ThaiPublica > เกาะกระแส > “Digital Wallet”แจกเงิน 10,000 บาทเทียบการแจกคูปองของญี่ปุ่น

“Digital Wallet”แจกเงิน 10,000 บาทเทียบการแจกคูปองของญี่ปุ่น

23 ตุลาคม 2023


นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมหารือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ Digital wallet ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 1 กระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2566

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แถลงนโยบายรัฐบาลของต่อที่ประชุมรัฐสภาจัดระหว่างวันที่ 11-12 กันยายน 2566 ว่า มี 5 นโยบายเร่งด่วน โดยเป็นนโยบายระยะสั้น กระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการเติมเงิน 10.000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต( Digital Wallet) รัฐแจกเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัลให้คนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไปคนละ 10,000 บาทในเดือน ก.พ. 2024 ระยะเวลาใช้จ่าย 6 เดือน กำหนดให้ใช้จ่ายภายในรัศมีใกล้ที่อยู่อาศัย แต่ไม่สามารถใช้ซื้อสินค้าและบริการออนไลน์หรือแลกเป็นเงินสดได้(วงเงิน 560,000 ล้านบาท)และมีประชาชนไทย 56 ล้านคนได้ประโยชน์ ซึ่งคาดว่าจะกระตุ้นการบริโภคได้เศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้น 2-3%

ที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 มีมติมอบหมายให้นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการคลัง เป็นเจ้าภาพจัดประชุมหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สภาพัฒน์ฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษารายละเอียดของแนวทางในการดำเนินนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน ดิจิทัล วอลเล็ต ให้ชัดเจนแล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีโดยด่วน โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังได้จัดประชุมหารือ เพื่อพิจารณากำหนดแนวทางฯ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2566 และ 27 กันยายน 2566 โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในหลักการในการแต่งตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงาน รวม 4 คณะ ได้แก่ 1. คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ 2. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯ 3. คณะทำงานด้านตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการฯ และ 4. คณะทำงานด้านบริหารฐานข้อมูลโครงการฯ แต่ยังไม่มีข้อสรุปถึงแหล่งเงินที่จะนำมาใช้

  • เงินดิจิทัล 10,000 บาท ยังไม่เคาะ! – ยืมออมสินบางส่วน สัญญาใช้คืน 3 ปี
  • เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติแต่งตั้งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

    ต่อมาวันที่ 9 ตุลาคม 2566 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมกับนาย กฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง , นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง , นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง และนายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ร่วมกันชี้แจงความคืบหน้าของโครงการ ดิจิทัล วอลเล็ต ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 1 กระทรวงการคลัง หลังจากที่มีนักวิชาการและคณาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์กว่า 100 คน ลงชื่อไม่เห็นด้วยนโยบาย Digital Wallet

  • ‘เงินดิจิทัล’ ไม่ถอย โต้นักวิชาการทุกประเด็น ยันใช้งบฯปี’67 เป็นหลัก
  • แต่ปัจจุบันก็ยังไม่มีรายละเอียดออกมา แม้อาจจะมีแนวโน้มปรับเงื่อนไขบางข้อเช่น จำกัดการใช้จ่ายในรัศมี 4 กิโลเมตรตามที่อยู่ในทะเบียนบ้าง ต่อมาการประชุมครม. วันที่ 16 ตุลาคม นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “ผมขอแถลงหนเดียวดีกว่า และอธิบายครั้งเดียวให้จบ ทุกขั้นตอน มีคณะทำงาน คณะอนุกรรมการอยู่ ก็ไม่อยากจะพูดอะไรถ้ายังไม่เรียบร้อย”

    ล่าสุดวันที่ 23 ตุลาคมในระหว่างการตรวจเยี่ยมผลการดำเนินงานตามมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้เกษตรกรรายย่อยตามนโยบายรัฐบาล นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ในวันที่ 24 ตุลาคม จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการ ซึ่งหน่วยงานที่ได้รับมอบหมาย จะนำข้อเสนอในแต่ละประเด็นกลับมาให้ อนุกรรมการพิจารณา ก่อนจะส่งต่อไปยังคณะกรรมการนโยบายต่อไป

