ThaiPublica > ประเด็นร้อน > สิ่งที่เห็นและอยากให้ ‘ประเทศไทย’ เป็น > สิ่งที่เห็นและที่เป็นอยู่ของ ‘ประเทศไทย’

สิ่งที่เห็นและที่เป็นอยู่ของ ‘ประเทศไทย’

5 มกราคม 2022


ที่เป็นได้ไม่ใช่เพ้อฝัน

เมื่อใดที่มีการพูดถึงสิ่งที่อยากให้ประเทศของเราเป็น คงไม่ยากนักที่จะพูดถึงสังคมหรือประเทศในอุดมคติที่ประสบความสำเร็จในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม หรือการเมือง ขณะเดียวกัน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเราก็คงคุ้นเคยกับวิสัยทัศน์หรือคำมั่นสัญญาจากรัฐบาลหลายต่อหลายชุดว่าจะให้ประเทศไทยเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ แต่ในที่สุดก็ไม่ประสบความสำเร็จ หรือถูกมองเป็นเพียงแค่ความเพ้อฝัน

แต่สิ่งที่เราต้องไม่มองข้ามก็คือ ศักยภาพของประเทศไทยและคนไทยที่มีอยู่ และเคยได้รับการยอมรับจากคนภายนอก ซึ่งเป็นกระจกที่สะท้อนให้เห็นว่าศักยภาพและความเข้มแข็งของประเทศไทยและคนไทยอย่างไร ตลอดจนข้อเท็จจริงที่แสดงออกถึงสิ่งที่ประเทศไทยสามารถเป็นได้

เช่น ทางด้านเศรษฐกิจ เมื่อประมาณสามสิบปีก่อนนิตยสารชั้นนำอย่าง The Economist เคยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะเป็นเศรษฐกิจใหญ่ใน 10 อันดับแรกของโลกภายในปี ค.ศ. 2020 หลายองค์กรระหว่างประเทศเห็นความเข้มแข็งของเศรษฐกิจไทยซึ่งมีฐานสนับสนุนที่มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นด้านการเกษตรที่เรามีความมั่นคงทางอาหารและยังคงเป็นผู้ส่งออกสินค้าทางด้านเกษตรในลำดับต้นๆ ในหลายผลิตภัณฑ์ ฐานด้านอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนและเติบโตมาโดยตลอด เช่น การที่เราเคยเป็นผู้ผลิตยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดใน 10 ลำดับแรกของโลก ขณะที่ภาคบริการโดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่ประเทศไทยหรือเมืองสำคัญๆ ของเรายังได้รับการยกย่องให้เป็นสถานที่ที่น่าท่องเที่ยวในลำดับต้นๆ ของโลก และเคยมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเป็นจำนวนกว่า 40 ล้านคน

สังคมไทยและอุปนิสัยของคนไทยก็ได้รับการยอมรับในความเป็นมิตร ความเอื้ออาทรต่อกัน และความสามารถในการเปิดรับสิ่งใหม่ๆ หรืออิทธิพลจากทั่วโลก แล้วนำมาประยุกต์ให้เข้ากับเราได้อย่างมีเสน่ห์

แม้กระทั่งทางการเมือง ประเทศไทยก็เคยเป็นแบบอย่างของระบบเสรีประชาธิปไตย ที่ให้สิทธิเสรีภาพกับประชาชนและสื่อมวลชนมากที่สุดในภูมิภาคนี้ เราเคยมีบทบาทในระดับภูมิภาคหรือแม้แต่ระดับโลกในการช่วยให้เกิดสันติภาพในกัมพูชา หรือการสนับสนุนประชาธิปไตยในประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่าในขณะนั้น

ทั้งหมดนี้ยังไม่รวมถึงที่ตั้งของเราที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ สภาพทางภูมิศาสตร์ที่เผชิญกับภัยธรรมชาติน้อย มีความอุดมสมบูรณ์ทางด้านทรัพยากร มีประวัติศาสตร์และประเพณีและวัฒนธรรมที่เลื่องชื่อ ฯลฯ

