ThaiPublica > คอลัมน์ > นโยบายรัฐบาลที่น่าสนใจสำหรับปี 2566? & ปีกระต่ายท่ามกลางสถานการณ์ผันผวนเศรษฐกิจ(ภาค3)

นโยบายรัฐบาลที่น่าสนใจสำหรับปี 2566? & ปีกระต่ายท่ามกลางสถานการณ์ผันผวนเศรษฐกิจ(ภาค3)

5 กรกฎาคม 2023


รองศาสตราจารย์ ดร.อภิรดา ชิณประทีป คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ [email protected]

ขณะนี้ใกล้ช่วงเวลาจะมีรัฐบาลใหม่แล้ว ดังนั้นขอโอกาสนี้แลกเปลี่ยนความเห็นเล็ก ๆน้อย ๆสั้น ๆ เกี่ยวกับนโยบายรัฐบาลที่น่าสนใจสำหรับปี 2566 โดยใช้มุมมองส่วนตัวเป็นหลักนะคะ และจากบทความฉบับวันที่ 10 มกราคม 2566 และ 4 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา พบว่ามีประเด็นที่เกิดขึ้นแล้วในเวลาต่อมา และยังมีอีกบางประเด็นต่อเนื่องที่น่าสนใจ ผู้เขียนจึงขออนุญาตสรุปให้ฟังด้วยสั้นๆ

1.นโยบายรัฐบาลที่น่าสนใจสำหรับปี 2566?

ในความเป็นจริงทางเศรษฐศาสตร์เราจะมีนโยบายหลากหลายแล้วแต่มุมมองในการวิเคราะห์ของแต่ละท่านซึ่งสามารถที่จะถกเถียงกันเป็นเรื่องสนุกสนานได้ ในที่นี้จึงขอออกตัวก่อนว่าให้เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวเท่านั้น

ถ้าสมมุติเป็นเรื่องของเศรษฐศาสตร์มหภาคที่จะมองสำหรับระดับระหว่างประเทศก็จะมีประเด็น ตอนนี้ทุกท่านก็คงจะเห็นว่ามีเรื่องของสงครามยูเครน-รัสเซีย ซึ่งมีปัญหาทั้งเรื่องยุทโธปกรณ์ เรื่องของราคาพลังงานและสินค้าเกี่ยวเนื่อง เช่น ปุ๋ย และอื่นๆ ได้รับผลกระทบด้วย เราได้คุยไว้ใน 2-3 ครั้งในบทความก่อนหน้าเป็นระยะ

แน่นอนว่าระยะนี้สงครามอาจจะยืดเยื้อต่อไปอีกเราอาจจะต้องจับตามองทางจีนและอียูด้วยอาจจะเป็นตัวเปลี่ยนเกมได้ ส่วนปัญหาเรื่องของบริษัททางเทคโนโลยี (tech company) ที่สหรัฐตอนนี้ที่มีเรื่องของภาคการเงิน (financial sector)ต้องปิดตัวหรือรับผลกระทบจากสหรัฐฯ มายุโรป เรื่องเหล่านี้เราจึงต้องมีการระมัดระวัง และระวังว่าจะมาถึงประเทศไทยผ่านความเชื่อมโยงทั้งภาคการเงินและระหว่างประเทศในที่สุด ฉะนั้นนโยบายหนึ่งคือเราจะต้องมีการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อดูแลเรื่องนี้

ส่วนที่สองก็คือเรื่องของเศรษฐศาสตร์มหภาคและจุลภาคภายในประเทศไทยเราเอง เรื่องแรกคงจะต้องพูดถึงเรื่องของโควิด-19 ซึ่งตอนนี้ทุกท่านคงจะรู้สึกว่า เริ่มผ่อนคลายมากขึ้น ที่จริงประเทศไทยเรารับมือได้ดีระดับหนึ่ง ล่าสุดของสายพันธุ์ย่อยโอไมครอนสายพันธุ์ย่อยที่มีแนวโน้มกลายพันธุ์เพิ่มเติม ทำให้เรายังอาจจะต้องระวังตามที่มีประสบการณ์อย่างเพิ่งวางใจ 100% อย่างน้อยในช่วงอีกระยะเวลาหนึ่ง

