ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup อาเซียนตกลงให้ความสำคัญกับสมาชิกก่อนหากขาดแคลนข้าว

ASEAN Roundup อาเซียนตกลงให้ความสำคัญกับสมาชิกก่อนหากขาดแคลนข้าว

15 ตุลาคม 2023


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 7-14 ตุลาคม 2566

  • อาเซียนตกลงให้ความสำคัญกับสมาชิกก่อนหากขาดแคลนข้าว
  • อินโดนีเซียผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่สุดของเวียดนามซื้อข้าวเพิ่ม
  • กัมพูชาส่งออกข้าวทะลุ 456,000 ตันช่วง 9 เดือนแรก
  • เวียดนามเร่งยกระดับเป็นตลาดหุ้น Emerging Market
  • กัมพูชาดึงโครงการลงทุน 3.76 พันล้านเหรียญสหรัฐฯใน 9 เดือน
  • กัมพูชาเปิดตัวยุทธศาสตร์ชาติพัฒนาเศรษฐกิจนอกระบบ
  • ทริสลดเรตติ้งลาวลงมาที่ BB+ ต่ำกว่า Investment Grade
  • ไทย-มาเลเซียเดินหน้าความร่วมมือ-การค้า
  • นายกฯ เร่งต่อยอดความร่วมมือกับสิงคโปร์ในมิติหลากหลาย
  • อาเซียนตกลงให้ความสำคัญกับสมาชิกก่อนหากขาดแคลนข้าว

    ที่มาภาพ: https://en.baochinhphu.vn/rice-export-prices-reach-10-year-high-111230801102556193.htm
    ประเทศสมาชิกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ตกลงที่จะให้ความสำคัญในการช่วยเหลือซึ่งกันและกันก่อน ในกรณีที่มีปัญหาการขาดแคลนข้าวและปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาหาร จากการรายงานของเบอร์นามา สำนักข่าวแห่งชาติมาเลเซีย โดยอ้างรัฐมนตรีกระทรวงเกษตร

    สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) บรรลุข้อตกลงในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 45 (45th ASEAN Ministers on Agriculture and Forestry: AMAF) และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย ระหว่างวันที่ 2-6 ตุลาคมจากการเปิดเผยของนายโมฮัมหมัด ซาบู รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและความมั่นคงด้านอาหาร ของมาเลเซีย

    “ความร่วมมือของอาเซียนหมายความว่า หากเราเผชิญกับปัญหาเรื่องข้าว ประเทศสมาชิกอาเซียนจะให้ความสำคัญกับประเทศในอาเซียนเป็นอันดับแรก”

    นายโมฮัมหมัดกล่าวว่า เวียดนาม กัมพูชา และไทย ได้บอกว่า จะพิจารณาคำขอใหม่เพื่อการนำเข้าเพิ่มเติม

    มาเลเซีย ซึ่งนำเข้าข้าวประมาณ 38% ของความต้องการข้าว เป็นหนึ่งในหลายประเทศที่ได้รับผลกระทบจากผู้ส่งออกรายใหญ่ เช่น อินเดีย ที่จำกัดการขนส่ง เมื่อ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ประกาศเงินอุดหนุนและมาตรการอื่นๆ เพื่อชดเชยราคาธัญพืชที่สูงขึ้น และรับประกันว่าจะมีอุปทานที่เพียงพอในตลาด

    สำหรับการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียน-ญี่ปุ่น ด้านการเกษตรและป่าไม้ ที่ประชุมเห็นชอบการจัดทำแผนความร่วมมือมิโดริ อาเซียน-ญี่ปุ่น เพื่อเสริมสร้างระบบการเกษตรและอาหารที่ยั่งยืนผ่านนวัตกรรม เพื่อประกันความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ ประเทศไทยยังสนับสนุนนโยบายส่งเสริมการผลิตและพัฒนาอุตสาหกรรมทางเลือกที่เกี่ยวข้องกับโปรตีน โดยเฉพาะแมลงที่กินได้และโปรตีนจากพืช โดยประเทศไทยหวังว่าจะได้มีความร่วมมือด้านโปรตีนทางเลือกภายใต้แผนความร่วมมือมิโดริ ซึ่งจะส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ด้านการเกษตรกรรมที่ยั่งยืนซึ่งสอดคล้องกับโมเดล BCG และแผนความร่วมมือมิโดริด้วย

    อินโดนีเซียผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่สุดของเวียดนามซื้อข้าวเพิ่ม

    ที่มาภาพ: https://asianews.network/indonesia-to-import-1-million-tonnes-of-rice-from-india-citing-el-nino-concerns/
    อินโดนีเซียเพิ่งเปิดประมูลข้าวนำเข้าจำนวน 500,000 ตัน รวมทั้งจากเวียดนามด้วย ขณะที่ฟิลิปปินส์ก็ส่งคำสั่งซื้ออีกครั้ง

    สำนักงานโลจิสติกส์แห่งชาติ(State Logistics Agency) หรือ Bulog ของอินโดนีเซียได้ประกาศการประมูลข้าวนำเข้าจำนวน 500,000 ตัน ซึ่งรวมถึงข้าวจากเวียดนาม ไทย เมียนมา ปริมาณ 300,000 ตัน และจากปากีสถาน 200,000 ตัน

    ผู้ชนะการประมูลจะต้องส่งสินค้าไปยังอินโดนีเซียก่อนวันที่ 25 ธันวาคม และจากการที่ซื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อินโดนีเซียจึงแซงหน้าจีนจนกลายเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่อันดับสองของเวียดนาม

    อินโดนีเซียนำเข้าข้าวจากเวียดนามจำนวน 871,000 ตันในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 16 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

    ฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ยังได้เพิ่มการซื้ออีกครั้งหลังจากระงับไปเกือบหนึ่งเดือน เนื่องจากการกำหนดเพดานราคาข้าวในประเทศ

    เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ฟิลิปปินส์ได้ขยายเพดานราคาข้าว สำหรับข้าวสารที่ผ่านการสีปกติและสีดีจนเมล็ดข้าวมีลักษณะสวยงามดี

    ในช่วง 9 เดือนแรก การส่งออกข้าวของเวียดนามไปยังฟิลิปปินส์สูงถึง 2.4 ล้านตัน มูลค่าเกือบ 1.5 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งมูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้น 20% ใน

    จีน ซึ่งเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่อันดับสามของเวียดนาม ได้ซื้อข้าวเหนียวและข้าว ST 24 และ 25 เพิ่มจากเวียดนามในเดือนตุลาคม

    จีนนำเข้าข้าวเวียดนาม 850,000 ตันในช่วง 9 เดือนแรก เพิ่มขึ้น 35%

    นอกเหนือจากตลาดหลักข้างต้นแล้ว การส่งออกข้าวของเวียดนามไปยังกานา ตุรกี และชิลี เพิ่มขึ้นจาก 46% เป็นหลายสิบเท่าจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว

    เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ราคาข้าวหัก 5% ของเวียดนามอยู่ที่ 600-613 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน และข้าวหอมอยู่ที่ 640-650 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน สูงกว่าข้าวไทย 30 เหรียญสหรัฐฯ และสูงกว่าข้าวปากีสถาน 65 เหรียญสหรัฐฯ

    ในช่วง 9 เดือนแรก เวียดนามส่งออกข้าว 6.35 ล้านตันเพิ่มขึ้น 18% มีมูลค่ารวม 3.5 พันล้านดอลลาร์เพิ่มขึ้น 34%

    กัมพูชาส่งออกข้าวทะลุ 456,000 ตันช่วง 9 เดือนแรก

    ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/501344884/cambodia-to-export-125000-tonnes-of-rice-to-indonesia/
    กัมพูชาส่งออกข้าวสารรวม 456,581 ตันในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ สร้างรายได้กว่า 327 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากข้อมูลอัปเดตในรายงานที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 6 ต.ค. โดยสหพันธ์ข้าวกัมพูชา

    การส่งออกในเดือนมกราคม-พฤศจิกายนคิดเป็นประมาณร้อยละ 65 ของการส่งออกที่วางแผนไว้จำนวน 700,000 ตันในปีนี้ และส่งออกไปยัง 57 ประเทศและภูมิภาคทั่วโลก

    ประเทศในสหภาพยุโรปยังคงเป็นผู้ซื้อข้าวสารรายใหญ่ที่สุดของกัมพูชา โดยซื้อ 190,788 ตัน ตามมาด้วยจีนและเขตปกครองตนเอง และสมาชิกอาเซียนด้วยปริมาณ 155,366 ตัน และ 45,306 ตัน ตามลำดับ

