ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup ก.ล.ต.ไทย-MAS สิงคโปร์คิดตรงกัน ยกระดับคุมผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

ASEAN Roundup ก.ล.ต.ไทย-MAS สิงคโปร์คิดตรงกัน ยกระดับคุมผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

9 กรกฎาคม 2023


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 2-8 กรกฎาคม 2566

  • ก.ล.ต.-MAS สิงคโปร์คิดตรงกัน ยกระดับคุมผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
  • FDI ไหลเข้าอาเซียนเพิ่มขึ้น 5% ปี 2022
  • มาเลเซียส่งออกน้ำมันปาล์มไป EU จะทะลุ 1.5 ล้านตัน
  • เวียดนามส่งออกข้าว 4.3 ล้านตันครึ่งปีแรก
  • จีน เวียดนาม ไทยครองตลาดนำเข้าของกัมพูชา
  • กัมพูชาศึกษาสร้างรถไฟความเร็วสูงพนมเปญ-สีหนุวิลล์
  • สปป.ลาวตั้งเป้ารายได้จากส่งออกเข้าประเทศ 50%
  • ก.ล.ต. MAS สิงคโปร์คิดตรงกัน ยกระดับคุมผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

    ที่มาภาพ: https://www.cryptoktv.com/regulation-news/singapore-and-thailand-have-recently-taken-steps-to-regulate-the-crypto-industry-particularly-focusing-on-staking-services.html

    สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ของไทยและธนาคารกลางสิงคโปร์ Monetary Authority of Singapore(MAS) ได้ออกหลักเกณฑ์เพื่อยกระดับการควบคุมผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในเรื่องเดียวกันและในวันเดียวกัน คือวันที่ 3 กรกฎาคม 2566

    โดยหลักเกณฑ์มุ่งเน้นไปที่การห้ามผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้บริการหรือสนับสนุนการให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการจ่ายผลตอบแทนแก่ผู้ฝากและการให้กู้ยืม(deposit taking & lending) เพื่อเพิ่มความคุ้มครองแก่ผู้ลงทุนจากความเสี่ยงของบริการ

    สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ออกหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเปิดเผยคำเตือนความเสี่ยงจากการซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีของผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อให้ผู้ซื้อขายได้รับข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงของคริปโทเคอร์เรนซีอย่างเพียงพอ และออกหลักเกณฑ์ห้ามผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้บริการหรือสนับสนุนการให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการจ่ายผลตอบแทนแก่ผู้ฝากและการให้กู้ยืม(deposit taking & lending) เพื่อเพิ่มความคุ้มครองแก่ผู้ลงทุนจากความเสี่ยงของบริการดังกล่าว

    เอกสารข่าวระบุว่า ตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 12/2565 เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2565 มีมติเห็นชอบการกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซีเปิดเผยคำเตือนความเสี่ยงจากการซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี และกำหนดห้ามผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้บริการหรือสนับสนุนการให้บริการ deposit taking & lending และในการประชุมครั้งที่ 16/2565 เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2565 และครั้งที่ 9/2566 เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2566 มีมติเห็นชอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์การเปิดเผยคำเตือนความเสี่ยงจากการซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น

    ก.ล.ต. จึงได้ดำเนินการจัดทำหลักเกณฑ์ทั้งสองเรื่องดังกล่าว ซึ่งได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
    (1) การเปิดเผยคำเตือนความเสี่ยงจากการซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี (มีผลใช้บังคับวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2566) กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี นายหน้าซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี และผู้ค้าคริปโทเคอร์เรนซี ต้องเปิดเผยคำเตือนความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี โดยมีข้อความดังนี้ “คริปโทเคอร์เรนซีมีความเสี่ยงสูง โปรดศึกษาและทำความเข้าใจความเสี่ยงของคริปโทเคอร์เรนซีอย่างรอบด้าน เพราะท่านอาจสูญเสียเงินลงทุนได้ทั้งจำนวน” ซึ่งข้อความคำเตือนต้องสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน พร้อมกับการแจ้งผลการประเมินความเหมาะสมในการลงทุน และการจัดสรรและกำหนดสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสม (basic asset allocation) ก่อนให้ลูกค้าใช้บริการ และผู้ประกอบธุรกิจจะต้องจัดให้ผู้ใช้บริการให้ความยินยอมรับทราบความเสี่ยงดังกล่าวก่อนใช้บริการด้วย

    (2) การห้ามผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้บริการหรือสนับสนุนการให้บริการ deposit taking & lendingโดยมีข้อยกเว้นบางประการตามที่ประกาศกำหนด (มีผลใช้บังคับวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2566) ซึ่งสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
    (2.1) ห้ามรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล และนำสินทรัพย์ดิจิทัลที่รับฝากไปให้กู้ยืมหรือลงทุน และจ่ายผลตอบแทนแก่ผู้ฝาก
    (2.2) ห้ามรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล โดยให้หรือเสนอว่าจะให้ผลตอบแทนจากการฝากสินทรัพย์ดิจิทัลหรือผลตอบแทนอื่นแก่ผู้ฝาก (เช่น จากงบการตลาดของบริษัท) เว้นแต่มีลักษณะเป็นการส่งเสริมการขายตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด
    (2.3) ห้ามโฆษณาหรือชักชวนบุคคลทั่วไปหรือกระทำการอื่นใดที่มีลักษณะเป็นการสนับสนุนการให้บริการ deposit taking & lending ตามข้อ (2.1) และ (2.2) ของผู้ให้บริการหรือบุคคลอื่น

