ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > 2019 ปีที่โลกร้อนที่สุด จากปรากฏการณ์เอลนีโญ – เลขายูเอ็นเรียกร้องแก้ไข Climate Change ด่วน

2019 ปีที่โลกร้อนที่สุด จากปรากฏการณ์เอลนีโญ – เลขายูเอ็นเรียกร้องแก้ไข Climate Change ด่วน

2 มกราคม 2019


ที่มาภาพ: https:// www.nationalgeographic.org/encyclopedia/el-nino/

ปี 2019 เริ่มขึ้นแล้วหนึ่งวันหลังจากเสร็จสิ้นการฉลองที่เต็มไปด้วยความสุขสันต์ ท่ามกลางบรรยากาศที่สดใสและอบอุ่นภายใต้อากาศเย็นสบายในหลายประเทศ แม้บางประเทศจะประสบกับอากาศหนาวมีหิมะ บางประเทศเจอฝนและลมแรงบ้างในวันขึ้นปีใหม่ แต่ก็นับว่าเป็นการเริ่มต้นปีที่ดีเพราะสามารถเก็บเกี่ยวสภาวะอากาศที่สบายได้เต็มที่ก่อนที่จะประสบกับภาวะอากาศร้อนตลอดทั้งปี

ปีนี้จะเป็นปีที่อากาศร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ มีสาเหตุจากปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)

ปรากฏการณ์เอลนีโญที่กำลังเริ่มขึ้น จะยิ่งทำให้สภาวะอากาศที่เลวร้ายจาก Climate Change ย่ำแย่ลงอีก และส่งผลให้ปี 2019 นี้เป็นปีที่อากาศร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ โดยศูนย์พยากรณ์สภาพอากาศ (Climate Prediction Center) แห่งองค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Oceanic and Atmospheric Administration) ระบุว่ามีโอกาสถึง 80% ที่ปรากฏการณ์เอลนีโญเกิดขึ้นแล้วและจะคงอยู่ไปจนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2019

Geophysical Research Letter ระบุว่า ผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนีโญครั้งนี้จะรุนแรงกว่าปีที่ผ่านๆ มา เนื่องจากโลกร้อนขึ้นและผลกระทบนี้จะเลวร้ายมากขึ้น เพราะอุณหภูมิโลกยังคงเพิ่มขึ้น

ซาแมนทา สตีเวนสัน นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียที่ซานตาบาร์บารา หนึ่งในผู้เขียน กล่าวว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญนี้จะทำให้มีความเป็นไปได้มากที่ตลอดทั้งปี 2019 จะเป็นปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยประสบมา

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization: WMO) ให้ข้อมูลว่า ก่อนหน้านี้มีปีที่ร้อนที่สุดมาแล้ว 4 ปีอยู่ในช่วงปี 2015-2018 เป็นผลจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปิดกั้นชั้นบรรยากาศ อากาศร้อนทำสถิติใหม่แต่ละปี สภาพอากาศโลกในช่วง 406 เดือนที่ผ่านมาร้อนขึ้นมากกว่าระดับเฉลี่ยของศตวรรษที่ 20 ซึ่งหมายความว่าคนที่มีอายุต่ำกว่า 32 ปีไม่เคยประสบกับอากาศที่เย็นกว่าค่าเฉลี่ยนั้น

รองเลขาธิการ WMO เอเลนา มานาเอนโกวา กล่าวว่า อากาศที่ร้อนขึ้นแม้จะเพิ่มทีละเล็กน้อยก็มีผลให้สุขภาพคนเปลี่ยนแปลงไป และมีผลต่อการเข้าถึงอาหาร อากาศสะอาด มีผลต่อการสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์ รวมไปถึงปะการังและสัตว์ในทะล

โรแมน วิลฟานด์ หัวหน้าหน่วยอุทกอุตุนิยมวิทยาและสิ่งแวดล้อม (Federal Service for
Hydrometeorology and Environmental Monitoring) ที่มาภาพ:
http://tass.com/society/1038742

