ThaiPublica > คอลัมน์ > ถ้ารถยนต์เดินตามรอยการพัฒนาของคอมพิวเตอร์ Rolls-Royce จะมีราคาเหลือแค่คันละ 100 เหรียญ

ถ้ารถยนต์เดินตามรอยการพัฒนาของคอมพิวเตอร์ Rolls-Royce จะมีราคาเหลือแค่คันละ 100 เหรียญ

23 ธันวาคม 2016


ปรีดี บุญซื่อ

ENIAC คอมพิวเตอร์เครื่องแรกของโลก ที่มาภาพ : wikipedia
ENIAC คอมพิวเตอร์เครื่องแรกของโลก ที่มาภาพ : wikipedia

นับจากปี 1960 เป็นต้นมา การพัฒนาแบบก้าวกระโดดของเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์ รวมทั้งราคาที่ลดต่ำลงแบบสวนทางกัน ถือเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ของเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์ต่างๆ ความก้าวหน้าด้านสมรรถนะของคอมพิวเตอร์ในระยะ 50 ปีที่ผ่านมา ยิ่งเป็นเรื่องที่น่าประทับใจแก่คนทั้งหลายมากขึ้นไปอีก เมื่อเทียบกับความก้าวหน้าของผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น รถยนต์ เครื่องบิน เครื่องใช้ในบ้าน ยารักษาโรค ที่การพัฒนาแทบจะมาถึงจุดอิ่มตัวแล้ว

การปฏิวัติทางเทคโนโลยี

ในปี 1946 นักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเพนน์ซิลเวเนียได้เปิดเผยความลับที่สุดอย่างหนึ่งในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 คือ คอมพิวเตอร์ชื่อว่า ENIAC (Electronic Numerical Integrator and Computer) ที่สามารถคำนวณปัญหาคณิตศาสตร์ได้เร็ว 1,000 เท่า แต่มีน้ำหนักเกือบ 30 ตัน ต้องใช้พื้นที่ติดตั้งอุปกรณ์ 180 ตารางเมตร มีหลอดสุญญากาศ 18,000 หลอด ใช้ไฟฟ้า 175 กิโลวัตต์ (175,000 วัตต์) เทียบกับคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันแบบตั้งโต๊ะ ใช้ไฟฟ้า 500 วัตต์เท่านั้น จึงมีคนพูดตลกๆว่า เมื่อเปิดใช้งาน ENIAC ไฟฟ้าในเมืองฟิลาเดลเฟียจะหรี่ลงทันที

ในต้นทศวรรษ 1970 บริษัทชื่อ Cray Research ผลิตคอมพิวเตอร์ Cray-1 ออกมา ที่วงการคอมพิวเตอร์เรียกว่า Supercomputer ที่ชิ้นส่วนหลักของคอมพิวเตอร์คือ CPU ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมและสั่งงานโปรแกรมต่างๆ มีสมรรถนะการประมวลผล 160 ล้าน floating-point operations ต่อวินาที มีหน่วยความจำ 8 megabyte ตัวเครื่องมีขนาดเล็กลง สามารถนำไปติดตั้งอยู่ในห้องเล็กๆ ในปี 1976 หน่วยงาน Los Alamos National Laboratory ของสหรัฐฯ ประมูลซื้อคอมพิวเตอร์ Cray-1 ในราคา 8.8 ล้านเหรียญ ถ้าคิดเป็นราคาในปัจจุบันที่ปรับตามเงินเฟ้อแล้วคือ 36.9 ล้านเหรียญ

คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คในปัจจุบัน สามารถประมวลผลเร็วกว่า Supercomputer ในอดีต 1,000 เท่า
คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คในปัจจุบัน สามารถประมวลผลเร็วกว่า Supercomputer ในอดีต 1,000 เท่า

เมื่อเปรียบเทียบสมรรถนะของ Supercomputer Cray-1 กับคอมพิวเตอร์แบบธรรมดาๆ ในปัจจุบัน จะมองเห็นการพัฒนาแบบก้าวกระโดดของคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กของ Lenovo ขนาดความจำ 6 gigabyte มีราคา 450 ดอลลาร์ ทั้งๆ ที่มีความจำมากกว่า Cray-1 ถึง 750 เท่า การประมวลผลเร็วกว่า 1,000 เท่า แต่ราคาของคอมพิวเตอร์ Lenovo เพียงแค่ 0.001% ของ Cray-1

นอกจากสมรรถนะด้านความจำและความเร็วที่เหนือกว่าแล้ว ประโยชน์อื่นๆ ของคอมพิวเตอร์แบบโน้ตบุ๊ก ที่มีมากกว่าคอมพิวเตอร์ที่เร็วสุดในทศวรรษ 1970 คือ ความสามารถที่จะใช้ดูวิดีโอ เข้าถึงอินเทอร์เน็ต และการสื่อสารกับผู้คนในทุกจุดของโลก ตัวคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน ก็ไม่ต้องมีระบบทำความเย็น แบบเดียวกับซูเปอร์คอมพิวเตอร์รุ่นเก่า

