ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup เวียดนามเสริมอำนาจทางเศรษฐกิจด้วยการส่งออกผลไม้

ASEAN Roundup เวียดนามเสริมอำนาจทางเศรษฐกิจด้วยการส่งออกผลไม้

18 กันยายน 2022


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 11-17 กันยายน 2565

  • เวียดนามเสริมอำนาจทางเศรษฐกิจด้วยการส่งออกผลไม้
  • เวียดนามส่งออกทุเรียนสดไปจีนอย่างเป็นทางการครั้งแรก
  • ชาวเวียดนามครึ่งหนึ่งมีเงินได้กว่า 20 เหรียญสหรัฐฯต่อวันปี 2573
  • ค่าจ้างขั้นต่ำรายเดือนแรงงานสิ่งทอกัมพูชาปี’65 อาจสูงถึง 198 ดอลลาร์
  • กัมพูชาส่งออกข้าว 389,000 ตัน 8 เดือนแรก
  • รัฐบาลลาวลงนามให้นักลงทุนศึกษาโครงการพลังงานลม
  • ลาวเดินหน้ายุทธศาสตร์ 3 สร้างขจัดความยากจน
  • เวียดนามเสริมอำนาจทางเศรษฐกิจด้วยการส่งออกผลไม้


    ผลไม้ส่วนหนึ่งที่ปลูกในเวียดนามประสบความสำเร็จในการเข้าสู่ตลาดที่มีมูลค่าสูงและมีความท้าทาย และเวียดนามเองกำลังเสริมอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องผ่านการส่งออกผลไม้

    ในราวครึ่งศตวรรษก่อน ครอบครัวชาวเวียดนามเผชิญกับความอดอยากและภาวะทุพโภชนาการที่เลวร้าย และได้แต่ฝันว่าจะมีอาหารเพียงพออีกทั้งอาจคาดไม่ถึงว่า ชาวเวียดนามจะสามารถจัดหาอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ รสชาติอร่อย และปลอดภัยสำหรับตัวเองได้อย่างเพียงพอ

    เวียดนามมีรายได้เกือบ 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯจากการส่งออกผักและผลไม้ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2565

    จีนเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ที่สุดของเวียดนามมาหลายปี แม้การขนส่งไปยังประเทศเพื่อนบ้านทางตอนเหนือเมื่อเร็วๆ นี้ ลดลง เป็นผลมาจากกฎระเบียบที่เข้มงวดในการนำเข้าอาหาร แต่ผักและผลไม้ของเวียดนามมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในตลาดหลักอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐเกาหลี ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย

    ผู้ส่งออกหลายรายหันไปมองตลาดยุโรป ที่ผลิตภัณฑ์มีอัตราภาษีเป็นศูนย์ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรปและเวียดนาม (EVFTA) และตลาดเหล่านี้กำลังมีความต้องการผักและผลไม้เมืองร้อนเพิ่มขึ้น

    ข้อมูลจากกรมศุลกากรแสดงให้เห็นว่า มูลค่าการส่งออกผักและผลไม้ของเวียดนามไปยังยุโรปในปี 2564 มีมูลค่า 303 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้น 17.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี

    ที่มาภาพ: https://en.vietnamplus.vn/vietnams-quest-to-turn-fruit-export-potential-into-power/237302.vnp

    นอกจากนี้ยังมีการเจรจาเพื่อให้ผลไม้สดอื่นๆ เข้าสู่ตลาดใหม่ และเพื่อคว้าโอกาสนี้ หลายพื้นที่กำลังเตรียมพื้นที่ปลูกผลไม้มากขึ้น

    จังหวัดเตี่ยนซาง ในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงซึ่งเป็นจังหวัดที่ปลูกผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม กำลังเตรียมขยายพื้นที่เพาะปลูกเพื่อช่วยเพิ่มรายได้และการส่งออกของเกษตรกร ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จังหวัดเตี่ยนซาง ได้เปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวที่ไม่ได้ผลผลิตและทุ่งนาอื่นๆ ให้เป็นสวนผลไม้ที่มีมูลค่าสูง ซึ่งสามารถทนทานกับน้ำเค็มในแม่น้ำและความแห้งแล้งได้

