ThaiPublica > เกาะกระแส > ความสำเร็จของ “คังคุไบ” สะท้อน Soft Power และการก้าวเป็นยักษ์ใหญ่ ด้านภาพยนตร์ของอินเดีย

ความสำเร็จของ “คังคุไบ” สะท้อน Soft Power และการก้าวเป็นยักษ์ใหญ่ ด้านภาพยนตร์ของอินเดีย

23 พฤษภาคม 2022


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Gangubai_Kathiawadi

เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม Netflix เปิดเผยว่า Gangubai Kathiawadi หรือ “คังคุไบ” เป็นภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด 10 อันดับแรก ในบรรดา 25 ประเทศทั่วโลก เช่น แคนาดา สหราชอาณาจักร แอฟริกาใต้ ออสเตรเลีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยติดอันดับ 1 ใน 9 ประเทศ Gangubai ออกฉายครั้งแรก เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 ภายในสัปดาห์แรก ก็ทำรายได้ทั่วโลก 12.8 ล้านดอลลาร์ หรือ 386 ล้านบาท

ตัวอย่างรูปธรรมของ Soft Power

หลายปีมาแล้ว นิตยสาร The Economist เคยเขียนบทนำเรื่อง “อินเดียสามารถเป็นมหาอำนาจได้หรือไม่?” ว่า เมื่อเปรียบเทียบกับจีน อินเดียอาจจะยากจนกว่า และมีพลวัตทางเศรษฐกิจน้อย แต่อินเดียเป็นประเทศที่เต็มไปด้วย soft power เช่น ประเทศประชาธิปไตยใหญ่ที่สุดของโลก การยึดหลักนิติธรรม และสิทธิมนุษยชน คนอินเดียที่มีความสามารถ กระจายอยู่ทั่วโลก และเป็นต้นกำเนิดของแนวคิดการเมือง “อหิงสา”

ประสบการณ์ของ Bobby Ghosh อดีตหัวหน้าผู้สื่อข่าวของนิตยสาร Time ประจำกรุงแบกแดด อิรัก สะท้อนอย่างดีถึงตัวอย่าง soft power ของอินเดีย โดยเฉพาะภาพยนตร์อินเดีย Bobby Ghosh เขียนไว้ว่า หลังจากที่สหรัฐฯบุกอิรักในปี 2003 เขาได้ไปทำข่าวหมู่บ้านแห่งหนึ่งทางตะวันตกของแบกแดด ซึ่งเป็นเขตที่ซัดดัม ฮุสเซนมีอิทธิพลอยู่

พันโททหารอิรักคนหนึ่งจับปืนจ้องมาที่ตัวเขา แล้วตะโกนถามว่า “คุณ คนอเมริกัน?” Ghosh บอกว่า “เปล่า ผมคนอินเดีย” ล่ามคนอิรักพยายามช่วยตอบว่า เขาเป็นคนอินเดียจริงๆ นายทหารคนนั้นพูดอีกว่า “เขาเป็นคนอเมริกัน เขาต้องตาย” ด้วยความตกใจ Ghosh พูดออกไปว่า “ผมเป็นคนอินเดีย เหมือนกับแชมมี่ คาบัวร์” (Shammi Kaboor)

ทหารอิรักถามว่า “รู้จักแซมมี่ คาบัวร์ด้วยหรือ?” Ghosh ตอบว่า “รู้จัก คนอินเดียทุกคนรู้จักเขา เพราะเป็นดาราใหญ่” ทหารอิรักเอาปืนลดลง และพูดว่า “คุณรู้จักแซมมี่ คาบัวร์จริงๆ สมัยยังเป็นเด็กหนุ่ม ผมดูหนังเขาทุกเรื่อง เขาชอบตะโกนอะไรออกมา” Ghosh ตอบว่า “Yahoo” คำที่แสดงถึงความรู้สึกตื่นเต้น ทหารอิรักบอกว่า “โชคดีที่เป็นคนอินเดีย ไม่เช่นนั้นตายไปแล้ว คุณควรจะขอบคุณพระเจ้า” แต่ Ghosh คิดอยู่ในใจว่า ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ใครคือคนที่เขาควรจะชอบคุณ

