ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย เดินหน้า 3 แผนงานเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย IMT-GT

ASEAN Roundup อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย เดินหน้า 3 แผนงานเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย IMT-GT

1 ตุลาคม 2023


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 24-30 กันยายน 2566

  • อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย เดินหน้า 3 แผนงานเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย IMT-GT
  • ต่างชาติลงทุนในเวียดนามกว่า 38,000 โครงการ
  • เวียดนามทุบสถิติส่งออกสินค้าเกษตร
  • บริษัทชั้นนำโลกแห่สำรวจโอกาสธุรกิจ-ลงทุนในเวียดนาม
  • กัมพูชาขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแรงงานเครื่องนุ่งห่ม รองเท้าฯเป็น 204 เหรียญสหรัฐฯในปี 2567
  • ลาวส่งเสริมใช้รถ EV หลังนำเข้าน้ำมันลดลง
  • ประชากรสิงคโปร์เพิ่มขึ้น 5% หลังแรงงานต่างชาติกลับ
  • อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย เดินหน้า 3 แผนงานเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย IMT-GT

    ที่มาภาพ: https://jurnalterkini.id/berita/37307/menko-airlangga-pimpin-pertemuan-tingkat-menteri-forum-imt-gt/

    แถลงการณ์ร่วมของการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 29 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle (IMT-GT) ระบุว่า อนุภูมิภาค IMT-GT มีมูลค่าการค้ารวม 727 พันล้านเหรียญสหรัฐฯในปี 2565 เพิ่มขึ้น 109 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ จาก 618 พันล้านเหรียญสหรัฐฯในปี 2564

    การประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 29 แผนงาน IMT-GT ณ เมืองบาตัม จังหวัดหมู่เกาะรีเยา อินโดนีเซีย มีขึ้นระหว่างวันที่ 28 – 29 กันยายน 2566 โดยมีรัฐมนตรีประสานงานกิจการเศรษฐกิจ อินโดนีเซีย และรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ มาเลเซีย และ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังไทย ในฐานะรัฐมนตรีประจำแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทยเข้าร่วม

    นอกจากนี้ รัฐมนตรีที่เข้าร่วมประชุมพอใจกับความคืบหน้าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอนุภูมิภาค

    ที่ประชุมชื่นชมความคืบหน้าความคิดริเริ่มในภาคเกษตรกรรมของอนุภูมิภาค โดยเฉพาะการมุ่งเน้นเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารผ่านการทำเกษตรกรรมอัจฉริยะ และการนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้ รัฐมนตรีเห็นว่า ต้องมีการร่วมมือกันใน โครงการริเริ่มและความร่วมมืออย่างใกล้ชิดเพื่อเสริมสร้างระบบอาหารที่มีความแข็งแกร่ง ซึ่งสอดคล้องกับหลักการเศรษฐกิจสีน้ำเงิน สีเขียว และเศรษฐกิจหมุนเวียน(Blue, Green, and Circular Economy principles)

    รัฐมนตรีรับทราบถึงความก้าวหน้าในภาคส่วนฮาลาล และยินดีต่อการริเริ่มโครงการที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี เช่น Halal Blockchain ระบบการลงทะเบียนฮาลาลออนไลน์ และระบบสารสนเทศแบบบูรณาการฮาลาลที่ส่งเสริมความคืบหน้าของความร่วมมือด้านฮาลาลใน IMT-GT รวมทั้งจำเป็นที่จะต้องพยายามร่วมกันอย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับตำแหน่งของอุตสาหกรรมฮาลาลใน IMT-GT และผู้ประกอบการในตลาดโลก

    การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวของอนุภูมิภาค ซึ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2565 ก็น่าชื่นชมเช่นกัน ประเทศสมาชิก IMT-GT ต่างพัฒนาแพ็คเกจการท่องเที่ยวและแคมเปญต่างๆเพื่อส่งเสริมปีแห่งการท่องเที่ยวของ IMT-GT ปี 2566-2568 นอกจากนี้ยังมีความก้าวหน้าที่โดดเด่นในการพัฒนาโครงการการเชื่อมต่อทางกายภาพภายในอนุภูมิภาค โครงการเหล่านี้มีส่วนช่วยอำนวยความสะดวกในการสัญจรของผู้คนและการเคลื่อนย้ายสินค้าข้ามพรมแดนได้อย่างราบรื่น ขณะเดียวกันก็เสริมสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคและการเติบโตทางเศรษฐกิจ

