ThaiPublica > เกาะกระแส > เส้นทางใหม่กรุงเทพฯ-เซนได (ตอนจบ) สัมผัสวิถีธุรกิจอยู่ร่วมชุมชน ประวัติศาสตร์ที่สืบทอดรุ่นต่อรุ่น

เส้นทางใหม่กรุงเทพฯ-เซนได (ตอนจบ) สัมผัสวิถีธุรกิจอยู่ร่วมชุมชน ประวัติศาสตร์ที่สืบทอดรุ่นต่อรุ่น

29 กรกฎาคม 2019


ตุ๊กตาไม้ ของที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยว

  • ต่อจากตอนที่ 2
  • สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้ร่วมในคณะการบินไทยซึ่งนำโดยนายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เดินทางไปเซนไดเพื่อติดตามความคืบหน้าของการเปิดเที่ยวบินตรงเส้นทางใหม่กรุงเทพฯ-เซนได และสำรวจแหล่งท่องเที่ยวในเซนไดรวมทั้งภูมิภาคโทโฮคุในญี่ปุ่น และพบว่าภูมิภาคโทโฮคุที่ประกอบด้วย 6 จังหวัดทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นยินดีอย่างมากที่การบินไทยจะทำการบินไปเซนไดอีกครั้งหลังจากที่เลิกบินไปนานนับปี

    สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้มีโอกาสพูดคุยกับสมาคมท่องเที่ยว ผู้ประกอบการภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ สมาพันธ์โรงแรม รวมทั้งตัวแทนจากภาครัฐ ที่มาร่วมให้การต้อนรับคณะการบินไทย ณ โรงแรม ซากัง (Sakan) เรียวกังเก่าแก่มีอายุร่วม 1,000 ปี ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอะคิอุออนเซ็น (Akiu Onsen) ซึ่งทุกฝ่ายต่างเชิญชวนนักท่องเที่ยวไทยให้มาเยือนภูมิภาคโทโฮคุ เพื่อสัมผัสวิถีการอยู่ร่วมกันของธุรกิจและชุมชน ตลอดจนประวัติศาสตร์อันยาวนาน พร้อมกับการให้ข้อมูลของตัวแทนนำเที่ยวของไทยที่ทำหน้าที่ประสานงาน

    นายกเทศมนตรีเมือง นางโคริ คาสึโกะ ได้กล่าวขอบคุณนายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่ได้เดินทางมาเซนได ซึ่งเป็นการพบกับนายสุเมธอีกครั้งหลังจากที่ได้พบกันในกรุงเทพฯ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ และเป็นช่วงเวลาที่การบินไทยตัดสินใจที่จะบินมายังเซนไดในเส้นทางกรุงเทพฯ-เซนไดเดือนตุลาคมนี้

    “การเปิดเส้นทางกรุงเทพฯ-เซนไดครั้งนี้เป็นข่าวดีของทุกคนในเซนไดและทุกคนทั้งภูมิภาคโทโฮคุมีความยินดีที่ได้ยินข่าว ทุกๆ ปีเรามีการจัดงานเทศกาลขึ้นที่เซนได มีผู้คนที่สนใจจะไปเยือนเมืองไทยเข้ามาร่วมงานจำนวนมาก และปีนี้งานนี้ได้จัดขึ้นหลังการประกาศการบินเส้นทางตรงกรุงเทพฯ-เซนไดของการบินไทย เฉพาะวันอาทิตย์เพียงวันเดียวมีคนมาชมงานถึง 40,000 คน ทำให้เห็นถึงความคาดหวังและความสนใจของผู้คนที่มีต่อประเทศไทย” นางคาสึโกะกล่าว

