ThaiPublica > เกาะกระแส > จีนอาจฟื้นฟู “การทูตหมีแพนด้า” Soft Power ที่สร้างมิตรภาพกับต่างประเทศ

จีนอาจฟื้นฟู “การทูตหมีแพนด้า” Soft Power ที่สร้างมิตรภาพกับต่างประเทศ

22 พฤศจิกายน 2023


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://nationalzoo.si.edu/animals/giant-panda

ในการกล่าวสุนทรพจน์ต่อนักธุรกิจสหรัฐอเมริกา ในช่วงการประชุมผู้นำกลุ่ม APEC เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนกล่าวขอแรงสนับสนุนจากผู้บริหารธุรกิจชั้นนำสหรัฐฯ ให้ช่วยลดความตึงเครียดระหว่างจีน-สหรัฐฯ ในช่วงที่จีนนั้นกำลังแสวงหาการพัฒนาประเทศที่มีคุณภาพ ส่วนสหรัฐฯพยายามทำให้เศรษฐกิจตัวเองเข้มแข็งขึ้นมาใหม่

สี จิ้นผิง กล่าวถึงคนอเมริกันและคนจีน ที่เคยร่วมมือกันในสมัยสงครามต่อต้านญี่ปุ่น และหมีแพนด้าที่เคยเป็นทูตสันถวไมตรี ระหว่างคนจีนกับคนอเมริกัน จุดนี้ทำให้มีการมองกันว่าจีนอาจจะส่งหมีแพนด้าตัวใหม่มายังสหรัฐฯ เพื่อให้เป็นพื้นที่ความร่วมมือของสองประเทศ ที่ผ่านมา หมีแพนด้าในสวนสัตว์สหรัฐฯ ถูกส่งกลับไปจีน ซึ่งสะท้อนถึงความสัมพันธ์ของสองประเทศที่ตกต่ำลงอย่างมาก

อดีตทูตสันถวไมตรี

สี จิ้นผิง กล่าวต่อนักธุรกิจอเมริกันว่า จีนพร้อมจะรักษาความร่วมมือกับสหรัฐฯต่อไปในเรื่องการอนุรักษ์แพนด้า และแพนด้าคือทูตแห่งมิตรภาพ ระหว่างประชาชนจีนกับสหรัฐฯ Stephen Orlins ประธานคณะกรรมการความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน กล่าวว่า การที่จีนจะส่งแพนด้ากลับมาสหรัฐฯ เป็นท่าทีเชิงสัญลักษณ์ที่สำคัญมาก และเป็นท่าทีที่จีนทำได้ โดยไม่มีต้นทุนใดเลย

เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน สวนสัตว์แห่งชาติของสมิทโซเนียน กรุงวอชิงตันส่งแพนด้าอายุมากแล้ว 2 ตัวชื่อ Mei Xiang กับ Tian Tian กับลูกหมี่แพนด้า 1 ตัว ชื่อXiao Qi Ji กลับไปยังจีน โดยเครื่องบินขนส่ง FedEx ใช้เวลาเดินทาง 19 ชม.เที่ยวบินนี้ยังลำเลียงต้นไผ่หนัก 100 กก. สัตวแพทย์ 1 คน และคนดูแลสวนสัตว์ 2 คน สื่อมวลชนเรียกเที่ยวบินนี้ว่า Panda Express

การส่งแพนด้ากลับไปจีน เนื่องจากสัญญาเช่าแพนด้า ระหว่างสวนสัตว์แห่งชาติสหรัฐฯกับสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าของจีนหมดอายุลง หลังจากมีการต่ออายุอีก 3 ปีในช่วงโควิด-19 Mei Xiang กับ Tian Tian มาอยู่ที่สวนสัตว์ในวอชิงตันเมื่อปี 2000 สิบปีแรก สวนสัตว์จ่ายค่าเช่าแพนด้าปีละ 1 ล้านดอลลาร์ ส่วนใน 10 ปีหลัง เจรจาค่าเช่าลดลงเหลือปีละ 500,000 ดอลลาร์

ที่มาภาพ : amazon.com

สัญลักษณ์ Soft Power ของจีน

หนังสือชื่อ Eight Bears (2023) เขียนไว้ว่า หมีแพนด้าเป็นสัตว์ที่กินยาก 99% ของอาหารเป็นต้นไผ่ ประเทศจีนปลูกต้นไผ่ประมาณ 500 สายพันธุ์ แต่แพนด้านิยมกินราวๆ 60 สายพันธุ์เท่านั้น และที่ชอบกินจริงๆมีแค่ 3 สายพันธุ์ แม้จะมีโปรตีนสูง แต่ก็ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ที่แพนด้าชอบกินต้นไผ่ เพราะมีอยู่มากในป่า และสัตว์อื่นไม่นิยมกิน แพนด้าที่โตแล้ว วันหนึ่งต้องกินถึง 18 กก. จึงจะอยู่รอด การเลือกกินทำให้แพนด้า เป็นสัตว์ที่เสี่ยง เพราะป่าไผ่ในจีนสูญหายไปมากขึ้น