ขณะที่โรแมน วิลฟานด์ หัวหน้าหน่วยอุทกอุตุนิยมวิทยาและสิ่งแวดล้อม (Federal Service for Hydrometeorology and Environmental Monitoring) ให้ความเห็นที่สอดคล้องกันว่า ปี 2019 นี้จะเป็นปีที่ร้อนที่สุด จากปรากฏการณ์เอลนีโญ

โดยอธิบายว่า เอลนีโญเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่ออุณหภูมิน้ำในมหาสมุทรอุ่นขึ้นในบริเวณตอนกลางและฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก ความร้อนที่เพิ่มขึ้นนี้ส่งผลในวงกว้างรวมไปถึงมหาสมุทรอื่น และมีการถ่ายโอนความร้อนจากมหาสมุทรขึ้นชั้นบรรยากาศและค่อยๆ มีผลต่อโลก

ทั้งนี้อุณหภูมิในบริเวณฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกเพิ่มขึ้นแล้ว 0.5 องศา ซึ่งนับว่าเพิ่มขึ้นมาก จึงเป็นผลให้ปี 2019 เป็นปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์

โดยปกติแล้วเอลนีโญจะเกิดขึ้นทุกๆ 2-3 ปี เป็นผลจากอุณหภูมิของน้ำในมหาสมุทรที่เพิ่มขึ้นสูงกว่าปกติในบริเวณฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งมีผลต่ออากาศทั่วโลก นำไปสู่ภาวะแล้งในพื้นที่ที่โดยปกติแล้วมีความชุ่มชื้น เกิดไฟป่าที่รุนแรงและมีวงกว้างมากขึ้น ขณะที่พื้นที่เคยแห้งแล้งกลับมีฝนตก ภัยพิบัติน้ำท่วม

อุณหภูมิผิวน้ำเพิ่มขึ้น 0.8-1.2 องศาเซลเซียส

ทางด้าน WMO ออกรายงานเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2018 ว่า มีโอกาส 75-80 % ที่จะเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญในเดือนกุมภาพันธ์นี้ โดยอุณหภูมิพื้นผิวน้ำในทะเลได้อยู่ที่ระดับต่ำสุดของการเกิดเอลนีโญแบบอ่อนๆ แล้วตั้งแต่เดือนตุลาคม 2018 แม้สภาพอากาศเขตร้อนในมหาสมุทรโดยรวมยังไม่เปลี่ยนแปลงต่อความร้อนที่สูงขึ้นและลมที่แรงขึ้น เช่นเดียวกับรูปแบบของเมฆและระดับน้ำที่ยังไม่แสดงให้เห็นถึงการเริ่มเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ

ที่มาภาพ: https:// public.wmo.int/en/media/press-release/wmo-update-75-80-chance-of-el-ni%C3%B1o-within-next-3-months

อย่างไรก็ตาม แบบจำลองพยากรณ์สภาพอากาศได้ผลว่า เอลนีโญจะปรากฏเต็มที่ในช่วงเดือนธันวาคม 2018-กุมภาพันธ์ 2019 ในระดับความเป็นไปได้ 75-80% และมีโอกาส 60% ที่จะเกิดขึ้นไปจนถึงเดือนเมษายน 2019 และยังพยากรณ์ได้ว่าปรากฏการณ์เอลนีโญจะเกิดขึ้นในระดับที่อุณหภูมิอุ่นขึ้นแบบสบายไปจนถึงระดับปานกลาง โดยอุณหภูมิผิวน้ำจะเพิ่มขึ้นประมาณ 0.8-1.2 องศาเซลเซียส ขณะที่โอกาสที่เอลนีโญจะเกิดแบบรุนแรงโดยอุณหภูมิผิวน้ำจะเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสยังมีความเป็นไปได้น้อย

ที่มาภาพ: https:// public.wmo.int/en/media/press-release/wmo-update-75-80-chance-of-el-ni%C3%B1o-within-next-3-months