    พร้อมยืนยันว่าต้นแบบไม่ได้มาจากประเทศญี่ปุ่นตามที่พรรคก้าวไกลระบุ แต่ก็เคยดำเนินการในลักษณะคล้ายคลึงกัน เมื่อปี 1999 เป็นลักษณะของการแจกคูปอง

    ……

    เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์ในแอปฯ X (ทวิตเตอร์ส่วนตัว) ว่า “เจอแล้ว! ต้นกำเนิด digital wallet มาจากประเทศญี่ปุ่น

    วันก่อนคุณเผ่าภูมิแถลงว่า ใช้งานวิจัยตัวคูณของประเทศอื่นมาเทียบไม่ได้เพราะไม่เหมือนโครงการนี้ ที่ใส่เงื่อนไขใช้ในรัศมีจำกัด และใช้ได้ 6 เดือน เลยมีนักวิชาการส่งเปเปอร์มาให้

    เปเปอร์นี้ทำวิจัยกรณีของญี่ปุ่นในปี 1999 ที่แจกคูปอง 2 หมื่นเยน 31 ล้านใบให้ครอบครัวที่มีบุตร และผู้สูงอายุ คูปองใช้ได้เฉพาะร้านค้าในชุมชนเท่านั้น และมีอายุ 6 เดือน เหมือนเป๊ะ!

    ผลก็คือ ช่วยกระตุ้นการบริโภคสินค้ากึ่งคงทน (เสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก) ได้ 0.1-0.2 เท่าของเงินที่ได้เท่านั้น และไม่มีผลช่วยกระตุ้นการซื้อสินค้าไม่คงทน (อาหาร น้ำมัน) หรือสินค้าบริการได้เลย

    การจำกัดเวลาใช้จะมีผลก็ต่อเมื่อปกติคนซื้อของน้อยกว่านั้น แต่การใช้ให้หมดตามระยะเวลา ก็อาจไปลดการซื้อสินค้าในอนาคตอยู่ดี การจำกัดรัศมีการใช้จะมีผลก็ต่อเมื่อปกติคนซื้อของในชุมชนน้อยกว่านั้น ถ้าปกติใช้มากกว่าก็ไม่มีผล

    เราไม่จำเป็นต้องเชื่องานวิจัยก็ได้ค่ะ แต่ก็ไม่ควรพูดเรื่อยโดยไม่มีข้อมูลมายืนยัน และถ้ายังดึงดันทำต่อ ก็ขอให้ตั้งโครงการประเมินผล เก็บข้อมูลก่อน-หลังโครงการ เปิดเผยให้ประชาชนรับรู้ และรับผิดรับชอบกับผลของโครงการที่จะเกิดขึ้นด้วยค่ะ
    ……

    ย้อนดูญี่ปุ่นแจกคูปอง

    บทความงานวิจัยที่น.ส.ศิริกัญญา นำมาโพสต์มีชื่อว่า Did Japan’s shopping coupon program increase spending? ตีพิมพ์ใน Journal of Public Economics เมื่อปี 2010 งานวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจและสังคมแห่งสำนักงานคณะรัฐมนตรีของญี่ปุ่น(Economic and Social Research Institute of Japan’s Cabinet Office.)

    ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2542 ญี่ปุ่นมีการแจก “คูปองช้อปปิ้ง” จำนวน 31 ล้านใบ มูลค่าใบละ 20,000 เยน (ประมาณ 200 ดอลลาร์) ให้กับครอบครัวชาวญี่ปุ่นที่มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ซึ่งแต่ละครอบครัวจะได้รับคูปองหนึ่งใบสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีหนึ่งคน และแจกผู้สูงอายุในจำนวนที่มากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรผู้สูงอายุทั้งหมด โดยรวมแล้วมีการแจกจ่ายคูปองมูลค่า 620 พันล้านเยน (ประมาณ 6 พันล้านดอลลาร์) ให้กับผู้คน 31 ล้านคน และกำหนดว่าคูปองต้องใช้ในชุมชนท้องถิ่นของผู้รับเท่านั้นและคูปองจะหมดอายุหลังจาก 6 เดือน

