ThaiPublica > เกาะกระแส > การจัดการน้ำลุ่มเจ้าพระยา: สทนช. เปิด 9 โครงการใหญ่แก้ปัญหาน้ำท่วม

การจัดการน้ำลุ่มเจ้าพระยา: สทนช. เปิด 9 โครงการใหญ่แก้ปัญหาน้ำท่วม

8 พฤศจิกายน 2023


ที่มาภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/2011_Thailand_floods#/media/File:US_Navy_111022-N-WW409-445_An_SH-60F_Sea_Hawk_helicopter_assigned_to_Helicopter_Anti-Submarine_Squadron_(HS)_14,_flies_around_the_Bangkok_area_with.jpg

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น ปัญหาอุทกภัย หรือน้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทย ก็มีแนวโน้มรุนแรงและยุ่งยากซับซ้อนในการบริหารจัดการมากขึ้น ไทยซึ่งมีเป้าหมายจะก้าวสู้ประเทศรายได้ระดับสูง ต้องมีแผนบริหารจัดการน้ำที่ชัดเจน ต้องไม่เกิดน้ำท่วมหรือแล้ง ที่มีผลเสียและสร้างความเสี่ยงต่อธุรกิจในการพัฒนาประเทศ ทั้งภาคเกษตร ภาคท่องเที่ยว ภาคการผลิต รวมไปถึง EEC

โดยพื้นที่น้ำท่วมหลักจะอยู่ในบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ครอบคลุมพื้นที่ 1.58 แสนตารางกิโลเมตร และถือเป็นเขตเศรษฐกิจหลักของประเทศ จึงส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของผู้คน ต่อชุมชน เกิดความเสียหายต่อพื้นที่เกษตรภาคอุตสาหกรรม การค้า การท่องเที่ยว จำนวนมหาศาล

นับตั้งแต่ผ่านพ้นมหาอุทกภัยในปี 2554 หน่วยงานของไทยที่เกี่ยวข้องได้ทำการศึกษาและวางแผนแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยบูรณาการความร่วมมือทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการมาโดยตลอด

ธนาคารโลกซึ่งมีคณะทำงานร่วมกันกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นกับกรมชลประทาน เห็นว่าประเทศไทยต้องมีแผนในการจัดการบริหารจัดการน้ำระยะยาว 20 ปี ใน 5-6 ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ท่วม แล้ง อุปโภคบริโภค การบริหารจัดการสถาบันทางน้ำ ที่จะนำไปสู่การปฏิบัติ จึงได้จัดเวิร์คชอปร่วมกับกรมชลประทานในหัวข้อ Lower Chao Phraya River Flood Risk Management and Mitigation ขึ้นเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 เพื่อร่วมขับเคลื่อนการจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่มีผลกระทบต่อทั้งสิ่งแวดล้อม สังคม ชีวิต ผู้คน ทรัพย์สิน รวมไปถึง Landscape ใหม่ของประเทศที่มีการผันน้ำจากบนลงล่าง ให้ครอบคลุม เพื่อให้การบริหารจัดการ น้ำท่วม น้ำแล้ง และผลกระทบต่อชีวิตผู้คน เศรษฐกิจ สังคมได้ดีขึ้น

นายขยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า จากสถิติจะพบว่า พื้นที่กรุงเทพฯ และลุ่มน้ำเจ้าพระยา เกิดปัญหาน้ำท่วมใหญ่ถี่ขึ้น ตั้งแต่น้ำท่วมใหญ่ปี 2485 ต่อมาอีก 33 ปี จึงเกิดน้ำท่วมใหญ่ปี 2518 จากนั้นห่างมา 8 ปีเกิดน้ำท่วมอีกในปี 2526 อีก 12 ปีต่อมา เกิดน้ำท่วม 2538 อีก 7 ปีต่อมา เกิดน้ำท่วมปี 2545 ต่อมาอีก 4 ปี เกิดน้ำท่วมใน ปี 2549 ที่หนักสุดคือปี 2553 และปีต่อมา 2554 ก็เกิดน้ำท่วมอีก นอกจากนี้ หลังจากเกิดน้ำท่วมหนักในปีที่แล้วก็เกิดลานีญา พื้นที่น้ำท่วมมีทั้งในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา และภาคอีสาน ทำให้รัฐบาลต้องวางแผนในการแก้ไขปัญหา