Supercomputer ชื่อ Cray-1 ที่ราคา 8.8 ล้านเหรียญในปี 1976 ที่มาภาพ:wikipedia
Supercomputer ชื่อ Cray-1 ที่ราคา 8.8 ล้านเหรียญในปี 1976 ที่มาภาพ:wikipedia

เมื่อเทียบสัดส่วนระหว่าง สมรรถนะในการประมวลผลกับราคา เครื่องคอมพิวเตอร์ Cray-1 ที่ถูกเรียกว่าซูเปอร์คอมพิวเตอร์ และมีราคาอยู่ที่ 8.8 ล้านเหรียญในปี 1976 นั้น ในปี 2014 ราคาจะเหลือไม่ถึง 1 เหรียญ Robert X. Cringely จึงเขียนไว้ในนิตยสาร InfoWorld ว่า ถ้าอุตสาหกรรมรถยนต์เดินตามรอยการพัฒนาของคอมพิวเตอร์ มาถึงวันนี้ รถยนต์ Rolls-Royce จะมีราคาเหลือแค่คันละ 100 เหรียญ และจะกินน้ำมัน 1 ล้านไมล์ต่อแกลลอน

ความก้าวหน้าของคอมพิวเตอร์นั้น เป็นไปตามสิ่งที่เรียกว่า “กฎของมัวร์” (Moore’s Law) ที่เสนอโดย กอร์ดอน มัวร์ (Gordon Moore) ผู้ก่อตั้งบริษัท Intel ที่กล่าวว่า จำนวนทรานซิสเตอร์ที่อยู่ในตัวชิป จะเพิ่มขึ้นแบบเท่าตัวในทุกๆ 2 ปี ซึ่งก็คือเพิ่มขึ้นปีละ 34.7% ใกล้เคียงกับการเพิ่มสมรรถนะการประมวลผลของคอมพิวเตอร์ ที่นับจาก Cray-1 ถึง Lenovo มีอัตราเพิ่มปีละ 44%

Robert Cringely นักเขียนคอลัมน์ไฮเทคของ InfoWorld ที่มาภาพ : http://www.azquotes.com/picture-quotes/
Robert Cringely นักเขียนคอลัมน์ไฮเทคของ InfoWorld ที่มาภาพ : http://www.azquotes.com/picture-quotes/

จากที่ทำงานสู่บ้าน

เริ่มจากปี 1960 เป็นต้นมา คอมพิวเตอร์แบบเมนเฟรม (mainframe) เข้ามาทำหน้าที่การประมวลผลในงานแบบจำเจซ้ำซากของธุรกิจต่างๆ เช่น การพิมพ์หลักฐานเงินในบัญชีธนาคารของลูกค้า ใบแจ้งหนี้ค่าสาธารณูปโภคต่างๆ ในปี 1964 สายการบิน American Airlines อาศัยคอมพิวเตอร์เมนเฟรม IBM 7090 มาทำหน้าที่การสำรองที่นั่งของผู้โดยสาร ให้เป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ต้องใช้บัตรเจาะรูเพื่อบันทึกการสำรองที่นั่ง ต่อมานำระบบนี้ไปติดตั้งให้กับเอเย่นต์ที่จำหน่ายบัตรโดยสาร ส่วนธุรกิจธนาคาร นำคอมพิวเตอร์แบบเมนเฟรมเข้ามามีบทบาทในเรื่องของการเคลียร์เช็ค การพัฒนาบัตรเครดิต และเครื่อง ATM ในระยะแรก

การวางจำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนตัว (PC) ของ IBM ในปี 1981 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของธุรกิจคอมพิวเตอร์ โดย IBM เลิกนโยบายเดิมๆ ที่อาศัยฮาร์ดแวร์ของตัวเอง คอมพิวเตอร์ PC ของ IBM ใช้ตัวชิป Intel 8088 และใช้ระบบปฏิบัติการของ Microsoft นอกจากนี้ IBM ยังเปิดเผยรายละเอียดของเครื่อง PC เพื่อให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์สามารถสร้างโปรแกรมต่างๆ มาใช้กับเครื่อง ทาง IBM คาดว่าจะขายได้ 2 แสนกว่าเครื่องใน 5 ปีแรก แต่ภายใน 4 ปี ขายไปได้กว่าล้านเครื่อง