    สำหรับแหล่งท่องเที่ยวในเซนไดมีมากมาย เช่น ออนเซนในเขตอะคิอุ รวมทั้งเจ้าแม่กวนอิมองค์ใหญ่ และมี Zuihoden สุสานดาเตะ มาซามุเนะ (Date Masamune) ผู้ก่อตั้งและเจ้าผู้ครองเมืองเซนไดคนแรกที่มีอิทธิพลมากในสมัยเอโดะ ก็อยากให้ทุกคนเพลิดเพลินกับการท่องเที่ยวเซนไดที่มียังมีธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ได้รับความประทับใจกลับไทยและช่วยกันเผยแพร่การท่องเที่ยวเซนไดกลับไปที่ไทย

    คาดนักท่องเที่ยวไทยเพิ่ม 2 เท่าใน 6 เดือน

    นายเกน อามาโน ผู้อำนวยการ สำนักงานท่องเที่ยวและวัฒนธรรมประจำเมืองเซนได

    นายเกน อามาโน ผู้อำนวยการ สำนักงานท่องเที่ยวและวัฒนธรรมประจำเมืองเซนได ให้ข้อมูลว่า ในปีก่อนมีนักท่องเที่ยวไทยมาเซนไดและภูมิภาคโทโฮคุจำนวน 12,000 คนแต่คาดว่าหลังจากการบินไทยทำการบินตรงเซนไดแล้ว ใน 6 เดือนแรกจะมีนักท่องเที่ยวไทยเพิ่มเป็น 25,000 คน และทั้งปีจะมีนักท่องเที่ยวไทย 50,000 คน

    ปัจจุบันนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเซนไดอันดับหนึ่งคือไต้หวัน อันดับสองคือ จีน อันดับสาม อเมริกา และอันดับสี่ ไทย

    ในปี 2013 การบินไทยได้ทำการบินกรุงเทพฯ-เซนไดมาแล้ว แต่บินได้เพียงไม่นานไทยเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศทำให้ต้องเลิกทำการบิน

    “ความสัมพันธ์ไทยกับญี่ปุ่นเหนียวแน่นมานาน และความสัมพันธ์ของไทยกับญี่ปุ่นไม่เคยเปลี่ยนแปลง แม้แต่ในช่วงที่ไทยมีปัญหาภายในประเทศ” นายอามาโนกล่าว

    นายอามาโนให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เซนไดเป็นเมืองที่มีประชากรกว่า 1 ล้านคน และมีแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่ง แต่ที่สำคัญเซนไดมีชื่อเสียงด้านเนื้อวัว เซนไดกิว ซึ่งติดอันดับทั้งในด้านคุณภาพระดับ A5 และระดับ B5 จากการจัดอันดับของ Japan Meat Grading Association ที่พิจารณาจากความสมดุลระหว่างสัดส่วนของเนื้อแดงและลายหินอ่อนหรือไขมันสีขาวที่แทรกอยู่รวมถึงความละเอียดแน่นของเนื้อ

    ในเซนไดมีโรงแรมมากกว่า 100 แห่ง มีออนเซนอีก 16 แห่ง แต่ในเขตอะคิอุออนเซน มีออนเซนที่มีชื่อเสียง 2 รายด้วยกัน คือ ซากัง ซึ่งใช้เป็นสถานที่ต้อนรับนายสุเมธและคณะการบินไทย และเรียวคุซุยเทอิ (Ryokusuitei) แต่ที่พิเศษคือ เรียวกังซากังแห่งนี้เคยใช้เป็นสถานที่ประชุมรัฐมนตรีคลังกลุ่มประเทศ G-7 และเจ้าหน้าที่ระดับสูง ในปี 2016 ซึ่งได้ใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจมากกว่า 2,500 คนดูแลความปลอดภัยในบริเวณรอบๆ

