ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup สิงคโปร์เริ่มเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ 15% บรรษัทข้ามชาติ 1 ม.ค.2568

ASEAN Roundup สิงคโปร์เริ่มเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ 15% บรรษัทข้ามชาติ 1 ม.ค.2568

19 กุมภาพันธ์ 2023


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 12-18 กุมภาพันธ์ 2566

  • สิงคโปร์เริ่มเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ 15% บรรษัทข้ามชาติ 1 ม.ค.2568
  • อินโดนีเซียจำกัดการส่งออกอะลูมิเนียมเดือนมิถุนายน
  • นายกฯเวียดนามย้ำขจัดอุปสรรคการลงทุนให้ต่างชาติ
  • เวียดนามศูนย์กลางกระจายการผลิตของบริษัทญี่ปุ่นในอาเซียน
  • เวียดนามเปิดตัว e-passport 1 มีนาคม
  • สิงคโปร์ FDI อันดับหนึ่งในเมียนมารอบ 10 เดือน
  • สิงคโปร์เริ่มเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ 15% บรรษัทข้ามชาติ 1 ม.ค.2568

    ที่มาภาพ:https://www.visitsingapore.com/see-do-singapore/places-to-see/marina-bay-area/
    เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ รัฐบาลสิงคโปร์รายงานงบประมาณแผ่นดินประจำปี 2566 ซึ่งนายลอว์เรนซ์ หว่องรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ของสิงคโปร์กล่าวว่า งบประมาณปี 2566 เป็นการวางเส้นทางใหม่ของสิงคโปร์ เพราะเป็นงบประมาณที่มุ่งสร้างขีดความสามารถของประเทศและคว้าโอกาสใหม่ ๆ ในยุคใหม่ของการพัฒนาทั่วโลก

    นายหว่องกล่าวว่า งบประมาณในปีนี้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการที่กว้างขึ้น เพื่อกำหนดแนวทางใหม่ของสิงคโปร์ไปข้างหน้าร่วมกัน และมุ่งเน้นไปที่แรงผลักดันสำคัญ 3 ประการเพื่ออนาคตในยุคใหม่

    ภายใต้แรงผลักดันสำคัญประการแรกคือ “การเติบโตทางเศรษฐกิจและการจัดเตรียมแรงงาน” นายหว่อง กล่าวว่า สิงคโปร์จะเพิ่มความพยายามเป็นสองเท่าเพื่อดึงดูดการลงทุนคุณภาพสูง

    “เราจะมุ่งเน้นไปที่ภาคการเติบโตที่เราสามารถแข่งขันได้ดี” นายหว่องกล่าวในขณะแถลงงบประมาณที่จัดทำภายใต้แนวคิด “Moving Forward in a New Era” ต่อรัฐสภา

    นายหว่องกล่าวว่า สิงคโปร์ไม่เพียงแต่เป็นศูนย์กลางทางการเงินระหว่างประเทศชั้นนำในเอเชียเท่านั้น แต่ยังเป็นศูนย์กลางการค้าระดับโลกที่มีจุดแข็งด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ โดยมีจุดแข็งคือสนามบินและท่าเรือ

    “เรายังมีภาคการผลิตที่ไม่หยุดนิ่ง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนสำคัญ เช่น อิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ และวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์

    “คุณสมบัติและจุดแข็งเหล่านี้จะช่วยให้เราสามารถดึงดูดบริษัทข้ามชาติ (MNEs) จำนวนมากขึ้น เพื่อสร้างฐานการดำเนินงานระดับภูมิภาคหรือแม้แต่ระดับโลกและสำนักงานใหญ่ในสิงคโปร์” นายหว่องกล่าว

    ด้วยกิจกรรมที่มีคุณค่าสูงและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ดีที่สุดในระดับเดียวกัน นายหว่องกล่าวว่าสิงคโปร์จะสามารถสร้างความสามารถใหม่ๆ พัฒนาอุตสาหกรรมหลัก และสร้างงานที่ดีให้กับคนในประเทศ

    แรงผลักดันสำคัญอีกสองประการเพื่ออนาคตในด้านใหม่คือ “การเสริมสร้างสัญญาประชาคมและการสร้างประเทศที่มีความสามารถในการปรับตัว”

