ThaiPublica > เกาะกระแส > “ประวิตร” ห่วงเงินบาทอ่อนค่า สั่งคลังติดตามใกล้ชิด – มติ ครม. ลดเงินสมทบประกันสังคม 3 เดือน เริ่ม ต.ค. นี้

“ประวิตร” ห่วงเงินบาทอ่อนค่า สั่งคลังติดตามใกล้ชิด – มติ ครม. ลดเงินสมทบประกันสังคม 3 เดือน เริ่ม ต.ค. นี้

20 กันยายน 2022


พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

“ประวิตร” ห่วงเงินบาทอ่อนค่า สั่งคลังติดตามใกล้ชิด – เตรียมจัดมาตรการเยียวยาน้ำท่วม – มติ ครม. ลดเงินสมทบประกันสังคม 3 เดือน เริ่ม ต.ค. นี้ – ไฟเขียว ธ.ก.ส. สำรองจ่ายค่าตัดอ้อยสด 8,320 ล้าน ลด PM 2.5 – เยียวยาเรือประมง 59 ลำ 287 ล้าน แก้ปม IUU เฟส 2 – จัดงบฯ 212 ล้าน หนุนต่างชาติถ่ายทำภาพยนตร์ในไทย 6 เรื่อง – เพิกถอนพื้นที่อุทยานเขาพระวิหาร 42 ไร่ สร้างอ่างเก็บน้ำ

เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น พลเอก ประวิตร ได้มอบหมายให้นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการ และตอบคำถามสื่อมวลชนแทนนายกรัฐมนตรี

ชื่นชมผลงาน สคบ. สั่งประชาสัมพันธ์ต่อเนื่อง

นายอนุชา กล่าวว่า ก่อนการประชุม ครม. วันนี้ นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้นำคณะผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เข้าพบ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เพื่อประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินงานด้านนวัตกรรม และเทคโนโลยีดิจิทัลในการบริการประชาชน และระบุว่าการดำเนินการในสถานการณ์โควิด-19 ได้ดำเนินการไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีสถิติเป็นที่น่าพอใจ ทั้งการบังคับใช้กฎหมาย ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และแก้ไขปัญหาหนี้ต่างๆ รวมถึงการดำเนินงานเชิงรุก เพื่อแก้ปัญหาให้ผู้บริโภค

“พลเอก ประวิตรชื่นชมผลการดำเนินงาน ทำให้ประชาชนในวงกว้างได้รับประโยชน์ และมีข้อสั่งการเพิ่มเติมให้บูรณาการการทำงานร่วมกันของภาครัฐและเอกชน เพื่อป้องกันและแก้ปัญหา ถือเป็นการบรรเทาความเดือนร้อนของประชาชน คุ้มครองสิทธิในด้านต่างๆ พร้อมเน้นย้ำให้ประชาสัมพันธ์ผลงานอย่างต่อเนื่อง สร้างการรับรู้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และใช้เทคโนโลยีต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และเป็นกำลังใจให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ทุกคน”

ก่อนการประชุม ครม. นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นำคณะผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เข้าพบ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนากยกรัฐมนตรี เพื่อประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินงานด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลในการบริการประชาชน ณ โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เตรียมจัดมาตรการเยียวยาน้ำท่วม

นายอนุชา รายงานข้อสั่งการของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เรื่องสถานการณ์น้ำว่า ตั้งแต่วันนี้ถึง 24 กันยายน 2565 ยังคงมีฝนตกหนักต่อเนื่องหลายพื้นที่ โดยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อเตรียมแผนบริหารจัดการรองรับสถานการณ์น้ำอย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นด้านกำลังคน เครื่องสูบน้ำ กระสอบทราย เครื่องเร่งระบายน้ำ รวมถึงยานพาหนะ และกำหนดมาตรการเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบโดยเร็ว

ปลื้มดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเพิ่มสูงสุดในรอบ 8 เดือน

นายอนุชา กล่าวต่อว่า พลเอก ประวิตร ได้รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมของเดือนกันยายน 2565 มีระดับที่เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่สาม ทั้งนี้ในเดือนสิงหาคม 2565 นับว่ามีระดับความเชื่อมั่นสูงที่สุดในช่วง 11 เดือน

ขณะเดียวกัน ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนกันยายนก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ก็เป็นเดือนที่สาม นับว่าเป็นการเพิ่มขึ้นสูงที่สุดในรอบ 8 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยมีการปรับตัวดีขึ้นหลังจากโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง ทำให้การท่องเที่ยวในประเทศและจำนวนนักเดินทางต่างชาติปรับตัวดีขึ้น

ห่วงเงินบาทอ่อนค่า สั่งคลังติดตามใกล้ชิด

นายอนุชา กล่าวต่อว่า พลเอก ประวิตร มีข้อกังวลเรื่องราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงสถานการณ์เงินบาทมีการปรับตัวอ่อนค่าลง ดังนั้น ในการประชุมวันนี้จึงมีข้อสั่งการให้กระทรวงการคลังติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด ทั้งความผันผวนและการจัดประชุมต่างๆ เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อมูลจากทุกภาคส่วน และนำมาเป็นนโยบายการกำหนดเสถียรภาพต่างๆ

“เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญและละเอียดอ่อน แต่ปัจจุบันเรื่องค่าเงินจะมีธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้รับผิดชอบ” นายอนุชา กล่าว

มติ ครม. มีดังนี้

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล , ดร.รัชดา ธนาดิเรก และนางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกฯ ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

ลดเงินสมทบประกันสังคม 3 เดือน เริ่ม ต.ค.นี้

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าวันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง กำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. …. ปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม เป็นระยะเวลา 3 เดือน งวดเดือน ต.ค. – ธ.ค. 65 นี้ โดยลดอัตราเงินสมทบฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตนตามมาตรา 33 โดยให้นายจ้างและผู้ประกันตนแต่ละฝ่ายจ่ายเงินร้อยละ 3 ของค่าจ้างผู้ประกันตน จากเดิมที่จ่ายอยู่ในอัตราร้อยละ 5 ในขณะที่กำหนดให้รัฐบาลจ่ายเงินในอัตราเท่าเดิมที่ร้อยละ 2.75 ของค่าจ้างผู้ประกันตน และสำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ให้ปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมจากเดิมในอัตราเดือนละ 432 บาทเป็นอัตราเดือนละ 240บาท ในช่วงระยะเวลา 3 เดือนด้วยเช่นกัน เพื่อบรรเทาภาระนายจ้างและผู้ประกันตนให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและค่าครองชีพ