    ความรับผิดชอบต่อชุมชนยึดถือส่งต่อรุ่นต่อรุ่น

    นายคันซะบุโร ซาโต้ เจ้าของเรียวกังซากัง

    นายคันซะบุโร ซาโต้ เจ้าของโรงแรมซากัง เรียวกังเก่าแก่ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานสมาพันธ์โรงแรมเมืองบ่อน้ำร้อนอะคิอุด้วยนั้น เป็นหนึ่งในตัวแทนเซนไดที่เข้าร่วมต้อนรับนายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ตั้งใจผูกเนคไทที่ได้รับจากนายกสมาคมโรงแรมไทยในวันนี้ กล่าวว่า “วันนี้ผมได้ผูกเนคไทที่ได้รับจากนายกสมาคมโรงแรมไทย ที่แสดงให้เห็นถึงการผูก 2 อย่างเข้าด้วยกัน อยากจะให้ผูกสัมพันธ์กันระหว่างประเทศไทย ระหว่างการบินไทยกับเมืองเซนได”

    สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้ตั้งคำถามว่า เรียวกังของคุณมีอายุเก่าแก่ร่วม 1,000 ปี มีแนวทางรักษาโรงแรมอย่างไร ทำอย่างไรจึงรักษาโรงแรมมาได้นาน ซึ่งนายซาโต้กล่าวว่า ตนเองเป็นผู้สืบทอดรุ่นที่ 34 แล้ว ส่วนการรักษาดูแลเรียวกังให้อยู่มาได้เป็น 1,000 ปี คือ ปรับให้สอดคล้องกับแต่ละสมัยมาตลอดเวลา อะไรที่ไม่สอดคล้องกับแต่ละสมัยก็เลิกไป มีการนำสิ่งใหม่เข้ามา

    นายซาโต้กล่าวว่า เริ่มแรกเรียวกังซากังมีขนาดเล็ก เหมือนกับบ้านคนทั่วไป แต่ผ่านมาก็มีขนาดใหญ่ขึ้น และที่อยู่มาได้ถึง 34 รุ่น สิ่งที่ยึดถือกันมารุ่นต่อรุ่นสืบเนื่องคือความรับผิดชอบที่มีชุมชน เป็นสิ่งที่ยึดมั่นตลอดมา 34 รุ่น

    “เพราะเราอยู่ในชุมชนนี้ สำนึกต่อชุมชน สิ่งที่เราทำ เช่น ทุกปีจะเปิดให้เด็กๆ ในชุมชนได้มีโอกาสเข้ามาแช่บ่อน้ำร้อนภายในโรงแรมฟรีปีละ 1 ครั้ง 1 วันและสัมผัสกับโรงแรม ได้เห็นการทำงานของโรงแรม คนในชุมชนและเราเติบโตได้ด้วยกัน เรารู้สึกอย่างนั้น” นายซาโต้กล่าว

    นายซาโต้เล่าว่า ได้เคยมีโอกาสบรรยายให้กับคนไทยราว 30 คนได้ฟังว่าการที่ธุรกิจอยู่ต่อได้ถึงพันปีมีเคล็ดลับอย่างไร ในการสัมมนาพิเศษ 1 ชั่วโมง มีการให้ข้อมูลแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของโรงแรมให้กับนักธุรกิจไทย

    ปัจจุบันเรียวกังซากังเป็นกิจการของครอบครัวที่มี 143 ห้อง มีนักท่องเที่ยวไทยมาพักเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และโรงแรมค่อยๆ ขยาย ปัจจุบันมีสาขารวมกับแห่งแรกเป็น 6 แห่ง คือ 3 แห่งในเซนได 1 แห่งในมัตสึชิมา และทางใต้อีกแห่งหนึ่ง เป็นการเปิดบริการในชื่ออื่นแต่บริหารโดยครอบครัว

    ชาวซากาตะชวนเยือนเมืองเก่า

    โกดังซังเคียว (Sankyo) สถานที่ถ่ายทำละครชุดโอชิน และมีต้นเคยากิ อายุหลายร้อยปีที่ช่วยป้องกันความชื้น