คอมพิวเตอร์แบบ PC ทำให้เกิดการพัฒนาซอฟต์แวร์ครั้งใหญ่ เช่น Lotus Software เป็นผู้นำซอฟต์แวร์ด้าน spreadsheet Lotus 1-2-3 ส่วน WordPerfect เป็นผู้นำซอฟต์แวร์ด้าน word processing หลังจากที่คอมพิวเตอร์ PC เกิดขึ้นมาแล้ว 10 ปี ก็ยังมีการพัฒนาซอฟต์แวร์รุ่น word processing version 6.0 คอมพิวเตอร์ PC จึงกลายเป็นอุปกรณ์จำเป็นในการทำงานของพนักงานในบริษัทต่างๆ รวมทั้งในบ้านคนทั่วไป โดยเฉพาะคนมีอาชีพเป็นนักเขียน นักวิชาการ นักออกแบบ และในวงการอาชีพอื่นๆ เมื่อมาถึงทศวรรษ 1990 คอมพิวเตอร์มีทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่จะเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต ทำให้โลกทั้งหมดมาอยู่ที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ทั้งแบบตั้งโต๊ะและโน้ตบุ๊ก โดยเริ่มต้นจากการรับส่งอีเมล (e-mail) และต่อมาคือเว็บเบราว์เซอร์ (web browser)

จากอินเทอร์เน็ตสู่โซเชียลมีเดีย

อินเทอร์เน็ตมีจุดเริ่มต้นที่คล้ายกับคอมพิวเตอร์เครื่องแรกชื่อ ENIAC คือมาจากกองทัพสหรัฐฯ ในปี 1969 กระทรวงกลาโหมมีโครงการเรียกว่า ARPANET ที่ต้องการเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ที่อยู่ห่างไกลออกไป สามารถติดต่อกันได้โดยผ่านคอมพิวเตอร์เมนเฟรมเดียวกัน เวลาต่อมา ARPANET ประสบความสำเร็จในการเชื่อมต่อระหว่างคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัย UCLA กับ Stanford ในทศวรรษ 1980 เริ่มมีการบริการออนไลน์ ที่อาศัยสายโทรศัพท์มาเชื่อมกับระบบส่วนกลาง เพื่อกระจายข้อมูล ถือเป็นระยะบุกเบิก ก่อนที่จะมีเว็บเบราว์เซอร์ในการเข้าสู่อินเทอร์เน็ต

ในระยะแรก การใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตจะอยู่ที่การรับส่งอีเมล ที่นิยมใช้กันทั้งในบรรดาบริษัทธุรกิจและคนทั่วไป โดยผ่านสายโทรศัพท์และการมีบัญชีอีเมล นับตั้งแต่เริ่มแรกเลย อีเมลกลายเป็นช่องทางการสื่อสารที่มีพลังและได้รับความนิยมมาก นอกจากจะรับส่งข้อความได้ทันทีแล้ว ยังสามารถส่งเอกสารและข้อมูลอื่นๆ แนบไปด้วย ส่วนอินเทอร์เน็ตเบราว์เซอร์เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1993 ชื่อว่า Mosaic แต่การปฏิวัติและการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตแท้จริงเกิดขึ้นในปี 1995 เมื่อ Microsoft ออก Windows 95 ที่มี Internet Explorer รวมอยู่ด้วย

โซเชียลมีเดียกลายเป็น platform ที่สร้างความสัมพันธ์ของคนเรา โดยการแบ่งปัน กิจกรรม ความสนใจ และโอกาสในอาชีพการงาน
โซเชียลมีเดียกลายเป็น platform ที่สร้างความสัมพันธ์ของคนเรา โดยการแบ่งปัน กิจกรรม ความสนใจ และโอกาสในอาชีพการงาน

เมื่อมองย้อนกลับไป อินเทอร์เน็ตของปี 1995 มีข้อจำกัดอยู่หลายอย่าง คนเข้าไปในอินเทอร์เน็ตจะเห็นภาพของเมืองที่ตัวเองมีแผนจะไปเที่ยว แต่ไม่สามารถจองห้องพักโรงแรม หรือซื้อโปรแกรมทัวร์ ทุกวันนี้ อินเทอร์เน็ตทำให้คนเราสามารถจองเที่ยวบิน เปรียบเทียบราคาห้องพัก ดูภาพยนตร์แบบออนไลน์จาก Netflix ซื้อหนังสือจาก Amazon หรือหาข้อมูลจาก Wikipedia ที่มีบทความกว่า 4 ล้านเรื่อง หากนำบทความเหล่านี้มาพิมพ์ จะมีทั้งหมดกว่า 2,000 เล่ม

