ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup สิงคโปร์ใช้กม.ใหม่ คุมเข้มเปลี่ยนมือในกิจการสำคัญต่อความมั่นคงประเทศ

ASEAN Roundup สิงคโปร์ใช้กม.ใหม่ คุมเข้มเปลี่ยนมือในกิจการสำคัญต่อความมั่นคงประเทศ

5 พฤศจิกายน 2023


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 29 ตุลาคม-4 พฤศจิกายน 2566

  • สิงคโปร์ใช้กม.ใหม่ คุมเข้มเปลี่ยนมือในกิจการสำคัญต่อความมั่นคงประเทศ
  • MAS จับมือพันธมิตรตีกรอบสินทรัพย์ดิจิทัลข้ามแดน
  • เวียดนามวางแผนพัฒนาระบบท่าเรือทันสมัย
  • ส่งออกผักและผลไม้เวียดนามสร้างสถิติใหม่
  • ราคาข้าวส่งออกของเวียดนามแตะระดับสูงสุดใหม่
  • GDP ต่อหัวของกัมพูชาจะแตะ 2,071 เหรียญสหรัฐฯในปีหน้า
  • ลาวตั้งเป้าเศรษฐกิจปี 2567 โต 4.5%
  • มาเลเซียเริ่มใช้ภาษีสินค้ามูลค่าสูง 1 พ.ค. 2567
  • นายกฯ เข้าเยี่ยมคารวะ นายทองลุน สีสุลิด ประธานประเทศ สปป. ลาว
  • สิงคโปร์ใช้กม.ใหม่ คุมเข้มเปลี่ยนมือในกิจการสำคัญต่อความมั่นคงประเทศ

    ที่มาภาพ:https://www.visitsingapore.com/see-do-singapore/places-to-see/marina-bay-area/

    เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม (MTI) ประกาศว่า จะมี การใช้กฎหมายการลงทุนที่สำคัญ(Significant Investments Review Bill) เพื่อกำกับดูแลกิจการในภาคส่วนสำคัญ ด้วยวางระบบการจัดการการลงทุนใหม่ ซึ่งมีผลบังคับใช้กับนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศ

    ร่างกฎหมายดังกล่าวจะวางระบบการจัดการการลงทุนใหม่ เพื่อกำกับกิจการ ที่มีความสำคัญต่อผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของประเทศ เพื่อประกันว่ากิจการ ที่สำคัญนั้นมีความต่อเนื่อง

    กิจการที่กระทำการไม่สอดคล้องกับกับความมั่นคงของประเทศของสิงคโปร์ จะถูกตรวจสอบการทำธุรกรรมในบางกรณี แม้จะไม่ได้ถูกกำหนดไว้ภายใต้ระบบนี้ก็ตาม หลักเกณฑ์นี้จะนำไปใช้กับนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ

    “ปัจจุบันสิงคโปร์อาศัยกฎหมายหลายภาคส่วน ซึ่งรวมถึงการคุ้มครองความเป็นเจ้าของและการควบคุม เพื่อติดตาม ตรวจสอบและจัดการกิจการในภาคส่วนที่มีการควบคุม เช่น โทรคมนาคม การธนาคาร และสาธารณูปโภค ร่างกฎหมายนี้จะเสริมกฎหมายที่มีอยู่ โดยการควบคุมกิจการที่ไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างเพียงพอภายใต้กฎหมาย” MTI ระบุ

    ภายใต้ระบบใหม่ กิจการที่ถูกกำหนดไว้ จะต้องแจ้งหรือขออนุมัติการเปลี่ยนแปลงในการเป็นเจ้าของ หรือการควบคุมกิจการที่ถูกกำหนดไว้ โดยจะต้องดำเนินการทั้งในฝั่งผู้ซื้อ ผู้ขาย และกิจการที่ถูกกำหนด ผู้ซื้อที่ซื้อกิจการที่ถูกกำหนด จะต้องแจ้งรัฐมนตรีกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมหลังจากกลายเป็นผู้มีอำนาจควบคุมในสัดส่วน 5% และจะต้องขออนุมัติจากรัฐมนตรีก่อนจึงจะเป็นผู้ถือหุ้นในสัดส่วน 12%, 25% หรือ 50% หรือ ผู้ถือหุ้นทางอ้อม หรือการได้มาซึ่งธุรกิจที่ยังดำเนินการต่อเนื่อง (บางส่วน) หรือ ทั้งหมด ผู้ขายจะต้องขออนุมัติจากรัฐมนตรีเมื่อเลิกเป็นผู้ถือหุ้น 50% หรือ 75%

    กระทรวงฯอาจออกแนวทางแก้ไขในบางกรณี ตัวอย่างเช่น ฝ่ายหนึ่งอาจได้รับคำสั่งให้โอนหรือจำหน่ายหุ้นที่ถืออยู่ในนิติบุคคลที่ถูกกำหนด หากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการอนุมัติ

    กิจการที่ถูกกำหนดจะต้องขออนุมัติการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่สำคัญ เช่น ซีอีโอ กรรมการ และประธานคณะกรรมการ ซึ่งเจ้าหน้าที่เหล่านี้อาจถูกถอดออกหากไม่ได้รับการอนุมัติหรือไม่ได้ขออนุมัติ

    กิจการที่ถูกกำหนดไว้นี้จะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดอื่นๆ เพื่อความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือของการดำเนินการที่สำคัญ ซึ่งหมายความว่ากิจการดังกล่าวไม่สามารถยุบหรือเลิกกิจการโดยสมัครใจได้หากไม่ได้รับความยินยอมจากรัฐมนตรี

    ร่างกฎหมายดังกล่าวยังให้อำนาจแก่รัฐมนตรีในการตรวจสอบการเป็นเจ้าของหรือควบคุมธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับนิติบุคคลที่กระทำการขัดต่อความมั่นคงแห่งชาติ แม้ว่านิติบุคคลนั้นจะไม่ใช้กิจการที่ถูกกำหนดก็ตาม ซึ่งจะช่วยให้กระทรวงฯดำเนินการแบบเจาะจง เช่น สั่งให้ผู้ที่ทำธุรกรรมนั้นจำหน่ายหุ้นของเขาในกิจการ