หมีแพนด้าตามป่าที่ครั้งหนึ่งพบอยู่ใน 17 มณฑล แต่ทุกวันนี้เหลืออยู่เพียง 3 มณฑลคือ กานซู ฉ่านซี และเสฉวน เมื่อ 50 ปีที่แล้ว นักวิทยาศาสตร์จีนทำการสำรวจประชากรแพนด้า พบว่ามีเหลืออยู่แค่พันกว่าตัว ทำให้ในปี 1983 จีนรีบดำเนินการให้มีเขตคุ้มครองแพนด้า ก่อนที่จะสูญพันธุ์ ทุกวันนี้ เจ้าหน้าที่จีนประกาศว่า มีแพนด้าอยู่ 1,800 ตัวในป่าอนุรักษ์

ทุกวันนี้ หมีแพนด้าได้ก้าวมาถึงจุดสูงสุดทางทางวัฒนธรรม ทั้งภายในประเทศจีนและในต่างประเทศ หน่วยงานนวัตกรรมวัฒนธรรมของจีนเคยสำรวจสัญลักษณ์วัฒนธรรม ที่ประกอบด้วย ขงจื๊อ กังฟู และชาเขียว ปรากฏว่า หมีแพนด้ากลายเป็นสัญลักษณ์วัฒนธรรม ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในต่างประเทศ

ในปี 1961 กองทุนคุ้มครองสัตว์ป่าโลก (The World Wildlife Fund) ใช้รูปหมีแพนด้าเป็นสัญลักษณ์ เพราะเป็นสัตว์ที่สวยงาม ใกล้สูญพันธุ์ และมีลักษณะที่เป็นที่รักของคนทั่วโลก ในบรรดาสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ต่างๆ หมีแพนด้าได้รับเงินทุนและเวลา ที่หมดไปกับการอนุรักษ์มากกว่าสัตว์อื่น

เมื่อถามเจ้าหน้าที่สวนสัตว์ อะไรคือเสน่ห์ของแพนด้า คำตอบคือตาที่มีสีดำกับขาว หัวที่มีขนาดโตกว่าร่างกาย แต่นักวิทยาศาสตร์การแพทย์บอกว่า แพนด้าเป็นสัตว์ที่คนทั่วไปรักและชื่นชมมากที่สุด จากเหตุผลง่ายๆ คือ เป็นจุดศูนย์รวมของ “พฤติกรรมสนุกสนาน” (hedonic mechanism) ในสายตาของคนที่เข้าชมสวนสัตว์ ความน่ารักของแพนด้าเหมือนเด็กทารก เคลื่อนไหวอะไรก็สนุกสนานไปหมด

หนังสือ Eight Bears บอกว่าในอดีต ก่อนที่แพนด้าจะโด่งดังในศตวรรษที่ 20 นั้น คนจีนส่วนใหญ่มองหมีที่มีสีดำกับขาวว่า ไม่ใช่เรื่องอยู่ในความคิดตามปกติของคนทั่วไป เป็นแค่สิ่งที่หวนคิดย้อนหลังเท่านั้น Wang Dajun ผู้เขี่ยวชาญแพนด้าของมหาวิทยาลัยปักกิ่งบอกว่า

“ในอดีต แพนด้าเป็นสัตว์ที่ไม่มีประโยชน์ คนจีนจำนวนมากไม่รู้ว่า มีแพนด้าอยู่ที่ไหนบ้าง” การที่แพนด้าไม่มีอันตรายต่อคน ทำให้เป็นสัตว์ที่ถูกลืม

ที่มาภาพ : https://nationalzoo.si.edu/animals/giant-panda

“การทูตหมีแพนด้า”

ในปี 2019 เดนมาร์กสร้างที่พักขึ้นมาใหม่ให้หมีแพนด้าจากจีน ในสวนสัตว์ของโคเพนเฮเกน ใช้เงินไป 24 ล้านดอลลาร์ โดยคาดว่าจะช่วยให้มีคนเข้ามาเที่ยวสวนสัตว์เพิ่มขึ้นอีกปีละ 4 แสนคน สัญญาเช่าแพนด้ามีระยะเวลา 15 ปี Bengt Holst ผู้อำนวยการสวนสัตว์ กล่าวตอบโต้เสียงวิจารณ์การใช้เงินในเรื่องนี้ว่า

“สำหรับสัตว์ที่เป็นมีชื่อเสียง เราจำเป็นต้องสร้างที่พักอาศัย ที่น่าประทับใจที่สุด คุณคงไม่เอารูปภาพโมนาลิซ่าไปใส่กรอบรูปราคาถูก”

