ThaiPublica > Sustainability > Contributor > “แผนพลังงานชาติ” กับ “ประชาธิปไตยพลังงาน”

“แผนพลังงานชาติ” กับ “ประชาธิปไตยพลังงาน”

16 กันยายน 2021


ประสาท มีแต้ม

ที่มาภาพ : https://www.energynewscenter.com/

1. ความเป็นมา

ขณะนี้กระทรวงพลังงานกำลังจัดทำ “แผนพลังงานชาติ” ซึ่งเป็นการนำแผนพลังงานทั้งหมด 5 แผนมาบูรณาการให้อยู่ในแผนเดียวกัน คือ (1) แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (2) แผนพลังงานหมุนเวียน (3) แผนการอนุรักษ์พลังงาน (4) แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ และ (5) แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง โดยมุ่งสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065-2070 หรืออีกประมาณ 50 ปีข้างหน้า โดยจะจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน คาดว่าการศึกษานี้จะแล้วเสร็จในปี 2565 (จากการแถลงข่าว 4 สิงหาคม 2564) ผมจึงขอเสนอความคิดเห็นผ่านบทความนี้ด้วยคนนะครับ

แต่ก่อนจะพูดถึง “ประชาธิปไตยพลังงาน” ขออนุญาตพูดถึงปัญหาสำคัญของระบบพลังงานไทยก่อน

2. ปัญหาสำคัญของระบบพลังงานไทย 4 ประการ

โดยปกติเวลาใครคิดจะปรับเปลี่ยนสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เขาจะต้องเริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์สถานการณ์ที่เป็นอยู่ เพื่อค้นหาสาเหตุและปัจจัยของปัญหานั้น รวมถึงการคาดหมายสถานการณ์ใหม่ในอนาคต ซึ่งกระทรวงพลังงานคงได้ดำเนินการไปแล้ว ในที่นี้ผมคิดว่าปัญหาสำคัญ 4 ประการ ดังนี้

หนึ่ง การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่ได้ลดลงตามที่รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศใน “ข้อตกลงปารีส” เมื่อปี 2558 ว่า “จะลดการปล่อยลง 20-25% จากระดับที่ได้พยากรณ์ไว้ในอนาคตสำหรับกรณีปกติ ภายในปี ค.ศ. 2030” ซึ่งเป็นคำประกาศที่แปลกมาก เพราะไปอิงกับระดับในอนาคตที่ไม่แน่นอนแทนที่จะอิงกับอดีตที่ชัดเจนแล้ว แต่ในความเป็นจริงพบว่า

การปล่อยก๊าซฯ ในภาคพลังงานของไทยนอกจากจะไม่ได้ลดลงแล้ว ยังกลับเพิ่มขึ้นจาก 254.9 ล้านตันในปี 2558 เป็น 257.7 ล้านตัน ในปี 2562 (ก่อนการระบาดโควิด-19) หรือเพิ่มขึ้น 1.1%

หลังจากกระทรวงพลังงานแถลงข่าวการทำแผนได้ 5 วัน หน่วยงานขององค์การสหประชาชาติที่ชื่อว่า IPCC (คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) ได้ออกรายงานฉบับที่ 6 เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ซึ่งรวมถึงก๊าซอื่นๆ ที่นอกเหนือจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วย) ลงให้เหลือครึ่งหนึ่งภายในปี ค.ศ. 2030 และลดลงสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 หากชาวโลกไม่ร่วมกันทำเช่นนั้น อุณหภูมิของโลกจะสูงขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรมภายในอีก 10 ปีข้างหน้านี้ เร็วกว่าที่นักวิทยาศาสตร์ได้เคยคาดการณ์ไว้

  • คำเตือนสุดท้าย: วิกฤติสภาพภูมิอากาศที่ทุกคนต้องรู้จากรายงาน IPCC ฉบับที่6
  • นับถึงวันที่ 8 มิ.ย. 2564 ได้มีประเทศต่างๆ ประกาศเข้าร่วมโครงการตามข้อเสนอนี้แล้ว 137 ประเทศ โดยที่ 90% ของประเทศทั้งหมดนี้ได้ประกาศจะปล่อยสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 มีเพียง 3 ประเทศเท่านั้นที่ประกาศถึงปี 2060

    เหตุใดรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จึงได้ตกกระบวนประวัติศาสตร์ของชาวโลกที่ต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อเรื่องสำคัญนี้

    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เคยมีพระราชดำรัสในโอกาสวันเฉลิมพระชนพรรษาเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2532 ความตอนหนึ่งว่า