    การใช้จ่ายของรัฐบาลคาดว่าจะสูงถึง 104.2 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ (78.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ) โดยมีการขาดดุลงบประมาณโดยรวมสำหรับปี 2566 อยู่ที่ 400 ล้านเหรียญสิงคโปร์ (299 ล้านเหรียญสหรัฐ) หรือ 0.1% ของ GDP และประมาณการว่าเศรษฐกิจจะเติบโตในเชิงบวกแต่ชะลอตัวลงระหว่าง 0.5-2.5% อย่างไรก็ตาม ปัจจัยภายนอก เช่น ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ยืดเยื้อ และการถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรป จะส่งผลกระทบต่อการค้าโลกอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ อัตราเงินเฟ้อในสิงคโปร์คาดว่าจะยังคงสูงอย่างน้อยในช่วงครึ่งแรกของปี 2566

    สำหรับการขาดดุลโดยรวมสำหรับปีงบประมาณ 2566 นายหว่องกล่าวว่า “เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจที่คาดการณ์ไว้ในปีนี้

    “อย่างไรก็ตาม เราจะมีแผนสำรองเพื่อดำเนินการอย่างรวดเร็ว หากสถานการณ์เศรษฐกิจขาลงเกิดขึ้นจริง” นายหว่องกล่าว

    สำหรับภาษีนิติบุคคล นายหว่อง กล่าวว่า ระบบภาษีนิติบุคคลของสิงคโปร์ได้รับผลกระทบจาก Base Erosion and Profit Shifting (BEPS) 2.0 เสาหลักที่ 2( Pillar 2 )ซึ่งจะมีการเริ่มใช้อัตราภาษีขั้นต่ำที่แท้จริงทั่วโลก(global minimum effective tax rate )ที่ 15% สำหรับกลุ่ม บรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่

    “ตัวแปรหลักบางประการของเสาหลักที่ 2 เพิ่งได้รับการสรุปในปีนี้ ในขณะที่ตัวแปรอื่น ๆ ยังคงอยู่ภายใต้การหารือในระดับนานาชาติ” นายหว่องกล่าวและว่า เนื่องจากกฎจะถูกนำไปใช้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ผลกระทบทั้งหมดจะเกิดขึ้นในปี 2568 หรือหลังจากนั้นเท่านั้น

    ด้วยเหตุนี้ นายหว่องกล่าวว่า กระทรวงตั้งใจที่จะดำเนินการตามเสาหลักที่ 2 ตั้งแต่ปี 2568 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการระหว่างประเทศที่กว้างขึ้นในการปรับอัตราภาษีนิติบุคคลทั่วโลกขั้นต่ำสำหรับกลุ่มบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่

    “เมื่อเราเริ่มใช้ เราจะใช้วิธีการเก็บภาษีเพิ่มภายในประเทศ(Domestic Top-up Tax) ซึ่งจะเพิ่มอัตราภาษีที่แท้จริงของกลุ่ม MNE ในสิงคโปร์เป็น 15%” นายหว่องกล่าว

    ภายใต้ข้อกำหนดงบประมาณปี 2023 สิงคโปร์จะเริ่มใช้อัตราภาษีขั้นต่ำที่แท้จริง(minimum effective tax rate) 15% ตาม Global Anti-Base Erosion ภายใต้ Pillar 2 และ Domestic Top-up Tax (DTT) สำหรับบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ (MNEs) ซึ่งมีฐานอยู่ในสิงคโปร์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2025

    การใช้อัตราภาษีขั้นต่ำนี้เป็นผลจากความคิดริเริ่ม Base Erosion and Profit Shifting หรือ BEPS 2.0 ซึ่งเป็นกรอบการทำงานระดับโลกที่มีเป้าหมายเพื่อให้แน่ใจว่ามีการกระจายสิทธิทางภาษีอย่างเป็นธรรมในบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ผ่านอัตราภาษีขั้นต่ำทั่วโลกที่กำหนด BEPS คือ การหลบเลี่ยงภาษีโดยกัดกร่อนฐานภาษีในประเทศ ที่มีภาระภาษีสูงเพื่อเคลื่อนย้ายกำไรไปยังประเทศที่มีภาระภาษีต่ำกว่าหรือไม่มีภาระภาษี

    BEPS 2.0 เป็นผลของความร่วมมือขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เพื่อจัดการกับการหลีกเลี่ยงภาษี สิงคโปร์เป็นหนึ่งใน 130 เขตอธิปไตยที่เข้าร่วมข้อตกลงนี้ในเดือนตุลาคม 2564

