ASEAN Roundup ประจำวันที่ 23-29 เมษายน 2566
สิงคโปร์ก้าวสู่อันดับ 1 ของโลกด้านประสิทธิภาพของรัฐบาล
สิงคโปร์ครองที่หนึ่งในการจัดอันดับประสิทธิภาพของรัฐบาลทั่วโลก โดยแซงหน้าฟินแลนด์ซึ่งครองอันดับต้นของดัชนีมาตั้งแต่การเผยแพร่ครั้งแรกในปี 2564สิ่งที่ผลักดันสิงคโปร์ขึ้นจากอันดับที่ 3 ในดัชนี Chandler Good Government Index ประจำปีในสองครั้งที่ผ่านมา สู่อันดับที่หนึ่งในปี 2566 คือผลงานในด้านความเป็นผู้นำและการมองการณ์ไกล(leadership and foresight) สถาบันที่แข็งแกร่ง(strong institutions) การดูแลทางการเงิน(financial stewardship) ตลาดที่น่าสนใจ(attractive marketplace) และการช่วยให้คนมีสถานะที่ดีขึ้น(helping people rise)
แต่สิงคโปร์คะแนนตกลงเล็กน้อยจากปี 2565 ใน 2 เสาหลักคือ กฎหมายและนโยบายที่เข้มแข็ง(robust laws and policies) กับ อิทธิพลและชื่อเสียงระดับโลก(global influence and reputation)
Chandler Institute of Governance ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มีสำนักงานใหญ่ในสิงคโปร์กล่าวว่า รายงานในปีนี้ซึ่งเป็นรายงานฉบับที่ 3 นำเสนอประเด็นพิเศษถึง เสาหลักของการเป็นรัฐบาลที่ดีทำให้สามารถยืนหยัดร่วมกันได้เมื่อเผชิญกับวิกฤติการณ์หลายด้าน ซึ่งรายงานระบุว่า เป็นวิกฤติโลกที่พัวพันกันและมีผลกระทบร้ายแรงกว่า ผลของวิกฤติแต่ละด้าน
โรคระบาดร้ายแรง สงคราม และอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งหมดนี้ ทำให้รัฐบาลต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่ต่อเนื่องไม่สิ้นสุดและความไม่แน่นอน ขณะเดียวกันก็ต้องรักษาเสถียรภาพและปรับตัวอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ระบุว่า รัฐบาลสิงคโปร์สามารถบริหารจัดการในช่วงเวลาที่ปั่นป่วนได้ เนื่องจากได้ยกระดับการดำเนินการ การจัดลำดับความสำคัญเชิงกลยุทธ์ และการมีนวัตกรรม
Chandler Institute of Governance กล่าวว่า การตอบสนองของสิงคโปร์ต่อการระบาดใหญ่ของโควิด-19 นั้นน่ายกย่อง โดยชี้ว่าสิงคโปร์ฟื้นตัวจากโรคระบาดได้ดีกว่าประเทศอื่น และเศรษฐกิจก็กลับมาอยู่ที่ระดับก่อนวิกฤติแล้ว
สำหรับประเทศที่ติดอันดับรองจากสิงคโปร์ใน 10 อันดับแรก ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ ฟินแลนด์ เดนมาร์ก นอร์เวย์ สวีเดน เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี สหราชอาณาจักร และนิวซีแลนด์
สิงคโปร์ ฟินแลนด์ และนอร์เวย์ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่แข็งแกร่งที่สุดในการจัดการกับความเสี่ยงที่เกิดจากวิกฤติรอบด้าน(polycrisis) โดย Chandler Institute of Governance ระบุว่า ประเทศที่มีการปกครองที่ดีมีแนวโน้มที่จะพัฒนาความยืดหยุ่นมากขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับวิกฤติการณ์
การจัดอันดับของดัชนีนี้จะประเมินว่า สถาบันของรัฐมีการประสานกันเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับวิกฤติอย่างไร รัฐบาลเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อในขณะที่ยังคงรักษางานที่ดีไว้ได้อย่างไร และรัฐบาลสร้างชุมชนที่ครอบคลุมมากขึ้นและระบบสุขภาพที่ยืดหยุ่นได้อย่างไร และอื่นๆ
ประเทศที่ได้รับการจัดอันดับจะได้คะแนนจาก 35 ตัวบ่งชี้ที่จัดอยู่ใน 7 เสาหลัก โดยใช้ข้อมูลจากแหล่งข้อมูลทั่วโลกที่เปิดเผยต่อสาธารณะมากกว่า 50 แหล่ง รวมถึงจากองค์การสหประชาชาติ องค์การการค้าโลก World Justice Project และมหาวิทยาลัยเยล