นอกจากนี้ ปัญหาน้ำท่วมใหญ่ยังสร้างความเสียหายอย่างมาก โดยความเสียหายปี 2538 ที่เกิดน้ำท่วมหนักและมีความเสียหาย แต่เทียบกับปี 2554 มีความเสียหายมากกว่า โดยธนาคารโลกประเมินความเสียหายไว้ 1.4 ล้านล้านบาท ขณะที่ปี 2553 เสียหาย 2 หมื่นกว่าล้านบาท เพราะเมืองหรือชุมชนอุตสาหกรรมมีมากขึ้น ผลกระทบจึงมากขึ้น ทำให้ต้องมีกระบวนการวางแผนในการแก้ไขปัญหาเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเหล่านี้กับประเทศไทยอีก และสร้างความมั่นคงเรื่องน้ำภาคปกติ

สำหรับภาพรวมพื้นที่ประเทศไทยนั้น ในลุ่มน้ำเจ้าพระยามีลุ่มน้ำหลัก คือ ลุ่มน้ำตอนบน ประกอบด้วย แม่น้ำปิง วัง ยม น่าน

    โดยแม่น้ำปิง มีเขื่อนภูมิพลที่สามารถตัดยอดน้ำได้ส่วนหนึ่งและเก็บกักน้ำได้ส่วนหนึ่ง 1.3 หมื่นกว่าล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)
    แม่น้ำวัง มีเขื่อนกิ่วลม เขื่อนกิ่วคอหมาย ที่กักน้ำรวมได้ประมาณ 200 กว่าล้านลบ.ม. และสามารถตัดยอดน้ำได้
    แม่น้ำยม ยังไม่มีเขื่อนต้นน้ำในการเก็บกักน้ำ ปัจจุบันมีโครงการพระราชดำริ เขื่อนน้ำปี๊ ที่กรมชลประทานกำลังก่อสร้างอยู่ ขนาดประมาณ 100 ล้านลบ.ม. คาดว่าจะแล้วเสร็จในอีก 2-3 ปี คาดว่าจะตัดยอดน้ำส่วนเกินในแม่น้ำยมได้ส่วนหนึ่ง
    ส่วนแม่น้ำน่าน มีเขื่อนสิริกิต์ ที่เป็นเขื่อนขนาดใหญ่ เก็บกักน้ำได้ 9.5 พันล้านลบ.ม.

เขื่อนต่าง ๆ เหล่านี้สามารถดูแลพื้นที่ตอนบนของแม่น้ำเจ้าพระยาได้ประมาณ 25% ขณะที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง หรือใต้เขื่อนที่ไม่มีจุดตัดยอดน้ำส่วนเกิน คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 75% ของลุ่มน้ำเจ้าพระยามีความเสี่ยง (สีเขียวในภาพ)

จุดนี้ที่ต้องมีการบริหารจัดการ และมีข่าวตลอดว่า เป็นพื้นที่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีความเสี่ยงค่อนข้างเยอะ โดยพื้นที่ที่สำคัญที่ต้องมีบริหารจัดการมีกว่า 100 ล้านไร่ เพราะมีความต่อเนื่องกับพื้นที่ตอนบน

นายชยันต์ กล่าวถึงสาเหตุของการเกิดอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่ ว่า มีหลายสาเหตุ ประกอบด้วย