    จากนั้นคณะการบินไทยได้เดินทางไปยังเมืองซากาตะ อำเภอหนึ่งในจังหวัดยามากาตะ (Yamagata) บ้านเกิดของโอชิน ที่มีแหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง เช่น โกดังซังเคียว (Sankyo) สถานที่ถ่ายทำละครชุดโอชิน ซึ่งเป็น ยุ้งข้าวแบบดั้งเดิมสร้างด้วยไม้ ไว้เก็บสินค้าเกษตรโดยเฉพาะข้าวรอส่งไปเมืองอื่น สร้างขึ้นกว่า 100 ปีตั้งอยู่ติดกับท่าเรือซากาตะ ปัจจุบันเหลือ 12 หลังแต่ยังใช้งานอยู่ 7 หลัง

    นายอิตารุ มารุยามะ นายกเทศมนตรีเมืองซากาตะ เชิญชวนให้มาท่องเที่ยวซากาตะ โดยเล่าว่าซากาตะเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ขึ้นชื่อในเรื่องอาหารญี่ปุ่น และอยากจะต้อนรับชาวไทยมาสู่เมืองซากาตะ เมื่อมีโอกาสมาท่องเที่ยวแล้ว ก็ให้นำความประทับใจไปเผยแพร่ให้กับชาวไทย ให้มาเที่ยวเมืองบ้านนอกอย่างซากาตะด้วย

    นายมารุยามะกล่าวว่า เมืองซากาตะอยากจะส่งเสริมการท่องเที่ยวให้คนรู้ว่าเซนไดมีอะไรน่าเที่ยวบ้าง เช่น โกดังข้าวซังเคียวเป็นโกดังที่สร้างมานานแต่ยังใช้อยู่ ด้านหลังของโกดังเรียงรายไปด้วยต้นเคยากิ (Japanese Zelkova) ต้นไม้ใหญ่ช่วยปรับอุณหภูมิ บังแสงแดด และป้องกันลมทะเล นอกจากนี้ การที่มีผลผลิตข้าวที่ดีก็ทำให้ผลิตสาเกได้คุณภาพ สาเกของที่นี่จึงมีชื่อมาก รวมทั้งยังมีผลไม้ เมลอน แตงโมที่มีคุณภาพ และยังมีหน่อไม้จากบริเวณเชิงเขาที่มีรสหวานธรรมชาติ ตลอดจนยังมีอาหารทะเลสด

    โรงผลิตวิสกี้ เมืองซากาตะ

    “คำพูดติดปากของชาวบ้านที่นี่ในขณะนี้คือ ต่อไปจะมีเครื่องบินมาลงที่นี่ ก็คาดว่าจะดึงนักท่องเที่ยวเข้ามา เดิมมีนักท่องเที่ยวจีน สิงคโปร์ เกาหลี เพราะคนไทยส่วนใหญ่ไปเที่ยว 3 เมืองหลัก ต่อไปน่าจะมีนักท่องเที่ยวไทยมากขึ้น และข่าวการบินไทยที่จะบินตรงทำให้ชาวบ้านเตรียมตัวทำธุรกิจและรองรับนักท่องเที่ยวแล้ว จากเดิมที่มองว่าเมืองอื่นมีนักท่องเที่ยว พอจะมีนักท่องเที่ยวเข้าเซนไดมากขึ้นก็ยินดี และสำหรับเมืองก็มีแผนที่จะปรับปรุงแหล่งออนเซน รวมทั้งจะมีโรงแรมใหม่ขึ้นอีก” นายมารุยามะกล่าว

    นายมารุยามะกล่าวว่า เมืองนี้มีแหล่งท่องเที่ยวเก่าแก่ แต่ยังไม่มีใครเห็นมากนัก คนไม่เห็นมาก็จะมองซากาตะว่าไม่มีอะไร ไม่มีที่ท่องเที่ยว แต่ซากาตะเป็นเมืองเก่าแก่ ติดต่อค้าขาย ส่งข่าวไปเมืองใหญ่ ประวัติศาสตร์ของเมืองคือจุดขาย ขายความเก่า