Chandler Institute of Governance กล่าวว่า ตัวบ่งบอกที่น่าเชื่อถือที่สุดของการกำกับดูแลที่ดี(good governance)โดยรวม คือ ตัวชี้วัดด้านหลักนิติธรรม ความเป็นผู้นำทางจริยธรรม และสิทธิในทรัพย์สิน ซึ่งไม่ต่างจากสิ่งที่เห็นในข้อมูลปี 2565 และ 2564 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าองค์ประกอบพื้นฐานทั้งสามของรัฐบาลมีความสำคัญต่อการมีการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ
ในปีนี้มีการประเมินทั้งหมด 104 ประเทศ ซึ่งมีประชากรรวมกันประมาณ 90% ของประชากรโลก
สิงคโปร์อยู่ในอันดับที่ 11 ในด้านหลักนิติธรรม อันดับที่ 4 ในด้านความเป็นผู้นำทางจริยธรรม และอันดับที่ 2 ในด้านสิทธิในทรัพย์สิน
รัฐบาลที่ดียังมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับผลลัพธ์สำคัญหลายประการที่เป็นเป้าหมายระดับชาติและลำดับความสำคัญของหลายประเทศ เช่น การลดความเหลื่อมล้ำที่รุนแรง ซึ่งชี้ให้เห็นว่าประเทศที่มีการปกครองที่ดีนั้นพร้อมมากกว่า ที่จะเจริญรุ่งเรืองร่วมกันและมีสังคมเป็นธรรมและครอบคลุมมากขึ้น
ในปี 2566 ประเทศในเอเชีย ได้แก่ ญี่ปุ่น เวียดนาม อินโดนีเซีย จีน กัมพูชา และเกาหลีใต้ ต่างเลื่อนอันดับขึ้น จากความสามารถและประสิทธิภาพที่ดีขึ้นของภาครัฐ
ประเทศที่มีรายได้ปานกลางก็มีการเลื่อนอันดับมากที่สุดในดัชนีเช่นกัน โดย เวียดนาม มาซิโดเนียเหนือ สาธารณรัฐคีร์กีซ และเคนยา มีการเลื่อนดับครั้งใหญ่ที่สุด
ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันดับของประเทศไทยตกลงต่อเนื่องโดยปีนี้ติดอันดับที่ 47 ตกลงจากอันดับ 46 ในปี 2565 ซึ่งลดลง 2 อันดับจากปี 2564 ขณะที่อินโดนีเซียขยับขึ้น 3 อันดับมาอยู่ที่ 46 เวียดนามเลื่อนขึ้น 7 อันดับขึ้นมาที่ 49 กัมพูชาขยับขึ้น 2 อันดับมาที่ 88 มาเลเซียลดลง 1 อันดับมาอยู่ที่ 33 และฟิลิปปินส์ตกลง 3 อันดับมาอยู่ที่ 66
นายอู๋ เว่ยเหนิง กรรมการบริหารของสถาบัน ซึ่งทำงานร่วมกับรัฐบาลผ่านโครงการฝึกอบรมและโครงการต่าง ๆ กล่าวว่า วิธีการประเมินของดัชนีมุ่งเน้นไปที่ความสามารถและทักษะความรู้ความสามารถมากกว่าอุดมการณ์ทางการเมือง
“เราต้องการให้ดัชนีเป็นเครื่องมือที่ใช้งานได้จริงเพื่อสนับสนุนการกำกับดูแลและการให้บริการสาธารณะที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นสำหรับทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลในระบบใดหรือมีระดับรายได้แค่ไหน เป็นเรื่องน่ายินดีที่ได้เห็นการเคลื่อนไหวในเชิงบวก ของอันดับประเทศที่มีรายได้ปานกลางและหลายประเทศในเอเชีย”
สำหรับอันดับของทั้ง 104 ประเทศดูได้จาก COUNTRY RANKINGS 2023
สิงคโปร์ปรับขึ้นอากรแสตมป์ผู้ซื้อบ้านต่างชาติ 60%
เมื่อวันที่ 26 เมษายน กระทรวงพัฒนาแห่งชาติ (Ministry of National Development)ของสิงคโปร์ออกแถลงการณ์ ประกาศวารัฐบาลได้ปรับเพิ่ม อากรแสตมป์ผู้ซื้อบ้าน (Additional Buyer’s Stamp Duty: ABSD) เพื่อส่งเสริมตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ยั่งยืน โดยอัตราใหม่จะมีผลตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2566
