ThaiPublica > เกาะกระแส > “พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย” มองการเมืองสุญญากาศ 2 เดือน ช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ชี้กระทบแรงส่งเศรษฐกิจครึ่งปีแรก

“พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย” มองการเมืองสุญญากาศ 2 เดือน ช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ชี้กระทบแรงส่งเศรษฐกิจครึ่งปีแรก

31 มกราคม 2019


=uh

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าทีมวิจัยลูกค้าบุคคล บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) บริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2562 ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าทีมวิจัยลูกค้าบุคคล บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) บริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เผยมุมมองเศรษฐกิจของปี 2562 ภายใต้หัวข้อ “ความหวังครั้งใหม่กับเศรษฐกิจในปีหมู ต้องเลือกเพื่อสร้างโอกาส” ว่า แนวโน้มของเศรษฐกิจไทยในปี 2562 จะยังเติบโตได้ดี แม้จะชะลอตัวลงบ้าง โดยมีสาเหตุหลักจากเครื่องจักรของเศรษฐกิจ คือ การส่งออก การท่องเที่ยว และยอดขายรถยนต์หรือการบริโภคที่เคยเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในช่วงที่ผ่านมากำลังชะลอลง

เศรษฐกิจปี 62 แตะเบรก เหตุ “ส่งออก-ท่องเที่ยว-บริโภค” ชะลอ

“เริ่มจากด้านการส่งออกที่ชะลอตัวลงตามเศรษฐกิจโลก ไม่ว่าจะเป็นยุโรป ญี่ปุ่น จีน แม้แต่สหรัฐอเมริกาที่ดูว่าเศรษฐกิจยังเติบโตดีก็ยังชะลอตัวลง รวมไปถึงความตึงเครียดของสงครามการค้าที่ยังสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สิ่งเหล่านี้ทำให้การส่งออก 2 เดือนสุดท้ายของปี 2561 ติดลบไปต่อเนื่อง สอดคล้องกับการส่งออกของประเทศอื่นๆ ในโลกที่ชะลอตัวลงหมดเช่นกัน ดังนั้น ภาพคงจะไม่เห็นว่าเติบโตทั้งปีได้ 6% แบบปีที่ผ่านมา แต่ชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 3-4%” ดร.พิพัฒน์กล่าว

ด้านการท่องเที่ยว ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า ชะลอตัวลงตามจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ชะลอลง แม้ช่วงสิ้นปี 2561 จะทยอยฟื้นตัวกลับขึ้นมา แต่โดยรวมอาจจะไม่เห็นภาพการเติบโตได้ 2 หลักแบบที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวประเทศอื่นๆ คาดว่าจะเติบโตได้ 5-10% ซึ่งเป็นระดับปกติและเป็นฐานที่ดีของภาคท่องเที่ยวในระยะต่อไป และสุดท้าย ด้านการบริโภค ในช่วงปีที่ผ่านมาถูกขับเคลื่อนจากการบริโภครถยนต์ที่เติบโตมากถึง 15-18% รวมไปถึงกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า แต่ในระยะต่อไปคาดว่าคงยากที่จะเติบโตในระดับเดิม อีกด้านหนึ่งปัจจัยที่กระทบกับการบริโภคคือรายได้ของเกษตรกรที่เป็นแรงกดดันอยู่ โดยเฉพาะราคาสินค้าเกษตรที่หดตัวต่อเนื่องมา 5-6 ปี และมีเพียงไม่กี่ประเภทที่ปรับตัวดีขึ้นในช่วงหลัง ขณะที่ด้านปริมาณปรับตัวดีขึ้นบ้าง แต่ไม่สามารถชดเชยผลทางด้านราคาได้