แม็กซ์ ดิลลีย์ ผู้บริหาร WMO ให้ความเห็นว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญครั้งนี้จะไม่แรงเท่าช่วงปี 2015-2016 ซึ่งช่วงนี้มีผลทำให้เกิดความแห้งแล้ง น้ำท่วมและปะการังตายในหลายพื้นที่ของโลก แต่กระนั้น ก็จะมีผลมากต่อ การเกิดฝน อุณหภูมิ ภาคเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร การจัดการกับแหล่งน้ำและสาธารณสุข ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อุณหภูมิของปี 2019 ทั่วโลกก็จะสูงขึ้น

ข้อมูล WMO ยังบ่งชี้ถึงภาวะฝนตกในช่วงเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ ซึ่งมีรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์เอลนีโญ

ก่อนหน้านี้มีการพยากรณ์จากหลายหน่วยงานในสหรัฐอเมริกาต่อการเกิดเอลนีโญ ขณะที่อุตุนิยมวิทยาของออสเตรเลียเตือนในเดือนตุลาคม 2018 เกี่ยวกับหน้าร้อนที่แห้งแล้ง และมีความเสี่ยงจะที่เกิดคลื่นความร้อน ไฟป่า ซึ่งเป็นหลักฐานบ่งชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้ผลกระทบของเอลนีโญรุนแรงมากขึ้น

ปรากฏการณ์เอลนีโญเกิดขึ้นครั้งล่าสุดและสิ้นสุดในปี 2016 ส่งผลให้เป็นปีหนึ่งที่มีอากาศร้อนที่สุดส่วนหนึ่งมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขณะที่ปี 2017 เป็นปีที่อากาศร้อนทำสถิติใหม่ โดยที่ไม่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ และนักวิทยาศาสตร์ประเมินว่า ปี 2018 ซึ่งประสบกับภัยพิบัติจากสภาพอากาศ ก็จะเป็นปีที่ร้อนสุดอีกปีหนึ่ง

มหันตภัยจากความร้อน

โลกที่ร้อนขึ้นแสดงให้เห็นถึงสภาพอากาศที่มีผลต่อการทำลายล้างและอันตรายแบบสุดขั้ว เช่น คลื่นความร้อน ไฟป่า ภาวะแห้งแล้ง น้ำท่วมและพายุที่รุนแรง ในปี 2018 มีพายุเฮอริเคนในบริเวณตอนเหนือของโลกถึง 70 ลูก เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยระยะยาว 53 ลูก พายุที่มีความรุนแรงนี้ได้สร้างความเสียหายแก่ฟิลิปปินส์ เวียดนาม เกาหลี ตองกา ในสหรัฐอเมริกา พายุเฮอริเคนฟลอเรนซ์และไมเคิลได้สร้างความเสียทางเศรษฐกิจอย่างมาก รวมทั้งคร่าชีวิตคนจำนวนมาก

ขณะที่คลื่นความร้อนมีผลกระทบต่อประสิทธิผล อากาศที่ร้อนเกินไปยากที่จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในปี 2018 จำนวนชั่วโมงการทำงานที่สูญเสียจากคลื่นความร้อนสูงถึง 153 พันล้านชั่วโมง สูงกว่าปี 2000 ถึง 3 เท่า

ปรากฏการณ์เอลนีโญที่ผ่านพ้นไปในปี 2016 มีผลต่อการตายของปะการังในแนว Great Barrier Reef ในออสเตรเลีย ภาวะแห้งแล้งรุนแรงที่แอฟริกา อเมริกาใต้และส่วนหนึ่งของแปซิฟิกและเอชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งไฟป่าในอินโดนีเซียและแคนาดา

แม้ปรากฏการณ์เอลนีโญที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปีนี้จะไม่รุนแรงเท่ากับปี 2016 แต่ก็ยังมีผลนำไปสู่สภาวะอากาศที่เลวร้ายในพื้นที่เปราะบางทั่วโลก ทั้งนี้เอลนีโญจะกินเวลาตั้งแต่ 2-3 เดือนไปจนถึง 2-3 ปี และเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะมีผลต่อรูปแบบสภาวะอากาศทั่วโลก และสร้างผลกระทบในวงกว้างตั้งแต่ผลผลิตทางเกษตร ภาวะอดยาก ความร้อน และมีการใช้เครื่องปรับอากาศมากขึ้น และภาวะอากาศที่สุดขั้ว