    ด้านMASประกาศมาตรการคุ้มครองนักลงทุน จากการบริการโทเค็นการชำระเงินแบบดิจิทัล (Digital Payment Token Services-DPT) โดยระบุว่า มาตรการใหม่สำหรับผู้ให้บริการ DPT เพื่อปกป้องทรัพย์สินของลูกค้าซึ่งช่วยลดความเสี่ยงของการสูญหายหรือการใช้ทรัพย์สินของลูกค้าในทางที่ผิด และอำนวยความสะดวกในการติดตามทรัพย์สินกลับคืนของลูกค้าในกรณีที่ผู้ให้บริการ DPT ล้มละลาย นอกจากนี้ MAS ยังจะห้ามไม่ให้ผู้ให้บริการ DPT ในการให้บริการ ให้ยืมและรับฝากที่มีการจ่ายผลตอบแทน (lending and staking)โทเค็น DPT แก่ลูกค้ารายย่อย

    มาตรการเหล่านี้ได้นำมาใช้หลังจากรับฟังความเห็นจากสาธารณะในเดือนตุลาคม 2565 เกี่ยวกับมาตรการกำกับดูแลเพื่อเพิ่มการคุ้มครองนักลงทุนและความโปร่งใสและเป็นธรรมของตลาดในบริการ DPT ซึ่งการรับฟังความเห็นได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้ตอบแบบสำรวจจำนวนมาก และได้รับการสนับสนุนในวงกว้างต่อผู้ให้บริการ DPT เพื่อให้

    1)แยกทรัพย์สินของลูกค้าออกจากทรัพย์สินของตนเองและฝากไว้กับทรัสต์
    2)ปกป้องเงินของลูกค้า
    3)ดำเนินการปรับยอดทรัพย์สินของลูกค้าทุกวันและจัดทำบัญชีและบันทึกที่เหมาะสม
    4)รักษาการเข้าถึงและการควบคุมการปฏิบัติงานของ DPT ของลูกค้าในสิงคโปร์
    5)ตรวจสอบให้แน่ใจว่าการดูแลรับฝาก(custody)เป็นอิสระจากหน่วยธุรกิจอื่น และ
    6)เปิดเผยข้อมูลที่ชัดเจนแก่ลูกค้าเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการถือครองสินทรัพย์โดยผู้ให้บริการ DPT

    ปัจจุบัน MAS กำลังเปิดรับฟังความเห็นสาธารณะเกี่ยวกับร่างแก้ไขเกณฑ์บริการการชำระเงิน เพื่อให้ข้อกำหนดเหล่านี้มีผลบังคับใช้ นอกจากนี้ MAS จะเผยแพร่แนวทางตามกำหนดเพื่อสนับสนุนการดำเนินการที่สอดคล้องกันโดยอุตสาหกรรม

    MAS จะดำเนินการตามข้อเสนอเพื่อห้ามผู้ให้บริการ DPT ไม่ให้บริการการให้กู้ยืมหรือรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการจ่ายผลตอบแทนแก่ลูกค้ารายย่อย เนื่องจากโดยทั่วไปแล้วกิจกรรมเหล่านี้ไม่เหมาะสำหรับบุคคลทั่วไปที่เป็นรายย่อย ผู้ให้บริการ DPT อาจยังคงให้บริการดังกล่าวสำหรับสถาบันและนักลงทุนที่ไม่ใช่รายย่อย(accredited investors)

    จากการรับฟังความเห็นได้รับมุมมองที่หลากหลายต่อข้อเสนอนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามบางรายระบุว่าควรให้ผู้ให้บริการ DPT สามารถให้บริการนี้ได้โดยได้รับความยินยอมจากลูกค้ารายย่อยและเปิดเผยความเสี่ยง ในขณะที่รายอื่นๆ สนับสนุนให้ห้ามการให้บริการที่มีความเสี่ยงสูงและการเก็งกำไร MAS จะติดตามพัฒนาการของตลาดและการตระหนักถึงความเสี่ยงของผู้บริโภค และจะดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่ามาตรการของ MAS ยังคงมีความสมดุลและเหมาะสม

    นอกจากนี้ MAS ยังได้หารือเกี่ยวกับแนวทางการกำกับดูแลในวงกว้างเกี่ยวกับความโปร่งใสและเป็นธรรมขอของตลาด ในเดือนตุลาคม 2565 ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เห็นด้วยกับข้อสังเกตของ MAS เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติที่ดีในอุตสาหกรรมเพื่อจัดการกับความเสี่ยงด้านความโปร่งใสและเป็นธรรมของตลาด และผู้ตอบแบบสอบถามบางคนแนะนำว่า MAS ควรกำหนดมาตรการเพิ่มเติมเพื่อป้องกัน ทำให้ตลาดหรือราคาหลักทรัพย์มีสภาพผิดไปจากภาวะปกติ(Market abuse) และแนวทางปฏิบัติต่อการกระทำอันไม่เป็นธรรม (Unfair Trading Practices)

    เพื่อดำเนินการตามการรับฟังความเห็น MAS จึงได้ออกเอกสารรับผังความเห็นแยกต่างหากเพื่อเสนอข้อกำหนดสำหรับผู้ให้บริการ DPT ในการจัดการกับแนวทางปฏิบัติทางการกระทำที่ไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ยังจะกำหนดบทบัญญัติทางกฎหมายและประเภทของการกระทำโดยมิชอบที่ถือเป็นความผิด