จับตาเป้าหมายนโยบายการเงิน

สำหรับภาคการคลัง คาดว่าการลงทุนขนาดใหญ่อย่างโครงการ EEC ที่กำลังอยู่ในกระบวนการประมูลและหลายโครงการอาจจะต้องประมูลใหม่ ทำให้ตัวเม็ดเงินที่จะเข้าสู่เศรษฐกิจอาจจะต้องล่าช้าออกไปจนถึงปีหน้า

ขณะที่การดำเนินโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายช่วงปลายปี 2561 จาก 1.5% เป็น 1.75% หลังจากคงอัตราดอกเบี้ยที่ 1.5% มา 3 ปีกว่า โดยให้เหตุผลหลัก 2 ประเด็น คือ เพื่อรักษาเสถียรภาพระบบการเงินที่เริ่มมีพฤติกรรมประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควรจากภาวะดอกเบี้ยต่ำเป็นระยะเวลานาน และเพื่อเพิ่มพื้นที่นโยบายการเงินสำหรับกรณีที่มีภาวการณ์ที่จำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินเพิ่มเติม

“เรื่องนโยบายการเงินของ กนง.และธนาคารแห่งประเทศไทยที่เราต้องตามดูวันนี้อาจจะไม่ได้เป็นเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องเงินเฟ้อ อย่างที่เราคุ้นเคยในอดีตในการกำหนดนโยบายการเงิน แต่ให้ความสำคัญเรื่องของเสถียรภาพระบบการเงินมากขึ้น เพราะว่าในระหว่างที่เศรษฐกิจยังเติบโตได้ดีที่ระดับ 3.5-4.5% ถือว่าอยู่ในระดับที่ใช้ได้ และเงินเฟ้อยังต่ำ ดังนั้นไม่ต้องห่วง 2 เรื่องนี้มากนัก ก็ต้องจับตาอยู่เหมือนกัน ต่างจากอดีตที่ดูว่า กนง.จะขึ้นลงดอกเบี้ยเมื่อไหร่และจะกระทบเศรษฐกิจอย่างไร แต่ตอนนี้ต้องดูนโยบายอื่นๆ ที่ ธปท.จะเอามาใช้ควบคุมความเสี่ยงในระบบการเงินด้วย เช่น มาตรการภาคอสังหาริมทรัพย์ เพราะกระทบเศรษฐกิจ ธุรกิจ ตลาดเงินตลาดทุนด้วย” ดร.พิพัฒน์กล่าว

ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า จากรายงานของ กนง. แสดงความกังวลอยู่ 4 ประเด็นในเรื่องเสถียรภาพระบบการเงิน คือ

    1) คุณภาพการปล่อยสินเชื่อในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่หย่อนลง จนต้องออกมาตรการที่เกี่ยวข้องกับเงื่อนไขการผ่อนชำระอสังหาริมทรัพย์ไปก่อนหน้านี้ ซึ่งต้องติดตามประสิทธิภาพต่อไป

    2) เรื่องหนี้ครัวเรือน โดยเฉพาะในสถาบันการเงินที่ ธปท. ไม่มีอำนาจควบคุม เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ ซึ่งมีขนาดใหญ่และเชื่อมโยงกับระบบการเงินสูง แต่ประชาชนทั่วไปอาจจะประเมินความเสี่ยงผิดพลาดไป

    3) สินเชื่อรถยนต์ที่เริ่มเติบโตขึ้นในระยะหลัง

    และ 4) สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ที่ระดมค่อนข้างมาก ทั้งในภาคธนาคารและภาคตลาดเงิน จนอาจจะสร้างความเสี่ยงกับระบบการเงินและเศรษฐกิจของไทย