    “…แต่ก่อนเคยพูดถึงขั้นประเทศ เดี๋ยวนี้ถึงขั้นโลก ก็เป็นความรับผิดชอบที่เรามี ความจริงต้องพูดถึงขั้นโลก เพราะประเทศไทยนี้ก็เติบโตขึ้นมา จะมีหน้ามีตาในโลกว่าเป็นประเทศที่มีความมั่นคง เป็นประเทศที่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ เราจึงต้องมีความรับผิดชอบในโลกนี้มากขึ้น…”

    สอง ไทยเป็นประเทศที่ต้องนำเข้าพลังงานมานานแล้ว โดยที่สัดส่วนของมูลค่าพลังงานที่นำเข้าต่อมูลค่าพลังงานที่บริโภคขั้นสุดท้ายทั้งหมดในปี 2553 เท่ากับ 53% คือมีการนำเข้ามากกว่าที่มีเองภายในประเทศ แต่ได้ลดลงมาเหลือ 50% ในปี 2562 ดังนั้น วาทกรรมของผู้นำประเทศที่ว่า “เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ” หรือ “การพึ่งตนเองด้านพลังงาน”

    จึงเป็นสิ่งที่น่าตั้งคำถามว่ามีความมั่นคงจริงหรือ!

    ในปี 2562 ซึ่งยังไม่มีโควิด-19 มูลค่าการบริโภคพลังงานขั้นสุดท้ายเท่ากับ 2.15 ล้านล้านบาท คิดเป็น 13% ของจีดีพี ในจำนวนนี้เป็นค่าไฟฟ้า 699,020 ล้านบาท

    ที่มาภาพ : https://www.energynewscenter.com/

    สาม นโยบายพลังงานของไทยไม่มีความยืดหยุ่น(Flexibility)

    ความยืดหยุ่นหมายถึงความสามารถในการรับมือและปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงหรือภัยคุกคามได้ การระบาดของโควิด-19 เป็นตัวอย่างที่ดีของภัยคุกคามที่กำลังเกิดขึ้น ส่งผลให้ความต้องการใช้พลังงานลดลง แต่สัญญาที่รัฐบาลได้ทำไว้กับบริษัทเอกชน ไม่ว่าจะเป็นกรณีโรงไฟฟ้าหรือกรณีสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ เป็นแบบ “ไม่ซื้อก็ต้องจ่าย (take or pay)” ถือเป็นภาระรัดคอที่ไม่ทราบว่าจะแก้ไขอย่างไร

    ความจริงเรื่องนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดหมายเท่านั้นหรอก แต่ได้เกิดขึ้นมานานหลายสิบปีแล้ว กล่าวเฉพาะโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) หลายโรงแทบไม่ได้เดินเครื่องนานหลายปีแล้ว แต่ก็ได้รับ “ค่าความพร้อมจ่าย” รวมกันปีละหลายหมื่นล้านบาท ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าได้คาดหมายความต้องการใช้ไว้สูงกว่าความต้องการจริงมากเกินไป เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไปก็ไม่สามารถปรับตัวให้ยืดหยุ่นได้

    ถ้าใช้ข้อมูลเดือนกรกฎาคม 2564 ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ควบคุมระบบการผลิตทั้งประทศ พบว่า เรามีกำลังการผลิตสำรองถึง 53% แต่ถ้าใช้ข้อมูลของกระทรวงพลังงานเดือนมิถุนายน 2564 กำลังการผลิตสำรองสูงถึง 62% ในขณะที่ทาง IEA (หรือทบวงพลังงานสากล) แนะนำว่าระดับสำรองมาตรฐานสากลควรจะอยู่ที่ 10-15% เท่านั้น

    ในเรื่องการไม่มีความยืดหยุ่นในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงหรือมีภัยคุกคาม ไม่ได้เกิดขึ้นแต่อุตสาหกรรมไฟฟ้าในประเทศไทยเท่านั้น จากการศึกษาของกลุ่ม RethinkX (เรื่อง Rethinking Energy, February 2021: Adam Dorr & Tony Seba) พบว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรก็มีปัญหา กล่าวคือ ผู้วางแผนได้ใช้หลักคิดว่าอัตราการใช้ประโยชน์ของโรงไฟฟ้าถ่านหินตลอดอายุโครงการเท่ากับ 85% ของศักยภาพของกำลังการผลิตติดตั้งและคงที่ตลอดอายุโครงการ ด้วยหลักคิดดังกล่าว ส่งผลให้ต้นทุนเฉลี่ยของค่าไฟฟ้าต่อหน่วยตลอดโครงการ (LCOE) ต่ำกว่าของโรงไฟฟ้าชนิดอื่นๆ แต่ในความเป็นจริงหาได้เป็นไปตามหลักคิดดังกล่าวไม่ เพราะเทคโนโลยีถ่านหินถูกคุกคามด้วยเทคโนโลยีใหม่ที่ดีกว่า มีความยืดหยุ่นมากกว่า