    ความคืบหน้าภายใต้กรอบการค้าและการลงทุนของ IMT-GT ได้รับการตอบรับอย่างดีจากรัฐมนตรี ประเทศสมาชิกยังได้รับการร้องขอให้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเสริมสร้างทรัพยากรมนุษย์ เพื่อความเติบโตในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 โดยเฉพาะด้วยการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล

    รัฐมนตรียืนยันความมุ่งมั่นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอนุภูมิภาค ด้วยเหตุนี้ 42 เมืองภายใน IMT-GT ได้ให้คำมั่นในการดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับเมืองสีเขียวทั้งหมด 210 โครงการซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การจัดการมลภาวะทางทะเล และสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

    นาย แอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต(ที่ 3 จากขวา) รัฐมนตรีประสานงานเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย ที่มาภาพ:https://en.antaranews.com/news/294834/imt-gt-aims-to-realize-integrated-region-minister-hartarto

    ด้ายนาย แอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต รัฐมนตรีประสานงานเศรษฐกิจของอินโดนีเซียกล่าวหลังการประชุม IMT-GT ว่า การประชุมสามเหลี่ยมเศรษฐกิจอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) มีเป้าหมายเพื่อสร้างภูมิภาคที่มีการบูรณาการ นวัตกรรม ครอบคลุม สีเขียว และยั่งยืนภายในปี 2579

    IMT-GT ครบรอบ 30 ปีในปีนี้ เป็นเวทีที่ให้ความสำคัญของการพัฒนาและเศรษฐกิจในภูมิภาคโดยให้รัฐบาล/กระทรวงทั้งหมดมีส่วนร่วม นายฮาร์ตาร์โต กล่าวเมื่อวันศุกร์(29 ก.ย.)

    “การเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาค IMT-GT คาดว่าจะเสริมสร้างบทบาทในช่องแคบมะละกา โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นหนึ่งในภาคส่วนหลักใน IMT-GT”

    ในการประชุมมีการหารือหลายหัวข้อ รวมถึงความสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการจัดหาเงินทุนและการเติบโตของเศรษฐกิจสีเขียว

    “การพัฒนาปลายน้ำของยางและน้ำมันปาล์มก็มีความสำคัญเช่นกัน เนื่องจากสามประเทศในกลุ่มอาเซียนที่เป็นผู้ผลิตหลักของยางและน้ำมันปาล์ม คือสามประเทศนี้ (อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย)”

    ส่วน นายราฟิซิ รอมลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจมาเลเซีย กล่าวว่า เวที IMT-GT เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของประเทศต่างๆ ในการให้ความร่วมมือ และปรับให้สอดคล้อง เพื่อสร้างเศรษฐกิจอาเซียนที่แข็งแกร่งขึ้นในอนาคต ด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน IMT-GT จะเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจมากมายในระดับโลก

    นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังของไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้มีการหารือในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่
    1. แผนงานการก่อสร้างความเชื่อมโยงทางกายภาพ (Physical Connectivity Projects: PCPs) แผนงาน PCPs เป็นแผนงานที่มีมูลค่ารวมกว่า 2.10 ล้านล้านบาท โดยในปีที่ผ่านมาโครงการของไทย ที่มีความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรมคือ โครงการก่อสร้างถนนเชื่อมโยงระหว่างด่านศุลกากรสะเดา-บูกิตกะยูฮิตัม โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก แห่งที่ 2 (สุไหงโก-ลก-รันเตาปันยัง) นอกจากนี้ ไทยจะมีการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ในภาคใต้ อาทิ โครงการก่อสร้าง Motor Way หาดใหญ่-สะเดา โครงการก่อสร้าง Land Bridge ชุมพร-ระนอง

    2. โครงการเมืองยางพาราและความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมยาง แผนงาน IMT-GT มีความก้าวหน้าที่ต่อยอดมาจากการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยโครงการ เมืองยางพาราและความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมยาง ซึ่งได้ลงนามในการประชุมระดับรัฐมนตรีเมื่อเดือนกันยายน 2565 MOU นี้จะเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการอำนวยความสะดวกการดำเนินธุรกิจ ส่งผลให้เกิดการกระจายรายได้สู่ เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของภาคใต้

