ThaiPublica > เกาะกระแส > กฎหมายระหว่างประเทศกับสงครามอิสราเอล-ฮามาส

กฎหมายระหว่างประเทศกับสงครามอิสราเอล-ฮามาส

4 พฤศจิกายน 2023


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://www.npr.org/sections/pictureshow/2023/10/15/1206040971/photos-scenes-from-the-israel-gaza-war

นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการ สหประชาชาติ แถลงเรียกร้องให้มีการหยุดยิงในฉนวนกาซา เนื่องได้มีการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศเกิดขึ้นในสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มติดอาวุธฮามาส หลังจากกลุ่มฮามาสโจมตีอิสราเอลในวันที่ 7 ตุลาคม 2566 ทำให้คนอิสราเอลเสียชีวิตไปกว่า 1,400 คน รัฐบาลอิสราเอลได้ตัดการสนับสนุนด้านน้ำ ไฟฟ้า พลังงาน และอาหาร แก่คนปาเลสไตน์ 2.5 ล้านคน ที่อาศัยในฉนวนกาซา

สหประชาชาติถือว่า การกระทำดังกล่าวเป็น “การลงโทษแบบรวมหมู่” นอกจากนี้ นับจากวันที่ 7 ตุลาคม 2566 จนถึงล่าสุด การโจมตีกาซาของอิสราเอลทำให้มีคนเสียชีวิตไปแล้วกว่า 9 พันคน เป็นเด็กกว่า 3 พันคน คนปาเลสไตน์กว่าล้านคนต้องอพยพจากบ้านเรือน เพราะอิสราเอลสั่งคนที่อาศัยอยู่ทางภาคเหนือของกาซาให้อพยพไปทางภาคใต้

เลขาธิการ UN กล่าวว่า พลเรือนจะต้องได้รับการคุ้มครอง และเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องยอมรับว่า การโจมตีของกลุ่มฮามาสไม่ได้เกิดขึ้นใน “สุญญากาศ” ประชาชนปาเลสไตน์ต้องอยู่ภายใต้การยึดครองมาแล้ว 56 ปี แต่ความทุกข์ยากของคนปาเลสไตน์ก็ไม่สามารถนำมาเป็นข้ออ้างสร้างความชอบธรรมให้กับการโจมตีที่เลวร้ายของกลุ่มฮามาส และการโจมตีที่เลวร้ายนี้ ก็ไม่สามารถเป็นข้ออ้างสร้างความชอบธรรมให้กับการลงโทษแบบรวมหมู่

กฎหมายระหว่างประเทศกับสงคราม

บทความใน ft.com เรื่อง Rules of law: international law and the Israel-Hamas conflict เขียนไว้ว่า สงครามอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ทำให้มีการตั้งคำถามเรื่องที่ว่า กฎหมายระหว่างประเทศฉบับไหน ที่สามารถนำมาใช้กับสงครามที่เกิดขึ้น จุดนี้ทำให้เกิดประเด็นที่ยากลำบาก ระหว่างสิทธิของอิสราเอลในการตอบโต้การโจมตีจากกองกำลังกลุ่มฮามาส และประเด็นที่อิสราเอลมีพันธะผูกพัน ที่จะทำให้พลเรือนในกาซาเกิดการสูญเสียน้อยที่สุด

กฎระเบียบสงคราม (rules of war) เกิดขึ้นมาจากสนธิสัญญาระหว่างประเทศ กฎหมายระหว่างประเทศด้านมนุษยธรรม (humanitarian international law) และกฎหมายระหว่างประเทศ ที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติ (customary international law) กฎหมายครอบคลุมเรื่อง สิทธิของรัฐที่จะปกป้องตัวเอง ขอบเขตของรัฐในการใช้กำลัง และการปกป้องพลเรือน

หลักสำคัญอย่างหนึ่งของกฎระเบียบสงคราม คือ กฎหมายอาชญากรรมสงคราม จะไม่พิจารณาเรื่องที่ว่ามีสาเหตุทางการเมือง รวมทั้งการยึดครองดินแดน แต่หมายความว่า การต่อสู้เพื่อปลดปล่อยดินแดน อย่างเช่นการต่อสู้ของขบวนการปาเลสไตน์ ไม่ถือว่ามีความชอบธรรมที่จะสามารถสังหารพลเรือนได้อย่างจงใจ หรืออย่างไม่มีการจำแนก เพราะฉะนั้น UN ถือว่าฉนวนกาซาเป็นดินแดนที่ถูกยึดครอง และการจับตัวประกันของกลุ่มฮามาสถือเป็นอาชญากรรมสงคราม