แม้ว่าอีเมลจะเป็นสิ่งที่จำเป็นขาดไม่ได้สำหรับคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการส่งข้อมูลเอกสาร แต่อีเมลก็ค่อยๆ ถูกแทนที่ด้วยการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย ที่นับวันจะกลายเป็นแหล่งหรือ platform ที่แคบลงมา ในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคน โดยการแบ่งปันสิ่งที่เป็นความสนใจ กิจกรรม หรือพื้นเพความหลัง เช่น YouTube เป็นโซเชียลมีเดียเฉพาะเพื่อดูวิดีโอ LinkedIn เป็นเครือข่ายออนไลน์ในการติดต่อ ระหว่างคนที่มีอาชีพหรือการศึกษาที่เกี่ยวข้องกัน เป็นเครือข่ายของคนที่มีนามบัตรธุรกิจ หรือคนที่จบมาใหม่ๆ ต้องการหางานหรือเปลี่ยนงาน ส่วน Facebook และ Twitter เป็นโซเชียลมีเดียที่มี platform หลายๆ ด้าน ธุรกิจต่างๆอาจจะยังอาศัยอีเมลเป็นสื่อการติดต่อแบบธุรกิจกับธุรกิจ (B2B) แต่โซเชียลมีเดียกลายเป็นช่องทางหลักการสื่อสารระหว่างคนต่อคน

ผลข้างเคียงของอินเทอร์เน็ต

อินเทอร์เน็ตให้ทางเลือกใหม่ๆ แก่คนเรา ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาข้อมูล การสื่อสาร หรือการซื้อสินค้า เพราะข้อมูลข่าวสารกลายเป็นสิ่งที่ได้มาฟรีๆ ทำให้สิ่งพิมพ์แบบสารานุกรมกลายเป็นเรื่องที่หมดสมัยนิยม ถ้าอยากรู้ว่ายักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซ Alibaba มีพนักงานจำนวนเท่าไหร่ เข้าไปหาได้ในอินเทอร์เน็ต ที่จะให้คำตอบทันทีว่า 36,450 คน อินเทอร์เน็ตทำให้การสื่อสารเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โทรศัพท์ทำให้คนเราเลิกติดต่อสื่อสารกันด้วยจดหมาย อีเมลทำให้ทำให้การติดต่อกันทางโทรศัพท์ลดลงไป ปัจจุบัน ช่องทางการติดต่อสื่อสารมีมากขึ้นไปอีก เช่น ทาง Facebook Twitter และ Skype

แม้อินเทอร์เน็ตจะให้คุณประโยชน์มากมาย แต่ก็ทำให้เกิดความวิตกต่อสิ่งที่เป็นผลข้างเคียง ปัญหาแรกคือเรื่องความไม่เท่าเทียมที่จะเพิ่มมากขึ้น นักเรียนที่ครอบครัวไม่มีคอมพิวเตอร์ และขาดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ทำให้การเรียนในห้องเรียน เสียเปรียบนักเรียนที่บ้านเข้าถึงอินเทอร์เน็ต การไม่รู้อินเทอร์เน็ต ตลอดจนไม่สามารถที่จะค้นหาแหล่งการเรียนรู้ใหม่ๆ จะสร้างความเสียเปรียบไปตลอดชีวิต

ข้อมูลที่มีมากมายหลากหลายของอินเทอร์เน็ต ถือเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่ามาก แต่เวลาเดียวกัน ก็มีข้อมูลที่ผิดพลาดอยู่มากมายเช่นกัน อินเทอร์เน็ตอาจถูกใช้ไปในทางการเพื่อข่มขู่คุกคามคนอื่น อินเทอร์เน็ตทำให้ความคิดทั้งที่ดีและไม่ดีกระจายแบบทันทีทันใดไปทั่วโลก สามารถจุดชนวนการปฏิวัติในตะวันออกกลางที่เรียกว่าอาหรับสปริง แต่ก็สามารถกระจายข่าวสารที่บิดเบือนและข่าวเท็จต่างๆ ด้วยเช่นกัน

โลกในปัจจุบัน ที่การติดต่อเชื่อมโยงเกิดขึ้นแบบทันทีทันใด ยังทำให้เยาวชนหันเหความสนใจจากการศึกษาในห้องเรียน แทนที่จะทำการบ้าน ก็อาจจะหันไปดูวิดีโอใน YouTube ดูกิจกรรมการเคลื่อนไหวของเพื่อนใน Facebook หรือเล่นวิดีโอเกมกับเพื่อน เป็นต้น เพราะเหตุนี้ นักจิตวิทยาจึงวิตกว่า การเข้าสู่อินเทอร์เน็ตในช่วงเยาว์วัย และการลุ่มหลงในอินเทอร์เน็ต อาจสร้างนิสัยและพฤติกรรมแก่เยาวชน ให้เป็นคนทำงานไม่บรรลุผล หรือเป็นคนที่ลืมความรับผิดชอบ เป็นต้น