ไมเคิล แมนน์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สเตท ระบุว่าผลกระทบของเอลนีโญและลานีญ่าในรอบ 20 ปีที่ผ่านมารุนแรงมากขึ้น เป็นผลจากอากาศที่ร้อนขึ้น และเมื่อผสมกับความร้อนที่เกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์ ก็จะยิ่งทำให้ปรากฏการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้นในปีต่อไปจะยิ่งร้อนขึ้น

นอกจากนี้ยังระบุในงานวิจัย study linking climate change ด้วยว่า ภาวะอากาศที่มีผลในการทำลายล้างนี้จะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 50% และอาจจะเพิ่มขึ้นถึง 300% จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพียงอย่างเดียว เว้นเสียแต่ว่าโลกจะเร่งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลลง

ภาวะโลกร้อนจะเพิ่มความแปรปรวนของปรากฏการณ์เอลนีโญในบริเวณฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก และมีผลให้เกิดภาวะอากาศแบบสุดขั้วมากขึ้นในอนาคต

พื้นที่เอเชีย ยุโรป อเมริกาเหนืออุณหภูมิสูงขึ้น

ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์มีความเข้าใจปรากฏการณ์ เอนโซ (El Nino/Southern Oscillation: ENSO) มากขึ้น สามารถพัฒนาแบบจำลองคาดการณ์ มีการติดตามและเฝ้าระวังได้ดีขึ้น ช่วยให้สังคมสามารถเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติที่เกี่ยวเนื่องกับเอลนีโญได้ดีขึ้น เช่น ฝนตกหนัก น้ำท่วมและภัยแล้ง

ENSO เป็นการเรียกรวมของปรากฏการณ์เอลนีโญกับความผันแปรของระบบอากาศในซีกโลกใต้ (Southern Oscillation) ที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน ระหว่างปรากฏการณ์ในมหาสมุทร หรือน้ำ และบรรยากาศ คือ ลม ซึ่งมีผลอย่างมากต่ออากาศและรูปแบบสภาพภูมิอากาศในหลายพื้นที่ของโลก

WMO ได้พยากรณ์อากาศช่วงเดือนธันวาคม 2018-กุมภาพันธ์ 2019 ด้วยการใช้แบบจำลองที่พัฒนาขึ้น และอยู่ระหว่างการทดลองใช้ ซึ่งคาดการณ์ว่า ในเอเชียส่วนใหญ่ ยุโรป อเมริกาเหนือ หมู่เกาะแคริบเบียน แอฟริกา ออสเตรเลีย หมู่เกาะอินโดนีเซียและอเมริกาใต้ จะมีอุณหภูมิพื้นผิวสูงขึ้นกว่าปกติ ยกเว้นพื้นที่ทางตอนใต้แอฟริกาใต้ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ของอเมริกาเหนือ ส่วนหนึ่งของภาคตะวันตกเฉียงเหนือของยุโรปและตอนใต้ของเอเชียกลาง ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่นี้ได้ประสบกับภาวะอุณหภูมิสูงกว่าปกติมาแล้วในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2018

แบบจำลองทำนายว่า จะมีฝนน้อยกว่าปกติในแคริบเบียน อเมริกากลาง บางส่วนของอเมริกาใต้ พื้นที่ชายฝั่งของหมู่เกาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตอนใต้ของหมู่เกาะอินโดนีเซีย หมู่เกาะแปซิฟิกใต้บางส่วน แต่จะมีฝนตกหนักในตอนใต้ของอเมริกาเหนือ บางส่วนของทางตะวันออกเฉียงใต้ของอเมริกาใต้ เอเชียกลางและเอเชียเหนือ บางส่วนของเอเชียตะวันตกเฉียงใต้