    MAS เตือนประชาชนว่ากฎระเบียบเพียงอย่างเดียวไม่สามารถปกป้องผู้บริโภคจากการสูญเสียทั้งหมด เนื่องจากการซื้อขาย DPT มีความเสี่ยงสูงมากและมีลักษณะเป็นการเก็งกำไร ผู้บริโภคต้องใช้ความระมัดระวังสูงสุดต่อไปเมื่อซื้อขายใน DPT เนื่องจากอาจสูญเสียทรัพย์สิน แม้ข้อกำหนดในการแยกและการดูแลจะช่วยลดความเสี่ยงในการสูญเสียทรัพย์สินของลูกค้า แต่ผู้บริโภคอาจยังคงเผชิญกับความล่าช้าอย่างมากในการติดตามทรัพย์สินคืน ในกรณีที่ผู้ให้บริการล้มละลาย ผู้บริโภคยังต้องระวังและไม่ติดต่อกับองค์กรที่ไม่ได้มีการควบคุม รวมถึงองค์กรที่อยู่ต่างประเทศ เนื่องจากเสี่ยงที่จะสูญเสียทรัพย์สินทั้งหมด

    FDI ไหลเข้าอาเซียนเพิ่มขึ้น 5% ปี 2566

    ที่มาภาพ: https://unctad.org/news/investment-flows-developing-countries-asia-remained-flat-2022
    การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ Foreign direct investment (FDI) ในปี 2565 เพิ่มขึ้น 5% เป็น 2.23 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และกระจุกตัวใน 5 ประเทศ โดยรับ FDI รวมกันคิดเป็น 80% ของ FDI ทั้งหมดที่ไหลเข้ามา จากรายงาน World Investment Report 2023 ของ UNCTAD ที่เผยแพร่วันที่ 5 กรกฎาคม

    มูลค่าของโครงการลงทุนใหม่(greenfield projects)และสินเชื่อโครงการระหว่างประเทศก็เพิ่มขึ้น 28% และ 49% ตามลำดับ แต่มูลค่าของการควบรวมกิจการ(M&As) ข้ามแดนลดลง 75% เหลือ 12 พันล้านดอลลาร์

    สิงคโปร์ เป็นประเทศที่รับ FDI รายใหญ่ที่สุด ทำสถิติใหม่ เพิ่มขึ้น 8% เป็น 1.41 แสนล้านดอลลาร์ (คิดเป็นเกือบ 2 ใน 3 ของ FDI ที่ไหลเข้าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ส่วน FDI ที่ไหลเข้ามาเลเซียเพิ่มขึ้น 39% เป็น 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นสถิติใหม่ของประเทศ จากจำนวนโครงการลงทุนใหม่และสินเชื่อโครงการเพิ่มขึ้น

    โครงการลงทุนใหม่ที่ใหญ่ที่สุดที่ประกาศคือแผนการของ Bin Zayed International จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่จะลงทุน 9.6 พันล้านดอลลาร์ในการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบ mixed-use( โครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ผนวกรวมโครงการที่อยู่อาศัยแบบอาคารชุดและโครงการเพื่อการพาณิชยกรรมเข้าไว้ด้วยกัน) ในเกาะลังกาวี ด้วยการร่วมทุนกับ Widad Business Group ในมาเลเซีย

    ส่วน FDI ที่ไหลไปยังเวียดนามและอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น 14% และ 4% เป็น 18,000 ล้านดอลลาร์และ 22,000 ล้านดอลลาร์ตามลำดับ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศไปยังฟิลิปปินส์ลดลง 23% ขณะที่มีการซื้อกิจการบริษัทในเครือต่างประเทศ โดยนักลงทุนท้องถิ่นดังในกรณี Union Bank of the Philippines เข้าซื้อธุรกิจรายย่อยในฟิลิปปินส์ของซิตี้กรุ๊ป(สหรัฐอเมริกา) ด้วยมูลค่า 1.4 พันล้านดอลลาร์

    ในกลุ่มประเทศเอเชียที่กำลังพัฒนา FDI ที่ไหลเข้าทรงตัวที่ 662 พันล้านดอลลาร์ แต่ภูมิภาคนี้เป็นผู้รับ FDI รายใหญ่ที่สุด คิดเป็นครึ่งหนึ่งของปริมาณที่ไหลเข้าทั่วโลก และกระจุกตัวสูง ใน 5 ประเทศ คือ จีน สิงคโปร์ ฮ่องกง (จีน) อินเดีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตามลำดับ รวมกันคิดเป็นเกือบ 80% ของ FDI ที่ไหลเข้าภูมิภาค ส่วนจำนวนโครงการลงทุนใหม่ที่ประกาศและสินเชื่อโครงการระหว่างประเทศในภูมิภาคเพิ่มขึ้น 45% และ 20% ตามลำดับ

    ในเอเชียตะวันออก FDI ลดลง 3% เป็น 324 พันล้านดอลลาร์ในปี 2565 แต่ FDI ที่ไหลไปยังจีนเพิ่มขึ้น 5% เป็นประวัติการณ์ 189 พันล้านดอลลาร์ แต่กระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตและอุตสาหกรรมไฮเทค (ส่วนใหญ่เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และการสื่อสาร) และส่วนใหญ่มาจากบรรษัทข้ามชาติของยุโรป

    ยอดขายกิจการเพื่อควบรวมกิจการ M&A ข้ามแดนเพิ่มขึ้น 3 เท่าเป็น 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ข้อตกลงที่ใหญ่ที่สุดคือการเข้าซื้อกิจการ 4 พันล้านดอลลาร์โดย BMW (เยอรมนี) เพื่อถือหุ้นอีก 25%ใน BMW Brilliance Automotive ผู้ผลิตและผู้ค้าส่งในปักกิ่ง และการควบรวมกิจการ 3.4 พันล้านดอลลาร์ของ COVA Acquisition (สหรัฐอเมริกา) และ ECARX Holdings ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในเซี่ยงไฮ้

