ThaiPublica > เกาะกระแส > “เศรษฐา” รับข้อเรียกร้องปลดล็อคปม IUU-เจรจาเปิดน่านน้ำทำประมงไทยในอินโดนีเซีย

“เศรษฐา” รับข้อเรียกร้องปลดล็อคปม IUU-เจรจาเปิดน่านน้ำทำประมงไทยในอินโดนีเซีย

1 กันยายน 2023


“เศรษฐา” นำทีมลงพื้นที่รับ 4 ข้อเรียกร้องชาวประมงได้รับผลกระทบปม IUU ทบทวนกฎหมายประมง 13 ฉบับใน 1 สัปดาห์ และเดินหน้าปลดล็อคอุปสรรคด้านแรงงาน – กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เจรจาเปิดน่านน้ำทำประมงในอินโดนีเซีย ทวงคืนตำแหน่งเจ้าสมุทรกลับมาสู่ประเทศไทยอีกครั้ง

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่พบปะหารือปัญหาประมง จังหวัด สมุทรสงคราม

จากปัญหาผลกระทบกรณีที่สหภาพยุโรปประกาศให้ประเทศไทย  เป็นประเทศที่ทำการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ( Illegal, Unreported and Unregulated Fishing :IUU Fishing) โดยให้ใบเหลืองประเทศไทย เมื่อเดือนเมษายน ปี 2558 ปัจจุบันได้ปลดใบเหลืองประเทศไทยแล้ว เมื่อวันที่ 8 มกราคม ปี 2562  ในช่วงของการดำเนินการตามสหภาพยุโรป ประเทศไทยได้ออก พ.ร.ก.การประมง ปี 2558 ฉบับแก้ไข สร้างผลกระทบให้กับพี่น้องชาวประมงเป็นอย่างมาก จึงยื่นข้อเสนอต่อนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน

วันที่ 1  กันยายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย นางมนพร เจริญศรี สส.นครพนม พรรคเพื่อไทย นายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานคณะกรรมการนโยบายสิ่งแวดล้อม พรรคเพื่อไทย นางนลินี ทวีสิน คณะทำงานด้านนโยบายต่างประเทศ พรรคเพื่อไทย  นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม คณะทำงานด้านนโยบายการท่องเที่ยว พรรคเพื่อไทย  นางสาวณิชาภา โกวิทานนท์ อดีตผู้สมัคร สส.สมุทรสงคราม พรรคเพื่อไทย ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ  นายไผ่ ลิกค์ สส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ ร่วมลงพื้นที่รับฟังปัญหาประชาชนและภาคการประมง  ณ ท่าเทียบเรือโรงน้ำแข็งศิริไพโรจน์ จ.สมุทรสงคราม โดยมีพี่น้องชาวประมงจังหวัดสุมทรสงครามและใกล้เคียงเข้าร่วมรับฟังและสะท้อนปัญหาร่วมกว่า 200 คน

โดยมี ตัวแทนประมงในพื้นที่ประกอบด้วย นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานคณะกรรมการบริหารสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย  และนายชินชัย สถิรยากร เลขาธิการสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยได้เสนอปัญหาผลกระทบจาก IUU หลายด้านและเรียกร้องให้รัฐบาลใหม่เข้าช่วยเหลือดังนี้

1.ขอให้แก้ไขการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวในเรือประมง  ติดขัดกับประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี และคำสั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่มีประกาศการเข้าเมืองที่ถูกต้องตามกฎหมาย และไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่เกินกำหนดระยะเวลา (Overstay)

2.ขอให้อำนวยความสะดวกและลดขั้นตอนการขออนุญาตการใช้แรงงานต่างด้าว มีหน่วยงานที่รับผิดชอบมากเกินไป  ทำให้ผู้ประกอบการประสบปัญหายุ่งยาก และเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก

3.ขอให้แก้ไขกฎหมายการประมง ที่กำหนดโทษรุนแรงเกินกว่าเหตุ เช่น ในขั้นตอนการลำเลียงสัตว์น้ำ  ต้องมีการแสดงเอกสารรายชื่อแรงงานที่ลงเรือ หากมีรายชื่อแรงงานผิดคนเดียว  จะถูกปรับไม่ต่ำกว่าแสนบาท ถึงนับล้านบาท  ขึ้นอยู่กับขนาดเรือ

4.ขอให้ตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน แก้ปัญหาการประมง

5.ขอให้ยกเลิกการติดตั้งเครื่องวิทยุคมนาคมสำหรับเรือประมง (วิทยุขาวดำ) ซึ่งไม่มีความจำเป็น เป็นต้น

