ThaiPublica > เกาะกระแส > การรับมือกับอุทกภัยและภัยแล้งของไทย (2) : สทนช. สั่งทุกหน่วยงานทำแผนสำรองน้ำไว้ใช้ปีนี้ยาวถึงฤดูฝนปีหน้า รับเอลนีโญ

การรับมือกับอุทกภัยและภัยแล้งของไทย (2) : สทนช. สั่งทุกหน่วยงานทำแผนสำรองน้ำไว้ใช้ปีนี้ยาวถึงฤดูฝนปีหน้า รับเอลนีโญ

2 กรกฎาคม 2023


ภาพต้นแบบจากเพจ World Bank Thailand

วันที่ 28 มิถุนายน ธนาคารโลก (World Bank) เปิดตัว รายงานตามติดเศรษฐกิจไทยของธนาคารโลก ประจำเดือนมิถุนายน 2566 ในหัวข้อ “การรับมือกับภัยแล้งและอุทกภัย” เพื่อสร้างอนาคตที่อยู่รอดและยั่งยืน” โดย ดร.ฟาบริซิโอ ซาร์โคเน ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย และมีนายบุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ รองเลขาธิการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ปาฐกถาในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการอุทกภัยและภัยแล้งของประเทศไทย” รวมทั้งรองศาสตราจารย์ ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) บรรยายพิเศษเรื่อง “อุทกภัย ภัยแล้ง และอนาคตของกรุงเทพมหานคร” และ ดร.เชลลี แม็คมิลลาน ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรน้ำอาวุโส ธนาคารโลก นำเสนอแนวทางการรับมือกับอุกทกภัยและภัยแล้งในประเทศ พร้อมการเสวนา “ประชาชนไทยจะอยู่กับอุทกภัยและภัยแล้งได้อย่างไร?” โดยนายชูชาติ สายถิ่น กรรมการผู้จัดการ บริษัท อมตะ วอเตอร์ จำกัด และกรรมการสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, แอนโทนี เอ็ม. วาตานาเบะ Chief Sustainability Officer จาก Indorama Ventures PCL และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุรักษ์ ศรีอริยวัฒน์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สทนช. ปรับแผนแห่งชาติน้ำรับมือเอลนีโญ สั่งทุกหน่วยงานเตรียมแผนสำรองน้ำรับมือแล้งยาวต่อเนื่อง 2 ปี ชู พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กระจายอำนาจการจัดการน้ำให้ท้องถิ่นด้วย 4 เสาหลัก บูรณาการร่วม 40 หน่วยงาน มั่นใจแล้งรอบนี้คนไทยไม่ขาดแคลนน้ำ

นายบุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า สำนักงานทรัพยากรน้ำเป็นหน่วยงานกลางที่ทำงานบูรณาการบริหารน้ำของประเทศ และดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำแห่งชาติปี 2561 โดยมีหน่วยงานเกี่ยวข้องในการบริหารจัดการน้ำมากกว่า 40 หน่วยงาน ซึ่งปัญหาเดิมของการบริหารจัดการน้ำคือความซ้ำซ้อนทั้งในเชิงโครงสร้าง บทบาทหน้าที่ และการใช้งลบประมาณ รวมถึงขาดความเอกภาพในการปฏิบัติงาน

สทนช. จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในภาพรวมของประเทศ โดยมีการกำหนดเป้าหมายในการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบและมีรูปธรรม โดยอาศัย 4 เสาหลักในการกำหนดทิศทางการดำเนินการ โครงสร้าง และกลไกในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ให้เป็นระบบ เกิดประโยชน์ และเป็นรูปธรรมด้วย

“4 เสาหลักถือเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศให้มีประสิทธิภาพ สร้างความเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการ และนำพาความมั่นคงเรื่องของทรัพยากรน้ำให้กับประเทศ”

นายบุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ รองเลขาธิการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

