รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ
เว็บไซต์ nytimes.com รายงานในบทความชื่อ Global Car Supply Chains Entangled With Abuse in Xinjiang, Report Says ว่า บรรดาบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำของโลก ยังตกอยู่ในสภาพที่พึ่งพิงวัตถุดิบและชิ้นส่วนรถยนต์ ที่ผลิตจากมณฑลซินเกียงของจีน แม้สหรัฐอเมริกาจะออกกฎหมายจำกัดการซื้อผลิตภัณฑ์จากภูมิภาคนี้ เนื่องจากจีนมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อคนกลุ่มน้อยมุสลิม โดยการใช้แรงงานบังคับ
รายงานข่าวของ nytimes.com อ้างอิงรายงานศึกษาชื่อ Driving Force ของ Sheffield Hallam University ในอังกฤษ ที่กล่าวถึงห่วงโซ่อุปทานรถยนต์ กับการใช้แรงงานบังคับในเขตอุยกูร์ว่า บริษัทจีนสำคัญหลายแห่งมีส่วนร่วมในโครงการใช้แรงงานบังคับในซินเกียง หรือไม่ก็จัดหาวัสดุและชิ้นส่วนจากมณฑลนี้
บริษัทจีนเหล่านี้ยังมีส่วนสำคัญต่อการผลิตห่วงโซ่อุปทานโลกในด้านชิ้นส่วนรถยนต์ ทำให้เกิดความเป็นไปได้ ที่บริษัทรถยนต์มีชื่อของโลก จะขายรถยนต์ที่มีชิ้นส่วนหรือวัสดุผลิตจากซินเกียง ไม่ว่าจะเป็น Volkswagen, Honda, Ford Motor, General Motors, Mercedes-Benz, Toyota และ Tesla
กฎหมายป้องกันแรงงานบังคับอุยกูร์
เดือนธันวาคม 2021 รัฐสภาสหรัฐฯผ่านกฎหมายชื่อ “การป้องกันแรงงานบังคับอุยกูร์” (Uyghur Forced Labor Prevention Act- UFLPA) ที่มีสาระสำคัญว่า สินค้าทั้งหมดที่ผลิตจากมณฑลซินเกียง ถือว่าทำขึ้นจากแรงงานบังคับ ดังนั้นจึงห้ามนำเข้ามาในสหรัฐฯ ตามกฎหมายศุลกากรสหรัฐฯปี 1930 ยกเว้นทางหน่วยงานศุลกากรและการปกป้องพรมแดนสหรัฐฯ จะออกใบรังรองเป็นอย่างอื่น
กฎหมาย UFLPA จึงมีบทบังคับใช้ที่เข้มงวดแตกต่าง จากมาตรการบังคับใช้กฎหมายในอดีต แทนที่จะอนุญาตให้สินค้านำเข้ามาในสหรัฐฯได้ก่อน จนกว่าจะพิสูจน์เป็นอย่างอื่น กฎหมาย UFLPA อนุญาตให้ศุลกากรสหรัฐฯ มีอำนาจตัดสินได้เลยว่า สินค้านำเข้ามา มีเนื้อหาหรือชิ้นส่วนที่มาจากซินเกียงนั้น เป็นสิ่งผิดกฎหมายได้เลย จนกว่าผู้นำเข้าจะสามารถพิสูจน์เป็นอย่างอื่น
กฎหมาย UFLPA ยังห้ามห่วงโซ่อุปทานที่ไปเกี่ยวข้องกับซินเกียง ตัวอย่างเช่น ฝ้ายจากซินเกียงถูกส่งไปเวียดนาม เพื่อผลิตเป็นเส้นด้าย แล้วส่งต่อเส้นด้ายไปเกาหลีใต้ เพื่อตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูปออกมา เสื้อผ้าที่มีห่วงโซ่การผลิตดังกล่าวห้ามนำเข้ามาในสหรัฐฯ กฎหมายนี้บังคับให้ผู้ผลิตต้องรู้และเข้าใจห่วงโซ่การผลิตของตัวเอง จากต้นน้ำถึงปลายน้ำ
รายงานของ nytimes.com บอกว่า นับจากกฎหมาย UFLPA มีผลบังคับ ศุลกากรสหรัฐฯได้ยึดสินค้าที่คาดว่ามาจากซินเกียงแล้ว เป็นมูลค่า 728 ล้านดอลลาร์ แม้ไม่มีการเปิดเผยสินค้าที่ถูกยึด แต่กฎหมายนี้ทำให้เกิดชะงักงันต่อการนำเข้าของสหรัฐฯในสินค้าประเภทเสื้อผ้า แผงพลังงานแสงแดด และฝ้าย
ชิ้นส่วนรถยนต์มูลค่า 2 ล้านล้านดอลลาร์
