ThaiPublica > เกาะกระแส > อาเฮด ทามิมิ (Ahed Tamimi) เยาวชนปาเลสไตน์ สัญลักษณ์ท้าทายการยึดครองของอิสราเอล

อาเฮด ทามิมิ (Ahed Tamimi) เยาวชนปาเลสไตน์ สัญลักษณ์ท้าทายการยึดครองของอิสราเอล

1 สิงหาคม 2018


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ศิลปินอิตาลีวาดภาพอาเฮด ทามิมิ ข้างกำแพงกั้นอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ที่มาภาพ : theguardian.com

เมื่อวันอาทิตย์ 29 กรกฎาคม 2561 อาเฮด ทามิมิ (Ahed Tamimi) เยาวชนหญิงปาเลสไตน์ อายุ 17 ปี ได้รับปล่อยตัวจากเรือนจำของอิสราเอล หลังจากถูกคุมขังเป็นเวลา 8 เดือน จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2017 ที่เธอตบหน้าและเตะทหารอิสราเอล ที่เข้ามาบริเวณบ้านของครอบครัวเธอ ที่อยู่ในหมู่บ้านนาบิ ซาเลห์ (Nabi Saleh) เขตเวสต์แบงก์ มารดาของเธอเป็นคนบันทึกเหตุการณ์ด้วยวีดีโอ และนำไปขึ้นใน Facebook

ในการพิจารณาคดีลับในศาลทหารของอิสราเอล อาเฮด ทามิมิ ยอมรับผิดในทุกข้อหา คือ ทำร้ายร่างกาย ปลุกปั่นยุยง และขัดขวางการทำงานของทหาร เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้น หลังจากที่อาเฮด ทามิมิ ทราบข่าวว่า ทหารอิสราเอลใช้กระสุนยางยิงญาติอายุ 15 ปีของเธอได้รับบาดเจ็บสาหัส ในระหว่างที่มีการปะทะกันระหว่างทหารอิสราเอลกับชาวปาเลสไตน์ เธอยอมรับผิดตามข้อหา แทนการพิจารณาคดีที่จะใช้เวลายืดเยื้อและยาวนาน

เดือนธันวาคมปีที่แล้ว เมื่ออาเฮด ทามิมิ ถูกทหารอิสราเอลจับตัว นานาประเทศให้ความสนใจมากกับเรื่องราวของเธอ เวลาต่อมา เธอกลายเป็นสัญลักษณ์การประท้วงของปาเลสไตน์ รูปภาพของเธอถูกนำไปเขียนตามผนังกำแพง และพิมพ์เป็นโปสเตอร์ทั่วโลก หลังจากอิสราเอลปล่อยตัวเธอแล้ว ญาติพี่น้องและผู้สนับสนุน ต่างมารอรับเพื่อถ่ายภาพเซลฟี่กับเธอ มารดาของเธอก็ถูกปล่อยจากเรือนจำพร้อมกัน

นักต่อสู้ตั้งแต่วัยเด็ก

อาเฮด ทามิมิ เผชิญหน้ากับทหารอิสราเอล ที่มาภาพ : youtube

อาเฮด ทามิมิ เกิดเมื่อ 31 มกราคม 2001 ที่หมู่บ้านชื่อนาบิ ซาเลห์ ตั้งอยู่ทางฝั่งเวสต์แบงก์ ห่างจากเมืองรอมัลลอฮ์ (Ramallah) ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ 20 กิโลเมตร อาเฮด ทามิมิ นับเป็นเด็กเยาวชนปาเลสไตน์ที่เกิดขึ้นมาในสมัยที่ดินแดนของปาเลสไตน์ถูกยึดครองโดยอิสราเอลแล้ว ในช่วงที่เรียนในโรงเรียนมัธยม ครอบครัวได้ย้ายเธอให้ไปอาศัยกับญาติในเมืองรอมัลลอฮ์ เพื่อที่เวลาเดินทางไปเรียนจะได้ไม่ต้องผ่านด่านตรวจของทหารอิสราเอล