โดยระยะนี้ผู้เขียนอยากให้เน้นผู้มีสุขภาพเปราะบางและผู้สูงอายุที่เราห่วงใย อาจจะระวังเพิ่มเติมในการที่บุคคลอื่นที่แข็งแรงหรือลูกหลานหนุ่มสาว หรือเด็กจะนำไปติดได้ (ณ สถานการณ์เขียนต้นฉบับนี้มิถุนายน 2566) และต่อมาในส่วนของนโยบายด้านเศรษฐกิจที่ควรจะมีช่วงนี้

นโยบายกลุ่มที่ 1 อาจจะต้องเน้นที่ค่าครองชีพเป็นหลัก ส่วนตัวมองว่าแม้ว่าหลายท่านอาจจะมองเรื่องของรายได้หรือราคาค่าจ้างแรงงาน
แต่ส่วนตัวอยากนำเสนอไปทางค่าครองชีพในการที่จะช่วยลดแรงกดดันเกี่ยวกับค่าจ้างแรงงานได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งค่าจ้างแรงงานจริงๆ แล้วทางเศรษฐศาสตร์เราจะรู้ว่าเป็นส่วนผสมวัตถุดิบ(input) ส่วนหนึ่งในการผลิต (นักศึกษาและผู้อ่านหลายท่านอาจจะนึกถึงตัว K,L ขอละไว้เนื่องจากจะยาวโดยผู้อ่านท่านที่สนใจสามารถค้นคว้าหรือส่งคำถามมาได้) และเราก็จะต้องไปสร้างความสามารถทางการแข่งขันในตลาดโลก เช่น การส่งออก ดุลการค้า ดุลการชำระเงิน เพราะอาจจะเป็นแรงช่วยได้ส่วนหนึ่ง

นโยบายกลุ่มที่ 2 สำหรับเศรษฐกิจในประเทศไทย คือในเรื่องต่างๆอะไรที่เป็นปัญหาอยู่เรื่อยๆ เกิดขึ้นทุกปีไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภัยธรรมชาติหรือว่าเป็นเรื่องของชีวิตประจำวันเช่น น้ำท่วม หรือว่าเรื่องของเด็กๆ เช่น การไปโรงเรียน เรื่องของผู้สูงอายุในประเด็นต่างๆ ถ้าเราสามารถจัดการเรื่องที่เราทราบอยู่แล้วว่าจะเกิดอยู่แล้วซ้ำทุกปีได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดีมากๆ

นโยบายกลุ่มที่ 3 น่าจะเกี่ยวข้องกับแรงกระทบหรือผลกระทบทั้งจากต่างประเทศและในประเทศของทางด้านอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยนและเรื่องของการส่งออกรวมไปจนถึงเรื่องภาระการคลังและเรื่องของภาคการเงิน ซึ่งเรื่องของการคลังที่ช่วงโควิดที่ผ่านมาเราได้เอามาค่อนข้างเยอะ ดังนั้นหลังโควิดน่าจะเป็นเรื่องของการฟื้นฟูแต่ละสาขาของระบบเศรษฐกิจ อาจจะมีทั้งที่สถานการณ์ดีอยู่แล้วหรืออาจจะกลับลด(drop)ลงได้บ้างหลังจากโควิด หรือบางสาขาที่เคยแย่ในช่วงโควิดก็อาจจะกลับดีขึ้นหรืออาจจะมีสาขาใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอีก(ส่วนนี้ผู้เขียนจะนำเสนอในคราวต่อๆ ไปสำหรับท่านที่สนใจ)

โดยสรุปแล้ว เช่น การคลังเราจะต้องพยายามดูว่าจะทำอย่างไรให้ได้รายได้มากกว่าที่จะเป็นภาระหรือการเก็บภาษีที่แน่นอนว่ารัฐบาลคงจะต้องการได้รายได้เพิ่ม แต่สิ่งที่สำคัญกว่าก็คือจะทำอย่างไรให้เราสามารถได้รายได้เข้าประเทศมากขึ้น เช่น ด้านการส่งออกหรือการสร้างความสามารถทางการแข่งขันซึ่งทุกครั้งที่เราได้รายได้เพิ่ม เวลาที่เราเก็บภาษีเราจะสามารถที่จะเก็บภาษีเพิ่มขึ้นโดยที่ไม่เป็นภาระของทั้งประชาชนและภาคธุรกิจอันนี้อาจจะเป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่าที่จะเพิ่มอัตราภาษีก็ได้ในมุมมองส่วนตัวเท่านั้น

