ThaiPublica > คอลัมน์ > ออตโตมัน จักรวรรดิที่เราแทบไม่รู้จัก

ออตโตมัน จักรวรรดิที่เราแทบไม่รู้จัก

28 ตุลาคม 2023


1721955

เมื่อแพทย์หนุ่มผู้บ้าบิ่นเสียชีวิตลงในกรุงอิสตันบูล นักเรียนของเขาใช้วิธีที่ยังไม่ได้รับการยืนยันว่ามันจะได้ผล เพื่อสานต่อผลงานของแพทย์นอกรีตผู้ล่วงลับให้สำเร็จ และผลลัพธ์นั้นเลวร้ายเกินคาดหมาย Creature เป็นมินิซีรีส์ 8 ตอนจบของ Netflix จากตุรกีผลงานกำกับของ คาแกน เออร์มัก ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจาก Frankenstein นิยายสุดอมตะของ มารี เชลลีย์ แต่หนนี้วางเรื่องราวเอาไว้ในปลายยุคออตโตมัน

Creature เป็นเรื่องราวของซียา (ทาเนอร์ โอลเมซ) นักศึกษาแพทย์ผู้สนใจความรู้ทางวิทยาศาสตร์และการค้นพบใหม่ ๆ แม้จะหัวดีแต่เขาค่อนข้างหัวขบถและมีแนวคิดนอกรีต ซียามีพ่อเป็นหมอประจำหมู่บ้านทำให้ซียาอยากเดินตามรอยพ่อ เขาจึงเดินทางไปเรียนหมอที่อิสตันบูล แต่ก็พบว่าสถาบันการแพทย์แห่งนั้นไม่ยอมรับแนวคิดที่แปลกต่างออกไปเลย ขณะเดียวกันเขาได้พบกับ อิห์ซัน (เออร์คาน โคลซัก โคสเตนดิล) อาจารย์หมอผู้สำเร็จวิชาแพทย์มาจากฝรั่งเศส และมีแนวคิดหัวขบถเหมือนกัน สุดท้ายทั้งคู่ร่วมกันทำการทดลองนอกรีต คนที่คุ้นเรื่องราวของ Frankenstein ดีอยู่แล้วน่าจะคาดเดาได้ทันทีว่าพวกเขากำลังประดิษฐ์เครื่องจักรที่สามารถชุบชีวิตคนตายได้

นิยายของเชลลีย์ถือเป็นหนังสือที่ทรงอิทธิพลมากเล่มหนึ่ง เนื่องจากมันเล่นกับความกลัวของมนุษย์ เกี่ยวกับความลี้ลับทางวิทยาศาสตร์ที่คนเรายังไม่รู้ และภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นจากสิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์ แต่ในมินิซีรีส์ของ เออร์มัก ภายใต้ยุคสมัยแห่งออตโตมัน วิทยาศาสตร์และศาสนาเป็นของคู่กัน ตัวละครพูดถึงเครื่องจักรและศรัทธา ดังนั้นการตีความของซีรีส์นี้จึงน่าสนใจ แน่นอนว่าต้นฉบับเดิมก็มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับ “ผู้สร้าง” ดังที่หมอนอกรีตแฟรงเกนสไตน์เรียกศพมนุษย์ที่ถูกเขาปลุกชีพขึ้นมาว่า “creature”

คำนี้น่าสนใจมากเพราะสามารถตีความได้หลากหลาย เดิมที creature หมายถึง “สิ่งมีชีวิตที่พระเจ้าเนรมิตสร้าง” ดังในไบเบิลกล่าวว่า ‘พระเยโฮวาห์พระเจ้าทรงปั้นบรรดาสัตว์ในทุ่งนา และบรรดานกในอากาศจากดิน แล้วจึงพามายังอาดัมเพื่อดูว่าเขาจะเรียกชื่อพวกมันว่าอะไร อาดัมได้เรียกชื่อบรรดาสัตว์ที่มีชีวิตอย่างไร สัตว์ก็มีชื่ออย่างนั้น’ (ปฐมกาล 2:19) ในไบเบิลไม่ได้ใช้คำว่า “animal” สำหรับคำไทยที่แปลว่า “สัตว์” แต่ใช้คำว่า “creature” หรือ “สิ่งที่พระเจ้าทรงสร้าง” ปัจจุบันบางสำนักเลือกจะใช้คำว่า “สิ่งมีชีวิต” แต่ความหมายในยุคเราตอนนี้ได้กินความไปถึง “ตัวประหลาด” “เอเลี่ยน” และ “ทาส”

ซีรีส์จากตุรกี

Netflix ลงทุนสร้างซีรีส์ออริจอนลตุรกีมาตั้งแต่ปี 2018 นับตั้งแต่เรื่องแนวซูเปอร์ฮีโร่จากยุคโบราณ The Protectorที่มีถึง 4 ซีซั่น, ซีรีส์พีเรียดยุคอาร์ตเดโค 50s ใน The Club ที่กำลังสตรีมซีซั่น 2 อยู่ตอนนี้, ซีรีส์แนวตลกดราม่าอย่าง Man on Pause , ซีรีส์แนวดรม่าแฟนตาซีอย่าง The Giftที่มี 3 ซีซั่น ฯลฯ และแม้ตุรกีจะเป็นประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่นับถืออิสลาม แต่ตุรกีก็ค่อนข้างจะหัวก้าวหน้าและยอมรับความแตกต่างหลากหลายได้มากกว่ากลุ่มประเทศมุสลิมอื่น ๆ เช่น นักแสดงไม่ต้องคลุมฮิญาบ มีฉากดื่มเหล้าได้ มีเพลงหรือดนตรีประกอบ หรือจะแดนซ์ก็ยังได้ มีฉากวาบหวิวเล็ก ๆ น้อย ๆ บ้างก็ยังได้ด้วย ชายหญิงกอดกันได้