บทรายงาน Driving Force ระบุว่า ตลาดอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ มีมูลค่ามหาศาล ในปี 2026 คาดว่าจะมีมูลค่าถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์ หรือเท่ากับมูลค่าเศรษฐกิจของอิตาลี จีนเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์รายใหญ่ของโลก ในปี 2021 ส่งออกเป็นมูลค่า 45 พันล้านดอลลาร์ สหรัฐฯเป็นตลาดใหญ่ของจีน โดยปี 2021 สหรัฐฯนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ทั้งหมดจากจีน 11.5 พันล้านดอลลาร์ หรือ 1 ใน 4 ของการส่งออกของจีน
การก้าวขึ้นมาเป็นยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ของจีน เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ในแต่ละปี สื่อชื่อ Automotive News จะพิมพ์รายชื่อบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกด้านชิ้นส่วนรถยนต์ โดยวัดจากรายได้ Bosch ของเยอรมัน และ Denso ของญี่ปุ่นอยู่ในอันดับแรกๆ กล่าวโดยรวมบริษัทชิ้นส่วนรถยนต์จากญี่ปุ่น เยอรมันและสหรัฐฯครองตลาดนี้อยู่
แต่ในปี 2022 มีบริษัท 10 แห่งที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในจีน ที่ติดอันดับอยู่ในกลุ่ม 100 บริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ของโลก ขณะที่ในปี 2012 มีบริษัทจีนเพียงรายเดียวที่ติดกลุ่ม ส่วนบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ชั้นนำของโลก 15 แห่ง ที่ไม่ใช่บริษัทของจีน ล้วนมีโรงงานผลิตอยู่ในจีนทั้งหมด
ความสำเร็จของจีนด้านการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ มาจากแผนงานของรัฐ เรียกว่า “Made in China 2025” ที่มุ่งทำให้จีนกลายเป็น “มหาอำนาจผู้ผลิต” ของโลก ที่รวมถึงการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ รัฐบาลจีนต้องการเพิ่มทั้งปริมาณและคุณภาพในการผลิตรถยนต์ ให้ขึ้นมาอยู่ในระดับนานาชาติ ที่ผ่านมา จีนประสบความสำเร็จทั้งการพัฒนาการผลิตรถยนต์แบบดั่งเดิม กับการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า
ปี 2021 บริษัทรถยนต์จีนคาดการณ์ว่า ในปี 2028 จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดได้ 8 ล้านคันต่อปี ที่ทางหนังสือพิมพ์ New York Times บอกว่า เป็นจำนวนที่มากกว่าที่สหรัฐฯกับยุโรปจะผลิตได้รวมกัน จีนสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้รวดเร็วกว่าที่โลกสร้างโรงงานผลิตรถไฟฟ้ารวมกัน นอกจากนี้ จีนยังครองตลาดแบตเตอรี่และชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า
กว่า 200 บริษัทที่เกี่ยวข้องกับซินเกียง
รายงาน Driving Force ระบุว่า มีบริษัททั้งของจีนและต่างชาติราวๆ 200 บริษัท ที่เข้าไปเกี่ยวข้อง ทั้งทางตรงและทางอ้อมกับการผลิตที่มาจากซินเกียง แต่รายงานของ nytimes.com กล่าวว่า บริษัทอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ของจีนเอง ที่รายงานนี้ระบุชื่อชัดเจน ก็มีแหล่งผลิตหลายแห่งในจีน ที่อาจจะป้อนชิ้นส่วนรถยนต์แก่ต่างประเทศ โดยมาจากแหล่งผลิตที่อยู่นอกมณฑลซินเกียง