    ตั้งแต่ปี 2568 บรรษัทข้ามชาติที่มีรายได้รวมต่อปีตั้งแต่ 750 ล้านยูโร (797 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ขึ้นไป จะต้องจ่ายภาษีในอัตรา 15% จากกำไรที่ได้รับในเขต อธิปไตยที่เข้าไปดำเนินการ

    อินโดนีเซียจำกัดการส่งออกอะลูมิเนียมเดือนมิถุนายน

    ที่มาภาพ: https://en.tempo.co/read/1692679/indonesia-will-restrict-bauxite-export-in-june-no-relaxation
    นายลาห์ลิล ลาฮาดาเลีย รัฐมนตรีกระทรวงการลงทุนของอินโดนีเซียและหัวหน้าคณะกรรมการประสานงานการลงทุน (BKPM) กล่าวว่า จะไม่เลื่อนการจำกัดการส่งออกแร่อะลูมิเนียมออกไป และการห้ามส่งออกจะมีผลบังคับใช้ตามแผนตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2566

    แม้ยอมรับว่าโรงถลุงแร่บอกไซต์ในอินโดนีเซียยังคงมีไม่มาก แต่นายบาห์ลิลยืนยันว่า จะไม่มีการผ่อนผันสำหรับผู้นำเข้าแร่บอกไซต์

    นายบาห์ลิลกล่าวว่า แม้ว่ารัฐบาลมักจะทดลองใช้นโยบาย แต่ในขณะนี้ อินโดนีเซียจะยังคงเดิมในการดำเนินการตามแผนสำหรับอุตสาหกรรมปลายน้ำ

    ในขณะเดียวกัน สมาคมแร่อะลูมิเนียมและแร่เหล็กของอินโดนีเซีย (Indonesian Bauxite and Iron Ore Association ) กล่าวว่า แผนงานและงบประมาณ ส่วนใหญ่ของบริษัทเหมืองแร่บอกไซต์ยังไม่ได้รับการอนุมัติจากกระทรวงพลังงานและทรัพยากรธรณี ในเรื่องนโยบายห้ามส่งออก ตามที่มีกำหนดในเดือนมิถุนายน 2566

    อย่างไรก็ตาม นายบาห์ลิลยืนยันว่านี่ไม่ใช่ปัญหา ดังนั้นรัฐบาลจะเริ่มหยุดการส่งออกแร่บอกไซต์ภายในกลางปี

    เพื่อสนับสนุนการก่อสร้างโรงถลุงแร่ นายบาห์ลิลกล่าวว่า รัฐบาลได้เตรียมมาตรการจูงใจมากมายสำหรับนักลงทุน รวมถึงมาตรการลดหย่อนภาษี การนำเข้าสินค้าทุน และการลดหย่อนภาษี

    อย่างไรก็ตามนายบาห์ลิล เน้นย้ำว่า จะไม่มีการให้สิทธิจูงใจแก่นักลงทุนที่มีจุดคุ้มทุนภายใน 5 ปี หรือผู้ที่มีอัตราผลตอบแทน(IRR) สูง

    นายกฯเวียดนามย้ำขจัดอุปสรรคการลงทุนให้ต่างชาติ

    ที่มาภาพ: https://hanoitimes.vn/vietnamese-pm-assures-foreign-investors-of-their-interests-322984.html
    เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ นายกรัฐมนตรีมฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ ของเวียดนามได้ยืนยันความมุ่งมั่นของเวียดนามที่จะปกป้องผลประโยชน์ที่ถูกต้องตามกฎหมายของนักลงทุนต่างชาติ โดยชี้ว่าเงินทุนจากต่างประเทศเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนหลักในการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของเวียดนาม

    นายกรัฐมนตรีจิ๋งห์กล่าวในการประชุมกับสภาธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียนและสภาหอการค้ายุโรปในเวียดนาม (EuroCham Vietnam)

    เพื่อสนับสนุนการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติ รัฐบาลเวียดนามจะขจัดอุปสรรคด้านอสังหาริมทรัพย์ การเงิน หลักทรัพย์ และการออกตราสารหนี้ เพื่อให้นักลงทุนมั่นใจกับสภาพแวดล้อมที่ดี ยั่งยืน และปลอดภัย นายกรัฐมนตรีจิ๋งห์แจ้งกับคณะผู้แทนซึ่งประกอบด้วยผู้บริหารของบริษัทในยุโรป 50 แห่ง