    บรรษัทข้ามชาติส่วนหนึ่งได้ปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก โดยมีผลกระทบต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในจีน

    ในเอเชียใต้ FDI ที่ไหลไปยังอินเดียเพิ่มขึ้น 10% เป็น 49 พันล้านดอลลาร์ ทำให้เป็นประเทศใหญ่เป็นอันดับสาม สำหรับโครงการลงทุนใหม่ที่ประกาศ และใหญ่เป็นอันดับสองสำหรับสินเชื่อโครงการระหว่างประเทศ หนึ่งในโครงการลงทุนใหม่ที่ใหญ่ที่สุด ได้แก่ แผนงานของ Foxconn (มณฑลไต้หวันของจีน) และ Vedanta Resources (อินเดีย) ที่จะสร้างหนึ่งในโรงงานชิปแห่งแรกในอินเดียด้วยมูลค่า 19 พันล้านดอลลาร์ และโครงการ 5 พันล้านดอลลาร์เพื่อผลิตยูเรียจากไฮโดรเจนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยกิจการร่วมค้า ของ TotalEnergies (ฝรั่งเศส) และ Adani Group (อินเดีย) ในข้อตกลงสินเชื่อทางการเงิน Posco (สาธารณรัฐเกาหลี) และกลุ่ม Adani สนับสนุนการก่อสร้างโรงถลุงเหล็กเป็นเงิน 5 พันล้านดอลลาร์ในรัฐคุชราต

    ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กระแส FDI เพิ่มขึ้นในกลุ่มเศรษฐกิจภูมิภาคที่สำคัญทั้งหมดในประเทศเอเชียกำลังพัฒนา ส่วน FDI ในประเทศสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(อาเซียน)เพิ่มขึ้น 41% เป็น 222 พันล้านดอลลาร์

    FDI ยังเพิ่มขึ้นในประเทศสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ Regional Comprehensive Economic Partnership RCEP (เพิ่มขึ้น 42% เป็น 580 พันล้านดอลลาร์) รวมไปถึงกลุ่มประเทศของสภาความร่วมมืออ่าวอาหรับ Gulf Cooperation Council (ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าเป็น 37 พันล้านดอลลาร์) และในประเทศสมาชิกของสมาคมเอเชียใต้เพื่อความร่วมมือระดับภูมิภาค หรือ South Asian Association for Regional Cooperation (เพิ่มขึ้น 20% เป็น 56 พันล้านดอลลาร์)

    มาเลเซียส่งออกน้ำมันปาล์มไป EU จะทะลุ 1.5 ล้านตัน

    ที่มาภาพ: https://www.malaymail.com/news/money/2023/07/07/mpoc-malaysias-palm-oil-exports-to-eu-27-to-surpass-15-million-tonnes/78443

    การส่งออกน้ำมันปาล์มของมาเลเซียไปยังประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป 27 ประเทศ (EU-27) คาดว่าจะเกิน 1.5 ล้านตันในปี 2566 จากการคาดการณ์ของสภาน้ำมันปาล์มแห่งมาเลเซีย (MPOC)

    ในรายงาน Palm Pulse เดือนกรกฎาคม 2566 สภาน้ำมันปาล์มแห่งมาเลเซีย ยังระบุอีกว่า การส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มของมาเลเซียไปยัง EU-27 คาดว่าจะเกิน 3 ล้านตัน

    ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงพฤษภาคม 2566 การส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มของมาเลเซียไปยังสหภาพยุโรปลดลง 14% หรือ 144,065 ตัน ในขณะที่การส่งออกทั้งหมดในช่วงเวลานี้ลดลงเหลือ 1.04 ล้านตันจาก 1.19 ล้านตันในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว

    “การนำเข้าน้ำมันปาล์มทั้งหมดใน EU-27 ที่ลดลง เมื่อเทียบกับสองปีที่แล้ว มีสาเหตุมาจากการบริโภคที่ลดลงเนื่องจากราคาที่สูง เงินเฟ้อ ความต้องการพลังงานและอาหารที่ลดลง และการผลิตในท้องถิ่นที่คาดว่าจะดีขึ้น ปริมาณการซื้อที่ค่อนข้างต่ำมาจากภาคอาหาร ประกอบกับน้ำมันคาโนลา(rapeseed oil)และน้ำมันทานตะวันมีเพียงพอในตลาดสหภาพยุโรป มีส่วนทำให้การนำเข้าน้ำมันปาล์มลดลง การสต็อกน้ำมันทานตะวันอย่างหนักจากปีที่แล้วและการนำเข้าที่สูงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากยูเครนได้ทำให้การนำเข้าน้ำมันปาล์มมีแนวโน้มลดลง” รายงานระบุ

    สำหรับแนวโน้มราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ในเดือนกรกฎาคม 2566 MPOC กล่าวว่า บ่งชี้ถึงแนวโน้มราคาที่อ่อนตัวลงเล็กน้อย โดยมีราคาสูงสุดอยู่ที่ 3,650 ริงกิตมาเลเซียต่อตัน

    ราคาน้ำมันปาล์มดิบที่อ่อนตัวลงมีสาเหตุหลักมาจากการคาดการณ์ว่าจะมีอุปทานเมล็ดพืชน้ำมันจำนวนมากในช่วงครึ่งหลังของปี 2566

    “อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าการเริ่มเกิดขึ้นของปรากฏการณ์เอลนีโญคาดว่าจะสร้างแรงกดดันต่อราคาน้ำมันปาล์ม ซึ่งอาจทำให้ราคาคงไว้เหนือระดับ 3,250 ริงกิตมาเลเซีย” รายงานระบุ