ดังนั้นนโยบายที่สำคัญที่มองว่าน่าสนใจมากและน่าจะเป็นสิ่งที่ประชาชนอยากได้ (ณ สถานการณ์ปัจจุบันช่วงเวลาที่เขียนบทความนี้)ก็คือเรื่องค่าครองชีพและเรื่องปัญหาชีวิตประจำวันที่เกิดซ้ำ ๆ และมองไปถึงเรื่องของภูมิคุ้มกันที่จะรับแรงกระแทกจากสิ่งที่ไม่แน่นอนจากต่างประเทศ รวมไปถึงมีเรื่องของเทคโนโลยี (technology disruption) ก็ตามที่อาจกระทบสาขาอาชีพ การศึกษาเรียนรู้สามารถที่จะเป็นแรงสนับสนุนและช่วยเตรียมความพร้อมส่วนหนึ่งได้

รูปที่ 1 ส่วนหนึ่งจากบทความสงกรานต์ 2566 ยังต้องกังวลโควิด- 19 แค่ไหน? ปีกระต่ายท่ามกลางสถานการณ์ผันผวนเศรษฐกิจ(ภาคต่อ)ได้ลงไทยพับลิก้าฉบับวันที่ 4 เมษายน 2566 แล้ว ที่มา: อภิรดา ชิณประทีปและทีม, 2566

2. ปีกระต่ายท่ามกลางสถานการณ์ผันผวนเศรษฐกิจ(ภาคต่อ)

จากเมื่อฉบับวันที่ 10 มกราคม 2566 เราได้พูดถึง ประเด็นที่น่าจับตามองสำหรับ ปี 2566 อยู่ 5 ประเด็นได้แก่ ประเด็นแรกสถานการณ์เศรษฐกิจโลก (รวมถึง สงครามยูเครน, ระดับราคาสินค้า เงินเฟ้อ ดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน การส่งออก นำเข้า ดุลการค้าและดุลการชำระเงิน รัสเซีย และ ประเด็นอื่นที่น่าสนใจ) ประเด็นที่ 2 สาขาเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบ ประเด็นที่ 3สภาวะเศรษฐกิจไทย ประเด็นที่ 4 แนวโน้มการพัฒนาด้านทรัพยากรบุคคลและทักษะยุคใหม่เพื่อให้มีความยั่งยืนและแข่งขันได้ ในสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจ และประเด็นที่ 5 ประเด็นสุดท้ายความกังวลด้านโรคระบาดหรือโควิดที่อาจมีเรื่องของการกลายพันธุ์และการระบาดเพิ่มเติม จากการเปิดประเทศและการเคลื่อนย้ายประชาชนครั้งใหม่

ความคืบหน้าของประเด็นดังกล่าว

ในประเด็นของสงครามยูเครนรัสเซียยังอยู่ในกรอบที่เราวิเคราะห์ไว้ตั้งแต่เดือนมกราคม ความเป็นจริงได้วิเคราะห์มาตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของสงครามในเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว อย่างไรก็ดี น่าจับตามองการดำเนินนโยบายของจีน และEU ซึ่งอาจจะเป็นตัวเปลี่ยนเกมได้

ในส่วนของสาขาเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบก็ยังคงเป็นไปตามที่เราวิเคราะห์กันในฉบับวันที่ 10 มกราคม และ 4 เมษายน 2566 โดยผล กระทบจากธุรกิจสาขาไอทีของสหรัฐฯ ได้มีผลกระทบต่อเนื่องมายังสาขาการเงิน ในส่วนนี้ผู้เขียนยังเชื่อว่าผลกระทบต่อประเทศไทยค่อนข้างน้อยในระยะแรกในส่วนเศรษฐกิจของอเมริกา ผู้เขียนเชื่อว่ายังไม่น่ากังวลจนเกินไปด้วยการดำเนินนโยบายแบบใหม่ของทางสหรัฐฯ เอง แต่เราอาจจะต้องติดตามต่อไป เนื่องจากการ layoff สาขาไอทียังไม่จบ