    ในขณะเดียวกัน จังหวัดซา ลาย ในที่ราบสูงตอนกลาง ได้ทำให้เสาวรสเป็น 1 ใน 4 ผลไม้หลักของจังหวัด และมีแผนจะเพิ่มพื้นที่สวนเสาวรสเป็น 20,000 เฮกตาร์ภายในปี 2568 หรือเพิ่มขึ้น 5 เท่าจากพื้นที่ปัจจุบัน

    เพื่อให้ส่งออกผลไม้ได้อย่างต่อเนื่อง และเจาะตลาดแบบดั้งเดิมหรือตลาดระดับไฮเอนด์ได้ การผลิตที่ปลอดภัยจะเป็นปัจจัยสำคัญ ซึ่งจะขยายจุดแข็งทางการเกษตรของประเทศ และตอกย้ำฐานะผู้ส่งออกผลไม้สดรายใหญ่รายหนึ่งของโลก

    ในปี 2564 หลังจากตรวจพบสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างเกินระดับที่อนุญาตในทุเรียนเวียดนามหลายชุด ญี่ปุ่นเพิ่มการตรวจสอบทุเรียนที่นำเข้าจากเวียดนาม ซึ่งทำให้ผลไม้เข้าตลาดญี่ปุ่นได้ยากขึ้น

    ตลาดที่มีความต้องการอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกาและประเทศในยุโรป ยืนยันว่าต้องปฏิบัติตามมาตรฐานภาคเอกชนสำหรับการผลิตสินค้าเกษตรของกลุ่มผู้ค้าปลีกในยุโรปหรือ Global Good Agricultural Practice (GAP) และเกณฑ์สารเคมีตกค้างที่เข้มงวดสำหรับทุเรียนเวียดนาม ทุเรียนที่ไม่ผ่านครบทุกด้านอาจเสี่ยงที่จะถูกตีกลับ ซึ่งอาจทำให้เกษตรกรและผู้ส่งออกผลไม้เสียหายอย่างมาก และยังมีผลต่อทั้งเศรษฐกิจและชื่อเสียงของเวียดนาม

    เวียดนามส่งออกทุเรียนสดไปจีนอย่างเป็นทางการครั้งแรก

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/industries/vietnam-officially-exports-fresh-durian-to-china-for-first-time-4512469.html
    นายฮว่าง จุง ผู้อำนวยการแผนกคุ้มครองพืชของกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทกล่าวว่า เวียดนามจะ ส่งออกทุเรียนสดไปยังจีนภายใต้โควตาอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของเกษตรกรโดยตู้คอนเทนเนอร์ 20 ตู้ที่มีน้ำหนักหลายร้อยกิโลกรัมจะถูกจัดส่งจากจังหวัดดั๊กลัก ซึ่งเป็นที่ราบสูงตอนกลาง ภายใต้ระเบียบการที่ลงนามโดยทั้งสองประเทศ

    เจ้าหน้าที่ศุลกากรจีนอนุมัติ 76 พิกัดสำหรับพื้นที่เพาะปลูกและการบรรจุภัณฑ์ทุเรียนในเวียดนาม

    เวียดนามมีข้อได้เปรียบตรงที่จีนไม่ประสบความสำเร็จในการปลูกผลไม้ในมณฑลยูนนาน ไห่อาน และกว่างซี

    การส่งออกภายใต้โควตาที่เป็นทางการหมายถึงผู้ส่งออกและผู้ซื้อลงนามในสัญญาก่อนส่งมอบตามมาตรฐานคุณภาพที่สูง และเกษตรกรมีความเสี่ยงที่ลดลง