กรณีลดอัตราเงินสมทบงวดเดือน ต.ค. – ธ.ค. 65 นี้ จะส่งผลให้กองทุนประกันสังคมจัดเก็บเงินสมทบได้ลดลง 17,044 ล้านบาท โดยผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบลดลง 9,080 ล้านบาท และนายจ้างจ่ายลดลง 7,964 ล้านบาท เป็นการบรรเทาภาระ ของนายจ้างจากสภาวะเศรษฐกิจและการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ทั่วประเทศ ให้นายจ้างมีสภาพคล่องเพิ่มและลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกันตน ซึ่งจะทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นด้วย

ไฟเขียว ธกส.สำรองจ่ายค่าตัดอ้อยสด 8,320 ล้าน ลด PM 2.5

นายอนุชา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดี เพื่อลดฝุ่น PM25 ฤดูการผลิตปี 2564/2565 กรอบวงเงินรวมทั้งสิ้น 8,319.74 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตามโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM25 ฤดูการผลิตปี 2564/2565 ในอัตรา 120 บาทต่อตัน โดยใช้แหล่งเงินทุนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 8,159.14 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยเหลือเฉพาะชาวไร่อ้อยทุกรายที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดีส่งโรงงานเท่านั้น โดย ธ.ก.ส. จะมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจำนวน 160.60 ล้านบาท

แนวทางการดำเนินงาน จะช่วยเหลือเฉพาะชาวไร่อ้อยทุกรายที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดีส่งโรงงานเท่านั้น โดยมีอัตราเงินช่วยเหลือเท่ากับเงินส่วนต่างรายได้ค่าแรงต่อวันที่ชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดได้น้อยกว่าชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยไฟไหม้ที่อัตรา 120 บาทต่อตัน เท่ากับฤดูการผลิตปี 2563/2564 ซึ่งฤดูการผลิตปี 2564/2565 มีปริมาณอ้อยสดทั้งสิ้น 67.99 ล้านตัน โดย ธ.ก.ส. จะโอนเงินช่วยเหลือเข้าบัญชีธนาคารของชาวไร่อ้อยทุกรายที่ตัดอ้อยสดส่งโรงงานโดยตรง หลังปิดหีบของฤดูกาลผลิตปี 2564/2565 เพียงครั้งเดียว (ภายในเดือนธันวาคม 2565)

สำหรับหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือชาวไร่อ้อยในภาคอุตสาหกรรมที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดีส่งโรงงานทุกรายนั้น กรณีชาวไร่อ้อยที่ส่งอ้อยสดคุณภาพดีให้กับโรงงานน้ำตาล จะต้องเป็นชาวไร่อ้อยที่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 และได้จัดทำคู่สัญญาส่งอ้อยเข้าโรงงานน้ำตาลก่อนเปิดหีบอ้อย กรณีชาวไร่อ้อยที่ส่งอ้อยสดคุณภาพดีให้กับโรงงานผลิตเอทานอล จะต้องเป็นชาวไร่อ้อยที่ได้ทำสัญญาส่งอ้อยเข้าโรงงานผลิตเอทานอลหรือขึ้นทะเบียนเกษตรกรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรณีชาวไร่อ้อยที่ส่งอ้อยสดคุณภาพดีให้กับโรงงานผลิตน้ำตาลทรายแดง จะต้องเป็นชาวไร่อ้อยที่ได้ทำสัญญาส่งอ้อยเข้าโรงงานผลิตน้ำตาลทรายแดง หรือขึ้นทะเบียนเกษตรกรของ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เช่นกัน

ทั้งนี้ โครงการฯ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยหันมาตัดอ้อยสดส่งโรงงานมากขึ้น และตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5

เห็นชอบงบลงทุน รสก.ปี’66 วงเงิน 1.36 ล้านล้าน

นายอนุชา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบกรอบและงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปี 2566 วงเงินดำเนินการ 1,363,938 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน 276,274 ล้านบาท ประกอบด้วย (1) กรอบการลงทุนสำหรับงานตามภารกิจปกติและโครงการต่อเนื่อง วงเงินดำเนินการ 1,163,938 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน 226,274 ล้านบาท และ (2) กรอบการลงทุนสำหรับการเพิ่มเติมระหว่างปี วงเงินดำเนินการ 200,000 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน 50,000 ล้านบาท และให้ สศช. ปรับวงเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปี 2566 ให้สอดคล้องกับผลการจัดสรรงบประมาณ ตาม พ.ร.บ. งบประมาณ ปี 2566 รวมถึงงบกลาง หรือ งบที่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตามหลักเกณฑ์และวิธีการงบหรือได้รับความเห็นชอบจากสำนักงบประมาณแล้ว พร้อมมอบหมายให้สภาพัฒนาฯ (ประธานสภาพัฒนาฯ) เป็นผู้พิจารณา อนุมัติการเปลี่ยนแปลงงบลงทุนระหว่างปีในส่วนงบลงทุน เพื่อการดําเนินงาน ปกติและโครงการต่อเนื่องที่การเปลี่ยนแปลงไม่มีผลกระทบต่อสาระสำคัญ

