ThaiPublica > เกาะกระแส > การปล่อยตัวประกันของกลุ่มฮามาสนโยบายการทูตของ ‘กาตาร์ ที่สร้าง Soft Power’

การปล่อยตัวประกันของกลุ่มฮามาสนโยบายการทูตของ ‘กาตาร์ ที่สร้าง Soft Power’

27 พฤศจิกายน 2023


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ตัวประกันหลายสิบคนที่กลุ่มฮามาสจับได้รับการปล่อยตัวแล้ว อันเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงหยุดยิงกับอิสราเอล ที่มาภาพ : https://www.wsj.com/world/middle-east/hostage-releases-bring-reunions-reliefand-growing-pressure-to-free-more-02b3b8ec?cx_testId=3&cx_testVariant=cx_170&cx_artPos=3&mod=WTRN#cxrecs_s

The Wall Street Journal ฉบับวันที่ 25 พฤศจิกายน 2566 รายงานว่า บทบาทของกาตาร์ในสงครามฉนวนกาซ่า ในการประสานงานให้เกิดการหยุดยิงชั่วคราว และการปล่อยตัวประกัน สะท้อนถึงความสำเร็จทางการทูตของกาตาร์ ประเทศเล็ก ๆ ในตะวันออกกลาง ในฐานะตัวกลางที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย จากการวางตัวเพื่อแก้ไขความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลาง

การวางตัวทางการทูตที่เป็นอิสระของกาตาร์ เริ่มต้นเมื่อ 30 ปีมาแล้ว นโยบายดังกล่าวเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับกาตาร์ ในท่ามกลางสภาพที่ถูกแวดล้อมด้วยประเทศเพื่อนบ้านที่ใหญ่กว่า เช่น ซาอุดิอาระเบียและอิหร่าน แต่ก็เป็นนโยบายที่มีความเสี่ยง การที่กาตาร์วางตัวที่จะเจรจาหารือและติดต่อกับกลุ่มหัวรุนแรง ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านกล่าวหาว่า กาตาร์ให้การสนับสนุนต่อขบวนการดังกล่าว

“สวิสเซอร์แลนด์” ตะวันออกกลาง

หลังจากที่กองกำลังกลุ่มฮามาสข้ามพรมแดนบุกอิสราเอล เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 กาตาร์ก็เริ่มดำเนินงานเจรจาไกล่เกลี่ยทันที ขณะเดียวกัน นักการเมืองสหรัฐฯ ก็กล่าวหาว่ากาตาร์เองให้การสนับสนุนกลุ่มฮามาส ส่วนรัฐบาลโจ ไบเดน ก็กดดันกาตาร์ช่วยให้มีการปล่อยตัวประกันจำนวนหลายร้อยคน

เป็นเวลาหลายสิบปีมาแล้ว ที่กาตาร์เปิดช่องทางการติดต่อสื่อสารกับกลุ่มฮามาส และต่อมาอนุญาตให้กลุ่มฮามาสมาตั้งสำนักงานที่นครหลวงโดฮา และยังให้เงินช่วยเหลือแก่กลุ่มฮามาส อิสราเอลระแวงต่อท่าทีของกาตาร์ เพราะเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อความพยายามที่จะทำลายกลุ่มนี้ นโยบายสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง ทำให้กาตาร์ประสบวิกฤติครั้งใหญ่ เมื่อปี 2017 ประเทศอาหรับตัดความสัมพันธ์ทางการทูตและทางเศรษฐกิจกับกาตาร์

ซาอุดิอาระเบีย อียิปต์ และประเทศอื่นในภูมิภาค ล้วนไม่พอใจต่อนโยบายต่างประเทศอิสระของกาตาร์ การที่สถานีโทรทัศน์ Al Jazeera ของกาตาร์ ที่รายงานข่าวอย่างอิสระ รวมทั้งที่กาต้าร์สนับสนุนเหตุการณ์อาหรับสปริง ที่ล้มรัฐบาลเผด็จการของหลายประเทศในตะวันออกกลาง

