ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup เศรษฐกิจดิจิทัลมีส่วน 17.3% ใน GDP สิงคโปร์

ASEAN Roundup เศรษฐกิจดิจิทัลมีส่วน 17.3% ใน GDP สิงคโปร์

8 ตุลาคม 2023


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 1-6 ตุลาคม 2566

  • เศรษฐกิจดิจิทัลลมีส่วน 17.3% ใน GDP สิงคโปร์
  • มาเลเซียเตรียมขึ้นแท่นผู้นำการเปลี่ยนผ่านพลังงานระดับภูมิภาค
  • เวียดนามทำสถิติใหม่รายได้ส่งออกข้าว
  • เวียดนามยกระดับถนน 3 สายเชื่อมการค้า 3 ประเทศ
  • แผนการเติบโตทางเศรษฐกิจกัมพูชาชูเทคโนโลยีทางการเงิน
  • กัมพูชา-ไทย พัฒนาระบบโอนเงินใหม่เอื้อแรงงานส่งเงินกลับสะดวก
  • ชาวกัมพูชาชำระเงินด้วย KHQR ในเวียดนามได้เร็วๆ นี้
  • อินโดนีเซียเปิดรถไฟความเร็วสูงสายแรกในอาเซียนจากการ์ตา-บันดุง
  • เศรษฐกิจดิจิทัลลมีส่วน 17.3% ใน GDP สิงคโปร์

    ที่มาภาพ: https://www.telstra.com.sg/en/news-research/articles/lessons-from-singapore-digital-transformation-success

    เศรษฐกิจดิจิทัลของสิงคโปร์มีความสำคัญและมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยมีส่วนร่วมประมาณ 17.3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสิงคโปร์ในปี 2565 เพิ่มขึ้นจาก 13% ในปี 2560 ซึ่งแสดงถึงมูลค่าเพิ่ม(Value Added) หรือการสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจ สูงขึ้นเกือบสองเท่าจาก 58 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์เป็น 106 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

    ข้อมูลนี้เป็นส่วนหนึ่งผลที่ได้จากการสำรวจในรายงาน Singapore Digital Economy (SGDE) ฉบับแรก ซึ่งจัดทำโดย Infocomm Media Development Authority (IMDA) ร่วมกับ Lee Kuan Yew School of Public Policy

    รายงานนี้ช่วยให้ IMDA สามารถประเมินสถานะของเศรษฐกิจดิจิทัลของสิงคโปร์ รวมทั้งติดตามทิศทางและการเปลี่ยนแปลงเมื่อเวลาผ่านไปได้ดียิ่งขึ้น

    ขณะนี้ยังไม่มีมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลเกี่ยวกับวิธีการกำหนดและวัดมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัล การศึกษาบางชิ้นมุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรมดิจิทัลเพื่อเป็นตัวแทนของเศรษฐกิจดิจิทัลโดยรวม ในขณะที่การศึกษาบางส่วนมุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลทั่วทั้งระบบเศรษฐกิจ

    จากการประมาณการโดยใช้ข้อมูลที่มีอยู่และใช้คำจำกัดความและวิธีการของคณะผู้จัดทำตามที่ระบุในรายงาน เศรษฐกิจดิจิทัลของสิงคโปร์อยู่ในเกณฑ์ดีเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจแบบเปิดอื่นๆ ที่คล้ายกัน

    รายงาน SGDE ฉบับแรกได้ให้คำจำกัดความแบบองค์รวมของเศรษฐกิจดิจิทัลของสิงคโปร์ซึ่งประกอบด้วย 2 องค์ประกอบ

    องค์ประกอบแรก มูลค่าเพิ่มของภาคส่วนสารสนเทศและการสื่อสาร (Information & Communications :I&C) ในฐานะผู้ผลิตบริการดิจิทัล ภาค I&C เป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจสิงคโปร์ โดยมีมูลค่า 33 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ และ 5.4% ของ GDP โดยรวมในปี 2565 เพิ่มขึ้นจาก 19 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ และ 4.3% ของ GDP ในปี 2560 เป็นภาคส่วนที่เติบโตเร็วที่สุดระหว่างปี 2560 และปี 2565

    นอกเหนือจากภาค I&C แล้ว การใช้ดิจิทัลยังช่วยส่งเสริมภาคส่วนอื่นๆ อีกด้วย องค์ประกอบที่สองจึงพิจารณามูลค่าเพิ่มจากการปรับเปลี่ยนเป็นดิจิทัลทั่วทั้งภาคเศรษฐกิจที่เหลือ โดยการวัดใช้เทคนิคทางเศรษฐศาสตร์ที่มีอยู่แล้วเรียกว่าวิธีบัญชีประชาชาติ(Growth Accounting method) หรือวิธีการวัดมูลค่า GDP ของประเทศ

