ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup ลาวขึ้นภาษีสรรพสามิตคุมสินค้าฟุ่มเฟือยสกัดเงินตราต่างประเทศไหลออก

ASEAN Roundup ลาวขึ้นภาษีสรรพสามิตคุมสินค้าฟุ่มเฟือยสกัดเงินตราต่างประเทศไหลออก

22 ตุลาคม 2023


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 15-21 ตุลาคม 2566

  • ลาวขึ้นภาษีสรรพสามิตคุมสินค้าฟุ่มเฟือยสกัดเงินตราต่างประเทศไหลออก
  • บริษัทร่วมทุนเวียดนาม-ลาวได้รับอนุญาตให้พัฒนาโครงการทางรถไฟเชื่อมสองประเทศ
  • เวียดนามส่งออกแรงงานกว่า 110,000 คนในช่วง 9 เดือน
  • รถไฟขนส่งสินค้าาแบบควบคุมอุณหภูมิระหว่างจีน-เวียดนาม จีน-ลาว เริ่มให้บริการแล้ว
  • อินโดนีเซียขึ้นภาษีนำเข้านาฬิกา-จักรยาน-เครื่องสำอาง
  • นายกฯมาเลย์เสนอทำข้อตกลง FTA อาเซียน-จีซีซี ในที่ประชุม ASEAN-GCC
  • PIF-ARAMCO-SABIC เอกชนรายใหญ่ซาอุดีฯ พร้อมขยายการค้าและการลงทุนกับไทย
  • ลาวขึ้นภาษีสรรพสามิตคุมสินค้าฟุ่มเฟือยสกัดเงินตราต่างประเทศไหลออก

    ที่มาภาพ: https://kpl.gov.la/EN/detail.aspx?id=76827
    ประธานประเทศแห่งสปป.ลาว นายทองลุน สีสุลิด ได้ออกคำสั่งกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตให้สูงขึ้นสำหรับสินค้าบางประเภท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยเพื่อลดการไหลออกของเงินตราต่างประเทศ

    คำสั่งประธานาธิบดีซึ่งออกเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ได้ปรับเพิ่มภาษีสรรพสามิตสำหรับรถจี๊ปและรถเก๋งที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ยาสูบ น้ำอัดลมและสล็อตแมชชีน เครื่องเล่นเกม และอุปกรณ์การพนันทุกประเภทที่ต้องมีใบอนุญาต

    อัตราภาษีสรรพสามิตใหม่สำหรับรถจี๊ปและรถซีดานที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันเชื้อเพลิง กำหนดตามขนาดเครื่องยนต์ ดังนี้

      อัตรา 31% สำหรับรถยนต์ที่มีความจุเครื่องยนต์ไม่เกิน 1,000 ซีซี จากเดิม 25%
      อัตรา 41% สำหรับรถยนต์ที่มีความจุเครื่องยนต์ 1,001-1,600 ซีซี จากเดิม 30%
      อัตรา 56% สำหรับรถยนต์ที่มีความจุเครื่องยนต์ 1,601-2,000 ซีซี จากเดิม 35%
      อัตรา 66% สำหรับรถยนต์ที่มีความจุเครื่องยนต์ 2,001-2,500 ซีซี จากเดิม 40,
      อัตรา 82% สำหรับรถยนต์ที่มีความจุเครื่องยนต์ 2,501-3,000 ซีซี จากเดิม 45%
      อัตรา 127% สำหรับรถยนต์ที่มีความจุเครื่องยนต์ 3,001-4,000 ซีซี จากเดิม 70%
      อัตรา 200% สำหรับรถยนต์ที่มีความจุเครื่องยนต์ 4,001-5,000 ซีซี จากเดิม 85%
      อัตรา 220% สำหรับรถยนต์ที่มีความจุเครื่องยนต์ 5,00 ซีซี ขึ้นไป จากเดิม 90%

    สำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ยกเว้นเบียร์) ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์สูงกว่า 23% จะต้องเสียภาษีสรรพสามิตเพิ่มขึ้นจาก 70% เป็น 110% เครื่องดื่มที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ 10-23% จะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นจาก 60% เป็น 90% และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ไม่ถึง 10% จะต้องเสียภาษีสรรพสามิตเพิ่มเป็น 72%

    ปัจจุบันอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับเบียร์ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์มากกว่า 5% จะเป็น 70% ในขณะที่เบียร์ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ 0.5-5% จะต้องเสียภาษี 60%

    ภาษีสรรพสามิตบุหรี่เพิ่มขึ้นจาก 50% เป็น 72% และภาษีผลิตภัณฑ์ยาสูบอื่นๆ เพิ่มขึ้นจาก 35% เป็น 47% เครื่องดื่มที่ผ่านกระบวนการ เช่น น้ำอัดลมและโซดา จะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นจาก 5% เป็น 12% ในขณะที่ภาษีเครื่องดื่มชูกำลังจะเพิ่มขึ้นจาก 10% เป็น 17%

    คำสั่งประธานาธิบดียังกำหนดภาษีสรรพสามิตที่สูงขึ้นสำหรับเครื่องสล็อต เครื่องเกมทุกประเภท และอุปกรณ์การพนันทุกประเภทที่ต้องได้รับอนุญาต โดยเพิ่มจาก 35% เป็น 50%

    รัฐบาลลาวได้ออกมาตรการมากมายในการจัดการและรักษาเสถียรภาพทางการเงิน โดยเน้นไปที่การดำเนินนโยบายการเงิน ด้วยการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยพื้นฐาน อัตราส่วนเงินฝาก และการออกพันธบัตรของธนาคารแห่ง สปป. ลาว มูลค่า 9.5 ล้านล้านกีบ

    รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนในทิศทางที่ยืดหยุ่นมากขึ้น และจัดสรรทรัพยากรเงินตราต่างประเทศเพื่อนำเข้าเชื้อเพลิง ตั้งสายงานที่ธนาคารแห่ง สปป. ลาว เพื่อบริหารเงินตราต่างประเทศ และพยายามจัดตั้งสำนักงานตัวแทนของธนาคารแห่งประเทศลาว สปป. ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ 2 แห่ง แก้ไขกฎหมายว่าด้วยการบริหารเงินตราต่างประเทศ และยุติการต่ออายุใบอนุญาตประกอบธุรกิจและแลกเปลี่ยนเงินตราทั้งหมดเมื่อต้นปี 2566

    ในช่วง 2 ปีครึ่งที่ผ่านมา ปริมาณเงินหมุนเวียนขยายตัวเฉลี่ย 27.58% ต่อปี (ตามแผน 5 ปี ไม่เกิน 20% ต่อปี) อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยเพิ่มขึ้นที่ระดับ 18.24% ( แผน 5 ปีเฉลี่ยไม่เกิน 6%) อัตราแลกเปลี่ยนกีบต่อดอลลาร์อ่อนค่าลงเฉลี่ย 18.32% ต่อปี ซึ่งผันผวนเกินขีดกรอบที่กำหนด (แผน 5 ปีผันผวน ±5%)

    การระดมเงินฝากธนาคารเพิ่มขึ้นมาที่ 89.21% ของ GDP (แผน 5 ปี 60% ของ GDP ณ สิ้นปี 2568) สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 60.44% ของ GDP (แผน 5 ปี: 49% ของ GDP ณ สิ้นปี 2568) ส่วนอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLS) ของทั้งระบบธนาคารให้อยู่ในระดับเฉลี่ย 2.4% ภายในแผนที่กำหนด (แผน 5 ปี จะควบคุมที่ระดับเฉลี่ยไม่เกิน 3% ของยอดสินเชื่อรวม)

    บริษัทร่วมทุนเวียดนาม-ลาวได้รับอนุญาตให้พัฒนาโครงการทางรถไฟเชื่อมสองประเทศ

    ที่มาภาพ: https://vietnamnet.vn/lap-bao-cao-du-an-tuyen-duong-sat-vung-ang-tan-ap-mu-gia-2202642.html
    บริษัทร่วมทุนระหว่างผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเวียดนาม Deo Ca Group JSC และบริษัท Petroleum Trading Lao Public Company (PetroTrade) ได้รับอนุญาตให้พัฒนาโครงการทางรถไฟเชื่อมระหว่างทั้งสองประเทศ