จากศักยภาพทั้งหลายเหล่านี้จึงไม่มีเหตุผลใดๆ ที่คนไทยจะไม่มีสิทธิ์คาดหวังให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจแข็งแกร่งเจริญเติบโตได้ และแบ่งปันผลประโยชน์ให้แก่ทุกคนอย่างเสมอภาค เป็นสังคมที่มีความสงบสุขและประชาชนอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย และมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยตามหลักสากล โดยยังสามารถธำรงเอกลักษณ์ของชาติและสืบสานประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามและสถาบันหลักของชาติ มีบทบาทสำคัญเชิงสร้างสรรค์ในภูมิภาคและเวทีโลก

ที่เห็นและเป็นอยู่

ความคาดหวังดังกล่าวดูจะห่างไกลจากสภาพความเป็นจริงที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ที่มองไปรอบๆ ผู้คนล้วนเห็นแต่ปัญหา เช่น

  • ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและผลกระทบจากโลกร้อน ตลอดจนการละเลยการพัฒนาผลิตภาพ และการติดกับดักนโยบายประชานิยม ส่งผลให้ขีดความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าเกษตรไทยลดลงอย่างชัดเจน
  • กฎหมาย กฎ ระบบ ระเบียบ ที่ล้าสมัยและนับวันมีแต่ความยุ่งยากสลับซับซ้อนในระบบราชการที่รวมศูนย์และระบบการศึกษาที่ย่ำอยู่กับที่ บั่นทอนขีดความสามารถในการแข่งขันในทางอุตสาหกรรมและเป็นอุปสรรคต่อการเกิดขึ้นของธุรกิจที่อิงกับเทคโนโลยีใหม่ซึ่งเป็นหัวใจของการแข่งขันสำหรับอนาคตและการหลุดพ้นจากการเป็นประเทศระดับรายได้ปานกลาง
  • ความเหลื่อมล้ำที่อยู่ในระดับสูงและเพิ่มขึ้นในทุกมิติของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งไม่เพียงก่อให้เกิดความขัดแย้งที่มีความรุนแรงมากขึ้นในทางการเมืองและสังคม แต่จะเป็นอุปสรรคต่อการมีรากฐานของเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและสามารถเติบโตต่อไปได้ในอนาคต ความเหลื่อมล้ำนี้สะท้อนปัญหาในเชิงโครงสร้าง และมีแนวโน้มที่จะถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นมากขึ้น
  • สังคมและการเมืองมีความขัดแย้งสูงและมีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น จากการเมืองที่แบ่งออกเป็นสองขั้วสู่การเห็นต่างระหว่างรุ่นที่ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะปรับเข้าหากันได้ โดยระบบการเมืองมีความถดถอยในเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ ความขัดแย้งยังลามไปสู่ประเด็นที่เกี่ยวกับสถาบันที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชาติ โดยคู่ขัดแย้งยังไม่มีแนวโน้มที่แม้แต่จะสร้างกระบวนการที่จะนำไปสู่ข้อยุติหรือการประนีประนอมใดๆ
  • ค่านิยมในสังคมในบางเรื่อง เช่น การยึดติดกับระบบอุปถัมภ์ พวก รุ่น ความเกรงใจ เป็นอุปสรรคต่อการสร้างระบบคุณธรรมและการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น มายาคติเกี่ยวกับปัญหาความยากจน วินัยการคลังและระบบสวัสดิการ ทำให้นวัตกรรมทางนโยบายสาธารณะในยุคที่มีความเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงและเฉียบพลันเกิดขึ้นได้ยาก ความเชื่อในการใช้กฎหมายเข้าควบคุมทุกอย่าง สร้างความอึดอัดในทางเศรษฐกิจและการเมือง โดยเฉพาะในหลายกรณีที่สังคมมองว่าเป็นความลักลั่นหรือความอยุติธรรม

  • ที่ต้องเร่งทำ

    จะเห็นได้ว่าการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่สภาพที่พึงประสงค์นั้นจำเป็นจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างในเกือบทุกๆ ด้าน

