ThaiPublica > เกาะกระแส > ASEAN Summit 2019: ไทย-ญี่ปุ่น ส่งเสริม SMEs-Startups พร้อมเชื่อมอาเซียนบวกสามหุ้นส่วนความร่วมมือ

ASEAN Summit 2019: ไทย-ญี่ปุ่น ส่งเสริม SMEs-Startups พร้อมเชื่อมอาเซียนบวกสามหุ้นส่วนความร่วมมือ

4 พฤศจิกายน 2019


วันนี้ (4 พฤศจิกายน 2562) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พบหารือกับนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพค เมืองทองธานี สรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเยือนประเทศไทยในรอบ 6 ปี ยินดีที่อาเซียนและญี่ปุ่นบรรลุการเจรจาถ้อยแถลงร่วมของการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 22 ว่าด้วยความเชื่อมโยง พร้อมหวังว่าอาเซียนจะได้ร่วมมือกับญี่ปุ่นภายใต้ ASEAN Outlook on Indo-Pacific โดยเฉพาะในประเด็นการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ การเข้าถึงบริการทางการเงิน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการปกป้องสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงการจัดการขยะทะเล

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีขอให้ญี่ปุ่นสนับสนุนการส่งเสริมความเชื่อมโยง การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งชื่นชมญี่ปุ่นในฐานะประธาน G20 ในการจัดทำเอกสารผลลัพธ์สำคัญต่างๆ ของการประชุม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง G20 Principles on Quality Infrastructure Investment ซึ่งเป็นการส่งเสริมการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยง เพื่อสอดประสานข้อริเริ่มด้านความเชื่อมโยงทั้งระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาค

นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นชื่นชมบทบาทการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของไทย โดยเฉพาะบทบาทผู้นำของนายกรัฐมนตรีที่สามารถผลักดันให้บรรลุผลการประชุมที่สำคัญต่อการพัฒนาภูมิภาคประสบความสำเร็จ โดยญี่ปุ่นจะเดินหน้าร่วมมือกับไทยอย่างใกล้ชิดต่อไป รวมถึงความร่วมมือการแก้ไขปัญหาประเด็นท้าทายสำคัญในภูมิภาคด้วย

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีทั้งสองต่างยินดีต่อความร่วมมือในการส่งเสริม SMEs และสตาร์ทอัป โดยมีการการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างบริษัทขนาดใหญ่และสตาร์ทอัปของไทยและญี่ปุ่นจำนวน 6 ฉบับ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2562 เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจของทั้งสองฝ่าย และการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ในไทย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการจัดตั้งสตาร์ทอัปที่มีนวัตกรรมของรัฐบาลไทยภายใต้โครงการ InnoSpace (Thailand)

รวมทั้งความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น ในการพัฒนาประเทศที่สาม ซึ่งมีการลงนามบันทึกช่วยจำว่าด้วยกรอบความร่วมมือแบบหุ้นส่วนระหว่างญี่ปุ่นกับไทย ระยะที่สาม (Memorandum on Japan-Thailand Partnership Programme Phase 3) เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2562 เพื่อต่อยอดความร่วมมือที่มีอยู่ในด้านการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาในประเทศที่สาม โดยเฉพาะประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและอาเซียน โดยใช้ประสบการณ์ องค์ความรู้ และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศของไทยและญี่ปุ่น

นายกรัฐมนตรีทั้งสองฝ่ายยังได้หารือประเด็นความร่วมมือสำคัญๆ ในภูมิภาค เช่น ความร่วมมือภายใต้กรอบอาเซียนและกรอบ G20 ซึ่งไทยและญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพในปีนี้ ความร่วมมือภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) และกรอบลุ่มน้ำโขง-ญี่ปุ่น ความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายและโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) สถานการณ์ในรัฐยะไข่ และความร่วมมือด้านวัฒนธรรมและกีฬาระหว่างไทยกับญี่ปุ่น

ก่อนจบการหารือ นายกรัฐมนตรีได้อวยพรให้ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกในปี 2563 ไทยมุ่งเน้นส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาค และความยั่งยืนในทุกมิติ

ขออาเซียนบวก 3 หนุนตั้งสองศูนย์ในไทย

สำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 22 ศาสตราจารย์ ดร.นฤมล กล่าวสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

การประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 22 ประกอบด้วย 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐเกาหลี และญี่ปุ่น โดยจัดขึ้นเพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางความสัมพันธ์และความร่วมมือในกรอบอาเซียนบวกสาม โดยเน้นแนวคิด “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” ซึ่งเป็นแนวคิดหลักของการเป็นประธานอาเซียนของไทย และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ ที่เป็นข้อห่วงกังวลร่วมกัน

นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 22 ในนามรัฐบาลไทยและประชาชนชาวไทย พร้อมแสดงความเสียใจกับรัฐบาลและประชาชนชาวญี่ปุ่นที่ได้รับผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่นฮากิบิสเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยประเทศไทยหวังว่า จะสามารถฟื้นฟูพื้นที่และประชาชนที่ประสบภัยให้กลับคืนสู่สภาพเดิมโดยเร็ว

ความร่วมมือในกรอบอาเซียนบวกสามเป็นกรอบความร่วมมือที่มีพลวัตมากที่สุดกรอบหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน และเป็นเสาหลักที่สำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือเฉพาะด้าน รวมทั้งการสร้างแนวคิดการเป็นประชาคมในภูมิภาคอาเซียน เพื่อสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในทั้ง 13 ประเทศ ความร่วมมือดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการ 3 M ได้แก่ ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ผลประโยชน์ร่วมกัน และการเคารพซึ่งกันและกัน

ภายใต้กระแสความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายต่างๆ ในปัจจุบัน ทั้งการแข่งขันทางการค้า และการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม ที่เป็นผลมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 ซึ่งอาเซียนบวกสามจะต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ควรเตรียมความพร้อมให้อาเซียนบวกสามในการรับมือ และมุ่งมั่นที่จะสร้างโอกาสจากความท้าทายเหล่านั้น

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีเสนอแนวทางส่งเสริมความร่วมมือในกรอบอาเซียนบวกสาม 2 ประการ ได้แก่

ประการที่หนึ่ง ความเชื่อมโยงในภูมิภาค ไทยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาคอาเซียนและเอเชียแปซิฟิกมาโดยตลอด ซึ่งการส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงต่าง ๆ ของภูมิภาคจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกให้เป็นกลไกที่สำคัญของการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกและการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไปอย่างต่อเนื่อง

ประการที่สอง ความยั่งยืนในทุกมิติ ไทยในฐานะผู้ประสานงานของอาเซียนในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนขอให้ประเทศบวกสามสนับสนุนความมุ่งมั่นของอาเซียน โดยเฉพาะในการจัดตั้ง “ศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน” และ “ศูนย์อาเซียนเพื่อผู้สูงวัยอย่างมีศักยภาพและนวัตกรรม” ที่ประเทศไทย

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าความร่วมมืออาเซียนบวกสามจะเป็นกลไกสำคัญที่นำไปสู่การเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนร่วมกันของภูมิภาคเอเชียตะวันออก พร้อมขอบคุณประเทศสมาชิกอาเซียน จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี และสำนักเลขาธิการอาเซียน ที่มีส่วนช่วยสนับสนุนการเป็นประธานอาเซียนของไทยมาโดยตลอดทั้งปี