อย่างไรก็ตามคุณต้องรู้ก่อนว่าซีรีส์จากประเทศนี้ที่ฉายในตุรกียังคงมีการเซ็นเซอร์ โดยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังคงถูกเบลอในทีวี หรือแม้ว่าตัวละครจะแสดงเป็นคู่รักที่รักกันดูดดื่มแค่ไหน พวกเขาก็ยังห้ามจูบปากกันออกทีวี แน่นอนว่ามีฉากปากใกล้กัน แต่ห้ามประกบปากกัน อย่างไรก็ตามสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ข้อห้ามทางเน็ตฟลิกซ์ แล้วอันที่จริงการจูบกันในซีรีส์ผ่านจอทีวีของตุรกีนั้นเคยมีมาก่อน เพียงแต่พวกเขาต้องจ่ายค่าปรับสำหรับการละเมิดศีลธรรม และจะเกิดขึ้นในกรณีที่ซีรีส์เรื่องนั้นดังมาก ๆ จนกลุ่มแฟนรวมตัวกันจ่ายเงินค่าปรับเพื่อเรียกร้องให้ผู้กำกับทำฉากจูบออกมาในตอนจบ หรือไม่ก็จะมีการตัดต่อสองเวอร์ชั่น คือฉบับฉายทีวีฉากจูบจะถูกตัดข้ามไป แต่ฉบับสตรีมมิ่งจะไม่ถูกเซ็นเซอร์ใดใด ไม่ว่าการจูบหรือขวดเหล้า

อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะหัวก้าวหน้าขนาดไหน ตุรกียังคงไม่สามารถมีซีรีส์ LGBTQ ได้ อย่างกรณีฉาวในเดือนกรกฎาคม ปี 2020 เมื่อเน็ตฟลิกซ์ประกาศถอดการสร้างซีรีส์ If Only ก่อนการถ่ายทำไม่นานเนื่องจากในเรื่องมีตัวละคร LGBTQ หลังจากรัฐบาลตุรกีไม่อนุญาตให้ผลิตซีรีส์แนวนี้ โดยรองประธานพรรครัฐบาลตุรกีทวิตในเวลานั้นว่า “เชื่อว่าเน็ตฟลิกซ์จะแสดงความอ่อนไหวมากขึ้นต่อวัฒนธรรมและศิลปะตุรกี และให้ความร่วมมืออย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นด้วยในอนาคต”

สืบเนื่องมาจากในเดือนเมษายนปีเดียวกันนั้นเจ้าหน้าที่ศาสนาระดับสูงของตุรกีประกาศว่า “LGBTQ เป็นบ่อเกิดแห่งโรคร้ายแรง” ซึ่งต่อมามีการโพสต์ทวิตโดยหัวหน้าสภาเสี้ยววงเดือนแดงของตุรกี (Turkish Red Crescent องค์กรการกุศลแห่งโลกมุสลิมให้บริการด้านการแพทย์แก่ทหารในสนามรบ) ว่า “LGBTQ เป็นพวกใคร่เด็ก” ต่อมาในเดือนมิถุนายน โฆษกของประธานาธิบดีตุรกีก็ขานรับด้วยการออกสื่อว่า “LGBTQ เป็นเพียงการโฆษณาชวนเชื่อ และก่อให้เกิดภัยคุกคามร้ายแรงต่อเสรีภาพในการพูด” (เป็นเหตุเป็นผลกันตรงไหน งงมั้ย ตรรกะย้อนแย้งแบบ Doublethink ในโลกนิยาย 1984)

If Only เป็นเรื่องราวของคุณแม่ลูกแฝดที่เบื่อหน่ายกับการเป็นได้แค่เมียกับแม่ เหตุการณ์บางอย่างพาเธอย้อนเวลากลับไป 30 ปีก่อนตอนที่สามีเธอจะขอแต่งงาน ในเรื่องมีตัวละครเกย์ที่แม้ผู้สร้างจะยืนยันว่าในซีรีส์จะไม่มีฉากเลิฟซีนใดใดของตัวละครนี้ก็ตาม สุดท้ายเน็ตฟลิกซ์ก็ตัดสินใจระงับการสร้าง แม้ว่าการเป็น LGBTQ จะถูกกฎหมายตลอดประวัติศาสตร์ของตุรกีสมัยใหม่ แต่การต่อต้านอย่างเป็นทางการต่อชุมชน LGBTQ ได้เพิ่มมากขึ้นมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การเดินขบวน Istanbul Pride ที่เริ่มจัดมาตั้งแต่ปี 2003 ถูกแบนอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 8 ปีติดต่อกันนับตั้งแต่ปี 2015 โดยความพยายามล่าสุดในปี 2022 รัฐบาลถึงกับใช้แกสน้ำตาสลายการชุมนุมของชาวรักเพศเดียวกัน และมีผู้ถูกจับกุมมากถึง 373 คน

อย่างไรก็ตาม ต่อกรณี If Only ในปี 2020 ต่อมาในปี 2021 เน็ตฟลิกซ์แก้เกมด้วยการย้ายฐานการถ่ายทำทั้งหมดไปในกรุงมาดริด สเปน และปารีส ฝรั่งเศส แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น If I Had to Know ส่งกลับไปฉายทางเนตฟลิกซ์ตุรกี ส่วนประเทศอื่นรวมถึงไทยยังคงชื่อเดิมไว้คือ If Only โดยใช้มือเขียนบทคนเดิม ทีมงานเดิม และเนื้อเรื่องเหมือนเดิม แต่เปลี่ยนนักแสดงทั้งหมดเป็นชาวสเปน ที่ไม่มีปัญหาใดใดเรื่องการต่อต้าน LGBTQ อีกต่อไป