การใช้มาตรการควบคุมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในเดือนธันวาคม 2564 และกันยายน 2565 ได้ผลในระดับปานกลาง อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 1 ปี 2566 ราคาอสังหาริมทรัพย์มีสัญญาณการเร่งตัวอีกครั้งท่ามกลางอุปสงค์ที่ฟื้นตัว ความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยเพื่อเป็นเจ้าของเองจากคนในประเทศแข็งแกร่งเป็นพิเศษ และนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศยังกลับมาสนใจตลาดที่อยู่อาศัยของสิงคโปร์อีกด้วย หากปล่อยไว้โดยไม่ดำเนินการใดๆ ราคาอาจวิ่งนำหน้าปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ โดยมีความเสี่ยงที่ราคาจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับรายได้
เพื่อส่งเสริมตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ยั่งยืนและให้ความสำคัญกับที่อยู่อาศัยสำหรับเจ้าของและพักอาศัยเอง รัฐบาลจะเพิ่มอัตรา ABSD ต่อไปเพื่อเป็นมาตรการเชิงป้องกันในการจัดการกับความต้องการลงทุน
-
สำหรับพลเมืองสิงคโปร์ที่ซื้อบ้านหลังที่ 2 เป็น 20% จากเดิม 17%
สำหรับพลเมืองสิงคโปร์ที่ซื้อบ้านหลังที่ 3 ขึ้นไปและผู้ถือวีซ่าถาวร (Permanent Resident) ที่ซื้อบ้านหลังที่ 2 เป็น 30% จากเดิม 25%
สำหรับผู้ถือวีซ่าถาวร (Permanent Resident) ที่ซื้อบ้านหลังที่ 3 ขึ้นไป เป็น 35% จากเดิม 30%
สำหรับชาวต่างชาติ เป็น 60% จากเดิม 30%
สำหรับบริษัทที่เข้าซื้ออสังหาริมทรัพย์ใดๆ เป็น 65% จากเดิม 35%
สำหรับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 35% และคิดเพิ่มอีก 5%
จากข้อมูลในปี 2565 อัตรา ABSD ที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบต่อธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยประมาณ 10%
อัตรา ABSD สำหรับพลเมืองสิงคโปร์ และผู้ถือวีซ่าถาวร ที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัยหลังแรก ซึ่งคิดเป็นประมาณ 90% ของธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัยตามข้อมูลปี 2565 จะยังคงอยู่ที่ 0% และ 5% ตามลำดับ
รัฐบาลลาวขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 1.3 ล้านกีบ/เดือน
รัฐบาลลาวได้เห็นชอบที่จะปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำรายเดือนจากปัจจุบัน 1.2 ล้านกีบเป็น 1.3 ล้านกีบ โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ เนื่องในวันแรงงานสากลการปรับขึ้นค่าจ้างมีเป้าหมายเพื่อบรรเทาความทุกข์ยากของชาวลาวจำนวนมาก ท่ามกลางค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ
นายกรัฐมนตรีสอนไซ สีพันดอน ซึ่งเป็นประธานการประชุมประจำเดือนของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25-26 เมษายน ได้สั่งการให้กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องติดตามว่า การขึ้นค่าจ้างสอดคล้องกับความเป็นจริงของสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบันอย่างไร
คำสั่งดังกล่าวมีขึ้นเพื่อตอบสนองต่อข้อเสนอของสหพันธ์แรงงานลาว (ซึ่งเป็นตัวแทนแรงงาน) เมื่อปีที่แล้ว โดยขอให้เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 1.5 ล้านกีบต่อเดือนเพื่อรับมือกับภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น แต่คำขอดังกล่าวถูกปฏิเสธโดยสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติลาว (ซึ่งเป็นตัวแทนของภาคธุรกิจ) ซึ่งกล่าวว่า การเพิ่มค่าแรงเป็น 1.5 ล้านกีบต่อเดือนจะส่งผลเสียต่อหลายธุรกิจ
นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้สั่งศึกษาในเชิงลึกเกี่ยวกับการขึ้นค่าจ้าง โดยให้รายงานผลให้รัฐบาลในไตรมาส 3 ปีนี้