    เวียดนามส่งออกข้าว4.3 ล้านตันครึ่งปีแรก

    ที่มาภาพ: https://tuoitrenews.vn/news/business/20230707/vietnams-rice-export-on-upward-trend-in-h1/74250.html

    เวียดนามส่งออกข้าว 4.3 ล้านตัน รวมมูลค่า 2.3 พันล้านดอลลาร์ไปยังตลาดต่างประเทศในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ โดยมีปริมาณเพิ่มขึ้น 22% และมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 35% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว

    การเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งมาจากการตัดสินใจของผู้ซื้อข้าวต่างประเทศที่จะเพิ่มการนำเข้าข้าว เพื่อเพิ่มปริมาณสำรองท่ามกลางความกังวลว่าปรากฏการณ์เอลนีโญจะทำให้เกิดสภาพอากาศแปรปรวน จากการเปิดเผยของผู้เข้าร่วมการประชุมที่จัดขึ้นในกรุงฮานอยเมื่อวันพฤหัสบดี(6 ก.ค.)เพื่อทบทวนการส่งออกข้าวของประเทศ

    การส่งออกข้าวเวียดนามมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยส่งออกปริมาณเฉลี่ยกว่า 6 ล้านตัน มูลค่ามากกว่า 3 พันล้านดอลลาร์ต่อปี จากการเปิดเผยของนายเล ทั่นห์ ฮว่า จากฝ่ายพัฒนาตลาดและแปรรูปเกษตร สังกัดกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบท แต่การส่งออกข้าวของประเทศอาจชะลอตัวลงเล็กน้อยในอนาคตอันใกล้นี้ เนื่องจากปริมาณข้าวในประเทศที่ให้ผลผลิตในช่วงฤดูหนาว-ฤดูใบไม้ผลิหมดแล้ว

    ฟิลิปปินส์เป็นผู้ซื้อข้าวเวียดนามรายใหญ่ที่สุดในช่วงครึ่งปีแรก โดยนำเข้า 1.5 ล้านตัน มูลค่า 772 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 21% ในเชิงปริมาณ และ 31% ในเชิงมูลค่าเมื่อเทียบปีต่อปี และคิดเป็น 40% ของปริมาณรวมการส่งออกข้าวของเวียดนาม หรือคิดเป็นการนำเข้าข้าวจากเวียดนาม 90% ของการนำเข้าข้าวทั้งหมด

    จีนรั้งอันดับสองด้วยการซื้อข้าวเวียดนามมากกว่า 632,000 ตัน มูลค่า 364 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 63% และ 79% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

    สำหรับราคาส่งออกข้าว ข้าวเวียดนามมีราคาตันละประมาณ 539 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

    ฮว่ายังระบุด้วยว่า ความต้องการข้าวเวียดนามที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากอาหารอื่น ๆ ที่ไม่เพียงพอ

    นางบุย ทิ ทั่นห์ ตัม รองประธานสมาคมอาหารเวียดนาม (Vietnam Food Association-VFA) คาดการณ์ว่า ตลาดหลักหลายแห่ง เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และตลาดจากแอฟริกาจะยังคงเพิ่มการนำเข้าข้าว และทำให้ราคาข้าวสูงขึ้น และชี้ให้เห็นว่าอุปสรรคสำคัญของผู้ส่งออกข้าวในประเทศคือเงินทุนและเครดิต

    เธอเสนอให้ธนาคาธนาคารกลางพิจารณา ให้เงินกู้ระยะสั้นมากขึ้น และชี้แนะผู้ค้าข้าวตามขั้นตอนต่างๆ เพื่อเข้าถึงเงินกู้ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำได้ง่าย

    นายเล มินห์ ฮวาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบท กล่าวในที่ประชุมกับผู้ส่งออกข้าวในประเทศให้จัดทำแผนยุทธศาสตร์และแผนธุรกิจสำหรับระยะสั้นอย่างเร่งด่วน รวมทั้งจัดทำข้อมูลรายการโอกาสและภัยคุกคามที่เผชิญให้กับกระทรวง

    รัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า เวียดนามคาดว่าจะส่งออกข้าวประมาณ 8 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ารวม 4 พันล้านดอลลาร์ในปี 2566​

    จีน เวียดนาม ไทยครองตลาดนำเข้าของกัมพูชา

    ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/501252036/container-freight-station-aided-by-japan-opens-in-cambodias-spsez/

    การนำเข้าสินค้าทั้งหมดของกัมพูชาในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 ซึ่งมีมูลค่า 10.109 พันล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่มาจากสามตลาดใหญ่คือ จีนแผ่นดินใหญ่ เวียดนาม และไทย ซึ่งมีมูลค่า 7.259 พันล้านดอลลาร์ หรือ 71.81% ของการนำเข้าทั้งหมดของกัมพูชา จากข้อมูลของกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา

    การนำเข้าทั้งหมดของกัมพูชาสำหรับเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม 2566 ลดลง 22.58% เมื่อเทียบรายปี

    จีนแผ่นดินใหญ่ยังคงรักษาตำแหน่งเป็นแหล่งนำเข้าอันดับต้น ๆ ของกัมพูชา ด้วยสัดส่วน 44.39% ของการนำเข้าทั้งหมด หรือ 4.488 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 0.38% เมื่อเทียบรายปี รองลงมาคือ เวียดนาม ด้วยสัดส่วน 15.30% มูลค่า 1.547 พันล้านดอลลาร์ ลดลง 9.57% เมื่อเทียบรายปี และไทย สัดส่วน 12.12% มีมูลค่า 1.225 พันล้านดอลลาร์ ลดลง 14.38% เมื่อเทียบรายปี