นอกจากการต่อต้านกันเองในประเทศแล้ว ยังมีกรณีที่ตุรกีเองก็เคยถูกต่อต้านจากซาอุฯ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2018 ช่อง MBC ของซาอุดิอาระเบียประกาศยกเลิกซีรีส์จากตุรกีทั้งหมดอย่างกะทันหัน บางเรื่องถึงขนาดตัดออกดื้อ ๆ กลางซีซั่น หลังจากตุรกีประกาศจุดยืนเคียงข้างกาตาร์ (เนื่องจากกาตาร์สนับสนุนกลุ่มความขัดแย้งบางกลุ่ม อาทิ Muslim Brotherhood กลุ่มอัลกออิดะห์ กลุ่มรัฐอิสลามISIS และฮามาส ส่งผลให้ซาอุฯประกาศคว่ำบาตรกาตาร์) และยิ่งร้าวฉานขึ้นไปอีกเมื่อมีนักข่าวชาวซาอุฯถูกอุ้มหายไปในอิสตันบูลเมื่อเดือนตุลาคมปีเดียวกันนั้น กลายเป็นดราม่าอยู่หลายปีจนปีที่แล้วเมื่อ 22 มิถุนายน 2022 ตุรกีกับซาอุฯสองชาตินิกายซุนหนี่ด้วยกันทั้งคู่เพิ่งจะกลับมาสานสัมพันธ์กัน แต่ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศก็เป็นไปอย่างซับซ้อนกระท่อนกระแท่นเมื่อตุรกีสนับสนุนยูเครน ในช่วงความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ผ่านมาไม่นานนี้ ไปจนถึงกรณีอิสราเอลกับปาเลสไตน์ในขณะนี้ที่ตุรกียังคงยืนยันจะอยู่ข้างกาตาร์(ขณะที่กาตาร์ยอมให้มีหน่วยงานของฮามาสอยู่ในประเทศ)

ออตโตมัน จักรวรรดิที่เราแทบไม่รู้จัก

อิสตันบูลเมืองหลวงของตุรกีในปัจจุบันนี้ เคยเป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิมุสลิมอันยิ่งใหญ่นามว่า “ออตโตมัน” จักรวรรดิที่มีสุลต่านเป็นผู้ปกครองนครรัฐ กินพื้นที่กว้างไกลตั้งแต่คาบสมุทรอาระเบีย ตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันออก ไปจดชายฝั่งแอฟริกาเหนือ ที่ปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่ของหลายประเทศ คือ ตุรกี กรีซ บัลแกเรีย อียิปต์ ฮังการี มาซิโดเนีย โรมาเนีย จอร์แดน ปาเลสไตน์ เลบานอน ซีเรีย อัลบาเนีย บอสเนียและเฮอร์เซโกวินา ไซปรัส อิรัก มอนเตเนโกร โคโซโว ยูเครน เยเมน แอลจีเรีย ตูนีเซีย อาเซอร์ไบจาน ลิเบีย เซอร์เบีย แต่ทำไมเรากลับแทบไม่ค่อยรู้จักเกี่ยวกับจักรวรรดิออตโตมันเลย

ออตโตมัน ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1299 และล่มสลายลงเมื่อมีการล้มล้างระบอบสุลต่านในปี 1922 (บ้างก็นับว่าปี 1924 เมื่อมีการยุบรัฐเคาะลีฟะฮ์ในปกครองของออตโตมัน) รวมเป็นเวลา 623 (หรือ 625) ปี ส่วนอิสตันบูล เดิมเคยมีชื่อว่า คอนสแตนติโนเปิล เคยเป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิโรมันในช่วงปี 330-395 (65 ปี) ที่สืบทอดเติบโตต่อมากลายเป็นจักรวรรดิไบเซนไทน์(หรือโรมันตะวันออก)ในช่วงปี 395-1204 (809 ปี) ก่อนจะกลายเป็นของจักรวรรดิละติน(หรือนครรัฐครูเสด)ในช่วงปี 1204-1261 (57 ปี) แล้วกลับมาเป็นของจักรวรรดิไบเซนไทน์อีกรอบในปี 1261-1453 (192 ปี) ก่อนจะถูกพวกชาวเติร์กตีแตกแล้วเปลี่ยนชื่อเป็น อิสตันบูล สถาปนาให้เป็นเมืองหลวงสุดท้ายของออตโตมันในปี 1453-1922 (469 ปี)

ฆ่าพี่น้อง

หนึ่งในประเด็นที่ถกเถียงกันหนักมากที่สุดในประวัติศาสตร์ออตโตมัน คือกฎว่าด้วยการฆ่าพี่น้อง พวกออตโตมันยุคเก่าเชื่อว่า “ราชอาณาจักรเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ทั้งหมด ทั้งคน ทรัพย์สิน และที่ดิน” ในบางยุคสุลต่านเลือกจะแบ่งประเทศของพระองค์ออกเป็น “ซันจ๊าก(แคว้นต่าง ๆ)” แล้วมอบอำนาจบริหารให้แก่ชะห์ซาด(เจ้าชาย)ของพระองค์ โดยจะส่งชะห์ซาดเหล่านี้ออกไปปกครองยังซันจ๊ากหัวเมืองต่าง ๆ ที่อยู่ในระยะห่างจากเมืองหลวงพอ ๆ กันทุกพระองค์ตั้งแต่ชะห์ซาดมีอายุครบ 12 ปี เพื่อป้องกันสงครามกลางเมือง แล้วหลังจากการตายของสุลต่านผู้พ่อ ชะห์ซาดองค์ใดกลับมาถึงเมืองหลวงก่อน ชะห์ซาดองค์นั้นจะได้สืบทอดตำแหน่งสุลต่างไปโดยปริยาย