    โปรแกรมการแจกคูปองนี้เสนอโดยโคเมโตะ (หนึ่งในสามพรรคในรัฐบาลผสม) เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2541 แต่ไม่ได้ระบุจำนวนเงินที่แน่นอนหรือใครจะมีสิทธิ์ ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ Nikkei ซึ่งโคเมโตะพรรคเสียงข้างน้อย บรรลุข้อตกลงโครงการแจกกับพรรคเสรีประชาธิปไตย(Liberal Democratic Party) ซึ่งเป็นพรรคแกนนำในรัฐบาลผสม เมื่อเดือนพฤศจิกายน

    คูปองนี้มีคุณสมบัติคือ “จะใช้หรือจะทิ้งไป” เหตุผลของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ออกคูปองลักษณะนี้ ก็คือ คุณลักษณะที่ต่างไปจากปกตินี้จะกระตุ้นการใช้จ่ายมากกว่าการลดภาษีแบบเดิมๆ

    โปรแกรมคูปองช้อปปิ้งมีการมองในวงกว้างในญี่ปุ่นว่าประสบความสำเร็จเล็กน้อยในการกระตุ้นการใช้จ่าย

    ในปีพ.ศ. 2552 หรือ 10 ปีต่อมา ญี่ปุ่นได้ดำเนินโครงการที่คล้ายกัน โดยคราวนี้มอบคูปองมูลค่า 12,000 เยนแก่ผู้อยู่อาศัยทุกคน (ไม่คำนึงถึงอายุหรือรายได้) และให้เพิ่มอีก 8,000 เยนสำหรับบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีหรือ 65 ปีขึ้นไป หน่วยงานท้องถิ่นยังจัดให้มีการซื้อคูปองกำหนดวันหมดอายุที่ชัดเจน แทนการลดภาษี

    ประเทศอื่นๆ ก็ให้ความสนใจจากการแจกคูปองช้อปปิ้งก่อนหน้านี้ของญี่ปุ่น ตัวอย่างเช่น ไต้หวัน ก็ได้แจกคูปองมูลค่าประมาณ 120 ดอลลาร์ให้กับพลเมืองทุกคนในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

    วัตถุประสงค์ของการศึกษาตามบทความนี้ คือ การวัดผลกระทบของโปรแกรมคูปองช้อปปิ้งปี 2542 ต่อการใช้จ่าย โดยใช้คุณสมบัติสองข้อของคูปองช้อปปิ้งข้อแรก ในกลุ่มประชากรที่ไม่ใช่ผู้สูงอายุ จำนวนคูปองที่ครอบครัวได้รับนั้นกำหนดโดยจำนวนเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีทั้งหมด ในการใช้ข้อนี้ การศึกษาได้วัดผลกระทบของคูปองต่อการใช้จ่ายกับข้อมูลระดับครัวเรือนจากข้อมูลแบบสำรวจรายได้และรายจ่ายของครอบครัว (Family Income and Expenditure Survey:FIES) ตั้งแต่ปี 1990 ถึง 1999 ซึ่งใช้ข้อมูลนี้เพื่อวัดว่าครอบครัวที่มีลูกมากเพิ่มการใช้จ่ายหรือไม่เมื่อได้รับคูปองมากกว่าครอบครัวที่มีลูกน้อย

    FIES ให้ข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับคุณลักษณะทางประชากร รายได้ และรายจ่ายสำหรับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นตัวแทนระดับประเทศจำนวน 8,000 ครัวเรือนในแต่ละเดือน ส่วนข้อมูลการบริโภครายเดือนรวบรวมจากไดอารี่ที่รวบรวมเดือนละสองครั้ง

    ข้อที่สอง ใช้ข้อมูลยอดขายปลีกรวมรายเดือนในแต่ละจังหวัดจากการสำรวจ Current Survey of Commerce ของญี่ปุ่น เพื่อวัดว่ายอดค้าปลีกเพิ่มขึ้นมากขึ้นในฤดูใบไม้ผลิปี 1999 (2542) ในจังหวัดที่ครัวเรือนส่วนใหญ่ได้รับคูปองหรือไม่ ซึ่งการใช้ยอดขายปลีกระดับจังหวัดมีข้อดีตรงที่ มีผลของคูปองต่อการใช้จ่ายของประชากรสูงอายุและครอบครัวที่มีบุตร

