ThaiPublica > เกาะกระแส > การรับมือกับอุทกภัยและภัยแล้งของไทย (3) : กทม. ขุดลอกท่อกว่า 7 พัน กม. เสร็จในปีเดียว ใช้ IoT กับ AI วางแผนน้ำทั้งหมด

การรับมือกับอุทกภัยและภัยแล้งของไทย (3) : กทม. ขุดลอกท่อกว่า 7 พัน กม. เสร็จในปีเดียว ใช้ IoT กับ AI วางแผนน้ำทั้งหมด

3 กรกฎาคม 2023


วันที่ 28 มิถุนายน ธนาคารโลก (World Bank) เปิดตัว รายงานตามติดเศรษฐกิจไทยของธนาคารโลก ประจำเดือนมิถุนายน 2566 ในหัวข้อ “การรับมือกับภัยแล้งและอุทกภัย” เพื่อสร้างอนาคตที่อยู่รอดและยั่งยืน” โดย ดร.ฟาบริซิโอ ซาร์โคเน ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย และมีนายบุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ รองเลขาธิการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ปาฐกถาในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการอุทกภัยและภัยแล้งของประเทศไทย” รวมทั้งรองศาสตราจารย์ ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) บรรยายพิเศษเรื่อง “อุทกภัย ภัยแล้ง และอนาคตของกรุงเทพมหานคร” และ ดร.เชลลี แม็คมิลลาน ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรน้ำอาวุโส ธนาคารโลก นำเสนอแนวทางการรับมือกับอุกทกภัยและภัยแล้งในประเทศ พร้อมการเสวนา “ประชาชนไทยจะอยู่กับอุทกภัยและภัยแล้งได้อย่างไร?” โดยนายชูชาติ สายถิ่น กรรมการผู้จัดการ บริษัท อมตะ วอเตอร์ จำกัด และกรรมการสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, แอนโทนี เอ็ม. วาตานาเบะ Chief Sustainability Officer จาก Indorama Ventures PCL และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุรักษ์ ศรีอริยวัฒน์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กทม. โชว์ผลงาน ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ขุดลอกท่อระบายน้ำ กว่า 7,000 กิโลเมตรแล้วเสร็จใน 1 ปี ส่งผลให้ระบายน้ำเร็วขึ้น 15-30 นาที ใช้ IoT กับ AI วางแผนน้ำทั้งหมด พร้อมจัดทำแผนที่เสี่ยง 6 ประเภท อุบัติเหตุ ฝุ่น PM 2.5 เพลิงไหม้ และสารเคมี เพื่อทำแผนป้องกัน ตั้งเป้าหมายยกกรุงเทพเมืองน่าอยู่จากอันดับ 98 ขึ้นมาติดทอป 50 เพื่อให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน

ผศ. ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่ากรุงเทพมหานคร กล่าวว่า หนึ่งปีที่ผ่านมากรุงเทพมหานครเจอจุดน้ำท่วม 737 จุด เป็นพื้นที่ต่ำที่ต้องแก้ไขเชิงโครงสร้าง 183 จุดเป็นพื้นที่ฟันหลอ 4.5 กิโลเมตร ซึ่งการทำงานที่เหลืออีก 3 ปีนี้ไม่แน่ใจว่าจะสามารถแก้ไขพื้นที่ได้หมดหรือไม่ แต่ก็ทำให้รู้ว่าจะแก้ปัญหาด้วยวิธีไหน และการที่มีการใช้กลไกงบประมาณมาคัดกรองโครงการบริหารจัดการน้ำที่เสนอจากหน่วยงานต่างๆ นั้นถือว่าเป็นแนวทางที่ดี เพราะงบบูรณาการเชิงพื้นที่ ที่ผ่านมากลายเป็นงานเล็กๆ น้อยๆ ของหน่วยงานที่มาร่วมทำ เมื่อมีการจ่ายงบประมาณออกไป ก็จะลงไปที่พื้นที่ของแต่ละหน่วยงานอยู่ดี ไม่ทำให้เกิดผลรวม

สำหรับการบริหารจัดการน้ำของ กทม. ผศ. ดร.ทวิดากล่าวว่า กทม. ในฐานะ resilience city ได้ประเมินผลตัวเองพบว่าได้คะแนน 52 จาก 100 คะแนนแสดงว่ายังมีงานอีกเยอะที่ต้องทำ ดังนั้น ภายใน 3 ปีนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายทุกคน และทำให้ทุกคนคิดว่าเป็นเรื่องของทุกวัน และไม่ทำให้คนรู้สึกว่าเป็นเรื่องของเขาในหลายเรื่องการทำเป็นเมือง resilience city จึงเป็นเรื่องที่ไกลมาก