นอกจากนี้ที่ประชุม ครม. ยังเห็นชอบข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ระดับกระทรวง และระดับ รัฐวิสาหกิจ โดยให้กระทรวงเจ้าสังกัดและรัฐวิสาหกิจรับข้อเสนอแนะ ในส่วนที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการ และให้รัฐวิสาหกิจ (จำนวน 44 แห่ง ภายใต้สังกัด 15 กระทรวง) รายงานผลความก้าวหน้าของการดําเนินงานและการลงทุนปี 2566 ให้ สศช. ทราบ ภายในวันที่ 5 ของเดือน รวมทั้งรายงานผลการดําเนินงานตามข้อเสนอแนะ และความก้าวหน้าการดำเนินโครงการลงทุนทุกไตรมาส พร้อมรับทราบประมาณการงบทำการประจำปี 2566 กําไรสุทธิ ประมาณ 67,692 ล้านบาท โดยมีรายได้ 1,715,119 ล้านบาท และประมาณการแนวโน้มการดําเนินงานช่วงปี 2567 – 2569 ของรัฐวิสาหกิจในเบื้องต้น การลงทุนเฉลี่ยประมาณปีละ 383,970 ล้านบาท และผลประกอบการจะมีกําไรสุทธิเฉลี่ยประมาณปีละ 80,487 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 8 ด้าน ให้รัฐวิสาหกิจดำเนินการ ดังนี้
1. การเบิกจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจ โดยให้รัฐวิสาหกิจเร่งรัดการเบิกจ่ายลงทุนให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของกรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติเบิกจ่ายลงทุน
2. การปรับปรุงงบลงทุนระหว่างปี โดยเฉพาะการลดกรอบวงเงินลงทุนควรเป็นผลกระทบที่เกิดจากปัจจัยภายนอกหรือปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้หรือเป็นการดำเนินการตามนโยบายเท่านั้น
3. การทบทวนสถานการณ์เป็นรัฐวิสาหกิจ ให้กระทรวงการคลัง เร่งพิจารณาความจำเป็นของการคงสถานะองค์กรเป็นรัฐวิสาหกิจในภาวะการปัจจุบัน หรือ อาจปรับเปลี่ยนรูปแบบองค์กรเป็นหน่วยงานภาครัฐอื่นที่สามารถดำเนินงานได้ตามวัตถุประสงค์รวมทั้งการปรับบทบาทการดำเนินงานภารกิจให้สอดรับกับบริบทปัจจุบันให้มากขึ้น
4. แนวทางการลงทุนในระยะต่อไป ให้พิจารณาเสนอขออนุมัติงบลงทุนที่สอดคล้องกับกรอบการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 และแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจด้วย
5. การจัดตั้งและกำกับดูแลบริษัทลูกหรือบริษัทในเครือ ซึ่งการพิจารณาการจัดตั้งบริษัทลูกหรือบริษัทในเครือ ควรพิจารณารายละเอียดข้อจำกัดของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการอย่างรอบคอบ
6. การปรับกระบวนการภาครัฐที่มีผลต่อการดำเนินงาน และการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ เร่งรัดพิจารณา หรือดำเนินการในส่วนที่มีผลกระทบต่อการดำเนินงานและการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ เช่นการตอบข้อวินิจฉัยหรือข้อหารือด้านกฎหมายให้มีความชัดเจนโดยเร็ว
7. การพัฒนาบุคลากรของรัฐวิสาหกิจ ให้รัฐวิสาหกิจให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรบุคคลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและรองรับการเปลี่ยนแปลงองค์กรพิจารณาเพิ่มสัดส่วนพนักงานที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่
8. การบริหารจัดการปัจจัยเสี่ยงภายใต้ความผันผวนทางเศรษฐกิจ โดยให้ติดตามสถานการณ์ความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก เพื่อจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงในการดำเนินงานและการลงทุนรองรับได้ทันต่อสถานการณ์

นอกจากนี้ ยังได้ให้กระทรวงและรัฐวิสาหกิจ เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน การให้บริการ การลดต้นทุน การผลิตและการบริหารจัดการที่เหมาะสม ของแต่ละรัฐวิสาหกิจด้วย

เยียวยาเรือประมง 59 ลำ 287 ล้าน แก้ปม IUU เฟส 2

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้ออกมาตรการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) ให้เป็นไปตามกฎระเบียบสากล ส่งผลให้มีเรือประมงจำนวนหนึ่งไม่สามารถทำประมงได้ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา ทำให้เจ้าของเรือต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาเรือ ประกอบกับปัจจุบัน ปี 2565 มีจำนวนเรือที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมงมากถึง 9,608 ลำ ซึ่งเกินกว่าระดับที่เหมาะสม อาจส่งผลให้ปริมาณสัตว์น้ำลดลงและหมดไป เนื่องจากไม่สามารถเจริญเติบโตได้ทัน

ดังนั้น เพื่อเป็นการรักษาความสมดุลของจำนวนเรือประมงพาณิชย์กับปริมาณสัตว์น้ำ รวมทั้งชดเชยเยียวยาให้กับเจ้าของเรือที่ได้รับผลกระทบ ครม. จึงมีมติอนุมัติโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบ เพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืน ระยะที่ 2 กรอบวงเงิน 287.18 ล้านบาท สำหรับเป็นค่าชดเชยเยียวยาให้กับเจ้าของเรือประมงจากมาตรการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งผ่านเกณฑ์เข้าร่วมโครงการระยะที่ 2 จำนวน 59 ลำ โดยใช้จ่ายจากงบกลางฯ ปี 2565 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ โครงการนี้เป็นโครงการต่อเนื่องจากระยะที่ 1 ซึ่งได้จ่ายเงินชดเชยเยียวยาให้กับเจ้าของเรือประมงไปแล้วจำนวน 305 ลำ (จากทั้งหมด 570 ลำ) งบประมาณรวมทั้งสิ้น 764.45 ล้านบาท การจ่ายเงินชดเชยการทำลายเรือประมงยังคงใช้เกณฑ์ตามเดิม โดยแบ่งจ่ายเป็น 2 งวด คือ งวดที่ 1 จ่ายเงินร้อยละ 30 ของจำนวนเงินค่าชดเชย เป็นค่าใช้จ่ายในการแยกชิ้นส่วนเรือหรือทำลายเรือประมง งวดที่ 2 จ่ายเงินร้อยละ 70 ของจำนวนเงินค่าชดเชย โดยจ่ายหลังจากเจ้าของเรือแยกชิ้นส่วนเสร็จหรือทำลายเรือประมงเรียบร้อยแล้ว

ดร.รัชดา กล่าวต่อว่า โครงการนี้จะช่วยให้ไทยสามารถบริหารจัดการเรือประมงให้มีจำนวนเหมาะสมกับปริมาณสัตว์น้ำได้ และช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดการทำประมงผิดกฎหมายจากการใช้เรือประมงที่ไม่มีใบอนุญาตทาการประมงพาณิชย์ รวมถึงเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบของเจ้าของเรือจากมาตรการของรัฐในการแก้ไขปัญหาการทาประมงผิดกฎหมาย สำหรับกลุ่มเป้าหมายโครงการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะดำเนินการในระยะต่อไป คือ กลุ่มเรือที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ที่ต้องการเลิกอาชีพทำการประมง ซึ่งมีอยู่จำนวน 2,513 ลำ