    หวังนักท่องเที่ยวกระจายทั่วโทโฮคุ

    นายโยชิโนริ กูมาไก เจ้าของโรงแรม Rich & Garden

    ต่อมานายโยชิโนริ กูมาไก เจ้าของโรงแรม Rich & Garden ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกสมาคมท่องเที่ยว ได้นำคณะการบินไทยมาเยี่ยมชมท่าเรือ ซึ่งใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมรับนักท่องเที่ยว ในช่วงที่ไม่มีเรือเข้าเทียบท่า โดยนายกูมาไกเล่าว่า ท่าเรือนี้ยังคงมีเรือประมงและเรือขนส่งสินค้าใช้งานตามปกติ แต่สามารถใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมรับนักท่องเที่ยวแบบหมู่คณะได้ โดยเฉพาะการรับประทานอาหารทะเลปิ้งย่าง เนื่องจากท่าเรือมีการจัดการเรื่องความสะอาด ทำให้ไม่มีกลิ่นอาหารทะเลตกค้าง พื้นไม่เปียก

    “ในนามสมาคมก็ส่งเสริมผู้ประกอบการมีการจับมือกันส่งเสริมการท่องเที่ยวญี่ปุ่น เช่น การจัดกิจกรรมให้นักท่องเที่ยว เพราะมีสถานที่ เช่น ท่าเรือ ที่จัดอาหารกลางวันให้นักท่องเที่ยว มีคุณป้าอายุสูงวัยมาคอยย่างอาหารทะเล เพราะจุดขายของที่นี่คืออาหารทะเล ท่าเรือที่นี่บรรยากาศดี เป็นจุดที่ส่งอาหารเข้าโอซากา เป็นท่าเรือที่สะอาดไม่มีกลิ่น คล้ายกับตลาดปลา แต่หน้าหนาวอากาศจะหนาวบ้าง ลมแรง ก็ย้ายไปในเมือง” นายกูมาไกกล่าว

    การที่ท่าเรือสะอาดไม่มีกลิ่น ไม่มีขยะหลงเหลือ คนเรือเป็นคนจัดการเพราะเข้าใจกฎระเบียบดี และเดือนหนึ่งอาจจะมาร่วมกันทำความสะอาดท่าเรือ

    นายกูมาไกกล่าวว่า ซากาตะเป็นเมืองระดับอำเภอ นักท่องเที่ยวเพิ่งจะรู้จัก แต่คนที่นี่ก็อยากให้นักท่องเที่ยวเข้ามา การประกอบอาชีพของคนที่นี่ส่วนใหญ่คือเกษตรกรรม เมืองซากาตะเป็นเมืองที่ข้าว (โกฮัง ในภาษาญี่ปุ่น) อร่อย ส่วนหนึ่งประกอบอาชีพประมงทำให้เป็นแหล่ง อาหารทะเลสด หรือไคเซน อีกทั้งยังมีของสดจากภูเขา คือ เห็ด หน่อไม้ ที่เป็นผลิตผลธรรมชาติ ทำให้ไม่ว่าจะฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง ซากาตะจะมีอาหารที่แตกต่างกันไป

    นายกูมาไกกล่าวว่า การประมงที่ซากาตะส่วนใหญ่เป็นประมงพื้นบ้าน ทุกวันเรือประมงออกเรือไปแบบไปเช้าเย็นกลับ ขึ้นอยู่กับคลื่น ถ้าคลื่นแรงก็งดออกเรือ โดยเฉพาะในเดือน 12 คลื่นแรงมาก ก็ทำเป็นการอนุรักษ์พันธุ์ปลาไปในตัว

    นายกูมาไกกล่าวว่า การเดินทางท่องเที่ยวในเซนไดมีความสะดวกมาก แม้จากสนามบินเซนไดใช้เวลาด้วยรถบัสราว 2.30 ชั่วโมง แต่ตลอดเส้นทาง นักท่องเที่ยวจะเพลิดเพลินกับแหล่งท่องเที่ยวสองข้างทาง เซนไดมีความพร้อมด้านแหล่งท่องเที่ยวรองรับนักท่องเที่ยวที่จะมามากขึ้นจากการทำการบินกรุงเทพฯ-เซนไดของการบินไทย ที่บินสัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน ภูมิภาคโทโฮคุจะได้ประโยชน์อย่างแน่นอน