    3. ความร่วมมือด้านการเงินเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ประเทศไทยโดยกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยและอินโดนีเซีย ได้ร่วมกันผลักดันให้เกิดการชำระเงินระหว่างประเทศผ่านทาง QR Code เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวสามารถชำระเงิน เพื่อการซื้อขายสินค้าและบริการได้โดยไม่ต้องแลกเปลี่ยนเงิน และได้แจ้งฝ่ายมาเลเซียเพื่อให้การสนับสนุนเพื่อสร้างความร่วมมือในลักษณะเดียวกันต่อไป

    ที่ประชุมได้ให้การรับรองแถลงการณ์ร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 29 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการร่วมมือกันของประเทศสมาชิก IMT-GT ในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและการเงิน รวมถึงการผลักดันให้พื้นที่อนุภูมิภาค IMT-GT พัฒนาไปอย่างยั่งยืนบนฐานเทคโนโลยีและนวัตกรรม และเป็นการเน้นย้ำถึงบทบาทเชิงสร้างสรรค์ของไทยในฐานะหุ้นส่วนการพัฒนาที่สำคัญในอนุภูมิภาค IMT-GT ที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจและสังคมกับประเทศเพื่อนบ้าน อันจะส่งผลให้ไทยมีบทบาทเชิงรุกอย่างสร้างสรรค์และมีความร่วมมือกับนานาชาติในลักษณะที่จะเกื้อหนุนต่อความก้าวหน้าในทุก ๆ ด้าน รวมไปถึงการสร้างผลประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ

    รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องแสดงความคาดหวังต่อการประชุมรัฐมนตรี IMT-GT ครั้งที่ 30 และการประชุมที่เกี่ยวข้องซึ่งจะจัดขึ้นที่เมืองยะโฮร์ ประเทศมาเลเซีย ในปี 2567 และตระหนักถึงความสำคัญของการประชุมรัฐมนตรีอย่างสม่ำเสมอ การประชุม IMT-GT ถือเป็นเวทีสำคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือและขับเคลื่อนความก้าวหน้าภายในอนุภูมิภาค

    ต่างชาติลงทุนในเวียดนามกว่า 38,000 โครงการ

    นิคมอุตสาหกรรม บิ่ญเซือง ที่มาภาพ:https://e.vnexpress.net/news/economy/vietnam-seeks-new-investor-incentives-as-cross-border-tax-rules-loom-4584136.html
    โครงการที่ต่างชาติลงทุนที่ยังดำเนินการอยู่ในเวียดนาม มีจำนวนถึง 38,379 โครงการ โดยมีทุนจดทะเบียนรวม 455.06 พันล้านเหรียญเหรียญสหรัฐฯ ณ วันที่ 20 กันยายน ตามรายงานของสำนักงานการลงทุนต่างประเทศ(Foreign Investment Agency:FIA)ของกระทรวงการวางแผนและการลงทุน

    จนถึงขณะนี้ยอดเบิกจ่ายสะสมของโครงการมีจำนวน 289.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 63.7% ของทุนจดทะเบียนทั้งหมด

    ในช่วงเดือนมกราคม-กันยายน โครงการ FDI เบิกจ่ายไปแล้วกว่า 15.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 2.2% เมื่อเทียบรายปี

    นักลงทุนต่างชาตินำเงินมาลงทุนใน 19 ภาคเศรษฐกิจจาก 21 ภาคเศรษฐกิจ

    อุตสาหกรรมการผลิตและการแปรรูปดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมากที่สุดด้วยมูลค่าเกือบ 273.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 60.2% ของเงินทุนทั้งหมด ตามมาด้วยอสังหาริมทรัพย์มูลค่าประมาณ 67.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ การผลิตและการจำหน่ายไฟฟ้ามูลค่ากว่า 38.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

    ในเดือนกันยายน โครงการใหม่จากลิกเตนสไตน์ทำให้จำนวนประเทศและเขตปกครองที่ลงทุนในเวียดนามเพิ่มขึ้นเป็น 144 ประเทศและเขตปกครอง

    ในจำนวนนี้ สาธารณรัฐเกาหลีอยู่ในอันดับต้นๆ ด้วยมูลค่าประมาณ 83 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ แซงหน้าสิงคโปร์ที่มีมูลค่าประมาณ 73 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามมาด้วยญี่ปุ่น ไต้หวัน (จีน) และฮ่องกง (จีน)