บริษัท McKinsey เคยประเมินไว้ว่า บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำของโลก อาจจะเกี่ยวข้องกับซัพพลายเออร์มากถึง 18,000 บริษัท ที่เป็นผู้จัดหาตั้งแต่วัตถุดิบ ไปจนถึงชิ้นส่วนต่างๆของรถยนต์ บริษัทซัพพลายเออร์จำนวนมาก ต้องอาศัยการผลิตจากจีน ที่มีบทบาทมากต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ ซินเกียงเองเป็นมณฑลที่ทำอุตสาหกรรมหลากหลาย เนื่องจากการไม่เข้มงวดด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้กลายเป็นแหล่งผลิตแปรรูปวัตถุดิบที่ต้องใช้พลังงานมาก เช่น การหลอมโลหะ
ปฏิกิริยาตอบโต้จากจีน
หลังจากสหรัฐฯออกกฎหมาย UFLPA แล้ว เว็บไซต์ globaltimes.cn ของทางการจีน ได้เขียนบทวิจารณ์ว่า การห้ามสินค้าจากเขตปกครองพิเศษซินเกียงอุยกูร์ เป็นการขยายมาตรการสหรัฐฯในการปิดล้อมจีน ต้องการให้การพัฒนาเศรษฐกิจที่รวดเร็วของเขตซินเกียง เผชิญความยากลำบาก โดยการขัดขวางอุตสาหกรรมที่เป็นแกนสำคัญของภูมิภาคนี้ และต้องการตัดภูมิภาคนี้ออกจากห่วงโซ่อุปทานโลก
Globaltimes.cn ยกตัวอย่างว่า ตั้งแต่ปี 2021 สหรัฐฯห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์ทุกชนิด ที่ใช้ฝ้ายจากซินเกียง ทำให้ห่วงโซ่อุปทานโลกของสินค้าฝ้าย เกิดความปั่นป่วน ราคาฝ้ายเพิ่มอีกสองเท่าตัว ส่งผลกระทบอย่างหนักต่ออุตสาหกรรมปลายน้ำด้านสิ่งทอในเอเชีย และเป็นผลเสียต่อสหรัฐฯเอง ในการควบคุมภาวะเงินเฟ้อสูงขึ้น
ตัวอย่างกรณีกีดกันฝ้ายจากซินเกียง สะท้อนเป้าหมายสหรัฐฯที่ต้องการปิดล้อมจีน เพราะการส่งออกสิ่งทอเป็นหนึ่งในการส่งออกหลักของจีน
จีนเป็นผู้ผลิตฝ้ายรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก ในปี 2020 จีนผลิตฝ้ายทั้งหมด 5.95 ล้านตัน มาจากพื้นที่ปลูกในซินเกียง 5.16 ล้านตัน หรือ 87.3% ของผลผลิตในจีนทั้งหมด ดังนั้น การห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์ใช้ฝ้ายจากซินเกียง จึงมีเป้าหมายการโจมตีที่อุตสาหกรรมสิ่งทอของจีน
นอกจากฝ้ายแล้ว 50% ของการผลิตสารกันแดด (polysilicon) ของจีน ก็มาจากซินเกียง พื้นที่สำคัญของจีนในเพาะปลูกมะเขือเทศ อยู่ที่ซินเกียง ปี 2019 จีนผลิตมะเขือเทศออกมาได้ 62.7 ล้านตัน เทียบเท่ากับ 35% ของการผลิตมะเขือเทศของโลก
ที่ผ่านมา ห่วงโซ่อุปทานโลกเกิดปัญหาเปาะบางและชะงักงัน เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 กฎหมายป้องกันการใช้แรงงานบังคับ ในซินเกียงของสหรัฐฯ สะท้อนว่าประเทศที่เป็นตลาดสำคัญ ใช้กฎหมายมาทำให้การผลิตห่วงโซ่อุปทานโลก ต้องมีความโปร่งใสมากที่สุด ธุรกิจเองต้องลงทุนมากขึ้น ในด้านการตรวจสอบ เพื่อทำให้ห่วงโซ่อุปทานสอดคล้องกับกฎเกณฑ์รัฐบาล
เอกสารประกอบ
Global Car Supply Chains Entangled with Abuses in Xinjiang, Report Says, nytimes.com, December 6, 2022.
Driving Force: Automotive Supply Chains and Forced Labor in the Uyghur Region, Sheffield Hallam University, December 2022.
By banning goods from Xinjiang, US menaces global supply chains, globaltimes.cn, June 21, 2022.