หนังสือ Eight Bears เขียนอีกว่า เนื่องจากมีลูกหมีแพนด้าสะสมมากขึ้นในศูนย์อนุรักษ์ รวมทั้งต้องการเผยแพร่ “อำนาจอ่อน” (soft power) ไปทั่วโลก จีนจึงส่งผู้คณะผู้แทนหมีแพนด้าไปหลายประเทศ จนถึงทุกวันนี้ จีนส่งแพนด้ากว่า 70 ตัว ไปอยู่ในสวนสัตว์ 20 กว่าแห่งใน 23 ประเทศ ช่วง 10 ปีหลังสุด ประเทศที่ได้รับแพนด้าคือ ฟินแลนด์ ในวาระ 100 ปีของเอกราช สวนสัตว์ในเบอร์ลิน สก็อตแลนด์ ส่วนออสเตรเลีย ฝรั่งเศส และแคนาดา ได้รับแพนด้า หลังจากตกลงขายแร่ยูเรเนียมให้กับจีน

ผู้เชี่ยวชาญตะวันตกเรียก “อำนาจอ่อน” ของแพนด้าว่าเป็น “การทูตหมีแพนด้า” ส่วนจีนเองเรียกว่า “ทูตมิตรภาพ” ต้นกำเนิดของการทูตหมีแพนด้ามาเกิดขึ้นจริงจังหลังจากการปฏิวัติ เหมา เจ๋อตุง ใช้หมีแพนด้าสร้างความสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์กับโซเวียต สมัยครุชชอฟ หลังจากที่นิกสันไปเยือนจีนในปี 1972 จีนส่งหมีแพนด้า 2 ตัว ไปอยู่ที่สวนสัตว์วอชิงตัน ในช่วงปี 1957-1983 จีนส่งแพนด้ากว่า 20 ตัวไปยัง 9 ประเทศ โดยไม่คิดค่าเช่า แต่เมื่อเติ้ง เสี่ยวผิง ขึ้นมีอำนาจในปี 1978 จีนจึงเริ่มคิดค่าเช่าหมีแพนด้า

แต่นักวิชาการส่วนหนึ่งมองว่า การที่จีนก้าวเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจใหญ่อันดับสองของโลก ทำให้การทูตหมีแพนด้าของจีนยกระดับมาอีกขั้นหนึ่ง จีนจะให้ยืมหมีแพนด้า แก่ประเทศที่สนองทรัพยกรและเทคโนโลยีที่มีค่าแก่จีน แต่แพนด้าก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการตำหนิประเทศที่จีนมองว่าทำในสิ่งไม่ถูกต้อง โดยการเรียกคืนหมีแพนด้า เพราะสัญญาเช่าจะมีการะบุว่า จีนสามารถเรียกคืน เมื่อใดก็ตามที่ต้องการ

แต่นักวิทยาศาสตร์ส่วนหนึ่งก็มีความเห็นทักท้วงต่อการทูตหมีแพนด้า โดยเฉพาะในเรื่องการเพาะพันธุ์ในศูนย์อนุรักษ์ โดยมองว่าหัวใจของการอนุรักษ์หมีแพนด้าคือ การรักษาที่อยู่อาศัยในป่าของหมีแพนด้า เพื่อให้แพนด้ามีชีวิตอิสระ และสามารถอยู่รอดในป่าเขา

พ้นสภาพการเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์

ในปี 2016 หมีแพนด้าเดินมาถึงจุดสำคัญ เมื่อสหภาพระหว่างประเทศเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for the Conservation of Nature) ประกาศว่า ได้เปลี่ยนฐานะของแพนด้า จากสัตว์ที่อันตรายใกล้สูญพันธุ์ มาเป็นสัตว์ที่มีความเสี่ยง เพราะจำนวนแพนด้าเพิ่มขึ้น 17%

ส่วนทางการจีนเองเพิ่งประกาศเมื่อปี 2021 ว่า หมีแพนด้าไม่ถูกจัดให้อยู่ในประเภทสัตว์ที่เสี่ยงจะสูญพันธุ์แล้ว แต่ยังมีความเสี่ยงอยู่ เนื่องจากจำนวนแพนด้าในป่าธรรมชาติ มีจำนวนเพิ่มเป็น 1,800 ตัว เทียบกับในทศวรรษ 1980 ที่มีจำนวนประมาณพันตัว

จำนวนแพนด้าในป่าเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว ถือเป็นตัวอย่างความสำเร็จการอนุรักษ์สัตว์ป่าของโลกเรา จีนได้กำหนดพื้นที่ป่าแห่งชาติของแพนด้าขึ้นมา ในมณฑลเสฉวน ที่ครอบคลุม 70% ของถิ่นอาศัยของแพนด้า ส่วนศูนย์การเพาะพันธุ์แพนด้าต่างๆทั่วโลก ก็เพิ่มจำนวนเป็น 633 ตัว สะท้อนถึงความหลากหลายทางพันธุ์กรรม ที่ถือเป็นปัจจัยสำคัญของการอยู่รอดของหมีแพนด้า

เอกสารประกอบ
Eight Bears, Gloria Dickie, W.W. Norton & Company, 2023.