    ส่วนแหล่งนำเข้าสองอันดับถัดไปคืออินโดนีเซีย สัดส่วน 4.55% มูลค่า 459.980 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 16.61% เมื่อเทียบรายปี และสิงคโปร์ สัดส่วน 3.12% มูลค่า 315.567 ล้านดอลลาร์ ลดลง 81.07% เมื่อเทียบรายปี และตกจากแหล่งนำเข้าใหญ่อันดับสามในเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม 2565 ด้วยมูลค่า 1.667 พันล้านดอลลาร์

    นายลิม เฮง รองประธานหอการค้ากัมพูชากล่าวเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคมว่า การนำเข้าส่วนใหญ่ของกัมพูชาเป็นวัตถุดิบหรือปัจจัยการผลิตที่ใช้ในการดำเนินการแปรรูปเพื่อการส่งออก โดยชี้ว่า มีการนำเข้าวัสดุก่อสร้างและเฟอร์นิเจอร์ในสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อสนับสนุนการพัฒนาในส่วนการก่อสร้างอาคารในประเทศ

    นอกจากนี้ยังคาดการณ์ว่าจีนแผ่นดินใหญ่ เวียดนาม และไทยจะยังคงมีส่วนในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สำคัญของกัมพูชา

    “การเติบโตอย่างต่อเนื่องของกำลังการผลิตในประเทศทำให้กัมพูชาต้องซื้อวัตถุดิบเพิ่มเติมจากตลาดต่างประเทศที่ขาดแคลนเพื่อแปรรูปเพื่อการส่งออก”

    นายเฮงชี้ว่า การนำเข้าส่วนใหญ่ของกัมพูชาจากทั้งสามตลาด เกี่ยวข้องกับสิ่งทอ การก่อสร้าง เครื่องจักร และอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

    เมื่อเศรษฐกิจโลกดีขึ้น ผลิตภัณฑ์จากเขตปกครองเหล่านี้จะวางจำหน่ายในประเทศในปริมาณที่มากขึ้น และเมื่อเร็วๆ นี้ การส่งออกของกัมพูชาเติบโตในช่วงปลายปี

    นายฮง วานาค นักเศรษฐศาสตร์ของ Royal Academy of Cambodia ให้ความเห็นว่า เป็นเวลาอย่างน้อยสองทศวรรษที่กัมพูชาเป็นผู้บริโภคสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญจากทั้งสามตลาด ซึ่งรวมถึงเกือบทุกอย่างตั้งแต่ผักและผลไม้ วัตถุดิบอุตสาหกรรม พลังงาน เชื้อเพลิง เทคโนโลยีขั้นสูง วัสดุก่อสร้าง และเครื่องจักรกลหนัก

    นอกจากนี้ ยังยกย่องความสัมพันธ์ทางการทูตและการค้าของกัมพูชากับสามประเทศและเขตปกครอง โดยย้ำว่าปริมาณ คุณภาพ และราคาของผลิตภัณฑ์ที่นำเข้ามาจากตลาดเหล่านี้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการผลิตในประเทศ

    นายวานาคคาดว่า ปริมาณซื้อขายสินค้าระหว่างกัมพูชาและตลาดทั้งสามแห่งจะกลับมาเป็นเหมือนเดิมและยังคงอยู่ในแนวโน้มขาขึ้นในอนาคตอันใกล้ โดยได้รับแรงหนุนจากข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคีระหว่างกัมพูชา-จีน (CCFTA) ซึ่งมีผลในวันที่ 1 มกราคม 2565

    การค้าของกัมพูชากับจีนแผ่นดินใหญ่ เวียดนาม และไทยเพิ่มขึ้น 4.67% เมื่อเทียบรายเดือนเป็น 1.975 พันล้านดอลลาร์ในเดือนพฤษภาคม หลังจากลดลง 19.47% เมื่อเทียบเป็นรายเดือนในเดือนเมษายน

    ในปี 2565 การนำเข้าจากสามตลาด ซึ่งเป็นแหล่งนำเข้าสามอันดับแรกในปีนั้น มีมูลค่ารวม 18.245 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็น 60.94% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดของกัมพูชาที่ 29.942 พันล้านดอลลาร์

    กัมพูชาศึกษาสร้างรถไฟความเร็วสูงพนมเปญ-สีหนุวิลล์

    ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/501207261/cambodia-on-track-for-high-speed-railway/

    นายซุน จันทอล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและการขนส่ง เปิดเผยว่า ขณะนี้กำลังดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการที่เสนอเพื่อปรับเปลี่ยนเส้นทางรถไฟสายใต้ซึ่งเชื่อมโยงพนมเปญกับจังหวัดพระสีหนุให้เป็นรถไฟความเร็วสูง เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับผู้โดยสารและการขนส่งสินค้า

    ก่อนหน้านี้มีการศึกษาที่คล้ายกันเกี่ยวกับเส้นทางรถไฟสายเหนือ ซึ่งเชื่อมต่อเมืองหลวงกับเมืองปอยเปตในจังหวัดบันเตียเมียนเจยและชายแดนไทย

    นายจันทอลกล่าวถึงแผนเบื้องต้นสำหรับการปรับปรุงทั้งสองสายว่า เพื่อให้ทำความเร็วได้ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยชี้ว่า รถไฟในเส้นทางรถไฟสายใต้ในปัจจุบันสามารถวิ่งได้ 30-40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ด้วยความเร็วสูงสุด 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

    ผลเบื้องต้นของการศึกษาความเป็นไปได้ของเส้นทางรถไฟสายเหนือชี้ให้เห็นว่าโครงการนี้จะมีมูลค่าการลงทุนมากกว่า 4 พันล้านดอลลาร์และใช้เวลาประมาณ 4ปีจึงจะเสร็จสมบูรณ์

