ThaiPublica > คอลัมน์ > ปีหน้า (2024)โลกน่าจะร้อนถึง 1.4-1.5 องศา… มาก่อนเวลาถึง 77 ปี!

ปีหน้า (2024)โลกน่าจะร้อนถึง 1.4-1.5 องศา… มาก่อนเวลาถึง 77 ปี!

15 มกราคม 2023


ประสาท มีแต้ม

ที่มาภาพ : https://www.weforum.org/agenda/2022/05/global-warming-earth-has-50-chance-of-exceeding-1-5-degrees-celsius-in-next-five-years-scientists-say/

เราทราบกันตั้งแต่ปี 2015 แล้วว่า องค์การสหประชาชาติได้รณรงค์อย่างหนักเพื่อไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของผิวโลกในปี 2100 หรือในอีก 77 ปีข้างหน้าสูงเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม แต่จู่ๆ ผมได้รับเอกสารทางวิชาการที่ผมเป็นสมาชิกทางอีเมลรายเดือนบอกว่า มีโอกาสเป็นไปได้ถึง 50% ที่อุณหภูมิโลกดังกล่าวจะถึง 1.4-1.5 องศาเซลเซียสในปี 2024 หรือในปีหน้านี่เอง คือมาก่อนเวลาที่เคยคาดไว้ถึง 77 ปี

เอกสารที่ผมกล่าวถึงเป็นบทความของ Dr. James Hansen นักวิทยาศาสตร์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีชื่อเสียงระดับโลกวัย 82 ปี ท่านเคยถูกตำรวจจับอย่างน้อยสองครั้งเพราะการประท้วงในเรื่องนี้ที่หน้าทำเนียบขาว ผลงานวิจัยและวิธีการนำเสนอของท่านเป็นไปอย่างง่ายๆ ซึ่งอดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา อัล กอร์ นักเคลื่อนไหวคนสำคัญของโลกได้นำไปเผยแพร่ต่ออยู่บ่อยๆ

เอกสารล่าสุดที่ผมนำมาใช้ในบทความนี้ก็เพิ่งออกเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2566 เมื่อผมได้อ่านแล้วรู้สึกตกใจ จึงต้องนำมาย่อยให้ง่ายกว่าเดิมและรีบเผยแพร่ต่อในทันที

สาระสำคัญของเอกสารชิ้นนี้ส่วนหนึ่งคือ “อุณหภูมิเฉลี่ยของผิวโลกปี 2023 จะสูงกว่าปี 2022” เท่านี้ยังไม่พอ ยังบอกต่ออีกว่า “ปี 2024 โลกจะร้อนกว่าปี 2023 และมีความเป็นไปได้ประมาณ 50% ที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะสูงถึง 1.4-1.5 องศาเซลเซียส”

ถามจริงๆ ครับ ถ้าผู้อ่านได้รับรู้ข้อมูลนี้เหมือนกับผมที่ผมได้รับรู้แล้ว ท่านจะตกใจไหม รวมทั้งท่านจะทำอะไรต่อไป

ความจริงผมเองได้รับทราบข้อมูลทำนองนี้มาก่อนแล้วว่า บางสำนักวิชาการที่ได้เกาะติดศึกษาและพยากรณ์เกี่ยวกับเรื่องโลกร้อนมาบ้างแล้ว แต่ผลการพยากรณ์ชิ้นก่อนๆ กำหนดว่าจะถึง 1.5 องศาเซลเซียสในอีก 3-4 ปี แต่เอกสารล่าสุดนี้คาดการณ์ว่าจะมาเร็วกว่านั้นอีก

ก่อนที่จะไปดูเหตุผลและคำอธิบายที่เกี่ยวข้อง เรามาดูข้อมูลและสถิติย้อนหลังของอุณหภูมิเฉลี่ยของผิวโลกที่สูงที่สุดหรือร้อนที่สุด 10 อันดับแรกกันก่อน ผมได้นำมาเขียนเป็นกราฟให้เห็นกันชัดๆ ดังภาพข้างล่างครับ