    เหวียน กว่าง วินห์ ผู้อำนวยการทั่วไปของ Deo Ca Group JSC ประกาศว่า กระทรวงคมนาคมยอมรับข้อเสนอของกิจการร่วมค้าในการพัฒนาโครงการรถไฟหวุงอาง- มุซา ภายใต้รูปแบบความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP)

    กิจการร่วมค้าในฐานะผู้ลงทุนในโครงการจะต้องดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ล่วงหน้าและส่งรายงานการประเมินตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการลงทุน กฎหมายว่าด้วยรถไฟ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และแผนงาน

    โครงการรถไฟหวุงอาง-มูซา เป็นส่วนหนึ่งของทางรถไฟเวียงจันทน์ – หวุงอาง ซึ่งรวมอยู่ในแผนพัฒนาเครือข่ายรถไฟแห่งชาติในช่วงปี 2564-2573 โดยมีวิสัยทัศน์จนถึงปี 2593 มีความยาว 103 กิโลเมตร และคาดว่าจะมีมูลค่าลงทุนเกือบ 27.5 ล้านล้านด่อง (1.12 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ)

    โครงการนี้เป็นโครงการที่สำคัญ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟเวียดนาม-ลาวโดยรวม และเป็นหนึ่งในโครงการที่มีความสำคัญลำดับต้นๆของรัฐบาลเวียดนามและลาว

    ทางรถไฟเวียงจันทน์ – หวุงอาง มีความยาวรวม 554.7 กิโลเมตร จากท่าเรือหวุงอางในจังหวัดห่าติ๋ญทางชายฝั่งตอนกลางของเวียดนาม ไปยังเวียงจันทน์ เมืองหลวงและเมืองที่ใหญ่ที่สุดของลาว

    โครงการนี้จะถูกสร้างขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยมีการลงทุนรวม 149.55 ล้านล้านด่องเวียดนาม (6.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ)

    ท่าเรือหวุงอาง ปลายทางของทางรถไฟจะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศผ่านการแลกเปลี่ยนทางการค้าและการขนส่งทางทะเล โดยมุ่งเป้าไปที่ตลาดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย จีน สาธารณรัฐเกาหลี และญี่ปุ่น

    ตัวแทนจาก Deo Ca Group JSC ระบุว่า นอกเหนือจากทางหลวง การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ ถือว่าเป็นทิศทางใหม่ของธุรกิจในอีก 5-10 ปีข้างหน้า

    เวียดนามส่งออกแรงงานกว่า 110,000 คนในช่วง 9 เดือน

    ที่มาภาพ: https://en.vietnamplus.vn/over-110000-vietnamese-labourers-sent-abroad-to-work-in-nine-months/269797.vnp
    แรงงานเวียดนามมากกว่า 110,000 คนถูกส่งไปทำงานต่างประเทศภายใต้สัญญาจ้างในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 ซึ่งสูงกว่าประมาณการทั้งปี 1.37% และเพิ่มขึ้น 8.23% เมื่อเทียบเป็นรายปี ตามรายงานของกระทรวงแรงงาน คนพิการ และกิจการสังคม (Ministry of Labour, Invalids and Social Affairs:MoLISA)

    ในช่วงเดียวกัน คนงานที่กลับบ้านหลังจากหมดสัญญามีจำนวนเกือบ 79,000 คน ส่วนจำนวนคนงานที่ทำงานในต่างประเทศภายใต้สัญญาที่ถูกต้องมีมากกว่า 650,000 คน

    ทั้งนี้ คาดว่าเวียดนามจะส่งแรงงานประมาณ 125,000 คนไปทำงานในต่างประเทศภายใต้สัญญาในปี 2566 ซึ่งสูงกว่าแผนประจำปี 4%

    นอกเหนือจากการเพิ่มความเข้มงวดในการจัดการแรงงานต่างชาติแล้ว กระทรวง MoLISA ยังเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการและการออกใบอนุญาตสำหรับแรงงานต่างชาติที่ทำงานในประเทศ โดยได้ยื่นต่อรัฐบาลเพื่อประกาศใช้กฎหมายสองฉบับที่ได้แก้ไขและเพิ่มเติมหลายมาตรา เพื่อควบคุมแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในเวียดนาม รวมทั้งการจัดหาและการจัดการแรงงานเวียดนามที่ทำงานให้กับองค์กรและบุคคลต่างประเทศในเวียดนาม

