ครม.ทุ่ม 1 แสนล้านบาท แก้ข้าวราคาตกต่ำ เฟสแรกไฟเขียวโครงการชะลอขายข้าวผ่านสินเชื่อ ธ.ก.ส.วงเงิน 44,437 ล้านบาท – งบประมาณแผ่นดิน 10,600 ล้านบาท แทรกแซงราคาข้าวเปลือกหอมมะลิที่ความชื้น 25% เฟส 2 เตรียมเสนอคณะกรรมการนโยบายข้าว – ครม.อนุมัติโครงการสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพข้าว แจกชาวนาไร่ละ 1,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 20 ไร่ โดยใช้แหล่งเงินจาก ธ.ก.ส.อีก 56,000 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมกันแถลงข่าว มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบโครงการเงินช่วยเหลือชาวนาปีการผลิต 2566/67 ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การแถลงข่าววันนี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน เรื่องแรก เกี่ยวกับเกษตรกรชาวนา ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบว่าด้วยการรักษาสถานภาพข้าวเปลือกปีการผลิต 2566/67 โดยโครงการนี้ 3 รัฐมนตรีประกอบด้วย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้หารือถึงมาตรการที่จะช่วยเหลือชาวนาเพราะว่าช่วงนี้ถ้าเป็นราคาข้าวเปลือกเจ้าชนิดอื่นๆ ราคาตลาดค่อนข้างจะดี ยกเว้นข้าวหอมมะลิ
โดยราคาข้าวเปลือกที่มีปัญหามากที่สุดคือข้าวเปลือกหอมมะลิที่กำลังจะเก็บเกี่ยวในภาคอีสานและภาคเหนือในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่กำลังจะทยอยออกมาประมาณ 9.5 ล้านตัน ขณะนี้เวลานี้ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิที่ความชื้น 15% อยู่ที่ประมาณ 14,800-15,000 บาท/ตัน แต่ในความเป็นจริงแล้วเกษตรกรเก็บเกี่ยวข้าวเปลือกหอมมะลิและขายที่ความชื้นประมาณ 25% ซึ่งในความชื้นในระดับดังกล่าวนี้ หากคำนวณตามราคายุติธรรมที่ความชื่น 15% ราคาควรจะอยู่ที่ตันละ 12,300 บาท
แต่ราคาตลาดรับซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิที่ความชื้น 25% ขณะนี้มีราคาอยู่ที่ 11,000 บาทต่อตันเท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าราคาที่เป็นธรรมประมาณ 1,300 บาท ดังนั้นกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ เห็นถึงปัญหาจึงได้ตกลงหารือกันและเห็นว่าต้องแทรกแซง โดยวางมาตรการ 2 โครงการดังต่อไปนี้
โครงการแรก คือ โครงการชะลอสินเชื่อการขายข้าวเปลือกนาปี การชะลอ คือ อย่าพึ่งรีบขาย โดยให้สถาบันทางการเกษตร หรือ เกษตรกรที่มียุ้งฉางเก็บข้าวเปลือกหอมมะลิที่ความชื้น 25% ไว้ก่อน 5 เดือน หากราคายังไม่ดี อย่าพึ่งขายให้เกษตรกรเก็บข้าวเปลือกที่ความชื้น 25 % เอาไว้ก่อน โดยรัฐบาลจะเข้าไปแทรกแซงผ่านการให้สินเชื่อของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำหรับข้าวเปลือกหอมมะลิที่มีความชื้น 25 % ในวงเงิน 12,000 บาทต่อตัน รวมทั้งจ่ายค่าเก็บรักษา หรือ ค่าฝากข้าวในยุ้งฉางอีกตันละ 1,500 บาท
“หากชาวนาเก็บข้าวด้วยตัวเองก็จะได้ 12,000 บาท บวกกับ 1,500 บาท เป็น 13,500 บาท ซึ่งถ้าไม่มีโครงการแทรกแซงราคาข้าว และชาวนาต้องขายข้าวในช่วงนี้จะได้ราคาเพียง 11,000 บาทต่อตันเท่านั้น ต่างกันถึง 2,500 บาทต่อตัน”นายชัย กล่าว