การประชุมประจำเดือนของรัฐบาลยังได้รับรองยุทธศาสตร์สำคัญอื่นๆ อีก 9 ยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ โดยมาตรการแรกจะมุ่งเน้นไปที่การดำเนินโครงการของรัฐบาลที่มีความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ โดยเฉพาะมาตรการเพื่อเพิ่มรายได้ของประเทศ ควบคุมอัตราเงินเฟ้อ และป้องกันไฟป่าเนื่องจากการเผาพื้นที่การเกษตร หน่วยงานที่รับผิดชอบได้รับคำสั่งให้สร้างความตระหนักแก่สาธารณชนเกี่ยวกับไฟป่าและผลที่ตามมาของการเผาพื้นที่เกษตรกรรมเพื่อปลูกพืช ซึ่งมักทำให้เกิดไฟป่าในวงกว้าง
เอกสารฉบับที่สองเกี่ยวข้องกับผลการดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในไตรมาสแรกของปีนี้ รัฐบาลสั่งให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควบคุมราคาสินค้าในตลาดและดูแลอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราให้กลับสู่ภาวะปกติ โดยศึกษารายละเอียดโครงสร้างราคาและกำหนดมาตรการที่มีประสิทธิภาพเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้
สำหรับเอกสารอื่นๆได้แก่พระราชกฤษฎีกาเกี่ยวกับการจัดทำแผนงบประมาณของรัฐ พระราชกฤษฎีกาเกี่ยวกับกองทุนความปลอดภัยในการเดินรถ การเตรียมการสำหรับการเป็นประธานอาเซียนของลาวในปี 2567 ตลอดจนยุทธศาสตรและนโยบายอื่นๆ เกี่ยวข้องกับการเกษตร เนื่องจากรัฐบาลมีความกระตือรือร้นที่จะเพิ่มผลผลิตพืชผลและส่งเสริมการปศุสัตว์เพื่อการส่งออก
ทางรถไฟลาว-เวียดนามเริ่มก่อสร้างภายในสิ้นปีนี้
การก่อสร้างทางรถไฟที่เชื่อมเวียงจันทน์กับท่าเรือหวุงอางในจังหวัดห่าติ๋ญของเวียดนามอาจเริ่มได้ในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า จากการเปิดเผยของบริษัทพัฒนาโครงการ
“หากเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ การก่อสร้างอาจเริ่มได้ในช่วงปลายปีนี้หรือไตรมาสแรกของปีหน้า” นายจันทอน สิทธิไซ ประธานคณะกรรมการบริษัท Petroleum Trading Lao Public Company (PetroTrade) ผู้พัฒนาโครงการรายงานต่อ นายคำพัน พรมทัด ประธานสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เมื่อเร็วๆ นี้
โดยคาดว่าส่วนแรกของทางรถไฟที่จะสร้างมีความยาว 139.18 กิโลเมตร ระหว่างชายแดนเวียดนามกับท่าแขก ซึ่งเป็นเมืองหลวงของแขวงคำม่วนตอนกลาง ส่วนเงินทุนคาดว่าจะมาจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศเพื่อก่อสร้างส่วนนี้ ขณะที่มูลค่าของรถไฟทางเดี่ยวระยะทาง 554 กิโลเมตร เวียงจันทน์-หวุงอาง คาดว่าจะสูงถึง 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ
มีการศึกษาความเป็นไปได้ของรถไฟพลังงานไฟฟ้า และผู้พัฒนาอยู่ระหว่างเสนอข้อตกลงสัมปทานกับรัฐบาลลาว เมื่อเดือนที่แล้ว นายจันทอนได้ลงนามในสัญญาร่วมทุนกับนาย Ho Minh Hoang ประธานคณะกรรมการบริษัท DEOCA Group Joint Stock Company of Vietnam เพื่อผลักดันการก่อสร้างทางรถไฟในเวียดนาม ซึ่งในส่วนนี้จะเชื่อมมูเกียในจังหวัดกว๋าง บิ่ญ กับท่าเรือหวุง อาง
ทางรถไฟเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Lao Logistics Link (LLL) ซึ่ง PetroTrade ได้รับไฟเขียวให้เป็นพันธมิตรกับรัฐบาลลาวและเวียดนามเพื่อพัฒนาและดำเนินการ
นายจันทอนได้ให้ข้อมูลอัปเดตเกี่ยวกับการพัฒนาล่าสุดเกี่ยวกับทางรถไฟแก่นายคำพันในระหว่างการเยี่ยมชม Vientiane Logistics Park ที่มีมูลค่า 727 ล้านดอลลาร์สหรัฐและท่าเรือบกท่านาแล้งในเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ LLL ด้วย
สำหรับท่าเรือบกซึ่งเปิดให้บริการในเดือนธันวาคม 2564 ได้รับการสนับสนุนทางการเงินบางส่วนจาก International Finance Corporation (IFC) ซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มธนาคารโลก