    ปัจจุบันมีเที่ยวบินในประเทศมาซากาตะที่ใกล้ที่สุดจากฮาเนดะ แต่การลงที่สนามบินเซนไดจะสะดวกกว่า อีกทั้งการบินตรงจะถูกกว่ามาก นอกจากนี้ ทางการกำลังจะตัดเส้นทางใหม่ให้นักท่องเที่ยวสะดวกมากขึ้น ไม่ไกลจากท่าเรือซากาตะ

    สำหรับโรงแรม Rich & Garden ของนายกูมาไก เริ่มรับนักท่องเที่ยวไทยเมื่อ 4 ปีก่อน สาเหตุที่ตัดสินใจรับนักท่องเที่ยวไทยเพราะเห็นว่าในเขตภูมิภาคโทโฮคุที่ประกอบด้วย 6 จังหวัด มีนักท่องเที่ยวเข้ามีเพียง 2% ก็ต้องการทำตัวเลขให้เพิ่มขึ้นและอยากจะดึงนักท่องเที่ยวไทยมาตรงนี้ให้มากขึ้น และเมื่อมีเที่ยวบินตรงมาที่เซนได แม้ไม่ได้มาซากาตะ แต่ก็กระจายไปทุกจังหวัดในภูมิภาค

    ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญ-ร่วมมือ

    ในระหว่างการเดินทางสำรวจแหล่งท่องเที่ยวในภูมิภาคโทโฮคุ นางสาวรุ่งนภา คำพญา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เวิลด์โปร แทรเวิล ที่ดูแลการนำคณะสำรวจพื้นที่และประสานกับตัวแทนฝ่ายญี่ปุ่น ได้เล่าให้ฟังว่า สมาคมผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้และญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการกลับมาบินตรงกรุงเทพฯ-เซนไดของการบินไทยอย่างมาก มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อการประชาสัมพันธ์ให้กับคนญี่ปุ่น

    นอกจากนี้ นายกเทศมนตรี เจ้ามืองเซนได ซึ่งเป็นราชนิกุลได้ให้ความร่วมมือ ทำให้คนญี่ปุ่นที่จงรักภักดีต่อสถาบันก็มาให้การสนับสนุน

    “ญี่ปุ่นรักคนไทย วัฒนธรรมไทย ทำให้เกิดความประทับใจกับคนไทยอย่างมาก โดยเฉพาะช่วงที่ญี่ปุ่นประสบกับภัยพิบัติสึนามิปี 2013 ไทยเป็นชาติแรกๆ ที่ให้ความช่วยเหลือ”นางสาวรุ่งนภากล่าว

    ตั้งแต่เริ่มมีข่าวการบินไทยจะบินตรงกรุงเทพฯ-เซนได เอเจนต์จำหน่ายตั๋วเครื่องบินในญี่ปุ่นได้แสดงความต้องการตั๋วการบินไทยจำนวนมากแม้ยังไม่เปิดบินอย่างเป็นทางการ อีกทั้งยังมีการวางแผนนำนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นไปเที่ยวไทย ด้วยการบินตรงเข้ากรุงเทพฯ แล้วต่อเครื่องไปเชียงใหม่ ภูเก็ต โดยเฉพาะภูเก็ตเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่ญี่ปุ่นชื่นชอบ เพราะสามารถว่ายน้ำเล่นน้ำทะเลได้ ทะเลญี่ปุ่นเป็นน้ำเย็น น้ำลึก

    โดยเปรียบเทียบแล้วเซนไดเป็นการเที่ยวเมืองรอง เช่นเดียวกับไทยที่ส่งเสริมการเที่ยวเมืองรอง แต่เป็นเมืองรองที่รัฐบาลสนับสนุนให้โรงงานใหญ่ย้ายฐานการผลิตจากนาโกยามาที่เซนได เพื่อให้สร้างรายได้ให้กับภูมิภาคมากขึ้น จังหวัดมิยางิ มีแหล่งท่องเที่ยวสวยงามจำนวนมาก