นายชัยกล่าวอีกว่า หากชาวนาไม่มีที่เก็บ หรือ ไม่มียุ้งฉาง ต้องไปฝากข้าวให้สถาบันการเกษตร เช่น สหกรณ์ หรือสหกรณ์การเกษตร กรณีนี้ รัฐบาลจ่ายให้สหกรณ์ 1,000 บาทต่อตัน ส่วนชาวนาได้ค่าฝากข้าว 500 บาทต่อตัน ดังนั้น โครงการชะลอการขายจะทำให้ชาวนาจะได้รับเงินจากการขายข้าวในครั้งนี้ตันละ 12,000 บาท บวกกับค่าเก็บข้าวอีก 500 – 1500 บาทต่อตัน ขึ้นอยู่กับว่าเกษตรกรจะเก็บที่ไหน จึงถือว่าเกษตรกรขายข้าวได้ราคาดีกว่าที่จะปล่อยให้ขายข้าวออกไปในช่วงนี้ โดยโครงการนี้มีเป้าหมายในการับข้าวเปลือกทั้งหมด 3 ล้านตัน
โครงการที่ 2 คือ โครงการให้สินเชื่อเพื่อแก่สถาบันการเกษตรเข้าแทรกแซงตลาด โดยจะเข้าซื้อข้าวในราคานำร่องแข่งกับพ่อค้าในตลาดที่รับซื้อข้าวในราคา 11,000 บาทต่อตัน กำหนดรับซื้อข้าวเหลือกหอมมะลิที่ความชื้น 25 % ในราคาตันละ 12,200 บาท และเมื่อเวลาที่ขายได้แล้วมีกำไรให้นำเงินมาแบ่งชาวนาได้อีก 300 บาทต่อตัน ทำให้ชาวนาได้รับเงินจากการขายข้าวรวมเป็น 12,500 บาท เพิ่มขึ้น 1,500 บาทต่อตัน ดีกว่าจะปล่อยให้ถูกพ่อค้ากดราคารับซื้อที่ 11,000 บาทต่อตัน โดยโครงการที่ 2 นี้มีเป้าหมายรับซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิที่ 1 ล้านตัน
โดยทั้ง 2 โครงการตามที่กล่าวข้างต้นนี้จะใช้เงินจากงบประมาณ 10,600 ล้านบาท และสินเชื่อของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงิน 44,437 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะชดเชยภาระดอกเบี้ยให้กับ ธ.ก.ส.
นายชัย กล่าวต่อว่า ไม่เพียงแค่ 2 โครงการที่รัฐบาลจะช่วยเหลือเกษตรกร แต่ยังมีอีก 1 โครงการ คือ โครงการสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพข้าวให้กับเกษตรกรไร่ละ 1,000 บาท ซึ่งขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ ,กระทวงพาณิชย์ และกระทรวงการคลัง ได้หารือกันแล้ว แต่ติดเงื่อนไขว่าชาวนาที่แจ้งได้รับการชดเชยจากน้ำท่วมไปแล้วจะพิจารณาอย่างไร เนื่องจากพึ่งได้รับสิทธิไปได้ไม่นาน หากมารับเงินสนับสนุนจากโครงการจัดการพัฒนาคุณภาพข้าวอีกจะติดปัญหาอะไรหรือไม่
“ทั้งนี้ โครงการสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพข้าวจะช่วยชาวนาที่ปลูกข้าวทุกประเภ รายละ 1000 บาท/ไร่ โดยให้การสนับสนุนรายละไม่เกิน 20 ไร่ หรือ ไม่เกิน 20,000 บาท ขณะนี้มีชาวนาจำนวน 468,000 ครัวเรือน คาดว่าต้องใช้เงินประมาณ 56,000 ล้านบาท โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา รอเสนอให้คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ หรือ กขช.พิจารณา ก่อนที่จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติต่อไป” นายชัย กล่าว
ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า เรื่องนี้อยู่ในวาระที่หารือกันทั้ง 3 กระทรวงโดยตลอด ซึ่งกระทรวงเกษตรฯได้นำสหกรณ์การเกษตรเข้ามาช่วย ปัจจุบันมีสหกรณ์การเกษตรกว่า 4,000 แห่ง แต่ที่แข็งแรงมีอยู่ประมาณจำนวน 600 แห่ง จึงได้หารือกับ ธกส.ให้เข้ามาช่วยสนับสนุนการเงินแก่สหกรณ์การเกษตร