การจัดหาเงินทุนของโครงการ IFC แสดงให้เห็นถึงบทบาทที่สำคัญของท่าเรือบกและโครงการที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจลาว ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมการเชื่อมโยง
ด้านโลจิสติกส์ในภูมิภาค ท่าเรือบกได้เสริมโครงการอื่น ๆ ภายใต้ LLL ซึ่งรวมถึงนิคมโลจิสติกส์ที่วางแผนไว้ในคำม่วนและท่าเรือหวุงอาง
การขนส่งสินค้าผ่านทางท่าเรือ การขนส่งสินค้า ซึ่งรวมถึงสินค้าที่ขนส่งจากภาคอีสานของไทย จะสามารถเข้าถึงตลาดในภูมิภาคแปซิฟิก เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี จีนตอนใต้ รัสเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ โดยใช้ตัวเลือกที่คุ้มค่านี้ เมื่อสร้างเสร็จทางรถไฟสายเวียงจันทน์-หวุงอางจะเชื่อมท่าเรือบกท่านาแล้งในเวียงจันทน์ ซึ่งรองรับทางรถไฟลาว-ไทย และลาว-จีน ก็จะเชื่อมต่อกับเครือข่ายรถไฟระดับภูมิภาคที่วางแผนไว้ ซึ่งเชื่อมคุนหมิงกับสิงคโปร์ผ่านลาว ไทยและมาเลเซีย
ด้วยเครือข่ายรถไฟจีน-ยุโรป การขนส่งสินค้าจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถไปถึงตลาดยุโรปได้ภายใน 15 วัน ซึ่งสั้นกว่าเส้นทางเดินเรือซึ่งใช้เวลาประมาณ 45 วันย่างอมาก นายจันโทนกล่าวว่า โครงการ LLL มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงโลจิสติกส์ระดับภูมิภาคและระดับโลก ซึ่งจะหนุนเศรษฐกิจลาวอย่างมีนัยสำคัญ
“เมื่อโครงการ LLL ดำเนินการอย่างสมบูรณ์แล้ว จะสามารถขยายผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของลาวได้ประมาณ 20%”
กัมพูชาวางแผนสร้างมอเตอร์เวย์จากพนมเปญไปเวียดนาม
นายซุน จันทอล รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมของกัมพูชา กล่าวว่า การก่อสร้างมอเตอร์เวย์มูลค่า 1.6 พันล้านดอลลาร์จากเมืองหลวงพนมเปญไปทางตะวันออกเฉียงใต้ออกไปยังชายแดนเวียดนามจะเริ่มขึ้นในเดือนมิถุนายนปีหน้า จากการรายงานของสำนักข่าว Xinhuaตามแผนจะมีการสร้างถนนยาว 138 กิโลเมตรไปยังเมืองบาเวต ซึ่งเป็นเมืองชายแดนของกัมพูชา ที่อยู่ติดกับเมืองหม็อกบ่าย ของเวียดนาม ไปตามเส้นทางของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ขนาด 2 ช่องจราจร
ในขณะเดียวกัน เวียดนามจะสร้างมอเตอร์เวย์ระหว่างหม็อกบ่าย และนครโฮ จิ มินห์ ซึ่งนายจันทอลกล่าวว่า ทั้งสองโครงการจะแล้วเสร็จในต้นปี 2570
ถนนเส้นนี้จะเป็นมอเตอร์เวย์ที่ทันสมัยเส้นที่สองของกัมพูชา และเช่นเดียวกับเส้นแรก จะก่อสร้างโดย China Road and Bridge (CRBC) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ China Communications
ในปี 2565 กัมพูชาสร้างทางด่วนสายแรกเสร็จ ระหว่างพนมเปญและเมืองท่าพระสีหนุ มีความยาว 190 กิโลเมตร และมีมูลค่า 1.8 พันล้านดอลลาร์และใช้เงินจาก CRBC เพื่อแลกกับสัญญาสัมปทานระยะเวลา 50 ปี
เวียดนามพร้อมให้สิทธิประโยชน์นักลงทุนต่างชาติทดแทน Global Minimum Tax
เวียดนามจะเสนอสิทธิพิเศษมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้แก่ธุรกิจต่างชาติที่เข้าลงทุน หากมีการใช้อัตราภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลก(Global Minimum Tax) เพื่อคงผลประโยชน์ของนักลงทุนและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ นายกรัฐมนตรีมฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ กล่าวในการประชุมกับบริษัทต่างชาติที่ลงทุนในกรุงฮานอยเมื่อวันเสาร์(22 เม.ย.)