ประเทศเล็กที่โลกยอมรับ

ที่มาภาพ : amazon.com

หนังสือชื่อ Qatar: Small State, Big Politics (2017) เขียนถึงกาตาร์ไว้ว่า การก้าวขึ้นมาเป็นประเทศ มีอิทธิพลทางการเมืองในตะวันออกกลางของกาตาร์ เป็นเรื่องสร้างความแปลกประหลาดแก่ผู้เชี่ยวชาญตะวันออกกลาง

ทำไมประเทศเล็กๆ ไม่มีประสบการทางการทูตระหว่างประเทศมายาวนาน สามารถก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญ ที่กำหนดทิศทางความเป็นไปของเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้

กาตาร์เป็นประเทศเกิดใหม่ มีประชากรที่เป็นคนท้องถิ่นแค่ 300,000 คน แต่มีคนอาศัยอยู่ราว 1.7 ล้านคน ขนาบด้วยอิหร่านทางทิศเหนือ และซาอุดิอาระเบียทางทิศใต้ เป็นประเทศรายได้ต่อคนสูงสุดของโลก ภายในประเทศ กาตาร์พัฒนาตัวเองกลายเป็นศูนย์กลางของโลก มีมหาวิทยาลัยดีที่สุด พิพิธภัณฑ์ดีที่สุด และสายการบินระดับโลก เหมือนประเทศเพื่อนบ้านอย่างดูไบ

แต่สิ่งที่กาตาร์แตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้านคือ การใช้นโยบายการทูตที่โดดเด่นและเชิงรุก เป็นประเทศผู้ไกล่เกลี่ยให้มีสันติภาพในเลบานอนปี 2007 ซูดานปี 2011 มีบทบาทสำคัญช่วยให้ฝ่ายกบถล้มการปกครองของกัดดาฟีในลิเบีย เมื่อปี 2011 ทั้งประเทศมหาอำนาจและประเทศเล็ก ต่างก็ขอความช่วยเหลือจากกาต้าร์ทั้งนั้น

“การทูตเฉพาะเรื่อง” ของชาติเล็ก

การเมืองระหว่างประเทศมักเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศมหาอำนาจ ประเทศขนาดเล็กมักเป็นผู้ตามมากกว่าผู้นำ แต่ประเทศเล็กบางประเทศก็สามารถเป็นแบบอย่างแก่นานาประเทศในบางเรื่อง เช่น สวีเดนเรื่อง “สิ่งแวดล้อม” ประเทศสแกนดิเนเวียในเรื่อง “ความเท่าเทียมทางเพศ” เป็นต้น

ส่วนกาตาร์เป็นประเทศเล็ก ที่ไม่ยินดีหรือพอใจที่จะอยู่ภายใต้ร่มเงาอิทธิพลของอิหร่าน อียิปต์ ซาอุดิอาระเบีย หรือไม่แต่มหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ สถานีโทรทัศน์ Al Jazeera สร้างความไม่พอใจต่อมิตรประเทศ การเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยความขัดแย้งของกาตาร์ ประสบความสำเร็จในตะวันออกกลางและแอฟริกา มีโครงการโดดเด่นระดับโลกเช่น ฟุตบอลโลกปี 2022 การรักษาความสัมพันธ์กับกลุ่มต่างๆของปาเลสไตน์ รวมทั้งอิสราเอล

บทบาทต่างประเทศของกาตาร์มาจากการสร้าง “การดำเนินการทูตเฉพาะเรื่อง” คือการที่กาตาร์สร้างชื่อเสียงการเป็น “พลเมืองดีของโลก” ซึ่งคือการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ ตะวันออกกลางเป็นภูมิภาคที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง จึงทำให้กาตาร์ประสบความสำเร็จ ในบทบาทการการแก้ไขความขัดแย้งและสร้างสันติภาพ