เขต “เวสต์แบงก์” (West Bank) คือ บริเวณที่อยู่ทางตะวันออกของอิสราเอล ในอนาคต เมื่อมีการตั้งรัฐปาเลสไตน์ขึ้นแล้ว พื้นที่เวสต์แบงก์จะกลายเป็นดินแดนหลักของรัฐปาเลสไตน์ ในปี 1967 หลังจาก “สงคราม 6 วัน” อิสราเอลก็เข้ายึดครองเขตเวสต์แบงก์และนครเยรูซาเลมตะวันออก ต่อมา อิสราเอลก็สร้างนิคมให้คนยิวในเขตเวสต์แบงก์ จนถึงปัจจุบัน มีคนยิว 5 แสนคนเข้าไปตั้งรกรากในดินแดนของปาเลสไตน์ นิคมคนยิวจึงสร้างปัญหายากลำบากแก่การเดินทางของคนปาเลสไตน์ เพราะต้องใช้เส้นทาง ที่มีด่านตรวจของทหารอิสราเอลเท่านั้น

ตั้งแต่อายุได้ 11 ปี อาเฮด ทามิมิ ก็แสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญ ที่จะท้าทายทหารอิสราเอล ในปี 2012 เธอได้เข้าไปขัดขวางทหารอิสราเอลที่เข้าไปจับกุมมารดาของเธอ ต่อมา เมื่อทหารอิสราเอลเข้าไปจับพี่ชายของเธอ อาเฮด ทามิมิ ก็เข้าไปขัดขวางและชูกำปั้นต่อหน้าทหารอิสราเอล

หนังสือที่กล่าวถึงการต่อสู้ของคนในหมู่บ้านนาบิ ซาเลห์ ที่มาภาพ : amazon.com

หนังสือชื่อ The Way to the Spring (2016) Ben Ehrenreich นักหนังสือพิมพ์อเมริกัน เขียนเกี่ยวกับชีวิตของชาวปาเลสไตน์ ภายใต้การยึดครองของอิสราเอล โดยกล่าวว่า คนในหมู่บ้านนาบิ ซาเลห์ ที่มีอยู่ 600 คน ส่วนใหญ่เป็นญาติพี่น้องกัน ยังคงยืนหยัดประท้วงสัปดาห์ละครั้งมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา ที่คนยิวได้อพยพมาสร้างนิคมแห่งใหม่ เข้ายึดครองพื้นที่ที่เป็นแหล่งต้นน้ำของหมู่บ้าน รวมทั้งได้จับกุมคุมขังคนในหมู่บ้าน

บาสเซม ทามิมิ (Bassem Tamimi) บิดาของอาเฮด ทามิมิ เป็นผู้นำการประท้วงของคนในหมู่บ้านนาบิ ซาเลห์ ที่หลังจากเสร็จสิ้นการละหมาดในวันศุกร์ ชาวบ้านก็จะเดินขบวนประท้วง หลังจากนั้น ก็มักจะเกิดการปะทะกันกับทหารอิสราเอล ที่ใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนยางเพื่อสลายการประท้วง

The Way to the Spring กล่าวว่า ปัญหาของหมู่บ้านนาบิ ซาเลห์ เริ่มต้นขึ้นในปี 1976 เมื่อพวกยิวชาตินิยมย้ายมาตั้งรกรากบนเนินเขาที่อยู่ตรงข้ามหมู่บ้าน ชาวบ้านไปฟ้องต่อศาล แต่ศาลตัดสินเอื้อประโยชน์แก่คนยิว ต่อมารัฐบาลอิสราเอลยึดที่ดินของหมู่บ้าน ไปให้กับคนเข้ามาตั้งรกรากใหม่ สร้างเป็นนิคมชื่อว่า ฮาลามิช (Halamish) ปัจจุบัน มีคนยิวในนิคม 1,200 คน 2 เท่าของชาวปาเลสไตน์ในหมู่บ้านนาบิ ซาเลห์

นักต่อสู้เพื่อเสรีภาพ

อาเฮด ทามิมิให้สัมภาษณ์ว่า การถูกตัดสินจำคุ 8 เดือน มีผลต่อเธอมาก ที่มาภาพ : twitter