    ภายใต้การค้าอย่างไม่เป็นทางการ ผลไม้จะถูกส่งไปยังชายแดน แต่อาจถูกส่งกลับหากคุณภาพต่ำ หรือหากไม่มีผู้ซื้อ ทำให้เกษตรกรขาดทุน

    ทุเรียนส่วนใหญ่ส่งออกไปยังจีน ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ทั้งแบบไม่เป็นทางการและในรถบรรทุกห้องเย็น

    ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกทุเรียนไปยังจีนเพิ่มขึ้น 123% เป็น 2.86 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากข้อมูลของกรมศุลกากรเวียดนาม

    ชาวเวียดนามครึ่งหนึ่งมีเงินได้กว่า 20 เหรียญสหรัฐฯต่อวันปี 2573


    ธนาคารเอชเอสบีซี(HSBC) จากอังกฤษ คาดการณ์ว่า ชาวเวียดนาม 48 ล้านคนหรือเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรจะมีรายได้มากกว่า 20 เหรียญสหรัฐต่อวันภายในปี 2573

    เวียดนามเลื่อนอันดับขึ้นจากอันดับที่ 13 ในปีที่แล้วมาอยู่ที่อันดับที่ 10 ในกลุ่มประเทศที่มีจำนวนคนที่มีรายได้มากกว่า 20 เหรียญสหรัฐต่อวันสูงสุด (อิงจากความเท่าเทียมกันของกำลังซื้อในปี 2554)

    จีนมีแนวโน้มที่จะรักษาตำแหน่งผู้นำสูงสุดในอีก 8 ปีข้างหน้า รองลงมาคืออินเดีย สหรัฐฯ และอินโดนีเซีย

    เวียดนาม บังกลาเทศ และอินเดีย เป็นประเทศที่คาดว่าจะมีการใช้จ่ายของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นมากที่สุดในทศวรรษนี้ (2564-2573)

    กลุ่มรายได้ระดับกลางบนของประเทศ (ผู้ที่มีรายได้ 50-110 เหรียญสหรัฐฯต่อวัน) จะเติบโต 17% ต่อปีนับจากนี้จนถึงปี 2573

    ค่าจ้างขั้นต่ำรายเดือนแรงงานสิ่งทอกัมพูชาปี’65 อาจสูงถึง 198 ดอลลาร์

    ที่มาภาพ: https://english.cambodiadaily.com/business/cambodia-minimum-wage-talks-set-to-begin-179100/
    สภาคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำแห่งชาติ (National Council for Minimum Wage:NCMW)จะประชุมครั้งสุดท้ายในวันที่ 21 กันยายนเพื่อกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำปี 2566 สำหรับแรงงานในภาคสิ่งทอและอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

    สมาชิกในคณะกรรมการไตรภาคียังคงไม่สามารถตกลงเรื่องตัวเลขได้ โดยตัวแทนนายจ้างเสนอที่ 197 เหรียญสหรัฐฯ และรัฐบาลเสนอที่ 198 เหรียญสหรัฐฯ ในขณะเดียวกันตัวแทนของลูกจ้างได้เสนอมา 3 ตัวเลข

    การประกาศมีขึ้นหลังจากการเจรจาไตรภาคีครั้งที่ 4 ระหว่างสมาชิก 51 คนของสภาเมื่อวันที่ 13 กันยายนไม่มีข้อสรุป

    ในจดหมายฉบับที่ 13 กันยายนถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและอาชีวศึกษา นายอิธ สัมเฮง ซึ่งลงนามโดยตัวแทนของกลุ่มไตรภาคี ระบุว่ายังไม่มีการบรรลุข้อตกลงอย่างเป็นเอกฉันท์แม้ว่าจะมีการประชุมหลายครั้ง

    ตัวแทนของแรงงานได้ลงคะแนนเสียง 8 คะแนนสำหรับค่าจ้าง 206 เหรียญสหรัฐฯ 3 คะแนนสำหรับ 210 เหรียญสหรัฐฯ และ 6 คะแนนสำหรับ 214 เหรียญสหรัฐฯ