    พบว่าการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลทั่วทั้งระบบเศรษฐกิจที่เหลือมีความก้าวหน้าในอัตราที่แข็งแกร่ง โดยการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลนี้มีส่วนสร้าง GDP ของสิงคโปร์ในปี 2565 ถึง 73 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์หรือ 11.9% เพิ่มขึ้นจาก 39 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์หรือ 8.7% ของ GDP ในปี 2560 ซึ่งแซงหน้าการเติบโตของ เศรษฐกิจโดยรวม

    มูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้นจากการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลทั่วทั้งภาคเศรษฐกิจที่เหลือ เป็นผลมาจากการที่บริษัทจำนวนมากเปิดรับเทคโนโลยีและโซลูชันดิจิทัล โดยเฉพาะอัตราการยอมรับเทคโนโลยี ในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพิ่มขึ้นจาก 74% ในปี 2561 เป็น 94% ในปี 2565 นอกจากนี้ ความเข้มข้นในการใช้เทคโนโลยีโดยเฉลี่ยของ SMEs ก็เพิ่มขึ้นจาก 1.7 เป็น 2.1 ในช่วงเวลาเดียวกัน

    นอกจากนี้ ความต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีในสิงคโปร์ยังคงสดใสและเพิ่มขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ระหว่างปี 2560 ถึง 2565 จำนวนงานด้านเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นจากประมาณ 155,500 ตำแหน่งเป็นประมาณ 201,100 ตำแหน่ง สัดส่วนต่อการจ้างงานทั้งหมดเพิ่มขึ้นจาก 4.2% เป็น 5.2%

    นอกจากนี้ มากกว่าครึ่งหนึ่งของงานด้านเทคโนโลยีในปี 2565 หรือประมาณ 57% มาจากภาคส่วนที่เหลือของเศรษฐกิจ นอกเหนือจากภาค I&C ความต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีที่แข็งแกร่งนี้ยังคงเป็นประโยชน์ต่อคนในท้องถิ่น โดยงานด้านเทคโนโลยีมากกว่า 70% อยู่ในมือชาวสิงคโปร์และผู้พำนักถาวร โดยทั่วไปแล้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีจะได้รับค่าจ้างที่ดีและแข่งขันได้ โดยมีค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนของผู้พำนักถาวรอยู่ที่ 7,376 ดอลลาร์สิงคโปร์ เทียบกับค่าจ้างเฉลี่ยของผู้พำนักถาวรโดยรวมที่ 4,500 ดอลลาร์สิงคโปร์

    “เศรษฐกิจดิจิทัลของสิงคโปร์มีความสำคัญและมีการเติบโตอย่างน่าทึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งตอกย้ำว่าความพยายามของ IMDA ในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของสิงคโปร์กำลังประสบผลสำเร็จ” นายลิว ชวน ฮอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร IMDA กล่าว “เราจะพัฒนาภาค I&C ของเราต่อไป และขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลในภาคส่วนอื่นๆ เพื่อให้มั่นใจว่าองค์กรและพนักงานของเรายังคงแข่งขันได้ท่ามกลางโลกที่เป็นดิจิทัลมากขึ้น ในภาคส่วนดิจิทัลซึ่งไม่มีข้อจำกัดหลายอย่างที่จะผูกมัดเราในฐานะประเทศเล็กๆนั้น มีขอบเขตมากมายที่สิงคโปร์จะก้าวข้ามจากสถานะปัจจุุบันและกลายเป็นจุดดิจิทัลที่ใหญ่ขึ้น”

    มาเลเซียเตรียมขึ้นแท่นผู้นำการเปลี่ยนผ่านพลังงานระดับภูมิภาค

    รองนายกรัฐมนตรี ดาโต๊ะ เสรี ฟาดิลลาห์ ยูซุฟ ที่มาภาพ: https://thaipublica.org/wp-admin/post.php?post=325800&action=edit&classic-editor
    มาเลเซียพร้อมที่จะเป็นผู้นำระดับภูมิภาคในด้าน การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน อันเป็นผลมาจากการนำแผนงานด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีไฮโดรเจน (Hydrogen Economy and Technology Roadmap :HETR)มาใช้ และการดำเนินการตามแผนงานการเปลี่ยนผ่านพลังงานแห่งชาติ (National Energy Transition Roadmap:NETR)

    นายกรัฐมนตรี ดาโต๊ะ สรี อันวาร์ อิบราฮิม กล่าวว่า HETR สามารถสร้างรายได้สูงถึง 12.1 พันล้านริงกิต และมีส่วนสนับสนุนผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของประเทศภายในปี 2573 ราว 49 พันล้านริงกิตถึง 61 พันล้านริงกิต

    นายอันวาร์ ซึ่งรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังด้วยนั้น กล่าวว่า การผลักดัน HETR คาดว่าจะสร้างโอกาสในการทำงานมากกว่า 45,000 ตำแหน่งในช่วงเวลาเดียวกัน