    การวิจัยที่ใช้ความแตกต่างของจำนวนเด็กในแต่ละครอบครัวและจำนวนผู้รับทั่วทุกจังหวัดเพื่อวัดผลกระทบของคูปองต่อการใช้จ่าย พบว่า…

    คูปองมีผลทางบวกต่อการใช้จ่ายในสินค้ากึ่งคงทนในเดือนที่มีการแจกคูปอง แต่มีผลเพียงเล็กน้อยต่อการใช้จ่ายในสินค้าที่ไม่คงทนหรือบริการ การประมาณการโดยใช้ข้อมูลระดับครัวเรือน (ซึ่งวัดเฉพาะคูปองที่แจกจ่ายให้กับครอบครัวที่มีเด็ก) ชี้ให้เห็นว่าแนวโน้มที่จะบริโภคเพิ่มขึ้น(marginal propensity to consume:MPC)ในสินค้ากึ่งคงทนอยู่ที่ 0.1–0.2 เมื่อมีการแจกคูปองในเดือนมีนาคม แต่เป็นศูนย์ในเดือนต่อๆ ไป

    รัฐบาลญี่ปุ่นยังได้ใช้แนวทางการแจกคูปองนี้กระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2015(2558) หลังจากที่เศรษฐกิจกลับมาตกต่ำอีกครั้งหนึ่ง GDP หดตัวติดต่อกันสองไตรมาสติดต่อกัน แต่คูปองที่แจกในรอบนี้ต่างจากคูปองที่แจกในปี 1999 เพราะเป็นคูปองส่วนลด(Discount Shopping Coupon Scheme) สำหรับการช้อปปิ้ง ที่ออกโดยรัฐบาลท้องถิ่น

    งานวิจัย Government’s Stimulus Program to Boost Consumer Spending: A Case of Discount Shopping Coupon Scheme in Japan ได้ศึกษาโครงการ Regional Consumption Stimulation and Life Support Program ของรัฐบาลที่มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ

    รัฐบาลญี่ปุ่นดำเนินโครงการ Regional Consumption Stimulation and Life Support Program ผ่านรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค แม้ริเริ่มโดยรัฐบาลกลาง แต่การตัดสินใจเกี่ยวกับรายละเอียดของการดำเนินการตามโครงการนี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลท้องถิ่น เพื่อให้สามารถปรับโครงการให้เหมาะสมกับบริบทของท้องถิ่นและมีความยั่งยืนมากขึ้น

    แต่ปรากฎว่ารัฐบาลท้องถิ่นแทบทั้งหมดใช้วิธีการเดียวกัน 96% ของรัฐบาลท้องถิ่นจึงได้ออกคูปองส่วนลดสำหรับการช้อปปิ้ง ผู้ที่ซื้อคูปองเหล่านี้มีสิทธิ์ได้รับส่วนลด 20% ตัวอย่างเช่น สามารถใช้คูปองเพื่อซื้อสินค้าราคา 1,250 เยน ในราคา 1,000 เยน

    โปรแกรมคูปองส่วนลดได้รับความสนใจอย่างมาก มีการขอคูปองชันมากกว่าคูปองที่มี ตามการประมาณการของสำนักงานคณะรัฐมนตรี การออกคูปองส่วนลดช้อปปิ้งช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 10.19 พันล้านเยน จังหวัดฮิโรชิม่าประกาศว่าการซื้อคูปองผ่าน e-money ของ HIROCA ส่งผลให้มีการบริโภคในท้องถิ่นเพิ่มขึ้น 1.5 พันล้านเยน

    จากการศึกษาโดยใช้จังหวัดฮิโรชิม่าเป็นตัวอย่าง เนื่องจากไม่มีจังหวัดอื่นที่มีฐานข้อมูลการซื้อคูปอง แต่ที่ฮิโรชิมามีการซื้อคูปองช้อปปิ้งส่วนลดผ่านโครงการเงินอิเล็กทรอนิกส์ HIROCA ของ HB และธนาคารได้เก็บรักษาข้อมูลที่จำเป็นทั้งหมดเกี่ยวกับการใช้ HIROCA ซึ่งได้นำมาใช้ในการศึกษานี้