อย่างไรก็ตามมีสุลต่านบางองค์เปลี่ยนกฎของตนเอง อาทิ สุลต่านฉายาผู้พิชิต เมห์เหม็ดที่ 2 ระบุในกฎมณเฑียรบาลของตนว่า “บุตรชายคนใดของข้าพเจ้าขึ้นครองบัลลังก์ ย่อมเป็นที่ยอมรับสำหรับเขาในการฆ่าพี่น้องของตนเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมของประชนส่วนใหญ่ อุลามะฮ์(ชื่อตำแหน่งที่ปรึกษาส่วนพระองค์และนักวิชาการมุสลิม) ได้อนุมัติเรื่องนี้แล้ว ขอให้ดำเนินการตามนั้นเถิด”

เพราะการแบ่งแคว้นการปกครองอาจทำให้รัฐอ่อนแอและปูทางไปสู่การล่มสลาย ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาทำให้สุลต่านเหล่านี้เรียนรู้ว่าจะเกิดการแย่งชิงบัลลังก์ทุกครั้งที่สุลต่านตาย ซึ่งตามมาด้วยการสู้รบนองเลือดทาแผ่นดินระหว่างประชาชนที่ลุกฮือขึ้นก่อกบฎภายใต้กองกำลังของชะห์ซาดแต่ละฝ่าย ดังนั้นการฆ่าพี่น้องจึงเป็นหนทางในการปกป้องราชบัลลังก์โดยไม่ต้องเสียเลือดเนื้อของประชาชนจำนวนมาก

อย่างไรก็ตามไม่ใช่จะฆ่าพี่น้องคนใดก็ได้ หากชาห์ซาดองค์นั้นไม่พยายามยุยงให้เกิดการจราจลก็ไม่สามารถฆ่าได้เนื่องจากละเมิดต่อกฎหมายมุสลิมในการลงโทษผู้บริสุทธิ์ “ให้ถือว่าบุคคลเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีความผิดตามกฎหมาย” โดยการตัดสินใจฆ่าชาห์ซาดองค์ใดให้ยึดแนวหลักการ “มัสลาฮะ (เพื่อผลประโยชน์ของสาธารณชน)” คือเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนมากกว่าประโยชน์ส่วนตน

และเหตุผลในการกำจัดเสี้ยนหนามนี้ อ้างอิงตามอัลกุรอ่านที่ระบุว่า ฟิตนะ (การก่อกบฎ หรือก่อความวุ่นวายในสังคม) เป็นความเลวร้ายยิ่งกว่าฆ่าคน ดังนั้นมันผู้ใดหือกบฎต่อวังหลวง จึงถือเป็นความเลวร้ายใหญ่หลวง สมควรถูกฆ่า เนื่องจากการกบฏเป็นความเลวร้ายกว่าการฆ่าคน อย่างไรก็ตามภายหลังอีกหลายปีต่อมากฎเหล่านี้ก็ถูกเปลี่ยนไปคงเหลือเพียงนำพี่น้องหรือพระญาติเหล่านั้นไปจำคุกไว้เท่านั้น

ท็อปคาปิ

Topkapi เป็นชื่อของพระราชวังหรือที่ประทับหลักของสุลต่านในอิสตันบูล ที่นี่นอกจากจะมีป้อมปราการคุ้มกันประตูทางเข้าออกแน่นหนาแล้ว ภายในยังมีห้องแสดงผลงานศิลปะ เครื่องราชบรรณาการที่ได้มาจากแคว้นในปกครองต่าง ๆ รวมไปถึงห้องสมุดขนาดใหญ่แล้ว
ส่วนหนึ่งของพระราชวังท็อปคาปิยังมีฮาเร็มอีกด้วย มันคือพื้นที่สงวนสำหรับบรรดาเมีย นางสนม และทาสรับใช้หญิง เพื่อรับใช้องค์สุลต่านโดยเฉพาะ และผู้ชายที่จะเข้ามาทำงานในฮาเร็มต้องเป็นขันทีเท่านั้น การมีห้องหับมากมาย พร้อมด้วยหญิงบำเรอกาม หลายคนอาจมองไปในทางสัปดน แต่แท้จริงเหตุผลคือเนื่องจากสุลต่านตกเป็นเป้าหมายในการถูกลอบสังหาร จึงจำเป็นต้องย้ายที่หลับนอนทุกคืนเพื่อความปลอดภัย และการสืบทายาทก็เป็นภารกิจสำคัญของบรรดาสุลต่านทุกพระองค์

การล่มสลายของจักรวรรดิออตโตมัน

นับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษ 1600 จักรวรรดิออตโตมันเริ่มสูญเสียอำนาจทางเศรษฐกิจและการทหารในการปกครองแถบยุโรป จนถูกเหยียดว่าเป็น “คนป่วยแห่งยุโรป” เนื่องจากเวลานั้นยุโรปมีความเข้มแข็งอย่างรวดเร็วในช่วงยุคเรอเนซองส์และยุครุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรม (เริ่มมีเครื่องจักรไอน้ำ มีไฟฟ้าใช้ สิ่งหนึ่งที่ระบุได้ว่าซีรีส์ Creature เป็นช่วงปลายยุคออตโตมันคือ ตัวเรื่องเล่าว่ามีไฟฟ้าส่องสว่างตามถนนยามค่ำคืน) รวมไปถึงปัจจัยอื่น ๆ เช่น ความเป็นผู้นำที่ไม่ดีและการต้องแข่งขันกับการค้าจากอเมริกาและอินเดีย ส่งผลให้จักรวรรดิออตโตมันอ่อนแอลง

ในปี1683 พวกเติร์กออตโตมันพ่ายแพ้ในยุทธการที่เวียนนา การสูญเสียครั้งนี้ทำให้สถานะของพวกเขาเสื่อมโทรมลง ตลอดร้อยปีถัดมา จักรวรรดิเริ่มสูญเสียดินแดนหลักไป หลังจากการก่อจลาจล กรีซได้รับเอกราชจากจักรวรรดิออตโตมันในปี 1830