    “การใช้ NETR ด้วยกลไกการเปลี่ยนผ่านพลังงาน 6 ด้านและปัจจัยสนับสนุน 5 ประการ คาดว่าจะเพิ่มมูลค่า GDP ของมาเลเซียจาก 25 พันล้านริงกิตในปี 2566 เป็น 220 พันล้านริงกิต และสร้างงาน 310,000 ตำแหน่งในปี 2593 การดำเนินการ HETR ให้ประสบความสำเร็จนั้น คาดว่าจะทำให้มาเลเซียสามารถเข้าสู่ตลาดไฮโดรเจนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั่วโลก ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าอย่างน้อย 189.19 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (824 พันล้านริงกิตมาเลเซีย) ภายในปี 2593” นายอันวาร์กล่าว

    ทั้งนี้การกล่าวถึงแผน HETR และ NETR มาจากคำกล่าวของนายอันวาร์ ที่อ่านโดย รองนายกรัฐมนตรี ดาโต๊ะ เสรี ฟาดิลลาห์ ยูซุฟ ในการเข้าร่วมพิธีเปิดงาน International Greentech and Eco Products Exhibition and Conference Malaysia 2023 (ICEM 2023) ในฐานะตัวแทนนายกรัฐมนตรี โดยมี รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นายนิก นาซมี นิก อาหมัด และรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม นายชาง ลีห์ คัง เข้าร่วม

    ในคำกล่าวของนายอันวาร์ ระบุว่า มาเลเซียจะมีบทบาทชี้ขาดและเป็นผู้นำมากขึ้นในการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศและเศรษฐกิจสังคมทั้งหมด ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดมาเลเซียทันสมัย หรือ Malaysia Madani ที่สนับสนุนโดยรัฐบาลผสม

    “ผมรู้สึกยินดีและภูมิใจที่จะบอกว่ามาเลเซียได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศที่ดีที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในดัชนีการเปลี่ยนผ่านพลังงานปี 2023 โดย World Economic Forum ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามาเลเซียกำลังเดินมาถูกทางในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์และการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่พื้นที่ที่มีการเติบโตใหม่”

    อย่างไรก็ตาม นายอันวาร์ชี้ว่า การจัดหาเงินทุนเป็นความท้าทายที่แท้จริง ของประเทศในเร่งตามเป้าหมายที่จะบรรลุการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593

    “มีการประมาณการว่ต้องมีการลงทุนอย่างน้อย 1.2 ล้านล้านริงกิตระหว่างปี 2566 ถึง 2593 เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานอย่างมีความรับผิดชอบ

    “อย่างไรก็ตาม ผมรู้สึกยินดีที่ได้ทราบว่ารัฐบาลมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายกำลังการผลิตติดตั้งพลังงานทดแทนที่มุ่งหวังสูงขึ้นที่ร้อยละ 70 ในปี 2593 ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่คาดหวังไว้สูงที่สุดในภูมิภาค

    นายอันวาร์กล่าวว่า เชื่อว่าความตั้งใจเชิงบวกและก้าวหน้านี้จะทำให้มาเลเซียเป็นจุดหมายปลายทางที่ดีสำหรับการลงทุนที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยคงหรือสร้างเศรษฐกิจใหม่และโอกาสในการทำงานให้กับประเทศ

    ต่อมา นายชางกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่าเศรษฐกิจไฮโดรเจนไม่เพียงช่วยให้มาเลเซียบรรลุเป้าหมายคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์เท่านั้น แต่ยังมีศักยภาพที่ดีในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย

    “เราต้องเริ่มต้นตั้งแต่ตอนนี้เนื่องจากการกระจายของเศรษฐกิจไฮโดรเจนจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อประเทศ การเปิดตัว HETR เป็นวาระของรัฐบาลในการส่งเสริมเทคโนโลยีสีเขียวและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำในมาเลเซีย”

    สำหรับภาคธุรกิจเป้าหมายในการดำเนินการตาม HETR นายชางกล่าวว่า “เรายินดีร่วมมือกับผู้เล่นในอุตสาหกรรมใดๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นองค์กรในประเทศหรือระหว่างประเทศ ในแง่ของการผลิตไฮโดรเจน “เรายังมองไปที่เทคโนโลยีในประเทศหรือพันธมิตรระหว่างประเทศในแง่ของการถ่ายทอดเทคโนโลยีสีเขียว”

    นายชางกล่าวอีกว่า รัฐบาลตั้งเป้าหมายให้มียานพาหนะไฟฟ้า (EV) ทุกประเภทในสัดส่วนร้อยละ 15 และร้อยละ 38 ของปริมาณอุตสาหกรรมทั้งหมด (TIV) ภายในปี 2573 และ 2583 ตามลำดับ ซึ่งรวมถึงรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง ซึ่งหมายถึงรถยนต์ไฮโดรเจน ที่นับเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการบรรลุการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2593