ดึง “ทรัสตี-คราวด์ฟันดิง” อยู่ภายใต้ กม.ฟอกเงิน

ดร.รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบหลักการร่างกฎกระทรวง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ออกตามความในพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ตามที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) เสนอ ร่างกฎกระทรวงนี้ฉบับ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้ “ผู้ประกอบธุรกิจทรัสตี” ตามกฎหมายว่าด้วยทรัสต์ เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน และ “ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการระบบคราวด์ฟันดิง” ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เป็น “สถาบันการเงิน” ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เพื่อให้การกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวต้องปฏิบัติต่อผู้ลงทุนอย่างเป็นธรรม และป้องกันการนำเงินที่ได้จากการกระทำความผิดมาลงทุน เนื่องจากปัจจุบันการลงทุนผ่านกองทรัสต์และผ่านระบบคราวด์ฟันดิง ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเพิ่มขึ้น ทำให้มีโอกาสที่นักลงทุนจะอาศัยช่องว่างของการตรวจสอบ นำเงินที่ได้จากการกระทำความผิดเข้าซื้อหน่วยลงทุนเพื่อฟอกเงิน โดยที่บริษัทตัวกลางไม่ได้รายงานความผิดปกติของธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยให้สำนักงาน ปปง. ทราบ

ดังนั้น เมื่อผู้ประกอบธุรกิจทรัสตีและผู้ประกอบธุรกิจให้บริการระบบคราวด์ฟันดิง เป็นสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินแล้ว ผู้ประกอบการดังกล่าวจะต้องมีหน้าที่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมาย อาทิ 1)การรายงานการทำธุรกรรม 2)การจัดให้ลูกค้าต้องแสดงตน 3)การกำหนดนโยบาย การรับลูกค้า การบริหารความเสี่ยงที่อาจเกี่ยวกับการฟอกเงินหรือการตรวจสอบ เพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า เป็นต้น

ดร.รัชดา กล่าวด้วยว่า ครม. ได้เน้นย้ำให้การดำเนินการดังกล่าวต้องมีขั้นตอนที่ง่ายต่อการปฏิบัติ ไม่เป็นภาระมากเกินไป และต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ MSME พร้อมทั้งให้ สำนักงาน ปปง. พิจารณาข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และรับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้

ปลดโควิดฯออกจากโรคต้องห้ามชาวต่างด้าวเข้า ปท.

ดร.รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดโรคต้องห้าม สำหรับคนต่างด้าว ซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักร หรือ เข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมร่างกฎกระทรวงกำหนดโรคต้องห้ามสำหรับคนต่างด้าวฯ พ.ศ.2563 โดยยกเลิกโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด-19 ออกจากการเป็น โรคต้องห้ามสำหรับคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรตามมาตรา 12 (4) หรือเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรตามาตรา 44 (2) แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ส่วนโรคต้องห้ามอื่นๆ ยังคงกำหนดไว้ตามเดิม ดังนี้ 1.โรคต้องห้ามสำหรับคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักร คือ 1)โรคเรื้อน 2)วัณโรคในระยะอันตราย 3)โรคเท้าช้างในระยะที่ปรากฎอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม 4)โรคยาเสพติดให้โทษ 5)โรคซิฟิลิสในระยะที่ 3 2.โรคต้องห้ามสำหรับคนต่างด้าวเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร คือ 1)โรคเรื้อน 2)วัณโรคในระยะอันตราย 3)โรคเท้าช้าง 4)โรคยาเสพติดให้โทษ 5)โรคพิษสุราเรื้อรัง และ 6)โรคซิฟิลิสในระยะที่ 3 ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

แก้กฎ ก.พ.เพิ่ม “โรคจิต-อารมณ์ผิดปกติ” ห้ามรับราชการ

ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างกฎ ก.พ.ว่าด้วยโรค พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) เสนอ ร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยโรคฉบับนี้ เป็นการปรับปรุงกฎ ก.พ. ว่าด้วยโรค พ.ศ. 2553 ที่กำหนดลักษณะต้องห้ามสำหรับผู้ที่จะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือน ในการแก้ไขครั้งนี้ ได้ยกเลิก “โรควัณโรคในระยะแพร่กระจายเชื้อ” ออกจากลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะเข้ารับราชการพลเรือน เนื่องจากโรควัณโรคมีแนวโน้มที่ลดลงและใช้เวลาในการรักษาประมาณ 2 สัปดาห์ ก็สามารถหายได้ พร้อมกันนี้ ได้เพิ่มโรคจิต (Psychosis) หรือโรคอารมณ์ผิดปกติ (Mood Disorders) ที่มีอาการเด่นชัดรุนแรงหรือเรื้อรังและเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่ เป็นลักษณะต้องห้ามด้วย ส่วนโรคอื่นๆ ยังคงกำหนดเป็นลักษณะต้องห้ามตามเดิม ได้แก่ 1.โรคเท้าช้างในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม 2.โรคติดยาเสพติดให้โทษ 3.โรคพิษสุราเรื้อรัง และ 4.โรคติดต่อร้ายแรงหรือโรคเรื้อรัง ที่ปรากฏอาการเด่นชัดหรือรุนแรงและเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่ ทั้งนี้ มีผลนับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ผ่านแผนรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์

นางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบในร่างนโยบายและแผนปฏิบัติการว่าด้วยความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2565-2570 ที่คณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) ได้จัดทำและเสนอมาเพื่อทำให้บริการที่สำคัญของประเทศไทยมีความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์เพื่อความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสังคม โดยร่างนโยบายและแผนปฏิบัติการฯ นี้จะเป็นกรอบแนวทางการดำเนินการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศ ที่มุ่งเน้นทั้งมิติการเสริมสร้างศักยภาพการป้องกัน มิติการรับมือและลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ และมิติการตอบสนองต่อเหตุภัยคุกคามและฟื้นฟูระบบให้กลับคืนสู่สภาวะปกติอย่างทันท่วงที

การจัดทำร่างนโยบายและแผนปฏิบัติการฯ นี้เป็นการดำเนินการตามบทบัญญัติมาตรา 9 (1) และมาตรา 9 (3) พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 ที่จะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติดังกล่าว นโยบายและแผนปฏิบัติการฯ จะใช้เป็นแผนแม่บทในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศไทย การพัฒนาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ในภาพรวมที่ครอบคลุมในทุกมิติ และเพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางการดำเนินการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศ โดยกรอบแนวทางดำเนินการจะเป็นไปเพื่อเป้าหมายยุทธศาสตร์ 4 ด้านคือ