    แต่ทั้งตัวแทนสหภาพแรงงานและนายจ้างไม่สามรถตกลงกันได้ จึงขอให้รัฐบาลเข้าแทรกแซงและให้เงื่อนไขที่เอื้อมากขึ้น

    สหภาพแรงงานขอให้นายจ้างเพิ่มค่าเดินทางและค่าอาหาร และตรวจสอบเพื่อให้การขนส่งแรงงานมีมาตรฐานความปลอดภัย และยังขอให้นายจ้างพิจารณาจ่ายเงินเดือนที่สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำ

    ตัวแทนสหภาพแรงงานยังขอให้กระทรวงสาธารณสุขดูแลให้แพทย์ปฏิบัติตามจรรยาบรรณวิชาชีพและใ้ความสนใจให้กับสมาชิกของกองทุนประกันสังคมแห่งชาติ (NSSF)มากขึ้น และชี้ว่ารัฐบาลควรเร่งให้ แรงงานนอกระบบ และผู้ประกอบอาชีพอิสระเข้าถึงประกันสังคม

    นอกจากนี้ ให้พิจารณาความเป็นไปได้ในการลดอัตราค่าน้ำและค่าไฟฟ้า ตลอดจนขอให้กระทรวงแรงงานจัดหลักสูตรฝึกอบรมเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาผลิตภาพและทักษะของคนงาน

    ด้านตัวแทนของนายจ้างมีข้อเสนอ 3 ข้อ ซึ่งรวมถึงการลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ โดยเฉพาะค่าขนส่ง ค่าธรรมเนียมท่าเรือ และค่าธรรมเนียมตู้คอนเทนเนอร์ที่ไม่สมดุลของบริษัทชิปปิ้ง และขอให้ลดค่าไฟฟ้า และสิทธิประโยชน์ในการติดตั้งแหล่งพลังงานแสงอาทิตย์ ตลอดจนขอให้รัฐบาลจัดทำยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาภาคเสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าการเดินทางปี 2565-2570

    ในปี 2564 หลังจากที่ NCMW ลงมติให้คงค่าแรงขั้นต่ำปี 2565 ไว้ที่ 192 เหรียญสหรัฐฯ นายกรัฐมนตรีฮุนเซนได้เพิ่มค่าแรงขึ้นอีก 2 เหรียญสหรัฐฯ ทำให้ค่าแรงขั้นต่ำของปี 2565 อยู่ที่ 194 เหรียญสหรัฐฯต่อเดือน

    ในช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคม 2565 การส่งออกเครื่องนุ่งห่มของกัมพูชาเพิ่มขึ้น 28.77% เมื่อเทียบเป็นรายปี มีมูลค่ารวม 6.466 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งคิดเป็น 52.20% ของรายได้ต่างประเทศทั้งหมดของกัมพูชาซึ่งมีจำนวน 12.388 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ จากข้อมูลกรมศุลกากรและสรรพสามิต สังกัดกระทรวงเศรษฐกิจและการเงิน

    กัมพูชาส่งออกข้าว 389,000 ตัน 8 เดือนแรก

    ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/501149396/kingdoms-rice-exports-to-international-markets-surge/
    ในช่ว 8 เดือนแรกของปี 2565 กัมพูชาส่งออกข้าว 389,000 ตันไปยังตลาดต่างประเทศ เพิ่มขึ้น 13.26% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2564 ตามรายงานของสหพันธ์ข้าวกัมพูชา (Cambodia Rice Federation:CRF)

    โดยจีนยังคงเป็นผู้นำเข้าข้าวจากกัมพูชารายใหญ่ที่สุด ในช่วง 8 เดือนแรก การส่งออกข้าวไปยังประเทศจีน ฮ่องกง และมาเก๊า มีปริมาณรวม 178,142 ตัน คิดเป็น 46% ของการส่งออกทั้งหมด ซึ่งมีมูลค่ากว่า 94.57 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