นายกรัฐมนตรีจิ๋งห์กล่าวว่า เวียดนามให้ความสำคัญเสมอกับการปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศและปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศในเชิงรุก รวมถึงข้อผูกพันเกี่ยวกับภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำระดับโลกที่ริเริ่มโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา
รัฐบาลสั่งการให้มีการทบทวนและส่งเสริมการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ นายกรัฐมนตรีจิ๋งห์กล่าว และว่า เวียดนามจะให้การสนับสนุนที่ไม่ใช่ภาษี(non-tariff) ซึ่งไม่ขัดต่อกฎระเบียบและพันธสัญญาระหว่างประเทศ และยังคงดูแลผลประโยชน์ของผู้เกี่ยวข้องและความเป็นธรรมให้กับธุรกิจต่างๆ
การสนับสนุนสิทธิประโยชน์อาจเกี่ยวข้องกับต้นทุนด้านที่ดิน วิทยาศาสตร์ และการเรียนรู้เทคโนโลยี การปฏิรูปการบริหาร ที่อยู่อาศัยเพื่อสังคม การฝึกอบรมทรัพยากรมนุษย์ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
นอกจากนี้ เวียดนามจะทบทวนและปรับปรุงกฎระเบียบและจัดทำโรดแมปในการปรับใช้ global minimum tax โดยเรียนรู้จากประสบการณ์ของประเทศอื่น ๆ และความเป็นจริงในเวียดนาม
รัฐบาลยังได้เสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติปรับปรุงนโยบายวีซ่า ขณะที่กฎระเบียบเกี่ยวกับความปลอดภัยจากอัคคีภัย ยา อุปกรณ์การแพทย์ และพลังงาน กำลังได้รับการทบทวนและแก้ไขด้วยเช่นกัน
นายกรัฐมนตรียังสั่งการให้มีการวิเคราะห์และประเมินตลาดโลกอย่างเข้มข้นและคาดการณ์ประเด็นสำคัญเพื่อจัดทำแผนรับมือที่เหมาะสม
ก่อนหน้านี้ในการประชุม ประธานคณะกรรมการประชาชนของนครโฮจิมินห์ ฟาน วัน มาย กล่าวว่า นโยบายภาษีสิทธิพิเศษของเวียดนามในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศยังไม่มีการพัฒนา ในขณะที่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเรียกเก็บภาษีขั้นต่ำทั่วโลกตั้งแต่ปีหน้า
โฮจิมินห์ มหานครทางตอนใต้ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ 4.33 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีทุนจดทะเบียนในภาคไฮเทคคิดเป็น 65%
อย่างไรก็ตาม โครงสร้างพื้นฐานและบริการในโฮจิมินห์ยังไม่ตอบสนองความต้องการของนักลงทุน และกำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนที่ดินเพื่ออุตสาหกรรม ในการดึงดูดโครงการขนาดใหญ่
โฮจิมินห์กำลังมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการจราจร โลจิสติกส์ พลังงานสีเขียว และระบบการศึกษานานาชาติ
ฟาน วัน มาย เสนอให้นายกรัฐมนตรีเร่งขจัดอุปสรรคในด้านการตรวจคนเข้าเมือง การนำเข้า-ส่งออก และการขอใบอนุญาตทำงาน
ในขณะเดียวกัน ฮานอยกำลังเร่งและพัฒนาคุณภาพของการวางแผนเพื่อขจัดอุปสรรคของนักลงทุนต่างชาติในด้านที่ดิน รองประธานคณะกรรมการประชาชนเทศบาล เหวียน มั่นห์ กวิ่ญ กล่าว
ฮานอย ซึ่งเป็นเมืองหลวงจะเร่งร่างกฎหมายทุนฉบับแก้ไขให้เสร็จและจัดทำรายชื่อโครงการเพื่อดึงดูดการลงทุน ขณะเดียวกันกำลังดำเนินการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม 4-5 แห่งในเมืองเพื่อดึงดูดนักลงทุนด้านเทคโนโลยีขั้นสูง
