ASEAN Roundup ประจำวันที่ 6-12 มิถุนายน 2564
เวียดนามดึงสิงคโปร์ลงทุนในดานัง

เมื่อเร็วๆ นี้ดานังได้แก้ไขแผนแม่บทปี 2030 โดยมีวิสัยทัศน์ที่จะเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและสังคมสำหรับผู้ประกอบการ นวัตกรรม การพาณิชย์ และการเงินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2045
บริษัทในสิงคโปร์ได้ลงทุนใน 28 โครงการในเมืองดานัง มูลค่ารวม 838 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้สิงคโปร์เป็นแหล่งลงทุนจากต่างประเทศใหญ่เป็นอันดับสองในดานัง คิดเป็น 22% ของทุนจดทะเบียนโดยรวมในเมืองดานัง นอกจากนี้ ในบรรดา 112 ประเทศที่ลงทุนในเวียดนามในปี 2020 นั้น สิงคโปร์เป็นผู้นำด้วยการลงทุนมูลค่า 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 31.5% ของการลงทุนทั้งหมด
ดานังกำลังเร่งดึงการลงทุนของสิงคโปร์ในด้านต่างๆ เช่น การท่องเที่ยว การสร้างท่าเรือและสนามบิน อุตสาหกรรมทางทะเล การผลิตที่ใช้เทคโนโลยีสูง ระบบอัตโนมัติ เศรษฐกิจดิจิทัล การศึกษา และการดูแลสุขภาพ และอื่นๆ
สิงคโปร์มีชื่อเสียงในด้านระบบการผลิตระดับโลก และแรงงานที่มีทักษะและปรับตัวได้ สิงคโปร์ติดอันดับ 3 ในดัชนีบุคลากรที่ความสามารถในการแข่งขันทั่วโลกประจำปี 2020 Global Talent Competitiveness Index
สิทธิประโยชน์สำหรับนักลงทุนชาวสิงคโปร์ในดานัง
นักลงทุนชาวสิงคโปร์มีสิทธิ์ได้รับสิทธิประโยชน์หลายด้านจากการลงทุน แม้จะขึ้นอยู่กับประเภทของอุตสาหกรรมและมูลค่าของการลงทุน
นิคมอุตสาหกรรมของดานัง (IPs) มีเงื่อนไขที่เอื้อแก่นักลงทุนต่างชาติ ดานังมีนิคมทรัพย์สินทางปัญญา 6 แห่ง และนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค 1 แห่ง โดยนิคมอุตสาหกรรมไฮเทคนี้จัดไว้รองรับบริษัทที่ผลิตผลิตภัณฑ์ล้ำสมัย เช่น ชิปคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ทางการแพทย์
นิคมอุตสาหกรรมไฮเทคดานัง ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในช่วง 4 ปีแรก และเก็บภาษีในอัตรา 5% ใน 9 ปีถัดไป จากนั้นจะเก็บ 10% เป็นเวลา 2 ปี การลงทุนที่มีมูลค่ามากกว่า 130 ล้านดอลลาร์สหรัฐจะเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล 10% เป็นเวลา 30 ปี

โครงสร้างพื้นฐานและความเชื่อมโยงกับภูมิภาค
ดานังเป็นประตูสู่ภาคกลางของเวียดนามและตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor: EWEC) ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาสำคัญเพื่อส่งเสริมการรวมตัวของเมียนมา ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม
ดานังขึ้นชื่อในด้านเครือข่ายการขนส่งที่เชื่อมโยงกัน สถานีรถไฟของเมืองเป็นสถานีรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในภาคกลาง และมีทางหลวงสายใหม่ดานัง-กว่างหงายเชื่อมดานังกับเขตเศรษฐกิจชูไลและดุงกวาง
ดานังกำลังวางแผนที่จะเปิดประกวดราคาสำหรับการพัฒนาท่าเรือใหม่ในปีหน้า โครงการท่าเรือ Lien Chieu จะรองรับรองรับการขนส่งสินค้าน้ำหนัก 100,000 ตัน และตู้สินค้าขนาด 20 ฟุต (TEU) จำนวน 8,000 ตู้ และสามารถรองรับการขนสินค้าได้ 46 ล้านตันต่อปีภายในปี 2573
เจ้าหน้าที่เมืองดานังมองความสำเร็จของสิงคโปร์กับท่าเรือสิงคโปร์เป็นแบบอย่าง ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นศูนย์กลางการขนถ่ายตู้สินค้าที่พลุกพล่านที่สุดในโลก และมีการเชื่อมต่อไปยังท่าเรือระหว่างประเทศอีก 123 แห่ง ท่าเทียบเรือสินค้าบรรจุตู้อัตโนมัติขนาดใหญ่ชื่อ Tuas Port กำลังสร้างขึ้นที่ท่าเรือ และเมื่อแล้วเสร็จในปี 2040 จะเป็นท่าเทียบเรืออัตโนมัติเต็มรูปแบบที่ใหญ่ที่สุดในโลก
นอกจากการพัฒนาท่าเรือแล้ว ดานังยังจะปรับปรุงสนามบินนานาชาติเป็น 2 รันเวย์ ขยายอาคารผู้โดยสาร 1 เพื่อรองรับผู้โดยสารได้มากถึง 14 ล้านคนต่อปี สร้างอาคารผู้โดยสารใหม่หรือเทอร์มินัล 3 และขยายอาคารขนส่งสินค้า