    ณ เดือนกันยายน 2566 มีแรงงานต่างชาติทำงานในเวียดนาม 132,381 คน ขณะที่กำลังแรงงานของประเทศมีจำนวน 52.3 ล้านคน เพิ่มขึ้น 760,000 คน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

    ตลาดแรงงานในประเทศยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเห็นได้จากการเพิ่มขึ้นของกำลังแรงงานและจำนวนคนงานที่มีงานทำ

    รถไฟขนส่งสินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิระหว่างจีน-เวียดนาม จีน-ลาว เริ่มให้บริการแล้ว

    ที่มาภาพ: https://english.cctv.com/2023/10/18/VIDE1eHok1ASBWij1IYva3ir231018.shtml
    รถไฟบรรทุกสินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิ(cold-chain freight)สองขบวนที่บรรทุกผักและผลไม้ เดินทางออกจากมณฑลยูนนานทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนไปยังลาวและเวียดนามตามลำดับเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ถือเป็นการเปิดตัวบริการรถไฟขนส่งสินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิระหว่างประเทศในเส้นทางจีน-ลาว จีน-เวียดนาม

    รถไฟเที่ยวแรก 2 ขบวน ซึ่งเริ่มต้นจากสถานีเหยียนเหอ เมืองยวี่ซี มณฑลยูนนาน จะไปถึงเวียงจันทน์ เมืองหลวงของลาว และเมืองหล่าวกาย ของเวียดนาม หลังจากเดินทางประมาณหนึ่งวัน สำนักข่าวซินหัวของจีนรายงาน

    ปัจจุบัน รถไฟขนส่งสินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิระหว่างประเทศจีน-ลาว มีกำหนดการเดินทางหนึ่งเที่ยวต่อวันจากคุนหมิงในมณฑลยูนนานไปยังเวียงจันทน์ ในขณะที่มีกำหนดการเดินทางหนึ่งเที่ยวต่อสัปดาห์ระหว่างคุนหมิงและหล่าวกาย ของเวียดนาม

    บริษัท China Railway Kunming Bureau Group จำกัด ผู้ให้บริการ กล่าวว่า ความถี่ในการขนส่งบริการจะมีการปรับเปลี่ยนตามความต้องการของลูกค้าในอนาคต

    อินโดนีเซียขึ้นภาษีนำเข้านาฬิกา-จักรยาน-เครื่องสำอาง

    ที่มาภาพ: https://www.cekindo.com/blog/formal-process-cosmetic-product-registration-indonesia
    อินโดนีเซียได้กำหนดภาษีนำเข้าใหม่สำหรับผลิตภัณฑ์ 4 ประเภท โดยจะเรียกเก็บภาษีถึง 40% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์

    ภายใต้กฎกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 96/2023 ที่มีผลบังคับใช้เริ่มตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม อัตราภาษีนำเข้าใหม่อยู่ระหว่าง 10% ถึง 15% สำหรับเครื่องสำอาง ส่วนอัตราภาษีสำหรับเหล็กและเหล็กกล้าไม่เกิน 20% อัตราภาษีสำหรับจักรยานอยู่ที่ 25% ถึง 40% และ 10% สำหรับนาฬิกา

    ฟาดจาร์ ดอนนี จาห์จาดี ผู้อำนวยการกรมศุลกากรกระทรวงการคลังและสำนักงานสรรพสามิตกล่าวในการแถลงข่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า การนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมในประเทศ

    ก่อนหน้านี้ อินโดนีเซียเก็บภาษีนำเข้าอัตราสูงจากสินค้า 3 ประเภทเท่านั้น ได้แก่ สิ่งทอ รองเท้า และกระเป๋าถือ (สูงสุด 30%)

