ThaiPublica > เกาะกระแส > ครม. อนุมัติ ปรับเพิ่มเงินเดือนแรกบรรจุ ข้าราชการ-เจ้าหน้าที่รัฐ ป.ตรี 18,000 บาท – ปวช. 11,000 บาท เริ่มพ.ค.ปีหน้า

ครม. อนุมัติ ปรับเพิ่มเงินเดือนแรกบรรจุ ข้าราชการ-เจ้าหน้าที่รัฐ ป.ตรี 18,000 บาท – ปวช. 11,000 บาท เริ่มพ.ค.ปีหน้า

28 พฤศจิกายน 2023


นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

28 พฤศจิกายน 2566 ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติปรับอัตราเงินเดือนกลุ่มข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ กำหนดเพิ่มเงินเดือน 10% ภายใน 2 ปี – ป.ตรี ขั้นต่ำ 18,000 บาท ปวช. ขั้นต่ำ 11,000 บาท พ่วงเงินเพื่อการครองชีพชั่วคราวสำหรับข้าราชการเงินเดือนอีก 2,000 บาท คาดใช้งบประมาณ 7,200 ล้านบาทในปีแรก

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติการปรับอัตราเงินเดือนสำหรับกลุ่มข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งนี้ มติ ครม. ดังกล่าว สืบเนื่องมาจาก มติ ครม. เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 สำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้มอบหมายจากนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้ศึกษาแนวทางการปรับอัตราเงินเดือน

“ถ้าจะปรับ ต้องปรับเพื่อมุ่งหวัง 2 อย่างคือ หนึ่ง รักษาคนดีไว้ในระบบราชการ และ สอง ปรับแล้วมีมาตรการอื่น เพื่อตอบประชาชนให้ได้ว่า ค่าใช้จ่ายประจำใน 1 ปีเท่าไร ผลตอบแทนว่าประชาชนได้รับจะคุ้มค่าหรือไม่” นายชัย กล่าว

นายชัย กล่าวต่อว่า ก.พ. ได้เสนอแนวทางการปรับอัตราเงินเดือน โดยอ้างอิงจากปี 2555 ที่มีการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท และปรับเพิ่มเงินเดือนระดับปริญญาตรีเป็น 15,000 บาท สำหรับการบรรจุแรกเข้า

นายชัย ให้ข้อมูลการปรับอัตราเงินเดือนสำหรับกลุ่มข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ รายละเอียด ดังนี้

  • การปรับเงินเดือนของข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ
    • ระดับปริญญาตรี เงินเดือนแรกเข้าไม่ต่ำกว่า 18,000 บาท ภายใน 2 ปี โดยปรับเพิ่ม 10% ต่อปี
    • ระดับปวช. เงินเดือนแรกเข้าไม่ต่ำกว่า 11,000 บาท ภายใน 2 ปี โดยปรับเพิ่ม 10% ต่อปี เป็นจำนวน 2 ครั้ง

    “ตัวอย่างเช่น ปริญญาตรี เงินเดือน 15,000 บาท ปีแรกจะปรับเป็น 16,500 บาท ปีต่อมาปรับอีก 10% ฉะนั้นภายใน 2 ปีจะทะลุเกิน 18,000 บาท ไม่ได้ปรับถ้วนหน้า ไม่ได้หมายความว่าคนรับราชการมานานจะปรับทุกตำแหน่งทั้งแผง เบื้องต้นปรับแค่แรกบรรจุเข้ารับราชการ” นายชัย กล่าว

  • เงินชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ สำหรับข้าราชการเดิมที่มีฐานเงินเดือนต่ำกว่า 18,000 บาท และ 15,000 บาท ให้มีการปรับชดเชยย้อนหลังให้ได้ระดับมาตรฐานเดียวกัน
  • การปรับเพิ่มเงินเพื่อการครองชีพชั่วคราว โดยข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้รับเงินเดือนรวมกับค่าครองชีพชั่วคราว น้อยกว่า 14,600 บาท จะได้รับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว 2,000 บาทต่อเดือน แต่เมื่อรวมแล้วต้องไม่เกิน 14,600 บาท ทั้งนี้ ในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีการกำหนดเพดานเงินไว้ที่ไม่เกิน 13,285 บาท
  • การปรับเพิ่มเงินเพื่อการครองชีพชั่วคราว โดยข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้รับเงินเดือนรวมกับค่าครองชีพชั่วคราว รวมแล้วน้อยกว่า 10,000 บาท รัฐบาลจะเติมเงินให้ถึง 11,000 บาท จากเดิมที่รัฐบาลก่อนกำหนดเพดานที่ 10,000 บาท
  • นายชัย กล่าวต่อว่า การปรับอัตราเงินเดือนฯ จะใช้งบประมาณในปีแรก 7,200 ล้านบาท เฉลี่ยเดือนละ 600 ล้านบาท ส่วนปีที่สองใช้ 8,800 ล้านบาท แต่คาดว่างบประมาณประจำปี 2567 จะสามารถใช้ได้ในเดือนพฤษภาคม 2567 ดังนั้นในปีแรกอาจใช้งบประมาณ 5 เดือน ส่วนงบประมาณที่จะใช้เป็นเงินเพิ่มเพื่อการครองชีพชั่วคราว ตั้งไว้ปีละไม่เกิน 3,000 ล้านบาท และให้ทุกหน่วยงานเริ่มดำเนินการได้เลยตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป

    ……

    อนึ่งตามเอกสารของสำนักงานก.พ.รายงานว่าตามที่คณะรัฐมนตรีลงมติเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 ศึกษาการขึ้นเงินเดือนกลุ่มข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่รัฐ โดยมีนายปานปรีย์ พหิทธานุทร ในฐานะประธานกรรมการข้าราชการพลเรือนได้สรุปแนวทางเบื้องต้น 2 แนวทาง

    แนวทางที่ 1.ทยอยปรับเงินเดือนแรกบรรจุ เพิ่มขึ้น 10% โดยใช้ระยะเวลา 2 ปี และปรับเงินเดือนข้าราชการที่อยู่ก่อนเพื่อชดเชยผลกระทบจากการปรับเงินเดือนแรกบรรจุ คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นในปีที่1ไม่น้อยกว่า 6,000 ล้านบาท ปีที่2 ไม่น้อยกว่า 7,000 ล้านบาท รวมไม่น้อยกว่า 13,000 ล้านบาท

    แนวทางที่2.ปรับเงินเดือนแรกบรรจุเพิ่มในอัตรา 20% โดยใช้เวลา 1 ปี และปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการอยู่ก่อนเพื่อชดเชยผลกระทบดังกล่าว คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 13,000 ล้านบาท

    อย่างไรก็ตามมีการเสนอว่าการปรับเงินเดือนข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐต้องทำควบคู่ไปกับมาตรการการบริหารทรัพยากรบุคคลอื่นๆ อาทิการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานเนื่องจากปัจจุบันปีงบประมาณ 2566 มีงบประมาณบุคคลากรและงบค่ารักษาพยาบาลคิดเป็น 39.40% ของงบประมาณทั้งหมด และงบประมาณส่วนนี้ไม่สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้มากนัก เพราะเป็นรายจ่ายประจำ ซึ่งจะเป็นภาระในงบประมาณและผลกระทบผูกพันกับภาระการคลังในระยะยาว และส่งผลให้งบบุคคลากรเพิ่มสูงขึ้นด้วย

    ทั้งนี้การปรับขึ้นเงินเดือนดังกล่าวยังไม่รวมถึงพนักงานส่วนท้องถิ่น หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขอปรับด้วย อาจจะกระทบต่อการจัดสรรงบประมาณในภาพรวม ซึ่งจะเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดข้อเรียกร้องจากข้าราชการที่ไม่อยู่ในกลุ่มเป้าหมายของการดำเนินการครั้งนี้ ซึ่งจะก่อให้เกิดภาระต้องบประมาณเพิ่มขึ้น

    นอกจากนี้ในช่วงปี 2555 ที่มีการปรับเงินเดือนแรกบรรจุเพิ่มตามนโยบายรัฐบาลตอนนั้น กระทรวงการคลังยังได้ปรับเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว โดยกำหนดให้ผู้ที่ได้รับเงินเดือนไม่ถึง 13,285 บาท/เดือน ได้รับค่าครองชีพชั่วคราวเพิ่มเดือนละ 2,000 บาท แต่เมื่อรวมกับเงินเดือนแล้วต้องไม่เกิน 13,285 บาท รวมทั้งกลุ่มที่เงินเดือนรวมกับเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวแล้วไม่ถึง 10,000 บาท ให้ได้รับเงินเพิ่มชั่วคราวเพิ่มจนถึง 10,000 บาท ดังนั้นหากมีการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุเพิ่มขึ้น อาจจะต้องพิจารณาในส่วนของเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวให้สอดคล้องและไปในทิศทางเดียวกันด้วย โดยกรมบัญชีกลางจะรับเรื่องนี้ไปพิจารณา

    อย่างไรก็ตาม แนวทางที่เสนอโดยเลือกแนวทางที่ 1 โดยจะใช้เงินงบประมาณปี 2567 คาดว่าจะสามารถปรับขึ้นเงินเดือนได้ในเดือนพฤษภาคมปี 2567 และคาดว่าจะใช้งบประมาณในปีที่1 จำนวน 7,200 ล้านบาท และปีที่2 จำนวน 8,800 ล้านบาท

    ส่วนการปรับเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวตามปี 2555 สรุปว่าจากเดิมเงินเดือนไม่ถึง 13,285 บาท เป็นเงินเดือนไม่ถึง 14,600 บาท และปรับเพดานเงินเดือนรวมกับค่าครองชีพชั่วคราวจากเดิมเดือนละ10,000บาท เป็น 11,000 บาท คาดว่าจะใช้เงินงบประมาณเพิ่มขึ้น 3,000 ล้านบาท