เวียดนามเน้นโครงการขนส่งในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง

นอกจากนี้ ยังเป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทเฉพาะด้านสำหรับถนน รถไฟ การเดินเรือ ทางน้ำภายในประเทศ และการขนส่งทางอากาศ ในช่วงปี 2021-2030 โดยวางวิสัยทัศน์ไปจนปี 2050 ซึ่งได้เสนอให้นายกรัฐมนตรีอนุมัติแล้ว
โดยจะให้ความสำคัญกับโครงการทางด่วนหลายโครงการ เช่น เจิวด็ก-เกิ่นเทอ – ซอกจาง , เกิ่นเทอ-ก่าเมา, หมี อาน-กาวหลัญ, กาวหลัญ-โล เต-สักซ้า, ห่าเตียน-สักซ้า และฮอง หงือ-จ่าวิญ
กระทรวงฯ ยังเสนอให้จัดหาเงินสำหรับทางรถไฟ โฮจิมินห์-เกิ่นเทอ และท่าเรือจ่าวิญ (ในจังหวัดซอกจาง) และการปรับปรุงคลองชอ เกา ในระยะที่สองรวมถึงการพัฒนาแนวเดินเรือทะเลและเครือข่ายโลจิสติกส์ในภาคใต้และการยกระดับเส้นทางน้ำในตอนใน 3 เส้นทาง
กระทรวงฯ จะจัดสรรงบประมาณเกือบ 252.7 ล้านล้านด่อง (11 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในแผนการลงทุนระยะกลางสำหรับช่วงปี 2021-2025 ในวงเงินนี้ กระทรวงมีแผนจะจัดสรรเงิน 50.6 ล้านล้านด่อง (2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) หรือ 20% ของการลงทุนทั้งหมด ไปให้กับสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงเพื่อดำเนินโครงการทางด่วนภายใต้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ-เอกชน และโครงการสำคัญอื่นๆ
กัมพูชายกสีหนุวิลล์เป็นเขตเศรษฐกิจเอนกประสงค์

จังหวัดพระสีหนุหรือสีหนุวิลล์ ที่อยู่บนชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของกัมพูชา และมีท่าเรือน้ำลึกเพียงแห่งเดียวของประเทศ จะได้รับการยกระดับเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษอเนกประสงค์(SEZ) เพื่อเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจให้กับนักลงทุน โดยนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีฮุนเซน ได้ลงนามในกฤษฎีกาย่อยเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน
การตัดสินใจดังกล่าวเป็นไปตามแผนของการท่าเรือสีหนุวิลล์ ที่จะขยายด้วยการก่อสร้างท่าบริการตู้สินค้าแห่งใหม่ที่มีความยาว 350 เมตร และการขุดลอกทะเลให้มีความลึก 14.5 เมตร
จากกฤษฎีกาย่อย การยกระดับเป็น SEZ จะต้องได้รับความร่วมมือจากหลายกระทรวงเพื่อให้แน่ใจว่ามีการกำหนดนโยบายการใช้ที่ดินและการจัดการเพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินการ คำแนะนำเชิงกลยุทธ์และด้านเทคนิค และความร่วมมือด้านวิชาการและการเงินกับพันธมิตรด้านการพัฒนาระดับประเทศและระดับนานาชาติ
เคียง เพียรัม โฆษกสำนักงานบริหารจังหวัดสีหนุวิลล์ ชี้แจงว่า รัฐบาลได้ประกาศเจตนารมณ์ก่อนหน้านี้ที่จะเปลี่ยนจังหวัดให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตเศรษฐกิจเฉพาะ แต่ไม่มีกลไกในการดำเนินการดังกล่าว จึงต้องออกกฤษฎีกาย่อยเพื่อให้ดำเนินการได้
ขณะเดียวกัน ท่าเทียบตู้สินค้า ซึ่งจะเปิดให้เรือขนาดใหญ่ที่มีรองรับตู้สินค้าขนาด 5,000 TEU เข้าเทียบท่า โดยการก่อสร้างเริ่มขึ้นในต้นปี 2022 และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2024
ซิน จันธี ประธานสมาคมโลจิสติกส์กัมพูชากล่าวว่า นโยบายที่ชัดเจนของรัฐบาลเกี่ยวกับการยกระดับสถานะของจังหวัดจะช่วยเร่งการพัฒนาในทุกพื้นที่
“นักลงทุนชอบทำเลที่สะดวกต่อการคมนาคมขนส่งโดยเฉพาะทางน้ำ เป็นที่นิยมและเป็นวิธีการขนส่งที่ไม่แพงไปยังจุดหมายปลายทางระหว่างประเทศ ประมาณ 80% ของสินค้ากัมพูชาที่ส่งออกผ่านท่าเรือสีหนุวิลล์”
ทางหลวงพนมเปญ-วีหนุวิลล์คืบหน้ากว่าครึ่ง