    ในบรรดาเมืองและจังหวัดทั้งหมด 63 แห่งทั่วประเทศ โฮจิมินห์ซิตี้เป็นผู้นำในการดึงดูด FDI ด้วยมูลค่าประมาณ 57.14 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ รองลงมาคือ บิ่ญเซือง ที่มีมูลค่ามากกว่า 40.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และฮานอยเกือบ 39.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

    บริษัทชั้นนำโลกแห่สำรวจโอกาสธุรกิจ-ลงทุนในเวียดนาม

    ที่มาภาพ: https://corporate.walmart.com/about
    บริษัทต่างชาติเกือบ 1,000 รายจาก 28 ประเทศและเขตปกครอง รวมถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่นโบอิ้ง(Boeing) วอลมาร์ท(Walmart) และ เซ็นทรัล รีเทลจากไทย ได้เข้าสู่เวียดนามเพื่อสำรวจโอกาสในการลงทุนและแสวงหาพันธมิตรตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน

    อาวานีช คุปตะ รองประธานอาวุโสฝ่ายการจัดหาสินค้าและเครื่องแต่งกายทั่วไปของวอลมาร์ท ซึ่งเป็นธุรกิจค้าปลีกอันดับหนึ่งของโลก ระบุว่า เวียดนามเป็นหนึ่งใน 5 ประเทศแรกด้านการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และอันดับที่ 10 ของโลกด้านการส่งออกสิ่งทอและรองเท้า

    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สินค้าเวียดนามกำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในหมู่ผู้บริโภคทั่วโลก Gupta กล่าว

    ในการดำเนินการส่วนหนึ่งตามกลยุทธ์การจัดหาแหล่งสินค้าเสริมปี 2567 สำหรับเครือข่ายวอลมาร์ท บริษัทได้ส่งทีมจัดซื้อไปยังเวียดนามเพื่อสำรวจโอกาสในการคัดเลือกซัพพลายเออร์ เพื่อซื้อสินค้า ในหมวดห อาหารทะเล เม็ดมะม่วงหิมพานต์ นมถั่วเหลือง กาแฟ ผลไม้สด และผลไม้ เ

    ไลโอเนล อเดโนต์ ผู้อำนวยการ ดีแคทลอน เวียดนาม กรุ๊ป(Decathlon Vietnam Group) กล่าวว่า บริษัทกำลังขยายการจัดหาผลิตภัณฑ์สิ่งทออย่างไม่จำกัด

    อย่างไรก็ตาม ในการที่จะเป็นซัพพลายเออร์ของบริษัทนั้น ธุรกิจของเวียดนามต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขเฉพาะ รวมถึงการประกันว่าโรงงานต่างๆ จะไม่ใช้ถ่านหิน และมีแผนงานในการเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลภายในปี 2568 พึ่งพาตนเองได้ในการจัดหาวัตถุดิบ ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม มีการใช้วัสดุในพื้นที่และมีการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลไปใช้ในกระบวนการผลิต

    ดีแคทลอน เวียดนาม กรุ๊ป จะให้ความสำคัญของธุรกิจที่มีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบต่อคนงานและชุมชน

    ด้านเกษตรกรรมยังเป็นอุตสาหกรรมที่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติอีกด้วย

    กลุ่มเซ็นทรัล รีเทลได้ให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการและวิธีการปลูกแตงเมลอนฮันนีดิวแก่ แดนนี กรีน คอร์ปอเรชัน(Danny Green Corporation) ซึ่งประสบความสำเร็จในการก่อตั้งและปัจจุบันดำเนินธุรกิจฟาร์มแตงเมลอนฮันนีดิวออร์แกนิกขนาด 120 เฮกตาร์ในจังหวัด บิ่ญถ่วน ทางตอนกลางตอนใต้

    คนวงในกล่าวว่า บริษัทต่างชาติยินดีที่จะร่วมมือกับธุรกิจของเวียดนามเพื่อสร้างมาตรฐานให้กับกระบวนการเกษตรกรรมและการผลิต เพื่อยกระดับความสามารถในการเป็นผู้จัดหาสินค้าให้กับธุรกิจเหล่านี้ ซึ่งจะช่วยทำให้อุปทานสินค้าสำหรับห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจมีเสถียรภาพ

    นอกจากนี้ยังมีโอกาสมากมายในการลงทุนโดยตรง

    นอกเหนือจากการแสวงหาแหล่งจัดส่งสินค้าที่เชื่อถือได้แล้ว ธุรกิจจำนวนมากจากเกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา และยุโรปยังกระตือรือร้นที่จะลงทุนโดยตรงในเวียดนาม