    ข้าวสารที่ส่งออก ได้แก่ ข้าวหอมพรีเมี่ยม ข้าวหอม ข้าวขาวเมล็ดยาว ข้าวนึ่ง และข้าวอินทรีย์

    ในปี 2565 กัมพูชาส่งออกข้าวสารมากกว่า 630,000 ตันไปยัง 59 ประเทศ สร้างรายได้ 414 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่รายได้จากการส่งออกข้าวเปลือกอยู่ที่ประมาณ 841 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

    สหพันธ์ข้าวกัมพูชาได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกข้าวสารไว้สูง ว่าต้องอย่างน้อยหนึ่งล้านตันภายในปี 2568

    เวียดนามเร่งยกระดับตลาดหุ้นสู่ Emerging Market

    ที่มาภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/File:Hanoi_Stock_Exchange_(18780216822).jpg
    เวียดนามเร่งดำเนินการเพื่อยกระดับตลาดหุ้นจากตลาดชายขอบ(frontier market) เป็นตลาดเกิดใหม่(emerging market)ภายในปี 2568

    นางหวู ถิ ชาน เฟือง ประธานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์เวียดนาม (State Securities Commission of Vietnam :SSC) กล่าวว่า การยกระดับสถานะของตลาดหุ้นเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของรัฐบาล ซึ่งหวังว่าจะก้าวสู่สถานะตลาดเกิดใหม่ก่อนปี 2568

    ในแง่ของกรอบทางกฎหมาย กฎหมายหลักทรัพย์ปี 2562 กฎหมายการลงทุนปี 2563 กฎหมายว่ากิจการปี 2563 และเอกสารที่ชี้แนะการบังคับใช้ได้สร้างเงื่อนไขที่เหมาะสมที่สุดสำหรับกระแสการลงทุน อำนวยความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษ รวมไปถึงการลงทะเบียนและการเปิดบัญชีของนักลงทุนและเพิ่มความโปร่งใสของตลาด ดังนั้นจะทำให้ค่อยๆ เข้าสู่เกณฑ์การยกระดับตลาด

    นอกเหนือจากการเติบโตในแง่ของขนาดและสภาพคล่องแล้ว ตลาดหุ้นของเวียดนามยังมีความโปร่งใสและแข็งแกร่งมากขึ้นอีกด้วย เนื่องจากการกำกับการละเมิดอย่างเข้มงวด ธุรกิจส่วนหนึ่งยังได้เผยแพร่ข้อมูลเชิงรุกเป็นภาษาอังกฤษด้วย หนึ่งในนั้นทั้งหมดในกลุ่มดัชนี VN30 ซึ่งประกอบหุ้นที่ใหญ่สุด 30 อันดับแรกตามมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ได้เปิดเผยข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษ

    กฎระเบียบที่โปร่งใสช่วยยกระดับความเป็นตลาด ดังจะเห็นจากคำสั่งของรัฐบาลและหนังสือเวียนกระทรวงการคลัง

    ในเร็วๆนี้ SSC จะแก้ไขเอกสารทางกฎหมายเพื่อยกระดับความโปร่งใสและความยั่งยืนของตลาดหุ้น

    ลินดอน จ้าว ตัวแทนของสมาคมอุตสาหกรรมหลักทรัพย์และตลาดการเงินแห่งเอเชีย (Asia Securities Industry and Financial Markets Association:ASIFMA) กล่าวว่า เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุดในเอเชีย และเติบโตเร็วที่สุดในโลก นอกจากนี้ยังได้รับประโยชน์จากการกระจายความหลากหลายของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกและชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น

    จ้าวกล่าวว่า นักลงทุนทั่วโลกกำลังเพิ่มการลงทุนในเอเชีย และเวียดนามจะเป็นจุดหมายปลายทางที่โดดเด่นในอนาคต เนื่องจากทางการปฏิรูปตลาดเพื่อให้ผู้จัดการกองทุนทั่วโลกเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

    ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินชี้ให้เห็นว่า MSCI และ FTSE Russell ซึ่งเป็นสององค์กรระหว่างประเทศที่สำคัญที่สุดในการจัดประเภทตลาดหุ้น ยังคงวางสถานะเวียดนามเป็นตลาดชายขอบ ในขณะเดียวกัน ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ถูกจัดว่าให้เป็นตลาดเกิดใหม่มานานหลายปี