1)สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง โลกร้อน ทำให้พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบนมีฝนมากขึ้น ขณะที่การสร้างอ่างเก็บน้ำไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องทำความเข้าใจกับประชาชน ต้องดำเนินการตามกระบวนการต่าง ๆ ทางกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมให้ครบถ้วน มีการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ที่สำคัญ คือ ถ้าประชาชนไม่ให้ความร่วมมือ ไม่ให้การสนับสนุน โครงการก็ไม่สามารถขับเคลื่อนได้ นี่เป็นหลักสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจ

นอกจากนี้ การที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ทำให้ฝนตกท้ายอ่างเก็บน้ำที่สร้างไว้ ซึ่งเป็นเรื่องยากในการบริหารจัดการ แม้ว่าหน่วยงานด้านปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นกรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ และหน่วยงานอื่น ๆ รวมถึง สทนช.เอง จะร่วมกันบูรณาการในการแก้ปัญหาอุทกภัย ด้วยการตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า แต่ก็จะถูกตำหนิตลอดว่า บริหารจัดการไม่ถูกต้อง ทั้งที่ไม่สามารถให้ฝนไปตกเหนือเขื่อนได้ นี่เป็นความยาก เพราะเป็นเรื่องธรรมชาติ จึงจำเป็นต้องสร้างเครื่องมือขึ้น เพื่อบริหารจัดการกรณีฝนตกท้ายเขื่อน

2)ปัญหาสภาพภูมิประเทศ ลำน้ำเจ้าพระยาที่เป็นแม่น้ำสายหลักของประเทศ พอมาถึงจังหวัดอยุธยา พบว่า ขนาดลำน้ำมีความแคบประมาณ 83 เมตร เทียบกับที่อื่นที่กว้าง 200 เมตร ถ้ามีน้ำจากเขื่อนในลำน้ำเจ้าพระยาที่มีประมาณ 2,800 ล้านลบ.ม. เติมด้วยด้านท้ายน้ำอีก จะทำให้จุดนี้มีผลกระทบ โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างก่อสร้างเพื่อแก้ไขปัญหา

3)ตะกอน เนื่องจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา อย่างบริเวณต้นแม่น้ำน่าน น้ำจะขุ่น เพราะมีการทำลายป่า มีการปลูกพืชไร่ เมื่อเกิดการทับถมของตะกอน ทำให้การระบายน้ำไม่เต็มศักยภาพ ก็ต้องพิจารณาว่าจะต้องขุดลอกจุดไหน ทำการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ในพื้นที่ลุ่มต่ำ ก็ต้องมาพิจารณาว่าพื้นที่ไหนสามารถตัดยอดน้ำได้เพื่อลดปริมาณน้ำที่จะลงมาตอนล่าง

4)ประเด็นสำคัญอีกจุด คือ การที่น้ำทะเลสูงขึ้นจากภาวะโลกร้อน การหนุนของน้ำทะเลก็เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำ เป็นอุปสรรคต่อการนำน้ำจืดมาใช้เพื่อผลิตน้ำประปา ต้องพิจารณาจุดนี้ด้วย เพราะบางครั้งที่มีการวางแผนผลักดันน้ำออกสู่ทะเล วางแผนบริหารเขื่อนลำน้ำเจ้าพระยาที่เป็นเขื่อนหลัก เป็นหัวใจหลักในการบริหารเขื่อนในแม่น้ำเจ้าพระยา เวลาบริหารร่วมกันในศูนย์ส่วนหน้า ทุกหน่วยงานจะมาบูรณาการว่าทำอย่างไรให้เอาน้ำส่วนเกินออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุด

“ขณะเดียวกัน ต้องดูว่าจะเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งอย่างไร ต้องดูทั้งสองมิติ เพราะคงได้ข่าวว่าพอหมดท่วม แล้งเลย ก็จะถูกตำหนิอีก ปัจจุบัน สทนช. มีมาตรการในการรับมือช่วงฤดูแล้ง ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติแล้วในการปฏิบัติการเติมน้ำ การเตรียมการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้น้ำต่าง ๆ เพื่อรองรับฤดูแล้งด้วย”

