ThaiPublica > คอลัมน์ > สรุปว่าคนไทยควรใส่ใจกับ climate change หรือไม่?

สรุปว่าคนไทยควรใส่ใจกับ climate change หรือไม่?

22 มีนาคม 2023


สวิสา อริยปรัชญา [email protected] และ สุพริศร์ สุวรรณิก [email protected] สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

Climate change หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นปรากฏการณ์ที่ผู้เขียนเชื่อว่าทุกคนเคยได้ยิน แต่หลายคนอาจคิดว่า เป็นเรื่องระยะยาวและไกลตัว ไม่จำเป็นต้องสนใจก็ได้ ธุรกิจบางแห่งอาจคิดว่า ยังไม่จำเป็นต้องปรับตัวใด ๆ เพราะยังต้องคำนึงถึงปากท้องด้วยการทำธุรกิจในลักษณะเดิม ๆ ยิ่งการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ของประเทศไทยคิดเป็นเพียงประมาณร้อยละ 0.9 ของปริมาณการปล่อย CO2 ทั้งหมดของโลกแล้ว บางธุรกิจจึงคิดว่ายังไม่จำเป็นต้องสนใจประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในตอนนี้

แล้วสรุปว่าคนไทยควรใส่ใจกับ climate change หรือไม่? บทความนี้จะตอบคำถามโดยพยายามสังเคราะห์องค์ความรู้และข้อเท็จจริงที่ได้จากงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ รวมทั้งสาระสำคัญบางส่วนจากงาน Policy Forum และการสนทนาเรื่องความยั่งยืน (Discourses on Sustainability) ที่สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ (PIER) ได้ร่วมจัดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยมีทั้งนักวิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมเข้าร่วมกันแลกเปลี่ยนความรู้ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาเชิงนโยบายที่จะตอบโจทย์ประเทศไทยได้จริง

และเมื่อได้อ่านบทความนี้จบ ผู้เขียนหวังว่าผู้อ่านจะหมดความลังเลสงสัย และเข้าใจว่าการรักษ์โลกเป็นความรับผิดชอบของทุกคน…

สภาพภูมิอากาศของไทยเปลี่ยนแปลงไปจริง โดยร้อนขึ้นและเกิดภัยพิบัติบ่อยครั้งขึ้น

ในช่วงเกือบ 50 ปีที่ผ่านมา (ค.ศ. 1970 ถึง 2017) อุณหภูมิเฉลี่ยของไทยร้อนขึ้น 1.3 องศาเซลเซียส โดยคาดว่าจะร้อนขึ้นอีก 2-4 องศาเซลเซียสภายในปี 2100 (Limsakul et al. 2019) โดยอุณหภูมิช่วงกลางวันและกลางคืนแปรปรวนมากขึ้น ส่งผลให้จำนวนคืนที่หนาวเหน็บและจำนวนคืนที่อบอุ่นเกิดบ่อยครั้งขึ้น ความแปรปรวนของอุณหภูมิเหล่านี้ ส่งผลให้จำนวนวันที่ฝนตกในประเทศไทยโดยเฉลี่ยน้อยลง ขณะที่สภาวะสุดขั้วของลมฟ้าอากาศ (extreme weather events: EWEs) รุนแรงและเกิดบ่อยครั้งขึ้น (Limsakul 2020)
ในด้านระดับน้ำทะเล Limsakul et al. (2019) คาดว่าระดับน้ำฝั่งอันดามันและทะเลจีนใต้จะสูงขึ้นมากกว่าระดับค่าเฉลี่ยของโลก ส่วนกรุงเทพฯ เอง ซึ่งเป็นพื้นที่ราบลุ่ม จะมีปริมาณน้ำฝนมากขึ้นและ EWEs ที่รุนแรงและบ่อยครั้งขึ้น (รูปที่ 1) ซึ่งบ่งชี้ความเสี่ยงต่อภัยพิบัติที่สูงขึ้นตามมา (Limsakul, 2016) โดยหากคาดการณ์ด้วยภาพฉาย RCP 8.5 1 พบว่า ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นประมาณ 1 เมตร ภายในปี 2100 และส่งผลกระทบต่อพื้นที่ของกรุงเทพฯ ประมาณร้อยละ 10 ภายในปี 2050


รูปที่ 1: ความถี่ของการเกิดพายุหมุนเขตร้อนในไทยระหว่างปี ค.ศ. 1951-2014 (กราฟแท่งแสดงความถี่โดยเฉลี่ยทุก 10 ปี)
ที่มา: Limsakul, A. et al (2019), Updated Basis Knowledge of Climate Change Summarized from the First part of Thailand’s Second Assessment Report on Climate Change. Applied Environmental Research, 41(2), 1-12.

ทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

โดยทั่วไป ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แบ่งออกเป็นผลกระทบที่เกิดทางด้านกายภาพ (physical risk)2และผลกระทบที่เกิดจากช่วงที่ประเทศต่าง ๆ กำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (transition risk)3ซึ่งทั้งสองผลกระทบส่งผลต่อพวกเราคนไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่มากก็น้อย

ประเทศไทยมีความเสี่ยงจาก climate change คิดเป็นอันดับ 9 จากประเทศทั่วโลก โดยเป็นผลจากทั้งปัจจัยเชิงภูมิศาสตร์ของประเทศ และจากโครงสร้างเศรษฐกิจที่มีภาคการเกษตร และการท่องเที่ยวที่อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ ความสามารถของไทยในการรับมือกับภัยพิบัติค่อนข้างอยู่ในระดับต่ำ (อันดับ 39 จากทั้งหมด 48 ประเทศ) (Germanwatch, 2021) โดยในปี 2011 ประเทศไทยเสียหายจากน้ำท่วม คิดเป็นประมาณ 1.43 ล้านล้านบาท หรือเท่ากับร้อยละ 12.6 ของ GDP (World Bank, 2012) และนี่ยังไม่รวมค่าเสียโอกาสในการนำเงินไปลงทุนในกิจกรรมอื่น ๆ ที่อาจมีประสิทธิผลสำหรับเศรษฐกิจมากกว่าการซ่อมแซมและฟื้นฟูด้วย

งานวิจัยหลายชิ้นประเมินว่า GDP ของไทยจะลดลงมาก เช่น Burke, Hsiang, and Miguel (2015)4 ประเมินว่า GDP per capita ของไทยจะลดลงร้อยละ 90 ภายในปี 2100 เมื่อเทียบกับกรณีปกติที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขณะที่ Swiss Re Institute ประเมินว่า GDP ของไทยจะลดลงระหว่างร้อยละ 4.9 ในกรณีที่อุณหภูมิโลกสูงขึ้นไม่เกิน 2°C และร้อยละ 19.5 กรณีอุณหภูมิโลกสูงขึ้น 2°C นอกจากนี้ ประเทศไทยเป็นอันดับ 6 ของประเทศที่มีความเสี่ยงต่อภัยแล้ง โดยภาคเศรษฐกิจที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ภาคการท่องเที่ยวและภาคการเกษตร

งานวิจัยของ Jirophat, Manopimoke, and Suwanik (2021) ชี้ให้เห็นว่า ในระดับประเทศ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ผิดปกติส่งผลลบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย แม้จะไม่ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อในภาพรวม (จะกระทบต่อหมวดอาหารสดโดยเฉพาะผักเป็นหลัก) ทั้งนี้ ผลกระทบต่อแต่ละภาคส่วนเศรษฐกิจไทยมีความแตกต่างกันมาก โดยภาคเกษตรกรรมและการท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบมากที่สุด จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวไม่สูงนักจะได้รับผลกระทบมากกว่าจังหวัดอื่น ๆ นอกจากนี้ ความอ่อนไหวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อต่อวิกฤติภูมิอากาศ ยังขึ้นอยู่กับทิศทาง ความรุนแรง และความยืดเยื้อของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นสำคัญ

ด้านการเกษตร งานวิจัยของ Pipitpukdee and Attavanich (2021) พบว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลให้การผลิตของข้าว อ้อย มันสำปะหลังและยางพาราปรับตัวลดลง โดยผลการผลิตข้าวจะลดลงประมาณร้อยละ 10 ขณะที่ผลการผลิตอื่น เช่น อ้อยโรงงานจะลดลงประมาณร้อยละ 25 หรือ ร้อยละ 35 ภายใต้ภาพฉาย RCP 4.5 และ RCP 8.5 ตามลำดับ ทั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรที่เปราะบางอยู่แล้ว มีเกษตรกรรายย่อยจำนวนมาก มีการศึกษาไม่สูง และเป็นภาคที่มีแรงงานจำนวนกว่า 13 ล้านคน หรือร้อยละ 34 ของกำลังแรงงานทั้งหมด