2 เดือน “สุญญากาศการเมือง” กระทบเศรษฐกิจ – ชี้ระบบเลือกตั้งเอื้อรัฐบาลผสม

ดร.พิพัฒน์กล่าวต่อว่า การเมืองและการเลือกตั้งจะเป็นประเด็นสุดท้ายที่น่าสนใจและต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยประเด็นแรกคือการเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นการเลือกตั้งในรอบ 8 ปีนับจากปี 2554 และทำให้มีกลุ่มที่จะได้เลือกตั้งครั้งแรก หรือ first-time voters อย่างน้อย 5-6 ล้านคนจากคนที่มีสิทธิเลือกตั้ง 50 ล้านคน และทำให้ผลการเลือกตั้งคาดเดาลำบากว่าจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร เนื่องจากไม่เคยมีข้อมูลเกี่ยวกับคนเหล่านี้เลย

ประเด็นที่ 2 คือเป็นการเลือกตั้งที่ใช้ระบบจัดสรรปันส่วนผสม (mixed-member apportionment system หรือ MMA) ซึ่งคาดว่าจะเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ยังใช้ระบบนี้อยู่ และผลที่ออกมาอาจจะทำให้ไม่มีพรรคใดมีเสียงข้างมากในการชนะเลือกตั้งได้ เพราะด้วยระบบแบบใหม่สิ่งที่สำคัญสุดคือจำนวนเสียงที่เลือกพรรคทั้งประเทศ ด้วยระบบเราอาจจะมีพรรคที่ไม่ชนะสักเขตเลือกตั้งเลย แต่ได้เสียง 20% ทุกเขตเลือกตั้งหรือคือได้ 20% ของเสียงทั้งหมด พรรคนั้นก็จะได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วน 20% แทน ซึ่งเอื้อให้เกิดรัฐบาลผสมมากกว่าและอาจจะกระทบกับความเข้มแข็งของรัฐบาล

ประเด็นที่ 3 คือกฎระเบียบของการเลือกตั้งในครั้งนี้จะสร้างความไม่แน่นอนมากขึ้น ซึ่งต้องจับตามองใกล้ชิด เช่น การเลือกนายกรัฐมนตรีที่ให้สมาชิกวุฒิสภา 250 คนที่ผ่านการคัดเลือกจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. สามารถออกเสียงร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีก 500 คนได้ แปลว่าผลการเลือกตั้งอย่างเดียวอาจะไม่ได้สรุปว่ารัฐบาลจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร โดยตนเองคาดการณ์ว่าอาจจะออกมาได้ 4 กรณี ตามการครองเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรและรัฐสภาทั้งหมด ซึ่งกรณีหลังจะส่งผลต่อการเลือกนายกรัฐมนตรีและการจัดตั้งรัฐบาลที่ต้องการเสียงอย่างน้อย 375 เสียงจากจำนวนเสียงในรัฐสภาทั้งหมด 750 เสียง

  1. กรณีพรรคพลังประชารัฐที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลปัจจุบันได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งอาจจะรวมกับพรรคอื่นๆ ก็ได้ และวุฒิสภาทั้งหมดออกเสียงหนุนพรรคพลังประชารัฐ ในรูปแบบนี้ทำให้พรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลทำหน้าที่บริหารได้ และได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรที่จะทำหน้าที่นิติบัญญัติด้วย
  2. กรณีพรรคพลังประชารัฐไม่ได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร แต่ยังสามารถรวมกับเสียงของวุฒิสภาจนสามารถเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎร กรณีนี้อาจจะมีความเสี่ยงในเรื่องการบริหารที่ลำบากขึ้น เพราะไม่สามารถออกกฎหมายได้สะดวกนัก หรืออาจจะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ง่าย
  3. กรณีที่พรรคที่อยู่ตรงข้ามกับพรรคพลังประชารัฐได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรมากกว่า 375 เสียง ทำให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้และมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรด้วย
  4. ไม่สามารถสรุปผลได้หรืออะไรก็แล้วแต่ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เป็นความเสี่ยงที่เรียกว่าเป็น tail risk คือมีโอกาสเกิดได้น้อย แต่หากเกิดขึ้นอาจจะสร้างผลกระทบกับเศรษฐกิจได้ค่อนข้างมาก