ที่มาภาพ : https://www.npr.org/sections/pictureshow/2023/10/15/1206040971/photos-scenes-from-the-israel-gaza-war

การปกป้องตัวเองจากการถูกโจมตี

กฎบัตรสหประชาชาติ ข้อที่ 51 และกฎหมายระหว่างประเทศตามธรรมเนียมปฏิบัติ ถือว่า ประเทศหนึ่งสามารถมีสิทธิป้องกันตัวเอง จากการถูกโจมตีด้วยอาวุธ คณะมนตรีความมั่นคงของ UN จะไม่ดำเนินการใดๆ ที่ไปให้การสนับสนุน หรือไปจำกัด “สิทธิการป้องกันตัวเอง” ของประเทศที่เป็นฝ่ายถูกโจมตี

แต่หลักพื้นฐานประการหนึ่งมีอยู่ว่า หากฝ่ายหนึ่งที่เป็นคู่กรณีความขัดแย้งได้ก่ออาชญากรรม ก็จะไม่ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งมีความชอบธรรมที่จะตอบโต้ในแบบเดียวกัน ดังนั้น ไม่ว่าจะถูกยั่วยุหรือไม่ก็ตาม กองกำลังทหารจะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์สงคราม

หลักการพื้นฐานสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การตอบโต้การโจมตีจะต้อง “ได้สัดส่วน” (proportionate) ไม่ใช่การตอบโต้ที่เกินกว่าเหตุ การตอบโต้จะต้องพุ่งเป้าไปที่การเอาชนะทางทหาร ต่อฝ่ายตรงกันข้ามที่มีอาวุธเท่านั้น ไม่ใช่ “การลงโทษแบบรวมหมู่” (collective punishment) ต่อกลุ่มประชาชนที่กว้างออกไป เพื่อทำให้เกิดความเสียหาย

Jan Egeland เลขาธิการสภาผู้อพยพของนอร์เวย์ กล่าวถึงการที่อิสราเอลยื่นคำขาดให้คนที่พักอาศัยทางเหนือของกาซา อพยพลงมาทางใต้ของกาซาว่า “การลงโทษแบบรวมหมู่แก่พลเรือนจำนวนมากนับไม่ถ้วน เป็นเรื่องผิดกฎหมาย ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ”

ที่มาภาพ : https://www.npr.org/sections/pictureshow/2023/10/15/1206040971/photos-scenes-from-the-israel-gaza-war

ปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่พลเรือน

บทความของ ft.com กล่าวว่า กฎหมายระหว่างประเทศห้ามคู่กรณีของสงคราม ไม่ให้จงใจสร้างความเสียหายแก่พลเรือนที่ไม่ใช่กำลังทหาร หรือทำการโจมตีโดยไม่มีการจำแนกระหว่างเป้าหมายทางทหารกับเป้าหมายพลเรือน

สถานที่เป็นร้านค้า โรงพยาบาล โรงเรียน สถานที่ทางศาสนา ถือเป็นสถานที่พลเรือน ที่ห้ามไม่ให้มีการโจมตีทางทหาร หากเกิดการโจมตีสถานที่พลเรือนขึ้นมา แม้ไม่ได้มีการกำหนดเป็นเป้าหมายเฉพาะเจาะจง ก็ถือได้ว่าเป็นอาชญากรรมสงคราม ดังเช่นกรณีการโจมตีทางอากาศของอิสราเอลต่อพื้นที่พลเรือน หรือการโจมตีอิสราเอลด้วยจรวดของกลุ่มฮามาส

กฎระเบียบสงครามมีความซับซ้อนมากขึ้น เมื่อคู่กรณีฝ่ายหนึ่งของสงคราม ใช้สถานที่พลเรือนเป็นสถานที่ทางทหาร กฎหมายระหว่างประเทศห้ามใช้พลเรือนเป็นโล่มนุษย์ให้แก่กองกำลังทหาร แต่อิสราเอลกล่าวหาว่า กลุ่มฮามาสใช้วิธีการดังกล่าวนี้ ซึ่งทางกลุ่มฮามาสปฏิเสธ

