ThaiPublica > เกาะกระแส > มติ “บอร์ด PPP” อนุมัติ 7 โครงการ – ลุยเมกะโปรเจกต์ 1.6 ล้านล้านบาท

มติ “บอร์ด PPP” อนุมัติ 7 โครงการ – ลุยเมกะโปรเจกต์ 1.6 ล้านล้านบาท

16 กันยายน 2016


นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จากซ้ายไปขวา
(จากซ้ายไปขวา) นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)

เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2559 ที่ทำเนียบรัฐบาลได้จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ครั้งที่ 5/2559 หรือ “คณะกรรมการ PPP” โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ เป็นประธาน ภายหลังการประชุม นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า วันนี้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐได้มีการพิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ 3 เรื่อง ดังนี้

1. เห็นชอบให้มีการปรับปรุงโครงการภายใต้กิจการ ตามแผนยุทธศาสตร์การให้เอกชนร่วมลงทุนในการกิจการของรัฐ พ.ศ. 2558-2562 (Project Pipeline) เพิ่มเติมอีก 7 โครงการ ได้แก่

– โครงการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในการเดินรถ Airport Rail Link ของการรถไฟแห่งประเทศไทย

– โครงการพัฒนาระบบรถไฟฟ้า ช่วงบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ของ กทม.

– โครงการพัฒนาระบบรถไฟฟ้า ช่วงศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 – ถนนโยธี ของ กทม.

– โครงการปรับปรุงและพัฒนาระบบจัดการน้ำเสียเคหะชุมชนร่มเกล้า ของ กทม.

– โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-นครสวรรค์ ของกรมทางหลวง

– โครงการก่อสร้างโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง ของกรมการแพทย์

– โครงการศูนย์เฝ้าระวังและกักแยกผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยโรคติดต่ออุบัติใหม่และโรคติดต่อร้ายแรง ของกรมควบคุมโรค

ผลจากการปรับปรุงโครงการภายใต้แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวนี้ ทำให้ปัจจุบันมีโครงการลงทุนที่อยู่ใน Project Pipeline ทั้งสิ้น 66 โครงการ มีวงเงินลงทุนรวม 1,662,876.54 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 86,347.27 ล้านบาท (วงเงินลงทุนเดิม 1,576,529.27 ล้านบาท) ภายใต้แผนการลงทุนดังกล่าวนี้มีโครงการลงทุนที่มีวงเงินเกิน 1,000 ล้านบาท ประมาณ 12 โครงการ คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุน 720,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ คาดว่าจะนำเสนอโครงการให้ที่ประชุมคณะกรรมการ PPP พิจารณาได้ในปี 2560

“ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ระบุว่าตอนนี้ประเทศไทยมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่หลายโครงการ จึงอยากจะเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนกับภาครัฐเพื่อลดภาระทางการคลัง และยังเป็นแรงขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากโครงการที่เพิ่มมานี้จะเห็นว่า PPP มีการใช้เยอะขึ้นในประเทศไทย” นายเอกนิติกล่าว

2. รับทราบผลการศึกษาเรื่อง Risk Sharing ของประเทศไทยและต่างประเทศ โดยคณะทำงานด้านการดึงดูดการลงทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ภายใต้คณะกรรมการภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ (คณะกรรมการประชารัฐ) ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นหัวหน้าทีมภาครัฐ และนายชาติศิริ โสภณพนิช เป็นหัวหน้าทีมภาคเอกชน มีข้อแนะนำว่า ที่ผ่านมาโครงการลงทุนของภาครัฐหลายโครงการมักจะมีความเสี่ยง บางครั้งภาครัฐเป็นผู้รับภาระความเสี่ยงที่เกิดขึ้น หรือไม่ก็ภาคเอกชน ยกตัวอย่าง กรณีรถไฟฟ้าบีทีเอสความเสี่ยงจะตกอยู่กับภาคเอกชน ส่วนกรณีรถไฟฟ้าสายสีม่วงความเสี่ยงจะตกอยู่กับภาครัฐ เป็นต้น

ในการประชุมวันนี้ คณะกรรมการประชารัฐจึงมอบหมายให้นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ) นำผลการศึกษาดังกล่าวไปหารือกับสำนักงานอัยการสูงสุด สภาพัฒน์ฯ สำนักงบประมาณ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ และหน่วยงานเจ้าของโครงการ เพื่อหาข้อสรุปถึงความเป็นไปได้ในการนำรูปแบบของ Risk Sharing (การเฉลี่ยความเสี่ยง) ต่างๆ ที่เหมาะสมมาใช้กับโครงการ PPP

ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)
ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)

“การบริหารความเสี่ยงโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในต่างประเทศมีหลายรูปแบบ เช่น หากมีความเสี่ยงสูงกว่าที่คาดการณ์ ทั้งภาครัฐกับเอกชนควรจะมาช่วยกันแชร์ความเสี่ยง แต่ถ้าต่ำกว่าจะทำอย่างไร อย่างเช่น ช่วงที่มีการก่อสร้างสนามกีฬาในประเทศจีน เพื่อจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก รัฐบาลจีนให้แรงจูงใจแก่ภาคเอกชนที่เข้ามาลงทุนด้วยการการันตีผลตอบแทนขั้นต่ำ (Minimum Return Guarantee) แต่อย่างไรก็ตาม การให้แรงจูงใจบางอย่างอาจไม่ต้องใช้เงินงบประมาณ เช่น การให้สิทธิพิเศษในการเดินรถ ควบคู่ไปกับการมอบสิทธิในการพัฒนาที่ดิน เป็นต้น แต่ถ้ายังไม่มีการปรับปรุงแก้ไขในส่วนนี้ เวลาเอกชนขาดทุน เอกชนก็บ่น ถ้ารัฐขาดทุน รัฐก็บ่น แต่ถ้าภาครัฐไม่ยอมขาดทุน โครงการลงทุนก็ไม่เกิดสักที” นายเอกนิติกล่าว

3. รับทราบความคืบหน้าของ 5 โครงการที่ดำเนินตาม “มาตรการ PPP Fast Track” ดังนี้

– โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (ช่วงแคราย-มีนบุรี) และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ช่วงลาดพร้าว-สำโรง) ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำข้อเสนอการเข้าร่วมลงทุนของภาคเอกชน ทางการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กำหนดให้เอกชนจัดทำข้อเสนอในเดือนพฤศจิกายน 2559 ความคืบหน้ายังเป็นไปตามแผน

– โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ) ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการส่วนต่อขยาย และคณะกรรมการกำกับดูแลของโครงการรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล (ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ) ในการพิจารณาแนวทางการเดินรถร่วมกันเป็นโครงข่ายเดียว (Through Operation) ก่อนการเจรจาร่วมกับผู้รับสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคลต่อไปตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 42/2559 ที่ให้คณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยกำหนดหลักเกณฑ์ การแบ่งปันผลประโยชน์จากค่าโดยสาร รวมถึงหลักเกณฑ์อื่น เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเห็นชอบภายใน 30 วัน โดยขั้นตอนนี้ได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้วและอยู่ในระยะเวลาที่กำหนด (ครบกำหนดวันที่ 16 กันยายน 2559)

– โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motorway) สายบางปะอิน-นครราชสีมา และสายบางปะอิน-กาญจนบุรี ได้นำเสนอคณะกรรมการ PPP พิจารณาในการประชุมครั้งนี้ โดยคณะกรรมการ PPP รับทราบผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ พร้อมมอบหมายให้กรมทางหลวงเร่งสร้างความชัดเจนทางกฎหมาย โดยการหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้โครงการ M6 และ M81 สามารถเปิดให้บริการได้ตามแผนงานที่กำหนด

“สาเหตุที่ต้องนำโครงการมอร์เตอร์เวย์รายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการ PPP วันนี้ เพราะหลังจากก่อสร้างมอเตอร์เวย์เสร็จ ขั้นตอนต่อไปต้องเชิญชวนภาคเอกชนมาร่วมลงทุนในการบำรุงรักษาทางและจัดเก็บค่าผ่านทาง (Operation and Maintenance) อีกอันคือเรื่อง Rest Area ในส่วนที่พักระหว่างทาง ถึงแม้ยังพอมีเวลาในการพิจารณา แต่ก็ไม่อยากรอให้ก่อสร้างเสร็จก่อน แล้วค่อยลงมือทำ อาจจะไม่มีคนมาบริหาร จำเป็นต้องศึกษาในรายละเอียดเพิ่มเติม โดยเฉพาะในเรื่องของการเวนคืนนั้นจะสามารถทำในรูปแบบของการให้สัมปทานได้หรือไม่ การบริหารความเสี่ยงจากการลงทุนควรจะเป็นอย่างไร ให้เอกชนรับความเสี่ยง หรือรัฐรับความเสี่ยง วันนี้ที่ประชุมจึงมีมติให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาข้อกฎหมายให้ชัดเจน” นายเอกนิติกล่าว