นายภูมิธรรม กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องโครงการช่วยเหลือต้นทุนแก่เกษตรกรที่ปลูกข้าว ไร่ละ 1,000 บาท ที่ผ่านมาชาวนาได้รับเงินดังกล่าวนี้มาโดยตลอด หรือที่เรียกว่า ค่าบริหารจัดการ หรือ ค่าเก็บเกี่ยวข้าว ช่วงที่นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่พบปะชาวนา ก็มีการสอบถามในเรื่องนี้ จึงยืนยันว่า “พวกเราเป็นห่วงชาวนาที่เป็นฐานในการผลิตเลี้ยงคนทั้งประเทศ เราพยายามใช้มาตรการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้กับเกษตรกร ดังนั้น เรื่องที่เคยได้รับค่าชดเชยไร่ละ 1,000 บาท ก็ยังคงจะได้ แต่ขอเคลียร์ในรายละเอียด และนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการข้าวในการประชุมครั้งหน้าอย่างเร่งด่วนในสัปดาห์หน้า คาดว่าจะใช้เงินประมาณ 56,321 ล้านบาท จากนั้นจะเสนอเข้า ครม.ได้ทันที”
“เรื่องที่ยังไม่ได้พูด แต่ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ได้ทำอะไร เพียงแต่ว่ารอให้ผ่านขั้นตอน และจะเร่งดำเนินการ อย่างไรก็ตามในระยะยาวกำลังพิจารณากันว่าทำอย่างไรให้ชาวนาผลิตข้าวคุณภาพสูง ตรงนี้ก็จะให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาคุณภาพข้าว เพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น โดยจะนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการบริหารจัดการข้าว ถ้าทำตามมติและการดำเนินการแบบใหม่ น่าจะหลุดพ้นจากวงจรที่เคยเป็นอยู่ได้มากพอสมควรทีเดียว”นายภูมิธรรม กล่าว
ด้าน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เรื่องค่าเก็บเกี่ยวข้าวต้องยืนยันตามที่ให้ข่าวไปแล้วว่าจะเสนอที่ประชุม กนข.ในวันศุกร์ที่ 10 พฤศจิกายน 2566 เวลา 14.00 น. ในฐานะประธานอนุกรรมการข้าวจะนำเสนอคณะกรรมการข้าว ฯในครั้งต่อไป ซึ่งขั้นตอนนี้กรมการข้าว กระทรวงเกษตรกร ฯกำลังดำเนินการ
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า แม้รัฐบาลจะเข้ามาทำงานได้ไม่ถึง 60 วัน แต่ก็ไม่ได้ละเลยปัญหาจากพี่น้องเกษตรกร จึงเร่งดำเนินการนำเสนอมาตรการชะลอการขายข้าวเข้าสู่ที่ประชม ครม. พิจารณาอนุมัติตามที่กล่าวข้างต้น ซึ่งทั้ง 2 โครงการ จะสามารถดูดปริมาณข้าวออกจากตลาดได้ถึง 4 ล้านตัน และมีผลกระทบต่อราคาข้าวอย่างมีนัยสำคัญสำหรับการประคองไม่ให้ราคาข้าวลดลงไปมากกว่านี้ ส่วนโครงการสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพข้าว ไร่ละ 1,000 บาท ตามขั้นตอนจะต้องเสนอที่ประชุมคณะกรรมการข้าวแห่งชาติภายในสัปดาห์หน้า จากนั้นก็เสนอให้ที่ประชุม ครม.พิจารณา คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์ สำหรับแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพข้าววงเงิน 56,000 ล้านบาทนั้น จะใช้แหล่งเงินจาก ธ.ก.ส.เป็นหลัก ซึ่งเป็นตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 มาตรา 28 มีวงเงินเหลือเพียงพอที่จะนำมาใช้ในโครงการนี้ได้