หนังสือ Qatar วิเคราะห์ว่า มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้กาต้าร์ ใช้นโยบายการทูตเชิงรุก

  • ประการแรก ใช้นโยบายต่างประเทศเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการ “สร้างความมั่นคงให้ตัวเอง” คือการรักษาความสัมพันธ์ที่เป็นมิตร และการเปิดช่องทางสื่อสาร กับทั้งประเทศพันธมิตร และประเทศที่อาจเป็นศัตรู
  • ประการที่ 2 กาตาร์ใช้การรณรงค์สร้าง “แบรนด์” ของประเทศ ให้เกิดการยอมรับจากประเทศต่างๆต่อประเทศเล็กอย่างกาตาร์ ถึงการเป็นศูนย์กลางนานาชาติด้านวัฒนธรรม การศึกษา และกีฬา รวมทั้งการเป็นพลเมืองดีของโลก ในการช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ
  • ประการที่ 3 รายได้มหาศาลจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ทำให้กาตาร์มีทรัพยากรทางการเงิน ในการดำเนินโครงการต่างๆ เช่น สถานีโทรทัศน์ Al Jazeera และความพยายามที่จะแก้ไขความขัดแย้งในที่ต่างๆของโลก
  • ประการที่ 4 กาตาร์เป็นหนึ่งในประเทศตะวันออกกลาง ที่การเมืองมีเสถียรภาพ โดยมาจากความเป็นหนึ่งเดียวของคนในสังคม ไม่มีความขัดแย้งของนิกายทางศาสนา แบบซาอุดิอาระเบีย ประชากรมีขนาดเล็ก ทำให้ผู้นำมีอิสระในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ
  • นโยบายต่างประเทศที่สร้าง Soft Power

    Joseph Nye นักรัฐศาสตร์ เจ้าของแนวคิด “soft power” ทำให้ความเข้าใจเรื่อง “อำนาจ” เกิดการเปลี่ยนครั้งใหญ่ ทรัพยากรที่ทำให้เกิด hard power เป็นสิ่งที่มองเห็น เช่น กำลังทหาร หรือเงินทุน แต่ทรัพยากรทำให้เกิด soft power เป็นสิ่งที่มองไม่เห็น เช่น สถาบัน ความคิด ค่านิยม วัฒนธรรม หรือความชอบธรรม

    Soft power เป็นสิ่งที่สามารถกำหนดความต้องการของคนอื่น มีความหมายมากกว่าเรื่องอิทธิพลหรือการชักจูง แต่เป็นเรื่องพลังมนเสน่ห์ ที่มองไม่เห็น แต่สามารถโน้มน้าวให้เราให้ไปร่วมกับเป้าหมายของคนอื่น โดยไม่มีการใช้อำนาจบังคับ หรือมีการแลกเปลี่ยนเกิดขึ้น
    ในเรื่อง soft power ของแต่ละประเทศ

    Joseph Nye เห็นว่ามีที่มาจาก 3 แหล่งด้วยกัน คือ (1) มนเสน่ห์จากวัฒนธรรมของชาติ (2) ค่านิยมทางการเมืองของประเทศและที่มีต่อต่างประเทศ และ (3) นโยบายต่างประเทศ ที่ได้รับการยอมรับว่าชอบธรรม และมีอิทธิพลทางศีลธรรม

    นโยบาย “ความเป็นพลเมืองดีของโลก” ของกาต้าร์ จึงเป็นแหล่งที่มาของ soft power ที่สร้างทั้งความชอบธรรม และความสำเร็จ ให้กับนโยบายการทูตของประเทศเล็ก แต่มั่งคั่งแห่งนี้

    เอกสารประกอบ

    Gaza Diplomacy Cements Qatar’s Role as Mediator, The Wall Street Journal, 25 November 2023.
    Qatar: Small State, Big Politics, Mehran Kamrava, Cornell University Press, 2017.