5)เรื่องสำคัญอีกเรื่อง คือ การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน บางครั้งสภาพภูมิประเทศเดิมเป็นที่ลุ่ม พอมีการพัฒนามีการถม มีการก่อสร้าง เป็นสถานที่ เป็นตลาด เป็นชุมชน ทำให้พื้นที่รับน้ำหายไป บางครั้งขอบเขตเป็นร่องระบายน้ำ เป็นสะพาน พอด้านท้ายเป็นห้างใหญ่ หรือหมู่บ้าน สทนช.ก็พยายามจัดทำผังน้ำเพื่อควบคุมการบริหาจัดการบริเวณริมน้ำ ร่วมกับสำนักผังเมือง เพื่อให้เกิดการใช้ที่ดินให้สอดรับกับการระบายน้ำในอนาคต โดยการดำเนินการจะมีการสำรวจ การศึกษา สิ่งกีดขวางลำน้ำที่จะต้องขับเคลื่อนด้วย โดยเฉพาะในลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่จะต้องผลักดัน เพื่ออาศัยทุกมิติให้แก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน

การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน

6)สุดท้าย คือชุมชน การตั้งถิ่นฐานต่าง ๆ เมื่อก่อนพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ สมัยที่เริ่มก่อสร้างเขื่อนเจ้าพระยา ก่อสร้างระบบชลประทาน ตั้งแต่ปี 2500 กว่า ๆ นั้น ชุมชนไม่หนาแน่นเท่าปัจจุบัน แต่ปัจจุบันประชาชนชอบอาศัยอยู่ตามริมน้ำ แต่เมื่อถึงฤดูฝนต้องมีการระบายน้ำตามหลักเกณฑ์ที่ออกแบบไว้ ก็เกิดผลกระทบ จะเห็นว่าตั้งแต่จังหวัดนครสวรรค์จนถึงปากอ่าวไทยนั้น นอกจากการใช้ที่ดินที่เปลี่ยนไปแล้ว พื้นที่เกษตรก็เปลี่ยนไป พื้นที่ทำนาสามารถเก็บเกี่ยว สามารถพร่องน้ำได้ พื้นที่เมืองเพิ่มมากขึ้น ท้องถิ่นมีความเข้มแข็งมากขึ้น ทุกหน่วยงานมีการป้องกันตัวเอง ทำให้ลำน้ำหลักต้องรับหน้าที่มากขึ้น

นายชยันต์ กล่าวว่า ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ทำให้การบริหารจัดการเรื่องน้ำมีความยุ่งยากมากยิ่งขึ้น

โดยปัจจุบัน หลักเกณฑ์ในการปล่อยน้ำในเขื่อนเจ้าพระยา ถ้ามีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนตั้งแต่ 700 ลบ.ม.ต่อวินาที จะทำให้เกิดผลกระทบ เช่น เวลาเฝ้าระวังที่สถานีวัดน้ำ จ.อยุธยา จะพบว่า จะเกิดผลกระทบที่ต.โผงเผง ต.บางบาล และหากน้ำหลากมากขึ้น ชุมชนที่อยู่นอกคันกั้นน้ำจะบริหารจัดการได้ยากขึ้น ต้องมีการทำความเข้าใจกับประชาชน มีการชี้แจงหรือแจ้งเตือนเมื่อจะมีการปล่อยน้ำเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อประชาชนได้ โดยการปล่อยน้ำเกิน 1,000 ลบ.ม.ต่อวินาทีขึ้นจะมีการตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า ปัจจุบันก็ยังมีอยู่ โดยปีนี้กำหนดการระบายน้ำสูงสุดไว้ 1,800 ลบ.ม.ต่อวินาที ปัจจุบันระบายประมาณ 1,400 ลบ.ม.ต่อวินาที แต่ปีที่แล้วระบายเพิ่มขึ้นไปถึง 3,000 กว่าลบ.ม.ต่อวินาที ทำให้ยุ่งยากในการบริหารจัดการ