    นายกรัฐมนตรีจิ๋งห์กล่าวว่า รัฐบาลเวียดนามมุ่งมั่นที่จะอำนวยความสะดวกให้ภาคการลงทุนต่างชาติสามารถดำเนินการในตลาดที่มีสภาวะแวดล้อมที่ดี โดยเรียกร้องให้บริษัทและนักลงทุนในยุโรปส่งเสริมเวียดนามต่อเนื่อง ในการดำเนินการตามการพัฒนาเชิงยุทธศาสตร์ 3 ประการ

    รวมทั้งเรียกร้องให้นักลงทุนต่างชาติสนับสนุนธุรกิจเวียดนามในการเข้าถึงการเงิน ด้านสภาพอากาศและเทคโนโลยีระดับสูง เพื่อดำเนินกิจกรรมการพัฒนาที่ยั่งยืน และให้ความสำคัญหลักสำหรับการลงทุนจากต่างประเทศ ได้แก่ การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล การเปลี่ยนผ่านสีเขียว เศรษฐกิจหมุนเวียน การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และการพัฒนากำลังคนคุณภาพสูง

    เจนส์ รับเบิร์ต รองประธานสภาธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียน กล่าวว่า สภาธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียนมองว่า เวียดนามเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญ และว่าเป็นการเดินทางครั้งแรกของปีสำหรับสภาและผู้บริหารของธุรกิจ 50 แห่ง แสดงให้เห็นว่าสนใจเศรษฐกิจเวียดนามมากแค่ไหน

    ในการปิดท้ายการประชุม นายกรัฐมนตรีจิ๋งห์กล่าวว่า ในขณะที่ยังมีความท้าทาย เวียดนามและผู้ประกอบการในยุโรปและอาเซียนต้องหารือเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขปัญหาที่มีอยู่บนพื้นฐานของ “ผลประโยชน์ร่วมกัน ความเสี่ยงร่วมกัน” เวียดนามให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านกับสหภาพยุโรปและประเทศสมาชิกอย่างจริงจัง และตั้งตารอที่จะกระชับความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนและสหภาพยุโรป

    รัฐบาลเวียดนามให้ความสำคัญกับความก้าวหน้าทางยุทธศาสตร์ 3 ประการ ได้แก่ การบรรลุกรอบสถาบันและการปฏิรูปการบริหาร การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมากเวียดนามยังได้ยกระดับการยกเครื่องทางเศรษฐกิจ ปฏิรูปรูปแบบการเติบโต และส่งเสริมการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเร่งการพัฒนาอุตสาหกรรมและความทันสมัย

    ความมุ่งมั่นหลักจะอยู่ที่เศรษฐกิจดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล การเติบโตสีเขียว เศรษฐกิจหมุนเวียน อุตสาหกรรมไฮเทค เกษตรกรรมเชิงนิเวศ และการปฏิบัติตามพันธสัญญาด้านสภาพอากาศ

    ณ สิ้นปี 2565 เศรษฐกิจเวียดนามมีมูลค่า 409 พันล้านดอลลาร์ และรายได้ต่อหัวอยู่ที่ประมาณ 4,100 ดอลลาร์ เวียดนามลงนามเขตการค้าเสรี 15 ฉบับกับ 60 ประเทศและเขตปกครอง ในปี 2565 เวียดนามมีอัตราการเติบโตของ GDP 8% การนำเข้าและส่งออกมีมูลค่า 732 พันล้านดอลลาร์ และเกินดุลการค้า 11 พันล้านดอลลาร์ เวียดนามได้ต้อนรับนักลงทุนต่างชาติจาก 142 ประเทศและเขตปกครอง มีการจัดตั้งโครงการมากกว่า 36,400 โครงการ ด้วยทุนจดทะเบียนรวม 440,000 ล้านดอลลาร์

    เวียดนามศูนย์กลางกระจายการผลิตของบริษัทญี่ปุ่นในอาเซียน

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/business/companies/more-japanese-firms-opt-for-vietnam-after-china-4210051.html
    เวียดนามกำลังเติบโตเป็นศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญสำหรับบริษัทญี่ปุ่นที่ต้องการกระจายการผลิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