    1. สร้างขีดความสามารถในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ด้านบุคลากร องค์ความรู้ และเทคโนโลยี (Capacity) ที่จะนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่เป็นนวัตกรรมของประเทศ

    2. บูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วนทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ (Partnership) เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือและฟื้นคืนสู่สภาพปกติได้อย่างรวดเร็ว

    3. สร้างบริการภาครัฐและโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศให้มีความมั่นคงปลอดภัยและฟื้นคืนสู่สภาพปกติได้ (Resilience)

    4. สร้างศักยภาพของหน่วยงานระดับชาติให้มีคุณภาพและมาตรฐาน (Standard) เพื่อให้การบริหารจัดการด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากเรื่อง ความปลอดภัยไซเบอร์ ที่ส่งผลถึงประชาชนแล้วนั้น ตัวชี้วัดความปลอดภัยไซเบอร์ระดับโลก 2563 (Global Cybersecurity Index 2020) ที่จัดทำโดย ITU องค์การชำนาญพิเศษเฉพาะเรื่องด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารขององค์การสหประชาชาติได้ให้คะแนนประเทศไทย ค่าชี้วัดรวม 86.50 เป็นอันดับ 9 ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยมีค่าตัวชี้วัดด้านมาตรการทางกฎหมายของไทย อันเป็นจุดแข็งของประเทศ คือคะแนน 19.11 จาก 20 ซึ่งมีปัจจัยจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562

ในขณะที่ค่าตัวชี้วัดด้านอื่นๆ ได้แก่ มาตรการด้านองค์กร มาตรการด้านความร่วมมือ การพัฒนาศักยภาพขีดความสามารถ และมาตรการทางเทคนิคได้คะแนนลดหลั่นมาคือ 17.64, 17.34, 16.84 และ 15.57 ตามลำดับ ซึ่งเมื่อมีการจัดทำร่างนโยบายและแผนปฏิบัติการฯ และบังคับใช้เป็นกรอบแนวทางการดำเนินการแล้วจะทำให้คะแนนค่าตัวชี้วัดด้านอื่นๆ มีความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มมากขึ้น อันจะสะท้อนถึงภาพลักษณ์ เสถียรภาพความมั่นคงทางไซเบอร์ สุดท้ายจะนำมาซึ่งเศรษฐกิจและประเทศในทางที่ดีขึ้น

รับเงินสนับสนุนจากกองทุนแม่โขง-ล้านช้าง 4.4 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ

นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบในร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง ประจำปี 2565 ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมและสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย

เพื่อสร้างรายได้และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย เสริมสร้างสมรรถนะด้านความมั่นคงทางอาหารด้านอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและการทวนสอบผลิตภัณฑ์เศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับบรรจุภัณฑ์พลาสติกในห่วงโซ่อุปทาน

ประเทศไทยจึงตกลงรับความช่วยเหลือจากจีนภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง ประจำปี 2565 ซึ่งจะเป็นกลไกในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมระหว่างกันและเป็นการสร้างเครือข่าย เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างหน่วยงานปฏิบัติที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาศักยภาพการผลิตในอนุภูมิภาคนี้

ภายหลังจากที่ไทยได้รับทุนของกองทุนดังกล่าวแล้ว งบประมาณที่ได้รับจะมี 3 หน่วยงานนำไปจัดกิจกรรมโครงการเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะของไทยตามวัตถุประสงค์ของกองทุนเพื่อให้เกิดสันติภาพและความมั่งคั่งต่อประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง

โดย “สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม” และ “สถาบันอาหาร” จะรับผิดชอบดำเนินโครงการเสริมสร้างสมรรถนะด้านความมั่นคงทางอาหารในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูประหว่างประเทศลุ่มแม่น้ำโขงและสาธารณรัฐประชาชนจีน ด้วยงบประมาณ 225,600 ดอลลาร์สหรัฐฯ ระยะเวลาดำเนินโครงการ 18 เดือน

“สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (ISO)” จะรับผิดชอบกิจกรรมโครงการเสริมสร้างสมรรถนะด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนในภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้าง: การทวนสอบผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์พลาสติกในห่วงโซ่อุปทาน ด้วยงบประมาณ 215,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ระยะเวลาดำเนินโครงการ 12 เดือน

“ทั้ง 2 โครงการสอดคล้องเป็นอย่างดีกับการส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของรัฐบาลไทย ที่เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม โดยที่อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าเกษตร จะช่วยให้เกษตรกรสามารถมีรายได้เพิ่มขึ้นจากผลผลิตทางการเกษตร ด้วยการนำผลผลิตทางการเกษตรมาเพิ่มลักษณะพิเศษ หรือ จุดเด่นบางอย่างให้ต่างไปจากเดิม เพื่อให้ตรงต่อความต้องการของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น” นางสาวทิพานัน กล่าว

นางสาวทิพานัน กล่าวย้ำว่า ตรงนี้รวมถึง การพัฒนาสินค้าเกษตรแปรรูปเพื่อความมั่นคงทางอาหาร และในส่วนของโครงการการทวนสอบผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์พลาสติกในห่วงโซ่อุปทานนั้น จะทำให้มีส่วนสำคัญที่จะทำให้มาตรฐานบรรจุภัณฑ์พลาสติกของสินค้าไทยทัดเทียมสากล เป็นที่ยอมรับ โดยเฉพาะในประเด็นลดผลกระทบด้านขยะพลาสติกที่จะทำให้เกิดการดำเนินการเพื่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

จัดงบฯ 138 ล้าน เก็บดีเอ็นเอคนพ้นโทษจากเรือนจำ

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ภายในกรอบวงเงิน 137.94 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับจัดทำโครงการจัดเก็บข้อมูลดีเอ็นเอของบุคคลพ้นโทษ พักโทษ จากเรือนจำและทัณฑสถาน เพื่อให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) มีฐานข้อมูลดีเอ็นเอของบุคคลพ้นโทษและพักโทษเพื่อใช้ในการสืบสวนสอบสวนและเชื่อมโยงคดี และเพื่อให้ตช.เป็นศูนย์กลางฐานข้อมูลดีเอ็นเอแห่งชาติ สามารถสืบค้นหาผู้กระทำความผิดทางคดีอาญาและอาชญากรรมในประเทศและระหว่างประเทศ และเพื่อเพิ่มศักยภาพระบบฐานข้อมูลดีเอ็นเอให้สามารถรองรับฐานข้อมูลดีเอ็นเอซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเชื่อมโยงฐานข้อมูลกลางและฐานข้อมูลส่วนภูมิภาคด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูง

สำหรับงบประมาณในกรอบวงเงิน 137.94 ล้านบาท จะนำไปดำเนินการดังนี้คือ จัดหาวัสดุในการจัดเก็บดีเอ็นเอและวัสดุหรือน้ำยาในการตรวจดีเอ็นเอ จำนวน 45 รายการ สำหรับเก็บข้อมูลดีเอ็นเอจำนวน 100,000 ราย เช่น ก้านสำลีพันปลายไม้ชนิด Sterile, ถุงมือไนโตรชนิดไม่มีแป้ง, น้ำยาโพลีเมอร์หรือสารละลายแอโนดบัฟเฟอร์สำหรับเครื่องวิเคราะห์สารพันธุกรรมแบบอัตโนมัติ และชุดน้ำยาตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลสำหรับจัดทำฐานข้อมูลดีเอ็นเอ เป็นต้น วงเงิน 89.82 ล้านบาท และปรับปรุงระบบเทคโนโลยีฐานข้อมูลดีเอ็นเอ สำหรับจัดหาครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์ รวม 68 รายการ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย อุปกรณ์กระจายสัญญาณ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลแบบภายนอก อุปกรณ์ป้องกันเครือข่าย เป็นต้น วงเงิน 48.11 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ เดือนกรกฎาคม -กันยายน 2565

นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ผลที่คาดว่าจะได้รับ คือ สามารถจับกุมผู้กระทำความผิดได้อย่างรวดเร็วและถูกต้องและอัตราการกระทำผิดและการกระทำผิดซ้ำจะลดลง

เพิกถอนพื้นที่อุทยานเขาพระวิหาร 42 ไร่ สร้างอ่างเก็บน้ำ

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบในหลักการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร บางส่วนเนื้อที่ประมาณ 42 ไร่ 51 ตารางวา เพื่อก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำลำห้วยบอนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดอุบลราชธานี ทั้งนี้เมื่อ ครม. เห็นชอบแล้ว จะแจ้งให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินการตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ในการตราพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหารบางส่วน เพื่อก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำลำห้วยบอน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดอุบลราชธานี ต่อไป

สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำลำห้วยบอนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีจุดมุ่งหมายเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากความแห้งแล้งเนื่องจากฝนแล้งในตำบลโชง และตำบลสีวิเชียร อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อให้เกิดประโยชน์ระยะยาวต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน เพื่อเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงในเขตอีสานตอนล่าง บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา เพื่อดำเนินการจัดหาแหล่งเก็บกักน้ำต้นทุน มีปริมาณน้ำรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม แก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภค-บริโภค การเกษตร เป็นแหล่งน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปา เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และเพื่อภารกิจเสริมสร้างความมั่นคงด้านน้ำ รวมทั้งการบรรเทาอุทกภัยด้านท้ายน้ำที่จะเกิดขึ้นในฤดูน้ำหลาก ซึ่งจะทำให้เกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจในระยะยาว

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า อ่างเก็บน้ำแห่งนี้สามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ 6 ล้านลูกบาศก์เมตร บรรเทาอุทกภัยทางด้านท้ายน้ำ รวมทั้งส่งน้ำสนับสนุนให้ประชาชนตามลำน้ำในพื้นที่อำเภอน้ำยืน อำเภอน้ำขุ่น อำเภอนาจะหลวย อำเภอเดชอุดม อำเภอนาเยีย อำเภอสว่างวีระวงศ์ อำเภอพิบูลมังสาหาร และอำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี โดยสามารถส่งน้ำสนับสนุนการเพาะปลูกในฤดูฝนประมาณ 5,000 ไร่ ส่งน้ำสนับสนุนการเพาะปลูกในฤดูแล้งประมาณ 1,500 ไร่ และยังเป็นแหล่งเพาะและขยายพันธุ์ปลาน้ำจืดเพื่อการประมงของประชาชนได้ด้วย

จัดงบฯ 212 ล้าน หนุนต่างชาติถ่ายทำภาพยนตร์ในไทย 6 เรื่อง

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นประจำปี 2565 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการสร้างภาพยนตร์ต่างประเทศในราชอาณาจักร จำนวน 6 เรื่อง เป็นเงินงบประมาณรวม 212.102 ล้านบาท การขอรับจัดสรรงบประมาณครั้งนี้ เนื่องจากกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายในการดูแลการดำเนินมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย (Incentive Measures) คงเหลืองบประมาณไม่เพียงพอ เนื่องจากในปี 2565 ได้รับการจัดสรรงบประมาณสำหรับดำเนินโครงการนี้จำนวน 167.612 ล้านบาท โดยวงเงินดังกล่าวได้มีการเบิกจ่ายและผูกพันงบประมาณแล้ว 154.940 ล้านบาท และในไตรมาสที่4/65 อีก 7.957 ล้านบาท จึงคงเหลือเงินในโครงการดังกล่าวเพียง 4.715 ล้านบาท ไม่เพียงพอกับการใช้จ่ายเพื่อคืนเงินตามมาตรการส่งเสริมแก่ผู้ถ่ายทำภาพยนตร์ 6 เรื่อง ที่ต้องใช้งบประมาณทั้งสิ้น 216.818 ล้านบาท จำเป็นต้องขอรับการสนับสนุนเพิ่มเติม

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2560 โดยให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้สร้างภาพยนตร์ที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป ในรูปแบบการคืนเงิน (Cash Rebate) ร้อยละ 15-20

ตั้งแต่เริ่มโครงการ ได้มีภาพยนตร์ต่างประเทศเข้ามาถ่ายทำในประเทศไทยแล้ว 43 เรื่อง เกิดรายได้หมุนเวียนในเศรษฐกิจประมาณ 8,560 ล้านบาท ดำเนินการคืนเงิน Cash Rebate แก่ผู้ประกอบการแล้ว 22 เรื่อง รวม 541.497 ล้านบาท ซึ่งนับว่าเป็นมาตรการที่เกิดประโยชน์ต่อประเทศและคุ้มค่า โดยเงินลงทุนจากผู้สร้างภาพยนตร์ทั้งหมดได้กระจ่ายไปยังพื้นที่ต่างๆ ซึ่งเป็นสถานที่ถ่ายทำทั่วประเทศ