รองศาสตราจารย์ ดร.ทวิดา กมลเวช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

จากนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี ที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ใช้ในช่วงการรณงค์หาเสียง มาสู่ก้าวใหม่ของปีที่สอง กทม. ทำการทบทวนแผนใหม่ทุกปี ไม่ใช่รอบ 2 ปี แต่ถ้าเป็นโครงการขนาดใหญ่ก็จะเป็นแผนระยะยาว โดยด้านที่ กทม. อยากให้ดีทุกมิติมีด้วยกัน 9 ด้าน และมีมิติที่เกี่ยวกับ resilience city เป็นการผูกแผน resilience ทั้งหมดไว้ด้วยกัน เพราะต้องการให้คน กทม. แข็งแรงขึ้น ชุมชนแข็งแรงขึ้นพร้อมๆ กับหน่วยงานที่ฉลาดขึ้น และที่สำคัญคือ ทำให้มีการร่วมมือกันอย่างไม่มีรอยต่อ ต้องออกแบบระบบร่วมกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างออกแบบระบบแล้วมาทำงานกำหนดขั้นตอนการทำงานร่วมกัน

ผศ. ดร.ทวิดากล่าวว่า ผู้บริหาร กทม. กำหนดไว้ว่าปี 2037 กรุงเทพมหานครต้องเป็นเมืองน่าอยู่ (livable city) ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครติดอันดับหนึ่งเมืองน่าท่องเที่ยวที่สุดในโลกมาหลายปี (world destination) แต่ในการจัดลำดับเมืองน่าอยู่ กทม. อยู่อันดับที่ 98 ของโลก ซึ่งก็มีเป้าหมายที่จะติด 1 ใน 50 อันดับแรกให้ได้ใน 3 ปี

ขุดลอกท่อระบายน้ำกว่า 7,000 กิโลเมตรสำเร็จ

ผศ. ดร.ทวิดากล่าวว่า ด้วยเหตุนี้ ในปีที่ผ่านมาจึงได้มีการทำงานด้านข้อมูลอย่างหนัก ทั้งในมุมของ open Bangkok ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ โดยไม่ขัดกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคล แต่ขณะเดียวกัน การตัดสินใจโครงการ การตัดสินใจเชิงงบประมาณ ต้องมีข้อมูล ยกตัวอย่างเช่น การปิด เปิดประตูระบายน้ำ จึงต้องทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างเขตในการจัดทำข้อมูลด้วยกัน กทม. มีขนาดใหญ่มากเมื่อพิจารณาจากขนาดของการให้บริการ มีประชากรตามทะเบียนบ้าน 5,490,000 คน มีประชากรแฝง 10 ล้านคน มีเจ้าหน้าที่ 80,000 คน ลูกจ้าง 20,000 คน มีคนทำงานทั้งหมด 100,000 คน นับว่าการบริหารจัดการเป็นรองแค่กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาธิการ

ขณะเดียวกันการจัดทำข้อมูล ก็ต้องเป็นข้อมูลที่เป็นระบบดิจิทัล เพราะต้องการแผนที่ ข้อมูลเฉพาะ และทรัพยากร ที่ต้องใช้ต้องเป็น resourceful ที่ resilience ทั้งหมด

ผศ. ดร.ทวิดากล่าวว่า ในปีที่ผ่านมา หลายคนอาจจะบอกว่าทำไม กทม. ไม่มีโครงการขนาดใหญ่ ไม่มี floodway ใหญ่ เป็นเพราะในการหาเสียงเลือกตั้งได้เน้นเรื่องเส้นเลือดฝอย คนตัวเล็ก คนกลุ่มน้อย ต้องได้ประโยชน์ทั้งหมด

”เพราะฉะนั้น ในปีที่ผ่านมาเป็นครั้งแรกในประวัติของกรุงเทพมหานคร ที่ลอกท่อระบายน้ำกว่า 7,000 กิโลเมตรเสร็จในปีเดียว และมีบางท่อลอกซ้ำภายในหนึ่งปีมากกว่า 1 ครั้งเป็นปีแรก ดังนั้น ตอนนี้ไม่ต้องรอให้น้ำลดนานถึง 90 นาที ตอนนี้แค่ 15-30 นาทีก็สามารถระบายน้ำออกไปได้หมด”