    กฎระเบียบใหม่ยังขอให้บริษัทอีคอมเมิร์ซและซัพพลายเออร์ออนไลน์แบ่งปันข้อมูลสินค้านำเข้ากับกรมศุลกากรและสรรพสามิต ข้อมูลที่ต้องเปิดเผยได้แก่ชื่อบริษัท ตัวตนของผู้ขาย ลักษณะ ประเภท และปริมาณสินค้าที่นำเข้ามาในประเทศ

    กฎระเบียบใหม่ของกระทรวงการคลัง สอดคล้องกับ กฎระเบียบล่าสุดของกระทรวงการค้า ในการจำกัดการนำเข้าสินค้าราคาถูกและปกป้องธุรกิจในประเทศ

    นายกฯมาเลย์เสนอทำข้อตกลง FTA อาเซียน-จีซีซี ในที่ประชุม ASEAN-GCC

    ที่มาภาพ: https://asean.org/asean-leaders-and-gulf-cooperation-council-hold-first-summit/
    ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (Asean-Gulf Cooperation Council: ASEAN-GCC) หรือ อาเซียน-จีซีซี ในวันที่ 20 ตุลาคม 2566 ที่มีขึ้นในราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย นาย อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้เสนอให้จัดทำข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม (CEPA) ของสภาความร่วมมืออ่าวอาเซียน (GCC) เพื่อเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของทั้งสองภูมิภาคให้สูงขึ้นอีก

    นายอันวาร์กล่าวว่า ความท้าทายที่เกิดจากบรรยากาศทางภูมิรัฐศาสตร์ในปัจจุบัน ทำให้กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศและตะวันออกกลางต้องทบทวนความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันใหม่

    “เราต้องปรับปลี่ยนความสัมพันธ์อาเซียน-จีซีซี เพื่อเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของทั้งภูมิภาครวมกันให้สูงขึ้น มาเลเซียมุ่งมั่นที่จะทำเช่นนั้น” นายอันวาร์กล่าวในวันเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีซีซีเมื่อวันศุกร์(20 ต.ค.)

    มาเลเซียจึงได้เสนอให้จัดทำข้อตกลง CEPA ซึ่งเป็นข้อตกลงที่สำคัญต่อการเติบโตที่ก้าวหน้า ครอบคลุม และยั่งยืน ในขณะที่ภูมิภาคต่างๆ ฟื้นตัวจากวิกฤติโควิดและเผชิญกับความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์

    “มันจะเป็นข้อตกลงการค้าเสรีครั้งแรกระหว่างอาเซียนและตะวันออกกลาง” นายอันวาร์กล่าว

    นายอันวาร์ ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังด้วย กล่าวว่า การประชุมสุดยอดเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองภูมิภาคกำลังเข้าสู่ยุคใหม่ของความร่วมมือ และชี้ว่า ความสัมพันธ์อาเซียน-จีซีซี ได้เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด นับตั้งแต่ความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี 1990

    “เราได้ยกระดับความมุ่งหวังในความสัมพันธ์ของเรากับ จีซีซี” นายอันวาร์กล่าวในการประชุมสุดยอด

    การประชุมสุดยอดครั้งประวัติศาสตร์นี้ดำเนินการโดยเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด มกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย และมีประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นผู้นำอาเซียนในปีนี้ เป็นประธานการประชุมร่วมกับมกุฎราชกุมาร

    การประชุมสุดยอดผู้นำเป็นการนำสองภูมิภาคที่โดดเด่นซึ่งประกอบด้วย 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน และ 6 สมาชิกของ จีซีซี ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย คูเวต สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ บาห์เรน และโอมาน

    นายอันวาร์กล่าวว่า การออกแถลงการณ์ร่วมของการประชุมสุดยอดและกรอบความร่วมมือที่มาพร้อมกันนั้น เป็นข้อพิสูจน์ถึงความสัมพันธ์อาเซียน-จีซีซี

