งหน้าสู่ การพัฒนาเศรษฐกิจตลาดแบบครบวงจรที่ทันสมัยและบูรณาการ

    มาเลเซียเตรียมยุติพึ่งพาแรงงานต่างชาติ

    นายราฟิซี รัมลี รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ มาเลเซีย ที่มาภาพ:https://www.malaymail.com/news/malaysia/2023/12/08/economy-minister-says-anwar-govts-2024-focus-is-to-phase-out-malaysias-reliance-on-foreign-workers/106510
    รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจกล่าวว่า เป้าหมายของรัฐบาลอันวาร์ในปี 2567 คือ การยุติการพึ่งพาแรงงานต่างชาติ

    รัฐบาลจะเริ่มออกนโยบายลดการพึ่งพาแรงงานต่างชาติในปีหน้า ราฟิซี รัมลี รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ กล่าวในวันที่ 8 ธ.ค.) ระหว่างการเปิดเผยแผนการที่จะเขย่าตลาดแรงงานที่ถูกรุมเร้าด้วยค่าจ้างที่เติบโตต่ำมานานหลายทศวรรษ

    “เรื่องนี้จะเป็นจุดที่ให้ความสำคัญของปี 2567” เขากล่าวกับผู้เข้าร่วมการเฉลิมฉลองเพื่อฉลองครบรอบปีแรกของการบริหารที่นำโดย อันวาร์ อิบราฮิม

    กระทรวงเศรษฐกิจเป็นหัวหอกในโครงการเศรษฐกิจสำคัญๆ หลายโครงการที่มีเป้าหมายในการสร้างรายได้ โดยเฉพาะสำหรับคนงานที่อยู่ในกลุ่ม 50% ล่าง ของกลุ่มรายได้ ซึ่งรวมถึงนโยบายค่าจ้างแบบก้าวหน้า(Progressive Wage Policy )ที่วางแผนไว้ซึ่งมีกำหนดจะเริ่มในกลางปีหน้า

    นายกรัฐมนตรี ดาโต๊ะ สรี อันวาร์ อิบราฮิม กำหนดให้การยกระดับมาตรฐานการครองชีพเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของรัฐบาลผสมของเขา และได้ประกาศแผนสำคัญต่างๆ ที่ระบุว่า จะผลักดันเศรษฐกิจมาเลเซียให้สูงขึ้นในห่วงโซ่คุณค่า โดยหวังว่าจะสร้างงานที่มีรายได้สูงมากขึ้น และปรับเพิ่มค่าจ้าง

    หนึ่งในนั้นคือแผนแม่บทอุตสาหกรรมแห่งชาติและแผนงานการเปลี่ยนผ่านพลังงานแห่งชาติที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำให้มาเลเซียกลายเป็นผู้เล่นเทคโนโลยีสีเขียวรายใหญ่ของภูมิภาค

    กิจกรรมฉลองครบรอบปีที่จัดขึ้นไปจนถึงวันอาทิตย์ มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้สาธารณชนทราบถึงนโยบายสำคัญที่รัฐบาลอันวาร์เปิดเผยนับตั้งแต่เข้าทำหน้าที่เมื่อปีที่แล้ว

    ราฟิซีกล่าวว่านโยบาย เชิงโครงสร้าง”ที่สำคัญส่วนใหญ่มีการประกาศไปแล้วในปีนี้ และในปี 2567 รัฐบาลจะพิจารณาการปฏิรูปภาคส่วนอื่นๆ เพื่อเสริมแผนเศรษฐกิจสำคัญของรัฐบาลอันวาร์

    “ในปีหน้า เรื่องใหญ่ที่สุดที่เราจะมุ่งเน้นคือการปฏิรูปตลาดแรงงาน โดยเฉพาะกรอบเวลาเพื่อวางระบบทั้งหมดเพื่อให้เราเริ่มลดการพึ่งพาแรงงานต่างชาติ”

    เวียดนาม-กัมพูชาเปิดชำระเงินระหว่างประเทศผ่าน QR Code

    ที่มาภาพ: https://tuoitrenews.vn/news/business/20231207/vietnam-cambodia-launch-crossborder-qr-code-payment-link/77146.html

    ธนาคารกลางเวียดนามและธนาคารแห่งชาติกัมพูชาได้ร่วมกันจัดเปิดตัวบริการชำระเงินด้วย QR Code สำหรับการชำระเงินรายย่อยระดับทวิภาคีระหว่างทั้งสองประเทศ ภายใต้กรอบการประชุมทวิภาคีที่ธนาคารกลางทั้งสองแห่งเป็นเจ้าภาพร่วมกันในกัมพูชา

    การเปิดตัวความเชื่อมโยงการชำระเงินผ่าน QR ข้ามพรมแดนมีเป้าหมาย เพื่อปฏิบัติตามความมุ่งมั่นของทั้งสองประเทศในการเชื่อมโยงการชำระเงินและนวัตกรรมทางการเงิน

    ในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ธนาคารกลางทั้งสองประเทศได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านนวัตกรรมทางการเงินและการส่งเสริมการชำระเงินทวิภาคี โดยบริษัทการชำระเงินแห่งชาติของเวียดนาม (National Payment Corporation of Vietnam-NAPAS) และธนาคาร ACLEDA ของกัมพูชาได้รับความไว้วางใจในการดำเนินโครงการ หลังจากที่โครงการนำร่องประสบความสำเร็จ

    นอกเหนือจากการอำนวยความสะดวกในการชำระเงินข้ามพรมแดนสำหรับประชาชนของทั้งสองประเทศแล้ว การเปิดตัวบริการนี้ยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมกิจกรรมการค้าและกระตุ้นการท่องเที่ยว

    บริการชำระเงินด้วย QR Code ข้ามพรมแดนช่วยให้ลูกค้าของธนาคารกัมพูชา 57 แห่งสามารถสแกน QR Code เพื่อทำธุรกรรมที่จุดชำระเงิน BIDV และ TPBank โดยใช้สกุลเงินเรียลเมื่อมาเยือนเวียดนาม

    ในขณะเดียวกัน นักเดินทางชาวเวียดนามไปกัมพูชาสามารถใช้แอปมือถือจาก BIDV, Sacombank และ TPBank ของเวียดนาม เพื่อชำระเงินผ่าน QR Code ที่จุดชำระเงินที่ได้รับอนุญาตของกัมพูชาเกือบ 1.8 ล้านจุด

    NAPAS จะยังคงร่วมมือกับกัมพูชาต่อไป เพื่อขยายการมีส่วนร่วมของธนาคารเวียดนามในการเชื่อมโยงเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนของทั้งสองประเทศ

    ภายในกรอบการประชุมทวิภาคีที่จัดโดยธนาคารกลางเวียดนามและธนาคารกลางของลาวเมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่หลวงพระบาง ประเทศลาว NAPAS และ Lao National Payment Network Company ได้มีข้อตกลงเพื่อนำร่องบริการชำระเงินด้วย QR Code สำหรับการการชำระเงินรายย่อยทวิภาคีระหว่าง เวียดนามและลาว

  • ไทย-มาเลเซียเปิดชำระเงินระหว่างประเทศผ่าน QR Code
  • ไทย อินโดนีเซีย เริ่มใช้จริงชำระเงินด้วย QR Code ระหว่างประเทศ ผู้ให้บริการร่วม 76 ราย
  • เวียดนาม-ไทย เปิดชำระเงินระหว่างประเทศผ่าน QR Code