ความหมายของ Soft Power

Joseph Nye นักรัฐศาสตร์ของฮาร์วาร์ด เป็นคนแรกที่เสนอแนวคิดเรื่อง soft power โดยเขาให้ความหมายว่า “ความสามารถที่จะดึงดูดคนอื่นมาอยู่กับฝ่ายเรา โดยไม่ใช่การใช้กำลัง” เขาเปรียบเทียบระหว่าง “อำนาจการดูดซับ” กับ “อำนาจการบังคับ” อำนาจการดูดซับเกิดขึ้น เมื่อประเทศ A ทำให้ประเทศ B ต้องการในสิ่งที่ประเทศ A อยากให้เป็นไปดังกล่าว ส่วนอำนาจการบังคับคือการสั่งให้ประเทศหนึ่ง ทำในสิ่งที่ประเทศนั้นต้องการ

ที่มาภาพ : amazon.com

Joseph Nye เห็นว่า อำนาจแบบ soft power ของประเทศหนึ่ง มีแหล่งที่มาจาก 3 แห่งด้วยกัน คือ (1) วัฒนธรรม สิ่งที่จะดึงดูดประเทศอื่น (2) ค่านิยมการเมือง หลักการที่ประเทศนั้นยึดถือภายในประเทศและในต่างประเทศ และ (3) นโยบายต่างประเทศ ที่มีความชอบธรรม และอำนาจทางศีลธรรม

แม้ Joseph Nye จะให้ความสำคัญของ soft power สำหรับบทบาทของสหรัฐอเมริกา แต่ประเทศต่างๆทั่วโลกกลับนำเอาแนวคิดนี้ไปใช้ กลายเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายต่างประเทศ ในแวดวงวิชาการและสื่อมวลชน ก็นำแนวคิดนี้ไปใช้อย่างแพร่หลาย ในประเด็นที่ว่า ประเทศหนึ่งจะทำอย่างไรให้ตัวเองมีอำนาจ soft power เพื่อดึงดูดให้ประเทศอื่นเอาไปเป็นแบบอย่าง ทำอย่างไรจะสื่อสารให้ภาพลักษณ์ประเทศตัวเองออกมาในด้านบวก

แนวคิด soft power ทำให้ประเทศต่างๆ หันมาให้ความสำคัญกับ “การทูตแบบประชาชน” (public diplomacy) โดยรัฐบาลให้การสนับสนุนโครงการและกิจกรรม ที่จะมีอิทธิพลทางความคิดของคนในประเทศอื่น เช่น สิ่งพิมพ์ ภาพยนตร์ การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และรายการวิทยุกับโทรทัศน์ หลายประเทศจึงมีโครงการรณรงค์และสร้าง “ตราสินค้าประเทศ” (nation branding) เพื่อดึงดูดการลงทุนและท่องเที่ยว

ชาติที่มั่งคั่งด้วย Soft Power

ปัจจุบัน การทูตของอินเดียอาศัยมนต์เสน่ห์จาก soft power มากขึ้น soft power ของอินเดียมีอยู่หลายด้านด้วยกัน ด้านหนึ่งคือเรื่องอารยะธรรม อินเดียเป็นต้นกำเนิดของศาสนาฮินดู พุทธศาสนา ศาสนาเชน (Jainism) และซิกข์ ที่อยู่ร่วมกันมาอย่างยาวนาน อินเดียจึงเป็นแบบอย่างของการสนทนาสื่อสาร ระหว่างศาสนาที่แตกต่างกัน

ในเรื่องราวทางโลก อินเดียมี soft power ในหลายด้าน การเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่สุดของโลก ทำให้อินเดียโดดเด่นในเรื่อง การยึดถือค่านิยมและความอดทนอดกั้นต่อความความคิดหลากหลาย บทบาทของภาคประชาสังคม และสื่อมวลชนมีความเข้มแข็ง อุตสาหกรรม IT สร้างภาพลักษณ์แก่อินเดีย เพราะเป็นทรัพยากรแบบ soft power

นอกจากนี้ ความนิยมของคนทั่วโลกต่ออาหารอินเดีย ภาพยนตร์บอลลีวูด และวิถีชีวิตแบบจิตวิญญาณ เช่น โยคะและการใช้ชีวิตแบบทางเลือกดั้งเดิม ทำให้คนในประเทศอื่นๆ พร้อมที่จะยอมรับวัฒนธรรมอินเดีย

Joseph Nye เขียนไว้ว่า “ในทางการเมืองโลก ประเทศหนึ่งสามารถได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ เมื่อประเทศอื่นประสงค์ที่จะเดินตาม เพราะชื่นชมในค่านิยม ถือเป็นแบบอย่าง และมุ่งมั่นที่จะก้าวไปให้ถึงระดับความมั่งคั่ง และการมีระบบเปิดกว้าง”