    สำหรับประเด็นส่วนหนึ่งใน แถลงการณ์ร่วม Joint Statement ASEAN-GCC Riyadh Summit ได้แก่ ที่ประชุมเห็นพ้องกับกรอบความร่วมมืออาเซียน-จีซีซี(2567-2571) ASEAN-GCC Framework of Cooperation (2024-2028) ซึ่งสรุปสาระสำคัญ มาตรการและกิจกรรมความร่วมมือที่อาเซียนและจีซีซีจะร่วมกันดำเนินการในด้านผลประโยชน์ร่วมกันและเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันทั้งทางการเมืองและความมั่นคง การเจรจา การค้าและการลงทุน การแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน การศึกษา วัฒนธรรม การท่องเที่ยว สื่อ และกีฬา

    นอกจากนี้จะยกระดับกระแสการค้าและการลงทุนโดยสร้างโอกาสที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน การลงทุนร่วมที่สอดคล้องกับกรอบความร่วมมืออาเซียน-จีซีซี โดย
    เน้นเป็นพิเศษในโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน พลังงานทดแทน ปิโตรเคมี เกษตรกรรม การผลิต การดูแลสุขภาพ การท่องเที่ยว โลจิสติกส์ เมืองอัจฉริยะ การเชื่อมต่อและการปรับสู่ดิจิทัล

    ส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียนและจีซีซี โดยเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของภาครัฐและเอกชน และความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจกับธุรกิจระหว่างทั้งสองภูมิภาค โดยใช้โครงสร้าง และแพลตฟอร์มออนไลน์เดิมที่มีอย฿่หรือพัฒนาใหม่ กิจกรรมส่งเสริมการค้า นิทรรศการ สัมมนา ประชุม และการเจรจาระหว่างกันของตัวแทนธุรกิจ

    ส่งเสริมความร่วมมือ ในด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ การเสริมสร้างการรวมตัวเป็นตลาดระดับภูมิภาค ความยั่งยืนและการลดคาร์บอน การเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลและการไม่แบ่งแยก รวมถึงวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSME) การมีส่วนร่วมของภาครัฐและเอกชน และความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน

    ส่งเสริมระบบพหุภาคีการค้า ตามแนวทางขององค์การการค้าโลก(WTO) ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการค้าโลก รวมถึงการหยุดชะงักของการค้าโลกตลาดและห่วงโซ่อุปทาน

    ส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาการเกษตรกรรมหมุนเวียนที่ยั่งยืน และในการส่งเสริมการผลิตอาหารที่ยั่งยืน ส่งเสริมโอกาสทางการค้าและการลงทุน
    ในอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูล การแบ่งปันประสบการณ์การวิจัยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและดีที่สุดรวมถึงแนวปฏิบัติ ผ่านการดำเนินกิจกรรมเสริมสร้างขีดความสามารถในด้านต่างๆ เช่น การพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารและฮาลาล รวมถึงมาตรฐานต่างๆ สำหรับการรับรองอาหารฮาลาล

    ตอกย้ำถึงการมีส่วนร่วมเชิงบวกของกำลังคนจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในการสร้างการเติบโตและการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในภูมิภาคจีซีซี

    PIF-ARAMCO-SABIC เอกชนรายใหญ่ซาอุดีฯ พร้อมขยายการค้าและการลงทุนกับไทย

    ที่มาภาพ: https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/73629
    วันที่ 21 ต.ค. 2566 เวลา 10.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงริยาด ซึ่งช้ากว่าไทย 4 ชั่วโมง) ณ โรงแรม Ritz Carlton กรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พบปะกับภาคเอกชนซาอุดีอาระเบีย ได้แก่

    1) นายยาเซอร์ บิน อุสมาน อัล-รูมัยยาน (Yasir bin Othman Al-Rumayyan) ประธานกรรมการกองทุนเพื่อการลงทุนสาธารณะ (Governor of the Public Investment Fund: PIF) กองทุนเพื่อการลงทุนสาธารณะนับเป็นหนึ่งในกองทุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลซาอุดีฯ เพื่อลงทุนในโครงการที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์กับเศรษฐกิจของประเทศ และปฏิบัติภารกิจตามนโยบายวิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบีย ค.ศ. 2030 ที่มีวัตถุประสงค์ในการกระจายการลงทุน และทำให้กองทุนฯ สามารถลงทุนในบริษัทต่างประเทศได้

