ThaiPublica > เกาะกระแส > ภาพจำลอง (Scenario) อนาคตของโควิด-19 คลื่นลูกเล็กเกิดซ้ำซาก คลื่นลูกใหญ่ หรือวิกฤติต่อเนื่อง

ภาพจำลอง (Scenario) อนาคตของโควิด-19 คลื่นลูกเล็กเกิดซ้ำซาก คลื่นลูกใหญ่ หรือวิกฤติต่อเนื่อง

9 พฤษภาคม 2020


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : spiegel.de

บทความในเว็บไซต์spiegel.de ชื่อ Why Researchers Fear a Second Wave กล่าวไว้ว่า เป็นเรื่องยากสำหรับคนเยอรมัน ที่จะดำรงชีวิตอยู่เพื่อต่อสู้กับไวรัสโควิด-19 เพราะเป็นการใช้ชีวิตที่ไม่มีแหล่งชอปปิ้ง ไม่มีการพักร้อน และก็ไม่มีการแสดงคอนเซิร์ต ส่วนผู้เชี่ยวชาญโรคระบาด ก็ไม่ได้แนะนำให้คนใช้ชีวิตผ่อนคลายลง ตรงกันข้าม กลับเตือนให้คนเราเตรียมรับมือกับการแพร่ระบาดแบบคลื่นลูกที่ 2 ที่จะเกิดขึ้นในฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาวในปลายปี 2020

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในเยอรมันขณะนี้ เป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ของการติดเชื้อที่เกิดขึ้นในพื้นที่บางส่วนของประเทศ แต่การแพร่ระบาดแบบคลื่นลูกที่ 2 จะมีลักษณะเป็นการระบาดที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ แบบเดียวเดียวกับไฟไหม้ป่าที่เกิดขึ้นหลายจุด เพราะเกิดจากการที่มีคนหลายคน จุดไฟขึ้นมาจากหลายจุดในป่า

รายงานโควิด-19

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ออกไปทั่วโลก ทำให้ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคระบาด พยายามคาดการณ์ภาพจำลองของอนาคตการแพร่ระบาดว่า จะมีลักษณะแบบไหน เมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยและนโยบายด้านโรคติดต่อ (Center for Infectious Disease Research and Policy – CIDRAP) ของมหาวิทยาลัยมินเนโซต้า ได้เผยแพร่รายงานชื่อ covid-19: the cidrap viewpoint

ในเดือนธันวาคม 2019 เมื่อเกิดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 ขึ้นมาที่นครอู่ฮั่น ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ ที่มีประสบการณ์ช่ำชอง ไม่คาดคิดว่า จะเกิดการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว จนทำให้เกิดวิกฤติสาธารณสุขมากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก เดือนมกราคม 2020 เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเริ่มเตือนให้ระมัดระวัง ส่วนองค์การอนามัยโลก (WHO) เพิ่งประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคระบาดทั่วโลกเมื่อ 11 มีนาคม 2020

รายงาน COVID-19 กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้ยาก โมเดลการแพร่ระบาดที่อาจนำมาเปรียบเทียบคือ การแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ ที่นับจากปี 1900 เป็นต้นมา เกิดการแพร่ระบาดใหญ่ในโลกมาแล้ว 4 ครั้ง คือ ช่วงปี 1918-19, 1957, 1968 และ 2009-10 การแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ดังกล่าว จึงช่วยให้มองเห็น “ภาพจำลอง” (scenario) การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ทั้งการแพร่ระบาดของไวรัสไข้หวัดใหญ่และโควิด-19 มีลักษณะที่คล้ายๆกันหลายอย่าง เช่น เป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ทำให้ประชากรในโลกไม่มีภูมิคุ้มกันมาก่อน การแพร่ระบาดเกิดจากละอองฝอย หรือการแพร่เชื้อเกิดขึ้นได้โดยไม่มีอาการของโรค ทำให้คนทั่วโลกติดเชื้อ แต่ก็มีสิ่งที่เป็นความแตกต่าง ระยะเวลาการติดเชื้อของไข้หวัดใหญ่อยู่ที่ 1-4 วัน แต่โควิด-19 อยู่ที่ 2-14 วัน

อัตราการแพร่เชื้อ (R)