    ภายใต้ข้อตกลงที่ลงนามเมื่อปีที่แล้ว กัมพูชามีโควตา 400,000 ตันสำหรับ ส่งออกข้าวสารไปจีน

    นอกจากนี้ การส่งออกข้าวสารไปยัง 26 ประเทศในยุโรป มีปริมาณ 141,483 ตัน มูลค่ารวม 98.74 ล้านเหรียญสหรัฐ

    ข้อมูลของ CRF ระบุว่าใน 54 ประเทศที่กัมพูชาส่งออกข้าว จีนอยู่ในลำดับที่1 ด้วยสัดส่วน 44% ฝรั่งเศสมาเป็นอันดับสอง 15% มาเลเซีย 6% เนเธอร์แลนด์ 4% และอิตาลี กาบอง และบรูไน ประเทศละ 3%

    สำหรับประเภทข้าวที่ส่งออก เป็นข้าวหอมมะลิ 65.8% ข้าวขาว 29.91% ข้าวอินทรีย์เกือบ 2% ข้าวนึ่ง (เมล็ดยาว) มากกว่า 2% และข้าวฟ่าง 0.01%

  • EIC วิเคราะห์นโยบายควบคุมการส่งออกข้าวของอินเดีย : หน้าต่างแห่งโอกาสสำหรับอุตสาหกรรมข้าวไทย
  • หลุน เอี๊ยง เลขาธิการ CRF กล่าวว่า การส่งออกข้าวขาวไปยังสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปีนี้ “สหภาพยุโรปได้ยกเลิกการควบคุมข้าวขาวของกัมพูชาบางส่วนในเดือนมกราคม ซึ่งมีผลต่อการส่งออกเข้าตลาดยุโรป”

    นอกจากนี้ การส่งออกข้าวที่ขยายตัวจากราคาขนส่งที่ราคาไม่แพง ขณะที่ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในปีที่แล้วเนื่องจากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ตามมาตรการป้องกันโควิด-19

    กัมพูชาเตรียมจัดทำแผนแม่บทที่ครอบคลุมเพื่อยกระดับภาคการเกษตรในประเทศให้ทันสมัย โดยกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง
    (MAFF) ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญของจีน ได้ร่วมตั้งคณะทำงานจัดทำแผนแม่บท

    รัฐบาลลาวลงนามให้นักลงทุนศึกษาโครงการพลังงานลม

    ที่มาภาพ: https://www.vientianetimes.org.la/sub-new/Previous_177/freeContent/FreeConten177_Government_y22.php

    รัฐบาล สปป. ลาวได้ลงนามร่วมกับนักลงทุนเพื่อทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการพลังงานลม

    เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2565 กระทรวงการวางแผนและการลงทุน สปป.ลาว ได้จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) สำหรับการศึกษาความเป็นไปได้ด้านการพัฒนาโครงการพลังงานลมในเขต Lako Focus อำเภอเซปอน แขวงสะหวันนะเขต ระหว่าง รัฐบาล สปป. ลาว และ Savan Vayu Renewable Energy Co., Ltd. ร่วมกับ LMT Lao Co., Ltd.

    พื้นที่ที่ทำการศึกษาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม อยู่ในเขตLako Focus อำเภอเซปอน แขวงสะหวันนะเขต มีเนื้อที่รวม 28,513 เฮกตาร์ กำลังการผลิตติดตั้ง 1,200 เมกะวัตต์ และมูลค่าก่อสร้างประมาณ 2,159 ล้านเหรียญสหรัฐ การก่อสร้างคาดว่าจะแล้วเสร็จและเริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าได้ภายในสิ้นปี 2568 เพื่อการใช้ไฟฟ้าในประเทศและเพื่อการส่งออกโดยเฉพาะไปยังสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

    การพัฒนาโครงการนี้ดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจ(MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงานกับสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2559 เรื่องความร่วมมือในการพัฒนาโครงการไฟฟ้าใน สปป. ลาว ระบบเชื่อมโยงสายส่ง และการค้าพลังงานระหว่างสองประเทศในช่วงปี 2563-2573