อุณหภูมิที่ว่านี้ (มีหน่วยเป็นองศาเซลเซียส) เป็นการเทียบกับอุณหภูมิเฉลี่ยในช่วง 1880-1920 ซึ่งเป็นยุคก่อนอุตสาหกรรมและหลังจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่งยุติได้ 2 ปี อนึ่ง ค่าอุณหภูมิดังกล่าวอาจจะแตกต่างจากแหล่งข้อมูลอื่นบ้าง เพราะเทียบกับอุณหภูมิของช่วงเวลาที่ไม่ตรงกัน บางรายงานเทียบกับช่วง 1850-2021 และบางรายงานก็จัดอันดับแตกกันบ้างเล็กน้อย แต่สาระสำคัญที่ตรงกันก็คือ อุณหภูมิเฉลี่ยของผิวโลกร้อนขึ้นในอัตราเร่ง ไม่ใช่ร้อนขึ้นในอัตราคงที่

จากข้อมูลในรูปดังกล่าว พบว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของผิวโลกที่ร้อนที่สุดจำนวน 10 อันดับนั้นเกิดขึ้นในช่วง 13 ปีที่ผ่านมานี้เอง โดยของปีที่ผ่านมา (2022) เท่ากับ 1.16 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอันดับที่ 5 (ร่วม) ค่อยๆ สังเกตนะครับว่า ของปี 2014 ร้อนกว่าของปี 2010, ของปี 2015 ร้อนกว่าของปี 2014 จนเราเกือบจะสรุปได้อย่างคร่าวๆและง่ายๆว่า “ปีหน้าจะร้อนกว่าปีนี้”

แต่ในความเป็นจริงแล้วหาได้เป็นเช่นนั้นเสมอไปไม่ เพราะมีเพียงปัจจัยเดียวที่ทำให้โลกร้อนขึ้นคือความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศที่ทำหน้าที่เป็น “ผ้าห่มโลก” นักวิทยาศาสตร์พบว่าประมาณ 80% ของก๊าซเรือนกระจกก็คือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเกิดจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล สมมติว่าในช่วงเวลาอันสั้นข้างหน้านี้ชาวโลกสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ แต่ความหนาของผ้าห่มโลกก็ยังคงเพิ่มขึ้นตลอดเวลา เพราะกระบวนการสลายตัวของก๊าซฯ ในชั้นบรรยากาศเป็นไปอย่างเชื่องช้ามาก

ถ้าอย่างนั้น ทำไมข้อสรุปที่ว่า “ปีหน้าจะร้อนกว่าปีนี้” จึงไม่เป็นความจริงเสมอไป

คำตอบก็คือ เพราะว่ายังมีปัจจัยสำคัญอื่นอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้อุณหภูมิของโลกในบริเวณกว้างเย็นลงก็ได้ หรือร้อนขึ้นก็ได้ สลับไปสลับมา นั่นคือปรากฏการณ์ที่เรียกว่าลานีญา (ได้เกิดติดต่อกันนาน 3 ปีเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ขึ้นศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา แต่มีความเป็นไปได้น้อยลงที่จะเกิดต่อไปหลังจากเดือนมีนาคม 2023) ระหว่างที่เกิดลานีญาจะทำให้อุณหภูมิลดลง 3-5 องศาเซลเซียส และยังมีปัจจัยที่ทำให้โลกร้อนขึ้นกว่าเดิมที่เรียกว่าเอลนีโญ ซึ่งปรากฏการณ์ทั้งสองอย่างนี้เกิดขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิกบริเวณเส้นศูนย์สูตรของโลก ปรากฏการณ์ทั้งสองนี้เกิดขึ้นบนความสัมพันธ์ระหว่างกระแสน้ำในมหาสมุทรและกระแสลมเหนือบริเวณตะวันออกของประเทศอินโอนีเซีย จนถึงประเทศเปรูทวีปอเมริกาใต้

ดังนั้น แม้ว่าอิทธิพลของผ้าห่มโลกจะทำให้โลกร้อนเพิ่มขึ้นทุกปีก็จริง แต่หากมีปรากฎการณ์ลานีญาเกิดขึ้น ก็จะทำให้อุณหภูมิสุทธิของผิวโลกลดลงได้ ในทางกลับกัน หากเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญมาเสริม อุณหภูมิโลกก็จะยิ่งสูงมากขึ้นไปอีก

ผลการศึกษาในเอกสารชิ้นนี้ระบุว่าลานีญาน่าจะอ่อนตัวลงอย่างรวดเร็ว และจะเกิดเอลนีโญในครึ่งปีหลังของปีนี้และต่อเนื่องต่อไปถึงปี 2024 นั่นคือ จะเป็นอีกแรงหนึ่งที่จะมาเสริมให้อุณหภูมิของโลกสูงถึง 1.4-1.5 องศาเซลเซียส ในปี 2022 หากไม่มีความเย็นจากลานีโญมาดึงลง ก็อาจจะเกิน 1.3 องศาเซลเซียสไปแล้ว