แอนโทนิโอ กัวเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติที่มาภาพ : https://unmiss.unmissions.org/un-secretary-general-antonio-guterres-delivers-appeal-peace-video

เลขายูเอ็นเรียกร้องแก้ไข Climate Change ด่วน

แอนโทนิโอ กัวเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ได้เรียกร้องให้ผู้นำโลกร่วมมือจัดการกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในปี 2019 เพื่อป้องกันผลกระทบและความเสียหาย ที่ได้เพิ่มขึ้นมาก

ในสาส์นปีใหม่ กัวเตอร์เรส กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศยังเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าที่โลกจะแก้ไขได้ทัน ดังนั้นจึงมีความสำคัญลำดับต้นๆ ในการที่จัดการแก้ไขโดยด่วน

นอกจากนี้ยังชี้ว่าประเด็นความเหลื่อมล้ำทางรายได้ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องให้ความสนใจ เพราะความเหลื่อมล้ำเพิ่มมากขึ้น จนเกิดการตั้งคำถามว่า มีคนเพียงหยิบมือเดียวแต่ครอบครองความมั่งคั่งของโลกถึงครึ่งหนึ่ง

กัวเตอร์เรสกล่าวว่า สหประชาชาติยังคงเดินหน้าประสานงาน ประสานความร่วมมือเพื่อหาทางแก้ไข

เอเชียรับผล Climate Change แรงสุด

รายงาน Global Climate Risk Index 2019 ที่นำเสนอในช่วงการประชุม COP 24 หรือการประชุมภาคีแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 24 ในเดือนธันวาคม 2018 ที่คาโตวีตเซ ประเทศโปแลนด์ เปิดเผยว่า ประเทศในเอเชียได้รับกระทบและความเสียหายมากที่สุดจากอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้น โดยใน 10 อันดับของประเทศที่ได้รับผลกระทบมากสุด ซึ่งนำโดยเปอรโตริโกนั้น มีเอเชียรวมอยู่ถึง 5 ประเทศ

รายงาน Global Climate Risk Index 2019 ได้รวบรวมผลกระทบของแต่ละประเทศและภูมิภาคที่ได้รับความเสียหายจากผลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปี 2017 เช่น น้ำท่วม พายุ คลื่นความร้อนและช่วงปี 1998-2017 และนำผลมาจัดอันดับโดยใช้จำนวนผู้เสียชีวิตและความสูญเสียที่เป็นตัวเงิน

ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติมากกว่า 526,000 คน จากผลของการเปลี่ยนแปลงอากาศแบบสุดขั้วถึงมากกว่า 11,500 เหตุการณ์ สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจช่วงปี 1998-2017 มูลค่าราว 3.47 ล้านล้านดอลลาร์

ในปี 2017 เปอโตริโกได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด รองลงมาคือ ศรีลังกา ส่วนอันดับสามคือ โดมินิกัน ขณะที่อันดับสี่คือ เนปาล อันดับห้าเปรู อันดับหก เวียดนาม อันดับเจ็ด มาดาร์กัสกา อันดับแปดเซียร์ราลีโอน อันดับเก้า บังกลาเทศ และอันดับสิบ ประเทศไทย

ที่มาภาพ: https:// www.germanwatch.org/sites/germanwatch.org/files/Global%20Climate%20Risk%20Index%202019_2.pdf

เดือนพฤษภาคม 2017 ดินถล่มและน้ำท่วมในศรีลังกาหลังจากฝนฤดูมรสุมตกหนักในทางตะวันตกเฉียงใต้ และฝนที่ตกหนักในมหาสมุทรอินเดียทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 200 คนนับตั้งแต่ปี 2003 ผู้คนไร้ที่อยู่อาศัยกว่า 600,000 คนและมีพื้นที่ได้รับผลกระทบถึง 12 เขต โดยที่เมืองรัตนปุระได้รับผลกระทบมากสุดมีประชาชนได้รับผลจากน้ำท่วมกระทันกันถึงมากกว่า 20,000 คน มีความเสียหายทางเศรษฐกิจ 3 พันล้านดอลลาร์