4 เสาหลักหัวใจบริหารจัดการน้ำ

โดย 4 เสาหลักในการบริหารจัดการน้ำช่วยการขับเคลื่อนการจัดการน้ำ ประกอบด้วย

เสาหลักที่ 1 พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ 2561 มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ 27 มกราคม 2562 ซึ่งถือเป็นกฎหมายน้ำฉบับแรกของไทย และใช้เป็นกติการ่วมกันที่จะให้ทุกภาคส่วนดำเนินการกิจการเรื่องน้ำ การบูรณาการจัดการ และให้มีเป้าหมายในการดำเนินการด้วยกัน

สิ่งสำคัญของ พ.ร.บ.น้ำ คือจำเป็นต้องมีกฎหมายรองและกฎหมายลูก ซึ่งจะเป็นกลไกในการขับเคลื่อนให้มีการบูรณาการจัดการในเรื่องน้ำไปด้วยกันของทุกหน่วยงานและภาคประชาชน สิ่งที่สำคัญที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.น้ำ ซึ่งมีความจำเป็นต้องดำเนินการ เช่น การกำหนดลุ่มน้ำใหม่ของประเทศเป็น 22 ลุ่มน้ำ มีการจัดการผังน้ำ และแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับประเทศและระดับลุ่มน้ำ นอกจากนี้ มีการกำหนดการใช้น้ำของประเทศไทย ซึ่งมีการจัดลำดับความสำคัญของกิจการการใช้น้ำในแต่ละลุ่มน้ำ ที่มีบริบทไม่เหมือนกัน รวมถึงมีการจัดตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำ องค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งในระดับประเทศ ระดับลุ่มน้ำ และระดับพื้นที่

”เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ต้องการให้มีการบริหารจัดการน้ำ มีการบูรณาการน้ำร่วมกัน ให้มีการทั้งการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรน้ำร่วมกัน ที่สำคัญมีการกำหนดสิทธิในน้ำ ซึ่งภาคประชาชนต่างๆ จะมีสิทธิการใช้น้ำ ซึ่งจะมีข้อกำหนดอยู่ในกฎหมายลูกที่ดำเนินการจัดทำแล้ว”

พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำประกอบด้วย 9 หมวดสำคัญ ใน 106 มาตรา โดยมีหมวดที่ 5 เป็นเรื่องของการจัดการภาวะน้ำแล้ง น้ำท่วม ซึ่งกำหนดให้มีการจัดแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้งน้ำท่วมล่วงหน้าของทุกลุ่มน้ำ ทำให้ทราบว่าเวลาเกิดภัย ใครต้องทำอะไร ที่ไหนอย่างไร ในกรณีที่เตือนภัย ในแต่ละลุ่มน้ำ โดยทั้งหมดเป็นบทบาทหน้าที่จัดทำของคณะกรรมการลุ่มน้ำ

แผนแม่บทจัดการน้ำ 20 ปี

เสาหลักที่ 2 คือ แผนแม่บทจัดการจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ซึ่ง สทนช. เป็นเจ้าภาพในการจัดทำแผนแม่บทฯ ซึ่งเป็นตัวกำหนดแนวทางทิศทางในการบริหารทรัพยากรน้ำ รวมไปถึงการพัฒนาแหล่งน้ำให้ไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีเป้าหมายและตัวชี้วัดร่วมกันของทุกหน่วยงาน

สำหรับแผนแม่บทการจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปีมีเงื่อนไขว่า จะต้องทบทวนปรับปรุงแผนทุก 5 ปี เปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับบริบทในปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้หน่วยงาน สทนช. ได้ปรับปรุงแผนแม่บทแล้ว โดยนำเอาประเด็นท้าทายใหม่ที่ส่งผลต่อการบริหารจัดการน้ำในอนาคตเข้ามาพิจารณาด้วย เช่น การเกิดโรคอุบัติใหม่ การระบาดของโควิด-19 ทำให้มีการย้ายแรงงานสู่ท้องถิ่น ก็ต้องมีการพิจารณาพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อรองรับแรงงานคืนถิ่น เพื่อให้มีน้ำใช้ในการอุปโภคบริโภคหรือการประกอบอาชีพอย่างเพียงพอ รวมไปถึงมีการพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ในแผนแม่บทด้วย

