ThaiPublica > เกาะกระแส > ถ้าหากทรัมป์ชนะการเลือกตั้งเป็นสมัยที่สอง คือจุดเริ่มต้นการตกต่ำแบบถาวรของสหรัฐฯ

ถ้าหากทรัมป์ชนะการเลือกตั้งเป็นสมัยที่สอง คือจุดเริ่มต้นการตกต่ำแบบถาวรของสหรัฐฯ

4 พฤศจิกายน 2020


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://web.facebook.com/DonaldTrump/photos/10165731689020725

ในวันที่ 3 พฤศจิกายนนี้ หากโดนัลด์ ทรัมป์ สามารถเอาชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นสมัยที่ 2 นโยบายหลายอย่างคงไม่มีการเปลี่ยนแปลง รัฐบาลของทรัมป์ในสมัยที่ 2 จะยังคงมีทัศนะที่มองโลกแบบคับแคบ และทัศนะนี้จะยังมีอิทธิพลที่กำหนดนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ รวมทั้งท่าทีของทรัมป์ที่รังเกียจบรรดาประเทศพันธมิตร หรือข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ แต่กลับไปชื่นชมผู้นำเผด็จการ

แต่ชัยชนะของทรัมป์ในสมัยที่ 2 จะมีนัยยะความหมายสำคัญที่สุด คือการเปลี่ยนแปลงแบบสิ้นเชิง ที่จะเกิดขึ้นกับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับประเทศต่างๆในโลก จะเป็นการส่งสัญญาณว่า สหรัฐฯได้ละทิ้งเป้าหมายการที่จะเป็นประเทศผู้นำโลกไปแล้ว ดังนั้น ปัญหาความขัดแย้งต่างๆในโลก แต่ละประเทศต้องหาทางปกป้องตัวเอง

รัฐบาลทรัมป์ในสมัยที่ 2 จะเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นในสิ่งที่นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ไว้ว่า การเป็นมหาอำนาจของสหรัฐฯได้กลายเป็นตำนานในอดีตไปแล้ว

ทำไมทรัมป์ชนะการเลือกตั้งปี 2016

โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นมหาเศรษฐีและดารารายการโทรทัศน์ Reality Show ที่มีชื่อเสียงของสหรัฐฯ เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เช่นโครงการสร้างตึกสูง รีสอร์ทที่พักราคาแพง และสนามกอล์ฟ แต่ทว่าโดนัลด์ ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯในปี 2016 ได้อย่างไร ทั้งๆที่ไม่มีประสบการณ์ทางการเมืองมาก่อน และยังสามารถเอาชนะคู่แข่ง อย่างนางฮิลลารี คลินตัน นักการเมืองที่มาจากตระกูลการเมืองชั้นนำและเก่าแก่ของสหรัฐฯ

ทรัมป์ไม่เคยมีประสบการณ์ทางการเมืองมาก่อน เช่นบริหารงานหรือดำรงตำแหน่งในภาครัฐ การรณรงค์หาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของเขาก็จัดการได้ไม่ดี เมื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐานที่เคยเป็นอยู่ นโยบายหาเสียงของทรัมป์ก็คลุมเครือ ไม่ชัดเจนในเชิงนโยบาย การหาเสียงมักจะมาจบลงเป็นคำพูดเช่น “เราจะสร้างกำแพง” ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนความหมายทั้งหมดของนโยบายทรัมป์ ในเรื่องผู้อพยพและการปกป้องการจ้างงานในสหรัฐฯ

ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/d/dd/Trump-Pence_2020.svg

หนังสือชื่อ American Discontent (2018) เขียนไว้ว่า ชัยชนะของทรัมป์ในปี 2016 ไม่ใช่เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมาฉับพลัน แต่เป็นแนวโน้มและพัฒนาการในด้านการเมือง เศรษฐกิจ เชื้อชาติ และอุดมการณ์ ที่เกิดขึ้นมานานแล้วในสหรัฐฯ แนวโน้มดังกล่าวได้สร้างความไม่พอใจให้แก่คนอเมริกัน และทรัมป์ได้ใช้ประโยชน์กระแสความไม่พอใจดังกล่าวนี้ เพื่อชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