ฝนที่ตกหนักในเนปาล บังคลาเทศ และอินเดียซึ่งติดอันดับที่ 14 ส่งผลกระทบกับประชาชนกว่า 40 ล้านคน เสียชีวิต 1,200 คนและสูญหายอีกกว่า 1 ล้านคนในทั้งสามประเทศ น้ำท่วมกินพื้นที่ไปถึงตีนเขาหิมาลัย ทำให้เกิดดินถล่มสร้างความเสียหายแก่บ้านเรือน ไร่นาและเส้นทางคมนาคม

เนปาลซึ่งประสบกับน้ำท่วมกระทันหันและดินถล่มในเดือนสิงหาคมในพื้นที่ชายแดนทางใต้มีความเสียหายทางเศรษฐกิจราว 600 ล้านดอลลาร์ มีผู้เสียชีวิตราว 250 คนจากบ้านเรือนถล่มและจมไปกับสายน้ำ บ้านเรือนพัง 950,000 หลัง ขณะที่บังคลาเทศเสียหายทางเศรษฐกิจราว 2.8 พันล้านดอลลาร์ อินเดียเสียหาย 13.7 พันล้านดอลลาร์

ในประเทศไทยฝนเริ่มตกหนักตั้งแต่ต้นปี 2017 ต่อเนื่องไปจนถึงฤดูร้อนทำให้ประชาชนในภาคใต้ได้รับผลกระทบกว่า 1.6 ล้านคน จากเส้นทางรถยนต์และรถไฟถูกตัดขาด มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 40 คน ในเดือนมกราคมเพียงเดือนเดียว นอกจากนี้ยังน้ำท่วมส่งผลให้เกิดคลื่นแรงกวาดชีวิตคนไป 18 คนและยังเอ่อล้นท่วมหลายหมู่บ้าน โรงเรียนกว่า 1,500 แห่งต้องปิดการเรียนการสอน ความเสียหายทางเศรษฐกิจของไทยรวมมากกว่า 700 ล้านดอลลาร์

ส่วนประเทศที่ได้รับผลกระทบมาเป็นระยะยาวตั้งแต่ปี 1998-2017 เปอโตริโกยังเป็นประเทศที่ได้รับผลรุนแรงที่สุด รองลงมาคือ ฮอนดูรัส อันดับสามคือ เมียนมา อันดับสี่ เฮติ อันดับห้า ฟิลิปปินส์ อันดับหก นิการากัว อันดับเจ็ดบังกลาเทศ อันดับแปด ปากีสถาน อันดับเก้าเวียดนาม และอันดับสิบ โดมินิกัน

ที่มาภาพ:https: //www.germanwatch.org/sites/germanwatch.org/files/Global%20Climate%20Risk%20Index%202019_2.pdf

ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาจากการเกิดคลื่นความร้อน ฝนตกหนัก และน้ำท่วมชายฝั่ง ได้มีการบันทึกไว้ไในรายงาน Fifth Assessment Report ของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ปี 2014 และยังคาดการณ์ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับเหตุภัยพิบัติต่างๆ ว่าจะเพิ่มขึ้นจากอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

นักวิจัยยังพบข้อมูลอีกว่า อุณหภูมิผิวน้ำคือปัจจัยหลักในการทำให้ความเร็วของลมพายุเพิ่มขึ้นและฝนตกหนักมากขึ้น ขณะที่รายงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งพบว่า ปริมาณฝนที่ตกหนักในช่วงเกิดพายุเฮอริเคนฮาร์วีย์ปี 2017 เท่ากับฝนที่ตกในมหาสมุทร ดังนั้นจึงส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของน้ำทะเล

นอกจากนี้ยังพบความสัมพันธ์ของเอลนีโญและภาวะโลกร้อนจากการทำวิจัยในปี 2014 ซึ่งบ่งชี้ว่าเหตุภัยพิบัติจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในอนาคตจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

เรียบเรียงจากGlobal Climate Risk Index 2019,nationalgeographic,theguardian,accuweatherkfm,tass