ส่วนประเทศไทยเรามีการมาประยุกต์ใช้ในหลายภาคการผลิตส่วนของอุตสาหกรรมอาจจะสามารถไปได้ค่อนข้างดีแบบค่อยเป็น ค่อยไปในส่วนภาคเกษตรนั้นถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีความพยายามในการทำการเกษตรแบบชาญฉลาด(smart farming) มาได้ระยะเวลาหนึ่งแล้วก็ตาม ทั้งนี้ส่วนตัวพบว่าอาจจะยังมีข้อจำกัดในหลายประการที่เราสามารถที่จะพัฒนาปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นให้ได้

สำหรับเรื่องของโควิด-19 หลังจากที่มีการเปิดรับนักท่องเที่ยว ซึ่งพวกเราคงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าภาคท่องเที่ยว เป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญและเป็นกระดูกสันหลังหนึ่งของประเทศไทยในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจและผู้เขียนก็ได้นำเสนอชื่นชมในบทความก่อนๆ

อย่างไรก็ดีขออนุญาตยกตัวอย่างเพียงการเปิดการท่องเที่ยวครั้งล่าสุดในกรณีนี้ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ก็พบว่า ยังมีแนวโน้มผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในประเทศไทยด้วยถึงแม้ว่าอาจจะเป็นจำนวนที่ไม่มาก เพียงแต่ยังวางใจไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังแสดงในรูป 2

นอกจากนั้นอัตราผู้เสียชีวิตก็ยังอยู่ในอัตราที่ยังวางใจไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เช่นเดียวกันในกลุ่มผู้ที่ยังเปราะบางทางสุขภาพหรือผู้สูงอายุอาจจะต้องมีความระมัดระวังต่อเนื่องอยู่ก่อนในระยะเวลาหนึ่งอยากให้กำลังใจทุกท่านว่าหากมีการระมัดระวังประกอบควบคู่เผื่อเอาไว้ด้วยก็เชื่อแน่ว่าประเทศไทยน่าจะสามารถฟื้นฟูทุกสาขาเศรษฐกิจและสถานการณ์ภาพรวมได้ดี

ที่มา: -ข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขเผยแพร่สาธารณะ, สืบค้นมิถุนายน2566 -อภิรดา ชิณประทีปและคณะ (forthcoming)
การวิเคราะห์สถานการณ์โควิด-19 และการเสนอแนะมาตรการทางเศรษฐกิจและสังคมสำหรับประเทศไทย ปี 2565-2566 สนับสนุนโดย สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
รูปที่ 2 สถานการณ์การติดโควิด-19 หลังการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวแบบใหม่ ตั้งแต่ต้นปี 2566(แยกรายจังหวัดที่มีผู้ป่วยมากที่สุด 5 อันดับแรกและอายุผู้ป่วย) การเสียชีวิตภายในประเทศ เปรียบเทียบย้อนหลัง และรายจังหวัด ที่มา: -จัดทำขึ้นใหม่จากข้อมูลจัดหางานของสหรัฐอเมริกาเผยแพร่สาธารณะ-อภิรดา ชิณประทีปและคณะ (forthcoming) สนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 
รูปที่ 3 สถานการณ์การปลดคนงานของสหรัฐอเมริกา ปี 2566 (แยกรายสาขา) (ข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น) prelim.

เรื่องของการท่องเที่ยวเนื่องจากปัจจุบันนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มกลับมาที่ประเทศไทยแล้วอาจจะต้องมีการระวังเรื่องของโควิดอยู่บ้างตามที่ทุกท่านมีประสบการณ์แล้ว

อย่างไรก็ดีอีกประเด็นหนึ่งที่อาจจะเป็นข้อสังเกตไว้ คือการทำธุรกิจของชาวต่างชาติในปัจจุบันซึ่งอาจจะทำให้เกิดการแข่งขันกับผู้ประกอบการภายในประเทศที่อาจจะกระทบทั้งรายย่อยและอาจจะมีบางส่วนไปถึงรายใหญ่ได้ เกิดการแข่งขันที่เข้มข้นมากขึ้นยิ่งกว่านั้นบางครั้งการท่องเที่ยวจากต่างประเทศอาจจะมีค่าใช้จ่ายหรือกิจกรรมในลักษณะที่เอื้อให้ใช้บริการแต่กับผู้ประกอบการต่างประเทศด้วยกันเอง

สิ่งเหล่านี้อาจจะทำให้ผู้ประกอบการไทยหลายๆรายได้รับรายได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยซึ่งปัจจุบันพบว่าภาคธุรกิจที่มีชาวต่างประเทศมาประกอบการในประเทศไทยมีแพร่หลายและยิ่งมีจำนวนมากขึ้นตามลำดับซึ่งในความเป็นจริงไม่ได้มีเฉพาะภาคท่องเที่ยวเท่านั้นยังมีภาคเกษตรและอุตสาหกรรมและอื่นๆ อีกด้วย

ดังนั้นจึงจำเป็นที่นโยบายรัฐบาลอาจจะต้องพยายามอุดช่องว่างเหล่านี้ โดยมุ่งไปทางสิ่งที่เราต้องการสนับสนุนหรือสิ่งที่เราต้องการที่จะปกป้องผู้ประกอบการภายในประเทศเอาไว้ ด้วยสิ่งเหล่านี้อาจจะต้องพิจารณาด้วยเช่นกัน ก่อนหน้านี้ผู้เขียนเคยออกช่องมันนี่ชาแนลก่อนพูดถึงเรื่องการท่องเที่ยวเมื่อประมาณปี 2558 ช่วงระเบิดราชประสงค์ใหม่ ๆ และได้ประมาณการถูกต้องว่าภาคท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้ภายในไม่กี่เดือนถัดมา หลังจากนั้นก็เป็นความจริงเนื่องจากภาคท่องเที่ยวของเรามีความสามารถในการแข่งขันค่อนข้างสูงและได้ให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการมีสัดส่วนการใช้(contribution)ทรัพยากรในประเทศไว้ในปี 2559 ด้วยซึ่งทุกท่านที่อาจจะสนใจสามารถฟังเล่นสนุกๆได้ตามลิ้งค์อ้างอิงท้ายของบทความนี้

ผู้เขียนได้มีโอกาสรับเชิญเข้าร่วมประชุมเสวนาขององค์การสหประชาชาติ จัดที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมาเรื่องเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมกัน(inequalities)มีผู้เข้าร่วมประมาณร้อยกว่าคนจากหลากหลายประเทศได้ความสรุปย่อ ๆ ว่าตัวชี้วัดของการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ SDGs ได้รวมถึงเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศ ยาเสพติด ความอดอยากการดำรงชีวิต สัญญาทางสังคม การต่อสู้กับความยากจนนโยบายทางสังคม ฯลฯ เรายังต้องการวิธีที่นโยบายสามารถเชื่อมต่อกับวิวัฒนาการในโลกและสังคมระดับล่างสุดมีส่วนร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ และรวมถึงความคืบหน้าของการเคลื่อนไหวทางสังคมฝ่ายสถาบันและการตรวจสอบ โดยหากย้อนกลับไปในปี 1995 การมีส่วนร่วมในการพัฒนาที่ได้รับการยอมรับว่าควรเกินไปกว่าการมองเพียง GDP เท่านั้นเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนและคนรุ่นต่อไป