    ผู้ผลิตได้ลงทุนในอุปกรณ์ขั้นสูงและภาคส่วนอื่นๆ ในเวียดนาม ส่วนหนึ่งเป็นผลของเงินอุดหนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นเพื่อช่วยให้บริษัทต่างๆ โยกออกจากจีน และกระจายการผลิตไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นายมัตสึโมโตะ โนบุยูกิ หัวหน้าสำนักงานตัวแทน JETRO กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับ Nikkei Asia

    ผลสำรวจล่าสุดโดยเจโทรพบว่า 60% ของนักลงทุนญี่ปุ่นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ระบุว่า พวกเขาวางแผนที่จะขยายการดำเนินงานในเวียดนามภายใน 2 ปีข้างหน้าซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์สูงที่สุดในอาเซียน และเป็นอันดับสามในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รองจากอินเดียและบังกลาเทศเท่านั้น

    นายโนบุยูกิ ตีความว่า ความสนใจของญี่ปุ่นต่อเวียดนามที่เพิ่มขึ้น เป็นข้อบ่งชี้ว่าโรงงานของญี่ปุ่นกำลังส่งออกมากขึ้น ไม่เพียงแต่ไปยังตลาดประเทศของตัวเองแต่ยังรวมถึงไปยังประเทศตะวันตกด้วย

    “ธุรกิจของพวกเขากำลังเปลี่ยนไป” “พวกเขากำลังสร้างห่วงโซ่อุปทานโลกขึ้นใหม่

    เวียดนามเปิดตัว e-passport 1 มีนาคม

    ที่มาภาพ: https://hanoitimes.vn/vietnam-to-issue-chipped-passports-next-month-322998.html

    กระทรวงความมั่นคงสาธารณะ เปิดเผยว่า เวียดนามจะเปิดตัว e-passport หรือหนังสือเดินทางธรรมดาแบบฝังชิปตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม

    ทั้งนี้หนังสือเดินทางแบบฝังชิปจะทำให้ชาวเวียดนามเดินทางไปต่างประเทศได้สะดวกขึ้น พร้อทปกป้องข้อมูลของผู้ถือ และยกระดับการตรวจคนเข้าเมือง

    หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ไม่เพียงแต่ประกอบด้วยข้อมูลส่วนบุคคลพื้นฐาน เช่น ชื่อ-นามสกุล วันเกิด และสัญชาติเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคุณลักษณะไบโอเมตริกซ์ หรือทางชีวภาพ เช่น ลายนิ้วมือ ใบหน้า และกรุ๊ปเลือด

    สัญลักษณ์ชิปจะพิมพ์อยู่บนปกหน้าของหนังสือเดินทาง ขณะที่ชิปฝังอยู่ในปกหลังพร้อมกับลายเซ็นดิจิทัลของหน่วยงานที่ออกหนังสือเดินทาง

    ข้อมูลทั้งหมดถูกจัดเก็บไว้ในชิป ทำให้ยากต่อการคัดลอกและปลอมแปลง จึงมั่นใจได้ถึงความปลอดภัยของข้อมูลสำหรับเจ้าของ

    ชาวเวียดนามทุกคนสามารถเลือกได้ระหว่างหนังสือเดินทางแบบฝังชิปและไม่ฝังชิป เมื่อยื่นขอหนังสือเดินทางเล่มใหม่

    หนังสือเดินทางที่ยังไม่ฝังชิปยังคงใช้ได้ ผู้ถือหนังสือเดินทางที่ยังไม่ฝังชิปจะเปลี่ยนเป็น e-passport ได้เมื่อเล่มเดิมหมดอายุ

    กระทรวงความมั่นคงสาธารณะระบุว่า หนังสือเดินทางที่ฝังชิปจะสอดคล้องมาตรฐานสากลว่าด้วยการข้ามแดน ผู้ถือหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์อาจได้รับสิทธิพิเศษในการปฏิบัติตามข้อกำหนดการเข้าประเทศทั้งหมดและผ่านการตรวจคนเข้าเมือง

    ปัจจุบันหนังสือเดินทางแบบฝังชิปมีให้บริการในกว่า 100 ประเทศและเขตปกครอง โครงการยกเว้นวีซ่าของสหรัฐฯ อนุญาตให้ประชาชนจาก 40 ประเทศและเขตปกครองที่ออกหนังสือเดินทางแบบฝังชิปเข้าประเทศโดยไม่ต้องใช้วีซ่า ซึ่งรวมถึงออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร เบลเยียม ฝรั่งเศส ฟินแลนด์ เยอรมนี และญี่ปุ่น