นอกจากนี้ ในช่วงการเปลี่ยนผ่าน SMEs ที่มีกว่า 3 ล้านรายทั่วประเทศและจ้างงานกว่า 16 ล้านคนอาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของนโยบายต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น นโยบายการเปลี่ยนแหล่งการใช้พลังงานจากฟอสซิลมาใช้พลังงานสะอาดจะทำให้อุตสาหกรรมไทยมีต้นทุนที่สูงขึ้น โดยเฉพาะ SMEs ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน เนื่องจาก SMEs เหล่านี้จะได้รับแรงกดดันจากนโยบายของบริษัทแม่ที่ต้องการให้ใช้พลังงานสะอาด และในหลายกรณีต้องการให้เปลี่ยนแหล่งพลังงานภายในปี 2035 ขณะที่ปัจจุบัน พลังงานสะอาดในประเทศไทยยังมีสัดส่วนเพียงประมาณร้อยละ 10 ของการใช้พลังงานในระบบทั้งหมดและเป้าหมายการปรับโครงสร้างพลังงานของไทยยังช้ากว่าความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ อุตสาหกรรมไทยจึงอาจมีความเสี่ยงที่จะไม่สามารถปรับตัวให้ได้ตามมาตรฐานใหม่อย่างทันการณ์ และอาจส่งผลให้เสียโอกาสในการส่งออกจำนวนมาก ซึ่งหากสินค้าส่งออก 10 อันดับสูงสุดของไทยได้รับการสั่งซื้อน้อยลงร้อยละ 30 จะเท่ากับการสูญเสียรายได้กว่า 1.2 ล้านล้านบาท

หากเจาะลึกลงไปและมองผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในมิติรายบุคคลแล้ว จะเห็นว่าประชากรไทยมีความเปราะบางและเสี่ยงที่ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะไปซ้ำเติมปัญหาต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้ว เช่น หนี้เกษตร ทักษะแรงงาน หรือ การเป็นสังคมสูงวัย ยกตัวอย่างเช่น ในด้านกายภาพเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น โอกาสการเกิดภัยแล้งมากขึ้น หรือ การเกิดเหตุภัยพิบัติบ่อยครั้งขึ้น กลุ่มผู้ที่เสี่ยงได้รับผลกระทบมากคือกลุ่มที่เปราะบางอยู่แล้ว เช่น เกษตรกรที่ปัจจุบันก็มีหนี้สินจำนวนมาก ที่นอกจากได้ผลผลิตน้อยลง ส่งออกได้น้อยลง ยังอาจได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติที่ทำให้สูญเสียสินทรัพย์ และอาจต้องย้ายถิ่นที่อยู่

ในด้านสุขภาพ Paengkeaw et al. (2020) ได้คำนวณดัชนีอุณหภูมิ (heat index) ของไทยระหว่างปี 1975-2017 และพบว่าดัชนีเพิ่มขึ้น 0.53 องศาเซลเซียสทุกทศวรรษ และเข้าระดับอันตราย ซึ่งดัชนีมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับดัชนีด้านสุขภาพ หมายความว่า ผู้ที่สุขภาพอ่อนแอ สูงวัย หรือ ทำงานกลางแจ้ง เช่น เกษตรกร หรือ ผู้ทำงานก่อสร้าง มีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะป่วย หรือ เสียชีวิตจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น

ทางออกยังคงต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน

ท่านผู้อ่านคงเห็นแล้วว่า climate change ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ และใกล้ตัวกว่าที่คิดเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนทุกคน แม้ปัจจุบันหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ นักวิชาการ และภาคเอกชนไทยได้ดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเตรียมพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว แต่ความท้าทายยังมีอยู่มาก โดยผู้เขียนพอจะสรุปออกมาสำหรับภาคส่วนต่าง ๆ ได้ดังนี้

  • ภาครัฐควรเร่งเสริมสร้างความเข้าใจและตระหนักรู้ของประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับความสำคัญของการเร่งดำเนินการ ทั้งในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการวางแผนและดำเนินการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (แต่อย่างน้อยผู้เขียนก็เบาใจลงว่าท่านผู้อ่านคงเป็นคนหนึ่งที่เข้าใจและตระหนักรู้ในปัญหานี้แล้ว)
  • ภาครัฐและเอกชนควรเร่งเพิ่มองค์ความรู้และสนับสนุนงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไทย ด้วยการสนับสนุนความต่อเนื่องของวิจัย การมี platform กลางด้านการจัดการงานวิจัยและข้อมูลที่รวบรวมข้อมูล climate ทั้งหมด ตลอดจนการร่วมกันทำงานวิจัยระหว่างนักวิจัยในศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง (งานวิจัยที่ผู้เขียนยกมาข้างต้นยังเป็นส่วนน้อยนิด จำเป็นต้องเพิ่มองค์ความรู้ของไทยอีกมาก)
  • ภาครัฐควรเร่งดำเนินการให้มีโครงสร้างพื้นฐานสำคัญรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำในประเทศไทย เช่น ระบบการจัดการน้ำ หรือ พลังงานทดแทน ขณะที่ภาคเอกชนต้องเร่งปรับตัวให้มีระบบการดำเนินงานที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
  • ภาครัฐควรส่งเสริมการบูรณการวิธีการติดตามและออกนโยบายต่าง ๆ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ให้สอดคล้องกันในแต่ละหน่วยงาน และสร้างกลไกตลาดที่รวบรวมทุกภาคส่วนมาช่วยกันแก้ปัญหาเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจไทย และสร้างเศรษฐกิจสีเขียวให้เป็นจริงได้ต่อไป
  • คนไทยทุกคนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและสนับสนุนสินค้าและบริการที่คำนึงถึงเศรษฐกิจสีเขียว โดยเริ่มทำทันที และสามารถช่วยกันคนละไม้คนละมือได้เลย เช่น ลดการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง แยกขยะอย่างถูกวิธี ไม่เทรวม ลดการใช้พลังงานฟอสซิล รวมไปถึงลดการเผาเศษวัสดุในเรือกสวนไร่นา และเปลี่ยนมาทำเกษตรทฤษฎีใหม่
  • ว่าแล้ว ผู้เขียนขอตัวไปทำวิจัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อ และลงมือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เศรษฐกิจสีเขียวเกิดขึ้นได้จริงก่อนนะคะ/ครับ!