นอกจากนั้น ยังคำนึงถึงมาตรการแก้ไขปัญหาที่อาศัยธรรมธรรมชาติเป็นพื้นฐาน มีการพิจารณาเรื่องน้ำในเศรษฐกิจหมุนเวียน และการฟื้นตัว รวมถึงการปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศน์ ตลอดจนการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการน้ำมากขึ้น โดยมีภาคีเครือข่ายในทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนราชการ ซึ่งแผนแม่บทฉบับใหม่ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้เห็นชอบเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2565 แล้วรอเสนอ คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเพื่อใช้ต่อไป

  • การรับมือกับอุทกภัยและภัยแล้งของไทย (1) : World Bank แนะวิเคราะห์ต้นทุน-ประโยชน์ให้ชัด เพื่อจัดลำดับความสำคัญมาตรการป้องกัน
  • แผนแม่บทบริหารจัดการน้ำ 20 ปีนี้ ได้ปรับปรุงเหลือ 5 ด้านหลัก คือ

      1. การจัดการน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค เน้นไปที่ทุกหมู่บ้านตำบลต้องมีน้ำใช้รวมทั้งมาตรฐานความสะอาดคุณภาพของน้ำ

    2. สร้างความมั่นคงของน้ำในภาคการผลิต

    3. การจัดการอุทกภัย น้ำท่วม

    4. การจัดการคุณภาพน้ำ และอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ

    5. การบริหารจัดการ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ และประการสำคัญคือ การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งจะบรรจุไว้ในด้านที่ 5 ซึ่งจะมีแผนงานโครงการต่างๆ รองรับไว้แต่ละด้านเรียบร้อย

    ปัจจุบัน สทนช. กำลังขับเคลื่อนการถ่ายทอดชี้วัดแผนแม่บทระดับชาติลงสู่ไปแผนแม่บทระดับลุ่มน้ำ โดยให้คณะกรรมการลุ่มน้ำดำเนินการ ปัจจุบันกำลังดำเนินการคาดว่าจะแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้ และจะใช้เป็นเครื่องมือวัดในการบริหารจัดการน้ำในระดับลุ่มน้ำได้

    3 องค์กรบริหารจัดการน้ำบูรณาการ

    เสาหลักที่ 3 องค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ใน พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำกำหนดให้มีองค์กร 3 ระดับ คือ
    องค์กรระดับที่ 1 ผู้ใช้น้ำ คือภาคประชาชน และภาคเอกชน มีการแบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ 1. ภาคการเกษตร 2. ภาคอุตสาหกรรม 3. พาณิชยกรรม ซึ่งองค์กรผู้ใช้น้ำต่างๆ นี้จะมีหน้าที่ในการจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ตัวเอง

    องค์กรระดับ 2 คณะกรรมการลุ่มน้ำ ซึ่งมีความสำคัญในระดับพื้นที่อย่างสูง บทบาทหลักในการบริหารจัดการจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำ และแผนพัฒนาแหล่งน้ำ รวมถึงแผนการจัดการมวลน้ำในระดับลู่มน้ำของตนเอง และระดับจังหวัดด้วย

    องค์กรที่ 3 ในระดับประเทศ คณะกรรมการน้ำแห่งชาติ เป็นผู้กำหนดนโยบายและขับเคลื่อนงานทำให้เกิดบูรณาการในทุกมิติได้ ซึ่งคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะทำงาน

    ส่วนกรณีเกิดวิกฤติ เช่น การเกิดอุทกภัยปี 2554 เป็นบทเรียนของไทย ซึ่งใน พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำใน มาตรา 24 กำหนดไว้ว่า กรณีที่เกิดภัยพิบัติด้านน้ำในภาวะรุนแรงจะมีการจัดตั้งศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ ซึ่งศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บัญชาการ ทำงานร่วมกับกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ของกระทรวงมหาดไทยใช้กรณีเกิดวิกฤติ ในช่วงที่ยังไม่ถึงขั้นวิกฤติ รัฐบาลได้ตั้งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติขึ้น ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ซึ่งปัจจุบันได้ใช้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติในการขับเคลื่อนงานรับมือทั้งในฤดูแล้งและฤดูฝนเป็นประจำปี และขณะนี้ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน

    ”จะเห็นได้ว่า พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ถือเป็นการกระจายอำนาจการบริหารจัดการน้ำให้ลงไปในระดับพื้นที่ เพื่อให้ภาคประชาชนของเรามีส่วนร่วมในการจัดการน้ำ ซึ่งจะทำให้ยั่งยืนได้ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งในพื้นที่ตัวเอง”

    เสาหลักที่ 4 นวัตกรรมและเทคโนโลยี สทนช. ได้ขับเคลื่อนงานในหลายส่วนด้วยกัน เช่น การพัฒนาเผยแพร่งานเทคโนโลยี และศึกษาวิจัย ทำงานร่วมกับเครือข่ายด้านทรัพยากรน้ำของไทยทุกส่วนราชการที่มีการบริหารจัดการน้ำของประเทศ มีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งในระดับชาติ ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในประเทศและนานาชาติ และเสริมสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาคเอกชนและภาคประชาชน

    ส่วนเทคโนโลยีและเครื่องมือที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในการบริหารจัดการน้ำร่วมกัน ที่สำคัญ คือ

    ระบบติดตามคาดการณ์สถานการณ์น้ำ หรือ Nation Thai Water มีศูนย์ข้อมูลน้ำแห่งชาติ ในการเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำทั้งในระดับจังหวัด ระดับประเทศ เพื่อให้สามารถจัดการน้ำได้อย่างทันสถานการณ์แบบเรียลไทม์ เป็นความร่วมมือกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) เป็นเครือข่ายภาคีของ สทนช. เป็นเครื่องมือในการติดตามน้ำ

    ระบบที่ 2 ระบบบริหารแผนงานโครงการ หรือ Thai Water Plan เป็นระบบทำการบูรการแผนงานโครงการทั้งหมดของประเทศไทย ที่เสนอแผนงานเพื่อขอรับงบประมาณของทุกหน่วยงานราชการทุกที่ ซึ่งรวมถึงท้องถิ่น สภาตำบลด้วย เพื่อจะช่วยลดความซ้ำซ้อนของแผนงานโครงการ ที่เดิมแต่ละหน่วยแยกกันเสนอไปยังสำนักงบประมาณ ระบบจะคัดกรองความพร้อมของโครงการ ความซ้ำซ้อนของโครงการ ความสอดคล้องของผลลัพธ์ ผลสัมฤทธิ์ที่ตอบสนองต่อแผนแม่บทน้ำ 20 ปีที่อยู่ในเสาหลักที่ 2

    “ในภาพรวมจะใช้แอปพลิเคชันนี้ในการกลั่นกรอง เพื่อเสนอแผนงาน โครงการเข้าสู่รัฐบาล คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติจะเป็นผู้พิจารณาอนุมัติแผนงานประจำปีก่อนนำเสนอ ครม. และในระดับนโยบายเอง สำนักงบประมาณ จะเป็นผู้พิจารณางบประมาณตามแผนงาน โครงการที่ผ่านระบบนี้”

    นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาระบบการขึ้นทะเบียนองค์กรผู้ใช้น้ำ โดยเฉพาะองค์กรผู้ใช้น้ำที่อยู้ในพื้นที่ ได้พัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อให้ภาคประชาชน องค์กรผู้ใช้น้ำ สามารถขึ้นทะเบียนกับ สทนช. ผ่านระบบออนไลน์ ไม่ต้องยื่นเอกสาร

    ส่วนที่ 4 ได้จัดทำทะเบียนแหล่งน้ำทั่วประเทศแล้ว ร่วมกับ GISTDA และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเข้าสู่ระบบทะเบียนแหล่งน้ำของประเทศไทย เพื่อให้การบริหารจัดการใช้ข้อมูลเป็นชุดเดียวกัน