    รายงานของ Henley Passport Index ระบุว่า พาสปอร์ตเวียดนามติดอยู่ในอันดับที่ 88 ของพาสปอร์ตที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก

    ในการจัดอันดับปี 2566 ดัชนีหนังสือเดินทาง Henley Passport Index ระบุว่า ผู้ถือหนังสือเดินทางเวียดนามสามารถเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องใช้วีซ่าหรือมีสิทธิ์ได้รับ e-visa หรือวีซ่าเมื่อเดินทางมาถึงใน 55 ประเทศและเขตปกครองทั่วโลก

    ญี่ปุ่นครองหนังสือเดินทางที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก โดยได้รับอนุญาตให้เข้า 193 ประเทศโดยไม่ต้องใช้วีซ่า ตามมาด้วยสิงคโปร์และสาธารณรัฐเกาหลีที่ไม่ต้องใช้วีซ่า 192 ประเทศ เยอรมนีและสเปนรั้งอันดับสามไม่ต้องใช้วีซ่า 190 ประเทศ

    Henley Passport Index เป็นการจัดอันดับพาสปอร์ตทั้งโลกรายแรกและเชื่อถือได้ โดยพิจารณาจากจำนวนจุดหมายปลายทางที่ผู้ถือสามารถเข้าถึงได้โดยไม่ต้องใช้วีซ่า ดัชนีอิงตามข้อมูลพิเศษจากสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ซึ่งเป็นฐานข้อมูลการเดินทางที่ใหญ่ที่สุดและแม่นยำที่สุด และปรับปรุงโดยทีมวิจัยของ Henley & Partners ทำแบบสำรวจสำหรับหนังสือเดินทาง 199 เล่มและ 227 ประเทศและเขตปกครองทั่วโลก โดยอัปเดตทุกไตรมาส

    กัมพูชาได้รับสิทธิการค้าจากสหราชอาณาจักร

    ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/501240564/uk-to-implement-new-trading-scheme-for-cambodia/
    กัมพูชาจะเริ่มได้รับประโยชน์ในเดือนเมษายนจากโครงการการค้าประเทศกำลังพัฒนา (Developing Countries Trading Scheme -DCTS) ของสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นรูปแบบศุลกากรใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวโดยประเทศในยุโรปในเดือนสิงหาคม 2565

    นายโดมินิก วิลเลียมส์ เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำกัมพูชากล่าวว่า DCTS จะเข้ามาแทนที่ Generalized Scheme of Preferences (GSP)ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไปเดิม และจะมีผลบังคับใช้ในเดือนเมษายน กัมพูชาจะเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลประโยชน์โดยอัตโนมัติ

    กัมพูชาได้รับประโยชน์จาก GSP ของสหราชอาณาจักรซึ่งให้สิทธิ์การส่งออกแบบปลอดภาษีและการเข้าถึงตลาดในสหราชอาณาจักรแบบไม่มีโควตา

    แต่ DCTS จะเข้ามาแทนที่และยกระดับสิทธิพิเศษทางการค้าเดิม ด้วยแนวทางใหม่ที่เกี่ยวข้องกับแหล่งกำเนิดสินค้าที่ส่งออกจากกัมพูชาไปยังสหราชอาณาจักร

    ประเด็นสำคัญที่เปลี่ยนไปของทั้งสองสิทธิประโยชน์ คือ กฎแหล่งกำเนิดสินค้า นายวิลเลียมส์กล่าว โดยอธิบายว่า สิทธิการค้าใหม่ทำให้สินค้าที่ผลิตบางส่วนในกัมพูชาและบางส่วนผลิตในประเทศอื่นสามารถส่งออกไปยังสหราชอาณาจักรได้ง่ายขึ้น

    สินค้าที่ผลิตในกัมพูชา 100% สามารถเข้าไปยังสหราชอาณาจักรได้โดยปลอดภาษีแล้ว

    ในปี 2565 สหราชอาณาจักรเป็นปลายทางสุดท้ายของการส่งออก 3.94% ของกัมพูชาทั้งหมด ตามข้อมูลจากกรมศุลกากรและสรรพสามิต ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเสื้อผ้า