ด้วยเหตุนี้ บทความของ Dr. James Hansen จึงมั่นใจว่า “ปี 2023 จะร้อนกว่าปี 2022 และ ปี 2024 จะร้อนกว่า ปี 2023” สำหรับประเด็นว่าจะร้อนขึ้นสักกี่องศา ผมเข้าใจว่าน่าจะมาจากการพยากรณ์จากข้อมูลในอดีตที่มีอยู่

คราวนี้มาลงรายละเอียดเพิ่มเติมว่า ความร้อนของโลกสูงขึ้นได้อย่างไร และมากน้อยแค่ไหน

ผมขอนำคำอธิบายของ Dr. James Hansen ซึ่งเคยพูดในรายการ TED Talk เมื่อปี 2012 มาสรุปอยู่ในภาพข้างล่างนี้

ตอบแบบตรงไปตรงมาว่า สาเหตุที่ทำให้โลกร้อนขึ้นก็เพราะพลังงานที่โลกได้รับจากดวงอาทิตย์มากกว่าพลังงานที่ออกไปจากโลก เราเรียกว่า “ความไม่สมดุลของพลังงานโลก (Earth’s Energy Imbalance)”

พลังงานที่ดวงอาทิตย์ส่งมาสู่โลกจะมาในรูปแสงซึ่งมีความร้อนเข้ามาด้วย แสงอาทิตย์มีลักษณะเป็นคลื่นที่มีความยาวคลื่นสั้น เมื่อแสงนี้มากระทบกับเมฆและก๊าซเรือนกระจก ส่วนหนึ่งจะสะท้อนกลับออกไป บางส่วนก็สามารถผ่านทะลุชั้นบรรยากาศลงมาถึงผิวโลกได้ แสงที่กระทบผิวโลกแล้วบางส่วนก็สะท้อนกลับ แต่ด้วยคุณสมบัติของคลื่นเมื่อสูญเสียพลังงานไปบางส่วนก็จะเปลี่ยนเป็นคลื่นที่มีความยาวคลื่นยาวมากกว่าเดิม คลื่นที่มีความยาวคลื่นมากกว่าเดิมจะถูกก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศขัดขวางไว้ ความร้อนจึงถูกกักเอาไว้ในชั้นบรรยากาศและในมหาสมุทรและอื่นๆ

ยิ่งความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น ความไม่สมดุลของพลังงานโลกก็ยิ่งมากขึ้น จากข้อมูลของ Dr. James Hansen พบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ความไม่สมดุลดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า

ความร้อนที่เกิดจากความไม่สมดุลของพลังงานโลกต่อตารางเมตรดูแล้วก็มีค่าเพียงนิดเดียว แต่เมื่อคิดรวมกันทั้งโลกก็เท่ากับความร้อนที่เกิดจากระเบิดนิวเคลียร์ที่ลงเมืองฮิโรชิมา 8 แสนลูก ทุกวัน ไม่มีวันหยุดเสาร์อาทิตย์หรือนักขัตฤกษ์

ที่กล่าวมาแล้ว ผมได้นำผลงานวิจัยที่เมื่อผมได้รับรู้แล้วก็ตกใจว่าที่มันมาเร็วกว่าที่เราเคยรับรู้มาเยอะเลย แล้วผมก็นำมาเรียบเรียงเพื่อเผยแพร่ต่อท่านผู้อ่านทั้งหลาย โดยผมเชื่อมั่นว่าความรู้ ความตระหนักของสังคมจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงนโยบายของรัฐบาลและวิถีชีวิตของผู้คนทั้งหลาย ผมมีความเชื่อมั่นว่าปัญหาโลกร้อนสามารถป้องกันได้โดยไม่ทำให้คุณภาพชีวิตเราต้องลำบากหรือลดลงแต่อย่างใด ด้วยการเลิกใช้พลังงานฟอสซิล แล้วหันมาผลิตไฟฟ้าด้วยโซลาร์เซลล์ ใช้รถยนต์ไฟฟ้าด้วยไฟฟ้าที่เราผลิตได้เอง แต่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันทำความจริงนี้ให้แพร่หลาย กว้างขวางโดยเร็ว ยิ่งช้า ความเสียหายยิ่งสูง และยิ่งป้องกันได้ยากมากขึ้นไปอีกนะครับ