    เวียดนามทำสถิติใหม่รายได้ส่งออกข้าว

    ที่มาภาพ: https://en.sggp.org.vn/vietnams-rice-export-prices-stay-highest-in-world-market-post104369.html
    เวียดนามสร้างสถิติใหม่ในด้านรายได้จากการส่งออกข้าวในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 จากราคาที่เพิ่มขึ้น ตามการเปิดเผยของกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบท โดยมีรายได้ 3.66 พันล้านเหรียญสหรัฐฯจากการส่งออกข้าวในช่วงดังกล่าว เพิ่มขึ้น 40.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นผลจากราคาข้าวส่งออกของเวียดนามที่เพิ่มขึ้น และปริมาณข้าวที่ลดลงในหลายตลาดในช่วงระยะ 9 เดือน

    ราคาข้าวส่งออกเฉลี่ยของเวียดนามในช่วงสามไตรมาสแรกอยู่ที่ 553 ดอลลาร์ต่อตัน เพิ่มขึ้น 14% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

    ฟิลิปปินส์เป็นผู้ซื้อผลิตภัณฑ์ข้าวเวียดนามรายใหญ่ที่สุดในช่วง 8 เดือนแรก คิดเป็นสัดส่วน 40.3% ของการส่งออกข้าวทั้งหมด จีนและอินโดนีเซียอยู่ในอันดับที่สองและสาม คิดเป็น 13.5% และ 12.4% ตามลำดับ

    รองผู้อำนวยการฝ่ายส่งออกและนำเข้าภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า นาย เจือง ตรันห์ ไห่ คาดว่า ราคาข้าวส่งออกจะยังคงสูงจนถึงสิ้นปีนี้ เนื่องจากมีความต้องการนำเข้าข้าวอย่างต่อเนื่องในตลาดที่บริโภคข้าวหลักๆ เช่น ฟิลิปปินส์ จีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย และแอฟริกา ประกอบกับผู้ส่งออกข้าวชั้นนำเช่น อินเดียและปากีสถานอุปทานข้าวจำกัดอุปทาน

    นายเหงียน หง็อก นัม ประธานสมาคมอาหารเวียดนาม (VFA) ย้ำว่า การส่งออกข่าวยังเติบโตได้อีกมาก โดยเฉพาะ ฟิลิปปินส์เองจำเป็นต้องนำเข้าเพิ่มเติม 1.1 ล้านตัน ในขณะที่อินโดนีเซียวางแผนที่จะซื้อ 2.3 ล้านตันภายในสิ้นปีนี้ ความต้องการนำเข้าข้าวของจีนก็คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนที่เหลือของปี ผู้ส่งออกข้าวควรมีกลยุทธ์ที่เหมาะสมเพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถส่งออกข้าวได้

    เวียดนามยกระดับถนน 3 สายเชื่อมการค้า 3 ประเทศ

    ทางหลวงหมายเลข 217จาก หงิเซิน ไป ด่านนาแหม่ว จังหวัดแทงฮวา ที่มาภาพ: https://www.vietnam.vn/en/de-xuat-340-trieu-usd-nang-cap-3-tuyen-quoc-lo-noi-lao-va-trung-quoc/
    กรมทางหลวงของเวียดนามได้เสนอการยกระดับและปรับปรุงทางหลวงแห่งชาติ 3 สายที่เชื่อมระหว่างเวียดนามกับลาวตอนเหนือและจีนตอนใต้ โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างการเชื่อมโยงตามแนวระเบียงตะวันออก-ตะวันตก และส่งเสริมการเชื่อมโยงการค้าข้ามชาติ

    หากได้รับอนุมัติ โครงการปรับปรุงถนนจะใช้เงินกู้จากธนาคารโลก และจะดำเนินการภายใน 5 ปี ตั้งแต่ปี 2568 ถึง 2572

    โครงการนี้จะมีการลงทุนรวมประมาณ 9.4 ล้านล้านด่องเวียดนาม หรือประมาณ 340 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเงินกู้ยืมจากธนาคารโลกจะมีมูลค่ามากกว่า 7.5 ล้านล้านด่อง (315 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)

    ทางหลวงแผ่นดินที่จะปรับปรุง ได้แก่ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 279 ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4H และทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 217 รวมระยะทางกว่า 180 กม.