นายวาสิม โสรยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและคมนาคม เปิดเผยว่า การก่อสร้างทางด่วนพนมเปญ-สีหนุวิลล์มูลค่าเกือบ 2 พันล้านดอลลาร์ คืบหน้า 51.35% และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2023
โครงการทางด่วนนี้ลงทุนโดยบริษัท PPSHV Expressway Co Ltd ของกัมพูชา ทางด่วนสายแรกในกัมพูชาจะมีความยาวรวม 190.3 กิโลเมตรและทอดยาวจากเขต Por Sen Chey ของพนมเปญไปยัง Commune III ของสีหนุวิลล์ นายกรัฐมนตรีฮุนเซนได้วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2019
ถนนมีความกว้าง 24.5 เมตร มีด้านละ 2 เลน ก่อสร้างข้อตกลงสัมปทานแบบให้เอกชนก่อสร้างและโอนทรัพย์สินให้รัฐ แล้วจึงเข้าบริหารจัดการ (Build-Transfer-Operate: BTO)
นายโสรยากล่าวว่า “โครงการนี้จะช่วยส่งเสริมภาคการขนส่งสินค้าและการค้า (ด้วยการเชื่อมต่อที่รวดเร็วขึ้น) กับท่าเรือน้ำลึกในสีหนุวิลล์” ขณะเดียวกัน โครงการปรับปรุงถนนมูลค่ากว่า 219 ล้านดอลลาร์ สำหรับถนนแห่งชาติ 3 ที่เชื่อมพนมเปญกับเมืองกำปอต แล้วเสร็จ 98.04% และกรณีข้อพิพาทที่เกี่ยวกับโครงการ รวมทั้งการชดเชยครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้าง ได้ปิดปลายเดือนที่แล้ว
โครงการดังกล่าวมีระยะทางกว่า 134 กิโลเมตร เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 และกำลังก่อสร้างโดย China Road and Bridge Corp และควบคุมดูแลทางเทคนิคโดย Guangzhou Wanan Construction Supervision Co Ltd โดยเสริมว่าได้รับทุนสนับสนุนจากสัมปทานในจีน และกองทุนสมทบจากรัฐบาลกัมพูชา
“ปัจจุบันกระทรวงโยธาธิการและคมนาคมกำลังเร่งดำเนินการติดตั้งกล้องจับความเร็วและความปลอดภัย เครื่องชั่งน้ำหนักใต้ดิน และสถานีชั่งน้ำหนัก สะพานลอยคนข้าม ถนนทางหลวงหมายเลข 3 ใน Tram Khna ของจังหวัดตาแก้ว ทางเหนือ มีกำหนดจะแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนมิถุนายน 2021”
นอกจากนี้โครงการอาจจะแล้วเสร็จเร็วกว่าที่วางแผนไว้ 1 ปี แต่ยังไม่สามารถระบุเวลาเปิดใช้งานได้
ด้วยจำนวนโรงงาน สถานประกอบการด้านการผลิต และธุรกิจอื่นๆ จำนวนที่ใช้เส้นทางนี้ ทางหลวงหมายเลข 3 จึงถูกสร้างขึ้นโดยคำนึงถึงปัจจัยทางเทคนิค อีกทั้งกระทรวงสนับสนุนโครงการนี้ปัจจุบันมีการบรรทุกเกินน้ำหนัก
“ทางหลวงหมายเลข 3 จะเป็นทางเลือกเส้นทางการจราจรจากทางหลวงหมายเลข 4 ไปยังท่าเรือสีหนุวิลล์ เชื่อมต่อกับทางเดินทะเลใต้ระหว่างเกาะกงและจังหวัดตราดของประเทศไทย และเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจกับ [จังหวัดห่าเตียง] เวียดนาม และจะให้มีส่วนต่อภาคการท่องเที่ยวด้วย
นายจัน ดารา นายกสมาคมธุรกิจโลจิสติกส์ (โลบา) ชี้ว่า โครงการเหล่านี้เป็นเส้นทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่เชื่อมต่อไปยังท่าเรือสีหนุวิลล์ได้ดีขึ้น
“ถนนเหล่านี้เป็นทางเลือกที่สำคัญสำหรับการขนส่งสินค้าและให้บริการแก่ภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะบริเวณชายฝั่งทะเล ตามถนนสายนี้ มีโรงงาน สถานประกอบการหลายแห่ง ดังนั้นคาดว่าภาคขนส่งจะมีศักยภาพที่ดี”
FDI ฟิลิปปินส์ 3 ไตรมาสแรกโต 45%

เงินที่ไหลเข้าในเดือนมีนาคมส่งผลให้ FDI สะสมสุทธิในไตรมาสแรกมีมูลค่า 2.4 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 45% จาก 1.6 พันล้านดอลลาร์ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสแรกได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้น 113.2% ของการลงทุนสุทธิในตราสารหนี้ของผู้ที่ไม่มีถิ่นฐานในประเทศ (non-residents) เป็น 1.4 พันล้านดอลลาร์จาก 671 ล้านดอลลาร์ การนำกำไรไปลงทุนเพิ่ม สูงขึ้น 5.4% เป็น 225 ล้านดอลลาร์จาก 213 ล้านดอลลาร์ในปีก่อนหน้า