ในปี 1878 สภาคองเกรสแห่งเบอร์ลินประกาศเอกราชของโรมาเนีย เซอร์เบีย และบัลแกเรีย กระทั่งในช่วงสงครามบอลข่านระหว่างปี 1912-1913 จักรวรรดิออตโตมันสูญเสียดินแดนเกือบทั้งหมดในยุโรป จนช่วงเริ่มต้นสงครามโลกครั้งที่ 1 จักรวรรดิออตโตมันก็ตกต่ำลงถึงขีดสุด

และแม้ว่ากองทัพออตโตมันจะเข้าสู่สงครามในปี 1914 โดยร่วมรบกับฝ่ายมหาอำนาจกลาง (เยอรมนี ออสเตรีย และฮังการี) แต่ก็พ่ายแพ้ในเดือนตุลาคม 1918 หลังการสงบศึกมูดรอส ดินแดนออตโตมันส่วนใหญ่ถูกแบ่งปันกันระหว่างอังกฤษ ฝรั่งเศส กรีซ และรัสเซีย
จักรวรรดิออตโตมันสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการในปี 1922 เมื่อตำแหน่งสุลต่านออตโตมันถูกล้มล้าง ตุรกีได้รับการประกาศเป็นสาธารณรัฐเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 1923 เมื่อนายทหารมุสตาฟา เกมัล อตาเติร์ก ได้สถาปนาสาธารณรัฐอิสระแห่งตุรกี จากนั้นเขาก็ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกของตุรกีตั้งแต่ปี 1923 จนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรมในปี 1938 ตุรกีก็ได้รับการพัฒนาและมีความเจริญทัดเทียมโลกตะวันตกอย่างรวดเร็ว

คนในยุคเรามักจะเข้าใจว่าออตโตมันเป็นจักรวรรดิยุคโบราณ ซึ่งก็ถูกในส่วนหนึ่ง แต่อันที่จริงมันเพิ่งจะล่มสลายไปหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 หรือเมื่อร้อยปีที่ผ่านมานี้เอง (หากจะนับแบบไทยก็คือล่มสลายราว 10 ก่อนที่ประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475)
อย่างไรก็ตามออตโตมันก็มักจะถูกเล่าผ่านหนังและซีรีส์ในช่วงอาณาจักรยุคโบราณ

ขณะที่ซีรีส์ Creature เซ็ตเรื่องราวทั้งหมดไว้ในปลายสมัยออตโตมัน อันจะเห็นความเจริญล้ำหน้าทางวิทยาศาสตร์ไม่น้อย ซึ่งหนึ่งในนั้นที่นับเป็นนวัตกรรมจากยุคออตโตมันอันเป็นหัวใจหลักของ Creature คือ อุปกรณ์ทางการแพทย์

คนที่ไม่รู้จักออตโตมันอาจจะมองว่าเรื่องใน Creature ฟังดูขี้โม้ แต่จริง ๆ แล้วการแพทย์ในยุคออตโตมันไม่ได้ด้อยไปกว่าใคร โดยเฉพาะเมื่อเรื่องเล่าว่าตัวละครผู้คิดค้นวิธีปลุกชีพนั้นได้ไปร่ำเรียนศาสตร์ทางการแพทย์มาจากฝรั่งเศส ก็ยิ่งสร้างความเป็นไปได้มากยิ่งขึ้น

การแพทย์ในสมัยออตโตมัน

พวกออตโตมันมีชื่อเสียงด้านความสำเร็จในทางศิลปะ สถาปัตยกรรม วิทยาศาสตร์ การแพทย์ และเทคโนโลยีหลายสาขา รวมถึงดาราศาสตร์(ที่ค่อนไปทางโหราศาสตร์) คณิตศาสตร์ อิสตันบูลและเมืองใหญ่อื่น ๆ ทั่วทั้งจักรวรรดิได้รับการยอมรับว่าเป็นศูนย์กลางทางศิลปะ (อันต่อยอดมาจากยุคไบเซนไทน์ มาผสมกับศิลปะแบบเรขาคณิตของชาวมุสลิมที่รักษาประเพณีการห้ามทำรูปเคารพ)โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัชสมัยของสุไลมานผู้เกรียงไกร หรือสุลต่านองค์ที่ 10 แห่งออตโตมัน ผู้ปกครองในช่วงปี 1520-1566 ซึ่งภายหลังดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในจักรวรรดิออตโตมันทางตะวันตก และในเปอร์เซียกับโมกุลอินเดียทางตะวันออก

รูปแบบศิลปะออตโตมันที่ได้รับความนิยมมากที่สุดบางรูปแบบ ได้แก่ การประดิษฐ์ตัวอักษร จิตรกรรม บทกวี สิ่งทอ เครื่องจักรไอน้ำ กลไกนาฬิกา การทอพรม เซรามิก ปืนยาวแบบอาคิวบัส ปืนคาบศิลา ปืนใหญ่ และการดนตรี สถาปัตยกรรมออตโตมันยังช่วยกำหนดวัฒนธรรมในยุคนั้นด้วย มัสยิดและอาคารสาธารณะอันประณีตถูกสร้างขึ้นในช่วงเวลานี้

วิทยาศาสตร์ถือเป็นสาขาวิชาศึกษาที่สำคัญ พวกออตโตมันเรียนรู้และฝึกฝนคณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ ปรัชญา ฟิสิกส์ ภูมิศาสตร์ และเคมีขั้นสูง นอกจากนี้ ความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดบางประการยังเกิดขึ้นโดยพวกออตโตมัน พวกเขาคิดค้นเครื่องมือผ่าตัดหลายอย่างที่ยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน เช่น คีม forceps, สายสวน catheters, มีดผ่าตัด scalpels, มีด lancets และคีมคีบก้ามปู pincers ฯลฯ