    MTI ระบุว่า ร่างกฎหมายนี้ออกแบบมาให้เป็นมิตรกับธุรกิจ นอกจากนี้ ยังกำหนดกระบวนการที่ชัดเจนสำหรับฝ่ายต่างๆ ที่ต้องการขอให้รัฐมนตรีพิจารณาการตัดสินใจใหม่ และสำหรับการอุทธรณ์ต่อการพิจารณาคดีของศาล

    กฎหมายที่นำเสนอได้รับการจัดทำ โดยปรึกษาหารือกับตัวแทนอุตสาหกรรมเพื่อคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจและนักลงทุน MTI ยังได้จัดตั้งสำนักงานตรวจสอบการลงทุนที่สำคัญเพื่อเป็นจุดติดต่อแบบครบวงจรสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

    “เป็นเรื่องสำคัญสำหรับสิงคโปร์ที่จะต้องเปิดกว้างและเชื่อมต่อกับโลก และด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องเสริมความแข็งแกร่งให้กับสถานะของเราในฐานะศูนย์กลางที่เชื่อถือได้สำหรับธุรกิจต่างๆ ในการลงทุนด้วยความมั่นใจ สิงคโปร์มีอำนาจนิติบัญญัติมายาวนานในการจัดการความเป็นเจ้าของและการควบคุมภาคส่วนที่สำคัญ เช่น โทรคมนาคม การธนาคาร และสาธารณูปโภค เนื่องจากหน่วยงานที่สำคัญที่สุดในสิงคโปร์ได้รับการคุ้มครองอย่างเพียงพอโดยกฎหมายเฉพาะสาขาที่มีอยู่แล้ว เราจึงคาดหวังว่ามีหน่วยงานที่สำคัญเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่จะได้รับการกำหนดภายใต้ร่างพระราชบัญญัตินี้ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะยังคงมีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิดเพื่อให้แน่ใจว่าผลกระทบโดยรวมต่อธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจะลดลงและระบบนิเวศของเรายังคงเดินหน้า” นาย กาน กิม หยง รัฐมนตรีกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมกล่าว

    MAS จับมือพันธมิตรตีกรอบสินทรัพย์ดิจิทัลข้ามแดน

    ที่มาภาพ:https://www.straitstimes.com/business/banking/singapores-central-bank-to-launch-new-digital-platform-to-fight-illicit-banking
    วันที่ 30 ตุลาคม 2566 ธนาคารกลางสิงคโปร์(Monetary Authority of Singapore :MAS) ประกาศว่า ได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับ หน่วยงานที่ทําหน้าที่กํากับดูแลระบบการเงินและการ ลงทุนของญี่ปุ่น(Financial Services Agency of Japan:FSA)หน่วยงานกำกับดูแลด้านการตลาดการเงินของสวิส (Swiss Financial Market Supervisory Authority:FINMA) และ หน่วยงานกำกับนโยบายทางด้านการเงิน ของสหราชอาณาจักร(Financial Conduct Authority:FCA) ในโครงการนำร่องสินทรัพย์ดิจิทัลในตราสารหนี้ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และผลิตภัณฑ์การจัดการสินทรัพย์

    ภายใต้ Project Guardian ของ MAS นั้น MAS ได้ร่วมมือกับสถาบันการเงิน 15 แห่งเพื่อดำเนินการนำร่องในอุตสาหกรรมด้านแปลงสินทรัพย์ต่างๆเป็นโทเคนดิจิทัล ทั้งสินทรัพย์ประเภทตราสารหนี้ เงินตราต่างประเทศ และผลิตภัณฑ์การจัดการสินทรัพย์ โครงการนำร่องเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการสร้างตลาดที่สำคัญและประสิทธิภาพการทำธุรกรรมจากการใช้โทเคน เมื่อโครงการนำร่องขยายใหญ่และมีความซับซ้อนมากขึ้น ก็จำเป็นต้องมีความร่วมมือข้ามพรมแดนที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นระหว่างผู้กำหนดนโยบายและหน่วยงานกำกับดูแล MAS จึงได้จัดตั้งกลุ่มผู้กำหนดนโยบาย Project Guardian ซึ่งประกอบด้วย FSA, FCA และ FINMA(ซึ่งเข้าร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์)

    กลุ่มผู้กำหนดนโยบายมีเป้าหมายเพื่อ
    1) การผลักดันการหารือเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมาย นโยบาย และการบัญชีของสินทรัพย์ดิจิทัล
    2) ระบุความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นและช่องว่างที่เป็นไปได้ในนโยบายและกฎหมายที่มีอยู่ที่เกี่ยวข้องกับโทเคน
    3) การพัฒนามาตรฐานทั่วไปสำหรับการออกแบบเครือข่ายสินทรัพย์ดิจิทัลและแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดของตลาดในเขตอำนาจรัฐ
    4) ส่งเสริมมาตรฐานระดับสูงของการทำงานร่วมกันเพื่อสนับสนุนการพัฒนาสินทรัพย์ดิจิทัลข้ามพรมแดน
    5) อำนวยความสะดวกในการนำร่องของอุตสาหกรรมสำหรับสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านแซนด์บ็อกซ์ตามกฎระเบียบ หากมี และ
    6) ส่งเสริมการแบ่งปันความรู้ระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลและอุตสาหกรรม

    นาย เหลียง สิง เจียง รองกรรมการผู้จัดการ (การตลาดและการพัฒนา) MAS กล่าวว่า “ความร่วมมือของ MAS กับ FSA, FCA และ FINMA แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของผู้กำหนดนโยบายในการทำความเข้าใจให้มากขึ้นเกี่ยวกับโอกาสและความเสี่ยงที่เกิดจากนวัตกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล ด้วยความร่วมมือครั้งนี้ เราหวังว่าจะส่งเสริมการพัฒนามาตรฐานทั่วไปและกรอบการกำกับดูแลที่สามารถรองรับการทำงานร่วมกันข้ามพรมแดนได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงการเติบโตที่ยั่งยืนของระบบนิเวศสินทรัพย์ดิจิทัล”