    นักลงทุนต่างชาติจำนวนมากมองเห็นว่า มูลค่าในตลาดหุ้นเวียดนามน่าลงทุน และต้องการลงทุนในอนาคตที่เวียดนาม สิ่งที่ประเทศต้องทำตอนนี้คือ การส่งเสริมความโปร่งใสของตลาดต่อไป และจัดเตรียมเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยมากขึ้นให้กับนักลงทุนต่างชาติ ผู้เชี่ยวชาญระบุ

    หาก MSCI และ FTSE Russell ยกระดับตลาดหุ้นเวียดนามให้เป็นตลาดเกิดใหม่ คาดว่าจะมีเงินมูลค่าหลายพันล้านเหรียญสหรัฐเข้าสู่หุ้นเวียดนามในแต่ละปี

    จากข้อมูลของสถาบันจัดอันดับระหว่างประเทศและสถาบันการเงินที่สำคัญ เวียดนามได้ทำการปรับปรุงและเป็นไปตามเกณฑ์ที่สำคัญหลายประการ อย่างไรก็ตาม ยังมีอีก 2 ประเด็นที่ยังต้องมีการปรับปรุงที่สำคัญเพื่อสนับสนุนนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งได้แก่ ข้อกำหนดในการระดมทุนล่วงหน้า และข้อจำกัดการเป็นเจ้าของของชาวต่างชาติ ซึ่งทั้งสองอย่างนี้จำเป็นต้องมีความร่วมมือในทางปฏิบัติระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น ธนาคารแห่งเวียดนาม และกระทรวงการวางแผนและการลงทุน

    ผู้เชี่ยวชาญยังย้ำถึงความสำคัญของบริษัทหลักทรัพย์และธนาคาร โดยกล่าวว่า การยกระดับนี้จะช่วยขยายขนาดตลาดได้อย่างมาก ดังนั้นระบบปฏิบัติการและกระบวนการบริหารความเสี่ยงจึงต้องอยู่ในอันดับต้นๆ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรม

    นอกจากนี้ SSC ควรเดินหน้าปรับปรุงระบบไอทีใหม่สำหรับตลาดหุ้น กระจายและปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ในตลาดเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการเติบโตสีเขียวและการพัฒนาที่ยั่งยืน

    กัมพูชาดึงโครงการลงทุน 3.76 พันล้านเหรียญสหรัฐฯใน 9 เดือน

    ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/609909/chinese-invested-sihanoukville-sez-is-model-for-sez-development-in-cambodia-cambodian-deputy-pm/

    รายงานของสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (Council for the Development of Cambodia:CDC) เปิดเผยว่า กัมพูชาดึงดูดโครงการลงทุนสินทรัพย์ถาวรมูลค่า 3,765 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

    CDC อนุมัติโครงการลงทุน 191 โครงการในช่วงเดือนมกราคม-กันยายนปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 27 เมื่อเทียบเป็นรายปีจาก 150 โครงการ แหล่งข่าวกล่าว

    ในบรรดาโครงการลงทุนที่ได้รับอนุมัตินั้น 141 โครงการตั้งอยู่นอกเขตเศรษฐกิจพิเศษ และอีก 50 โครงการอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ โครงการลงทุนที่จดทะเบียนเน้นไปที่ภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร การผลิต การท่องเที่ยว และโครงสร้างพื้นฐาน โดยนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ 5 อันดับแรกของกัมพูชามาจากจีน มาเลเซีย หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน สิงคโปร์ และเวียดนาม

    นาย เจีย วุทธี รองเลขาธิการ CDC กล่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของกัมพูชา

    “การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ ยกระดับมาตรฐานการครองชีพของผู้คนผ่านการไหลเวียนของเงินทุน สร้างงานให้กับคนในท้องถิ่น และเพิ่มการส่งออก”

    กัมพูชาเปิดตัวยุทธศาสตร์ชาติพัฒนาเศรษฐกิจนอกระบบ

    ที่มาภาพ: https://cambodianess.com/article/cambodias-economic-recovery-hinges-on-addressing-inequality-and-diversification
    รัฐบาลกัมพูชาเปิดตัวยุทธศาสตร์ชาติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจนอกระบบ พ.ศ. 2566-2571 ท เพื่อส่งเสริมการคุ้มครองและการสร้างขีดความสามารถ ผลิตภาพ และความยืดหยุ่นของเศรษฐกิจนอกระบบ