นอกจากนี้ ได้มีการทำงานในระดับย่อยแต่มีผลสูง เช่น กทม. มีระบบระบายน้ำ 7,000 กิโลเมตร และมีคลอง 2,000-3,000 กิโลเมตร จะลงทุนทำอุโมงค์อย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีการลงทุนหลายรูปแบบร่วมกัน

กทม. ได้ใช้ระบบ IoT (internet of thing) และใช้ระบบ AI ในการวางแผนเรื่องน้ำทั้งหมด โดยมีระบบเซ็นเซอร์อยู่ในท่อระบายน้ำตามถนนหลักทั้งหมดแล้ว และเชื่อมระบบทำให้เห็นเวลาที่ฝนตก ปริมาณฝน บอกระดับน้ำสะสม ขณะเดียวกันกำลังทำข้อมูล 737 จุดน้ำท่วม

“กรุงเทพมหานครได้ทำ risk map เสร็จแล้ว โดยเฉพาะแผนที่พื้นที่เสี่ยงด้านน้ำท่วมที่เสร็จแล้ว ซึ่งเป็นหน่วยงานแรกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย เพราะ 6 เดือนที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ทำงานกันอย่างหนัก โดยได้แผนที่ความเสี่ยงออก 6 ประเภทภัย โดยไม่ได้ใช้งบประมาณ แต่ใช้ข้อมูลที่จัดกระจายมาทำให้เป็น big data”

นอกจากนี้ ยังได้จัดการพื้นที่ต่ำ มีประมาณ 183 จุด แต่แก้ไขไปแล้วบางส่วน

รศ. ดร.ทวิดากล่าวว่า กทม. กำลังแก้ไข solution ที่ทำจากงานวิจัย จากการทดลองใน sandbox จำนวนมาก เช่น กรณีเรดาร์น้ำฝน ในการแจ้งเตือนจับกลุ่มฝนที่ค่อนข้างแม่นใน 1-1.30 ชั่วโมงก่อนเกิดฝน ซึ่งหากแจ้งเตือนประชาชนได้พร้อมกันๆ กับการปรับมุมกล้อง CCTV สำหรับดูแลความปลอดภัยประมาณ 60,000 กล้อง และมีกล้องจราจรประมาณ 2,600 กล้อง เพื่อให้เห็นถนนให้เห็นระดับน้ำ ควบคู่ไปกับระบบเซ็นเซอร์ที่มี จะทำให้สามารถบอกประชาชนได้ว่าจะระบายน้ำไปได้ในระยะเวลาเท่าไหร่ และขณะนี้ได้เชื่อมข้อมูลกับ จส. 100 เพื่อให้แจ้งประชาชนได้ เป็นการตอบสนองต่อความคาดหวังของประชาชน

การบริหารจัดการน้ำของ กทม. ในปีที่แล้ว ได้รับความร่วมมือจากกรมชลประทานอย่างดี ในด้านการบริหารประตูน้ำ ระดับน้ำ ขณะที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติได้ช่วยสนับสนุนเครื่องสูบน้ำ ตลอดจนได้หารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีต่อเนื่อง รวมไปถึงการบริหารจัดการระดับน้ำในสมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา เนื่องจากตระหนักดีว่า กทม. ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำเพียงที่เดียว ต้องบริหารแบบแบ่งเบาระหว่างกัน ต้องมีการหารือร่วมกันเพื่อให้บริหารจัดการได้ และหากมีการเตรียมพร้อมมากพอ

“big solution ที่จะทำให้ได้ภายใน 3 ปีก็มี แต่ทำไม่ได้ง่าย ดังนั้น ในช่วงนี้จึงเป็นแบบ adaptive ค่อยๆ เสริมกันไปก่อนที่ตัว preventive แบบ absolute measures จะสามารถทำได้โดยพร้อมกัน”

สำหรับพื้นที่ที่ยังจัดการไม่ได้ ที่มีความยาว 4.5 กิโลเมตร ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เอกชน เป็นพื้นที่มีการเข้าออก เช่น ท่าเรือ ไม่สามารถใช้มาตรการถาวรได้ ต้องใช้การจัดการตามสถานการณ์