    การอัพเกรดและนวัตกรรมนี้คาดว่าจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการสัญจร ตอบสนองความต้องการด้านการขนส่งที่เพิ่มขึ้น และลดระยะห่างระหว่างประตูชายแดนและท่าเรือระหว่างเวียดนาม ลาวตอนเหนือ และจีนตอนใต้

    นอกจากนี้ ยังจะลดเวลาในการขับรถไปตามถนน ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง มลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม และอุบัติเหตุจราจร ตามที่คณะกรรมการบริหารของโครงการระบุ

    ทางหลวงแผ่นดินที่จะปรับปรุง ได้แก่ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 279 ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4H และทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 217 รวมระยะทางกว่า 180 กิโลเมตร

    การยกระดับทางหลวงนี้คาดว่าจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการสัญจร ตอบสนองความต้องการด้านการขนส่งที่เพิ่มขึ้น และลดระยะห่างระหว่างด่านชายแดนและท่าเรือระหว่างเวียดนาม ลาวตอนเหนือ และจีนตอนใต้

    นอกจากนี้ ยังจะลดเวลาในการขับรถไปตามถนน ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง มลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม และอุบัติเหตุจราจร ตามที่คณะกรรมการบริหารของโครงการระบุ

    แผนการเติบโตทางเศรษฐกิจกัมพูชาชูเทคโนโลยีทางการเงิน

    นายอัน พรโมนิโรธ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง ที่มาภาพ:https://www.khmertimeskh.com/501371701/financial-technology-takes-center-stage-in-cambodias-economic-growth-plan/
    กัมพูชาได้ประกาศนโยบายการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงิน หรือ Fintech ปี 2023-2028 โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงิน รักษาเสถียรภาพทางการเงิน และส่งเสริมนวัตกรรม

    นายอัน พรโมนิโรธ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง เป็นประธานในการเปิดตัวนโยบาย ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงพนมเปญ โดยมีเจ้าหน้าที่ระดับสูง ตัวแทนจากกระทรวงและสถาบันสาธารณะที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสถาบันการเงินและธนาคารเข้าร่วม

    นายพรโมนิโรธย้ำถึง การพัฒนาอย่างรวดเร็วของฟินเทคในกัมพูชา และความสำคัญของฟินเทคในการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม โดยชี้ว่าเทคโนโลยีดิจิทัลช่วยให้ธุรกิจและนักลงทุนในประเทศเชื่อมโยงกับห่วงโซ่การผลิตระดับภูมิภาคและระดับโลก ส่งเสริมนวัตกรรมในการผลิตสินค้าและบริการ

    นโยบายการพัฒนานับเป็นแผนงานในการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในอุตสาหกรรมการเงิน และใช้ศักยภาพของฟินเทคอย่างเต็มที่เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลในกัมพูชา

    การเพิ่มขึ้นของฟินเท็คมีบทบาทสำคัญในการขยายการชำระเงินผ่านมือถือในประเทศ จากข้อมูลของธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) บัญชี e-wallet เพิ่มขึ้นจาก 13.6 ล้านในปีก่อนหน้าเป็น 19.5 ล้านในปี 2565

    นอกจากนี้ กัมพูชามีธุรกรรมการชำระเงินออนไลน์ 1 พันล้านรายการ รวมมูลค่า 272.8 พันล้านดอลลาร์ในช่วงเวลาเดียวกัน

    นโยบายการพัฒนาฟินเทคปี 2023-2028 ปูทางให้กัมพูชาใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อพัฒนาการเข้าถึงบริการทางการเงิน และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโตของฟินเทคอย่างต่อเนื่อง

    ด้วยนโยบายนี้ กัมพูชามีเป้าหมายที่จะใช้ประโยชน์จากฟินเท็ค ในขณะเดียวกันก็ดูแลเสถียรภาพทางการเงินและส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งนวัตกรรม

    กัมพูชา-ไทย พัฒนาระบบโอนเงินใหม่เอื้อแรงงานส่งเงินกลับสะดวก

    ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/501372065/cambodia-thailand-developing-new-money-transfer-system/
    ธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (National Bank of Cambodia:NBC) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำลังพัฒนาระบบการโอนเงินแบบใหม่สำหรับชาวกัมพูชาที่ทำงานในประเทศไทย เพื่อให้ส่งเงินกลับไปยังกัมพูชาได้อย่างปลอดภัย รวดเร็ว และคุ้มค่า ซึ่งเป็นการพัฒนาเพิ่มเติมจากระบบการชำระเงินและการโอนเงินข้ามพรมแดนที่มีอยู่ จากการเปิดเผยของนาง เจีย เสร็ย ผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติกัมพูชา

    แผนพัฒนาเทคโนโลยีการธนาคารข้ามพรมแดนฉบับใหม่ ได้มีเปิดเผยเมื่อวันพุธในระหว่างการพบปะของผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติกัมพูชา และนายเชิดเกียรติ อัตถากร เอกอัครราชทูตไทยประจำกัมพูชา ที่ธนาคารแห่งชาติกัมพูชา ในกรุงพนมเปญ โดยมีเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางและเจ้าหน้าที่ทางการทูตไทยเข้าร่วมด้วย