    2) นายอามิน ฮัซซาน อาลี นัซเซอร์ (Amin Hassan Ali Nasser) ประธานกรรมการและ CEO รัฐวิสาหกิจ Saudi Arabian Oil Company (Saudi ARAMCO) ของซาอุดีอาระเบีย Saudi ARAMCO เป็นบริษัทพลังงานและเคมีภัณฑ์ที่มีรัฐบาลซาอุดีฯ เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และเป็นแหล่งสำรองน้ำมันดิบที่ใหญ่ และผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของในโลก โดยในปี 2566 มีมูลค่าตลาดมากกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ปีที่ผ่านมา ปตท. และ Saudi ARAMCO ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกัน เพื่อเพิ่มพูนความร่วมมือด้านพลังงานทั้งระบบ รวมถึงความร่วมมือด้านพลังงานสะอาด และธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า

    3) นายอับดุลราห์มัน อัล-ฟากีห์ (Abdulrahman Al-Fageeh) ประธานบริหารและสมาชิกคณะกรรมการบริหาร Saudi Arabia Basic Industries Corporation (SABIC) SABIC เป็นบริษัทผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ของซาอุดีฯ ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2519 เพื่อนำผลพลอยได้จากน้ำมันดิบมาผลิตสินค้าปิโตรเคมี โพลีเมอร์ ปุ๋ย ฯลฯ ปัจจุบัน SABIC เป็นหนึ่งในบริษัทปิโตรเคมีที่ใหญ่ที่สุดของโลก มีบริษัท Aramco เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ โดยทำธุรกิจในกว่า 50 ประเทศทั่วโลก

    โดยนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผย สาระสำคัญดังนี้

    นายกรัฐมนตรีและภาคเอกชนซาอุดีฯ ทั้ง 3 บริษัท เห็นพ้องถึงการให้ความสำคัญต่อการกระชับความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนของไทยและซาอุดีฯ โดยทั้งสองประเทศต่างมีศักยภาพทางเศรษฐกิจ และยินดีขยายส่งเสริมการค้าและการลงทุนซึ่งกันและกัน รวมถึงยินดีอำนวยความสะดวกความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนระหว่างกันให้เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น ในสาขาที่ทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพและสนใจร่วมกัน เช่น การบริการและการท่องเที่ยว พลังงานสะอาด อาหารและการเกษตร ปิโตรเลียม และปุ๋ย

    สำหรับบริษัท SABIC ประสงค์เพิ่มพูนความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนกับไทย ในด้านปิโตรเคมี ซึ่งบริษัทมีความเชี่ยวชาญ

    ด้าน ARAMCO ยินดีที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ของไทย กับบริษัท ARAMCO ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกัน เพื่อเพิ่มพูนความร่วมมือด้านพลังงานเมื่อปีที่ผ่านมา พร้อมหวังว่าจะสามารถยกระดับความร่วมมือด้านพลังงานได้มากยิ่งขึ้นในอนาคต

    ภาคเอกชนซาอุดีฯ ยังพร้อมส่งเสริมความร่วมมือด้านการลงทุนในสาขาอื่นๆ เพิ่มเติม ทั้งการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ความร่วมมือด้านพลังงานสะอาด ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการเสริมสร้างการเจริญเติบโตเศรษฐกิจควบคู่กับการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งภาคเอกชนของซาอุดีฯ หวังว่า ไทยและซาอุดีฯ จะส่งเสริมและมีความร่วมมือด้านการลงทุนมากขึ้นในอนาคต

    นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความพร้อมของรัฐบาลในการขับเคลื่อนการลงทุนพลังงาน พร้อมเน้นย้ำศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทย และสามารถเป็นจุดเชื่อมโยงในภูมิภาคให้กับซาอุดีฯ ได้ พร้อมเชิญชวนภาคเอกชนซาอุดีฯ เยือนไทยเพื่อศึกษาและหารือ เกี่ยวกับศักยภาพและความเป็นไปได้ในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันในด้านต่างๆให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น

    ในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรี ได้นำเสนอโครงการ Landbridge ของไทย โดย PIF เห็นว่าเป็นโครงการที่ดีมีศักยภาพ และแสดงความสนใจในโครงการฯ ด้วย