อย่างไรก็ตาม นายชยันต์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้วางแผนในอนาคตให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพได้ และลดความเสียหาย โดยมีแนวคิดจากการศึกษาของหลายหน่วยงาน ประกอบด้วย

    1)การเพาะปลูกเพื่อลดความเสียหาย เนื่องจากพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ทำการเกษตร ทำนา แต่รูปแบบการปลูก ห้วงเวลาการปลูก จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดผลกระทบ และหลังจากการเก็บเกี่ยวแล้ว กรมชลประทานก็มีการผลักดันน้ำไปฝากในพื้นที่นาดังกล่าว ทำให้ช่วงหน้าแล้งมีน้ำเก็บไว้เป็นต้นทุนในการทำนาด้วย

    2)ส่งเสริมให้ประชาชนปรับตัวในการอยู่กับน้ำ การสร้างบ้านอาจต้องมีใต้ถุนสูง ซึ่งเมื่อก่อนบ้านในพื้นที่ลุ่มต่ำก็มีลักษณะแบบนี้อยู่แล้ว คนรุ่นเดิมมีการปรับตัวเพื่ออยู่กับน้ำอยู่แล้ว แต่คนรุ่นหลัง เนื่องจากไม่ได้เกิดน้ำท่วมมานาน มีการปรับถมพื้นที่ ทำให้เกิดผลกระทบ แต่ถ้าปรับตัวให้อยู่กับน้ำได้ น้ำท่วมบ้านก็อยู่ได้ ใช้เรือเข้าออก

    3)ขีดความสามารถในการระบายน้ำ ลำน้ำบางแห่งมีตะกอนค่อนข้างเยอะ เนื่องจากต้นน้ำมีป่าไม้เสียหาย ก็จะต้องอาศัยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กรมเจ้าท่า มาปรับปรุงแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อเพิ่มศักยภาพในการระบายน้ำ เช่นเดียวกับแม่น้ำท่าจีนที่มีความคดเคี้ยวมาก จะพัฒนาอย่างไรให้มีการระบายน้ำได้ดีขึ้น และที่จังหวัดอยุธยา ที่มีช่วงหนึ่งที่ลำน้ำกว้างเพียง 83 เมตร ประสิทธิภาพการระบายน้ำสูงสุดได้ประมาณ 1,200 ลบ.ม.ต่อวินาที ในแผนจึงมีโครงการบางบาล-บางไทร โดยกรมชลประทานอยู่ระหว่างการขับเคลื่อนโครงการได้แล้ว 45% ซึ่งหากแล้วเสร็จ จะช่วยให้อยุธยาไม่เกิดผลกระทบ

นอกจากนี้ ยังมีโครงการพระราชดำริหลายโครงการที่กรมชลประทานได้ดำเนินการ เช่น ที่จ.จันทบุรี มีโครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัย โดยขุดทางเบี่ยงน้ำเพื่อรับน้ำจากเทือกเขาตอนบนให้ไหลเลี่ยงตัวเมืองลงสู่ทะเล เนื่องจากแม่น้ำเดิมมีศักยภาพในการระบายเต็มที่ 5,000 ลบ.ม.ต่อวินาที แต่มีน้ำส่วนเกิน 3,000 ลบ.ม.ต่อวินาที แต่หลังจากขุดทางเบียงน้ำแล้วเสร็จปี 2554 ปรากฏว่า ไม่เกิดน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี จะเห็นว่าเป็นโครงการที่เกิดประโยชน์ แต่ที่จ.สงขลา มีโครงการบรรเทาอุทกภัยที่อ.หาดใหญ่ ด้วยการก่อสร้างคลองระบายน้ำที่ออกแบบไว้รองรับได้ 25 ปี และสามารถรองรับได้ระดับหนึ่ง แต่มาปีหลัง ๆ เกิดฝนตกมากที่สุดในรอบ 75 ปี ทำให้กรมชลประทานต้องมาปรับปรุงให้ใหญ่ยิ่งขึ้น เพราะหาดใหญ่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ เช่นเดียวกัน