การแพร่เชื้อเมื่อไม่มีอาการและระยะเวลาการติดเชื้อ เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของไวรัส การวัดปริมาณการติดเชื้อถูกกำหนดโดยอัตราการแพร่เชื้อ (R- Reproduction) ที่หมายถึงอัตราเฉลี่ยที่คนติดเชื้อ 1 คน ทำให้เกิดคนติดเชื้อใหม่กี่คน แต่ R อาจผันแปรจากปัจจัยเช่น การเว้นระยะห่างทางสังคม หรือมาตรการล็อคดาวน์ ที่มีเป้าหมายให้ R ต่ำกว่า 1 หรือมาจากภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ที่เกิดจากคนติดเชื้อแล้วฟื้นตัว หรือจากวัคซีน

รายงาน COVID-19 กล่าวว่า ในจีน ระยะแรกของอัตราการแพร่ระบาดในจีนหรือ R อยู่ที่ 2-2.5 แต่ก็ยากที่จะระบุตัวเลขในภูมิภาคอื่นๆของโลก เพราะขึ้นกับจำนวนการตรวจเชื้อประชากร หรือว่า R อาจจะสูงในพื้นที่เมือง ที่มีผู้คนอยู่หนาแน่น หรือคนติดเชื้อบางคนอาจเป็น super-spreader ส่วนบางประเทศสามารถกดให้ R ต่ำกว่า 1 ด้วยมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด เป็นต้น

ภาพจำลองการแพร่ระบาด

รายงาน COVID-19 มองว่า ภาพจำลองการแพร่ระบาดในอนาคตของโควิด-19 จะมี 3 รูปแบบด้วยกัน

ที่มาภาพ : statnews.com

(1)ภาพจำลองที่ 1 การแพร่ระบาดเป็นแบบละลอกคลื่นลูกเล็กๆ คลื่นลูกแรกของการแพร่ระบาดเกิดขึ้นฤดูใบไม้ผลิปี 2020 แล้วก็จะตามมาด้วยคลื่นลูกเล็กที่เกิดขึ้นเป็นละลอกอย่างต่อเนื่อง เป็นระยะเวลา 1-2 ปี

ที่มาภาพ : statnews.com

(2)ภาพจำลองที่ 2 หลังจากคลื่นลูกแรกของการแพร่ระบาด จะตามมาด้วยคลื่นลูกที่ 2 ที่เป็นคลื่นขนาดใหญ่ของการแพร่ระบาด ซึ่งจะเกิดขึ้นในฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาวปี 2020 แล้วหลังจากนั้น ก็เป็นการระบาดที่เป็นคลื่นๆหลายลูกในปี 2021 คลื่นยักษ์ของการแพร่ระบาด จะทำให้ระบบสาธารณสุขพังทลาย แบบเดียวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอิตาลี

ที่มาภาพ : statnews.com

(3)ภาพจำลองที่ 3 หลังจากคลื่นลูกแรกในปี 2020 สิ่งที่จะตามมาคือการระบาดที่เกิดขึ้นช้าๆและต่อเนื่อง เพราะเกิดกรณีการติดเชื้อขึ้นมา แต่ไม่มีลักษณะเป็นคลื่นการระบาดที่ชัดเจน ภาพจำลองที่ 3 อาจเกิดขึ้นแตกต่างกันใปในแต่ละพื้น และขึ้นอยู่กับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด

รายงาน COVID-19 สรุปว่า ไม่ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะพัฒนาออกมาเป็นภาพจำลองไหนก็ตาม เราจะต้องเตรียมรับมือกับการแพร่ระบาดเป็นเวลา 18-24 เดือน เพื่อที่ประชากรส่วนใหญ่จะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นมา

สื่อมวลชนในสหรัฐฯถาม Mike Osterholm ผู้อำนวยการสถาบัน CIDRAP และเป็นคนเขียนรายงาน COVID-19 ว่า ภาพจำลองอนาคตการแพร่ระบาดแบบไหน มีความเป็นไปได้มากที่สุด เขาตอบว่า “ตัวเองไม่มั่นใจ ไวรัสนี้มีตารางเวลาของตัวเองในเรื่องการอุบัติขึ้น แต่เราจะมีช่วงเดือนที่หนักหน่วงรออยู่ข้างหน้า”

เอกสารประกอบ

COVID-19: The CIDRAP Viewpoint, Center for Infectious Disease Research and Policy, University of Minnesota
Three potential futures for Covid-19, May 1, 2020, statnews.com