การขึ้นมามีอำนาจของทรัมป์ เปรียบเหมือนเป็นขั้นตอนสุดท้ายของแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ที่เริ่มเกิดขึ้นในช่วงระยะ 50 ปีที่ผ่านมา โดยนับจากทศวรรษ 1970 เมื่อสหรัฐฯเริ่มเข้าสู่ภาวะตกต่ำลงจากยุคทอง ที่เคยเกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แนวโน้มดังกล่าวนี้ ทำให้คนอเมริกันเผชิญกับความยากลำบากทางเศรษฐกิจ เพราะการแข่งขันระหว่างประเทศมีมากขึ้น และจากกระแสโลกาภิวัตน์

ปัจจัยดังกล่าวเป็นสาเหตุให้ค่าแรงเพิ่มขึ้นช้า ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมีมากขึ้น และความฝันของคนอเมริกันเลือนหายไป เกี่ยวกับการเลื่อนฐานะทางสังคมสูงขึ้น นอกจากนี้ ปัจจัยเหล่านี้ยังทำให้เกิดเกิดทัศนะคติที่ว่า ปัญหาความยากลำบากทางเศรษฐกิจ มีสาเหตุมาจากผู้อพยพ ที่เข้ามาแย่งงานคนอเมริกัน ส่วนการเมืองก็เกิดการแบ่งขั้วระหว่างพรรครีพับลิกันกับดีโมแครท ทำให้เกิดการชะงักงันทางด้านนิติบัญญัติ สภาพดังกล่าว ทำให้คนอเมริกันเบื่อหน่ายต่อสถานภาพแบบเดิม และมองว่าทรัมป์เป็นคนที่จะเข้ามากอบกู้สถานการณ์ ด้วยคำขวัญที่ว่า “ทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง”

ที่มาภาพ : https://www.foreignaffairs.com/articles/united-states/2020-10-27/end-american-power

ความหมายของอีก 4 ปีของทรัมป์

บทความของ foreignaffairs.com ชื่อ The End of American Power กล่าวว่า ชัยชนะในการเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 2 ของทรัมป์ จะหมายถึงจุดเริ่มต้นการตกต่ำ “แบบถาวร” ของอิทธิพลอำนาจของสหรัฐฯ นโยบายสมัยแรกของทรัมป์ สามารถเป็นแนวทางที่จะบอกให้รู้ว่า ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในรัฐบาลในสมัยที่สองของทรัมป์

ในสมัยแรก รัฐบาลทรัมป์ยกเลิกพันธะกรณีของสหรัฐฯ ที่มีต่อข้อตกลงระหว่างประเทศ เช่นข้อตกลงปารีสเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ มีท่าทีเย็นชาต่อประเทศพันธมิตรกลุ่มนาโต้ มีนโยบายเผชิญหน้ากับจีน สนับสนุนอิสราเอลอย่างเต็มที่ ทำให้ประเด็นเรื่องฐานะการเป็นประเทศของปาเลสไตน์ เลือนหายไป แต่ไปสร้างกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง ที่ต่อต้านอิหร่านกับตุรกีขึ้นมา ส่วนท่าทีต่อความสัมพันธ์กับประเทศในเอเชีย ก็มองผ่านแง่มุมทางการค้าเสียเป็นส่วนใหญ่

บทความ The End of American Power กล่าวอีกว่า แม้ทรัมป์กับที่ปรึกษาจะมีทัศนะต่อโลกแบบง่ายๆ แต่ก็เป็นทัศนะที่ชัดเจนด้วยคำขวัญที่ว่า “อเมริกามาก่อน” (America first) คำขวัญนี้เกิดขึ้นมาครั้งแรกในช่วงทศวรรษ 1940 โดยมีความหมายที่ต้องการให้อเมริกา ออกห่างไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับจากสงครามโลกครั้งที่ 2