ขณะที่ภาพยนตร์ 6 เรื่อง ที่มีการของบประมาณสนับสนุนเพิ่มเติม 212.102 ล้านบาทในครั้งนี้ ดำเนินการถ่ายทำเสร็จในช่วงปี 2564 เป็นภาพยนตร์จาก สหรัฐฯ 4 เรื่อง ฝรั่งเศส 1 เรื่อง และสิงคโปร์ 1 เรื่อง ทั้งหมดมีกำหนดฉายภายในปี 2565 การถ่ายทำทั้ง 6เรื่อง มีการนำเงินเข้ามาใช้จ่ายในประเทศไทย 1,193.84 ล้านบาท มีการจ้างงานทีมงานและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง 12,000 คน ส่งผลให้มีเงินหมุนเวียนสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจอัตราทวีคูณ รวม 2,384 ล้านบาท

รับทราบจัดผ้าป่าหนุนโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบเกี่ยวกับการจัดพิธีทอดผ้าป่าสนับสนุนโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย ประจำปี 2565 เพื่อเป็นการเผยแพร่การดำเนินงานของโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย ในการสนับสนุนและส่งเสริมพระภิกษุและสามเณร ให้ได้มีโอกาสศึกษาพระปริยัติธรรมและพระธรรมอย่างลึกซึ้ง โดยจะเริ่มดำเนินการในส่วนกลางในวันที่ 13 ตุลาคม 2565 ณ วัดบวรนิเวศวิหาร และส่วนภูมิภาคและคณะหนทั้ง 4 หน ในระหว่างวันที่ 14 ตุลาคม-15 พฤศจิกายน 2565 ณ วัดที่กำหนด

โดยในปี 2564 ที่ผ่านมา มียอดเงินบริจาคในพิธีทอดผ้าป่า เพื่อสนับสนุนโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย จำนวน 102 ล้านบาท แยกเป็นส่วนกลาง 38 ล้านบาท และส่วนภูมิภาค 64 ล้านบาท

นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า โครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทยเป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดพิธีทอดผ้าป่าเพื่อสนับสนุนและเผยแพร่การดำเนินงานของโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย ประกอบกับ มหาเถรสมาคมได้มีมติให้คณะสงฆ์สนับสนุนและขอความร่วมมือจากจังหวัดต่างๆ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ โดยจัดพิธีทอดผ้าป่าฯวันที่ 13 ตุลาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผู้ทรงพระราชทานจัดตั้งโครงการฯ

ขยายเวลาต่างชาติพำนักไทย ฟื้นฟูท่องเที่ยว

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเพิ่มระยะเวลาการอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ทั้งนี้ มีสาระสำคัญเป็นการขยายระยะเวลาในการพำนักในราชอาณาจักรสำหรับคนต่างด้าวบางจำพวกที่เดินทางเข้าประเทศไทย ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565-31 มีนาคม 2566 ดังนี้

    1) คนต่างด้าวที่ขอรับการตรวจลงตรา Visa on Arrival ขยายระยะเวลาจากเดิมพำนักได้ไม่เกิน 15 วัน เป็นไม่เกิน 30 วัน

    2) คนต่างด้าวผู้ถือหนังสือเดินทางของประเทศที่รัฐบาลของประเทศนั้น ได้ทำความตกลงระหว่างกันกับรัฐบาลไทย กรณีการยกเว้นการตรวจลงตรา ขยายจากเดิมไม่เกิน 30 วัน เป็นไม่เกิน 45 วัน

    3) คนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรชั่วคราวซึ่งได้รับการยกเว้นการตรวจลงตรา ประเภท ผ.30 ซึ่งเป็นมาตรการที่ไทยให้ฝ่ายเดียว ขยายจากเดิมไม่เกิน 30 วัน เป็น ไม่เกิน 45 วัน

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า การออกประกาศกระทรวงมหาดไทยข้างต้นนี้ สืบเนื่องจากที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์โควิด19 หรือ ศบค. ครั้งที่ 11/65 เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2565 ได้เห็นชอบให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการเกี่ยวกับการขยายระยะเวลาการพำนักของชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทย เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย และเพิ่มค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวระหว่างที่อยู่ในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและเยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด19

ต่อมาตรการจ่ายชดเชยน้ำมันชีวภาพอีก 2 ปี

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบการขยายระยะเวลาดำเนินการจ่ายเงินชดเชยให้แก่น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพออกไป 2 ปี จนถึงวันที่ 24 กันยายน 2567

ทั้งนี้ เนื่องจากรัฐบาลได้ดำเนินการตามแนวทางสนับสนุนการใช้น้ำมันจากพืชเป็นเชื้อเพลิงในเครื่องยนต์ดีเซล รวมถึงการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพจากเอทานอลและไบโอดีเซล โดยมีการใช้เงินจากกองทุนน้ำมันและเชื้อเพลิงเป็นกลไกในการรักษาระดับค่าการตลาดของน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยการสร้างส่วนต่างราคาขายปลีก ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะสิ้นสุดลงในวันที่ 24 กันยายน 65 นี้ และตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนน้ำมันและเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 กำหนดให้สามารถขยายระยะเวลาสำหรับโครงการที่มีการจ่ายเงินชดเชยแก่น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 2 ปี โดยครั้งนี้จะเป็นการขยายระยะเวลาครั้งแรก

“ระยะเวลาที่กำหนดไว้ในกฎหมายในการจ่ายเงินชดเชยให้แก่น้ำมันเชื้อเพลงที่มีส่วนผสมชองเชื้อเพลิงชีวภาพจะครบกำหนดในวันที่ 24 กันยายน 2565 นี้ โดยกระทรวงพลังงานพิจารณาแล้วยังคงมีความจำเป็นต้องจ่ายเงินชดเชยดังกล่าวต่อไป เพื่อเป็นกลไกในการรักษาระดับค่าการตลาดของน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยการสร้างส่วนต่างราคาขายปลีก จูงใจให้เกิดการใช้พลังงานชีวภาพ และยังเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้จากการขยายพืชผลทางเกษตรจึงเสนอให้ ครม. อนุมัติขยายระยะเวลาดำเนินการในครั้งนี้” นางสาวไตรศุลี กล่าว