    “ธนาคารกลางทั้งสองแห่งกำลังพัฒนาระบบการโอนเงิน สำหรับคนกัมพูชาที่ทำงานในประเทศไทยเพื่อส่งเงินให้ครอบครัวในกัมพูชาอย่างปลอดภัย รวดเร็ว และคุ้มค่า” นางเสร็ยกล่าว พร้อมเสริมว่า ทั้งสองประเทศยังวางแผนที่จะขยายความร่วมมือ ร่วมกันในการแบ่งปันข้อมูลเครดิตของผู้ใช้บริการธนาคารแต่ละประเทศ

    นางเสร็ยกล่าวว่า กัมพูชาและไทยได้ร่วมมือกันในการพัฒนาการเชื่อมโยงการชำระเงินข้ามพรมแดน โดยไทยเป็นประเทศแรกที่กัมพูชาได้เชื่อมโยงระบบการชำระเงินและการโอนเงินด้วย เพื่อส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในตลาด ให้สอดคล้องกับเป้าหมายของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)

    “ความร่วมมือมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนกิจกรรมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ” แถลงการณ์ของ NBC ระบุและเสริมว่า นางเสร็ย มีมุมมองในทางบวกว่า NBC และ ธปท. จะยังคงขยายความร่วมมือทวิภาคีในการพัฒนาภาคการเงิน ของกัมพูชาและไทยที่เติบโตอย่างรวดเร็ว

    นายเชิดเกียรติ ได้แสดงความยินดีกับนางเสร็ย ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าการของ NBC รวมทั้งยกย่องผลงานในการริเริ่มโครงการเพื่อพัฒนาภาคการเงินของประเทศ เช่น การส่งเสริมการใช้เงินเรียลผ่านการออกกฎระเบียบและการรณรงค์ต่างๆ

    “สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงแต่เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบธนาคารและการเงินในกัมพูชาเท่านั้น แต่ยังยกระดับความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการเงิน” นายเชิดเกียรติกล่าว

    นายอิน จันนี ประธานและกรรมการผู้จัดการกลุ่มของเอซีลีดา แบงก์(Acleda Bank) ให้สัมภาษณ์กับ Khmer Timesว่า กล่าว ว่าระบบการโอนเงินที่ได้พูดคุยกันในการพบปะระหว่างนางเสร็ยและนายเชิดเกียรตินั้นเป็นนวัตกรรม หรือความคิดริเริ่มใหม่ที่จะทำให้ชาวกัมพูชาทุกคน ที่ทำงานในประเทศไทยส่งเงินสดกลับไปยังกัมพูชาง่ายขึ้น นอกเหนือจากการชำระเงินข้ามพรมแดน KHQR ที่มีอยู่ซึ่งมีการใช้ในวงกว้างในทั้งสองประเทศแล้ว

    ด้านนางมาร์ อมรา รองประธานบริหารอาวุโสและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินกลุ่มและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการกลุ่มของ Acleda Bank กล่าวกับ Khmer Times ว่า ระบบใหม่นี้จะช่วยให้แรงงานชาวกัมพูชาในประเทศไทย สามารถสมัครใช้งานแอปพลิเคชันธนาคารได้ เพราะปัจจุบันสามารถใช้ได้เพียง QR Code เท่านั้น

    นางอมราชี้ให้เห็นว่า ธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์กำลังทำงานร่วมกับระบบการชำระเงินระดับชาติ ITMX และธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยเกี่ยวกับธุรกรรมการโอนเงินข้ามพรมแดน ที่แรงงานชาวกัมพูชาในประเทศไทยสามารถใช้ได้ เพื่อโอนเงินกลับไปกัมพูชา

    นางอมรากล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนี้ริเริ่มโดยรัฐบาลกัมพูชา และกระทรวงที่เกี่ยวข้องของทั้งสองประเทศ ในขณะที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด รวมถึง Acleda Bank ได้อำนวยความสะดวกในการพัฒนาระบบการโอนเงินที่คาดว่าจะเปิดตัวในปี 2567

    “ระบบใหม่นี้จะช่วยลดค่าครองชีพของประชาชน โดยเฉพาะคนงาน … โดยการลดค่าใช้จ่ายในการส่งเงิน และยุติการใช้ช่องทางการโอนเงินแบบไม่เป็นทางการในปัจจุบัน และรัฐบาลทั้งสองประเทศจะดูแลความปลอดภัยและความเสถียรง” นางอมรากล่าว

    จากข้อมูลของกระทรวงแรงงานและการฝึกอาชีพ แรงงานกัมพูชา 1.2 ล้านคนจากทั้งหมด 1.3 ล้านคนที่ทำงานในประเทศไทย มีรายได้โดยเฉลี่ย 400 เหรียญสหรัฐฯต่อเดือน ล่าสุดไทยได้ตกลงขยายเวลาใบอนุญาตทำงานให้แรงงานชาวกัมพูชาเกือบ 40,000 คน