    การศึกษานี้ดำเนินการโดยบริษัท China Road and Bridge Corp (CRBC) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของจีน และเป็นบริษัทที่อยู่เบื้องหลังทางด่วนพนมเปญ-สีหนุวิลล์ ทางด่วนสายแรกของกัมพูชา เปิดใช้เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2565 และเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนต่อมา

    แผนระยะยาวสำหรับสายเหนือยาว 386 กิโลเมตร ประกอบด้วยสถานีขนส่งผู้โดยสารหรือขนส่งสินค้า 33 แห่ง โดเบื้องต้นจะสร้าง 19 แห่ง รวมถึงสะพานลอยเพิ่มเติมอีกกว่า 300 แห่งเพื่อเลี่ยงจุดตัดระหว่างรถยนต์และรถไฟ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปรับไปสู่โครงการรถไฟความเร็วสูงซึ่งจะครอบคลุม 382 กิโลเมตร หรือ 99% ของทางรถไฟ

    นายซิน จันธี ประธานสมาคมโลจิสติกส์ของกัมพูชา ชี้ถึงศักยภาพของรถไฟทั้งสองสายว่าเป็นทางเลือกการเดินทางที่สำคัญของภาคธุรกิจ ตลอดจนเป็นตัวขับเคลื่อนต้นทุนด้านโลจิสติกส์ที่ลดลง และความสามารถของกัมพูชาในการแข่งขันระดับนานาชาติ

    การยกระดับไปสู่รถไฟความเร็วสูงจะช่วยเพิ่มจำนวนผู้โดยสารและปริมาณการค้าสินค้าข้ามแดน

    “สิ่งนี้จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ นอกเหนือจากการลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง” นายจันธีกล่าว

    ตามรายงานของกระทรวงคมนาคม การก่อสร้างระบบรถไฟของกัมพูชาเริ่มขึ้นในช่วงปลายทศวรรษที่ 1920 โดยมีสายเหนือและสายใต้ ซึ่งสายแรกสร้างขึ้นระหว่างปี 2472 และ 2485 ในช่วงที่ฝรั่งเศสปกครองกัมพูชาแบบอาณานิคม

    ทางรถไฟสายใต้ยาว 264 กิโลเมตร สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2503 ถึง 2512 ในยุคสังคมนิยมนิยม ภายใต้การนำของกษัตริย์นโรดม สีหนุผู้ล่วงลับ และได้รับความช่วยเหลือจากฝรั่งเศส เยอรมนีตะวันตก และจีน

    ในช่วงการปกครองด้วยระบบคอมมิวนิสต์(เขมรแดง) สร้างความเสียหายอย่างหนักแก่เส้นทางรถไฟทั้งสองสาย โดยบางส่วนถูกทำลายทั้งหมด แต่ด้วยความร่วมมือระหว่างกระทรวงและบริษัทรถไฟหลวง จึงมีการสร้างและบูรณะในภายหลัง

    สปป.ลาวตั้งเป้ารายได้จากส่งออกเข้าประเทศ 50%

    ที่มาภาพ: https://www.vientianetimes.org.la/sub-new/Previous_129_y23/freeContent/FreeConten_PM129.php

    ดร.สอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรี สปป.ลาวชี้แจงต่อรัฐสภาในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลจะพยายามนำรายได้จากการส่งออกอย่างน้อย 50% เข้าประเทศในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า พร้อมย้ำถึงความสำคัญของการมีเงินตราต่างประเทศที่ได้จากการส่งออกให้เพียงพอ เพื่อให้รัฐบาลสามารถจัดการกับปัญหาการขาดดุลการชำระเงินได้

    ปัจจุบัน รายได้จากการส่งออกเพียง 30% เท่านั้นที่เข้าสู่ประเทศผ่านระบบธนาคาร ในปี 2565 มูลค่าการส่งออกรวม 8.19 พันล้านดอลลาร์ แต่นำเข้าประเทศจริง ๆ เพียง 2.7 พันล้านดอลลาร์ เนื่องจากนักลงทุนได้รับอนุญาตให้ชำระหนี้ในต่างประเทศได้หลังจากกู้เงินนอกประเทศ เพื่อใช้เป็นเงินทุนสำหรับโครงการพัฒนาในลาว โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังน้ำและเหมืองแร่

    นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกต้องมีบัญชีกับธนาคารในลาวเพื่อดำเนินการธุรกรรมทางการเงิน ในอนาคต การเปิดบัญชีกับธนาคารพาณิชย์ในลาวจะเป็นหนึ่งในข้อกำหนดหลักสำหรับผู้นำเข้าและผู้ส่งออก

    นางสาวจันสุก เส็งพะจัน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงฯจะลงทะเบียนผู้นำเข้าและผู้ส่งออก เพื่อให้สามารถควบคุมกิจกรรมการนำเข้าและส่งออกได้ดีขึ้น และประกันว่าจะมีการส่งออกมากขึ้นเข้าสู่ระบบธนาคาร โดยกระทรวงฯจะทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ รวมถึงธนาคารแห่ง สปป.ลาว เพื่อดูแลเรื่องนี้

    กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าจะทำงานร่วมกับกระทรวงเกษตรและป่าไม้เพื่อลดการส่งออกวัตถุดิบและจัดสรรอุปทานให้กับอุตสาหกรรมภายในประเทศ เพื่อให้สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง เช่น กาแฟ มันฝรั่ง และข้าวโพดหวานได้มากขึ้น