หลังจากได้รับการปล่อยตัวแล้ว อาเฮด ทามิมิ ให้สัมภาษณ์กับ The Guardian ว่า เธอใช้เวลา 8 เดือนในเรือนจำให้เป็นโอกาสในการเตรียมตัวเพื่อศึกษาเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศ “ด้วยความประสงค์ของพระเจ้า ฉันจะศึกษากฎหมาย จะนำเรื่องที่อิสราเอลละเมิดต่อคนปาเลสไตน์ไปขึ้นศาลอาญา และนำสิทธิเสรีภาพกลับคืนมาให้ประเทศของฉัน”

อาเฮด ทามิมิ กล่าวว่า “ประสบการณ์การถูกคุมขังเป็นสิ่งที่ยากลำบากอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะพยายามอย่างไรก็ไม่สามารถบรรยายออกมาได้ แต่ประสบการณ์นี้ได้เพิ่มคุณค่าให้กับชีวิตของฉัน เป็นไปได้ที่จะทำให้ฉันแกร่งกล้ามากขึ้น มีสำนึกมากขึ้น”

หลังจากได้รับการปล่อยตัวอาเฮด ทามิมิ ได้ไปพบกับมาห์มูด อับบาส ประธานาธิบดีของปาเลสไตน์ ส่วนศิลปินชาวอิตาลี 2 คนที่วาดภาพเธอบนกำแพงที่แบ่งกั้นอิสราเอลกับปาเลสไตน์ถูกจับและถูกเนรเทศออกไปจากอิสราเอล เธอกล่าวถึงเรื่องที่อิสราเอลไม่พอใจ ที่เธอได้รับการยอมรับจากนานาประเทศว่า “พวกเขาหวาดกลัวความจริง พวกเขาเป็นผู้ยึดครอง และเราเป็นคนที่อยู่ภายใต้การยึดครอง”

The Guardian เขียนไว้ว่า บ้านของครอบครัวเธอที่หมู่บ้านนาบิ ซาเลห์ ไม่ได้อยู่ห่างจากจุดที่เคยปะทะกันเลย เพราะสามารถมองเห็นด่านทหารอิสราเอลและนิคมฮาลามิชของชาวยิว อาเฮด ทามิมิ ให้สัมภาษณ์ว่า “ตัวฉันไม่ใช่เหยื่อของการยึดครอง พวกที่เป็นเหยื่อคือพวกยิวและพวกเด็กของคนเข้ามาตั้งรกรากที่ถือปืนทั้งๆ ที่มีอายุแค่ 15 ปี ฉันนั้นแยกออกว่าอะไรผิดอะไรถูก แต่คนพวกนี้แยกไม่ออก หัวใจของพวกเขาเต็มไปด้วยความเกลียดชังต่อคนปาเลสไตน์ ฉันพูดเสมอว่า ตัวเองเป็นนักสู้เพื่อเสรีภาพ ดังนั้น จึงไม่ใช่คนที่ตกเป็นเหยื่อ”

เธอบอกกับ The Guardian ว่า จะใช้เวลาพักผ่อนระยะหนึ่งก่อนจะตัดสินใจว่าก้าวต่อไปคืออะไร แต่ก็ยังสนุกสนานกับการที่ได้ออกจากเรือนจำ “ในที่สุด ฉันก็ได้เห็นท้องฟ้าที่ไม่ได้ถูกล้อมด้วยรั้ว ฉันสามารถเดินบนถนนโดยไม่ถูกใส่กุญแจมือ ฉันสามารถมองเห็นดวงดาว พระจันทร์ ที่ฉันไม่ได้เห็นมานาน และตอนนี้ก็ได้อยู่กับครอบครัว”

เอกสารประกอบ
Ahed Tamimi: I am a freedom fighter. I will not be the victim. July 30, 2018. Theguardian.com
Palestinian teen protester Ahed Tamimi leaves Israeli prison, July 29, 2018. The Washington Post.
The Way to the Spring, Ben Ehrenreich, Penguin Press, 2016.