    หมายเหตุ :
    1. RCP (Representative Concentration Pathways) หมายถึง ฉากทัศน์หรือภาพฉายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งใช้ในรายงานการประเมินฉบับที่ 5 ของ IPCC (Intergovernmental Panel of Climate Change) ทั้งนี้ ในรายงานการประเมินฉบับที่ 5 แบ่งออกเป็น 4 สถานการณ์คือ RCP 2.6 RCP 4.5 RCP 6 และ RCP 8.5 สะท้อนระดับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 4 ระดับซึ่งเป็นผลลัพธ์ของนโยบายรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระหว่าง ค.ศ. 2000 ถึง 2100 โดย RCP 8.5 คือฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุด
    2.Physical risk คือ ความเสี่ยงจากผลกระทบโดยตรงที่ภาวะโลกร้อนหรือภัยพิบัติทำให้การเติบโตของผลผลิตในประเทศหดตัวจากความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินต่าง ๆ เช่น ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ รวมถึงการลงทุนที่ลดลงเนื่องจากสภาพภูมิอากาศแปรปรวน
    3.Transition risk คือ ความเสี่ยงที่เกิดจากผลกระทบของการออกนโยบายหรือกฎระเบียบของทางการเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยมักมีนัยต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน เพราะการออกกฎหมายที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอาจไปเพิ่มต้นทุนให้บางอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมพลังงาน หรืออุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอนสูง จนทำให้ฐานะการเงินของสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้แก่ธุรกิจเหล่านี้อาจมีความเสี่ยงตามไปด้วย
    4.https://web.stanford.edu/~mburke/climate/map.php

    เอกสารอ้างอิง
    Burke, M., Hsiang, S. & Miguel, E. Global non-linear effect of temperature on economic
    production. Nature 527, 235–239 (2015). https://doi.org/10.1038/nature15725
    Germanwatch. (2021). Global Climate Risk Index 2021. https://www.germanwatch.org/en/19777
    Jirophat, C., Manopimoke, P., & Suwanik, S. (2022). The Macroeconomic Effects of Climate
    Shocks in Thailand (No. 188). Puey Ungphakorn Institute for Economic Research.
    Limsakul, A. & Patama Singhruck. (2016). Long-term trends and variability of total and
    extreme precipitation in Thailand. Atmospheric Research 169 : 301-317.
    Limsakul, A., Kachenchart, B., Singhruck, P., Saramul, S., Santisirisomboon, J., & Apipattanavis, S.
    (2019). Updated Basis Knowledge of Climate Change Summarized from the First Part of
    Thailand’s Second Assessment Report on Climate Change. Applied Environmental
    Research, 41(2) 1-12. https://doi.org/10.35762/AER.2019.41.2.1
    Limsakul, A. (2020). Trends in Thailand’s Extreme Temperature Indices during 1955-2018 and
    Their Relationship with Global Mean Temperature Change. Applied Environmental Research, 42(2), 94-107. https://doi.org/10.35762/AER.2020.42.2.8
    Paengkaew, Wutthichai & Limsakul, Atsamon & Junggoth, Rittirong & Pitaksanurat, Somsak.
    (2020). Variability and Trendเ of Heat Index in Thailand during 1975-2017 and Their
    Relationships with Some Demographic-Health Variables. EnvironmentAsia. 13. 26-40.
    10.14456/ea.2020.3.
    Pipitpukdee, S., & Attavanich, W. (2021). Future of rice production in Thailand under changes in
    climate and socio-economic conditions. Submitted.
    Swiss Re Institute. (2021). Economics of climate change: no action not an option. swiss-re-institute-expertise-publication-economics-of-climate-change.pdf (swissre.com)