    รัฐบาลยังต้องการจำกัดการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยและสินค้าไม่จำเป็นที่ต้องใช้เงินตราต่างประเทศจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็ลดการใช้เงินตราต่างประเทศที่ไม่จำเป็นในลาว ในระยะกลางและระยะยาว ดร.สอนไซกล่าวว่า รัฐบาลจะยังคงดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดต่อไปในลักษณะที่ไม่เพิ่มแรงกดดันต่ออุปสงค์เงินตราต่างประเทศ เนื่องจากจะส่งผลให้เงินกีบอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง

    นายกรัฐมนตรีรับทราบว่าราคาเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นและหนี้สาธารณะที่สูง ทำให้รัฐบาลต้องจัดหาเงินตราต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะเงินบาทและดอลลาร์สหรัฐเพื่อซื้อสินค้านำเข้าท่ามกลางปริมาณเงินตราต่างประเทศที่ลดลงจากการกู้ยืม การท่องเที่ยวและต่างประเทศ การลงทุน

    ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2565 ราคาเชื้อเพลิงในตลาดโลกพุ่งขึ้นถึง65% และต้นทุนเชื้อเพลิงที่ลาวนำเข้าเพิ่มขึ้น 50% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

    นอกจากนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐได้ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น ซึ่งจะทำให้ค่าของสกุลเงินอื่น ๆ รวมทั้งกีบอ่อนค่าลง

    ด้านผู้ว่าการธนาคารกลางได้เน้นย้ำถึงสาเหตุของการขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ และกำหนดมาตรการหลักเพื่อจัดการกับปัญหาเหล่านี้ในระหว่างการชี้แจงในสภาแห่งชาติ

    ดร.บุญเหลือ สินไซวอระวง ผู้ว่าการธนาคารแห่ง สปป.ลาว กล่าวว่า ลาวประสบปัญหาขาดดุลเงินตราต่างประเทศมาตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งหมายความว่าเงินตราต่างประเทศไหลเข้าของน้อยกว่าไหลออก ทำให้เกิดความไม่สมดุลของปริมาณเงินตราต่างประเทศ

    ดร.บุญเหลือกล่าวว่า หลังจากปี 2553 การไหลเข้าของเงินลงทุนและเงินกู้ยืมจากต่างประเทศจำนวนมหาศาล ช่วยให้รายรับและรายจ่ายของประเทศมีความสมดุล และไม่ให้ขาดดุลมากไว้ได้ แต่ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา รัฐบาลได้จำกัดจำนวนเงินกู้เนื่องจากหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้ดุลการชำระเงินโดยรวมขาดดุล

    นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปี 2563 ส่งผลให้สูญเสียเงินตราต่างประเทศจำนวนมาก เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและการลงทุนจากต่างประเทศซึ่งถือเป็นแหล่งที่มาหลักของเงินตราต่างประเทศของลาวลดลงอย่างมาก

    “ในปี 2561 และ 2562 การท่องเที่ยวสร้างรายได้ระหว่าง 900 ล้านดอลลาร์ถึง 1 พันล้านดอลลาร์ในแต่ละปี” ดร.บุญเหลือกล่าว

    ผู้ว่าการธนาคารกลางกล่าวว่า เงินตราต่างประเทศที่หายไปจากการท่องเที่ยวและการลดลงของเงินกู้ นำไปสู่การขาดดุลเงินตราต่างประเทศโดยรวม เนื่องจากความต้องการเงินตราต่างประเทศไม่ลดลงตาม

    “หนึ่งในแนวทางที่ดีที่สุดคือการลดการขาดดุลเงินตราต่างประเทศด้วยการควบคุมเงินตราต่างประเทศที่ได้รับจากการส่งออก” ดร.บุญเหลือกล่าว

    ในปัจจุบันมีเพียงกว่า 30% ของการส่งออกที่เข้าสู่ลาวผ่านระบบธนาคาร

    ในปี 2565 มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 8.19 พันล้านดอลลาร์ แต่เข้าประเทศเพียง 2.7 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2565 มีรายได้จากการส่งออกไฟฟ้าประมาณ 2.2 พันล้านดอลลาร์แต่ไหลเข้าลาวเพียง 500 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากนักลงทุนได้รับอนุญาตให้ชำระหนี้ในต่างประเทศ เพราะได้กู้เงินต่างประเทศเพื่อสร้างเขื่อนในลาว

    สำหรับการส่งออกแร่ธาตุมีเพียง 67% ของรายรับการส่งออกที่เข้าประเทศ

    “สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเราต้องควบคุมเงินตราต่างประเทศที่ได้รับจากการส่งออก” ดร. บุญเหลือกล่าว “ในขณะเดียวกัน เราจำเป็นต้องส่งเสริมการลงทุนและการท่องเที่ยวจากต่างประเทศอย่างมาก หากเราสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ 4 ล้านคนต่อปี เราจะมีเงินหมุนเวียนในประเทศประมาณ 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือ 1 พันล้านดอลลาร์”

    ดร. บุญเหลือกล่าวอีกว่า ลาวต้องจำกัดการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยและสินค้าไม่จำเป็นที่ต้องใช้เงินตราต่างประเทศจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็ลดการใช้เงินตราต่างประเทศในประเทศ
    รัฐบาลอาจขึ้นภาษีสินค้าบางชนิดเพื่อจำกัดการนำเข้าและลดการใช้เงินตราต่างประเทศ

    นักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่า เป็นเรื่องสำคัญเช่นกันที่รัฐบาลจะต้องพิจารณานโยบายวีซ่าที่เอื้ออำนวยมากขึ้น เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีการใช้จ่ายสูงจากเอเชียและยุโรป นอกจากนี้ การปรับปรุงบรรยากาศการลงทุน โดยเฉพาะการเร่งอนุมัติโครงการลงทุนและปรับขั้นตอนให้เร็วขึ้นสำหรับผู้ส่งออก ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