    เวียดนามวางแผนพัฒนาระบบท่าเรือทันสมัย

    ที่มาภาพ: https://en.vietnamplus.vn/ba-ria-vung-tau-to-become-national-marine-economic-hub/255911.vnp
    เวียดนามวางแผนที่จะ พัฒนาระบบท่าเรือที่ทันสมัยในอนาคตอันใกล้นี้ ปัจจุบันเวียดนามมีอาคารท่าเรือ 286 แห่งซึ่งมีท่าเทียบเรือรวมกว่า 96 กิโลเมตรทั่วประเทศ สามารถรองรับสินค้าได้มากกว่า 706 ล้านตัน หนึ่งในนั้นคือกลุ่มอาคารท่าเรือทางตอนเหนือของเมืองไฮฟองและเมืองโฮจิมินห์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 50 ท่าเรือตู้คอนเทนเนอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

    นายเหงียน ซวน ซัง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ภายใต้แผนทั่วไปสำหรับการพัฒนาระบบท่าเรือของเวียดนามในปี 2564-2563 โดยมีวิสัยทัศน์ถึงปี 2593 ท่าเรือพิเศษ 2 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือแหลกเหวียน และ ท่าเรือกายแหม็บ-ถิหวาย (Cai Mep-Thi Vai) ทางตอนใต้ของ บ่าเหรี่ยะ จังหวัดหวุงเต่าจะได้รับการพัฒนาเพื่อรองรับเรือระหว่างประเทศ

    ปัจจุบันแหลกเหวียนเป็นท่าเรือน้ำที่ลึกที่สุดในภาคเหนือ ครอบคลุมพื้นที่ 57 เฮคเตอร์ โดยมีท่าเทียบเรือหลักยาว 750 เมตร จากท่าเรือนี้ สินค้าสามารถขนส่งโดยตรงไปยังสหรัฐอเมริกาและยุโรป โดยไม่ต้องผ่านท่าเรือในภูมิภาค เช่น สิงคโปร์ และฮ่องกง ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์ได้อย่างมาก และส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของการส่งออกของเวียดนาม

    ในขณะเดียวกัน ท่าเรือกายแหม็บ-ถิหวาย ได้รับเลือกให้เป็นท่าเรือขนถ่ายระหว่างประเทศ เนื่องจากเป็นหนึ่งใน 23 สิ่งอำนวยความสะดวกทั่วโลกที่สามารถจัดการเรือที่มีน้ำหนักบรรทุกสูงสุด (DWT) ได้ถึง 250,000 ตัน นอกจากนี้ยังเป็นหนึ่งในท่าเรือ 50 แห่งของโลกที่จัดการตู้คอนเทนเนอร์จำนวนมากที่สุด โดยคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 16 ของปริมาณการขนส่งสินค้าทั้งหมดที่ท่าเรือทั่วประเทศ ร้อยละ 35 ของปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ทั่วประเทศ และร้อยละ 50 ของปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ในภาคใต้

    กระทรวงคมนาคม (MoT) จะพิจารณานโยบายที่เหมาะสมในการพัฒนาท่าเรือขนถ่ายระหว่างประเทศในเมือง วันฟอง ของจังหวัด คั้ญฮว่า ทางตอนกลาง นอกจากนี้ ยังประเมินท่าเรือ เจิ่น เด๊ ในจังหวัด ซ็อกจัง ว่ามีศักยภาพในการเป็นท่าเรือพิเศษเพื่อใช้เป็นท่าเรือเกตเวย์ (Gateway Port)ของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง

    ในขณะเดียวกัน แม้ท่าเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ เกิ่นเทอ ที่กำลังจะสร้างเร็วๆ นี้จะไม่รวมอยู่ในแผนทั่วไป แต่นครโฮจิมินห์กำลังเสนอที่จะก่อสร้างในช่วงแรกๆและได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงคมนาคม

    ตามข้อมูลของ สำนักการเดินเรือของกระทรวงคมนาคม ภายในปี 2573 ระบบท่าเรือในเวียดนามจะได้รับการพัฒนาเพื่อรองรับสินค้า 1.14 – 1.42 พันล้านตัน ซึ่งรวมถึง 38 – 47 ล้าน ตู้สินค้าที่มีขนาด 20 ฟุต(TEU) และผู้โดยสาร 10.1 – 10.3 ล้านคน ซึ่งจะมีการพัฒนาให้ทัดเทียมกับภูมิภาคและโลกภายในปี 2593

    ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องมีการลงทุนประมาณ 313 ล้านล้านด่อง (12.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพื่อลงทุนในท่าเรือที่ให้บริการขนถ่ายสินค้าเพียงอย่างเดียวภายในปี 2573 เงินทุนส่วนใหญ่จะมาจากแหล่งงบประมาณที่ไม่ใช่ของรัฐ การลงทุนทางธุรกิจ และแหล่งที่มาอื่นๆที่ถูกกฎหมาย

    รัฐมนตรีช่วยว่าการกล่าวว่า การดึงดูดการลงทุนในท่าเรือไม่ใช่ปัญหาที่น่ากังวล เนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การลงทุนของรัฐในด้านนี้คิดเป็นร้อยละ 16-17 เท่านั้น ส่วนที่เหลือมาจากภาคเอกชน โครงการท่าเรือหลายแห่งได้รับความสนใจจากนักลงทุนรายใหญ่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่ปัญหาขณะนี้คือจะใช้ประโยชน์สูงสุดจากท่าเรือระดับ “super” ที่กำลังจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

    เจิ่น คั้ญ ฮวง รองประธานสมาคมท่าเรือเวียดนาม มองว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือคุณภาพสูง และการใช้ประโยชน์จากสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างมีประสิทธิผล เป็นเงื่อนไขเบื้องต้นสำหรับกาผลักดันกลยุทธ์การพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเลให้ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะสำหรับประเทศผู้ส่งออกอย่างเวียดนาม