    เมื่อเร็วๆ นี้ นายกรัฐมนตรี ฮุน มาเนต และนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ของไทย ชื่นชมธุรกรรมการชำระเงินข้ามพรมแดนของทั้งสองประเทศผ่านระบบรหัส KHQR

    จำนวนร้านค้าในประเทศไทยที่รับชำระเงินด้วยการสแกน KHQR ได้เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 7.6 ล้านราย ขณะที่ ชาวไทย สแกน ThaiQR ได้ที่ร้านค้าประมาณ 1.5 ล้านรายในกัมพูชาตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนปีนี้ จากการเปิดตัวระยะที่สองของโครงการเปิดตัวระบบชำระเงินด้วย QR ข้ามพรมแดน ระหว่างทั้งสองประเทศในกรุงพนมเปญ เพื่อส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่น การเข้าถึงบริการทางการเงิน การค้าและการท่องเที่ยวข้ามพรมแดน

  • คนไทยเที่ยวกัมพูชาสแกน ThaiQR ได้แล้ว 1.5 ล้านร้านค้า
  • ชาวกัมพูชาชำระเงินด้วย KHQR ในเวียดนามได้เร็วๆ นี้

    ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/501369985/cambodians-can-soon-pay-with-khqr-in-vietnam/
    ชาวกัมพูชาที่เดินทางเยือนเวียดนามจะสามารถใช้ KHQR สำหรับการชำระเงินได้ในเร็วๆนี้ เนื่องจากธนาคารกลางของทั้งสองประเทศคาดว่าจะลงนามข้อตกลงในปีนี้เพื่ออำนวยความสะดวกในการชำระเงินดิจิทัลข้ามพรมแดน

    ข้อตกลงกับเวียดนามเกิดขึ้นภายหลังการเปิดตัวข้อตกลงที่คล้ายกันกับไทยในเดือนมิถุนายน และลาวในเดือนสิงหาคมปีนี้ นาย กิมที กอร์โมลี(Kimty Kormoly) ผู้อำนวยการทั่วไปฝ่ายการธนาคารกลาง ธนาคารแห่งชาติกัมพูชา(National Bank of Cambodia:NBC) เปิดเผยในการประชุมสุดยอดธุรกิจอาเซียน-กัมพูชา ซึ่งจัดโดยหอการค้ายุโรปในประเทศกัมพูชา (EuroCham) เมื่อเร็วๆ นี้

    NBC เตรียมแผนที่จะสร้างช่องทางการชำระเงินดิจิทัลข้ามพรมแดนกับประเทศอื่นๆ เช่น จีน อินเดีย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ในอนาคตอันใกล้นี้ นายกอร์โมลีกล่าวว่า การส่งเสริมการชำระเงินดิจิทัลถือเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดสำหรับรัฐบาลและ NBC เนื่องจากมีส่วนช่วยในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ นอกเหนือจากการอำนวยความสะดวกในการส่งเงินกลับจากแรงงานข้ามชาติ และยังส่งเสริมการใช้เงินเรียลและช่วยในการลดค่าเงินดอลลาร์ของประเทศอีกด้วย

    “เทคโนโลยีกำลังขับเคลื่อนการชำระเงินแบบดิจิทัลและทำให้ง่ายขึ้นเช่นกัน การแข่งขันที่ดีระหว่างธนาคารกัมพูชายังนำไปสู่การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น”

    โครงการริเริ่มการชำระเงินดิจิทัลยังสามารถช่วยเพิ่มการเข้าถึงทางการเงินในกัมพูชาได้อีกด้วย ประชากรกัมพูชาส่วนใหญ่ยังใช้บริการธนาคารไม่มาก และยังไม่สามารถเข้าถึงบริการธนาคาร

    ในหนึ่งปีนับตั้งแต่เปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 2565 มีการทำธุรกรรมการเงินผาน KHQR เกือบ 400,000 รายการ ในเดือนเมษายน 2566 จำนวนธุรกรรมที่ใช้ KHQR ในสกุลเงินเรียลสูงถึง 169,195 รายการ รวมมูลค่า 97 พันล้านเรียล ในขณะที่มีธุรกรรม 216,069 รายการในสกุลเงินเหรียญสหรัฐคิดเป็นมูลค่า 38 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

    ระบบ KHQR เปิดตัวโดย NBC เมื่อวันที่ 4 กรกฎาค ม 2565 โดยมีเป้าหมายเพื่อให้มีระบบการชำระเงินด้วย QR code สากลที่ปลอดภัย สะดวก และเป็นมาตรฐานสำหรับสถาบันการเงินที่เข้าร่วมทุกแห่ง ระบบการชำระเงินดิจิทัลยังถูกนำมาใช้ตามกรอบนโยบายเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของกัมพูชาปี 2021-2035 ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยสำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของเศรษฐกิจ

    ระบบการเงินของกัมพูชา ที่กำกับดูแลโดย NBC ปัจจุบันประกอบด้วยธนาคารพาณิชย์ 59 แห่ง ธนาคารเฉพาะกิจ 9 แห่ง สถาบันการเงินรายย่อย(ไมโครไฟแนนซ์) 82 แห่ง บริษัทลีสซิ่งทางการเงิน 17 แห่ง และสถาบันบริการการเงิน 34 แห่ง

    ในขณะเดียวกัน เวียดนามยังเป็นภาคีในโครงการริเริ่มการเชื่อมต่อการชำระเงินระดับภูมิภาค (Regional Payment Connectivity:RPC) ของอาเซียน ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อยกระดับระบบการชำระเงินข้ามพรมแดนในภูมิภาค ความคิดริเริ่ม RPC เพื่อส่งเสริมการชำระเงินข้ามพรมแดนได้รับความเห็นชอบในระหว่างการประชุมสุดยอด G20 ปี 2565 ที่กรุงจาการ์ตา

    ความร่วมมือดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาดของประเทศต่างๆ ในภูมิภาค โดยมีเป้าหมายเฉพาะเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับธุรกิจขนาดย่อม ขนาดเล็ก และขนาดกลาง (MSME) MSMEs เป็นรูปแบบธุรกิจที่โดดเด่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยคิดเป็นสัดส่วนระหว่าง 88-99% ของธุรกิจทั้งหมด และมีการจ้างงานประมาณ 70% ของการจ้างงานทั้งหมด

    ข้อดีหลักประการหนึ่งของระบบการชำระเงินระดับภูมิภาคนี้ คือ สามารถปกป้องประเทศสมาชิกอาเซียนจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากเป็นธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น การชำระบัญชีจะไม่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐ

    อินโดนีเซียเปิดรถไฟความเร็วสูงสายแรกในอาเซียนจาการ์ตา-บันดุง

    ที่มาภาพ: https://en.antaranews.com/news/294951/ministry-issues-operating-permit-for-jakarta-bandung-high-speed-train

    ประธานาธิบดี โจโก วิโดโด ได้เปิดใช้งานรถไฟความเร็วสูงจาการ์ตา-บันดุง (Jakarta-Bandung High-Speed Train:KCJB) เมื่อวันจันทร์(2 ต.ค.)หรือเรียกสั้นว่า “Whoosh และนับเป็นการเปิดตัวบริการรถไฟความเร็วสูงสายแรกในอินโดนีเซียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

    อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการประกาศค่าโดยสารอย่างเป็นทางการสำหรับ KCJB อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีประสานงานกิจการทางทะเลและการประมง นายลูฮุต บินซาร์ ปันด์จาอิตัน ระบุว่า ประชาชนสามารถโดยสารฟรีจนถึงกลางเดือนตุลาคมปี 2566

    ประธานาธิบดีวิโดโดได้เป็นประธานในพิธีเปิดที่สถานีฮาลิมในกรุงจาการ์ตา จากนั้น ประธานาธิบดีพร้อมด้วยสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง อิเรียนา และผู้ติดตาม ได้ออกเดินทางไปยังสถานีเตกัลลัวร์ในเขตบันดุง ชวาตะวันตก ด้วยขบวนรถไฟ Whoosh โดยมีรัฐมนตรีประสานงานกิจการทางทะเลและการประมง รัฐมนตรีกระทรวงรัฐวิสาหกิจ รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม รักษาการผู้ว่าการจาการ์ตา และ รักษาการผู้ว่าการรัฐชวาตะวันตก ร่วมเดินทางด้วย

    Whoosh ย่อมาจาก “Waktu Hemat, Operasi Optimal, System Hebat” ประหยัดเวลา ใช้งานได้อย่างเหมาะสม และระบบที่ยอดเยี่ยม (Saving Time, Optimal Operation, and Great System))

    รถสายนี้วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง Whoosh เชื่อมต่อสถานีเตกัลลัวร์ในเขตบันดุง ชวาตะวันตก กับสถานีฮาลิมในจาการ์ตา KCJB จึงเป็นทางเลือกการเดินทางใหม่ โดยลดเวลาการเดินทางระหว่างจาการ์ตาและบันดุงเหลือเพียง 36-44 นาที จากประมาณ 3 ชั่วโมง

    รถไฟความเร็วสูงนี้มีการออกแบบที่กว้างขวางและทันสมัยมี 3 ชั้น สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 601 คนในเที่ยวเดียว รวมถึงมีห้องพิเศษสำหรับผู้พิการด้วย