    พิธีเปิดตัวจัดขึ้นที่กรุงพนมเปญ โดยมีดร. ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เป็นประธาน และมีเจ้าหน้าที่ระดับสูง เอกอัครราชทูตต่างประเทศที่ได้รับการรับรองจากกัมพูชา และผู้แทนภาคเอกชนและเศรษฐกิจนอกระบบเข้าร่วม

    เศรษฐกิจนอกระบบ (ภาคนอกระบบหรือเศรษฐกิจเงา) เป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจที่ไม่ได้มีเก็บภาษีหรือควบคุมโดยรัฐบาลทุกรูปแบบ

    “ยุทธศาสตร์ชาติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจนอกระบบ พ.ศ. 2566-2571” จัดทำขึ้น โดยมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจนอกระบบให้สามารถเข้าถึงระบบในระบบและเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนคุณภาพชีวิตของประชาชน และสามารถมีส่วนร่วมที่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งด้าน สิ่งแวดล้อม การปรับตัวน และการฟื้นตัวในภาวะวิกฤติ

    นาย เฮม วันดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ระดับชาติมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มการป้องกันและการเสริมสร้างขีดความสามารถ ผลผลิต และความยืดหยุ่นของเศรษฐกิจนอกระบบ ตลอดจนส่งเสริมและเร่งการมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจในระบบเพื่อให้มั่นใจว่า มีความยืดหยุ่น การคาดการณ์ได้ และมีความก้าวหน้าของธุรกิจ การค้า และการลงทุนในประเทศกัมพูชา

    ทริสลดเรตติ้งลาวลงมาที่ BB+ ต่ำกว่า Investment Grade

    ที่มาภาพ: http://en.freshnewsasia.com/index.php/en/internationalnews/18742-2020-07-08-03-07-20.html
    รัฐบาลลาวได้ออกพันธบัตรเงินบาทเป็นครั้งแรกในตลาดในประเทศ เนื่องจากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือของไทยปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศเป็น BB+

    Thai Rating and Information Services (TRIS) สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือแห่งแรกของประเทศไทย ได้ลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศลาวจาก BBB- เป็น BB+ ในเดือนกันยายน ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ความต้องการที่มีมากของนักลงทุนไทยลดลง และยังได้ลดระดับบริษัท ผลิต-ไฟฟ้าลาว (มหาชน) หรือ Electric Du Laos (EDL) – Generation Public Company(EDL-Gen) รัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลลาวถือหุ้น 100% เป็น BBB- เป็น BB+

    ฟิทช์ ซึ่งเป็นสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่ในนิวยอร์กซิตี้และลอนดอน ได้จัดให้อันดับเครดิตระดับ BBB นั้นเป็น “คุณภาพเครดิตที่ดี” และบ่งชี้ว่าการคาดการณ์ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้อยู่ในระดับต่ำ ความสามารถในการชำระหนี้ถือว่าเพียงพอ แต่สภาวะทางธุรกิจหรือเศรษฐกิจที่เลวร้ายมีแนวโน้มที่จะทำให้ความสามารถนี้ลดลง

    ในขณะที่การจัดอันดับระดับ BB ถือว่าเป็นอันดับที่เป็น “การเก็งกำไร” และบ่งชี้ถึงความเปราะบางที่เพิ่มขึ้นต่อความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ โดยเฉพาะในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงลบในสภาวะธุรกิจหรือเศรษฐกิจเมื่อเวลาผ่านไป อย่างไรก็ตาม มีความยืดหยุ่นทางธุรกิจหรือทางการเงินซึ่งช่วยให้ปฏิบัติตามข้อผูกพันทางการเงินได้

    ปัจจุบัน กฎระเบียบของประเทศไทยกำหนดให้ผู้ออกพันธบัตรต่างประเทศ ต้องได้รับการจัดอันดับอย่างน้อย BBB เพื่อที่จะขายพันธบัตรในประเทศไทย แม้รัฐบาลไทยอาจยังยกเว้น และอนุญาตให้ลาวขายพันธบัตรก็ตาม อย่างไรก็ตาม นักลงทุนไทยส่วนใหญ่มักจะหลีกเลี่ยงพันธบัตรที่มีอันดับต่ำ