    เจิ่น คั้ญ ฮวง แนะนำว่า เพื่อให้เกิดประสิทธิผล เจ้าหน้าที่และธุรกิจควรระมัดระวังในการพิจารณาการลงทุน ทำความเข้าใจความต้องการในการขนส่งสินค้า และรายละเอียดแผนงานการลงทุนเพื่อหลีกเลี่ยงความซ้ำซ้อนของโครงสร้างพื้นฐาน การแข่งขันที่ไม่จำเป็น และการกระจายทรัพยากรที่อาจนำไปสู่ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นและความเสี่ยงทางการเงิน

    ผู้เชี่ยวชาญชี้ให้เห็นจุดอ่อนที่เป็นอุปสรรคต่อท่าเรือเวียดนามจากการดึงดูดบริษัทเดินเรือขนาดใหญ่ โดยกล่าวว่า ท่าเทียบเรือของท่าเรือไม่ได้เชื่อมโยงกัน ทำให้ยากที่สินค้าจากเรือลำเล็กจะถ่ายโอนไปยังเรือที่ใหญ่ขึ้น อีกทั้งยังขาดกองกำลังตรวจสอบเฉพาะทาง ระบบนิเวศด้านโลจิสติกส์ ระบบการขนส่งระหว่างภูมิภาคและหลายรูปแบบ ต้นทุนด้านโลจิสติกส์ยังคงสูง และระยะเวลาในการเคลียร์สินค้าก็นาน หากมีการสร้างท่าเรือหลักๆ และปัญหาเหล่านั้นยังคงไม่ได้รับการแก้ไข ประสิทธิภาพการลงทุนก็จะต่ำมาก

    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เหงียน วัน ถาง ขอให้หน่วยงานบริหารการเดินเรือจัดการกับปัญหาคอขวดดังกล่าวอย่างรวดเร็ว และจัดทำแผนการจัดสรรเงินทุนระยะกลางสำหรับปี 2569-2530 ซึ่งจะช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งที่เชื่อมต่อพื้นที่ซึ่งเป็นท่าเรือสำคัญๆ เพื่อยกระดับท่าเรือเวียดนามในอนาคตอันใกล้นี้

    ส่งออกผักและผลไม้เวียดนามสร้างสถิติใหม่

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/business/industries/new-record-set-in-fruit-vegetable-exports-4672099.html
    รายได้จากการส่งออกผักและข้าวของเวียดนามในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 8.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และสูงกว่าตัวเลขทั้งหมด ที่รายงานในปี 2565 ถึง 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

    ในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม การส่งออกผักมีมูลค่า 4.92 พันล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้น 79% เมื่อเทียบเป็นรายปี ในขณะที่การส่งออกข้าวมีมูลค่า 4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 35% ซึ่งส่งผลให้มีส่วนสำคัญต่อรายได้จากการส่งออก 40 พันล้านเหรียญสหรัฐฯของภาคเกษตรกรรม และ 291 พันล้านเหรียญสหรัฐฯของเศรษฐกิจทั้งหมดในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2566

    เวียดนามได้รับผลกระทบจากตลาดจีน โดยส่งออกผักลดลง 5.1% ในปี 2565 อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นปีนี้ เวียดนามได้รับคำสั่งซื้อจำนวนมาก โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง เช่น ทุเรียน มะม่วง และขนุน

    สมาคมผักและผลไม้เวียดนาม (Vinafruit) ระบุว่า การที่ตลาดจีนกลับมาเปิด รวมถึงข้อตกลงเวียดนามได้ที่ลงนามกับตลาดผักและผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ถือเป็นปจจัยหนึ่งที่ทำให้การส่งออกผักและผลไม้ขยายตัว

    ในขณะเดียวกัน ข้าวก็ประสบความสำเร็จในการส่งออก ด้วยราคาที่เพิ่มขึ้น

    เหงียน วัน ด่ง ผู้อำนวยการ Viet Hung JSC ในจังหวัดเตี่ยน ยาง สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง กล่าวว่า การห้ามและการจำกัดการส่งออกข้าวของอินเดียเปิดโอกาสให้ผู้ส่งออกรายอื่นๆ เช่น เวียดนาม ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์ข้าวรายใหญ่อันดับสามของโลก

    ด้วยผลผลิตที่คาดว่าจะมากกว่า 43 ล้านตันในปีนี้ กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทประมาณการว่า หลังจากกันไว้เป็นอุปทานสำหรับอุปสงค์ในประเทศ เวียดนามสามารถขนส่งข้าวไปต่างประเทศได้ 7.5-8 ล้านตันในปี 2566

    กระทรวงฯเชื่อว่าในช่วงสองเดือนสุดท้ายของปีนี้ เวียดนามมีแนวโน้มที่จะมีรายได้เพิ่มเติม 850-900 ล้านเหรียญสหรัฐฯจากการส่งออกข้าว ทำให้มูลค่ารวมในปีนี้สูงถึง 4.7-4.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

    ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ในช่วงเดือนที่เหลือของปี เมื่อถึงเทศกาลเฉลิมฉลอง ความต้องการผักและผลไม้จะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในตลาดจีน

    ดัง ฟุ๊ก เหงียน เลขาธิการทั่วไปของ Vinafruit กล่าวว่า ในช่วงสองเดือนสุดท้ายของปี 2566 เวียดนามน่าจะทำรายได้ประมาณ 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรืออย่างน้อย 600 ล้านเหรียญสหรัฐฯต่อเดือน จากการส่งออกผักและผลไม้

    ถ้ามองในทางบวกตัวเลขอาจสูงถึง 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ จากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากตลาดจีน โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่เด่นๆของเวียดนาม เช่น แก้วมังกร กล้วย ขนุน เสาวรส และทุเรียน

    นอกจากนี้ภาคเกษตร ป่าไม้ และประมงของเวียดนามเกินดุลการค้า 9.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม เพิ่มขึ้น 26.2% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ตามการระบุของกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท (MARD)

    ในช่วงเวลาดังกล่าว การส่งออกผลิตภัณฑ์มีมูลค่ารวม 43.08 พันมีลดลง 4.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี เนื่องจากมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์หลักที่ลดลง เช่น อาหารทะเล (7.45 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 20.5%) และการป่าไม้ (11.65 พันล้านเหรียญสหรัฐฯลดลง 19.3) %)