เชราเฟดดิน ซาบุนคูโอกลู (ค.ศ. 1385–1468) เป็นผู้เขียนแผนที่การผ่าตัดฉบับแรก และสารานุกรมทางการแพทย์ฉบับสุดท้ายจากโลกอิสลาม แม้ว่างานของเขาจะมีพื้นฐานมาจาก Al-Tasrif (สารานุกรมทางการแพทย์และการผ่าตัด) โดย อบู อัลกอซิม อัล-ซะรอวี (ค.ศ. 936-1013) เป็นหลัก แต่ของ ซาบุนคูโอกลู ก็นำเสนอนวัตกรรมมากมายของเขาเอง รวมถึงพวกออตโตมันยอมรับให้มีศัลยแพทย์หญิงด้วย ในขณะที่โลกมุสลิมอื่น ๆ ไม่ค่อยยอมรับบทบาทของผู้หญิงในอาชีพสำคัญ ๆ สักเท่าไร

ซาบุนคูโอกลู เป็นหนึ่งในคนกลุ่มแรก ๆ ที่อธิบาย เทคนิคการระบายน้ำออกจากสมองในเด็ก ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ เขาเป็นคนแรกที่ใช้เทคนิคการดึงแนวแกนสำหรับการผ่าตัดกระดูกสันหลัง นอกจากนี้ยังเป็นผู้บุกเบิกการใช้เฝือกไม้หลังการผ่าตัดมือ และเขายังบรรยายถึงภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ และวิธีป้องกันการเสียชีวิตของมารดาอีกด้วย

ในหนังจะเล่าถึงโรคระบาดหลายอย่าง อาทิ อหิวาตกโรค กาฬโรค และไข้ทรพิษ(โรคฝีดาษลิง) ในความเป็นจริง พวกออตโตมันเป็นผู้ค้นพบวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษได้ในช่วงไตรมาสแรกของศตวรรษที่ 18

(ซ้าย) ภาพสมัยออตโตมันเกี่ยวกับไข้ทรพิษ (ขวา) เลดี้ แมรี่ ภริยาฑูตจากอังกฤษ

บันทึกจากองค์การอนามัยโลก

คำชมเชยและเครดิตในด้านวิทยาศาสตร์มักตกเป็นของผู้ที่เผยแพร่สิ่งประดิษฐ์ ไม่ใช่ผู้ที่คิดค้นแนวคิดดังกล่าวมาก่อน ตัวอย่างเช่นในปี 1840 วอร์เรน เดอ ลา รู นักประดิษฐ์และนักเคมีชาวอังกฤษเป็นผู้สร้างหลอดไฟฟ้าดวงแรก อย่างไรก็ตาม เครดิตในเรื่องหลอดไฟกลับตกเป็นของ โธมัส เอดิสัน โดยเฉพาะวลีสุดเท่ที่โลกจดจำในเรื่อง “ความล้มเหลวหมื่นครั้ง คือการเรียนรู้” แต่แท้จริงเอดิสันเป็นเศรษฐีจากการเป็นนักจดสิทธิบัตร เขามีลูกจ้างช่วยคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ เขาจึงเป็นเจ้าของเครื่องใช้ไฟฟ้า นวัตกรรมใหม่ ๆ มากมาย และอันที่จริงในเรื่องหลอดไฟ เขาเป็นเพียงผู้วางกรอบการทำงาน ปรับปรุงการออกแบบ และเป็นพ่อค้าที่ทำให้หลอดไฟขายติดตลาดอย่างแพร่หลายเท่านั้นเอง

เครดิตในเรื่องไข้ทรพิษก็เช่นกัน เป็นเวลาหลายพันปี ไข้ทรพิษคร่าชีวิตผู้คนไปหลายร้อยล้านคน ไม่ว่าคนรวย คนจน คนหนุ่ม คนแก่ หรือทารก เป็นโรคที่ไม่แบ่งแยก มีแม้แต่คนดังอย่าง โมสาร์ท และอับราฮัม ลินคอล์น ก็ติดเคยติดเชื้อนี้

มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1 ใน 3 ของผู้ติดเชื้อ อาการของโรคฝีดาษลิงน่าสยดสยอง มีไข้สูง อาเจียน มีแผลในปาก ตามมาด้วยแผลที่เต็มไปด้วยของเหลวทั่วร่างกาย ความตายจะเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน บ่อยครั้งภายใน 2 สัปดาห์ และผู้รอดชีวิตอาจได้รับอันตรายถาวร เช่น ตาบอด ภาวะมีบุตรยาก ไข้ทรพิษเป็นโรคติดต่อและไม่ทราบวิธีรักษา นับตั้งแต่ 1,350 ปีก่อนคริสตศักราช โดยพบกรณีต่าง ๆ ในการศึกษามัมมี่ของอียิปต์

แนวทางปฏิบัติในสมัยโบราณเกี่ยวกับไข้ทรพิษ (Smallpox เดิมทีโรคนี้เรียกว่า Variola หรือ la variole จากคำละติน Varus แปลว่า ตุ่มตามตัว) มีการใช้กันอย่างแพร่หลายในเอเชียและบางส่วนของแอฟริกา คือการส่งเชื้อจากแผลไข้ทรพิษจำนวนเล็กน้อยไปให้กับคนที่มีสุขภาพแข็งแรง ส่งผลให้การเสียชีวิตมีอัตราต่ำลงกว่าการติดเชื้อตามธรรมชาติมาก คาดว่าวิธีนี้น่าจะเกิดขึ้นในช่วงราว 200 ปีก่อนคริสตกาล

ในจีนมีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรจากกลางทศวรรษ 1500 ว่าหมอจีนใช้วิธีแกะสะเก็ดแผลไข้ทรพิษเอามาตากแห้ง แล้วบด ก่อนจะเป่าพ่นเข้าไปในโพรงจมูก หรือคือการสูดรมควันจากการเผาสะเก็ดแผลป่น ในอินเดียใช้มีดหรือเข็มถ่ายโอนเชื้อไข้ทรพิษไปบนผิวหนังของเด็กที่มีสุขภาพดี(คล้ายการปลูกฝีในยุคปัจจุบัน) ในตะวันออกกลางและแอฟริกาบางพื้นที่ หมอผีจะกรีดฝีสด ๆ แล้วเอาหนองไปป้ายตามแผลของคนที่ยังไม่ติดเชื้อ แต่พบว่าวิธีนี้เป็นอันตรายมาก เพราะทำให้บางคนเสียชีวิต