    ความต้องการพันธบัตรลาวลดลงก่อนที่จะมีการปรับลดอันดับเครดิตครั้งล่าสุดในเดือนกันยายน เนื่องจากทริสชี้ว่า เงินกีบลาวที่อ่อนค่าลงอย่างมากและแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่สูงในลาวเป็นเหตุผลสำคัญของการปรับลดอันดับเครดิต

    ในเดือนสิงหาคม ลาวมีเป้าหมายที่จะระดมทุนโดยการออกพันธบัตร 2 รุ่น คือ พันธบัตรอายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 6.1 และพันธบัตรอายุ 4 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 6.6 อย่างไรก็ตาม ลาวสามารถดึงการลงทุนในพันธบัตรสองรุ่นนี้ได้เพียง 785.5 ล้านบาท (21,173,081 เหรียญสหรัฐฯ) ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 3.6 พันล้านบาท (97,037,676 เหรียญสหรัฐฯ)

    ด้วยเหตุนี้ ลาวจึงออก พันธบัตรปรับสมดุลงบประมาณ ในประเทศเพื่อใช้สำหรับการรีไฟแนนซ์ในเดือนกันยายน โดยมีเป้าหมายที่จะระดมทุน 3 พันล้านบาท (80,862,540 เหรียญสหรัฐฯ) พันธบัตรนี้มีอายุที่แตกต่างกันตั้งแต่ 1 ถึง 10 ปี โดยมีอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่ร้อยละ 5 ถึงร้อยละ 8

    “ดอกเบี้ยที่สูงมากและมีข้อบ่งชี้ว่าลาวสามารถระดมเงินได้ถึง 5 พันล้านบาท แต่รัฐบาลตัดสินใจไม่ตอบสนองต่อรับความต้องการทั้งหมด เพื่อจะได้กลับมาใช้ระดมทุนสกุลเงินบาทได้มากขึ้นในอนาคต” แหล่งข่าวใกล้ชิดผู้ออก บอกกับ International Financing Review

    ทั้งพันธบัตรเงินบาทและดอลลาร์สหรัฐจะจัดจำหน่ายขายผ่าน BCEL-KT ในฐานะผู้จัดจำหน่ายหลัก โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ล้านช้างและบริษัทหลักทรัพย์ลาว-จีนเป็นผู้ดำเนินการ

    ลาวซึ่งมีหนี้ต่างประเทศมากกว่า 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ได้ชำระดอกเบี้ยพันธบัตรสกุลเงินบาทแล้ว โดยจ่ายดอกเบี้ย 75 ล้านบาท (2,022,190 เหรียญสหรัฐฯ) เมื่อสัปดาห์แรกของเดือน และจัดสรรเงินอีก 350 ล้านบาท (9,433,963 ดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับการจ่ายดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ในวันที่ 5 ตุลาคม

    ทริสชี้ว่า ลาวมีแหล่งเงินทุนสกุลเงินต่างประเทศหลายแหล่งเพื่อรองรับภาระหนี้เชิงพาณิชย์ รวมถึงรายได้ที่ไหลเข้า การสร้างรายได้จากสินทรัพย์ของรัฐ รายได้จากสัมปทานการทำเหมือง การกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ในประเทศ และการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ในประเทศ

    อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแผนปรับการคลังของประเทศลาวให้สู่ภาวะสมดุล ที่กำลังดำเนินการอยู่และความพยายามในการลดอัตราเงินเฟ้อจะทำให้อันดับเครดิตกลับมาที่ระดับการลงทุน (BB) หรือสูงกว่า ได้ในที่สุด ทริส จะใช้เวลาประมาณ 12–18 เดือนในการสรุปการทบทวนอันดับเครดิต ซึ่งบ่งชี้ว่าตลาดตราสารหนี้ไทยจะยังคงปิดสำหรับลาวและ EDL-Generation ในช่วงเวลาดังกล่าว

    ไทย-มาเลเซียเดินหน้าความร่วมมือ-การค้า

    ที่มาภาพ: https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/73245
    ไทย-มาเลเซียเดินหน้าความร่วมมือ ก้าวหน้าการค้าร่วมกัน เปลี่ยนแปลงให้พื้นที่ชายแดนเป็นพื้นที่แห่งการเติบโตใหม่ ต่อยอดความร่วมมือบนพื้นฐานของสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองของประชาชนทั้งสองประเทศ