    ฌอง ฌากส์ บูเฟลต์(Jean Jacques Bouflet) รองประธานหอการค้ายุโรปในเวียดนาม (EuroCham) กล่าวว่า ด้วยที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เชิงกลยุทธ์ เศรษฐกิจที่มั่นคง แรงงานในวัยหนุ่มสาว และนโยบายที่เอื้อ เวียดนามกำลังกลายเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญมากขึ้นในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก

    นับตั้งแต่การลงนามข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA) ในปี 2562 องค์กรต่างๆ ในยุโรปได้ลงทุนในโครงการ 2,250 โครงการ มูลค่า 26 พันล้านเหรียญสหรัฐฯในเวียดนาม

    นอกจากนี้ การแข่งขันเพื่อดึงการลงทุนในเวียดนาม ได้ดึงดูดบริษัทชั้นนำของสหรัฐอเมริกาจำนวนมาก เช่น แอปเปิ้ล(Apple) ควอลคอม(Qualcomm) ไนกี้(Nike) มอร์แกนสแตนเลย์(Morgan Stanley) อินเทล(Intel) จีอี(GE) อาคร์น อินเตอร์เนชั่นแนล(ACORN International) เจนเนอรัล ไดนามิกส์(General Dynamics) และ กูเกิล(Google) เมื่อเร็วๆ นี้โบอิ้ง ยังสำรวจโอกาสในการขยายการลงทุนในโฮจิมินห์ซิตี้ โดยเฉพาะในโรงงานจัดหาวัสดุและการจัดตั้งศูนย์ทางเทคนิค จากการรายงานของหนังสือพิมพ์ Sai Gon Giai Phong

    แม็กซิม ดอร์แดน(Maxime Dourdan) ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาห่วงโซ่อุปทานของโบอิ้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ RoK มองว่า เมื่อเปรียบเทียบกับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้แล้ว เวียดนามมีข้อได้เปรียบที่สำคัญในด้านต้นทุนการผลิต

    นอกจากนี้ ความสามารถของอุตสาหกรรมสนับสนุนของเวียดนามได้รับการยกระดับอย่างมีนัยสำคัญในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยธุรกิจเวียดนามจำนวนมากกลายเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานระดับโลกขององค์กรขนาดใหญ่ เช่น ซัมซุง ซันโย อินเทลและอื่นๆ ซึ่งกลายเป็นฐานสำหรับโบอิ้งในการสำรวจความร่วมมือและขยายการลงทุนด้านห่วงโซ่อุปทานในเวียดนาม

    เวียดนามทุบสถิติส่งออกสินค้าเกษตร

    ที่มาภาพ: https://en.vietnamplus.vn/new-records-set-in-agricultural-product-export-revenue/268646.vnp

    สินค้าเกษตรหลายชนิด เช่น ข้าว กาแฟ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ และทุเรียน สร้างสถิติรายได้จากการส่งออก ซึ่งมีส่วนทำให้ภาพรวมการส่งออกของเวียดนามในปีนี้สดใสขึ้น

    ณ สิ้นเดือนสิงหาคม เวียดนามส่งออกกาแฟเกือบ 1.2 ล้านตัน มูลค่า 2.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ แม้ปริมาณลดลงเกือบ 6% แต่มูลค่าเพิ่มขึ้น 2.3% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากราคากาแฟปรับตัวสูงขึ้นหลายเดือนติดต่อกันเนื่องจากอุปทานมีน้อย

    กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบท (MARD) ระบุว่า เวียดนามมีแนวโน้มที่จะส่งกาแฟไปต่างประเทศประมาณ 1.7 ล้านตันตลอดทั้งปี ซึ่งจะทำให้รายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 4.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

    ในเดือนสิงหาคม เวียดนามส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ปริมาณ 61,000 ตัน เพิ่มขึ้น 11% มูลค่า 334 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 10% จากเดือนกรกฎาคม และเพิ่มขึ้น 29% และ 22% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่งผลให้การส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2566 มีปริมาณเกือบ 396,000 ตัน มูลค่า 2.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 15.5% และ 11.3% เมื่อเทียบรายปีตามลำดับ