Variolation (รูปแบบหนึ่งของการฉีดวัคซีน) ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในยุโรปโดย เลดี้ แมรี่ เวิร์ตลีย์ มองตากู ในปี 1721 หลังจากที่เธอได้สังเกตเห็นวิธีดังกล่าวที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในแพทย์จักรวรรดิออตโตมัน ซึ่งสามีของเธอประจำการอยู่ในฐานะเอกอัครราชทูตประจำตุรกี (บางตำราระบุว่าชาวเติร์กออตโตมันรู้จักวิธีนี้มาตั้งแต่ปี 1670)

จนกระทั่งเดือนพฤษภาคม 1796 มีการสาธิตวัคซีนตัวแรกของโลก โดยใช้หลักการเดียวกับการ Variolation แต่ใช้แหล่งเชื้อที่มีอันตรายน้อยกว่า นั่นก็คือ เชื้อฝีดาษวัว (Cowpox เชื้อฝีดาษที่ติดต่อจากวัวสู่คน) โดยผู้สาธิตคือ ดร.เอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ ฉีดให้กับเด็กชายอายุ 8 ขวบ เจมส์ ฟิบส์ ด้วยสารที่สกัดจากเชื้อฝีดาษวัวบนมือของซาราห์ เนลเมส สาวรีดนมวัวที่ติดฝีดาษมาจากวัว ผลปรากฏว่า เจมส์ มีไข้ต่ำ ๆ อยู่ไม่กี่วัน แต่ไม่ติดไข้ทรพิษ และมีภูมิคุ้มกันโรคนี้ อันต่อมาถูกพัฒนาเป็นการฉีดวัคซีนในปัจจุบัน Vaccine มาจากคำละติน “Vacca” แปลว่า “วัว”

ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อาร์เมเนีย

ท่ามกลางความซับซ้อนของความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ชาวไทยหลายคนโกรธและดราม่าอย่างยิ่งต่อกรณีกลุ่มฮามาสจากปาเลสไตน์บุกเข้าไปฆ่าชาวอิสราเอล และมีชาวไทยถูกฆ่าหรือถูกจับเป็นตัวประกัน แต่สิ่งที่ฮามาสกระทำเป็นการตอบโต้จากสิ่งที่อิสราเอลเคยบุกคร่าผลาญชีวิตมุสลิมชาวปาเลสไตน์นับพันนับหมื่นคนตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา รวมถึงการเข้าไปถือครองพื้นที่ของชาวปาเลสไตน์ หรือเรียกง่าย ๆ ว่าสิ่งที่ฮามาสกระทำเป็นการแก้แค้นต่อสิ่งที่ชาวยิวอิสราเอล(ที่มีอเมริกาหนุนหลัง)เคยกระทำเอาไว้

อย่างไรก็ตามเราต่างรู้ว่ายิวรอดจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในยุคนาซีเยอรมัน แต่ทุกวันนี้ ตอนนี้ ชาวยิวเองกลับกำลังทำสิ่งเดียวกันนั้นเอง ด้วยการพยายามจะฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซ่า ที่เรายกดราม่านี้ขึ้นมา เพราะตราบาปหนึ่งในสมัยออตโตมัน คือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอาร์เมเนียน ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเสมอ และมนุษย์ไม่เคยจดจำ ยังคงกระทำซ้ำ ๆ กัน แม้ว่าพวกเขาจะมีบทเรียนซ้ำแล้วซ้ำเล่า

การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอาร์เมเนียอาจเป็นเหตุการณ์ที่มีการโต้เถียงและน่าสยดสยองที่สุดที่เกี่ยวข้องกับพวกออตโตมัน ในสมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่งช่วงปี 1915 ผู้นำตุรกีได้วางแผนที่จะสังหารหมู่ชาวอาร์เมเนียที่อาศัยอยู่ในจักรวรรดิออตโตมัน นักวิชาการส่วนใหญ่เชื่อว่าชาวอาร์เมเนียประมาณ 1.5 ล้านคนถูกสังหาร เป็นเวลาหลายปีมาแล้วที่รัฐบาลตุรกีปฏิเสธความรับผิดชอบต่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แม้แต่ทุกวันนี้การพูดเกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอาร์เมเนียในตุรกียังถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

23 เมษายน 2015 ประเทศอาร์เมเนียมีการจัดพิธีรำลึก 100 ปีการถูกชาวเติร์กฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ในเวลานั้นพระสันตะปาปาฟรานซิส ประมุขนิกายโรมันคาทอลิก ระบุว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ครั้งแรกแห่งศตวรรษที่ 20 โดยพิธีนี้มีตัวแทนจากหลายสิบประเทศเดินทางมา รวมถึงประธานาธิบดีของรัสเซียและฝรั่งเศส

อย่างไรก็ตามดราม่าล่าสุดเกิดขึ้นในสมัยนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐคนปัจจุบัน เมื่อ 24 เมษายนปี 2021 อาร์เมเนียจัดพิธีรำลึกขึ้นอีกครั้ง เดิมทีประธานาธิบดีสหรัฐคนก่อน ๆ จะเลี่ยงไปใช้คำว่า “ภัยพิบัติครั้งยิ่งใหญ่” แทน เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับประเทศตุรกี แต่ในปีนั้น ไบเดน ประกาศแถลงการณ์ว่า “เหตุการณ์จักรวรรดิออตโตมัน(สาธารณรัฐตุรกีในปัจจุบัน)สังหารหมู่ชาวอาร์เมเนียเมื่อค.ศ.1915 เป็นเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์”