    Ginzan onzen ในเมืองโอบานาซาวา

    สำหรับแหล่งท่องเที่ยวในโทโฮคุ ได้แก่ ยามากาตะ เป็นอาณาจักรน้ำพุร้อน ทุกหมู่บ้านในในยามากาตะจะมีน้ำพุร้อน แต่ละที่จะแตกต่างกัน ซึ่งแหล่งน้ำพุร้อนที่มีชื่อเสียงอีกแหน่งหนึ่ง คือ กินซังออนเซ็น (Ginzan onsen) ในเมืองโอบานาซาวา (Obanazawa) เมืองน้ำพุร้อนในหุบเขาที่มีประวัตินานนับพันปี มีเรียวกังอายุเก่าแก่สร้างมาตั้งแต่ปี 1868 มีการปรับปรุงมาต่อเนื่องเพื่อให้บริการ

    ยามากาตะยังเป็นแหล่งเชอร์รีที่อร่อยที่สุดในญี่ปุ่น เพราะเป็นแหล่งกำเนิดต้นพันธ์เชอร์รี ส่วนลูกแพร์ La France ของยามากาตะก็หอมนุ่ม

    นางสาวรุ่งนภายังได้นำคณะการบินไทยไปเยี่ยมชมสวนบลูเบอร์รี ชื่อกัสซังโคเคน เนื่องจากตั้งอยู่บริเวณเชิงเขากัสซัง ที่มีนายซูซูกิ วัย 79 ปีเป็นเจ้าของ ซึ่งนายซูซูกิเล่าว่า เริ่มทำสวนบลูเบอร์รีเมื่อ 39 ปีก่อน และได้เปิดนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมและเก็บบลูเบอร์รีเมื่อ 31 ปีก่อนเพื่อหารายได้เลี้ยงตัวในช่วงที่สวนยังไม่มีผลผลิตเพียงพอ

    นายซูซูกิ เจ้าของสวนบลูเบอร์รีออร์แกนนิค

    บลูเบอร์รี่

    สวนบลูเบอร์รีของนายซูซูกิมีเนื้อที่ 7 เฮกตาร์ เป็นที่ดินติดเขา ทำให้เป็นบลูเบอร์รีออร์แกนิกแท้ เนื่องจากในพื้นที่แห่งนี้ไม่มีโรงงาน จึงไม่มีมลภาวะ ดินดีน้ำดี ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีวิทยาศาสตร์ ใช้ปุ๋ยที่ผลิตเอง ตามสูตรเพื่อบลูเบอร์รีโดยเฉพาะ ไม่ต้องรดน้ำ เพราะดินกักเก็บน้ำจากน้ำใต้ดินที่ไหลผ่าน มีความชุ่มชื้น

    ฤดูเก็บเกี่ยวบลูเบอร์รีอยู่ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม ในช่วงเก็บเกี่ยวจะใช้คนงานในท้องถิ่นวันละ 20 คน เป็นการจ้างงานแบบชั่วคราว ส่วนการจำหน่ายปัจจุบันมีขายผ่านออนไลน์ สำหรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้าเก็บบลูเบอร์รี สวนคิดเงินคนละ 1,000 เยน

    นอกจากนี้ ในเมืองเซนไดยังมีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆ เช่น เจ้าแม่กวนอิมองค์ใหญ่ หรือเซนได ไดคันนอน ตั้งอยู่ทางเหนือของเมืองเซนได มีความสูง 100 เมตร สามารถเข้าไปภายในรูปปั้นได้ ภายในที่แบ่งออกเป็น 12 ชั้นมีพระพุทธรูป 108 องค์ประดิษฐานอยู่ รวมทั้ง Zuihoden สุสานดาเตะ มาซามุเนะ ผู้ก่อตั้งและเจ้าผู้ครองเมืองเซนไดคนแรก