    วัตถุประสงค์หลักของการศึกษาครั้งนี้คือ ระบุกลุ่มผู้บริโภคที่ตอบสนองต่อโครงการคูปองส่วนลดช้อปปิ้ง ผลการวิจัยพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นผู้หญิง วัยกลางคน แม่บ้าน ที่มีการศึกษาน้อยกว่า 16 ปี และมีรายได้และทรัพย์สินสูงกว่าค่าเฉลี่ย ซื้อคูปองส่วนลดช้อปปิ้งมากกว่า ค่าสัมประสิทธิ์ของแบบจำลอง probit IV บ่งชี้ว่า อายุมีความสัมพันธ์เชิงบวกแต่ไม่ใช่ทางตรงกับการซื้อคูปองช้อปปิ้งส่วนลด ซึ่งบ่งชี้ว่าคนวัยกลางคนมีแนวโน้มที่จะซื้อคูปองช้อปปิ้งส่วนลดมากที่สุด แม่บ้านซึ่งหมายถึงผู้หญิงที่แต่งงานแล้วแต่ไม่ได้ทำงาน ก็มีแนวโน้มที่จะซื้อคูปองช้อปปิ้งส่วนลดเช่นกัน การมีสินทรัพย์ทางการเงินในครัวเรือนที่สมดุลมากขึ้นยังเพิ่มความน่าจะเป็นในการซื้อคูปอง

    ความรู้ทางการเงินมีความสัมพันธ์เชิงลบกับการซื้อคูปองสำหรับผู้ตอบแบบสอบถามที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ในขณะที่รายได้ครัวเรือนแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงบวกสำหรับผู้ตอบแบบสอบถามวัยกลางคน ผลลัพธ์ที่ได้บอกเป็นนัยว่า

    โปรแกรมที่ออกแบบมาเพื่อยกระดับการบริโภคของผู้บริโภคอาจไม่มีประสิทธิภาพ หากใชัแบบครอบคลุมกับทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติ แต่ดูเหมือนว่าจะมีประสิทธิภาพเมื่อปรับให้เหมาะกับกลุ่มคนที่แตกต่างกันตามลักษณะทางประชากรและ/หรือเศรษฐกิจและสังคม

    ในช่วงการระบาดของโควิด นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ กล่าวระหว่างการประชุมใหญ่ของสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2564 ว่า รัฐบาลจะอนุญาตให้หน่วยงานท้องถิ่นแจกเงินจำนวน 100,000 เยน (ประมาณ 880 ดอลลาร์) ให้กับเด็กแต่ละคนเป็นเงินสดทั้งหมด แทนที่จะแจกเงินครึ่งหนึ่งและแจกคูปองอีกในจำนวนเงินที่เท่ากัน โดยจะเริ่มแจกในต้นปี 2565

    เดิมทีรัฐบาลได้วางแผนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสำหรับครัวเรือนที่ต้องเลี้ยงดูลูก โดยจะมอบเงินสด 50,000 เยน และคูปอง 50,000 เยน ให้เด็กอายุ 18 ปีหรือต่ำกว่าแต่ละคน คูปองนี้สามารถใช้ซื้อสินค้าที่ครัวเรือนต้องใช้ในการเลี้ยงดูลูก แต่ค่าใช้จ่ายในการจัดส่งคูปองถูกวิพากษ์วิจารณ์

    ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ หลายประเทศได้ดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ นักเศรษฐศาสตร์ก็ได้คิดและเสนอมาตรการทางเศรษฐกิจที่อาจช่วยให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน และหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยในระยะยาว ตัวอย่างเช่น โครงการคูปองส่วนลดสำหรับการช้อปปิ้ง ที่คาดว่าจะมีประสิทธิภาพในการเพิ่มการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศที่เศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งญี่ปุ่นได้นำมาใช้ในช่วงที่เศรษฐกิจซบเซาหลังจากฟองสบู่แตกในปี 2543

    นักเศรษฐศาสตร์ชี้ว่าความซบเซาทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นมีสาเหตุมาจากทั้งอุปสงค์และอุปทานที่ลดลง และทั้งในเศรษฐกิจจริงและภาคการเงิน ดังนั้น ญี่ปุ่นจำเป็นต้องมีการริเริ่มเชิงนโยบายที่มีประสิทธิภาพเพื่อเพิ่มทั้งอุปสงค์และอุปทาน