    ในช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคม เม็ดมะม่วงหิมพานต์ได้ส่งออกไปยังตลาดสำคัญ เช่น จีน เยอรมนี อังกฤษ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดีอาระเบีย เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในปีนี้ อุตสาหกรรมเม็ดมะม่วงหิมพานต์ตั้งเป้าสร้างรายได้จากการส่งออก มากกว่า 3.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ สมาคมเม็ดมะม่วงหิมพานต์เวียดนาม คาดว่าตลาดจะยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อไปจนถึงสิ้นปี ทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายได้

    ณ สิ้นเดือนสิงหาคม เวียดนามจัดส่งข้าวไปต่างประเทศ 6 ล้านตันเป็นมูลค่าเกือบ 2.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เท่ากับทั้งปีในปี 2566

    เวียดนามคาดว่าจะส่งออกข้าวมากกว่า 1 ล้านตันนับจากนี้ไปจนถึงสิ้นปีนี้ หรือสร้างรายได้ประมาณ 600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ณ ราคาส่งออกปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญด้านข้าวหลายคนเชื่อว่าในปี 2566 เวียดนามสามารถส่งออกข้าวได้มากถึง 7.5 ล้านตัน โดยมีมูลค่าประมาณ 3.8 – 3.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

    ในด้านผักและผลไม้ ทุเรียนซึ่งเป็นดาวรุ่งที่มีรายได้จากการส่งออกมากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯในเวลาเพียงแปดเดือน ผลิตผลอื่นๆ จำนวนมากมีแนวโน้มเติบโตที่ดีในช่วงเดือนที่เหลือของปี และแม้แต่ ปีหน้า

    ดัง ฟุ๊ก เหงียน เลขาธิการสมาคมผักและผลไม้เวียดนาม กล่าวว่า การส่งออกกล้วยของเวียดนามเติบโตไม่เพียงแต่ในจีนเท่านั้น แต่ยังมีตลาดอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี คาดว่ากล้วยจะมีรายได้จากการส่งออก 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯในปี 2566 เนื่องจากผลิตผลลดลงในหลายประเทศ

    นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น ขนุน มะม่วง แตงโม และโดยเฉพาะมะพร้าวก็มีศักยภาพในการส่งออกสูงเช่นกัน

    ตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม สหรัฐฯ ได้ออกใบอนุญาตให้มะพร้าวเวียดนามแล้ว จีนกำลังพิจารณาที่จะออกรหัสสำหรับมะพร้าวเพื่อส่งออกสู่ตลาดอย่างเป็นทางการ หากได้รับการอนุมัติเร็วๆ นี้ มูลค่าการส่งออกมะพร้าวในอนาคตอาจเพิ่มขึ้น 2-3 เท่าเมื่อเทียบกับระดับเฉลี่ยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเป็นประมาณ 250 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

    เหงียนคาดว่า ในปีนี้ การส่งออกผักและผลไม้ของเวียดนามอาจสูงถึง 5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสถิติใหม่ของการส่งออกกลุ่มนี้

    กัมพูชาขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแรงงานเครื่องนุ่งห่ม รองเท้าฯเป็น 204 เหรียญสหรัฐฯในปี 2567

    เฮง ซอร์ (กลาง) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและอาชีวศึกษา หลังบรรลุข้อตกลงในการประชุมค่าแรงขั้นต่ำในกรุงพนมเปญ ที่มาภาพ
    :https://www.information.gov.kh/articles/114688

    เมื่อวันพฤหัสบดี(28 ก.ย.)ที่ผ่านมา กัมพูชาได้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรายเดือนสำหรับคนงานในภาคเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า เครื่องใช้สำหรับเดินทาง เป็น 204 เหรียญสหรัฐฯ สำหรับปีหน้า เพิ่มขึ้น 2% จากระดับปัจจุบันที่ 200 เหรียญสหรัฐฯ จากการเปิดเผยของกระทรวงแรงงานและการฝึกอบรมอาชีวศึกษา

    การประกาศดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่สภาค่าแรงขั้นต่ำแห่งชาติลงมติให้ค่าแรงขั้นต่ำประมาณ 202 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือนสำหรับปีหน้า จากนั้นรัฐบาลกัมพูชาก็เพิ่มเงินให้อีก 2 เหรียญสหรัฐฯ