  • ไม่ว่าจะเป็นการสร้างระบอบประชาธิปไตยตามมาตรฐานสากล
  • การจัดระบบราชการให้ถอยห่างออกจากการรวมศูนย์รวบอำนาจ
  • สร้างระบบการศึกษาที่เน้นการเพิ่มทักษะที่มีความจำเป็นสำหรับโลกในอนาคตไม่เพียงเฉพาะสำหรับเด็กและเยาวชนแต่สำหรับคนในวัยทำงานและคนสูงวัยด้วย
  • การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์เกี่ยวกับการวางแผน กำหนดนโยบาย หรือออกมาตรการทางเศรษฐกิจ ที่ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้ด้อยโอกาสและสามารถลดความเหลื่อมล้ำได้
  • การสร้างระบบสวัสดิการเพื่อให้เกิดความมั่นคงในเชิงรายได้ของคนไทยทุกคนท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว

  • ทั้งหมดนี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้เลยหากไม่มีการสร้างเวทีให้คนไทยทุกกลุ่มได้มีโอกาสแสวงหาฉันทามติในการขับเคลื่อนประเทศ เพื่อนำไปสู่การมีสัญญาประชาคมใหม่ว่า รูปแบบของรัฐ บทบาทของรัฐ ตลอดจนความสัมพันธ์กับประชาชนควรเป็นเช่นไร

    ก้าวแรกที่สำคัญจึงจำเป็นต้องแสวงหาระบบการเมืองที่เหมาะสม หากทุกฝ่ายมีความจริงใจในการสนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็ควรใช้กระบวนการการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างเวทีดังกล่าว โดยเริ่มต้นจากการแสวงจุดร่วมที่สำคัญ กล่าวคือ การยอมรับว่าโอกาสของประเทศและประชาชนที่จะก้าวไปข้างหน้าสมควรอยู่บนพื้นฐานของระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพและมีส่วนร่วมตามมาตรฐานสากล ขณะที่การธำรงไว้ซึ่งสถาบันหลักของชาติรวมถึงสถาบันพระมหากษัตริย์จะเป็นประโยชน์ในการสร้างศูนย์รวมจิตใจของคนไทยและสืบสานเอกลักษณ์ของชาติ โดยสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสมของสถานการณ์และยุคสมัย

    กระบวนการนี้ก็ควรวางรากฐาน รูปแบบและบทบาทของรัฐ ในระบบเศรษฐกิจที่ต้องอาศัยความมีพลวัตและนวัตกรรมจากภาคเอกชน โดยรัฐมีหน้าที่ในการส่งเสริมสนับสนุนและสร้างหลักประกันความมั่นคงให้แก่ประชาชนทุกคนในลักษณะของการเป็นสวัสดิการที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน และใช้นโยบายทางการเงินและการคลังที่เอื้อต่อการสร้างความเสมอภาคอย่างแท้จริง

    หากกระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นได้โดยการยอมรับจากผู้มีอำนาจในปัจจุบัน ก็จะเป็นหนทางที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่มีความราบรื่นและดึงพลังของคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์เศรษฐกิจและการเมืองอย่างแท้จริง แต่หากจะปล่อยไปตามสภาพอย่างที่ปรากฏอยู่ ก็มีความสุ่มเสี่ยงสูงที่ประเทศไทยจะมีความล้าหลังมากขึ้น ประชาชนเสียโอกาส หรือหากจะมีการเปลี่ยนแปลงก็จะกลายเป็นการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในรูปแบบของความรุนแรงที่ไม่พึงปรารถนา

    การดำเนินการในเรื่องนี้ ยิ่งเนิ่นช้าออกไปก็ยิ่งสุ่มเสี่ยงว่าช่องว่างของความเห็นที่แตกต่างและความขัดแย้งจะรุนแรงเกินเยียวยาได้ จึงถึงเวลาแล้วที่ประชาชนและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายควรจะตระหนักถึงความท้าทายที่อยู่เบื้องหน้า และเร่งตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการของการเปลี่ยนแปลงนี้โดยเร็วที่สุด

    สนับสนุนซี่รี่ส์ “สิ่งที่เห็นและอยากให้ ‘ประเทศไทย’ เป็น จะต้องทำอย่างไร? โดย…