    ผู้พัฒนาโครงการได้เริ่มศึกษาข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับโครงการพลังงานลมตั้งแต่กลางปี ​​2564 มาแล้ว เห็นว่ามีศักยภาพสูงในการพัฒนาธุรกิจพลังงาน ดังนั้น ผู้พัฒนาโครงการจึงเสนอให้รัฐบาลทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการ โดยทำการวิจัยและหารือกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นปี 2565 ซึ่งหลังจากหารือกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้ว รัฐบาลเห็นชอบและอนุมัติให้ลงนามบันทึกข้อตกลงนี้ร่วมกัน เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการพลังงานลมที่ใหญ่ที่สุดใน สปป. ลาว

    ลาวเดินหน้ายุทธศาสตร์ 3 สร้างขจัดความยากจน

    นายทองลุน สีสุลิด ประธานประเทศลาว ที่มาภาพ: https://www.vientianetimes.org.la/subnew/Previous_179/freeContent/FreeConten179_Sam_y22.php

    รัฐบาลสปป.ลาวยังคงเดินหน้ายุทธศาสตร์ 3 สร้าง เพื่อบรรเทาความยากจนและทำให้ลาวสามารถหลุดพ้นจากรายชื่อประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดของสหประชาชาติในปี 2569

    ยุทธศาสตร์ 3 สร้าง มีเป้าหมายสร้างจังหวัดให้เป็นหน่วยวางยุทธศาสตร์ อำเภอต้องเข้มแข็งในทุกด้าน และหมู่บ้านเพื่อเป็นหน่วยพัฒนา

    เจ้าหน้าที่อาวุโสจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ประชุมร่วมกันที่เวียงจันทน์ เพื่อประเมินการเปิดตัวยุทธศาสตร์การสร้างทางการเมือง ในระดับรากหญ้า โครงการพัฒนาชนบทและการลดความยากจน และยุทธศาสตร์การกระจายอำนาจระหว่างปี 2559-2564 และร่างแผนจนถึงปี 2568

    โดยมีนายทองลุน สีสุลิด เลขาธิการพรรคและประธานประเทศ สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ และผู้นำคนอื่นๆ เข้าร่วมการประชุม

    รองประธานประเทศ ดร.บุญทอง จิตมะนี กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ 3 สร้างมุุ่งการพัฒนาระดับรากหญ้า โดยเฉพาะการลดความยากจนในชนบทตามที่ระบุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยุทธศาสตร์นี้ยังช่วยยกระดับการบริหารงานในระดับอำเภออีกด้วย

    ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ใช้เงิน 248 พันล้านกีบใน 943 โครงการ เพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและส่งเสริมการผลิตทางการเกษตรใน 109 หมู่บ้านใน 51 อำเภอภายใต้ยุทธศาสตร์ 3 สร้าง ขณะที่กลไกกองทุนเพื่อการพัฒนาอำเภอ(District Development Fund) ได้ช่วยสร้างขีดความสามารถของหน่วยงานท้องถิ่นเพื่อให้การบริหารราชการและให้บริการดีขึ้น

    ด้วยทุนสนับสนุนการลงทุน โครงการต่างๆ ได้ดำเนินการใน 53 อำเภอจาก 148 อำเภอของประเทศ สิ่งที่ได้เรียนรู้และความสำเร็จที่ได้รับจากกระบวนการนี้เป็นประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่น กลไกนี้เปิดโอกาสให้พันธมิตรด้านการพัฒนาทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในระดับภูมิภาค

    ยุทธศาสตร์ 3 สร้าง ได้ผ่านการลงมติของสภาแห่งชาติในสมัยการประชุมที่ 9 แนวคิดของยุทธศาสตร์ 3 สร้าง คือ การกระจายความรับผิดชอบ มีการมอบหมายหน้าที่ที่ชัดเจน และมีประโยชน์ต่อหน่วยงานท้องถิ่นอย่างเหมาะสม