ทรัมป์และที่ปรึกษาก็ไม่สนใจความหมายเดิมของคำว่า “อเมริกามาก่อน” เพราะรัฐบาลทรัมป์เองก็ไม่สนใจที่จะไปส่งเสริมเรื่องเสรีภาพในต่างประเทศอยู่แล้ว แต่คำขวัญนี้สะท้อนท่าทีของทรัมป์ ที่ไม่นิยมชมชอบองค์การระหว่างประเทศ รวมทั้งองค์การที่สหรัฐฯสร้างขึ้นมาภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่รัฐบาลสหรัฐฯก่อนหน้านี้ ใช้เป็นเป็นเครื่องมือทางอำนาจของสหรัฐฯอย่างหนึ่ง

แต่รัฐบาลทรัมป์มองโลกเป็นแค่เวทีการแข่งขันทางการค้าและทางทหารเท่านั้น โดยที่สหรัฐฯไม่มีมิตรประเทศ มีแต่ผลประโยชน์ ส่วนองค์การระหว่างประเทศคือ เครื่องมือของบรรดาประเทศที่ต้องการจะจำกัดและลดทอนอำนาจอิทธิพลสหรัฐฯ

ที่มาภาพ : https://commons.wikimedia.org/wiki/File:MAGA.png

นโยบายในสมัยที่สอง

แต่ประธานาธิบดีสหรัฐฯทุกคน ที่ชนะการเลือกตั้งเป็นสมัยที่สอง จะคิดเรื่องมรดกที่ตัวเองต้องการจะทิ้งไว้ในประวัติศาสตร์

เนื่องจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและการจ้างงานภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่สูญหายไป เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานหลายสิบปีแล้ว รัฐบาลทรัมป์คงไม่สามารถจะไปหยุดยั้งกระแสนี้ได้

เรื่องนโยบายต่างประเทศจึงเป็นโอกาสที่ทรัมป์ จะสร้างประวัติศาสตร์และทิ้งมรดกไว้

บทความ The End of American Power กล่าวว่า นอกจากความไม่แน่นอนในเรื่องสไตล์ท่วงทำนองแล้ว ทรัมป์ยังเป็นผู้นำสหรัฐฯ ที่มีความไม่แน่นอนในเรื่องสาระหรือนโยบายอีกด้วย ในสมัยที่สองนี้ ทรัมป์คงต้องการเห็นว่า การเป็นประธานาธิบดีของตัวเอง จะมีฐานะทางประวัติศาสตร์อย่างไร ในแง่นี้ ทรัมป์คงจะหาทางสร้างผลงานที่เป็นความตกลงในเรื่องใหญ่ๆ

ในฐานะนักธุรกิจที่โด่งดัง ทรัมป์ชอบที่จะทำให้ตัวเองประสบความสำเร็จในเรื่องความตกลงใหญ่ๆ ในรัฐบาลในสมัยที่สอง ความตกลงใหญ่ๆของทรัมป์อาจจะเป็นความตกลงการค้ากับจีน รองลงมาอาจเป็นความตกลงสันติภาพอิสราเอลกับปาเลสไตน์ หรือการผ่อนปรนกับรัสเซีย หรือกับเกาหลีเหนือ ที่ผ่านมา ทรัมป์ได้ก้าวข้ามพรมแดนไปเกาหลีเหนือ ในเขตปลอดทหารมาแล้ว และยังยกเลิกการฝึกซ่อมร่วมทางทหารกับเกาหลีใต้

ที่มาภาพ : https://web.facebook.com/DonaldTrump/photos/10165705941640725

หากพ่ายแพ้ ทรัมป์ก็ทิ้งมรดกไว้

บทความของ spiegel.de ชื่อ The Mess Created By Trump Will Be with Us for Years กล่าวว่า ทรัมป์ทำความเสียหายอย่างมากต่อระบอบการเมืองสหรัฐฯ ที่ต้องใช้เวลาหลายปีในการแก้ไขปัญหา หากว่าทรัมป์จะแพ้การเลือกตั้งในที่ 3 พฤศจิกายนนี้ ความแตกแยกและเกลียดชังกันในหมู่คนอเมริกัน ที่ทรัมป์เองมีส่วนช่วยกระพือขึ้นมา จะทำให้ประเทศนี้ ยังไม่สามารถดำเนินงานได้อย่างปกติ เป็นเวลานานหลายปี

