ThaiPublica > คนในข่าว > กาแฟ การเมือง และระยะห่างของความเหลื่อมล้ำ กับ“ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ”

กาแฟ การเมือง และระยะห่างของความเหลื่อมล้ำ กับ“ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ”

18 พฤศจิกายน 2017


“ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ” ลูกชาย “สุรินทร์ พิศสุวรรณ” ปัจจุบันเป็นนักศึกษาปริญญาเอก สาขารัฐศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด แต่อีกมุมหนึ่งของชีวิต ฟูอาดี้เป็นนักพัฒนากาแฟรุ่นใหม่ไฟแรง ที่อยากผลิตกาแฟไทยคุณภาพดีส่งออกไปยังตลาดโลก

ช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม ซึ่งเป็นฤดูเก็บเกี่ยว หรือในช่วงปิดเทอม ฟูอาดี้จะขึ้นดอยภาคเหนือ ไปขลุกอยู่กับชาวสวน ไปช่วยพัฒนากาแฟและส่งออกกาแฟ โดยหวังว่าในอนาคตประเทศไทยจะเป็นเหมือนฮาวาย ปานามา คอสตาริกา ที่สามารถผลิตกาแฟคุณภาพดีที่ขายได้ราคาดี

นอกจากนี้ ฟูอาดี้ยังศึกษากาแฟเพื่อค้นหาตัวตน ค้นหาปรัชญาทางการเมือง เขาอยากรู้จักประเทศไทยให้ดีขึ้น “..กาแฟอาจจะทำให้ผมรู้จักกับประเทศตัวเองได้ดีขึ้น”

“ไทยพับลิก้า” สนทนากับ “ฟูอาดี้” ทั้งเรื่องราวของกาแฟและความคิดด้านการเมืองของเขา มาฝากคุณผู้อ่านดังนี้

บทที่ 1 ว่าด้วยเรื่อง “กาแฟ”และ “การเมือง”

“ความไม่รู้จักกัน ความไม่เข้าใจกัน มันเป็นต้นตอของปัญหาการเมืองที่เราไม่เข้าใจเขา เขาไม่เข้าใจเรา เราคิดว่าเขาเป็นอย่างนึง เขาคิดว่าเราเป็นอย่างนึง ก็เลยเริ่มมาจากตรงนั้น เลยอยากจะแสวงหา และคิดว่ากาแฟจะเป็นตัวที่จะทำให้ผมเข้าใจอะไรได้มากขึ้น”

ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ

ไทยพับลิก้า: สนใจเรื่องกาแฟตั้งแต่เมื่อไหร่ ทำไมถึงสนใจ

สนใจกาแฟตั้งแต่ไปเรียนที่บอสตัน ที่ฮาร์วาร์ดครับ ตอนนั้นต้องไปร้านกาแฟเยอะ แล้วก็ได้ยินว่ากาแฟไทยดี มีอยู่ทุกที่ แต่ผมก็ไม่เคยเห็น อันนั้นคือในระดับความชอบกาแฟ ความสงสัย ก็เลยเริ่มศึกษาว่าทำไมกาแฟไทยไม่เคยไปในร้านที่เราอยากจะให้มันไป และคิดว่ากาแฟจะทำให้ผมรู้จักประเทศไทยได้ดีด้วย

ตอนนั้นที่มีปัญหาการเมืองเยอะ เสื้อเหลือง เสื้อแดง คนกรุงเทพฯ ทะเลาะกับคนอีสาน คนเหนือ คนใต้ทะเลาะกับคนอีสาน นี่พูดถึงในระดับเชิงปรัชญาแล้วว่าผมจะแสวงหาความเข้าถึง ความเข้าใจยังไง ก็เลยอยากจะเดินทางไปเสาะหา ซึ่งคิดว่ากาแฟอาจจะเป็นตัวที่ทำให้ผมรู้จักกับประเทศตัวเองได้ดีขึ้น

ผมเป็นคนใต้อยู่แล้ว ก็รู้อยู่ว่าคนใต้คิดยังไง แต่ผมโตกรุงเทพฯ เลยอยากจะลองไปทำอะไรอะไรที่ภาคเหนือดู คือคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ผมคิดว่ามีน้อยคนในรุ่นผม โดยเฉพาะที่โตในกรุงเทพฯ นะครับ ที่สามารถยกหูโทรศัพท์ได้ แล้วมีเพื่อนอยู่ต่างจังหวัด สามารถไปนอนบ้านเขาได้ ไปหาเขาได้ ผมว่ามีน้อยมาก

ชาวสวนหนุ่มๆบนดอยปางขอน

โรสเตอร์และบาริสต้าจากออสเตรเลียและเวียดนามมาเยี่ยมชมสวนกาแฟของคุณเสรี หมี่เชกู่ บนดอยปางขอน

ซึ่งนั่นล่ะครับ ความไม่รู้จักกัน ความไม่เข้าใจกัน มันเป็นต้นตอของปัญหาการเมืองที่เราไม่เข้าใจเขา เขาไม่เข้าใจเรา เราคิดว่าเขาเป็นอย่างนึง เขาคิดว่าเราเป็นอย่างนึง ก็เลยเริ่มมาจากตรงนั้น เลยอยากจะแสวงหา และคิดว่ากาแฟจะเป็นตัวที่จะทำให้ผมเข้าใจอะไรได้มากขึ้น

ซึ่งก็จริง พอขึ้นไปอยู่บนดอย ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างเกี่ยวกับความคิดทางการเมืองของเขา ซึ่งก็คือไม่ได้คิดอะไร คือสิ่งที่เป็นไปในกรุงเทพฯ ที่เราคิดว่าคนต่างจังหวัดต้องการอย่างนี้ มันเป็นการคิดเองเออเองของคนกรุงเทพฯ บางกลุ่มมากกว่า คนที่กุมอำนาจในกรุงเทพฯ

เราไม่ได้พูดคุยกันอย่างทั่วถึงว่า คนต่างจังหวัดจริงๆ เขาคิดยังไง คนบางกลุ่มในกรุงเทพฯ บอกว่าคนต่างจังหวัดไม่เข้าใจประชาธิปไตย ซึ่งก็ไม่จริง คนต่างจังหวัดต้องการความช่วยเหลือตลอด ก็ไม่จริง เขาช่วยเหลือตัวเองได้ เขาอยากมีความภูมิใจในผลผลิตของเขา เราเป็นคู่ค้าที่ดี เราเป็นคนช่วยเหลือที่ดี โดยไม่ใช่การบริจาคได้มั้ย

ไทยพับลิก้า: พอจะยกตัวอย่างได้ไหม ที่บอกว่าเหมือนเราไปคิดแทนคนต่างจังหวัด

มีหลายอย่างเลยครับ เช่น แจกของ คือเมื่อก่อนรัฐบาล หลายๆ องค์กรแจกต้นกล้ากาแฟกันเยอะมาก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วถ้าชาวสวนไม่ได้ให้คุณค่าก็เอาไปตั้งกองอยู่ที่บ้านมีพี่ที่ จ.น่าน พี่ที่ จ.เชียงราย ประสบการณ์เขายาวกว่าผม เขาบอกว่า ถ้าแจกต้นกล้าส่วนใหญ่ไม่ได้ไปไหนหรอก คือต้องให้เขาซื้อ ซื้อมากซื้อน้อย ซื้อแบบมีการช่วยอุดหนุน (subsidize) ก็ได้ 1 บาท 10 บาท เขาจะได้รู้สึกว่าของสิ่งนั้นมีค่า นี่เป็นตัวอย่างที่เราคิดให้ แล้วเราไม่รู้ว่าเขาต้องการอะไรด้วยซ้ำ

คนที่ปลูกกาแฟส่วนใหญ่ตอนนี้เป็นคนที่อยากปลูก ซึ่งแปลกมากในประเทศไทย ประเทศส่วนใหญ่ที่ปลูกกาแฟคือคนปลูกกาแฟเพราะความยากจน ไม่มีทางเลือกอื่น แต่บ้านเรามันเป็นปรากฏการณ์พิเศษที่ชาวสวน คนชงกาแฟ คนกินกาแฟ คนคั่วกาแฟ อายุไล่เลี่ยกัน 25-35 คือพีกสุดแล้ว ประชากรกลุ่มนี้ ซึ่งประเทศอื่นเราจะไม่เห็นแบบนี้

ปลูกภาคเหนือ กินที่เชียงใหม่ กินที่ขอนแก่น กินที่กรุงเทพฯ ซึ่งประเทศอื่นส่วนใหญ่ส่งออกหมด แต่บ้านเรามันมีกลไกบางอย่าง ซึ่งคือเป็นประเทศที่ชนชั้นกลางเยอะ มีรายได้ ชาวสวนที่กลับไปปลูกกาแฟก็คือมีโอกาสมาทำงานเชียงใหม่แล้ว บางคนจบปริญญาตรี จบฟู้ดไซน์ จบวิศวะ มาเรียนกรุงเทพฯ มีโอกาสทำงานกรุงเทพฯ แล้ว แต่กลับไปเพราะว่ามีตลาดรองรับ เลยกลับไปทำกาแฟโดยความอยากที่จะทำ ซึ่งมันแตกต่างมากกับการที่โดนบังคับหรือไม่มีโอกาสอื่น

ดังนั้นจึงเป็นปรากฏการณ์ที่แปลก เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่ปลูกกาแฟและดื่มกินเองในประเทศเยอะมาก เราส่งออกน้อยมาก ซึ่งเป็นดาบสองคมเหมือนกัน เพราะว่าตลาดของชาวสวนกาแฟจะขึ้นอยู่กับในประเทศอย่างเดียว ถ้าเกิดเศรษฐกิจไม่ดี เกิดโรคอะไรขึ้นมา พอเศรษฐกิจไม่ดี คนดื่มกาแฟน้อยลง ออกไปใช้ของนอกบ้านน้อยลง ไปกินอาหารน้อยลง ร้านอาหารที่เสิร์ฟกาแฟ ดีมานด์ก็จะลดลง

ที่ผมขึ้นไปภาคเหนือ อยากไปช่วยชาวสวนที่ส่งออกกาแฟบ้าง ไม่กะว่าจะทำทั้งหมด แต่อย่างน้อยมีส่วนหนึ่งที่สามารถส่งออกได้ ดีพอที่จะส่งออกได้ สร้างชื่อให้ประเทศ เผื่อว่าในโอกาสหน้าราคามันอาจจะขึ้นได้บ้าง

เพราะฉะนั้นความตั้งใจของผมจริงๆ จึงมี 2 มิติ คือ1. มิติทางด้านปรัชญาของตัวเอง อยากค้นหา อยากรู้จักประเทศตัวเองให้ดีขึ้น ผมมาจากภาคใต้ ผมอยากรู้ว่าภาคเหนือเขาคิดกันยังไง ผมอยากไปรู้ว่าทำไมเราทะเลาะกัน

2.คือมิติที่เป็นธุรกิจ ที่อยากทำคืออยากจะส่งออกกาแฟไทยไปในตลาดโลก เพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติ หวังว่าโอกาสในอนาคตเราจะเป็นเหมือนฮาวาย เหมือนปานามา เหมือนคอสตาริกา คือผลิตกาแฟคุณภาพดีที่ขายได้ราคาดี ซึ่งตอนนี้ก็มีความท้าทายอยู่ว่า คุณภาพโอเค ไม่ได้แย่ แต่ราคาแพงกว่าประเทศที่มีค่าครองชีพต่ำกว่าเรา

ที่ผ่านมาโมเดลของเราไปยึดติดกับตลาดแมสมากเกินไป ซึ่งเราพ้นจุดนั้นมาแล้ว เราสู้ประเทศบราซิล เราสู้กัวเตมาลา เราสู้ฮอนดูรัสไม่ได้ในเรื่องราคา คุณภาพสู้ได้ แต่ราคาเราแพงกว่าเขา ต้นทุนของเราสูงกว่าเขา ซึ่งเราควรจะไปดู โมเดลของปานามา โมเดลของฮาวาย ซึ่งต้นทุนพอๆ กับเรา สูงกว่าเรา แต่เขาขายได้ราคาแพงด้วย เพราะว่าเขามีแบรนด์

ไทยพับลิก้า: โมเดลปานามา โมเดลฮาวาย เป็นอย่างไร

ปานามาโมเดล คอสตาริกาโมเดล ฮาวายโมเดล คล้ายๆ กันคือเป็นประเทศที่ค่าครองชีพสูง ต้นทุนในการผลิตกาแฟสูง แต่ก็ขายได้ราคาสูงด้วย เพราะมีแบรนด์ที่มีชื่อ มีกาแฟคุณภาพดีที่ขายได้ในราคาพรีเมียม บ้านเราแบรนด์ไม่มี แต่ก็พยายามจะขาย ซึ่งราคาต้นทุนมันก็สูง ทำให้ในคุณภาพเดียวกัน ฝรั่งสามารถไปหาซื้อในประเทศกัวเตมาลา ฮอนดูรัส นิการากัว ได้ถูกกว่า ซื้อได้ถูกกว่า ซึ่งไม่ควรไปมองตลาดแบบนั้นแล้ว ควรจะไปเน้นผลิตภัณฑ์พรีเมียม ภาษากาแฟเรียกว่า “กาแฟพิเศษ” specialty coffee

ไทยพับลิก้า:  อยากให้ฉายภาพโลกกาแฟให้คนที่ไม่ได้อยู่ในโลกกาแฟฟังหน่อยว่า กาแฟ specialty มันเป็นยังไง ทำไมเราถึงต้องไปให้ถึง

พูดง่ายๆ specialty คือกาแฟ “คลื่นลูกที่สาม” (third wave coffee) ลูกที่หนึ่งคือพวกกาแฟสำเร็จรูป (instant coffee) หรือเป็นกาแฟในร้านเดลี่ ในร้านอาหารที่ขมๆ หน่อยๆ ก็เป็นตลาดของมัน ถัดมาคือคลื่นลูกที่สอง น่าจะสักประมาณปี 1970 ก็จะเป็นการแฟเชน พวกสตาร์บัคส์ หรือกาแฟแมสที่เห็นทั่วไป ขายเน้นเอา volume และมีคลื่นลูกที่สาม น่าจะเริ่มสักประมาณปี 2000 เป็นกาแฟที่เน้นคุณภาพ เน้นรสชาติมากกว่า กาแฟที่ขมน้อย มีรสชาติแปลกๆ ตลาดนี้จะชอบมาก แล้วมันมีมิติด้าน fair trade มิติด้านการยกระดับคุณภาพชาวสวน การให้ราคาที่เป็นธรรม การมี traceability คือสามารถบอกได้ไปถึงฟาร์มเลยว่า นาย A เป็นคนปลูกนะ เป็นการเพิ่มมูลค่าไปในตัว

ในเมืองไทยก็มีร้านเยอะ ที่เป็นร้านกาแฟ specialty ส่วนใหญ่ที่เราถ่ายรูปลงอินสตาแกรม ลาเต้อาร์ตอาร์ตสวยๆ ก็จะเป็นกาแฟ specialty เป็นส่วนใหญ่ แล้วในกาแฟก็มีมาตรฐานอยู่ ซึ่งวัดคุณภาพด้วยการชิมรสชาติเหมือนไวน์ คือมันก็มี 100 คะแนน ถ้าเป็น specialty คะแนนก็จะ 80 ขึ้น รสชาติแตกต่างกันออกไป ส่วนใหญ่ถ้าไม่ใช่ specialty ก็จะประมาณ 78, 79, 75 แต่ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมากาแฟไทยดีขึ้นเยอะ การหากาแฟแบบ 83, 84, 85 หาไม่ค่อยยากแล้ว แต่ถ้าเราถึง 86 ซึ่งยากอยู่ มี volume ไม่เยอะ ถ้าทำได้อันนั้นเราจะเป็น 1% ของโลก คือถ้ามากกว่า 86 ขึ้น คือมีแค่ 1% ในโลก คือ 80 ขึ้น มีประมาณสัก 10-20%

พรีเซนเทชั่นกาแฟไทย ณ โรงคั่วในนิวยอร์ค
กาแฟไทยใน Whole Foods Market ประเทศอเมริกา

ไทยพับลิก้า: ตอนนี้เราไปถึงหรือยัง

ตอนนี้มีแล้วครับ มีบางทีไปถึง แต่ยัง volume เล็กๆ อยู่ มีวิธีการแปรรูปที่แปลกๆ ที่แตกต่างจากที่ทำกันอยู่ปกติก็มีแล้ว แต่ว่าต้องไปให้ถึงเยอะกว่านี้ คือฝรั่งมา หรือโรสเตอร์คนไทยขึ้นดอย มันต้องเจอ 86 ง่ายกว่านี้ ถึงจะไประดับฮาวาย ระดับปานามา ระดับคอสตาริกาได้ ซึ่งเราต้องไปแล้ว เพราะราคาเราไปขายแข่งกับบราซิล ไปขายแข่งกับกาแฟลาว กาแฟพม่า ไม่ได้แล้ว

ไทยพับลิก้า: เบลนด์อะไรของไทยที่เป็นเสน่ห์ ถึงจะทำกาแฟ specialty ได้

เสน่ห์กาแฟไทยคือมี body ดี เปรี้ยวอาจจะไม่เด่นมาก แต่มีความเปรี้ยวที่พอดี ซึ่งเหมาะกับการทำเอสเปรสโซ กาแฟเอสเปรสโซถ้าเป็นซิงเกิลออริจินไทย ฝรั่งชอบมาก โดยเฉพาะตลาดนิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ซึ่งเขามีวัฒนธรรมการดื่มเอสเปรสโซอยู่แล้ว มันจะตัดนมได้ดีมาก แต่ต้องสะอาด คือมีความสะอาดในตัวกาแฟของมัน ไม่มีรสชาติปนเปื้อน ซึ่งก็ทำไม่ง่าย แต่ถ้าจะให้พูดถึงโพรไฟล์สำหรับกาแฟไทยจะเข้ากับแบบไหน ผมว่าตลาดออสเตรเลียกับนิวซีแลนด์น่าจะเด่นสุด ส่วนยุโรปจะไปยาก เพราะเขาชินกับการซื้อกาแฟที่ถูกมานาน อิตาเลียนคอฟฟี่เจาะยากมาก เพราะเขามี expectation ว่ากาแฟต้องราคาเท่านี้นะ เขาเคยซื้อมาตลอด มันเลยเจาะยาก อเมริกามีความหลากหลายมากกว่า มีคนไปมาเยอะก็ขายง่ายกว่า ญี่ปุ่นมี appreciation เยอะกับกาแฟที่แตกต่างออกไป มีกำลังซื้อมาก ก็ไปได้ง่ายกว่า ยากที่สุดคือยุโรป

ไทยพับลิก้า: เป็นเพราะรสนิยมหรือราคา

รสนิยมกับราคาครับ แล้วก็แบรนด์ดิ้งด้วย เรื่องราวต่างๆ อเมริกาจะค่อนข้างแคร์เรื่องราวเยอะให้ value กับตรงนั้นเยอะ ชาวสวนเด็ก ชาวสวนผู้หญิง ชาวสวนที่ไม่ได้ปลูกกาแฟเพราะว่าจำเป็น เรื่อง sustainability ขายได้ เรื่องไม่ทำลายป่าต่างๆ

พวกกฎหมายด้านป่าไม้ของเราเทียบกับประเทศอื่นดีมากเลยนะ คือผมไม่สามารถไปซื้อสวนบนดอยที่สามารถปลูกกาแฟได้ระดับโลก ซื้อยากมาก เพราะว่าต้องเป็นพื้นที่สงวน ต้องเป็นชาวสวน ต้องเป็นชาวเขา หรือว่าคนที่มีภูมิลำเนาบนดอยเท่านั้นที่จะมีสิทธิ์จัดสรรพื้นที่ในการปลูกกาแฟ ผมทำได้อย่างมากก็ไปทำกับเขา ไปช่วยให้ความรู้ ไปช่วยซื้อ

บทที่ 2 ระหว่างทางของการพัฒนา

“โอกาสของประเทศ คือพัฒนาสายพันธุ์กาแฟ พัฒนากระบวนการให้ดี ผมคิดว่ามันไปได้ แล้วตอนนี้กาแฟเอเชียเริ่มเป็นที่ต้องการของตลาด กาแฟพม่า กาแฟไทย กาแฟอินโดนีเซีย ดีขึ้นตลอด …คือก็จะเริ่มหันมาทางนี้แล้ว มาทางกาแฟเอเชีย มันเป็นเทรนด์”

ไทยพับลิก้า: ได้เข้าไปช่วยอะไรบ้าง

ส่วนใหญ่ผมจะเป็นฝ่ายทฤษฎีครับ คืออ่านเยอะ คุยกับโรสเตอร์ (roaster) คุยกับนักคั่วกาแฟต่างชาติ คือผมอยู่เมืองนอกมานาน เรียนอยู่อเมริกามา 10 กว่าปี อยู่อังกฤษขึ้นปีที่ 4 แล้ว ก็ได้รู้จักตลาด ซึ่งคนที่มีประสบการณ์แบบผมมีน้อย ที่รู้ว่ากาแฟแบบนี้ คนคั่วแบบนี้ต้องการ ขายแบบนี้ได้ ขายวิธีนี้ได้ ก็เอาความรู้ตรงนั้นมาแบ่งให้กับชาวสวน มันก็มีวิธีการแปรรูปกาแฟหลายๆ แบบ รสชาติก็แตกต่างกันไป ควรจะทำแบบนี้นะ เพื่อจะให้มีตลาดราคาสูงขึ้นได้ นั่นเป็นหน้าที่ผม ผมเป็นฝ่ายทฤษฎี แต่พอมาคุยกับน้องๆ เพื่อนๆ ที่เป็นฝ่ายปฏิบัติ ก็มีหลายอย่างที่ไม่ได้เป็นไปตามที่ผมคิดเหมือนกัน เช่น ฝนตกเยอะ ทำแปรรูปแบบนี้ไม่ได้ ราขึ้น แดดไม่ออก ซึ่งบางทีผมไม่ได้คิด

โรสเตอร์จากทั้งในประเทศและต่างประเทศเดินมาชิมและแลกเปลี่ยนความรู้ที่ร้านกาแฟในเชียงราย
โรสเตอร์จากทั้งในประเทศและต่างประเทศเดินทางมาชมการแปรรูปกาแฟบนดอย
ทดลองชิมรสชาติกาแฟกับโรสเตอร์จากอเมริกาที่ร้าน Saturday Cafe ในเชียงราย

ไทยพับลิก้า: แล้วใน 4 ปีที่ผ่านมาต้องทำอะไรบ้าง

ส่งออกไปโฮลฟู้ด (Wholefood) ที่อเมริกาเป็นตลาดหลัก เขาช่วยเราเยอะ ซื้ออยู่ทุกปี แล้วก็มีโรงคั่วเล็กๆ เราทำให้ตอนนี้ใน13 ประเทศทั่วโลกมีกาแฟไทยอยู่ แต่เป็นตลาดแบบซูเปอร์พรีเมียมนะครับ ไม่ใช่ตลาดแมส โรงคั่วเราเป็นโรงคั่วที่คนส่วนใหญ่อาจจะไม่รู้จัก ก็ไปเรื่อยๆ ครับ เล็กๆ ก็โตทุกปี แต่ว่าต้นทุนก็สูง  margin มันต่ำ เพราะว่าเรารับซื้อจากชาวสวนแล้วเราก็สี คัดเกรดให้มันดี แล้วก็ส่งออก ซึ่งสำหรับตลาดคอมมูนิตี้ margin มันต่ำอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ต้องส่งออกเยอะมากๆ ถึงจะได้กำไร

ซึ่งก็พยายามให้ถึงจุดนั้นอยู่ครับ แต่ก็ยากเหมือนกัน ตอนนี้ในทีมก็มีพี่ 2 คนที่เชียงรายที่ช่วยกันอยู่ น้องชายผมก็ช่วยอยู่ ทุกคนก็อดทนเพื่อไปให้ถึงจุดนั้น ไม่มีใครรับเงิน เดิน ไม่มีใครได้รับเงินปันผล ก็หวังว่าเร็วๆ นี้น่าจะถึงจุดที่คิดว่ามันอยู่ได้ จ่ายเงินเดือนตัวเองได้บ้าง (หัวเราะ)

ไทยพับลิก้า: โมเดลการเข้าไปทำงานกับชาวสวนกาแฟเป็นยังไง

โมเดลคือไปให้ความรู้เขา ไปช่วยเขาแปรรูป แล้วก็เป็นไฟแนนซ์ ด้านซื้อเมล็ดกาแฟกะลา มันเหมือนข้าวเปลือกครับ คือมันต้องเก็บมาสี ตาก หมัก แล้วก็ซื้อกาแฟกะลาเพื่อมาสี แต่ก็มาเริ่มทำเมล็ดกาแฟสดเชอร์รีบ้างแล้ว คือไปรับซื้อมาแล้วแปรรูปเอง แล้วก็สี ส่งออก คล้ายๆ ข้าว สีแล้วต้องคุมความชื้นให้ดี ต้องเก็บในถุงพิเศษ เพื่อไม่ให้ความชื้นขึ้น มันละเอียดอ่อนพอสมควร โดยเฉพาะตลาดส่งออก มันค่อนข้างจำกัดว่ามันต้องเป็นยังไง สเปกมัน คุณภาพมัน

ไทยพับลิก้า: ทุกวันนี้เวลาทำงานกับชาวสวน ทำยังไง

ก็ไปอยู่กับเขาเลยครับ บางทีไปๆ มาๆ ขึ้นๆ ลงๆ ผมปิดเทอมช่วงปีใหม่ ก็เป็นช่วงเก็บเกี่ยวพอดี ธันวาคม มกราคม ผมขึ้นดอยตลอด ขึ้นมา 4 ปีแล้ว ก็ไปอยู่กับเขา ขึ้นไปบ่อยๆ ไปให้กำลังใจ ไปให้ความรู้ พาฝรั่งไป แต่ก็เป็นดาบสองคมเหมือนกันเพราะว่าพาฝรั่งไป ชาวบ้านก็คาดหวังว่าราคาต้องขึ้นแล้วพอเห็นหน้าฝรั่ง (หัวเราะ) ซึ่งยากมาก ต้องจัดการให้ดี ไม่ง่าย มันมีรายละเอียดเยอะ

เหมือนที่ผมพูด traceability (การตรวจสอบย้อนกลับ) ถ้าเรา trace ไปถึงชาวสวนเลยทุกคน มันก็มีความเสี่ยงของตัวบริษัทเองอีกว่า คนก็ขึ้นไปหาง่ายๆ คนก็ขึ้นไปช่วยแย่งซื้อได้ง่าย มันมีหลายมิติที่ต้องคิด นี่คือพูดถึงในเชิงธุรกิจนะแล้วก็เรื่อง financing อีก ต้องหาแบงก์ที่เข้าใจ เพราะธุรกิจต้นน้ำเรื่อง cash flow ค่อนข้างหนัก เพราะว่าต้องซื้อมา แล้วต้องมาเก็บ แล้วค่อยสี สีแล้วค่อยขาย มันมีช่วงหนึ่งใหญ่ๆ ที่เงินจะกลายเป็นกาแฟอยู่ ต้องรอปล่อยรอขาย ต้องหาแบงก์ที่เข้าใจ ต้องหาคนที่มีเงินเย็นช่วยครับ ก็ยาก ไม่ง่ายก็มีเพื่อนที่รู้จักช่วยซื้ออยู่ ร้านกาแฟในกรุงเทพฯ ก็มีคนช่วย เพราะหวังว่ากาแฟไทยในที่สุดจะดีขึ้น และทุกคนก็จะได้ประโยชน์

ทดลองการแปรรูปกาแฟด้วยวิธีต่างๆ
โรงสีกาแฟ อ.แม่ขะจาน

ไทยพับลิก้า: พูดได้ว่าตอนนี้เป็นนักพัฒนากาแฟเต็มตัว

ถ้าจะให้นิยามตัวเอง น่าจะเป็นนักพัฒนากาแฟและผู้ส่งออกกาแฟมากกว่า ไม่สมควรเรียกตัวเองว่าชาวสวน แต่อยากจะเป็นนะครับชาวสวน แต่ว่ามีคนที่เก่งกว่าผมเยอะที่เขาอยู่กับมัน ผมจะรู้เรื่อง process ว่าหลังจากเก็บเกี่ยวแล้วจนไปถึงส่งออก อันนี้ผมรู้เยอะ แต่ขั้นตอนก่อนหน้านั้นเรื่องการดูแลต้นกาแฟ เรื่องการใส่ปุ๋ย ไม่ใช่ผมคนเดียวที่ไม่ค่อยรู้ ประเทศไทยทั้งประเทศก็ไม่ค่อยรู้ว่าเราต้องตกแต่งกิ่งยังไง พรวนดินยังไง ซึ่งตรงนั้นมีผลกับรสชาติเยอะ แต่เราไม่ค่อยรู้กัน แต่ตอนนี้เริ่มมีคนเข้ามาให้ความรู้เพิ่มขึ้นแล้ว เช่น ใส่ปุ๋ยยังไงแล้วทำให้รสชาติออกมาหวาน มันเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซึ่งแต่ละที่ก็แตกต่างกันไป แต่ตรงนั้นจะเป็นจุดที่ทำให้เราเป็น 86 ได้ แล้วก็เรื่องสายพันธุ์ เริ่มมีการปลูกสายพันธุ์แปลกๆ กันแล้ว

ไทยพับลิก้า:  มันมีอะไรที่หายไป ที่ยังไม่สามารถพัฒนาไปถึง หรือถึง 1% ของโลกที่กล่าวข้างต้น

ผมคิดว่าเรื่องสายพันธุ์ เพราะเราคิดมาตลอดว่าเราจะปลูกให้เยอะ ขายให้เยอะ อาจจะไม่ต้องขายแพง ขายได้ราคาโอเค แต่ตลาดมันเปลี่ยนไปแล้ว มันมีสายพันธุ์ที่ทนโรค ปลูกแล้วดี ผลผลิตเยอะ แต่ส่วนใหญ่รสชาติอาจจะไม่ดี คือมันมีความสลับกัน คือถ้าสมมติออกผลเยอะ รสชาติก็จะแย่ลง ส่วนใหญ่จะเป็นอย่างนี้ ส่วนใหญ่เราปลูกอราบิก้า ในอราบิก้าก็มีย่อยลงไปอีก มีคาติมอร์, ทิปปิก้า, จาวา, คาทูร่า มันย่อยลงไปหลายสายพันธุ์ บ้านเราส่วนใหญ่เป็นคาติมอร์ ซึ่งการจะทำให้เป็น 86 ด้วยคาติมอร์ก็มี แต่ยาก เหนื่อยมาก ก็ต้องมีอย่างอื่นมาผสม แล้วตอนนี้พวกสมาคมกาแฟพิเศษ พวกร้านเล็กๆ ที่รู้จักกัน ผมก็ติดตามพวกเขาอยู่ เขาก็ขึ้นดอยไปช่วยชาวบ้านปลูกหลายๆ สายพันธุ์ ก็ต้องผสมพันธุ์กันไป คือจะบอกให้ชาวบ้านปลูกพันธุ์ที่ผลน้อยก็ไม่ได้ มันก็ต้องเป็นความตั้งใจของชาวสวนเองด้วย ต้องอธิบายความเสี่ยงให้เขาเข้าใจ เขาอาจจะได้ราคาสูงขึ้น แต่ผลผลิตน้อยลงนะ แต่อาจจะขายในระยะยาวมากขึ้น ก็อาจจะเซฟกว่า เพราะตลาด specialty มันโตเร็วกว่าเยอะ

กาแฟไทยที่เกาหลี
กาแฟไทยที่สวีเดน
กาแฟไทยในคาร์ลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐฯ
กาแฟไทย Limited Edition ที่โรงคั่ว Counter Culture ที่ North Carolina ประเทศสหรัฐฯ

ไทยพับลิก้า: แต่จริงๆ ไทยก็ปลูกกาแฟมานาน มันเกิดปัญหาอะไรขึ้นระหว่างทาง

มีหลายอย่างครับ มันเป็นดาบสองคมเหมือนที่ผมพูด คือ บ้านเราภาษีกาแฟ นำเข้าสูงมาก สูงเป็นอันดับสองของโลก กาแฟลาว กาแฟบราซิล พวกนี้เข้ามาได้ยากมาก ซึ่งเป็นผลดีกับราคา เพราะว่าทุกคนมาแย่งซื้อกาแฟไทย แต่กาแฟลาวก็ทะลักเข้ามาเยอะมาก ผมคิดว่ากาแฟส่วนใหญ่ที่เรากินอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นกาแฟลาว ที่นำเข้ามาโดยอาจถูกกฎหมายบ้าง ผิดกฎหมายบ้าง เพราะราคามันถูกกว่าเยอะ ผลดีคือราคาสูง แต่ผลเสียคือ ตลาดกาแฟพิเศษ ราคาที่ร้านกาแฟพวกนี้ ที่อยากจะซื้อกาแฟดี ให้ราคาสูงมากกว่านั้นไม่ได้แล้ว เพราะตลาดมันสูงอยู่แล้ว

จริงๆ ในต่างประเทศ เช่น กัวเตมาลา กาแฟที่เป็นคอมมูนิตี้ คุณภาพ 80 ลงไป ราคาถูกไปเลย แต่ถ้า 85 ขึ้น ราคาก็แตกต่างกันเยอะมาก ทำให้ชาวบ้านมีแรงจูงใจในการอยากจะปลูก อยากจะพัฒนากาแฟให้ดี แต่บ้านเราต่างอย่างมากก็ 10 บาท 20 บาท หรือไม่ก็ซื้อในราคาตลาดด้วยซ้ำ และยังหวังว่าอาจจะมีเงินปันผลให้ชาวบ้าน หวังว่าในอนาคตจะสร้างแบรนด์ให้ประเทศชาติ ราคามันจะขึ้นเพราะตัวแบรนด์ดิ้งของประเทศ คือจะให้ราคาสูง กระโดดเหมือนประเทศอื่น เช่น เวลาเปรียบเทียบกาแฟ 75 กับกาแฟ 85 มันไม่ได้ต่างกันขนาดนั้น นั่นคือปัญหา เพราะว่าพัฒนาได้ยากกว่า

ไทยพับลิก้า: ถ้าจะมองว่าอะไรเป็นโอกาสในอนาคต สำหรับคนทำกาแฟและโอกาสของประเทศ

โอกาส (opportunity) คือทำอัตลักษณ์ให้มันแตกต่าง คือกาแฟไทยมันเริ่มมีความสนใจเยอะขึ้น คนติดต่อผมมาเยอะ จนไม่มี capacity ที่จะรองรับด้วย หากาแฟในระดับดีๆ ที่เขาต้องการไม่ได้ คนงานไม่พอ ทำกันเอง opportunity มันมี แต่ต้องจัดให้ถูกว่า 50% เป็น business model คือมีคนซื้อ มีคนผลิต แต่มันมีรายละเอียดเยอะ เรื่องความชื้น เรื่องการเก็บ ต้องเก็บในถุงพิเศษ ความชื้น ฝนตก เก็บยังไงให้คุณภาพมันนิ่ง เหนื่อยครับ (หัวเราะ)

โอกาสของประเทศ คือพัฒนาสายพันธุ์กาแฟ พัฒนากระบวนการให้ดี ผมคิดว่ามันไปได้ แล้วตอนนี้กาแฟเอเชียเริ่มเป็นที่ต้องการของตลาด กาแฟพม่า กาแฟไทย กาแฟอินโดนีเซีย ดีขึ้นตลอด เมื่อก่อนกาแฟอินโดฯ ถือเป็นกาแฟที่ห่วยมาก ไปเป็นในเบลนด์แย่ๆ แต่ตอนนี้ก็เริ่มพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ ส่วนใหญ่ 5 ปี ก็เปลี่ยนประเทศไปที คือก็จะเริ่มหันมาทางนี้แล้ว มาทางกาแฟเอเชีย มันเป็นเทรนด์

ผมรู้สึกได้ ปีที่แล้วผมขายหมด คือปกติจะเหลือ ปีที่แล้วมีความต้องการเยอะกว่าที่ผมผลิตได้ ปีนี้ก็น่าจะต้องการเยอะกว่าที่ผมทำได้ ซึ่งเป็นข้อดี แต่ก็อย่างที่บอก ผมทำคนเดียวไม่ได้ ทุกคนต้องช่วยกัน เรื่องคุณภาพ ช่วยกันส่งออกเล็กๆ น้อยๆ คือมันต้องสร้างแบรนด์ไปด้วยกัน ซึ่งก็เริ่มเกิดขึ้นแล้ว

 บทที่ 3 อนาคต…

“…ผมคิดว่าต้องตีโจทย์ให้แตก ว่าเราจะทำให้การเมืองนิ่งยังไง แต่ไม่ใช่นิ่งแบบ hot peace หมายความว่าเป็นความสงบที่ข้างล่างมีแต่ความร้อนระอุ มองภายนอกเหมือนมีความสงบ แต่มันยังร้อน มันยังคุกันอยู่เยอะ คือจะทำยังไงให้เราหลุดพ้น เราติดกับดักนี้มา 11 ปีแล้ว เป็นทศวรรษอันสาบสูญของประเทศไทย…”

ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ

ไทยพับลิก้า: โจทย์ที่มาทำกาแฟในเชิงธุรกิจดูเหมือนจะไปได้ดีว่ามีความต้องการกาแฟไทยมากขึ้น แล้วโจทย์ด้านแสวงหาตัวตน แสวงหาปรัชญาการเมือง เป็นอย่างไรบ้าง

ผมคิดว่าหนักครับ เด็กกรุงเทพฯ คนในกรุงเทพฯ คนกินกาแฟที่ไม่เคยขึ้นดอย มันตัดขาดจากความเป็นจริงโดยสมบูรณ์ว่าชาวบ้านเขาอยู่กันยังไง ความลำบากของชาวบ้านเขาอยู่กันยังไง เราสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง ความต้องการของเขาเป็นยังไง เราไม่รู้เลย

คือเด็กส่วนใหญ่ที่เดินห้าง เที่ยวกัน ผู้ปกครองเองก็เหมือนกัน คือมัน privilege มาก จนผมว่ามันต่อกันไม่ติด แล้วระยะห่าง ความเหลื่อมล้ำ มันเห็นชัดเจน ประเทศเราสถิติก็ออกมาว่ามีความเหลื่อมล้ำมากเกือบเป็นอันดับหนึ่งของโลก รองแค่รัสเซียกับอินเดีย ซึ่งไม่น่าเป็นสิ่งภูมิใจเท่าไหร่

เราจะทำยังไงให้ช่องว่างตรงนี้มันย่นลง คือเป็นปัญหาที่ไม่รู้จะแก้ยังไง ผมก็ไม่รู้จะแก้ยังไงเหมือนกัน แต่ที่สัมผัสได้คือความตัดขาดจากกัน ต่อกันไม่ติด คือน้อยคนในกรุงเทพฯ ที่สามารถมีเพื่อนที่เป็นคนต่างจังหวัด ที่อยู่ห่างไกลจริงๆ ซึ่งกาแฟทำให้ผมมีตรงนี้

ผมก็ขอบคุณกาแฟทำให้รู้จักเพื่อนๆ บนดอย ก็เป็นความสุขอีกแบบหนึ่ง ช่วยอะไรเขาได้มากไหม ก็ช่วยซื้อ ก็เริ่มเห็นมีการเปลี่ยนแปลง ก็หวังว่าจะช่วยเขาได้เรื่อยๆ แล้วก็หวังว่าเขาจะเข้าใจพวกเรามากขึ้นที่อยู่กรุงเทพฯ เราก็เข้าใจเขามากขึ้น อาจจะหวังสูงไป แต่มันต้องมีคนทำอย่างนี้เยอะๆ อยากสนับสนุนให้เด็กกรุงเทพฯ โดยเฉพาะพวกที่มีโอกาสไปศึกษาต่างประเทศ เรียนสูงๆ ต้องเดินทางไปต่างจังหวัดบ้าง ต้องไปอยู่ไปทำอะไรแบบนี้บ้าง

ไทยพับลิก้า: อะไรที่ไปเจอ แล้วคิดว่ามันหายไป จนทำให้ตัดขาดจากกันไปเลย

คือคนกรุงเทพฯ ก็อยู่ส่วนคนกรุงเทพฯ คนต่างจังหวัดก็อยู่ส่วนต่างจังหวัด ซื้อของ ขายของกันอย่างเดียว ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันมาจากไหน คือกาแฟมันดีอย่างตอนนี้มีความเคลื่อนไหวว่าคนดื่ม คนคั่ว ต้องรู้แล้วว่ากาแฟมันมาจากไหน คือมาจากคนนี้นะ นาย A นาย B ซึ่งมันมีการเชื่อมโยงตรงนี้แล้ว แต่เมื่อก่อนเราไม่รู้เลยว่าข้าวโพดมาจากไหน แอปเปิลมาจากไหน อะโวคาโดมาจากไหน ตอนนี้กาแฟมันมี คือมาจากดอยนี้ มาจากสวนคนนี้ ซึ่งเป็นความแตกต่างของด้านตลาด ซึ่งผมว่าเป็นข้อดี

ไทยพับลิก้า: ถ้าให้เปรียบเทียบกาแฟกับการเมือง เหมือนหรือต่างกันอย่างไร

กาแฟมันมีเม็ดสีเหลืองกับสีแดงนะครับ (หัวเราะ) ผมมีในใจว่าสีไหนดีกว่า สำหรับกาแฟนะ แต่สำหรับการเมือง อนาคตผมมองไม่ออกเหมือนกันว่ามันจะจบยังไง คือ มันมีวาทกรรมที่โดนผูกขาดโดยคนกลุ่มหนึ่ง แล้วก็มีวาทกรรมอีกแบบ ที่โดนผูกขาดโดยคนอีกกลุ่มหนึ่ง

ถ้าพูดเรื่องคอร์รัปชัน พูดเรื่องปฏิรูป ก็จะเป็นคนกลุ่มหนึ่ง ถ้าพูดเรื่องประชาธิปไตย พูดเรื่องสิทธิมนุษยชน ก็จะเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่ง ถ้ามันไม่มีการทับกันบ้าง มันเดินหน้าไม่ได้เลย คือประชาธิปไตยที่ดี ประเทศที่ดี มันต้องมีสองเรื่องนี้ควบคู่ไปด้วยกัน

คือตอนนี้การรณรงค์คอร์รัปชัน เงียบเลย เป็นเรื่องที่แปลกมาก จริงๆ สิ่งที่เราต่อต้านกันมานั้น ในยุคก่อนมันยังพูดได้ตลอด แต่ตอนนี้เงียบ เหมือนกับว่าพอเป็นฝ่ายคนที่เรารู้จัก ฝ่ายที่เราเชียร์ เหมือนกับเขาทำอะไรไม่ผิด ซึ่งเป็นเหมือนกันทั้งสองฝ่าย คือก็มีผิดแหละ แต่เหมือนให้อภัยมากกว่า เห็นใจมากกว่า ซึ่งจริงๆ มันต้องหนักทั้งหมด หนักอย่างคงเส้นคงวา เพราะถ้ามันมีปัญหา ก็ต้องพูดให้ตลอด ซึ่งตอนนี้มันบิดเบี้ยวไป มันไม่คงเส้นคงวา ผมก็เบื่อการเมืองแล้วตอนนี้ โพสต์เรื่องกาแฟดีกว่า ซึ่งเหนื่อยครับประเทศชาติ ไม่รู้เหมือนกันว่าจะจบยังไง

ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ

ไทยพับลิก้า: คนไทยควรจะเรียนรู้หรือปรับตัวอย่างไรในสภาพสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ที่เป็นอยู่แบบนี้

ผมคิดว่าตอนนี้ ถ้าคุณสับสนทางการเมือง คุณคิดถูกแล้ว (หัวเราะ) มันควรจะสับสน เพราะต้องตั้งคำถามกับอุดมการณ์ทางการเมืองของตัวเองพอสมควร ผมเคลื่อนไหวเยอะมากกับการเรียนรู้ เคลื่อนไปเคลื่อนมาจนตอนนี้งงหมดแล้ว แล้วผมเรียนรัฐศาสตร์มา มันสอนให้ตั้งคำถามอยู่แล้ว มันไม่มีทางที่จะเชื่ออะไรร้อยเปอร์เซ็นต์ ตั้งคำถามตลอด แล้วมันก็งงๆ คือฝ่ายที่คิดว่าตัวเองอยู่ผมก็คิดว่าเขาทำผิดเยอะมาก ฝ่ายที่เราเคยไม่ชอบก็พบว่าถูกเยอะ

ในที่สุดแล้ว ถ้าเป็นคนคิดมาก อยู่ยากในสังคมนี้ แต่ผมว่าควรจะคิดมาก เพราะถ้ายิ่งงง แสดงว่าน่าจะบรรลุได้ถึงจุดหนึ่ง คุยกับพี่เตา (บรรยง พงษ์พานิช) ก็บอกว่ามันจะงงๆ อย่างนี้แหละ ถึงจุดหนึ่งอาจจะกลับมาสู่จุดที่ว่าตัวเองคืออะไร แต่ตอนนี้ผมกำลังค้นหาตัวเองเยอะพอสมควร คือตั้งคำถามกับคนที่รู้จัก ตั้งคำถามกับคนที่เคยชอบ ตั้งคำถามกับฝ่ายที่ตัวเองเคยเลือก เคยปลื้ม ตั้งคำถามกับฝ่ายที่เคยทะเลาะกับเรา ชื่นชมฝ่ายที่เคยทะเลาะกับเรา คือตอนนี้เหมือนกับตัวเองไม่มีจุดยืน ซึ่งผมคิดว่าแฟนๆ ไทยพับลิก้าหลายคน นักเขียนในไทยพับลิก้าหลายคนเป็นแบบนี้ คือไม่รู้ว่าตัวเองยืนอยู่ตรงไหน

คืออยากจะเอาประชาธิปไตย ไม่ยอมรับการรัฐประหาร แต่ก็ไม่สามารถว่าใครได้อย่างเต็มปาก คือรู้จักคนเยอะไม่หมด แล้วมองคนแบบไม่สามารถตัดสินได้แล้วว่าเขาเป็นคนดีหรือไม่ดี ซึ่งจะมองเขาไม่ดีก็ได้ มองดีก็ได้ คือตอนนี้ผมมองแบบนี้หมดเลย มองเห็นปัญหา มองเห็นความดีของเขา ของทักษิณ (ชินวัตร) เอง ของพรรคประชาธิปัตย์เอง ของรัฐบาลนี้เอง

คือคนที่เข้าไปทำในรัฐบาลนี้ ผมรู้จักเยอะมาก แล้วเป็นคนที่ผมเชื่อถือ เป็นคนที่ผมเคารพ คนที่เคยทำงานกับคุณทักษิณ ผมก็เริ่มรู้จักเยอะขึ้น ให้ความเคารพเขา เคารพในอุดมการณ์เขา เชื่อเขาในหลายๆ เรื่อง คือมันไม่มีใครที่เลวร้อยเปอร์เซ็นต์ ดีร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่วาทกรรมมันออกมาเป็นแบบนี้ เขากับเราชนกัน

คือถ้าเราไม่คุยกันมากขึ้น ไม่เข้าใจกันมากขึ้น แล้วส่วนใหญ่บางทีเป็นการทะเลาะกันของคนระดับสูง ข้างล่างคือก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรกัน อย่างเช่นผมขึ้นไปบนดอย ก็เสื้อแดงหมดเลย แต่พอไปอยู่กับเขาแล้วมันหายไปในความแตกต่าง มันเป็นมนุษย์เหมือนกัน ในที่สุดมันก็ต้องเดินหน้า แต่เดินหน้ายังไง ผมไม่รู้เหมือนกัน ต้องติดตามต่อไป

ไทยพับลิก้า: คุณสิ้นหวังกับอนาคตประเทศหรือเปล่า

ผมคิดว่ามันยังไม่จบง่ายๆ มันยังมีอะไรอีกเยอะ แต่ว่าจะหลุดพ้นกับดักตรงนี้ยังไง อันนั้นคือคำถามที่ผมถามตัวเองตลอด แต่คำตอบก็หายาก คือผมตัดสินไม่ได้ว่าใครดีใครไม่ดี บางคนว่ารัฐบาลนี้หนักๆ ผมจะว่าหนักมากก็ไม่กล้าว่า ผมรู้ว่าเขาไม่ได้อยากมา แต่มาแล้วเขาควรจะลงให้เร็ว นั่นเป็นวัฏจักร คือลงให้เร็ว ปล่อยให้เร็ว ผมคิดว่าดีกว่ารั้งไว้ แล้วพยายามทำให้ดี แต่ล็อกสเปกทุกอย่าง ซึ่งมันก็อาจจะระเบิดอีก มันก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงแบบหนักๆ อีก ซึ่งผมกลัวมาก

ไทยพับลิก้า: ตอนนี้ใกล้หรือยัง

ไม่รู้ครับ (หัวเราะ) แต่ก็เริ่มมีความชัดเจนขึ้นมาระดับหนึ่ง ซึ่งก็ดีครับ ผมคิดว่าต้องชัดเจนสำหรับรัฐบาล

ไทยพับลิก้า: ด้วยวาทกรรมทางการเมืองอย่างที่กล่าวมา หรือการเมืองแบบทุกวันนี้ ทำให้รู้สึกมองเห็นอนาคตประเทศไม่ค่อยชัดไหม

ไม่ค่อยชัดครับ คือไม่รู้เหมือนกันว่าจะออกหัวออกก้อย ถ้าเป็นนักลงทุนเขาก็ตั้งคำถามเยอะ ก็ต้องฝากความหวังไว้กับคนรุ่นผม ซึ่งก็งงๆ อยู่ตอนนี้ คือไม่รู้ว่าความคิดทางการเมืองเป็นยังไง คือคุยกับใครก็รู้สึกว่ามีปัญหาไปหมด ผมไม่สามารถจับต้อง ไม่สามารถเชื่อใครได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ตัวเองยังไม่เชื่อเลย วันนี้คิดแบบนี้ พรุ่งนี้เจอข้อมูลใหม่คิดอีกแบบหนึ่ง ผมอ่านทุกบทความ มีปัญหาหมดเลย ไม่มีอะไรที่ผมชอบร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือผมเขียนเอง ผมก็รู้ว่ามันยังไม่สมบูรณ์ มันมีบางมุมที่สามารถโจมตีผมได้ง่ายๆเหมือนกัน

ไทยพับลิก้า: แล้วจัดการกับความรู้สึกสับสนงงๆ นี้อย่างไร

ขึ้นดอยไปทำกาแฟ (หัวเราะ) ไปรู้จักกับคนทั่วไป เพื่อนๆ ที่ไม่ต้องพูดเรื่องการเมือง หลบหลีกไปทางนั้นก่อน แล้วค่อยกลับมาเครียดต่อ

ไทยพับลิก้า: ถ้าให้นิยามกาแฟที่ดีกับการเมืองที่ดี จะนิยามยังไง

กาแฟที่ดี กับการเมืองที่ดี กระบวนการต้องดี อันนี้เหมือนกัน ผมคิดว่ากระบวนการสำคัญมาก สำคัญกว่าสาระ เพราะสาระจะดีไม่ได้ รสชาติกาแฟจะดีไม่ได้ ถ้ากระบวนการไม่ดี อันนี้เหมือนกัน กาแฟกับการเมือง แต่การเมืองมีกลุ่มหนึ่งเน้นสาระ ประชาธิปไตยต้องมีสาระ ต้องมีน้ำหนัก ต้องมีคุณภาพอย่างนี้นะ แต่เหมือนกับไม่ให้ความสำคัญกับครรลอง กับกระบวนการ ซึ่งผมคิดว่าดีไม่ดีก็ต้องมี มันต้องเริ่มจากตรงนั้นถึงจะมีประชาธิปไตยที่แข็งแรง ที่ให้ความเท่าเทียม ที่ให้สิทธิ์เสียงทุกคนได้เท่ากัน เราจะไปถึงจุดนั้นได้หรือเปล่า ถึงจุดนั้นเมื่อไหร่ ก็ต้องช่วยกัน

ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ

ผมไม่ได้ว่าใครนะครับ ผมเคารพหลายๆ คน โดยเฉพาะคนในรัฐบาล ก็เป็นคนรู้จักเยอะ เขาอยากจะทำให้ดี แต่เขาอาจจะไม่ได้มองบางมุม อาจจะไม่ถูกใจบ้างในการกระทำบางอย่าง อาจจะคิดเผื่อเยอะไปหน่อย ผมคิดว่าต้องถกเถียงกันเยอะกว่านี้

เราอาจจะต้องตำหนิตัวเองด้วยว่า ตอนนี้เราเบื่อหน่ายการเมืองมาก ก็เลยปล่อยไป คือไม่ได้ตรวจเช็ครัฐบาลเหมือนที่เคยทำมาก่อน ไม่ได้ออกเสียงร้องโห่เหมือนเมื่อก่อนมากนัก ซึ่งจริงๆ ผมว่าเราควรทำต่อไป ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ตาม เป็นสิทธิ

แต่ในที่สุดแล้ว เราสู้ได้ เราออกมาบนถนน เราประท้วง เป็นสิทธิตามประชาธิปไตย แต่ถึงจุดหนึ่งต้องหยุด จะดันไปให้สุดโต่ง ล้มระบบ ผมว่าผิด ผมว่าตอนที่เราออกกันมาเยอะๆ พอถึงช่วงคุณยิ่งลักษณ์ (ชินวัตร) ยุบสภา เราต้องหยุดแล้ว แต่มันมีบางกลุ่มที่ดันไปสุดๆ ผมว่าตรงนี้ผิดพลาด ซึ่งตอนนั้นเขาอาจจะไม่รู้ว่าเขาทำผิดพลาด แต่เมื่อมองกลับมาแล้ว มันควรจะหยุดตั้งแต่ยุบสภา แล้วไปเลือกตั้ง

ฝ่ายที่ประท้วงก็อาจจะแพ้อยู่ดี แต่แพ้น้อยกว่าเดิมแน่นอน ก่อนหน้านั้นทุกคนเห็นเป็นเสียงเดียวว่าการผ่าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมไม่ดี อันนั้นทุกคนเห็นด้วยทั้งสองฝ่าย แต่พอถึงจุดหนึ่งแล้ว มันต้องหยุด มันต้องรู้ว่าการเป็นกุนซือที่ดี การเป็นนายทัพที่ดี ต้องรู้ว่าตอนไหนต้องถอย ตอนไหนต้องสู้ ซึ่งผมคิดว่าฝ่ายหนึ่งสู้เกินไป สู้จนล้มหมดเลย ซึ่งทำให้เป๋ เราจะกลับมาจุดนั้นได้ยังไง ที่มาแข่งกันแบบแฟร์ๆ แล้วให้ระบบกลไกจัดการของมันเอง

ซึ่งผมคิดว่าตอนนั้นถ้ายุบสภาแล้วไปเลือกตั้ง ฝ่ายที่แพ้มาตลอดก็จะแพ้ไม่เยอะ และจะมีน้ำเสียงเยอะขึ้นมาก แล้วผมคิดว่าเรื่องจำนำข้าว เรื่องนโยบายต่างๆ รถคันแรก มันจะทำให้รัฐบาลนั้นล้มเอง แล้วการที่จะชนะเผด็จการในระบอบรัฐสภา ไม่มีวิธีอื่น นอกจากชนะในรัฐสภา ในสนามเลือกตั้ง เราจะแก้ปัญหาโดยการล้มรัฐบาลแบบที่ผ่านมาๆ ขอให้ทหารเข้ามาช่วย ซึ่งจริงๆ ผมว่าทหารเขาไม่อยากยุ่งหรอก เราขอให้อำนาจพิเศษเข้ามาช่วย ผมว่ามันไม่ใช่ระยะยาว

เราก็ลองมาแล้ว 19 กันยายน 2549 ลองอีกครั้งหนึ่งก็ไม่เวิร์ก คือในที่สุดมันต้องเลือกตั้งแล้วสู้กัน ฝ่ายที่แพ้ก็ต้องพัฒนาตัวเอง มีเลือดใหม่เข้ามา มีนโยบายใหม่ๆ เข้ามา ผมอาจจะพูดง่าย ผมไม่ได้ไปอยู่ในจุดนั้น แต่มันไม่มีทางอื่น เพราะถ้ายิ่งไปตัดบทเขาแบบนี้ ตัดครรลอง ตัดวงจรแบบนี้ ยิ่งทำให้ฝ่ายหนึ่งเป็นที่นิยมมากขึ้นในระดับมวลชน ในระดับต่างจังหวัด ซึ่งก็เห็นชัดเจน ถ้าไปอยู่กับชาวบ้านจะรู้ว่ามันไม่จบง่ายๆ กลายเป็นตัวแทนของการต่อสู่ไปแล้ว คือต้องชนะในสนามเลือกตั้ง

ความคิดแบบนี้ จุดยืนทางการเมืองหายาก (หัวเราะ) อาจจะมีไม่เยอะที่ผมพอจะจับต้องได้ว่าคิดคล้ายๆ ผม แล้วพวกนี้จะคิดเยอะ คิดเยอะแล้วทำยาก คิดเยอะแล้วไม่กล้าทำอะไรหลายๆ อย่าง เพราะคิดว่าตัวเองจะทำผิด อันนี้คือปัญหาที่ผมเจอ เรียนเยอะก็ตั้งคำถามเยอะ หลอมมาเป็นตัวตนไม่ได้ ซึ่งผมคิดว่าเป็นข้อดีนะ ในอายุขนาดนี้ โตขึ้นอาจจะเปลี่ยน อาจจะมีความชัดเจนมากขึ้น

คือตอนเด็กๆ ที่ยังไม่ได้เรียน ก็มีความเชื่อแบบหนึ่ง พอเรียนเยอะ อ่านเยอะ อ่านประวัติศาสตร์เยอะ ตั้งคำถามเยอะ เห็นประเทศนั้นประเทศนี้เป็นแบบนี้ ก็ตั้งคำถาม แต่ไม่รู้ว่าในที่สุดแล้วจะกลับมา จะอยู่ตรงไหนของสเปกตรัม

ไทยพับลิก้า: ในคำถามที่เราตั้งไว้เยอะๆ มันมีคำถามใหญ่อะไรที่ทุกคนในประเทศนี้ควรตอบด้วยกันไหม

ผมคิดว่าต้องตีโจทย์ให้แตก ว่าเราจะทำให้การเมืองนิ่งยังไง แต่ไม่ใช่นิ่งแบบ hot peace หมายความว่าเป็นความสงบที่ข้างล่างมีแต่ความร้อนระอุ มองภายนอกเหมือนมีความสงบ แต่มันยังร้อน มันยังคุกันอยู่เยอะ คือจะทำยังไงให้เราหลุดพ้น เราติดกับดักนี้มา 11 ปีแล้ว เป็นทศวรรษอันสาบสูญของประเทศไทย ถ้าการเมืองนิ่ง การเมืองสามารถคาดเดาได้ การเมืองสามารถรู้ว่าอีก 4 ปีจะมีการเลือกตั้งนะ คนที่ขึ้นมาก็มีระบบการตรวจสอบได้ ทำให้ฝรั่งมั่นใจ มีการ ลงทุนมากขึ้น เราจะหลุดกับดักนี้ยังไง ยังมองไม่ออกเหมือนกัน

ก็เป็นกำลังใจให้คนที่เขาทำอยู่ตอนนี้ แล้วก็เป็นกำลังใจให้คนที่พยายามต่อต้าน พยายามคานอำนาจกับสิ่งที่รัฐบาลทำอยู่ คือมันต่อสู้กันตลอดอยู่แล้วเรื่องพวกนี้ หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ต้องฟังกันมากขึ้น จริงๆ ก็เป็นคำถามสำหรับทุกคน ผมเองก็ตอบไม่ได้ มันจะหลุดจากตรงนี้ยังไง ผมมองไม่ออก

ไทยพับลิก้า: ถ้าให้มองผ่านสายตานักเรียนรัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์การเมืองที่ผ่านมา มันมีแบบนี้ไหม แล้วมันจะไปยังไงต่อ

ผมว่ารัฐธรรมนูญ 2540 ดีมาก แต่ก็เปิดช่องว่างให้มีรัฐบาลที่แข็งแกร่งเกินไป แต่ผมว่าในที่สุดเราก็ต้องกลับไปช่วยกันร่างรัฐธรรมนูญมากกว่า แล้วยุทธศาสตร์ 20 ปีที่ทำกันอยู่ จะทำยังไง เพราะมันเปลี่ยนแปลงตลอด มันไม่สามารถรู้ได้ว่าอนาคตจะเป็นอะไร AI (Artificial Intelligence) จะไปไหน AR (Augmented Reality) จะไปไหน big data มันจะทำอะไร ตอนนี้มันคาดเดายากมาก มันต้องมีช่องว่างให้สามารถปรับเปลี่ยนได้

อาจจะวางแนวทางโครงสร้างกว้างๆ ได้ แต่ต้องมีช่องว่างให้มีการเปลี่ยนแปลง ตัวรัฐธรรมนญเองก็ควรจะมีช่องที่จะสามารถปรับปรุงได้บ้างโดยไม่ต้องพึ่งพาอำนาจพิเศษ ผมคิดว่าน่าจะเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าล็อกสเปก ล็อกทุกอย่าง ประเทศต้องเดินหน้าแบบนี้ ทำแบบนี้ มันอาจจะล้มแรงๆ ได้อีกครั้ง ก็เป็นกำลังใจให้

ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ

ไทยพับลิก้า: อย่างนี้ในอนาคตเราจะเห็นคุณในบทบาทไหน นักรัฐศาสตร์ นักวิชาการ หรือเป็นนักพัฒนากาแฟ

ผมไม่รู้เลยครับ ตอนนี้ทำทั้งสองอย่างไปเรื่อยๆ ผมอาจจะเป็นอาจารย์ แล้วช่วงธันวาคม มกราคม ขึ้นดอยไปทำกาแฟ

ไทยพับลิก้า: แต่เบื่อการเมืองจริงๆ ใช่ไหม

เบื่อครับ

ไทยพับลิก้า: ไม่อยากเข้ามาวงการการเมือง

ไม่อยาก ผมคิดว่าถ้าจะเข้าการเมือง ต้องมีอะไรดีสักอย่างหนึ่ง มั่นใจว่าดีกว่าคนอื่น แต่ความมั่นใจยังไม่ถึงตรงนั้น น่าจะต้องทำอะไรมาก่อน ถ้าจะเข้าการเมือง