หากกลุ่มฮามาสใช้ประโยชน์จากสถานที่พลเรือนจริง อิสราเอลก็ยังมีความรับผิดชอบที่จะทำให้พลเรือนเสียหายน้อยที่สุด ประเด็นนี้กำลังเป็นเรื่องสำคัญต่อการบุกกาซาของอิสราเอล เพราะพื้นที่กาซาที่มีความยาวแค่ 40 กม. และประชากร 2.5 ล้านคน ถือเป็นดินแดนที่มีประชากรหนาแน่นที่สุด หนึ่งในมาตรการป้องกันความเสียหายต่อพลเรือน คือการเตือนภัยล่วงหน้าก่อนการโจมตี

เพราะฉะนั้น การบุกทางทหารเข้าไปยังกาซา อิสราเอลมีพันธะทางกฎหมายระหว่างประเทศ ที่จะต้องมุ่งโจมตีกองกำลังติดอาวุธกลุ่มฮามาส และโครงสร้างทางทหารเท่านั้น ลดการสูญเสียพลเรือนและการทำลายโครงสร้างพื้นฐานของพลเรือน การโจมตีทางอากาศหรือการยิงปืนใหญ่ จะต้องสอดคล้องกับหลักกฎหมายในเรื่อง ความเป็นมนุษย์ (humanity) การจำแนก การได้สัดส่วน และความจำเป็นทางทหาร

สงครามอิสราเอล-ฮามาส ที่มาภาพ : https://www.npr.org/sections/pictureshow/2023/10/15/1206040971/photos-scenes-from-the-israel-gaza-war

การช่วยตัวประกัน

ปฏิบัติการทางทหารในดินแดนกาซาของอิสราเอล มีเป้าหมายอีกประการหนึ่งคือ เพื่อช่วยตัวประกันกว่า 200 คนที่ถูกกลุ่มฮามาสจับตัวไป การช่วยเหลือตัวประกันเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันมากในหมู่นักกฎหมาย และประเทศต่างๆ

แต่ประเทศต่างๆ มีสิทธิทางกฎหมาย ที่จะใช้กำลังเข้าช่วยตัวประกัน หากการปฏิบัติการสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ 4 อย่าง คือ (1) ตัวประกันจำนวนมากถูกจับตัวไป โดยเฉพาะเกิดขึ้นในช่วงการโจมตีด้วยอาวุธ (2) การปฏิบัติการเป็นเรื่องที่จำเป็น เมื่อตัวประกันถูกคุกคาม หรือหนทางเจรจา ไม่ประสบความสำเร็จ (3) เป็นปัญหาเร่งด่วน เช่น การเจรจาให้ปล่อยตัวทันทีเป็นไปไม่ได้ผล หรือชะตากรรมตัวประกันเลวร้ายลงในแต่ละวัน และ (4) การใช้กำลังได้สัดส่วน คือ ใช้จำนวนทหารจำเป็นเพื่อช่วยตัวประกันเท่านั้น

หลักการ UN ให้สิทธิ์ประเทศต่างๆ สามารถป้องกันตัวเองตามที่จำเป็นและได้สัดส่วน แต่สิ่งที่ยากลำบากคือความหมายของคำว่า “การได้สัดส่วน” หลังถูกโจมตีเมื่อ 7 ตุลาคม อิสราเอลมีสิทธิ์ป้องกันตัวเอง แต่อะไรคือการป้องกันตัวเองที่ได้สัดส่วน กับการเสียชีวิตของคนอิสราเอลกว่า 1,400 คน และตัวประกันกว่า 200 คน

หากการป้องกันตัวเองของอิสราเอลคือ การกวาดล้างกลุ่มฮามาสให้หมดสิ้นไป การตอบโต้อย่างใหญ่หลวงก็ยังขึ้นกับหลักการที่สองของกฎหมายระหว่างประเทศ เรื่องความมีมนุษยธรรม ที่พลเรือนต้องได้รับการคุ้มครอง ซึ่งเป็นหลักการที่อิสราเอลยอมรับ แต่ก็มีปัญหายากลำบากในเรื่อง “การได้สัดส่วน” เช่นเดียวกัน

เอกสารประกอบ
Rules of war: international law and the Israel-Hamas conflict, October 14, 2023, ft.com
What International Law Has to Say About the Israel-Hamas War, David J. Scheffer, October 19, 2023, cfr.org