นับเป็นครั้งแรกที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯใช้คำดังกล่าวกับเหตุการณ์นี้ หลังคำแถลงการณ์ ประเทศตุรกีและประเทศอาเซอร์ไบจานต่างแสดงความคัดค้านอย่างรุนแรง และมีการประณาณต่อคำกล่าวของฝ่ายสหรัฐฯ ทั้งนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์สได้รายงานว่า คำกล่าวของนายโจ ไบเดน จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-ตุรกีที่ตึงเครียดอยู่แล้วนี้ ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

ต่อมารอยสเตอร์เผยด้วยว่าเมื่อวันที่ 23 เมษายน เพียงหนึ่งวันของคำแถลงการณ์ นายโจ ไบเดนได้คุยทางโทรศัพท์กับนายเรเจป ไตยิป แอร์โดอัน ประธานาธิบดีตุรกีในขณะนั้น อันเป็นเวลากว่า 3 เดือนหลังจากนายโจ ไบเดนขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพิ่งมีการพูดคุยทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีตุรกีเป็นครั้งแรก อันเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่เย็นชาระหว่างสองประเทศ

สาเหตุของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอาร์เมเนีย

ตลอดระยะเวลาของสาธารณรัฐตุรกี ตุรกียอมรับว่ามีชาวอาร์เมเนียล้มตายเป็นจำนวนมากในช่วงเวลาดังกล่าวจริง แต่ไม่ถึงล้านห้าคนดังที่อาร์เมเนียกล่าวอ้าง แต่เป็นจำนวนเพียงสามแสนคน และไม่ได้ตายด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่เป็นการต่อสู้กัน และอีกส่วนตายเพราะการความอดอยากในภาวะสงคราม ซึ่งมีการตายด้วยกันทั้งสองฝ่าย

อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอาร์เมเนีย เป็นการทำลายล้างอย่างเป็นระบบในจักรวรรดิออตโตมัน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยมีหัวหอกสำคัญเป็นคณะกรรมการปกครองของสหภาพและความก้าวหน้า (CUP) อันเนื่องมาจากก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่ 1 ชาวอาร์เมเนียได้ยึดครองพื้นที่ในสังคมออตโตมัน อันมีสาเหตุจาก 19 ปีในช่วง 1890 ถึงปี1909 จักรวรรดิออตโตมันประสบความพ่ายแพ้ทางทหารหลายต่อหลายครั้งและสูญเสียดินแดนโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อมาในสงครามบอลข่านในช่วงปี 1912-1913 ทำให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ผู้นำ CUP ว่าชาวอาร์เมเนียซึ่งปักหลักอยู่ทางตะวันออกของออตโตมัน ถูกมองว่าอยู่ใกล้ใจกลางของออตโตมันมากเกินไป และเป็นไปได้ว่าพวกอาร์เมเนียจะเรียกร้องเอกราช ในวันที่ 24 เมษายน 1915 ทางการออตโตมันจึงจับกุมและส่งตัวปัญญาชน รวมถึงผู้นำชาวอาร์เมนียหลายร้อยคนออกจากคอนสแนตติโนเปิล มีชาวอาร์เมเนียราว แปดแสนถึงล้านสองถูกฆ่าสังหารระหว่างการเดินทางขับไล่พวกอาร์เมเนียนออกไปยังทะเลทรายซีเรีย

เริ่มจากพวกผู้ถูกเนรเทศชาวอาร์เมเนียนถูกบังคับให้อดข้าวอดน้ำ ก่อนจะปล้น ข่มขืน และฆ่าอย่างโหดเหี้ยในทะเลทรายซีเรีย ต่อมามีการสังหารหมู่อีกระลอกกว่าสามแสนคนที่เหลือรอดชีวิตมาได้ในปี 1916 เหลือเพียงผู้หญิงและเด็กอาร์เมเนียนจำนวน แสนถึงสองแสน ถูกบังคับให้เปลี่ยนมานับถืออิสลาม และรวมเข้ากับครัวเรือนของชาวเติร์ก การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งนี้ทำให้อารยธรรมอาร์เมเนียมากกว่าสองพันปีสิ้นสุดลง

Creature. Erkan Kolçak Köstendil as İhsan in Creature. Cr. Courtesy of Netflix © 2023

ตลอดความยาว 8 ตอนจบของมินิซีรีส์ตุรกี Creature แสดงให้เห็นถึงภาพความเจ็บปวดจากความป่วยไข้ โรคระบาด ความตาย ภัยพิบัติ การต่อสู้ สงครามกลางเมือง แน่นอนว่ามนุษย์ล้มตายได้ง่าย ๆ จากเชื้อโรคที่อาจระบาดมาจากน้ำต้มไม่สุก และมนุษย์บางทีก็ตายเป็นจำนวนมากจากการระบาดด้วยโรคติดต่อที่มนุษย์ไม่เคยรู้ ไม่ว่าจากการโดนหนูกัด หรือแผลติดเชื้อพุพองน่าหวาดกลัว แต่ความตายด้วยการถูกฆ่า ไม่ว่าจะจำนวนนับล้านคนอย่างการสังหารหมู่ หรือเป็นเพียงการฆาตกรรมคนตายเพียงคนเดียว การฆ่าก็คือการฆ่า ย่อมเป็นความโหดเหี้ยมอันเป็นค่านิยมพื้นฐานที่ชาวโลกในปัจจุบันพึงตระหนัก

แม้มนุษย์จะรู้สิ่งนี้ลึกซึ้งดีอยู่แล้ว และมนุษย์มีบทเรียนมากมายในประวัติศาสตร์ แต่มนุษย์กลับไม่เคยหยุดฆ่ากันและกันตลอดประวัติศาสตร์มาจนทุกวันนี้…ทำไม