    อัตราการใช้ประโยชน์ของโรงไฟฟ้าถ่านหินในสหรัฐอเมริกาได้ลดลงจาก 67% ในปี 2010 ลงมาเหลือ 40% ในปี 2020 ทั้งนี้เพราะถูกคุมคามอย่างรุนแรงถึง 2 ครั้ง จาก 2 เทคโนโลยีใหม่ คือราคาก๊าซธรรมชาติที่ถูกลงมากด้วยเทคโนโลยีการเจาะก๊าซแบบใหม่ (fracking) และเทคโนโลยีร่วม 3 ตัวคือโซลาร์เซลล์ กังหันลม และแบตเตอรี่ (solar-wind-battery technology)

    สำหรับในประเทศสหราชอาณาจักรอัตราการใช้ประโยชน์ของโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ลดลงจาก 60% ในปี 2013 ลงเหลือ 8% ในอีก 6 ปีต่อมา และจะยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งหมดในปี 2025

    เรื่องความยืดหยุ่นในระบบพลังงาน เป็นหลักการสำคัญข้อแรกของหลักการ “ประชาธิปไตยพลังงาน (energy democracy)” ซึ่งมีทั้งหมด 5 หลัก (1F2E2L) แต่ในบทความนี้ผมไม่มีเนื้อที่พอที่จะอธิบายในรายละเอียดครับ จึงขอสรุปด้วยแผ่นภาพเท่านั้น

    อนึ่ง เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 64 องค์การ IEA ได้เผยแพร่รายงานผลการศึกษาร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เรื่อง “Thailand Power System Flexibility Study” นี่ย่อมเป็นการยืนยันว่าความยืดหยุ่นเป็นสิ่งสำคัญมากๆ

    แต่เท่าที่ผมได้ติดตามเอกสารที่เกี่ยวกับแผนพลังงานชาติที่กำลังยกร่างอยู่นั้น ผู้ร่างจะยึดหลัก “4D1E” ซึ่งไม่มี 2 หลักสำคัญของหลักประชาธิปไตยพลังงาน คือ “ความยืดหยุ่น” ซึ่งเป็นคำแนะนำที่กระทรวงพลังงานไปศึกษาร่วมกับ IEA และไม่มีคำว่า “ความเป็นธรรม” มีแต่เรื่อง “การลดคาร์บอนไดออกไซด์ (decarbonzisation)” ซึ่งได้ตั้งเป้าไว้อย่างล่าช้ามากๆ มาตรการที่ใช้ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ และ “การกระจายการผลิต (decentralization)” ซึ่งอาจจะไม่ใช่การควบคุมและเป็นเจ้าของโดยคนท้องถิ่น

    สี่ ไม่มีความเป็นธรรม ซึ่งผมขอรวบรัดไปไว้ในบทสรุปข้างล่างนี้

    3. สรุป

    เครือข่ายภาคประชาสังคมที่ชื่อว่า Thai Climate Justice for ALL ได้จัดเสวนาออนไลน์เรื่องโลกร้อน (28 สิงหาคม 2564) ผู้เข้าร่วมเสวนาท่านหนึ่งซึ่งมาจากสภาอุตสาหกรรมได้ให้ข้อมูลและเสนอความเห็นว่า เขาเป็นผู้ประกอบการที่สามารถผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์และแบตเตอรี่ได้ในราคาหน่วยละ 3 บาทเท่านั้น (ถูกกว่าที่คนไทยต้องซื้อ) ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วย ขอให้รัฐบาลแก้ไขระเบียบ (de-regulation) ให้ประชาชนสามารถติดตั้งโซลาร์เซลล์ได้สะดวกๆ หน่อย

    เพราะนี่คือความไม่เป็นธรรมที่ทำให้ผู้บริโภคจนลงๆ แต่เจ้าของโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในประเทศกลับร่ำรวยจนติดอันดับต้นๆ ของโลก ทั้งๆ ที่เทคโนโลยีใหม่ที่ทำให้ผู้บริโภคสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าเองได้เกิดขึ้นแล้ว แต่ก็ถูกรัฐบาลกีดกัน ประโยคสุดท้ายนี้ (ตัวหนา) เป็นคำพูดของผมเองครับ