ที่มาภาพ : https://www.indiatvnews.com/entertainment/bollywood/gangubai-kathiawadi

Soft Power ของหนังบอลลีวูด

พจนานุกรม The Oxford English Dictionary อธิบาย “Bollywood” ว่า เป็นคำที่หมายถึงการเป็นตัวแทนของอุตสาหกรรมภาพยนตร์อินเดีย ที่ดำเนินการสร้างที่นครมุมไบ

คำๆนี้เป็นการผสมของคำว่า “บอมเบย์” (ชื่อเก่าของมุมไบ) กับ “ฮอลลีวูด” บอลลีวูดยังมีความหมายว่า เป็นภาพยนตร์อินเดีย ที่พูดภาษาฮินดี

ภาพยนตร์บอลลีวูดได้รับความนิยม เพราะเป็นการผสมผสานระหว่างการแสดงที่โดดเด่น เนื้อเรื่องเป็นละครชีวิตที่สะท้อนความสนุกสนาน ไม่สะท้อนสิ่งที่เป็นปัญหาชีวิต และมีเพลงกับการเต้นระบำประกอบ แต่ก็เป็นเวลาหลายสิบปี ที่ภาพยนตร์บอลลี่วูดติดอยู่กับดักของเนื้อเรื่อง ที่เป็นสูตรสำเร็จแบบน้ำเน่า เช่น พี่น้องพลัดพรากจากกันแล้วในที่สุดก็มาเจอกัน แม่ที่เสียสละให้ลูก พี่น้องอยู่คนละฝ่าย ในปัญหาขัดแย้งทางกฎหมาย และเวลาเกิดเหตุร้าย ตำรวจมาช้าเสมอ

แต่การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจของอินเดียในปี 1991 ทำให้เกิดกระแสการเปิดกว้างและการคาดหวังที่สูงของกลุ่มคนในเมือง เศรษฐกิจเติบโตรวดเร็วและสูง ต่างจากอดีตที่เรียกว่าเติบโตปีหนึ่ง 2-3% ที่คนอินเดียเรียกว่าเติบโตอัตราฮินดู ทำให้อินเดียเปลี่ยนเป็นอีกประเทศหนึ่ง ที่ไม่เหมือนเดิม สิ่งที่เรียกว่าภาพยนตร์พูดภาษาฮินดี กลายเป็นภาพยนตร์ “บอลลีวูด” เพราะคนรุ่นใหม่ต้องการความบันเทิงที่มีคุณภาพ สามารถนำไปฉายในกลุ่มตลาด ที่ไม่ใช่คนอินเดีย

ที่ผ่านมา มีตลาดภาพยนตร์ในต่างประเทศ 3 ตลาด ที่นิยมหนังบอลลีวูด คือตลาดกลุ่มคนอินเดียอยู่ต่างประเทศ ส่วนใหญ่ในสหรัฐฯ อังกฤษ แอฟริกาใต้ แคนาดา และตะวันออกกลาง กลุ่มที่ 2 คือประเทศเพื่อนบ้านที่เข้าใจภาษาฮินดี เช่น ปากีสถาน เนปาล บังคลาเทศ และศรีลังกา และกลุ่มที่ 3 คือ ตลาดใหม่ เช่น กรีซ รัสเซีย และประเทศที่เป็นส่วนหนึ่งของอดีตสหภาพโซเวียต

การที่หนัง Gangubai ได้รับความนิยมจากหลายประเทศทั่วโลก แสดงว่า อุตสาหกรรมภาพยนตร์อินเดีย กำลังก้าวขึ้นมาเป็นยักษ์ใหญ่ของโลก อุตสาหกรรมนี้จะสามารถสร้างรายได้จากการส่งออกอย่างต่อเนื่อง จะต้องได้รับความนิยมจากตลาดใหม่ ที่ไม่ใช่ตลาดดั่งเดิม 3 ตลาดดังกล่าว รวมทั้งต้องมีการสร้างภาพยนตร์ ที่มีเนื้อหาหลากหลาย ไม่จำเป็นว่าต้องมีแต่ภาพยนตร์ ที่ได้รับความนิยมไม่กี่เรื่องเท่านั้น

เอกสารประกอบ
Soft Power, Joseph Nye, PublicAffairs, 2005.
Communicating India’s Soft Power, Daya Kishan Thussu, Palgrave MacMillan, 2013.