ThaiPublica > ประเด็นร้อน > เชื่อมโลกให้ไทยแล่น > สกพอ.ใช้ “แสงไฟกลางคืน” วิเคราะห์การขยายตัวของเมืองในพื้นที่ EEC

สกพอ.ใช้ “แสงไฟกลางคืน” วิเคราะห์การขยายตัวของเมืองในพื้นที่ EEC

29 มกราคม 2022


ข่าวประชาสัมพันธ์

ผศ.ดร.ณัฐพงษ์ พัฒนพงษ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สกพอ.ใช้ข้อมูล“แสงไฟกลางคืน” วิเคราะห์การเจริญเติบโตของเมืองในเขต EEC พบพื้นที่ที่มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานส่วนใหญ่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ยกเว้นพื้นที่ “พัทยา” หดตัว เนื่องจากได้รับผลกระทบโควิดฯ

ปัจจุบันข้อมูลดาวเทียมได้รับการเผยแพร่สู่สาธารณะโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทำให้สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการติดตามภาวะเศรษฐกิจในทุกพื้นที่บนโลกได้โดยสะดวกขึ้น ทั้งนี้องค์กรระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารโลก (World Bank) ได้ระบุในงานวิจัยปี 2560 ว่าการติดตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจของพื้นที่โดยรอบเขตเศรษฐกิจพิเศษ สามารถนำข้อมูลแสงไฟกลางคืน (Nighttime Light: NTL) มาใช้เป็นดัชนีหลักในการวิเคราะห์ และในปี 2563-2564 ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ได้ตีพิมพ์รายงานที่เน้นการศึกษาในกรณีของประเทศไทย และระบุว่าข้อมูล NTL ร่วมกับข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมอื่นๆ สามารถนำมาใช้ในติดตามสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของไทยได้เป็นอย่างดี

ดร.ณัฐพงษ์ พัฒนพงษ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากการศึกษาข้อมูลแสงไฟกลางคืน หรือ “NTL” โดย สกพอ. ได้นำข้อมูลดังกล่าวมาทำเป็นดัชนี เพื่อใช้วิเคราะห์การเจริญเติบโตของเมืองในเขตพื้นที่ EEC ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 โซน พบว่า ในช่วงปี 2561-2564 พื้นที่ 2 โซนแรก (ดูตารางประกอบด้านล่าง) คือ 1) พื้นที่บริเวณอำเภอบ้านฉาง – อู่ตะเภา – มาบตาพุด – อำเภอเมืองระยอง และ 2) พื้นที่บริเวณอำเภอบ้านบึง – หนองใหญ่ – บ้านค่าย – ปลวกแดง – นิคมพัฒนา – วังจันทร์ มีอัตราการขยายตัวของ NTL โดยเฉลี่ยสูงกว่าในช่วงปี 2555-2560 แสดงให้เห็นว่า พื้นที่ 2 โซนแรกตามที่กล่าวข้างต้นนี้มีการเจริญเติบโตของเมืองเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน , การส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของ EEC ตั้งแต่เริ่มประกาศใช้ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกฯในปี 2561 จนถึงปัจจุบัน

แต่อย่างไรก็ดี จากผลการวิเคราะห์ยังแสดงให้เห็นว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การท่องเที่ยวและกิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงอย่างมาก ส่งผลทำให้การเติบโตในบริเวณ เมืองพัทยา ในช่วงปี 2561-2564 มีอัตราเฉลี่ยลดลง เมื่อเทียบกับช่วงปี 2555-2560