    เพน โสวิเชษฐ โฆษกกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กัมพูชาจะส่งเสริมการส่งออกไปยังตลาดสหราชอาณาจักรผ่าน DCTS โดยหวังว่าจะมีการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications-GI) เช่น พริกไทยจากกัมปอต หรือน้ำตาลปี๊บ

    สิงคโปร์ FDI อันดับหนึ่งในเมียนมารอบ 10 เดือน

    ที่มาภาพ: https://mizzima.com/article/garment-workers-face-dire-consequences-due-coup
    บริษัทจดทะเบียนในสิงคโปร์ 15 แห่งอัดฉีดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมูลค่า 1.157 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเข้าสู่เมียนมาในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา (เม.ย.-ม.ค.) ของปีงบประมาณปัจจุบัน 2565-2566 จากข้อมูลสถิติของ สำนักงานด้านการลงทุนและกิจการ(Directorate of Investment and Company Administration-DICA)

    บริษัทในสิงคโปร์ส่วนใหญ่ลงทุนในการพัฒนาเมือง อสังหาริมทรัพย์ พลังงาน และภาคการผลิต

    เขตปกครองพิเศษฮ่องกงเป็นนักลงทุนรายใหญ่อันดับสองในปีงบประมาณนี้ ด้วยเงินทุนประมาณกว่า 165 ล้านดอลลาร์จาก 12 องค์กรและองค์กรที่มีอยู่เดิม ขณะที่จีนติดอันดับที่สามในกลุ่มธุรกิจที่มีมูลค่าการลงทุนมากกว่า 105 ล้านดอลลาร์จาก 36 ธุรกิจและธุรกิจที่มีอยู่เดิม

    สาธารณรัฐเกาหลีและจีน (ไทเป) มีประเทศละสองบริษัทลงทุนในเมียนมา ขณะที่เบลีซ ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร มีประเทศละหนึ่งบริษัทที่เข้าลงทุนเช่นกันในช่วงสิบเดือนที่ผ่านมา ก็เพิ่มการลงทุนเช่นกัน ส่วนบริษัทที่มีอยู่เดิมจากบังคลาเทศ ญี่ปุ่น เซเชลส์ จีนไทเป จีน เขตปกครองพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐเกาหลี อินเดีย ไทย สหราชอาณาจักร ไทย สวิตเซอร์แลนด์ และซามัว ก็ได้ลงทุนเพิ่มเช่นกัน

    คณะกรรมการการลงทุนเมียนมา(Myanmar Investment Commission ) เห็นชอบโครงการต่างประเทศ 70 โครงการจาก 8 ประเทศในช่วงเดือนเมษายน-มกราคม ของปีงบประมาณ 2565-2566 ปัจจุบัน เมียนมาดึงดูดเงินทุนได้ 1.476 พันล้านเหรียญสหรัฐในปีงบประมาณนี้ ซึ่งรวมถึงการลงทุนเพิ่มโดยองค์กรที่มีอยู่เดิม จากรายงานของ DICA

    บริษัทเหล่านี้ประกอบธุรกิจในภาคเกษตรกรรม เหมืองแร่ การผลิต พลังงาน โรงแรมและการท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ และภาคบริการตามลำดับ การลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในภาคการผลิต

    สิงคโปร์เป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในเมียนมาในปีก่อนหน้า โดยมีมูลค่า FDI รวม 1.85 พันล้านดอลลาร์ในปีงบประมาณ 2562-2563 จาก 2.4 พันล้านดอลลาร์ในปีงบประมาณ 2561-2562 และ 724.4 ล้านดอลลาร์ในช่วงงบประมาณย่อย (เมษายน-กันยายน 2561) ส่วนปีงบประมาณ 2560-2561 มีมูลค่า 2.16 พันล้านดอลลาร์ ปีงบประมาณ 2559-2560 มีมูลค่า 3.8 พันล้านดอลลาร์ ในปีงบประมาณ 2558-2559 มีมูลค่า 4.25 พันล้านดอลลาร์ ในปีงบประมาณ 2557-2558 มีมูลค่า 4.29 พันล้านดอลลาร์ ในปีงบประมาณ 2556-2557 มีมูลค่า 2.3 พันล้านดอลลาร์ และ 418 ล้านดอลลาร์ ในปีงบประมาณ 2555-2556 ตามลำดับ

    นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่อันดับสองในเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวา