ThaiPublica > เกาะกระแส > ‘เศรษฐา’ เล็งออก พ.ร.บ.กู้ 5 แสนล้านบาท แจกเงินดิจิทัล 50 ล้านคน เริ่ม พ.ค.ปี’67

‘เศรษฐา’ เล็งออก พ.ร.บ.กู้ 5 แสนล้านบาท แจกเงินดิจิทัล 50 ล้านคน เริ่ม พ.ค.ปี’67

10 พฤศจิกายน 2023


เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ครั้งที่ 2/2566 ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

‘เศรษฐา’ เตรียมยกร่าง พ.ร.บ.กู้ 5 แสนล้านบาท แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านแอป ฯ ‘เป๋าตัง’ เฉพาะผู้ที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป รายได้ไม่เกิน 70,000 บาท/เดือน และมีเงินฝากทุกบัญชีรวมกันต่ำกว่า 500,000 บาท รวม 50 ล้านคน เริ่ม พ.ค. 2567 พร้อมเปิดโครงการ e-Refund ให้ผู้ที่ไม่ได้สิทธิ์ Digital Wallet นำใบกำกับภาษีจากการซื้อสินค้า – บริการ หักลดหย่อนภาษีเงินได้

เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ครั้งที่ 2/2566 ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า วันนี้ผมขอบอกข่าวดีกับพี่น้องประชาชน “โครงการ Digital Wallet ไม่ใช่แค่ความฝัน แต่กำลังเป็นความจริงครับ” รัฐบาลได้หาข้อสรุปที่ดีที่สุดในการกระตุ้นและสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ผ่านการเติมเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจมูลค่า 6 แสนล้านบาท ซึ่งจะอยู่ในโครงการดิจิทัล วอลเล็ต 5 แสนล้านบาท ครอบคลุม 50 ล้านคน และอีก 1 แสนล้านบาทในกองทุนเพิ่มขีดความสามารถ และทุกอย่างที่ผมแถลงในวันนี้ จะยังต้องผ่านกระบวนการตามกฎหมาย และต้องมีมติของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง ก่อนจะสรุปเป็น Final อีกครั้งหนึ่ง

ตัวเลขที่ท่านได้ยินไปเมื่อครู่นี้ เกิดจากการที่รัฐบาลรับฟังความเห็นจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย สภาพัฒน์ และหน่วยงานอื่นๆ ทำงานร่วมกัน และปรับเงื่อนไขโครงการดิจิทัล วอลเล็ตให้รัดกุมขึ้น โดยรัฐบาลจะมอบสิทธิการใช้จ่าย 10,000 บาท ให้คนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ที่มีรายได้ไม่ถึง 7 หมื่นบาทต่อเดือน และมีเงินฝากต่ำกว่า 5 แสนบาท เพื่อความชัดเจน ประโยคนี้แปลว่า “ถ้ารายได้เกิน 7 หมื่นบาท แต่มีเงินฝากน้อยกว่า 5 แสนบาท ก็จะไม่ได้รับสิทธิ หรือ ถ้ารายได้น้อยกว่า 7 หมื่นบาท แต่มีเงินฝากมากกว่า 5 แสนบาท ก็จะไม่ได้รับสิทธิเช่นกัน” โดยให้สิทธิใช้ครั้งแรกในเวลา 6 เดือนหลังจากโครงการเริ่ม และขยายพื้นที่การใช้จ่ายให้ครอบคลุมระดับอำเภอ ตามที่ได้รับฟังความเห็นมา พร้อมๆกันนั้น เราจะใช้เงินในการเพิ่มขีดความสามารถภายใต้งบ 1 แสนล้านบาท และส่งเสริมการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น เทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมดิจิทัล เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การพัฒนาบุคคลากรทางการศึกษา เป็นต้น ซึ่งกองทุนนี้จะใช้ในการดึงดูดผู้มีความสามารถให้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้ต่อเนื่องต่อไป ผมยังยืนยันความตั้งใจที่จะให้คนไทยทุกคนมีส่วนร่วมในการกระตุ้นเศรษฐกิจนี้ เพราะฉะนั้น รัฐบาลจะออกโครงการ e-Refund ให้คนไทยสามารถลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลจากการซื้อสินค้าและบริการมูลค่าไม่เกิน 50,000 บาท โดยให้ใบกำกับภาษี มาประกอบการยื่นภาษีบุคคล และรัฐจะคืนเงินภาษีให้ท่าน เพราะฉะนั้น คนที่ไม่ได้รับสิทธิ Digital Wallet ก็สามารถเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการนี้ได้ และจะทำให้ร้านค้าเข้าระบบภาษีดิจิทัลมากขึ้นด้วย

โดยสรุปนโยบายทั้งหมดนี้จะส่งผลดีต่อประเทศใน 2 ด้าน

    1. กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในระยะสั้นโดยมี “ประชาชนทุกภาคส่วนเป็นกลไกที่สำคัญผ่านการบริโภคและการลงทุน”
    2. วางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อนำไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและ E-Government ซึ่งเป็นการวางและแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศในระยะยาว
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ที่มาภาพ : www.thaipublica.org

“ย้ำอีกครั้งนะครับ นี่ไม่ใช่การสงเคราะห์ประชาชนผู้ยากไร้ แต่เป็นการเติมเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจผ่านสิทธิการใช้จ่าย เพื่อให้ประชาชนมีบทบาทร่วมกับรัฐบาล (Partnership) ในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะที่ยังรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐทุกประการ ผมขอให้ประชาชนทุกคนที่ได้รับสิทธิร่วมกันใช้จ่ายด้วยความภาคภูมิใจ โดยทุกคนล้วนเป็นผู้ร่วมสร้างการเจริญเติบโตและความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับประเทศของเรา”

นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ที่มาที่ไปของโครงการนี้ เกิดจากสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีการเจริญเติบโตเพียง 1.9% โดยเฉลี่ย 1.9% เป็นตัวเลขการเติบโตที่น้อยมากๆ และเราโตน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านมาโดยตลอดแทบจะทุกปี ความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ในแล้วในสังคม ก็ส่งผลให้เกิดการฟื้นตัวจากช่วงวิกฤตโควิด แบบ K-shaped recovery หมายความว่า คนจนที่ลำบากอยู่แล้ว ได้รับความลำบากมากยิ่งขึ้นไปอีก แต่คนที่มีฐานะ จะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ คนรวย 20% บนสุดกับคนจน 20% ล่างสุด มีรายได้ต่างกัน 9 เท่า ยังไม่นับสถานการณ์การเข้าสู่สังคมสูงวัยที่จะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการ และสาธารณสุขเพิ่มขึ้น ซึ่งจะกระทบคนกลุ่มนี้อย่างชัดเจนลักษณะการฟื้นตัวแบบ K-shaped นี้ จะตอกย้ำให้ความเหลื่อมล้ำให้แย่ลงไปอีก ยิ่งไปกว่านั้น หนี้ครัวเรือนของประเทศไทยอยู่ในระดับที่สูง คิดเป็น 91% ของ GDP หนี้เหล่านี้ เป็นหนี้ที่ไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้ ไม่ได้นำไปใช้ลงทุนค้าขาย ส่วนมากเป็นหนี้เพื่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ซึ่งมีแนวโน้มที่จะแย่ลงไปอีก ถ้าไม่ได้รับการแก้ไข ประชาชนก็ไม่มีรายได้เพิ่มขึ้น

เมื่อพูดถึงรายได้ของประชาชน ก็ต้องพูดถึงนายจ้าง ภาคการผลิตด้วย จากข้อมูลสถิติระบุว่า อัตราการผลิตของประเทศลดลง และก็อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพที่ประเทศเราสามารถทำได้ พูดง่ายๆคือ โรงงานในประเทศไทยเดินเครื่อง ผลิตสินค้าไม่เต็มที่ เมื่อผลิตน้อย ก็ต้องการคนไปทำงานน้อย บางคนก็ตกงาน ทำให้มีรายได้น้อยลง ซื้อสินค้าน้อยลง วนกลับไปที่โรงงาน ก็ผลิตสินค้าน้อยลงไปอีก การลงทุนในภาคเอกชนก็จะน้อยลงไปเรื่อย ๆ ตามที่เห็นมาตลอด 3 ไตรมาสที่ผ่านมา เกิดเป็นวงจรถดถอยทางเศรษฐกิจ หากไม่ได้รับการกระตุ้นแก้ไข

สภาวะสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซียที่ยาวนานต่อเนื่อง ที่ไม่รู้จะสิ้นสุดเมื่อไหร่ ซ้ำเติมด้วยสถานการณ์การสู้รบในบริเวณอิสราเอลและฉนวนกาซ่า ทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกอยู่ในจุดเปราะบาง นี่ไม่ใช่ปัญหาแต่ของประเทศไทยอย่างเดียว ที่กระทบการส่งออก แต่ตลาดทั่วโลกเอง ก็ได้รับผลกระทบจากสถาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยและตกต่ำเกินเยียวยา เศรษฐกิจของประเทศในตอนนี้ เม็ดเงินในระบบเหือดหายอยู่แล้ว ซ้ำเติมด้วยเศรษฐกิจใต้ดินที่เติบโตอย่างน่ากลัว จนทำให้เงินยิ่งหายไปจากระบบจำนวนมากและตามเก็บภาษีไม่ได้ ดังนั้น ถ้าเราไม่เติมเงินใหม่เข้าไป จะไม่มีเงินหมุนเวียนเพียงพอ ประชาชนก็ไม่มีเงินจับจ่ายใช้สอย กำลังซื้อก็ถดถอย การบริโภคในประเทศจะตกต่ำลงไปอีก แต่เมื่อเราเติมเงินในกระเป๋าของประชาชน ให้ประชาชนช่วยกันมาใช้เงิน ซื้ออาหารมากินก็ได้ ซื้อสินค้ามาลงทุนก็ดี เงินยิ่งหมุนไปหลายรอบ การค้าขายยิ่งคึกคัก ธุรกิจขนาดเล็กจะค่อยๆเติบโต หนี้สินจะค่อยๆ หมดไป

หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง เราก็ประสบความสำเร็จมาแล้วจากการส่งเสริมการจับจ่ายใช้สอยในประเทศด้วยการเพิ่มกำลังซื้อของประชาชน โดยทำควบคู่ไปกับการส่งออกและการท่องเที่ยว เราจึงฟื้นฟูเศรษฐกิจได้รวดเร็ว ทุกคนยิ้มแย้มสดใส มีรายได้ ความเหลื่อมล้ำก็ลดลง นโยบายการอัดฉีดเงิน ไม่ได้เป็นนโยบายที่แปลกประหลาด

ตัวอย่างอื่นในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น หรือเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ก็มีนโยบายที่คล้ายๆกัน ยกตัวอย่างของญี่ปุ่น เขาก็อัดฉีดเงินเข้าไปในระบบเป็นจำนวน 13.2 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 3 ล้านล้านบาท เลข 3 แล้วตามด้วยเลขศูนย์ 12 ตัวนะครับ แม้ว่าจะปรับตามค่าครองชีพและจำนวนประชากรแล้ว ก็ยังถือว่าเป็นก้อนเงินที่ใหญ่กว่าที่เราเคยพูดคุยกันมา ทุกท่านจะเห็นว่ารัฐบาลต่างๆ ก็มีมาตรการหลายรูปแบบ โดยล้วนมีจุดประสงค์ที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาเจริญเติบโตต่อไปได้

รัฐบาลไทยเองก็จะกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการดำเนินโครงการ Digital Wallet 10,000 บาทที่เรากำลังพูดถึงในวันนี้ นโยบายนี้ คือการอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบให้เข้าถึงทุกพื้นที่ ให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยหมุนเวียนภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว เงินทั้งหมดในโครงการนี้ จะถูกส่งตรงไปให้กับประชาชนทุกคนที่ผ่านเงื่อนไขเข้าไปยังกระเป๋าเงินดิจิทัล ขอบเขตการใช้งานจะใช้ได้กับร้านค้าที่อยู่ในอำเภอเดียวกับบัตรประชาชนของท่าน ย้ำนะครับ “อำเภอ” ซึ่งปรับขยายมาตามความเห็นของทุกภาคส่วน และต้องจ่ายเงินกันแบบ Face-to-Face เรื่องของระยะเวลา 6 เดือนสำหรับการใช้ “ครั้งแรก” ก็ถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อให้เงินมีการหมุนเวียน และหากไม่ได้ใช้สิทธิที่เหลืออยู่ก็จะถูกยกเลิกไปโดยอัตโนมัติ และเงินที่ถูกใช้และเข้าไปอยู่ในระบบแล้ว จะสามารถใช้จับจ่ายต่อได้จนถึงเดือนเมษาปี 2570

“เงินก้อนนี้ไม่ได้มาจากการเสกเงิน สร้างเงิน พิมพ์เงิน หรือ ออกเหรียญผ่าน Initial Coin Offering แต่อย่างใด พูดให้ชัดๆว่า ไม่ได้มีการเขียนโปรแกรมสร้างเงินเหมือน Cryptocurrency ต่างๆ และไม่ได้เป็นการนำเงินไปซื้อเหรียญมาแจก และนำไปเทรด แลกเปลี่ยน โอนให้กันและกัน เก็งกำไร ไม่ได้ ย้ำนะครับ ไม่มีการนำไปเทรดบน Exchange ทั้งหลาย ตลาดหลักทรัพย์ ตลาด crypto ใดๆทั้งสิ้น เงินตัวนี้จะมีที่มาจากเงินบาท และมีมูลค่าเป็นเงินบาท ที่มีเงื่อนไขในการใช้งาน เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจสูงกว่าอัดฉีดที่ผ่านม. เพราะฉะนั้นเงิน 1 บาท ในโครงการนี่้ ก็คือ 1 บาทในกระเป๋าเงินของทุกท่านที่สามารถใช้จ่ายได้โครงการนี้ต้องมีการลงทะเบียนรับสิทธิ ทั้งร้านค้า และยืนยันรับสิทธิโดยประชาชน”

เรื่องของเงื่อนไข ซื้ออะไรได้ ไม่ได้ ผมขอพูดตรงนี้ให้ชัด

  • ประชาชนจะสามารถจะใช้ซื้อสินค้า อาหาร เครื่องดื่ม สินค้าอุปโภคบริโภคได้เท่านั้น
  • ไม่สามารถใช้กับบริการได้
  • ไม่สามารถใช้ซื้อสินค้าออนไลน์ได้
  • ไม่สามารถซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ กัญชา กระท่อม พืชกระท่อม และผลิตภัณฑ์จากกัญชาและพืชกระท่อม
  • ไม่สามารถนำไปซื้อบัตรกำนัล บัตรเงินสด ทองคำ เพชร พลอย อัญมณีได้
  • ไม่สามารถนำไปชำระหนี้ได้
  • ไม่สามารถจ่ายค่าเรียน ค่าเทอม ได้
  • ไม่สามารถนำไปจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ หรือซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติได้
  • แลกเป็นเงินสดไม่ได้ แลกเปลี่ยนในตลาดต่างๆ ไม่ได้

  • เรื่องประเภทร้านค้า

  • ขอชี้แจงให้ชัดว่าใช้ซื้อสินค้าได้ทุกร้านค้า ไม่ได้จำกัดแต่ร้านที่อยู่ในระบบภาษี
  • ไม่จำเป็นต้องจด VAT
  • ร้านค้ารถเข็น ร้านโชว์ห่วย ร้านค้าที่อยู่บนแอพเป๋าตัง ใช้ได้หมด แต่ต้องมีการลงทะเบียนรับสิทธิ และร้านค้าที่จะขึ้นเงินได้ต้องอยู่ในระบบภาษีเท่านั้น
  • การจับจ่ายใช้สอยจะต้องเริ่มที่ชุมชนระดับอำเภอก่อนเสมอ ซึ่งเป็นการรดน้ำทั่วประเทศให้เขียวไปพร้อมๆกัน ทำให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางเศรษฐกิจนี้ เงินตัวนี้จะเป็นเงินที่ให้ประชาชนช่วยกันกอบกู้เศรษฐกิจ ซึ่งจะนำมาสู่การลงทุนในภาคประชาชน ทั้งการรวมเงินในครัวเรือนเพื่อประกอบอาชีพ การซื้อ-ขายสินค้าของพ่อค้าแม่ค้า ไปจนถึงการสั่งผลิตสินค้าในโรงงาน SME ไปจนถึงโรงงานขนาดใหญ่

    นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า หลายท่านอาจจะกังวลว่านโยบายนี้จะทำให้สถานการณ์เงินเฟ้อเราย่ำแย่หรือไม่ ต้องขอชี้แจงว่าสถานการณ์เงินเฟ้อในปัจจุบันของไทย อยู่ในสภาวะที่ต่ำอยู่แล้ว ทำให้โครงการนี้จะไม่ส่งทำให้อัตราเงินเฟ้อก่อให้เกิดผลเสียต่อพี่น้องประชาชนอย่างแน่นอน การดำเนินโครงการจะมีแผนบริหารจัดการโครงการที่ดี จึงประมาณการรายจ่ายแหล่งเงินที่ใช้ตลอดระยะเวลาดำเนินการ และประโยชน์ที่จะได้รับจากการดำเนินโครงการทั้งหมดตามที่กล่าวมาข้างต้น รัฐบาลจึงปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมตามสถานการณ์ด้านการคลังของประเทศ ตามข้อเสนอแนะของหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

    นายเศรษฐา กล่าวว่า นับจากตอนหาเสียงจนวันที่จัดตั้งรัฐบาล ผมกล่าวไว้ว่าเราจะให้ประชาชนทุกคนที่อายุ 16 ปีขึ้นไปอย่างเท่าเทียมกัน รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 54.8 ล้านคน โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้ประชาชนเป็นหัวใจหลัก เป็นกลไกที่สำคัญการกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ทำให้จำเป็นต้องมีการปรับเงื่อนไขต่างๆ โดยเป็นข้อเสนอแนะและความคิดเห็นของประชาชน นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารแห่งประเทศไทย สภาพัฒน์ฯ และอีกหลายหน่วยงาน ที่รัฐบาลนำมาปรับปรุงเป็นเงื่อนไขใหม่ โดยให้สิทธิกับเฉพาะผู้ที่มีเงินเดือนไม่ถึง 70,000 บาท และ มีเงินฝากทุกบัญชีรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท แปลว่า ถ้าเงินเดือนคุณเกิน 70,000 บาท ก็จะไม่ได้รับสิทธิ ถึงแม้ว่าเงินฝากคุณจะมีไม่ถึง 500,000 ก็ตาม และในขณะเดียวกัน ถ้าเงินฝากคุณเกิน 500,000 แต่เงินเดือนไม่ถึง 70,000 ก็จะไม่ได้รับสิทธินี้เช่นกัน

    เงินในส่วนที่เหลือของโครงการ รัฐบาลจะนำมาใส่ในกองทุนเพื่อลงทุนพัฒนาประเทศ เช่น กองทุนเพิ่มขีดความสามารถ ซึ่งบริหารและดูแลโดยคณะกรรมการฯที่มี BOI เป็นผู้จัดการ เป็นต้น ท่านอาจจะมีคำถามว่า แล้วคนที่ไม่ได้รับสิทธินี้จะมีส่วนอย่างไรได้บ้าง รัฐบาลก็อยากขอให้พวกท่านช่วยกันมีส่วนร่วมในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเราจะออกโครงการ e-Refund ซึ่งประชาชนจะได้รับภาษีคืนจากการจับจ่ายสินค้าและบริการรวมมูลค่าไม่เกิน 50,000 บาท จากร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี และเฉพาะที่ออกใบกำกับภาษีในรูปแบบ electronics เท่านั้น เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในขณะที่จูงใจให้ให้ร้านค้าเข้าสู่ระบบภาษีดิจิทัลมากขึ้น มุ่งไปสู่การเป็น e-Government ในอนาคต

    นายเศรษฐา กล่าวว่า ส่วนเรื่องของที่มาที่ไปของตัวเลข 70,000 และ 500,000 ที่ว่ามาจากไหน ครอบครัวที่มีรายได้น้อยกว่า 70,000 หรือมีเงินในบัญชีรวม 500,000 บาท มีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากกว่าอีกกลุ่มอย่างมีนัยยะสำคัญ ท่านอาจจะบอกว่าครอบครัวนึงเฉลี่ยมี 3 คน ต้องเป็นเลขประมาณ 23,000 สิแต่จุดประสงค์นโยบายนี้คือทำให้ประชาชนได้รับสิทธิอย่างทั่วถึงมากที่สุด จึงเป็นไปได้ว่าบางครอบครัวที่มีรายได้จากคนเดียว ก็ควรได้รับสิทธิด้วย จึงเป็นที่มาของเลข 70,000 ส่วนเลข 500,000 ก็มาจากการคำนวณว่าถ้าคนเงินเดือน 70,000 มีแนวโน้มที่จะมีเงินเก็บไม่ต่ำกว่า 500,000 บาท ทำให้ประเมินได้ว่าคนที่มีเงินเก็บ 500,000 และคนที่มีเงินเดือน 70,000 เป็นคนกลุ่มเดียวกัน โดยเลขเหล่านี้ จะพิจารณาจากฐานข้อมูลของกระทรวงการคลัง

    จากเงื่อนไขและการศึกษาทั้งหมด ทำให้กลั่นกรองผู้ได้รับสิทธิในโครงการ Digital Wallet เหลือประมาณ 50 ล้านคน และจะใช้วงเงินในโครงการนี้เหลือเพียงประมาณ 5 แสนล้านบาท และเงินอีก 100,000 ล้านบาท จะสามารถนำใช้ในการผลักดันต่อยอดอุตสาหกรรมใหม่ๆ โครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆของประเทศได้ เช่น ยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมดิจิทัล การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การพัฒนาบุคลากรและการศึกษา เป็นต้น

    เรื่องของแหล่งเงินทุนในโครงการทั้งหมดนี้ เราได้พิจารณาแหล่งเงินทุนที่เป็นไปได้อย่างรอบคอบ ซึ่งเราไม่ได้มองแค่การใช้ตัวเลือกใดตัวเลือกหนึ่ง เราดูถึง Hybrid option ที่ผสมผสานหลายๆแนวทางด้วย ในวันนี้คำตอบที่เป็นไปได้มากที่สุดในการดำเนินนโยบายนี้ คือการออกพระราชบัญญัติเป็นวงเงิน 500,000 ล้านบาท ซึ่งต้องผ่านกระบวนการการตีความโดยกฤษฎีกา เพื่อให้การออก พ.ร.บ.กู้เงินดังกล่าว เป็นไปอย่างรอบคอบ รัดกุม และไม่ขัดต่อหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องการออก พ.ร.บ.จะมีความโปร่งใสภายใต้การตรวจสอบถ่วงดุลในระบบรัฐสภา

    ผมมั่นใจว่าในที่สุดแล้วจะได้รับการอนุมัติโดยรัฐสภา และเป็นไปตามมาตรา 53 พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 โดยพระราชบัญญัติการกู้เงินดังกล่าวจะระบุวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน ระยะเวลาในการกู้เงิน แผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ วงเงินที่อนุญาตให้ใช้จ่ายเงินกู้ และหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินแผนงาน หรือ โครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ในโครงการ Digital Wallet ให้เป็นไปด้วยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และรัฐบาลจะทำการกู้เงิน ก็ต่อเมื่อ มีการนำเงินไปใช้และนำมาขึ้นเป็นเงินสด ซึ่งนี่จะเป็นการทำให้เงินในระบบทั้งหมดใหญ่ขึ้นกว่า 500,000 ล้าน ซึ่งจะหมุนเวียนและกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมีนัยยะ ผสมกับงบประมาณ 100,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการดำเนินโครงการที่กล่าวไปทั้งหมด

    “ทุกท่านไม่ต้องห่วงเรื่องของการใช้เงินคืน รัฐบาลจะมีแผนจัดสรรเงินงบประมาณมาเพื่อจ่ายคืนเงินในส่วนที่เป็นเงินกู้ตลอดระยะเวลา 4 ปี”

    นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นโยบาย Digital Wallet นี้ เป็นเพียงนโยบาย “เริ่มต้น” ในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจและผมขอยืนยันว่าโครงการดังกล่าว ไม่ได้มุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชน ยังมีอีกหลายนโยบาย หลายโครงการ ที่จะเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของสังคม Empower ภาคประชาชนให้เข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ตามด้วยการปรับปรุงโครงสร้างที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร ซึ่งมีประชาชนกว่า 1 ใน 3 เกี่ยวข้อง โดยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือ แก้ปัญหาเรื่องน้ำให้เพียงพอ จัดหาที่ดินทำกินให้กับประชาชน อีกด้านหนึ่ง รัฐบาลก็จะดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ๆ ผลักดันให้เกิดนวัตกรรมภายในประเทศ เสริมขีดความสามารถตั้งแต่ภาคการศึกษาไปจนถึงอุตสาหกรรม เดินหน้าปรับปรุงโครงสร้างราคาพลังงาน ซึ่งเป็นต้นทุนที่สำคัญของเศรษฐกิจ โดยได้ออกมาตรการลดราคาพลังงานไปก่อนหน้านี้แล้ว เราจะวางโครงสร้างพื้นฐานทั้งความคิด สิ่งปลูกสร้าง การเชื่อมต่อ เพื่อเสริมขีดความสามารถของประเทศไทย เพื่อให้เป็นจุดศูนย์กลางทั้งเศรษฐกิจและสังคมของภูมิภาค และสุดท้าย เราไม่ลืมที่จะแก้ปัญหาต่างๆที่เกี่ยวข้องกับภาคสังคม หนี้สิน ยาเสพติด และอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งรัฐบาลได้ทยอยออกมาตรการมาให้เห็นไปแล้ว เช่น พักหนี้เกษตรกร ดูแลหนี้สินจากช่วงโควิด เป็นต้น

    จากจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ผมมั่นใจว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางสังคม ทำให้ประชาชนอยู่ดี กินดียิ่งขึ้นได้อย่างแน่นอน หลายภาคส่วนที่กังวลว่าหนี้สาธารณะเราจะเป็นอย่างไร ผมขอชี้แจงว่า การกู้เงินเพื่อมาใช้ในโครงการนี้ จะยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ และโครงการนี้จะตามมาด้วยโครงการและมาตรการอื่นๆ ที่จะนำไปสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ 5% เฉลี่ยตลอด 4 ปี และทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศเราลดลง หากเราไม่ได้มีการกระตุ้นเศรษฐกิจ หนี้สาธารณะของเราจะสูงขึ้นเรื่อยๆเพราะฉะนั้น การกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นมาตรการที่จำเป็นในการพลิกฟื้นสภาพเศรษฐกิจ ในขณะที่ยังรักษากรอบวินัยการเงินการคลังเป็นอย่างดี เอาละ ผมอธิบายภาพใหญ่ด้านเศรษฐกิจไปหมดแล้ว ประชาชนจำนวนมากสงสัยว่าจะใช้สิทธิยากไหม เข้าร่วมยังไง วันนี้ เพื่อไม่ให้เป็นการถกเถียงกันในสังคม