กทม. มีแผนจะลงทุน blue-green infrastructure ดูแลพื้นที่ที่มีการกัดเซาะชายฝั่งที่บางขุนเทียน ซึ่งต้องมีการจัดทำแผนที่ครอบคลุมอีก 2 จังหวัด ต้องมีการประสานงานและร่วมมือกัน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง และคาดว่าน่าจะอยู่ในแผนบริหารจัดการน้ำใหญ่ของประเทศ

สำหรับภัยแล้ง เป็นผลกระทบทางอ้อมของ กทม. โดยส่วนใหญ่มักเป็นภาคอุตสาหกรรมก่อน ในส่วนที่ กทม. กังวล คือ สถานพยาบาล เพราะเคยเกิดกรณีโรงพยาบาลในภาคเหนือประสบกับการขาดแคลนน้ำจากปรากฏการณ์เอลนีโญในหลายปีก่อน กทม. ได้กางแผนที่เพื่อประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเช่นกัน แต่คงต้องอาศัยหน่วยงานส่วนกลางอย่าง สทนช. เพราะ กทม. ต้องการสถานการณ์ภาพรวมในการบริหารจัดการน้ำ เช่น การเปิดปิดประตูน้ำ เพราะจังหวัดที่ประสบภัยแล้งก็ต้องรักษาระดับน้ำเช่นกัน

“สิ่งที่เราจะพูดได้วันนี้คือ เราจะไม่ทำให้มีคำว่าไม่ประสานงานกัน เราจะประสานงานเพื่อให้บริหารจัดการได้ และการทำงานร่วมกัน แต่ทั้งหมดเป็นการพยายามทำ หัวใจของมันจะเป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ คือ การทำให้พวกเราทั้งหมดเห็นภาพร่วมกัน และจัดสรรอย่างยุติธรรม และมองเห็น pain ของทุกคนจริงๆ ตามความสำคัญที่ควรจะเป็น ตามกำลังความสามารถ โดยไม่ถามว่างบประมาณของใคร โครงการของใคร น่าจะเป็นหัวใจของคำตอบการทำ resilience city มากกว่า”

  • การรับมือกับอุทกภัยและภัยแล้งของไทย (1) : World Bank แนะวิเคราะห์ต้นทุน-ประโยชน์ให้ชัด เพื่อจัดลำดับความสำคัญมาตรการป้องกัน
  • การรับมือกับอุทกภัยและภัยแล้งของไทย (2) : สทนช. สั่งทุกหน่วยงานทำแผนสำรองน้ำไว้ใช้ปีนี้ยาวถึงฤดูฝนปีหน้า รับเอลนีโญ
  • ทำ Risk Map 6 ความเสี่ยงเปิดเผยต่อสาธารณะ

    รศ. ดร.ทวิดากล่าวว่า กทม. มีแผนที่ความเสี่ยง risk map ที่เปิดเผยต่อสาธารณชนแล้ว คือ ด้านน้ำท่วม อัคคีภัย อุบัติเหตุ ซึ่งในด้านอุบัติเหตุจากการใช้ Traffy Fondue ทำให้สามารถแยกถนนได้แล้ว ว่าถนนเส้นไหนอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานใด และรอยต่อเป็นอย่างไร ขณะเดียวกันมีแผนที่ PM2.5 ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการเผาไหม้ของรถยนต์ และจากไซต์ก่อสร้าง ทำให้แก้ปัญหาอีกแบบหนึ่ง ส่วนแผนที่ความเสี่ยงด้านที่เหลือ คือ แผนที่สารเคมีแต่ยังไม่เปิดเผยต่อสาธารณ และแผนที่โรค ซึ่งขณะนี้มีโรคไข้เลือดออกที่ใช้เป็นการภายใน เนื่องจากมีข้อมูลที่ต้องระวัง PDPA และข้อมูลของกลุ่มเปราะบาง

    นอกจากนี้ มีการอบรมหน่วยงานที่จากเดิมต่างคนต่างทำให้มาทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะในการจัดการกับ multi-hazard รวมไปถึงการอบรมเครือข่ายชุมชนให้เข้มแข็ง community-based disaster management หรือการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติโดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน ยังไม่เคยทำมาก่อนใน กทม. แต่ กทม. มีเครือข่ายชุมชนจำนวนมาก เพียงแค่ยังไม่เป็นระบบ โดยขณะนี้กำลังดำเนินการเรื่องนี้อยู่