    ”แหล่งน้ำต่างๆ ทั่วประเทศ ถ้าไม่ใช่แหล่งน้ำที่ส่วนราชการสร้างขึ้น แหล่งน้ำสาธารณะจะมีถึง 200,000-300,000 แห่งจากภาพถ่ายดาวเทียม ซึ่งเราได้จัดทำทะเบียนแหล่งน้ำเหล่านี้แล้ว หน่วยงานต่างๆ จะได้ข้อมูลต่างๆ เป็นข้อมูลชุดเดียวกัน”

    นายบุญสมกล่าวว่า สทนช. มีการจัดการผังน้ำ 22 ลุ่มน้ำ คาดว่าแล้วเสร็จต้นปี 2567 โดยผังน้ำมีความสำคัญ แสดงถึงระบบทิศทางการไหลของน้ำ และการเชื่อมโยงของแหล่งนำ้ทางน้ำทั้งหมดของประเทศ แต่สิ่งสำคัญคือการใช้เป็นข้อมูลประกอบการทำผังเมืองของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งกฎหมายผังเมืองระบุไว้ชัดเจนว่า ต้องนำผังน้ำมาประกอบในการทำผังเมืองทุกระดับ

    “อันนี้เป็น 4 เสาหลักที่ สทนช. ใช้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการอุทกภัย และภัยแล้งของประเทศ ซึ่งยุทธศาสตร์นี้เป็นการทำงานในระยะยาว ต้องใช้ระยะเวลาในการทำงาน”

    ส่วนการแก้ปัญหาสถานการณ์น้ำในระยะสั้น ทั้งอุทกภัยและภัยแล้ง สทนช. ได้กำหนดกรอบการบริหารจัดการน้ำออกเป็น 2 ช่วงเวลาคือ ฤดูฝนและฤดูแล้ง สำหรับช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมา สทนช. ได้ร่วมกับทุกภาคส่วนราชการและองค์กรเอกชน ภาคประชาชน องค์กรผู้ใช้น้ำได้เห็นชอบกำหนด 10 มาตรการรองรับฤดูแล้งปี 2565/2566 และได้เสนอ ครม. เพื่อใช้เป็นแนวทางให้ทุกส่วนราชการที่ทำงานด้านน้ำ รวมถึงภาคประชาชนและท้องถิ่นไปจัดทำแผนปฏิบัติการรับมือ

    จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาในฤดูแล้งทำให้ สทนช. สามารถบริหารจัดการน้ำในสถานการณ์แล้ง ทำให้มีน้ำต้นทุนเหลือเพียงพอสำหรับสนับสนุนการทำเกษตรในช่วงต้นฤดูฝน ในการที่เกษตรกรจะต้องทำนาปีในฤดูปกติ และยังมีน้ำเหลือเพียงพอที่สนับสนุนในภาวะฝนทิ้งช่วงช่วงหนึ่ง ช่วงที่ผ่านมาปริมาณฝนค่อนข้างน้อย

    “สิ่งสำคัญในช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมา ปีที่แล้ว เราไม่ประสบปัญหาภัยแล้งขนาดใหญ่ที่เป็นผลกระทบภาพรวมของประเทศเลย ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันกับภาคีเครือข่าย ทำงานตามมาตรการที่กำหนดไว้”

    สำหรับในฤดูฝนปีนี้ สทนช. ได้บทเรียนการทำงานในฤดูฝนปีที่แล้ว และได้กำหนด 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 ซึ่งเสนอ ครม. ให้ความเห็นชอบไปแล้วเมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2566

    “มาตรการดังกล่าวได้พิจารณาถึงปรากฏการณ์ ENSO ซึ่งเราทราบดีอยู่แล้วว่าขณะนี้ ได้เข้าสู่ภาวะเอลนีโญแล้ว และจะคงอยู่ต่อเนื่องไปถึงต้นปี 2567 เป็นการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา และเราได้คำนึงปรากฏการณ์นี้รวมไว้ด้วยแล้ว”