“แล้วระหว่างนี้เรายังมีรัฐบาลปัจจุบันที่ยังอยู่ มีอำนาจเต็ม มีอำนาจตามมาตรา 44 ซึ่งพอมอง 3 กรณีแรกมีความไม่แน่นอนอยู่ค่อนข้างเยอะ นอกจากนี้ ถ้าดูแง่ของกรอบเวลาการเลือกตั้ง เราเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 แต่เราอาจจะไม่รู้ผลเลือกตั้งจนกระทั่งวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 ซึ่งเป็นกรอบ 150 วันที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าต้องเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ แล้วประชุมรัฐสภาครั้งแรกอาจจะต้องไปถึงกลางเดือนพฤษภาคม 2562 แล้วรัฐบาลใหม่อาจจะไม่ตั้งจนช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2562 แปลว่าช่องว่าง 2 เดือนระหว่างนี้อาจจะมีความไม่แน่นอนทางการเมือง เป็นสุญญากาศทางการเมือง ทำให้นักลงทุน ผู้บริโภคอาจจะรอดูสถานการณ์ไปก่อน แรงส่งเศรษฐกิจในช่วงครึ่งแรกของปีก็อาจจะชะลอไปได้ แล้วครึ่งปีหลังจะเป็นอย่างไรก็ต้องดูว่าผลจะออกมาเป็นกรณีไหน แล้วจะไปสู่สถานการณ์ที่สงบ ทุกคนยอมรับผลการเลือกตั้ง และขับเคลื่อนประเทศต่อไปได้หรือไม่ เราเชื่อว่านี่จะเป็นประเด็นสำคัญของเศรษฐกิจในปีนี้ว่าเราจะส่งผ่านรัฐบาลจากรัฐบาลหนึ่งไปอีกรัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตยได้อย่างไร และคนส่วนใหญ่จะยอมรับหรือไม่อย่างไร” ดร.พิพัฒน์กล่าว

นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ (ซ้าย) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร และนายปรีชา เตชรุ่งชัยกุล (ขวา) ประธานสายตลาดการเงิน และรักษาการประธานสายการเงินและงบประมาณ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน)

“เกียรตินาคินภัทร” เผยทิศทางปี 62 รุก Private Bank นำลงทุนต่างประเทศ

นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เปิดเผยว่า “กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร หรือ KKP ได้เตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงของภาคอุตสาหกรรมการเงิน ตลอดจนความผันผวนของเศรษฐกิจภายนอกมาอย่างต่อเนื่อง โดยยังคงวางฐานอยู่ที่ 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่

ธุรกิจสินเชื่อ (credit business) ซึ่งเน้นการเติบโตอย่างมีคุณภาพ ด้วยกลยุทธ์ customer segmentation ที่จะช่วยให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ตอบโจทย์กับความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่มได้อย่างหลากหลายมากขึ้น อีกทั้งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและควบคุมต้นทุน โดยในปี 2561 ที่ผ่านมาสินเชื่อเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งที่ 18.5% และในปี 2562 นี้ ด้วยนโยบายเน้นขยายเฉพาะสินเชื่อกลุ่มที่ให้ผลกำไรเหมาะสมมากกว่าการเพิ่มยอดสินเชื่อโดยทั่วไป จึงได้ตั้งเป้าการเติบโตไว้ที่ 8%