ผู้เข้าประชุมมีความเห็นว่านโยบายทางสังคมมีความสำคัญอย่างยิ่ง และยิ่งยุคโควิด-19, การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี,การเคลื่อนไหวทางสังคม เพื่อหาทางเลือกในการแก้ปัญหาคณะทำงานที่แอฟริกากล่าวถึง เรื่องปัญหาเศรษฐกิจ รวมถึงปุ๋ยแพงจากสงครามยูเครน-รัสเซีย ส่วนผลกระทบของมิติด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะในประเทศยากจน สิ่งแวดล้อมไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ เว้นแต่เราจะมีการเคลื่อนไหวและนโยบายทางสังคมไปด้วย ในตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจรวมถึงความตื่นตัวทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นวิกฤตการณ์โควิด ราคา สิ่งแวดล้อม วิกฤตการเงิน สัญญาทางสังคมและนโยบายความเหลื่อมล้ำทางสังคมมีความสำคัญในการจะช่วยแก้ปัญหาประเทศให้ลุล่วงได้ราบรื่นและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ยังคงเป็นหัวใจสำคัญที่ทั่วโลกยังเห็นพ้องกัน

ท้ายสุดนี้สุขสันต์วันหยุดยาวที่ใกล้จะถึงนี้กับทุกท่านและครอบครัวล่วงหน้าแม้ว่าอาจจะเพิ่มความตระหนักเรื่องโควิดอยู่ต่อเนื่องอย่างที่ทุกท่านมีประสบการณ์อยู่แล้วแต่ไม่ตระหนกร่วมด้วยการระมัดระวังเผื่อไว้อีกสักนิดในระยะสั้นๆ นี้ เชื่อว่าน่าจะผ่านไปได้อย่างสวยงาม และหากมีประเด็นเพิ่มเติมอาจจะนำเสนอแลกเปลี่ยนในบทความครั้งต่อไป ให้ผู้อ่านที่สนใจทุกท่านส่งกำลังใจให้ประเทศไทยในการพัฒนาอย่างยั่งยืนรอบด้านต่อไป

(หมายเหตุ: ทั้งนี้ความเห็นและบทวิเคราะห์ต่างๆเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนโดยเป็นความเห็นส่วนตัวเท่านั้นไม่จำเป็นต้องตรงกับหน่วยงานที่กล่าวถึงในบทความหากมีข้อเสนอแนะหรือแลกเปลี่ยนสามารถแนะนำได้ที่ email:[email protected] ขอบคุณยิ่ง)

อ้างอิง

อภิรดา ชิณประทีป ท่ามกลางสถานการณ์ผันผวนเศรษฐกิจปีกระต่าย 2566 ประเด็นอะไรที่ควรติดตามบ้าง? สำนักพิมพ์ไทยพับลิก้า ฉบับวันที่ 10 มกราคม 2023

อภิรดา ชิณประทีปและคณะ (forthcoming) การวิเคราะห์สถานการณ์โควิด-19 และการเสนอแนะมาตรการทางเศรษฐกิจและสังคมสำหรับประเทศไทย ปี 2565-2566 สนับสนุนโดยสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

อภิรดา ชิณประทีป ผลกระทบโควิดกับเศรษฐกิจ ทองคำ น้ำมัน ตลาดหุ้น หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 29 มิ.ย. 2564  

อภิรดา ชิณประทีป โควิด-19 (Covid-19) ต่อเศรษฐกิจไทย มีโอกาสทางเศรษฐกิจบ้างไหม?   หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 11 พฤษภาคม2564  

รายการช่วยคิดช่วยทำ 19 กันยายน 2560 ครอบครัวข่าวเช้า ไทยทีวีสีช่อง3
รายการช่วยคิดช่วยทำ 1 พฤษภาคม 2560 (ตอน 1) เกี่ยวกับผู้อพยพในยุโรปและการกีดกันการค้าของอเมริกา ไทยทีวีสีช่อง3

รายการช่วยคิดช่วยทำ (ตอน 2) เกี่ยวกับแนวโน้ม agingของประชากรและแลกเปลี่ยนแนวความคิดข้อเสนอเพื่อการจัดการ ไทยทีวีสีช่อง3

รายการ ASEAN UPDATE อาเซียนอัพเดท ตอนที่ 2 วันที่ 25 เมษายน 2559(สัมภาษณ์สถานการณ์การท่องเที่ยวไทยกับอาเซียน) มันนี่ชาแนล (พูดเรื่องการcontributionจ้างงานไว้ประมาณนาทีที่ 8.45)