    วันที่ 11 ตุลาคม 2566 เวลา 15.30 น. (ตามเวลาท้องถิ่นประเทศมาเลเซียซึ่งเร็วกว่าไทย 1 ชม.) ณ ทำเนียบรัฐบาลมาเลเซีย ณ เมืองปุตราจายา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พบหารือกับดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม (H.E. Dato’ Seri Anwar Ibrahim) นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในโอกาสเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการ นายชัย วัชรงค์ สรุปสาระสำคัญดังนี้

    นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสย้ำความมุ่งมั่นและต้องการที่จะทำงานเพื่อเดินหน้าศักยภาพและความร่วมมือระหว่างกัน บนพื้นฐานของสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองของประชาชนทั้งสองประเทศ พร้อมเชิญนายกรัฐมนตรีมาเลเซียเยือนไทยในโอกาสแรกที่สะดวก โดยนายกรัฐมนตรียังได้เสนอความร่วมมือทางด้านอาหาร สินค้าเกษตร ซึ่งไทยมีความมั่นคงทางอาหาร จึงหวังที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านอาหารฮาลาล ส่งออกไปยังประเทศต่างๆ

    ผู้นำทั้งสองเห็นพ้องที่จะตั้งคณะทำงานร่วมกัน (Task force group) ในด้านที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน เช่น ด้านการท่องเที่ยว เพื่อผลักดันการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันให้มีผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

    โดยผู้นำทั้งสองฝ่ายได้หารือในประเด็นต่าง ๆ ร่วมกัน ดังนี้

    ไทยและมาเลเซียต่างเห็นพ้องที่จะกระชับความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยจะตั้งเป้าหมายการค้า (Bilateral trade) ระหว่างกันใหม่ โดยต่างฝ่ายต่างเป็นคู่ค้าอันดับต้นๆ ของกันและกันในอาเซียน ซึ่งการปรับปรุงการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการเชื่อมโยงข้ามพรมแดนจะเป็นกุญแจสำคัญ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีหวังที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจดิจิทัล และเศรษฐกิจสีเขียว โดยต่อยอดจากความร่วมมือที่มีอยู่ รวมถึงสำรวจความร่วมมือในการเชื่อมโยงห่วงโซ่คุณค่าและระบบนิเวศสำหรับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง (hi-tech sectors) รวมถึงการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (proton) รวมถึงการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI)

    นายกรัฐมนตรีมุ่งหวังที่จะเปลี่ยนแปลงภาคใต้ของประเทศไทย และตอนเหนือของมาเลเซียให้เป็นพื้นที่การเติบโตใหม่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับทั้งสองประเทศ รวมทั้งเร่งรัดความคืบหน้าโครงการเชื่อมโยงที่สำคัญต่าง ๆ ที่จะเชื่อมต่อสองประเทศเข้าด้วยกัน และจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้า และการเดินทางของประชาชน ซึ่งหากประชาชนและนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางข้ามชายแดนได้ง่ายขึ้น และทั้งสองฝ่ายร่วมกันส่งเสริมสถานที่ท่องเที่ยวบริเวณชายแดน ก็จะช่วยเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยว และส่งเสริมการเชื่อมโยงธุรกิจท้องถิ่นให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น เปลี่ยนพื้นที่ความขัดแย้งเป็นพื้นที่การค้า

    นายกรัฐมนตรีย้ำในตอนท้ายว่า ไทยและมาเลเซียเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาค ได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อพัฒนาความร่วมมือระดับภูมิภาคภายใต้อาเซียน รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีพร้อมร่วมมือกับมาเลเซียเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับอาเซียน และส่งเสริมสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค

    จากนั้นในเวลา 16.10 น. (ตามเวลาท้องถิ่นประเทศมาเลเซียซึ่งเร็วกว่าไทย 1 ชม.) นายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีมาเลเซียแถลงข่าวร่วมกัน ก่อนจะร่วมรับประทานอาหารเย็น ที่นายกรัฐมนตรีมาเลเซียเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรี

    นายกฯ เร่งต่อยอดความร่วมมือกับสิงคโปร์ในมิติหลากหลาย

    ที่มาภาพ: https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/73283

    นายกฯ เร่งต่อยอดความร่วมมือกับสิงคโปร์ในมิติหลากหลาย เท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลก รวมทั้งเพิ่มความร่วมมือด้านเศรษฐกิจพัฒนาต่อยอดให้ทันสมัยร่วมกัน