“เดือนมีนาคมปีนี้ FDI เพิ่มขึ้นเนื่องจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ดีขึ้น ท่ามกลางการกลับมาดำเนินกิจกรรมภายในประเทศอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่ยังคงปฏิบัติตามมาตรฐานด้านสุขภาพขั้นต่ำ และความพยายามของรัฐบาลในการเร่งโครงการฉีดวัคซีน” BSP ระบุในแถลงการณ์
“การไหลเข้าสุทธิของ FDI ในช่วงเวลาดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากการลงทุนสุทธิในตราสารหนี้ของ non-residents มูลค่า 380 ล้านดอลลาร์จาก 45 ล้านดอลลาร์ในเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว” การลงทุนสุทธิของ non-residents ในตลาดทุนเพิ่มขึ้น 52.8% เป็น 349 ล้านดอลลาร์ในเดือนมีนาคม โดยเพิ่มขึ้นจาก 229 ล้านดอลลาร์ในเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว
ข้อมูลแสดงให้เห็นว่าเงินทุนในเดือนมีนาคมที่ได้จากการเสนอขายหุ้น (equity capital placements) ส่วนใหญ่มาจากสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ส่วนใหญ่ส่งเข้าภาคธุรกิจไฟฟ้า แก๊ส ไอน้ำ และเครื่องปรับอากาศ และอุตสาหกรรมการผลิต
นายเบนจามิน ดิอกโน ผู้ว่าการธนาคารกลาง กล่าวว่า การเปิดตัวโครงการฉีดวัคซีนจะส่งผลให้มีงานทำมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วขึ้นในเดือนต่อไป จากภาวะถดถอย 5 ไตรมาสติดต่อกัน
“อัตราการว่างงานสูงสุดในเดือนเมษายน 2020 ที่ 17.6% แต่อยู่ที่ 8.7% ในเดือนเมษายน 2021 การวัคซีนสามารถ [กระตุ้น] การสร้างงาน”
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งฟิลิปปินส์เปิดเผยว่า อัตราการว่างงานในเดือนเมษายนเพิ่มขึ้นเป็น 8.7% จาก 7.1% ในเดือนมีนาคม จำนวนผู้ว่างงานลงทะเบียน 4.14 ล้านคนในเดือนเมษายน
ไทยเสนอ 4 แนวสร้างความร่วมมือ MLC

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอ 4 แนวทางส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก MLC ใน การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 6 ที่นครฉงชิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมุ่งมั่นส่งเสริมความร่วมมือด้านวัคซีน การฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่าน BCG เศรษฐกิจดิจิทัล และการบริหารจัดการน้ำในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 6 ที่นครฉงชิ่ง มุ่งให้ลุ่มน้ำโขงเป็นอนุภูมิภาคสีเขียวที่ปลอดภัยและมีนวัตกรรมมากกว่าเดิมหลังสถานการณ์โควิด-19
เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2564 นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 6 (Mekong-Lancang Cooperation – MLC) ภายใต้หัวข้อ “รวมพลังสู้โควิด-19 และความร่วมมือเพื่อการพัฒนาภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19” ณ นครฉงชิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน
ที่ประชุมได้ทบทวนความสำเร็จของกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาความร่วมมือในอนาคต เช่น ความร่วมมือด้านสาธารณสุขในการป้องกันและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงการประยุกต์ใช้การแพทย์แผนดั้งเดิมในการป้องกันและรักษาโควิด-19 และโรคระบาดอื่นๆ การฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาด ความร่วมมือระดับรัฐบาลท้องถิ่น ความร่วมมือระดับประชาชน และการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะด้านการบริหารจัดการน้ำในลุ่มแม่น้ำโขง-แม่น้ำล้านช้าง และการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศกรอบ MLC ยังได้เห็นพ้องให้เริ่มดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการของกรอบ MLC ระยะ 5 ปี ฉบับใหม่ เพื่อทดแทนฉบับปัจจุบันที่กำลังจะหมดอายุลงในปี 2564
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกกรอบ MLC และเสนอแนวทาง ดังนี้
(1) ด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะเรื่องการเข้าถึงวัคซีน