นายชยันต์ กล่าวว่า ฉะนั้น โครงการที่จะรองรับไปได้นาน ต้องมีการลงทุนค่อนข้างเยอะ และถ้าอนาคตมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ก็ต้องมาพิจารณากันใหม่ โดยโครงการขนาดใหญ่มีเรื่องสำคัญ ๆ ที่ต้องดำเนินการ คือ บางโครงการต้องศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามกฎหมาย การเสนอโครงการขนาดใหญ่หลังจากผ่านคณะกรรมการทรัพยากรน้ำระดับจังหวัดแล้ว ต้องผ่านคณะกรรมการลุ่มน้ำแห่งชาติ เพื่อเข้าสู่ระบบตามกระบวนการ เมื่อคณะกรรมการลุ่มน้ำแห่งชาติเห็นชอบแล้ว จึงจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติ และเสนองบประมาณ

นอกจากนี้ยังมีความยุ่งยากในการทำความเข้าใจกับประชาชน ในขณะที่บางพื้นที่โครงการผ่าน EIA แล้ว ก็ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนที่อาศัยอยู่ริมน้ำ บางโครงการต้องจัดซื้อที่ดินหรือเวนคืนเพื่อการก่อสร้าง บางครั้งประชาชนไม่พอใจกับราคาที่รัฐบาลกำหนดให้ แม้จะมีการออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนก็ตาม ปัจจุบันถ้าประชาชนไม่เห็นด้วย ไม่ตกลงด้วย ก็ขับเคลื่อนไม่ง่าย เวลานี้ทุกหน่วยงานที่ต้องจัดซื้อที่ดิน ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนจึงจะสามารถขับเคลื่อนได้

นายชยันต์ กล่าวว่า เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้มีการจัดทำโครงการศึกษารวม 9 แผนซึ่งเป็นแผนขนาดใหญ่ ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการดำเนินการขับเคลื่อน เช่น การก่อสร้าง ลงรายละเอียดในแผนหลัก แต่เป็นแผนที่มีการปรับปรุงและสอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยอยู่ระหว่างการเสนอให้ครม. เห็นชอบ โดย 9 แผนดังกล่าวประกอบด้วย