ปรับการทำงานของหน่วยงานรัฐ 3 รูปแบบ รับ New Normal

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบแนวทางการปฏิบัติราชการที่รองรับชีวิต และการทำงานวิถีใหม่ พร้อมคู่มือ เพื่อให้ส่วนราชการใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการต่อไป และมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐพิจารณานำแนวทางและคู่มือดังกล่าว ไปปรับใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการตามความเหมาะสม ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามแผนปฏิรูปประเทศ ฉบับปรับปรุง ด้านการบริหารราชการแผ่นดินในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป เนื่องจากในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 ส่งผลกระทบต่อรูปแบบการดำรงชีวิตและการปฏิบัติงานในภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ภาครัฐจึงมีความจำเป็นต้องปรับตัวและปรับเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติงานและการให้บริการประชาชน ตลอดจนการบริหารจัดการภายในหน่วยงานให้มีความเหมาะสมและยืดหยุ่น คล่องตัว ให้สอดคล้องกับฐานวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) และตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ทันท่วงที

สำหรับแนวทางการปฏิบัติราชการที่รองรับชีวิตและการทำงานวิถีใหม่ มีหลักการสำคัญคือ ให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐปรับตัวได้อย่างสอดคล้องกับบริบท และสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างคล่องตัว และทันการณ์ โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพและผลสัมฤทธิ์ของงานภาครัฐ และประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการรับบริการเป็นสำคัญ ซึ่งจะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการปรับรูปแบบการบริหารส่วนราชการและหน่วยงานภาครัฐในภาพรวมทุกมิติ เช่น ระบบและขั้นตอนการทำงานและการให้บริการประชาชน การบริหารทรัพยากรบุคคล และการปรับปรุงด้านเทคโนโลยีในการปฏิบัติงาน

นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ สามารถส่งเสริมให้เกิดการปรับวิธีคิดและกรอบความคิด (Mindset) ของผู้ปฏิบัติงานทุกระดับ เพื่อให้พร้อมปรับตัวเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ตลอดจนให้มีความพร้อมที่จะเรียนรู้และพัฒนาตนเองตลอดเวลาเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป และยังเปิดโอกาสให้ส่วนราชการ และหน่วยงานของรัฐ สามารถพิจารณากำหนดรูปแบบวิธีการปฏิบัติราชการให้สอดคล้องกับภารกิจและลักษณะงาน เพื่อให้สามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และคำนึงถึงคุณภาพชีวิตในการทำงานของผู้ปฏิบัติงานและวิถีการดำเนินชีวิตเพื่อการสร้างสมดุลที่เหมาะสมกับการปฏิบัติงาน

สำหรับรูปแบบการปฏิบัติงาน แบ่งเป็น 3 รูปแบบคือ รูปแบบที่ 1 การปฏิบัติงานในที่ตั้งโดยการเหลื่อมเวลาทำงาน เช่น กำหนดช่วงเวลาการเข้างานและเลิกงานเป็น 4 ช่วง ตั้งแต่ 07.30-15.30น., 08.00-16.00 น., 08.30-16.30น. และ09.30-17.30 น. รูปแบบที่ 2 การปฏิบัติงานในที่ตั้งโดยการนับชั่วโมงการทำงาน เช่น กำหนดให้สามารถเลือกเวลาเข้างานได้ตามความเหมาะสมกับรูปแบบการดำรงชีวิต โดยไม่กระทบต่อประสิทธิภาพการทำงาน โดยเมื่อนับเวลาปฏิบัติงานรวมกันแล้วต้องไม่น้อยกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และรูปแบบที่ 3 การปฏิบัติงานนอกที่ตั้ง โดยกำหนดให้สอดคล้องกับร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการปฏิบัติงานนอกที่ตั้งของส่วนราชการ พ.ศ. …. ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอ ครม. ตรวจพิจารณาแล้วเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2565

ทั้งนี้การกำหนดรูปแบบการปฏิบัติงานอ้างอิงจากประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง การกำหนดเวลาทำงานและวันหยุดราชการ(ฉบับที่ 12 ) พ.ศ. 2502 ซึ่งกำหนดไว้ดังนี้คือ เวลาทำงานเริ่มตั้งแต่ 08.30-16.30 น. หยุดกลางวัน 12.00-13.00 น. รวมระยะเวลาทำงาน 8 ชั่วโมง วันหยุดราชการประจำสัปดาห์คือวันเสาร์และอาทิตย์ หากส่วนราชการใดจะกำหนดวันและเวลาในการทำงานเพื่อความสะดวกสามารถทำได้แต่เมื่อคำนวณแล้วแล้ว ต้องไม่น้อยกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

ตั้งกลุ่มสามมิตร รักษาการ รมต.แทนกันเอง 2 กระทรวง

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติในเรื่องแต่งตั้ง-โยกย้ายข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐมีรายละเอียดดังนี้

1. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงการคลัง)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้ง นายอัครุตม์ สนธยานนท์ รองอธิบดีกรมสรรพสามิต ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2565 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

2. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอแต่งตั้ง นายวัชระ เสือดี วิศวกรชลประทานเชี่ยวชาญ กรมชลประทาน ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน (ด้านบำรุงรักษา) (วิศวกรชลประทานทรงคุณวุฒิ) กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

3. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงคมนาคม)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงคมนาคม ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้

    1. นางสาวลักษณวดี ธนามี ผู้อำนวยการศูนย์ (ผู้อำนวยการระดับสูง) ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศการขนส่งและจราจร สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ดำรงตำแหน่ง นักวิชาการขนส่งทรงคุณวุฒิ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2565
    2. นายชาครีย์ บำรุงวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์ (ผู้อำนวยการระดับสูง) ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมทางหลวงชนบท ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการขนส่งทางบก (นักวิชาการขนส่งทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2565

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

4. การแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเป็นหลักการ มอบหมายให้รัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หรือ มีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ตามความในมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 จำนวน 2 ราย ตามลำดับ ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ดังนี้

    1. นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
    2. นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2565 เป็นต้นไป

5. การแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการ มอบหมายให้รัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ชุดใหม่ จำนวน 2 ราย ตามลำดับ ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ ดังนี้

    1. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
    2. นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2565 เป็นต้นไป

อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 20 กันยายน 2565 เพิ่มเติม