    การส่งออกสินค้าเกษตรคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของการส่งออกทั้งหมด มีมูลค่า 21.94 พันล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้น 17% รายได้หลัก ได้แก่ ผักและผลไม้ (4.91 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) ข้าว (3.97 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) และเม็ดมะม่วงหิมพานต์ (2.92 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ)

    ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา การส่งออกเกษตร ป่าไม้ และประมงไปยังตลาดเอเชียและแอฟริกาเพิ่มขึ้น 5.7% และ 21.6% ขณะที่การส่งออกไปยังอเมริกา ยุโรป และโอเชียเนียลดลง 20.6%, 11.8% และ 17.2% ตามลำดับ

    จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นยังคงเป็นผู้ซื้อสินค้าเวียดนามรายใหญ่สามอันดับแรก โดยมูลค่าการส่งออกไปยังจีนคิดเป็น 22.8% สหรัฐฯ 20.6% และญี่ปุ่น 7.5%

    กระทรวงฯ กล่าวว่า จะกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้คำแนะนำในพื้นที่ เพื่อปรับแผนการผลิตและสนับสนุนการส่งออก และในขณะเดียวกันก็เร่งการเจรจาเพื่อขจัดอุปสรรคทางเทคนิคเพื่อขยายตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์เกษตร วนศาสตร์ และประมง นอกจากนี้ จะดำเนินการเพื่อสนับสนุนการปกป้องแบรนด์และข้อบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สำหรับผลิตภัณฑ์เวียดนามในต่างประเทศ

    ราคาข้าวส่งออกของเวียดนามแตะระดับสูงสุดใหม่

    ที่มาภาพ: https://en.vietnamplus.vn/vietnams-rice-exports-to-surpass-annual-target/238810.vnp
    ราคาข้าวส่งออกของเวียดนามเพิ่มสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากการเปิดเผยของของสมาคมอาหารเวียดนาม (VFA)

    ข้าวหัก 5% ของเวียดนามซื้อขายกันที่ 653 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน เพิ่มขึ้น 10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ในขณะที่ข้าวหัก 25% ขายได้สูงเป็นประวัติการณ์ที่ 638 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ซึ่งสูงกว่าข้าวไทยและปากีสถานมาก โดยเฉพาะ ข้าวหัก 5% มีมูลค่า 560 เหรียญสหรัฐฯต่อตันในประเทศไทย และ 563 เหรียญสหรัฐฯในปากีสถาน และข้าวหัก 25% มีราคา 520 เหรียญสหรัฐฯต่อตันในประเทศไทย และ 488 เหรียญสหรัฐฯในปากีสถาน

    VFA กล่าวว่า เวียดนามยังส่งออกข้าวได้อีกมาก เนื่องจากความต้องการยังคงเพิ่มขึ้นทั่วโลก ฟิลิปปินส์ต้องการนำเข้าข้าวเพิ่มอีก 1.1 ล้านตัน ในขณะที่ความต้องการจากอินโดนีเซียอยู่ที่ 2.3 ล้านตัน คาดว่าการนำเข้าข้าวของจีนจะเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี

    ผู้ส่งออกของเวียดนามกล่าวว่า ราคาข้าวจะยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อไปแม้ในฤดูเก็บเกี่ยวในฤดูใบไม้ร่วง-ฤดูหนาว และฤดูหนาว-ฤดูใบไม้ผลิ เนื่องจากความต้องการทั่วโลกเพิ่มขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ขณะที่อุปทานลดลงเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

    ด้วยข้าวคุณภาพสูงที่ครองใจผู้บริโภคชาวต่างชาติ เวียดนามน่าจะขายข้าวได้ในราคา 640-650 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันภายในสิ้นปี 2566

    ราคาข้าวในประเทศปรับตัวสูงขึ้นอันเป็นผลจากความต้องการส่งออกที่เพิ่มขึ้น โดยข้าวหัก 5% ขายที่ 15,343 ด่อง (0.62 เหรียญสหรัฐฯ) ต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 3,000 ด่อง ขณะที่ข้าวหัก 25% ซื้อขายที่ 14,725 ด่องต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น เกือบ 3,000 ด่อง ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม

    ในจังหวัด อานซาง ในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ชาวนาชื่อฮวากล่าวว่า พ่อค้าเสนอราคาข้าวพันธุ์ Dai Thom ให้สูง และติดต่อมาอย่างต่อเนื่อง

    “ฉันขายข้าวในราคา 8,000 ดองเวียดนาม (0.33 ดอลลาร์) ต่อกิโลกรัมในฤดูกาลที่แล้ว ซึ่งถือเป็นระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่ตอนนี้ราคาพุ่งขึ้นเป็น 9,000 ด่องแล้ว” ฮวากล่าว ซึ่งชี้ว่าเพิ่มขึ้น 12.5%

    ขณะที่ มันห์ชาวนาในวิน ลอง กล่าวว่า เขาได้รับการติดต่อจากพ่อค้าหลายราย แต่เขายังไม่ได้ขาย “ผลผลิตไม่ได้สูงเป็นพิเศษในฤดูกาลนี้ ดังนั้นจึงตั้งราคาให้สูงขึ้น”

    สถานการณ์ลักษณะเดียวกันนี้ยังพบเห็นได้ในพื้นที่ราบสูงตอนกลางและภาคเหนือ โดยดัง ชาวนาที่ปลูกข้าว Dai Thom ในจังหวัดกอนตูมที่ราบสูงตอนกลาง กล่าวว่า พ่อค้าเสนอราคาให้เขาที่ 9,000 ด่องเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม เมื่อเขาไม่ขาย พ่อค้าก็กลับมาเสนอราคาใหม่ที่ 11,000 ด่องในวันรุ่งขึ้น เพิ่มขึ้น 22%

    “ผมขายไป 2 ตันและเก็บไว้อีก 2 ตัน เผื่อไว้ขายในราคาที่สูงกว่านี้อีก”

    กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทกล่าวว่า ราคาข้าวได้เพิ่มขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ราคาส่งออกจึงขึ้นไปที่ 643 ดอลลาร์ต่อตันสำหรับข้าวหัก 5% ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 15 ปี ซึ่งทำลายสถิติเดิมของเวียดนามเมื่อปลายเดือนสิงหาคมปีนี้

    อย่างไรก็ตาม ผู้ค้าข้าวหลายรายกล่าวว่า ราคาข้าวที่สูงขึ้น ถือเป็นความท้าทาย เนื่องจากยากมากที่จะได้ข้าวที่สั่งในปริมาณที่เพียงพอ และก็ไม่กล้าที่จะเซ็นสัญญาส่งออกข้าวฉบับใหม่เพราะกลัวขาดทุน

    เหงียน วัน ถวน ผู้ค้าข้าวรายหนึ่ง ในที่ราบสูงตอนกลางกล่าวว่า ผลผลิตลดลง 50% จากฤดูกาลที่แล้ว เนื่องจากเกษตรกรจำนวนมากเปลี่ยนนาข้าวเป็นข้าวโพดหรือมันฝรั่ง ส่งผลให้มีปริมาณข้าวน้อย

    ฮุย ทิ บิงห์ เฮวี่ยน ซีอีโอของบริษัทส่งออกข้าว Ngoc Quang Phat กล่าวว่า ยากมากที่จะซื้อข้าวให้เพียงพอเมื่อเร็วๆ นี้ เนื่องจากอุปทานลดลงและราคาปรับขึ้นเป็นรายวันอย่างต่อเนื่อง

    โด ฮา นัม รองประธานสมาคมอาหารเวียดนาม กล่าวว่า ราคาในประเทศยังสูงกว่าราคาส่งออกในปัจจุบัน ผู้ค้าจึงไม่เต็มใจที่จะลงนามข้อตกลงการส่งออกใหม่ เนื่องจากกลัวว่าจะไม่สามารถปฏิบัติตามคำสั่งซื้อได้

    “ผู้ส่งออกจะต้องขายที่ 650-680 ดอลลาร์ต่อตันเพื่อให้ได้กำไร หากราคาในประเทศยังอยู่ในระดับนี้ต่อไป” ซึ่งช่วงราคาที่เขากล่าวถึงนั้นสูงกว่าระดับปัจจุบัน 1.09-5.75%

    ความต้องการทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะยังคงอยู่ในระดับสูงในช่วงเดือนที่เหลือ โดยเฉพาะจากอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และจีน

    น้ำท่วมและพายุสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่เพาะปลูกข้าวหลายแห่งในประเทศจีน ในขณะที่อินโดนีเซียยังคงเล็งที่จะนำเข้าข้าว 1 ล้านตันเพื่อเติมปริมาณสำรอง

    สถิติจากกรมศุลกากรเวียดนาม เวียดนามมีรายได้ 4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯจากการส่งออกข้าวกว่า 7.1 ล้านตันไปต่างประเทศในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม ซึ่งมูลค่าเพิ่มขึ้น 35% และปริมาณเพิ่มขึ้น 17% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว

    กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทกล่าวว่า เวียดนามสามารถส่งออกข้าวได้ 7.8 ล้านตัน และจะมีรายได้จากการส่งออก 4.2-4.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯในปี 2566

    อย่างไรก็ตามในการสัมมนา ที่จัดขึ้นในเมืองเกิ่นเทอ สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน เพื่อหารือเกี่ยวกับมาตรการในการเพิ่มประสิทธิภาพห่วงโซ่คุณค่าข้าวของเวียดนาม ฝ่าม กวาง เสี่ยว หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Agro Monitor ระบุว่า แม้ในปีนี้เวียดนามสามารถส่งออกข้าวได้ 8 ล้านตัน แต่แนะนำให้ผู้ส่งออกระมัดระวัง เนื่องจากคาดว่าสต็อกข้าวในปี 2567จะอยู่ในระดับต่ำ และอุปทานข้าวอาจมีจำกัด

    แม้ในปีนี้ ปริมาณและมูลค่าการส่งออกข้าวจะเพิ่มขึ้น แการส่งออกข้าวของเวียดนามเผชิญกับความผันผวนอย่างมาก เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบสูง ดังนั้น ผู้เข้าร่วมการประชุมจึงเน้นไปที่การหามาตรการเพื่อลดความสูญเสียและเพิ่มประสิทธิภาพต้นทุนในการแปรรูปข้าว ช่วยสร้างผลกำไรให้กับซัพพลายเออร์และผู้ส่งออก

    ข้อมูลจากสหประชาชาติแสดงให้เห็นว่าภาคเกษตรกรรมของเวียดนามประสบความสูญเสีย 14-35% โดยข้าวสูญเสียประมาณ 14% ต่อปี ความสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยวเกิดขึ้นในทุกขั้นตอน ส่วนใหญ่อยู่ในกระบวนการทำให้แห้ง

    ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า เพื่อให้มั่นใจในคุณภาพข้าวที่ดีที่สุด ภาคส่วนนี้จำเป็นต้องส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีชั้นสูงมาใช้

    GDP ต่อหัวของกัมพูชาจะแตะ 2,071 เหรียญสหรัฐฯในปีหน้า

    ที่มาภาพ:https://www.khmertimeskh.com/501297669/number-of-factories-in-cambodia-grows-from-64-in-1997-to-1326-in-2023-says-prime-minister-hun-sen/
    ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัว GDP Per Capita ของกัมพูชาคาดว่าจะอยู่ที่ 2,071 เหรียญสหรัฐฯในปี 2567 เพิ่มขึ้นจากประมาณ 1,917 เหรียญสหรัฐฯในปี 2566 รายงานจากกระทรวงเศรษฐกิจและการเงิน

    โดยเป็นผลจากการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป การท่องเที่ยว การก่อสร้าง และการเกษตร เศรษฐกิจของกัมพูชาคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 6.6 ในปีหน้า เพิ่มขึ้นจากประมาณร้อยละ 5.6 ในปีนี้ รายงานระบุ

    กัมพูชาถูกจัดเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับล่างตั้งแต่ปี 2558

    ในการพูดคุยกับคนงานโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าหลายพันคนในกรุงพนมเปญเมื่อปลายเดือนตุลาคม นายกรัฐมนตรี ฮุน มาเน็ต กล่าวว่าประเทศ “ตั้งเป้าไปที่สถานะประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงภายในปี 2573 และสถานะประเทศมีรายได้สูงภายในปี 2593”

    ประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับบนถูกกำหนดโดย GDP ต่อหัวระหว่าง 4,466 เหรียญสหรัฐฯถึง 13,845 เหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่ประเทศที่มีรายได้สูงมี GDP ต่อหัวที่ 13,846 เหรียญสหรัฐฯหรือมากกว่านั้น ตามการจัดกลุ่มของธนาคารโลก

    ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต กล่าวว่า อัตราความยากจนของประเทศลดลงอย่างมากจากร้อยละ 33.8 เหลือร้อยละ 17.8 ในช่วง 10 ปีระหว่างปี 2552 ถึง 2562 โดยมีชาวกัมพูชาเกือบ 2 ล้านคนหลุดพ้นความยากจน

    กัมพูชามีประชากรประมาณ 17 ล้านคน ข้อมูลของธนาคารโลกระบุว่า ผู้คนที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจนที่กำหนดจากรายได้น้อยกว่า 10,951 เรียลหรือ 2.7 ดอลลาร์ต่อวัน

    ลาวตั้งเป้าเศรษฐกิจปี 2567 โต 4.5%

    ที่มาภาพ: https://www.tourismlaos.org/welcome/legendary-landmarks/

    รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2567 ไว้ที่ 4.5% นายคำเจน วงโพสี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการวางแผนและการลงทุนรายงานต่อที่ประชุมสามัญครั้งที่ 6 ของสมัชชาแห่งชาติ

    รายงานของรัฐบาลเกี่ยวกับการดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมปี 2566 และร่างแผนปี 2567 รัฐมนตรีกล่าวว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ขยายตัว 4.4%

    อย่างไรก็ตาม ก็คาดการณ์การเติบโตทั้งปี 2566 ไว้ที่ 4.2% ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมาย 4.5% ที่ตั้งไว้ในแผนปี 2566 โดยอธิบายว่า ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นและภัยแล้งซึ่งส่งผลต่อการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำเป็นปัจจัยสำคัญของการเติบโตที่ลดลงในปีนี้

    นายคำเจนย้ำถึง ความจำเป็นในการรักษาเสถียรภาพทางการเมืองและระเบียบทางสังคมเพื่อให้แน่ใจว่างานสำคัญๆ ที่ประเทศลาวเป็นเจ้าภาพจะประสบความสำเร็จ ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมอุตสาหกรรมบริการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเติบโตที่วาไว้สูงในปี 2567

    รัฐบาลได้ประกาศเป้าหมายไว้สูงในหลายด้านสำหรับปี 2567 ซึ่งรวมถึงการลดอัตราเงินเฟ้อให้เหลือเพียงตัวเลขหลักเดียว

    การประชุมสมัชชาแห่งชาติลาวครั้งที่ 6 มีขึ้นระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม ถึง 21 พฤศจิกายน

    สำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจรายปีของลาวอยู่ที่ 4.03% ในช่วงสองปีครึ่งที่ผ่านมา ซึ่งสูงกว่า 4% เป้าหมายที่ได้รับอนุมัติจากสมัชชาแห่งช่าติสำหรับช่วงปี 2564-2568 เล็กน้อย

    ในปีนี้คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโต 4.2% ซึ่งต่ำกว่า 4.5% ที่วางไว้ในเดือนก่อนหน้า เนื่องจากสกุลเงินกีบของประเทศที่อ่อนค่าลง ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ต่อหัวจึงมีแนวโน้มลดลง และคาดว่าจะแตะระดับ 1,824 เหรียญสหรัฐฯ ในปีนี้ (แผน 1,625 เหรียญสหรัฐฯ) รัฐบาลมีแผนที่วางเป้าหมายไว้สูงที่จะมี GDP ต่อหัวต่อปีที่ 2,880 เหรียญสหรัฐฯภายในปี 2568

    “ในช่วง 2 ปีครึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างองค์กรในภาครายได้และรายจ่าย ควบคู่ไปกับการยกระดับภาคการเงินและงบประมาณให้ทันสมัย ​​เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด และรัฐบาลสามารถเก็บรายได้เกินเป้าหมายเป็นเวลา 2 ปีติดต่อกัน ” นายกรัฐมนตรี สอนไซ สีพันดอน กล่าวในการประชุมสมัชชาแห่งชาติสมัยสามัญครั้งที่ 6 เมื่อวันอังคาร(31 ต.ค.)

    ด้านการดำเนินการที่จะแก้ไขปัญหาความไร้เสถียรภาพทางการเงิน อัตราเงินเฟ้อที่สูง และอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน รัฐบาลได้สั่งให้ธนาคารแห่ง สปป. ลาว ใช้กลไกทั้งหมดในลักษณะบูรณาการเพื่อรักษา M2 (ปริมาณเงินทั้งหมด) ไว้ในระดับที่เหมาะสม และส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ เน้นการใช้เงินตราต่างประเทศในการนำเข้าที่มีความสำคัญลำดับต้นๆ ยกเลิกร้านแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และจำกัดการให้บริการแลกเปลี่ยนเงินตรากับธนาคารพาณิชย์

    อัตราส่วนเงินตราต่างประเทศจากการส่งออกที่ทำธุรกรรมผ่านระบบธนาคารเพิ่มขึ้นจากประมาณ 31% ในปี 2563 เป็น 41.32% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 และคาดว่าจะเกิน 50% ภายในสิ้นปีนี้

    ทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นจาก 3.6 เดือนของการนำเข้าในปี 2563 เป็น 4.3 เดือนของการนำเข้าภายในสิ้นเดือนที่แล้ว

    นายกรัฐมนตรีระบุ พัฒนาการในเชิงบวกได้ช่วยลดอัตราเงินเฟ้อจาก 40% ในกลางปี ​​2565 เหลือ 25.69% ในเดือนกันยายน 2566