ณ วันที่ 20 เมษายน เวียดนามมีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มากกว่า 37,000 โครงการ มูลค่าเกือบ 445.9 พันล้านดอลลาร์ มีการเบิกจ่าย FDI เกิน 279.8 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นเกือบ 62.8% ของการลงทุนทั้งหมด
ในปีนี้ ปริมาณ FDI ทั้งหมดที่ไหลเข้าเวียดนามแล้วสูงถึงเกือบ 8.88 พันล้านดอลลาร์ โดยในจำนวนนี้มีการเบิกจ่ายไปแล้วประมาณ 5.85 พันล้านดอลลาร์
ผู้นำอาเซียนหารือร่างวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนปี 2045
การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 42 จะมีขึ้นในวันที่ 9-11 พฤษภาคม 2566 ที่เมืองลาบวน บาโจ จังหวัดนูซา เต็งการาตะวันออก ของอินโดนีเซีย โดยจะมีผู้นำของประเทศอาเซียนเข้าร่วม และจะหารือเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ที่อาเซียนสนใจร่วมกัน ภายใต้แนวคิด(Theme) การเป็นประธานของอินโดนีเซีย: “ASEAN Matters: Epicentrum of Growth” แถลงการณ์กระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียระบุขณะนี้ คณะทำงานระดับสูงว่าด้วยวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนหลังปี 2025 (High-Level Task Force on ASEAN Community Post-2025 Vision:HLTF-ACV) กำลังร่างวิสัยทัศน์อาเซียนหลังปี 2025(ASEAN Post-2025 Vision) ที่มุ่งสู่อาเซียนปี 2045 หรือ ASEAN 2045 ร่างวิสัยทัศน์นี้จะเป็นหนึ่งในหัวข้อหลักของการหารือในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 42
“ในระหว่างการประชุมผู้นำอาเซียน หรือการพบปะกับ HLTF-ACV ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 ผู้นำอาเซียนได้รับการคาดหวังว่าจะให้คำแนะนำเพื่อให้วิสัยทัศน์ของอาเซียนที่กำลังร่างอยู่ในขณะนี้เป็นการมองการณ์ไกล สร้างแรงบันดาลใจ ครอบคลุม แข็งแกร่ง และทั่วถึง” Teuku Faizasyah โฆษกกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียชี้แจง
หลังจากการให้คำแนะนำของผู้นำอาเซียน ร่างวิสัยทัศน์จะต้องได้รับการรับรองในหลักการโดยคณะมนตรีประสานงานอาเซียน ( ASEAN Coordinating Council :ACC) ระหว่างการประชุมในเดือนกันยายน 2566 ต่อจากนั้น คาดว่าร่างวิสัยทัศน์จะได้รับการรับรองในปี 2568
ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 42 ผู้นำอาเซียนได้รับการคาดหวังให้รับรองแถลงการณ์ของผู้นำอาเซียนเกี่ยวกับการพัฒนาของวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน หลังปี 2025 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการในการจัดทำวิสัยทัศน์หลังปี 2025 ของอาเซียน
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียกล่าวว่า ด้วยการรับรองนี้ ก็คาดหวังว่ากระบวนการร่างวิสัยทัศน์อาเซียนหลังปี 2025 จะได้รับการเสริมความแข็งแกร่ง และแน่ใจได้ว่าวิสัยทัศน์ของอาเซียนหลังปี 2025 เป็นวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ทะเยอทะยาน นำไปใช้ได้ และมียุทธศาสตร์อย่างแท้จริง