(2) การฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเสนอความร่วมมือด้านการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ที่เน้นนวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่มและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในสาขาอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร พลังงานและวัสดุ สุขภาพและการแพทย์ การท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งล้วนเป็นสาขาที่อนุภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้าง มีศักยภาพ
(3) การส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างเขตเศรษฐกิจชายแดนกับการพัฒนาระเบียงนวัตกรรม (innovation corridors) เพื่อสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและอุตสาหกรรมภายใต้เศรษฐกิจ BCG ตลอดจนการส่งเสริมความร่วมมือในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (digital transformation) เพื่อสนับสนุนการปรับตัวของภาครัฐและภาคเอกชนให้มีความพร้อมในภาวะปกติใหม่ (new normal) อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน
(4) เน้นความสำคัญของทรัพยากรน้ำต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนริมสองฝั่งแม่น้ำโขง และขอให้ประเทศสมาชิกกรอบ MLC ทุกประเทศร่วมมือกัน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืนในการบริหารจัดการน้ำข้ามพรมแดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแบ่งปันข้อมูลน้ำ และการแจ้งเตือนล่วงหน้าเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ปลายน้ำสามารถเตรียมตัวได้อย่างทันท่วงที ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศสมาชิกกรอบ MLC และการสนับสนุนกรอบ MLC ในระดับประชาชน
ที่ประชุมได้รับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุมฯ จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ (1) ข้อริเริ่มว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างรัฐบาลท้องถิ่นของประเทศแม่โขง-ล้านช้าง (2) แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศแม่โขง-ล้านช้าง และ (3) แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านการแพทย์แผนดั้งเดิมในกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง
อนึ่ง กรอบ MLC พัฒนามาจากข้อริเริ่มของไทยในปี 2555 โดยมุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนุภูมิภาคฯ และลดความเหลื่อมล้ำด้านการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิกกรอบ MLC ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ประเทศไทย และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยมีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบ MLC ครั้งที่ 1 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 และการประชุมผู้นำกรอบ MLC ครั้งที่ 1 เมื่อเดือนมีนาคม 2559 ตามลำดับ
อาเซียน-จีนร่วมพัฒนาอย่างยั่งยืน

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศผลักดันความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติอาเซียน-จีน เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 30 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-จีน ส่งเสริมการใช้ BCG โมเดล เพื่อเป็นยุทธศาสตร์ในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-จีน สมัยพิเศษ ณ นครฉงชิ่ง
เมื่อวันที่ 6-8 มิถุนายน 2564 นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-จีน สมัยพิเศษ เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 30 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-จีน ณ นครฉงชิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ตามคำเชิญของนายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐประชาชนจีน
ที่ประชุมฯ หารือถึงพัฒนาการและความสำเร็จของความสัมพันธ์ฯ ตลอด 30 ปีในทุกมิติ โดยประเทศสมาชิกอาเซียนชื่นชมการสนับสนุนของจีนแก่อาเซียนในการรับมือกับโควิด-19 เช่น การสนับสนุนเงินจำนวน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สมทบกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-19 และการสนับสนุนวัคซีนแก่ประเทศต่างๆ รวมถึงบทบาทของจีนในการเป็นคู่เจรจาแรกที่ยกระดับสถานะความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ เมื่อปี 2546 และเป็นภาคีภายนอกของอาเซียนประเทศแรกที่ให้สัตยาบันความตกลง RCEP เมื่อปี 2564 ตลอดจนร่วมยินดีที่อาเซียนและจีนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 1 ของกันและกันในปัจจุบัน
ที่ประชุมฯ ร่วมกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ฯ ในอนาคต โดยเห็นพ้องส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันในทุกมิติ โดยเฉพาะการรับมือกับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข การฟื้นฟูหลังสถานการณ์แพร่ระบาด และการส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยได้กำหนดให้ปี 2564-2565 เป็นปีแห่งความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนอาเซียน-จีน นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศ เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจ สถานการณ์ในทะเลจีนใต้ และสถานการณ์ในเมียนมา
ในการประชุมครั้งนี้ ไทยสนับสนุนการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียน-จีนอย่างรอบด้าน และย้ำว่า ภายใต้สถานการณ์ที่ทุกประเทศได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และพยายามเร่งฟื้นฟูประเทศภายหลังการแพร่ระบาดยุติลง ประเทศไทยและอาเซียนจึงไม่ต้องการเห็นการแข่งขันและการเผชิญหน้าระหว่างมหาอำนาจ แต่ควรส่งเสริมความร่วมมือที่เอื้อประโยชน์ต่อทุกฝ่ายเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่สงบและสันติ และความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน และโดยที่ความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนจะเป็นหัวใจสำคัญสำหรับความสัมพันธ์อาเซียน-จีนในอนาคต ไทยได้เสนอให้ทั้งสองฝ่ายร่วมมือกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการขจัดความยากจน การเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร การเสริมสร้างศักยภาพในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และพิจารณาใช้เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio, Circular and Green Economy Model — BCG) เพื่อเป็นยุทธศาสตร์ในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน รวมทั้งได้เสนอเอกสารรายชื่อโครงการความร่วมมืออาเซียน-จีน เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน ซึ่งรวบรวมตัวอย่างกิจกรรมและโครงการด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ไทยจะดำเนินการ ทั้งในกรอบทวิภาคีกับจีน กรอบอาเซียน และกรอบพหุภาคี จำนวน 30 โครงการ เพื่อแสดงความมุ่งมั่นของไทยในการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ และเป็นสัญลักษณ์ของความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับจีนในวาระที่มีความสำคัญนี้
การประชุมครั้งนี้นับเป็นการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาในลักษณะพบปะหารือเป็นครั้งแรกตั้งแต่สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่จีนจัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 30 ปีของความสัมพันธ์ฯ ในปี 2564