    “การแก้ไขปัญหานี้กำหนดให้ทุกฝ่าย ทุกภาคส่วน ทั้งระดับกลางและระดับจังหวัด ตลอดจนนิติบุคคลและบุคคลในสังคมมีส่วนร่วมในการลดการใช้เงินตราต่างประเทศโดยไม่จำเป็น และถือเป็นการแสดงออกถึงความรักชาติของพวกเขา” นายกรัฐมนตรีกล่าว

    มาเลเซียเริ่มใช้ภาษีสินค้ามูลค่าสูง 1 พ.ค. 2567

    ดาโต๊ะ สรี อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเซีย ในสภาผู้แทนราษฎร ที่มาภาพ:https://www.bernama.com/en/region/news.php?id=2170722
    กระทรวงการคลังมาเลเซียระบุว่ า ภาษีสินค้ามูลค่าสูง(High-Value Goods Tax) ซึ่งเดิมเรียกว่าภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย(Luxury Goods Tax) มีกำหนดบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567

    ในการชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรในรัฐสภาต่อการตั้งกระทู้ถามของ ชอง เจ๋อหมิน สมาชิกรัฐสภา กระทรวงฯระบุว่า อยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของการสรุปนโยบายและกฎหมายภาษีสินค้ามูลค่าสูง

    “กลไกการดำเนินการ ประเภทของสินค้า และอัตราภาษีสินค้ามูลค่าสูงจะมีการประกาศทันทีที่เรื่องดังกล่าวได้รับการสรุปและได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี” กระทรวงฯระบุ

    กระทรวงฯยังรับประกันว่า กระบวนการกำหนดนโยบายและการร่างกฎหมายคำนึงถึงข้อมูลที่ได้รับจากหลายฝ่าย ในระหว่างรับฟเซสชันการมีส่วนร่วมที่ดำเนินการโดยกระทรวงและกรมศุลกากรของมาเลเซีย

    เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ขณะนำเสนองบประมาณปี 2567 ที่รัฐสภา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงการคลังอันวาร์ อิบราฮิมประกาศว่าภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยจะกำหนดไว้ที่ 5% ถึง 10% และยังกล่าวด้วยว่า จะมีการบังคับใช้กฎหมายใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีใหม่ โดยนำไปใช้กับสินค้าต่างๆ เช่น เครื่องประดับและนาฬิกาที่เกินเกณฑ์ราคาที่กำหนด

    นายกฯ เข้าเยี่ยมคารวะ นายทองลุน สีสุลิด ประธานประเทศ สปป. ลาว

    ที่มาภาพ: https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/73939
    นายกฯ เข้าเยี่ยมคารวะ นายทองลุน สีสุลิด ประธานประเทศ สปป. ลาว และพบหารือ นายไซสมพอน พมวิหาน ประธานสภาแห่งชาติ สปป. ลาว ตามลำดับ

    วันนี้ (30 ตุลาคม 2566) เวลา 09.45 น. (ตามเวลาท้องถิ่นของนครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งเท่ากับประเทศไทย) ณ ทำเนียบประธานประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าเยี่ยมคารวะ นายทองลุน สีสุลิด ประธานประเทศ สปป. ลาวและเลขาธิการใหญ่คณะบริหารงานศูนย์กลางพรรคประชาชนปฏิวัติลาว และต่อมาในเวลา 10.25 น. ณ สภาแห่งชาติสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นายกรัฐมนตรีได้ พบหารือกับ นายไซสมพอน พมวิหาน ประธานสภาแห่งชาติ สปป. ลาว โดยภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้

    ในการเข้าเยี่ยมคารวะนายทองลุน สีสุลิด ประธานประเทศ สปป. ลาว นายกฯ ได้สรุปผลการหารือกับสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรี สปป. ลาว ให้รับทราบ เช่น เรื่องการค้าการลงทุน ความร่วมมือด้านพลังงาน ความเชื่อมโยง ทั้งระบบราง ถนนและสะพาน การขนส่ง Logistics ความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคง ปัญหาหมอกควัน เป็นต้น

    โดยประธานประเทศฯ แสดงความยินดีที่ได้ต้อนรับนายกฯ ในการเยือนอย่างเป็นทางการ ชื่นชมความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ลาว ที่มีความร่วมมืออย่างแนบแน่นใกล้ชิด ซึ่งมั่นใจว่าความร่วมมือที่ได้คุยกันในวันนี้จะก้าวหน้าเป็นโอกาสให้ได้พัฒนา เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนของทั้งสองประเทศ

    ในส่วนของการพบหารือประธานสภาแห่งชาติ สปป. ลาว นายกรัฐมนตรีพร้อมร่วมมือกับฝ่าย สปป. ลาว ในการส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกันให้มีความคืบหน้า โดยเฉพาะในประเด็นการเพิ่มปริมาณการค้าชายแดน การส่งเสริมความเชื่อมโยง การคมนาคมขนส่งระหว่างสองประเทศ ทั้งทางถนนและรถไฟ ตลอดจนความร่วมมือเพื่อการพัฒนา พร้อมหวังว่า ประธานสภาแห่งชาติ สปป. ลาว จะให้การสนับสนุนความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ระหว่างไทยกับ สปป. ลาว อย่างต่อเนื่องต่อไป ซึ่งฝ่ายประธานสภาแห่งชาติ สปป. ลาว กล่าวว่าลาวชื่นชมนายกรัฐมนตรี และให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ไทย-ลาวในทุกระดับ ยินดีที่ทั้งสองฝ่ายมีความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันเสมอมา และพร้อมกระชับความร่วมมือกับไทยต่อไป

    โดยภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายกรัฐมนตรีเป็นประธานร่วมพิธีเปิดสถานีรถไฟเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) กับนายกรัฐมนตรี สปป. ลาว ซึ่งสถานีรถไฟดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมการไปมาหาสู่ระหว่างประชาชนสองฝ่าย และสนับสนุนการเชื่อมโยงการท่องเที่ยว สร้างงาน สร้างรายได้ และกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดนของทั้งสองประเทศ