    สมาชิกสภาประกอบด้วยตัวแทนของรัฐบาล กลุ่มผู้ผลิต และสหภาพแรงงาน

    ค่าแรงขั้นต่ำใหม่จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2024

    นอกจากค่าจ้างแล้ว คนงานในภาคตัดเย็บเสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าการเดินทางยังจะได้รับสวัสดิการอื่นๆ สำหรับการทำงานตามปกติ ทั้ง ค่าเดินทาง ค่าเช่า และโบนัสสำหรับผู้อาวุโส รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและการฝึกอบรมอาชีวศึกษากล่าว

    อุตสาหกรรมเสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าการเดินทางเป็นแหล่งทำรายได้เงินตราต่างประเทศใหญ่ที่สุดของกัมพูชา ภาคส่วนนี้โรงงานและสาขาประมาณ 1,077 แห่ง มีพนักงานประมาณ 800,000 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง

    ในจำนวนนี้มีโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า 802 แห่ง โรงงานรองเท้า 140 แห่ง และโรงงานผลิตเครื่องใช้สำหรับเดินทาง 134 แห่ง

    ค่าแรงขั้นต่ำรายเดือนสำหรับภาคส่วนนี้อยู่ที่ 200 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2566 เพิ่มขึ้นจาก 194 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2565

    ลาวส่งเสริมใช้รถ EV หลังนำเข้าน้ำมันลดลง

    ที่มาภาพ:เพจLAO EV Car Station
    การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงของลาวในเดือนสิงหาคมน้อยกว่าเดือนก่อนหน้า แต่เจ้าหน้าที่กล่าวว่า มีน้ำมันเชื้อเพลิงเพียงพอต่อความต้องการของประเทศ โดยชี้ เป็นโอกาสในการส่งเสริมการใช้ยานพาหนะไฟฟ้า

    ในเดือนกรกฎาคม รัฐบาลนำเข้าน้ำมันดีเซลมูลค่าประมาณ 65 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และน้ำมันเบนซินปกติและน้ำมันพรีเมียมมูลค่า 20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่การใช้จ่ายลดลงเหลือ 58 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับน้ำมันดีเซล และ 17 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับน้ำมันเบนซินปกติและน้ำมันพรีเมียมในเดือนสิงหาคม จากข้อมูลของกระทรวง อุตสาหกรรมและการพาณิชย์ (MOIC)

    เมื่อเร็วๆนี้ บริษัทน้ำมัน ปตท. ลาว จำกัด เตือนว่า ลาวอาจเผชิญปัญหาการขาดแคลนเชื้อเพลิงครั้งใหม่ หากวิกฤติอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในปัจจุบันไม่ได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว

    อย่างไรก็ตาม สมาคมเชื้อเพลิงและก๊าซลาว (LFGA) และ MOIC ได้ปฏิเสธประกาศดังกล่าว โดยให้ความมั่นใจกับประชาชนว่าสถานการณ์การจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศยังเป็นปกติ

    ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ไทมส์(Vientiane Times) MOIC ได้ให้คำมั่นกับผู้บริโภคว่าปั๊มน้ำมันจะไม่ขาดแคลนน้้ำมันเชื้อเพลิง แม้การนำเข้าลดลงเมื่อไม่นานมานี้ โดยชี้ว่าการนำเข้าที่ลดลงเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ

    “เนื่องจากราคาน้ำมันสูงขึ้น ผู้คนจำนวนมากจึงหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพื่อประหยัดเชื้อเพลิงและลดมลพิษทางอากาศ” รายงานของกระทรวงระบุ

    รัฐบาลกำลังประหยัดเงินในการนำเข้าและลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลด้วยการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งสามารถประหยัดเชื้อเพลิงได้ 300,000 ลิตรจนถึงขณะนี้ รายงานระบุ

    ปีที่แล้วมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้า 3,201 คัน แบ่งเป็นรถยนต์ 1,428 คัน และรถจักรยานยนต์ 1,773 คัน ปัจจุบันลาวมีสถานีชาร์จมากกว่า 20 แห่ง และตัวแทนจำหน่าย 18 แห่งแสดงความสนใจนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายทั่วประเทศ

    ความนิยมที่เพิ่มขึ้นของยานพาหนะไฟฟ้าคาดว่าจะช่วยให้รัฐบาลบรรลุเป้าหมายในการส่งเสริมพลังงานสะอาดและพัฒนาภาคการขนส่ง ตามที่ระบุไว้ในแผนพัฒนาปี 2568, ยุทธศาสตร์ปี 2573 และวิสัยทัศน์ปี 2593

    เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบการขนส่งที่ยั่งยืนมากขึ้น MOIC กำลังจัดทำนโยบายและแผนเพื่อส่งเสริมการใช้ยานพาหนะไฟฟ้าและจัดทำกฎเกณฑ์สำหรับการติดตั้งสถานีชาร์จสาธารณะ

    แม้จะให้ความสำคัญกับการดำเนินการด้านพลังงานสะอาด แต่รัฐบาลก็ยังดำเนินมาตรการเพื่อรับประกันว่าผู้นำเข้าเชื้อเพลิงจะมีสกุลเงินต่างประเทศที่เพียงพอในการนำเข้าเชื้อเพลิงในปริมาณที่จำเป็นสำหรับผู้บริโภคในประเทศ

    ปัจจุบันบริษัทนำเข้าเชื้อเพลิงในลาว 14 แห่งนำเข้าเชื้อเพลิงให้เพียงพอต่อความต้องการในแต่ละวันของผู้บริโภค ได้แก่ น้ำมันเบนซินเกรดปกติอย่างน้อย 500,000 ลิตร และน้ำมันดีเซล 1 ล้านลิตร

    ประชากรสิงคโปร์เพิ่มขึ้น 5% หลังแรงงานต่างชาติกลับ

    ที่มาภาพ: https://www.straitstimes.com/singapore/budget-2022-increased-salary-thresholds-for-new-ep-s-pass-applicants-not-a-shock-to-companies-but-hiring-challenges-remain
    ประชากรสิงคโปร์เพิ่มขึ้น 5% หลังแรงงานต่างชาติกลับมาหลังโรคระบาด

    ข้อมูลที่เผยแพร่เมื่อวันศุกร์(29 ก.ย.)พบว่า ประชากรสิงคโปร์เพิ่มขึ้น 5%ในหนึ่งปี เนื่องจากแรงงานต่างชาติเดินทางกลับมาเข้ามาหลังผ่านพ้นการระบาดใหญ่

    ณ เดือนมิถุนายนมีจำนวนประชากร 5.9 ล้านคนในสิงคโปร์ เพิ่มขึ้นจาก 5.6 ล้านคนในเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ในจำนวนนี้ 61% เป็นชาวสิงคโปร์ 9% เป็นผู้ที่พำนักถาวร และ 30% เป็นชาวต่างชาติที่ทำงานหรือเรียนอยู่ในประเทศ

    การเพิ่มขึ้นของประชากรส่วนใหญ่มาจากการจ้างงานชาวต่างประเทศ โดยมีแรงงานต่างชาติ 162,000 คนที่เดินทางมาสิงคโปร์ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 ถึงเดือนมิถุนายนปีนี้

    สำนักงาน National Population and Talent กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นมากที่สุดมาจากคนงานในภาคการก่อสร้าง อู่ต่อเรือทางทะเล และภาคการแปรรูป เนื่องจากผู้รับเหมาในโครงการที่ล่าช้าจากการแพร่ระบาดได้จ้างคนงานมากขึ้น

    ตลาดแรงงานยังคงตึงตัวนับตั้งแต่ประเทศได้ยกเลิกมาตรการจำกัดการแพร่ระบาดเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว โดยมีการจ้างงานทั้งหมดสูงกว่าระดับก่อนเกิดโรคระบาดในไตรมาสที่ 1 ปีนี้อยู่ที่ 3.8% ขณะที่เศรษฐกิจเติบโต 3.6% ในปี 2565

    อย่างไรก็ตาม รัฐบาลคาดว่าการเติบโตจะซบเซาในปีนี้ เมื่อเดือนสิงหาคม กระทรวงได้ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ลงเหลือ 0.5% เป็น 1.5% ในปีนี้ จาก 0.5% เป็น 2.5% ประมาณการก่อนหน้านี้

    ในปี 2020 ประชากรสิงคโปร์ลดลง 2% ซึ่งเป็นครั้งแรกที่จำนวนประชากรลดลงนับตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เนื่องจากชาวต่างชาติ 47,000 คนต้องอพยพออกไปท่ามกลางมาตรการล็อกดาวน์และข้อจำกัดการเดินทางอันเข้มงวดจากโควิด-19

    จำนวนประชากรลดลงอีกในปี 2564 เนื่องจากแรงงานต่างชาติเดินทางออกจากสิงคโปร์ 147,000 คน ทำให้จำนวนประชากรลดลงเหลือ 5.45 ล้านคน