    วันที่ 12 ตุลาคม 2566 เวลา 11.00 น. (เวลาท้องถิ่นประเทศสิงคโปร์เร็วกว่าไทย 1 ชม.) ณ ทำเนียบประธานาธิบดี (Istana) ประเทศสิงคโปร์ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ ซึ่งรัฐบาลสิงคโปร์จัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรีไทย จากนั้น นายกรัฐมนตรีเข้าเยี่ยมคารวะ นายทาร์มัน ชันมูการัตนัม (H.E. Mr. Tharman Shanmugaratnam) ประธานาธิบดีสิงคโปร์ และพบหารือทวิภาคีกับนายลี เซียนลุง (H.E. Mr. Lee Hsien Loong) นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้

    นายกรัฐมนตรีเข้าเยี่ยมคารวะประธานาธิบดีสิงคโปร์ โดยได้พูดคุยถึงความร่วมมือในมิติที่ทั้งสองประเทศมีศักยภาพ อาทิ พลังงาน อาหารและสินค้าเกษตร การเงิน การลงทุน โดยไทยหวังที่จะเชิญชวนและดึงดูดนักลงทุนด้าน Data Center ซึ่งจะมีส่วนช่วยต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สิงคโปร์ถือเป็นเพื่อนที่ดีและเป็นหุ้นส่วนที่ใกล้ชิด ซึ่งไทยจะทำงานอย่างใกล้ชิดเพื่อกระชับมิตรภาพและความร่วมมือในทุกด้านที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน โดยควรใช้กลไกทวิภาคีที่มีอยู่อย่างเต็มที่เพื่อพัฒนาความร่วมมือ

    โดยในการหารือกับนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ทั้งสองฝ่ายได้หารือที่มีความสนใจร่วมกัน ดังนี้

    นายกรัฐมนตรีหวังที่จะขยายความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนทวิภาคี ตลอดจนด้านเศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะเศรษฐกิจดิจิทัล อุตสาหกรรมสีเขียว พันธบัตรสีเขียว และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง และยินดีที่เศรษฐกิจของทั้งสองประเทศดีขึ้นหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตอนนี้ไทยและสิงคโปร์พร้อมเดินหน้าทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในด้านการท่องเที่ยว ซึ่งไทยและสิงคโปร์จะได้ร่วมกันยกระดับการเติบโต และการพัฒนาทางเศรษฐกิจร่วมกัน นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์กล่าวยินดีถึงการเชื่อมโยงระบบ PromptPay – PayNow ของทั้งสองประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก

    ทั้งสองฝ่ายยังให้ความสำคัญและพร้อมกระชับความร่วมมือด้านพลังงาน การเงิน (financial sector) รวมถึงด้านความมั่นคงทางอาหาร ไทยพร้อมที่จะสนับสนุนความมั่นคงด้านอาหารให้สิงคโปร์ โดยนายกรัฐมนตรียินดีที่จะอำนวยความสะดวกและส่งเสริมการส่งออกอาหารและสินค้าเกษตรจากไทย

    นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกับความร่วมมือในการพัฒนาธุรกิจ จากแบบเดิมให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก เช่น เศรษฐกิจสีเขียว การค้า (trading) โดยในภูมิภาคอาเซียนมีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมสำหรับการพัฒนา ทั้งนี้ ภาคเอกชนของไทยมีความตื่นตัวและพร้อมที่จะร่วมลงทุนในสาขาใหม่ๆ และพัฒนาต่อยอดธุรกิจเดิม อย่างไรก็ดี ความร่วมมือแบบเดิม (traditional cooperation) ก็ยังมีความสำคัญ มีความใกล้ชิด และมีบทบาทสำคัญต่อไทยและสิงคโปร์ ในขณะที่นายกรัฐมนตรีเห็นว่าควรต้องเดินหน้าร่วมมือกันในการประชุม ASEAN-GCC เพราะมีหลายประเด็นที่ต้องพูดคุย ทั้งด้านความมั่นคง และเศรษฐกิจ

    โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้เชิญนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์เยือนไทยในโอกาสแรกที่ทั้งสองฝ่ายสะดวก