    โดยมาตรการสำคัญที่ได้เพิ่มขึ้นจากเมื่อปีที่แล้ว คือ การเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคประชาชนเพื่อรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ทางราชการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้สื่อสารออกไป และให้ความสำคัญกับการทบทวนเกณฑ์บริหารจัดการจัดน้ำใหม่ รวมถึงกำหนดให้ทุกหน่วยงานเตรียมความพร้อมในการที่จะเก็บกักน้ำในช่วงปลายฤดูฝนไว้ใช้ในต่อฤดูแล้งตั้งแต่วันนี้ กำหนดไว้ล่วงหน้า ทำให้หน่วยราชการไปเตรียมการได้ ทั้งนี้ มาตรการต่างๆ เหล่านี้เตรียมไว้เพื่อรับสถานการณ์เอลนีโญ ซึ่งอาจจะทำให้ไทยต้องเผชิญกับภาวะฝนน้อยกว่าค่าปกติได้ในช่วงปลายปี 2566

    สทนช. กำหนดนโยบายสำคัญที่สอดคล้องกับการทบทวนเกณฑ์บริหารจัดการจัดน้ำใหม่ โดยให้หน่วยงานได้มีการวางแผนบริหารจัดการน้ำล่วงหน้า 2 ปี ปกติจะวางแผนบริหารจัดการน้ำแค่ 1 ปี คือ ฝนนี้กับแล้งหน้า

    ”แต่ปีนี้เรากำหนดมาตรการ แล้วให้ทุกหน่วยงานนำไปปฏิบัติเป็นแผน ที่จะต้องเตรียมสำรองน้ำไว้ใช้ในฤดูฝนปีนี้และฤดูแล้งปีหน้า และต่อถึงฤดูฝนปีหน้าด้วย เพื่อรองรับสถานการณ์น้ำเอลนีโญที่จะเกิดขึ้น”

    นอกจากนี้ จะต้องรณรงค์กับภาคเกษตรกร ที่จะต้องให้มีการทำนาปีเพียงครั้งเดียว รณรงค์ไม่ให้มีการปลูกข้าวต่อเนื่อง เพราะการปลูกข้าวในลุ่มเจ้าพระยาต้องมีการใช้น้ำมาก แต่ได้ประสานกับกระทรวงเกษตร เพื่อช่วยเหลือส่งเสริมเกษตรในการปลูกพืชใช้น้ำน้อย และการสร้างความรู้ความเข้าใจภาคประชาชน เพื่อให้สงวนน้ำไว้ใช้จากฤดูฝนปีนี้ แล้งหน้า และต่อไปถึงต้นฤดูฝน 2567 สถานการณ์ฝนน้อยอาจจะยาวไปจนถึงปี 2567 การทำนาปีปีหน้าอาจจะมีน้ำไม่เพียงพอ จึงมีการบริหารจัดการให้มีน้ำคงเหลือไว้ในกรณีที่เกษตรจะต้องทำการเพาะปลูกพืชในฤดูฝนปี 2567 ในกรณีที่ฝนขาดก็จะมีน้ำเหลือเพียงพอ

    แต่ที่สำคัญ จะต้องเตรียมน้ำเอาไว้เพื่อใช้ในภาคส่วนอื่นๆ ที่มีความสำคัญของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ โดยเฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากน้ำเค็ม น้ำทะเลหนุนเข้ามา รวมถึงน้ำภาคส่วนอุตสาหกรรมด้วย

    ”สทนช. และกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้มีการเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำต่อเนื่องทุกวัน และมีการประชุมประเมินสถานการณ์น้ำทุกสัปดาห์ เพื่อที่จะได้สามารถปรับแผนการปฏิบัติ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงได้ตลอดเวลา”

    “สุดท้าย ขอให้มั่นใจว่าการบริหารจัดการน้ำของประเทศ ภายใต้การบูรณาการของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และทุกส่วนราชการที่เป็นภาคีเครือข่าย 40 กว่าหน่วยงานที่ทำงานด้วยกันทุกวัน ขอให้เชื่อมั่นว่าจะมีน้ำเพียงพอใช้ในทุกกิจกรรม” นายบุญสมกล่าว