ธุรกิจ private bank ซึ่งในปี 2561 KKP มียอดสินทรัพย์ภายใต้การให้คำแนะนำ (asset under advice: AUA) ที่รวมทั้งยอดเงินฝากของธนาคาร และสินทรัพย์ของลูกค้าภายใต้การบริหารที่ บลจ.ภัทรสูงถึงกว่า 650,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ในขณะที่การแข่งขันในธุรกิจนี้เข้มข้นขึ้นทั้งจากผู้เล่นที่เป็นธนาคารขนาดใหญ่ภายในประเทศ และไพรเวตแบงก์ต่างประเทศที่เข้ามาตั้งสำนักงานในไทย หรือให้บริการตรงจากต่างประเทศ KKP ในฐานะผู้นำในธุรกิจนี้ซึ่งได้เปรียบจากการลงทุนพัฒนาความพร้อมในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ได้พยายามรักษาจุดแข็งโดยนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ให้กับลูกค้า เช่น การนำเสนอบริการการลงทุนในต่างประเทศ การให้บริการการลงทุนใน private markets ต่างๆ การนำเสนอสินเชื่อเพื่อการลงทุนชนิดพิเศษอย่าง lombard loan และ PPF (portfolio for property finance) การนำเสนอบัญชีเงินฝากเพื่อการลงทุนที่ให้ดอกเบี้ยสูงเหมือนเงินฝากประจำ KKPSS (KK Phatra Smart Settlement) ตลอดจนผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีความซับซ้อนและตอบโจทย์มุมมองการลงทุนได้หลากหลายจำพวก structured notes ต่างๆ ส่วนทางด้าน บลจ.ภัทรจะยังคงมุ่งพัฒนาผลงานการบริหารกองทุนให้อยู่ในกลุ่มผู้นำอุตสาหกรรม การเพิ่มสัดส่วนกองทุนที่มีความซับซ้อนแต่ให้ผลตอบแทนสูง ควบคู่ไปกับการพัฒนาช่องทางการขายใหม่ให้มีประสิทธิภาพ โดยในปี 2561 แม้ว่า บลจ.ภัทรไม่ได้เติบโตมากนักในแง่ของ AUM เนื่องจากภาวะตลาดที่มีความผันผวน แต่สามารถสร้างรายได้เติบโตขึ้นถึง 50%

ธุรกิจ wholesale & investment bank ปี 2561 ที่ผ่านมานับเป็นอีกหนึ่งปีที่ดีเป็นประวัติการณ์ เนื่องจาก บลจ.ภัทรได้มีโอกาสเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่สำคัญระดับประเทศทั้งจากการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินและทำรายการระดมทุนในตลาดทุน เช่น โครงการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย ไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ ฟันด์ (TFFIF) หรือการเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนเป็นครั้งแรกของ บมจ.โอสถสภา และ บมจ.พระรามเก้า”

โชว์ผลงาน “สินเชื่อ” โตทะลุเป้า 18.5% – “เอ็นพีแอล” ลด 6 ไตรมาสติดต่อกัน

นายปรีชา เตชรุ่งชัยกุล ประธานสายตลาดการเงิน และรักษาการประธานสายการเงินและงบประมาณ ธนาคารเกียร ตินาคิน จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ภาพรวมการดำเนินธุรกิจสินเชื่อของธนาคารในปี 2561 เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง โดยขยายตัวที่ 18.5% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2560 ซึ่งเติบโตกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ประมาณ 10% โดยการขยายตัวมาจากสินเชื่อในทุกประเภท

ในด้านคุณภาพของสินเชื่อ มีการปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่อง 6 ไตรมาสติดต่อกัน โดยมีปริมาณสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมที่ 4.1% จาก 5% ณ สิ้นปี 2560 ทั้งนี้ ปี 2561 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิไม่รวมส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนน้อยเท่ากับ 6,042 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.3% เมื่อเทียบกับปี 2560 และมีกำไรเบ็ดเสร็จ 5,123 ล้านบาท ลดลง 16.2% จากความผันผวนของตลาดทุน

ทางด้านอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) คำ นวณตามเกณฑ์ Basel III ซึ่งรวมกำไรหลังหักเงินปันผลจ่ายครึ่งแรกของปี 2561 อยู่ที่ 16.29% เป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 เท่ากับ 12.49% แต่หากรวมกำไรถึงสิ้นไตรมาส 4/2561 อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงจะเท่ากับ 17.46% และเงินกองทุนชั้นที่ 1 เท่ากับ 13.65%”