    ผมขอประกาศว่า “เราจะพัฒนาต่อยอดระบบเป๋าตัง ซึ่งมีประชาชนลงทะเบียนอยู่แล้ว 40 ล้านคน และมีร้านค้าที่คุ้นเคยอยู่แล้วกว่า 1.8 ล้านร้านค้า อย่างที่ทุกคนรู้ดี ระบบเป๋าตังมีความพร้อมด้านเทคโนโลยีอยู่แล้ว ซึ่งจะลดระยะเวลา ประหยัดงบประมาณ และลดความซ้ำซ้อนในการสร้างและดูแลรักษาระบบ” กระทรวงการคลังเอง ก็มีความคุ้นเคยในการกำกับดูแลและบริหารจัดการ ป้องกันการทุจริตต่างๆ โดยเราจะพัฒนาต่อยอดระบบเป๋าตัง ให้สามารถทำงานโดยมี Blockchain อยู่ด้านหลัง เป็นโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งระบบ Blockchain จะทำให้รัฐป้องกันการทุจริตได้ และหากมีใครฝ่าฝืนแก้ไข ทุจริต ระบบก็จะสามารถตรวจสอบได้ทันที การมีระบบ Blockchain จะนำไปสู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลและการทำ e-Government ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง สร้างความโปร่งใส ลดการทุจริตได้อย่างเป็นรูปธรรม

    เรื่องที่ว่าจะได้ใช้เมื่อไหร่ Timeline เป็นยังไง โครงการ Digital Wallet จะใช้ระยะเวลาในการตีความโดยกฤษฎีกา และกระบวนการกฎหมายช่วงปลายปีนี้ นำเข้าสู่สภา ช่วงต้นปีหน้า จัดเตรียมงบประมาณ และเปิดให้ประชาชนได้ใช้ในช่วงเดือนพฤษภาคมปีหน้า แต่ก่อนหน้านั้นจะมีโครงการ e-Refund ตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นไป และโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถจะดำเนินการได้เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป และทุกอย่างที่ผมแถลงไปวันนี้ จะต้องเข้าสู่กระบวนการตามกฏหมาย และได้รับมติของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง ทำงานอย่างรัดกุม ก่อนจะเข้า ครม. เพื่อให้ได้รับอนุมัติอย่างชัดเจนต่อไป

    ทุกท่านครับ รัฐบาลนี้เราตั้งใจ ที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจ สร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศชาติ ประชาชนคนไทยทุกคน ถ้าเศรษฐกิจไม่ดีกว่านี้ เราจะเห็นคนเล่นการพนันออนไลน์ เห็นอัตราอาชญากรรมที่สูงขึ้น คนติดยา คนไม่มีบ้านอยู่อาศัย ไม่มีงานทำ เพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ ประเทศที่ขาด Empathy จะนำไปสู่ช่องว่าง และความไม่เท่าเทียมที่มากขึ้น ผมขอให้ทุกภาคส่วนมี Empathy ร่วมกัน ช่วยกันทำโครงการนี้ให้สำเร็จ ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น เพื่อทำให้เพื่อนร่วมชาติของเรามีชีวิตที่ดีขึ้นไปด้วยกัน

    “นโยบาย Digital Wallet นี้ คือ นโยบายที่ประชาชนเป็นกลไกสำคัญในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ผ่านสิทธิการใช้จ่าย 10,000 บาท ผมขอฝากนโยบายนี้ ให้ประชาชนทุกคน ร่วมกันใช้สิทธิด้วยความภาคภูมิใจ เพราะท่านเป็นผู้ร่วมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ให้กับประเทศชาติของเรา ขอบคุณครับ” นายกรัฐมนตรี กล่าวทิ้งท้าย

  • เงินดิจิทัล 10,000 บาท ยังไม่เคาะ! – ยืมออมสินบางส่วน สัญญาใช้คืน 3 ปี
  • เงินดิจิทัล 10,000 บาท แจก 5.6 แสนล้านบาท บริหารอย่างไร-ไม่ต้องกู้
  • นายกฯถกบอร์ด“ดิจิทัล วอลเล็ต”นัดแรก ตั้ง “จุลพันธ์” ประธานขับเคลื่อน ฯ ย้ำทำงานรอบคอบ – ยึดวินัยการคลัง
  • 99 นักเศรษฐศาสตร์ จี้รัฐบาลยกเลิกแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ชี้ “ได้ไม่คุ้มเสีย”
  • เจาะฐานะการคลัง รับรัฐบาลใหม่… ‘ไม่มีเงิน’ จริงหรือ?