    โครงการที่ 1 การปรับปรุงระบบชลประทาน เพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำให้ดียิ่งขึ้น
    โครงการที่ 2 โครงการชัยนาท-ป่าสัก-อ่าวไทย เป็นโครงการก่อสร้างคลองระบายน้ำหลัก ชัยนาท-ป่าสัก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำจาก 130 ล้านลบ.ม.ต่อวินาที เป็น 930 ล้านลบ.ม. อีกโครงการ คือ คลองระบายน้ำหลักป่าสัก-อ่าวไทย ที่กรมชลประทานอยู่ระหว่างการเสนอผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หากผ่านคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ก็จะขับเคลื่อนก่อสร้างโครงการได้ ทั้งสองโครงการจะบายพาสน้ำยอดเหนือเขื่อนเจ้าพระยาไม่ให้ไหลผ่านพื้นที่สำคัญ แล้วระบายออกสู่ทะเล สามารถระบายได้ 600 ลบ.ม.ต่อวินาที
    โครงการที่ 3 เป็นโครงการการศึกษาขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) ในการก่อสร้างคลองผันน้ำตามแนวถนนวงแหวนรอบนอกรอบที่ 3 ที่ศึกษาว่าสามารถระบายน้ำได้ 600 ลบ.ม.ต่อวินาที ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ และรายละเอียดของโครงการ
    โครงการที่ 4 โครงการปรับปรุงโครงข่ายระบบชลประทานในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ขณะนี้ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติให้กรมชลประทานดำเนินการแล้ว แต่ต้องหารือกับสำนักงบประมาณถึงกรอบวงเงินงบประมาณ เพราะมีการลงทุนค่อนข้างสูง และงบประมาณปกติมีการใช้ในพื้นที่อื่นด้วย จึงต้องรอดูนโยบายของรัฐบาล
    โครงการที่ 5 การเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ เป็นหน้าที่ของกรมเจ้าท่าในการสำรวจลำน้ำเจ้าพระยาเพื่อทำการขุดลอก จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำได้ประมาณ 2,500 ลบ.ม.ต่อวินาที
    โครงการที่ 6 โครงการบริหารจัดการพื้นที่นอกคันกั้นน้ำเจ้าพระยา ดำเนินการโดยกรมโยธาธิการ และสำนักผังเมือง มีทั้งหมดมี 11 ชุมชน ขับเคลื่อนไปแล้ว 7 ชุมชน เหลืออีก 4 ชุมชนที่ต้องขับเคลื่อนต่อ ซึ่งมีความคืบหน้าค่อนข้างมาd
    โครงการที่ 7 โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อจ.อยุธยา ทำให้รับน้ำเพิ่มได้อีก 1,200 ลบ.ม.ต่อวินาที จากเดิมรับน้ำได้ 1,200 ลบ.ม.ต่อวินาที รวมแล้ว 2,400 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งจะทำให้ตัวเมืองอยุธยาไม่เกิดผลกระทบ มีความมั่นคงในเรื่องน้ำท่วม ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างไปแล้ว 45% ตามแผนจะเสร็จในปี 2569
    โครงการที่ 8 การเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำท่าจีน มีจุดที่ต้องขุดลอก และให้ระบายน้ำออกสู่ทะเลได้เร็วขึ้น ตามแผนจะเพิ่มการระบายน้ำได้อีก 71 ลบ.ม.ต่อวินาที
    โครงการที่ 9 แผนงานพื้นที่รับน้ำนอง คือ แม่น้ำเจ้าพระยาจะมี 4 พื้นที่ลุ่มน้ำรับน้ำนอง ปัจจุบันมีการใช้งานอยู่ ถ้าบริหารจัดการเต็มที่จะรับน้ำได้ 1,300 ล้านลบ.ม. แต่ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนค่อนข้างมาก ต้องขับเคลื่อนสาธารณูปโภคต่าง ๆ เช่น ถนน ที่ต้องยกระดับให้สูงขึ้น เพิ่มเครื่องมือในการดึงน้ำเข้าและผลักน้ำออก ไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบที่ต้องขับเคลื่อนต่อ และมีหลายหน่วยงานเข้ามาช่วยดำเนินการ

นายชยันต์ กล่าวว่า ถ้าทำโครงการทั้งหมดได้ จะทำให้ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบนสามารถตัดยอดน้ำส่วนเกินได้ประมาณ 870 ลบ.ม.ต่อวินาที น้ำที่ไหลมาตรงกลางลุ่มน้ำเจ้าพระยา จะตัดยอดน้ำได้อีก 569 ลบ.ม.ต่อวินาที และทำให้น้ำออกสู่ทะเลได้ถึง 1,439 ลบ.ม.ต่อวินาที ก็จะเกิดความมั่นคงเรื่องน้ำท่วมได้ดีมากระดับหนึ่ง ที่สำคัญ คลอดขุดใหม่จะเก็บน้ำได้ 218 ล้านลบ.ม. ถือเป็นอ่างขนาดใหญ่ที่สามารถนำมาใช้ด้านการเกษตร หรือด้านอุปโภคบริโภค การประปา ทำให้ระบบประปามีความมั่นคงยิ่งขึ้น เพราะเวลานี้การผลิตน้ำประปาของการประปานครหลวงต้องดูน้ำต้นทุน เนื่องจากบางช่วงน้ำทะเลหนุนสูง เป็นต้น