บทความของ spiegel.de บอกว่า ความแตกแยกแบ่งขั้วที่ฝังลึกในสังคมอเมริกัน ไม่ใช่มีสาเหตุมาจากทรัมป์อย่างเดียว แต่การบริหารงานของรัฐบาลทรัมป์ใน 4 ปีที่ผ่านมา ทำให้ความแยกแยกรุนแรงขึ้น

หลายสิบปีที่แล้ว ศาลสูงสหรัฐฯได้รับการยอมรับในเรื่องความเที่ยงธรรม ทั้งจากคนของพรรครีพับลิกันและดีโมแครท คนอเมริกัน 2 ใน 3 ให้ความเชื่อถือ แต่ปัจจุบัน การยอมรับต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง ทั้งนี้เพราะทรัมป์ดึงเอาศาลสูงมาเป็นสนามรบระหว่างค่ายการเมือง

ทรัมป์ทำให้เกิดความเสียหายอย่างมากต่อบทบาทของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นหน่วยงานรัฐ ที่มีศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิสูงมาก ตำแหน่งสำคัญๆไม่ได้รับการแต่งตั้งนับเวลาเป็นปีๆ คนมีฝีมือที่ห่วงกังวลต่อชื่อเสียงตัวเอง ก็หลีกเลี่ยงที่จะร่วมงานกับนายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ที่มีความจงรักภักดีอย่างมากต่อทรัมป์

บทความของ Spiegel.de วิจารณ์ว่า ไม่เคยมีตัวอย่างในประวัติศาสตร์สหรัฐฯมาก่อน ที่ประธานาธิบดีจะทำความเสียหายแก่โครงสร้างพื้นฐานด้านประชาธิปไตยของอเมริกา ได้ภายในระยะเวลาอันสั้น ทรัมป์บอกว่า สื่อมวลชนส่วนใหญ่เป็นพวกโรงงานผลิตข่าวปลอม (fake news) เมื่อผลการสำรวจคะแนนนิยมที่ตามหลังคู่แข่ง ทรัมป์ก็ประกาศว่า “หนทางเดียวที่เราจะแพ้การเลือกตั้งครั้งนี้ คือถูกโกง”

เมื่อทรัมป์สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี ในวันที่ 20 มกราคม 2017 โฆษกทำเนียบขาวบอกว่า คนอเมริกันมาร่วมงานพิธีมากที่สุดกว่าครั้งใด เมื่อสื่อมวลชนนำภาพงานสาบานตนของบารัค โอบามา มาเปรียบเทียบ ก็รู้ว่าทางทำเนียบขาวโกหก ที่ปรึกษาทรัมป์ชื่อ Kellyanne Conway อธิบายว่า โฆษกประธานาธิบดีเพียงแค่เสนอสิ่งที่เป็น “ข้อเท็จจริงทางเลือก” (alternative fact)

บทความ spiegel.de กล่าวว่า ทรัมป์ได้เปลี่ยนแปลงบทบาทและหน้าที่ของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่แตกต่างไปจากเดิม ลักษณะพิเศษการเป็นประธานาธิบดีของทรัมป์ คือการขาดความเข้าใจต่อความสำคัญของตำแหน่งที่เขาดำรงอยู่ ทรัมป์ไม่เข้าใจในสิ่งที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนก่อนหน้านี้ทุกคนที่ได้ทำไว้ คือหน้าที่การงานในตำแหน่งนี้ ใหญ่โตกว่าตัวบุคคลคนที่เข้ามาดำรงตำแหน่งนี้

ตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯสร้างขึ้นมา เพื่อทำให้อเมริกามารวมตัวกันเป็นประเทศหนึ่งเดียว โดยสิ่งที่เชื่อมโยงคนอเมริกัน คือความคิดที่ยึดถือเรื่องเสรีภาพและความรับผิดชอบของคนแต่ละคน

เอกสารประกอบ
The Mess Created by Trump Will Be with Us for Years, 30.10.2020, spiegel.de
American Discontent: The Rise of Donald Trump and Decline of the Golden Age, John L. Campbell, Oxford University Press, 2018.
The End of American Power, Eliot A. Cohen, October 27, 2020, foreignaffairs.com