นายเศรษฐากล่าวหลังจากรับฟังปัญหาประมงในพื้นที่ว่า คณะทำงานที่กำลังจะจัดตั้งรัฐบาล  จะเดินหน้าทำงานเต็มที่ ในการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องชาวประมงทุกคน นับตั้งแต่ที่ตนได้รับการโปรดเกล้าแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี เรื่องแรกที่เร่งดำเนินการ คือการส่งเสริมการท่องเที่ยว ส่วนเรื่องที่ 2 ซึ่งได้ดำเนินการในต้นสัปดาห์นี้ คือ การแก้ไขหนี้สิน และในวันนี้ถือเป็นเรื่องที่ 3 คือการทำการประมง ซึ่งถือว่ามีความสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่ที่รัฐบาลจะให้ความสำคัญสูงสุด

ในเบื้องต้นได้ให้นายปลอดประสพ และคณะทำงานของพรรคเพื่อไทยจะเริ่มศึกษาการปลดล็อคปัญหาด้านแรงงาน เฉพาะกลุ่มการประมงก่อน ซึ่งจะมีการหารือร่วมกับกระทรวงแรงงาน มีแนวคิดจะทำ One stop service  เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องชาวประมง งานเอกสารที่ยังเป็นกระดาษ อยากให้ใช้ระบบออนไลน์ทั้งหมด เพื่อจะได้สะดวกขึ้น

“หากประเด็นใดที่อยู่ในอำนาจนายกรัฐมนตรี จะสามารถตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อทำงานได้โดยเร็ว และทันท่วงที  เรื่องใดที่สามารถดำเนินการได้ จะทำก่อน อาจจะทำไม่ได้ในคราวเดียวทั้งหมด เพราะยังมีเรื่องกฎกระทรวง กรม ที่จะต้องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ส่วนกฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการประมง ที่ตกไป 13 ฉบับ มั่นใจว่าจะแก้ไขได้ ฝากร้อยเอกธรรมนัส  ซึ่งมีความพร้อมที่จะช่วยเหลือเต็มที่ ปัญหาใหญ่มากมาย ต้องแก้ไขให้ทันเวลา”

ส่วนการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ทั้งเรื่องการบังคับติดตั้งวิทยุขาว ดำ บนเรือ ซึ่งไม่มีความสำคัญ อาจจะมีการพิจารณายกเลิก  รวมถึงจะขอเปิดการเจรจาระหว่างประเทศกับอินโดนีเซียในการเปิดน่านน้ำอินโดนีเซีย  เนื่องจากอินโดนีเซียมีทรัพยากร ส่วนไทยมีความรู้ความสามารถในการทำการประมง หากจัดสรรกันอย่างลงตัว จะเดินไปข้างหน้าร่วมกันได้ง่ายขึ้น โดยมีนางนลินี และนายปานปรีย์ ในการประสานงานการเจรจาระหว่างประเทศ

นายเศรษฐา ย้ำอีกว่า กฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการประมง ที่ตกไป 13 ฉบับ มั่นใจว่าจะแก้ไขได้ ส่วนที่ผู้ประกอบการที่มีความเป็นห่วงเรื่องค่าแรงที่ต้องทยอยปรับขึ้น ย้ำว่า การขึ้นค่าแรงเป็นนโยบายหลัก ต้องมีการระมัดระวัง  แต่มีความจำเป็นต้องปรับขึ้นค่าแรง เพราะค่าครองชีพที่สูงขึ้น  ซึ่งต้องทำไปพร้อมกับการให้ความสำคัญในการเพิ่มรายได้ โดยเฉพาะภาคเอสเอ็มอี  ต้องหารือร่วมกันหลายฝ่ายและทำทันทีส่วนจะเกิดประสิทธิผลเมื่อไหร่  อย่างไร  ต้องทำงานร่วมกันกับพรรคร่วมรัฐบาล เราเป็นรัฐบาลที่มีพรรคร่วม ต้องประสานความร่วมมือกัน

“8-9 ปีที่ผ่านมา ที่ประมงไทยต้องหยุดชะงัก ติดหล่ม ไม่อยากโทษใคร แม้ประเทศไทยเคยส่งออกสัตว์ประมงได้ 350,000 ล้านบาท  ตอนนี้นำเข้า 150,000 ล้านบาท  ผ่านมากี่ปีสูญเสียเงินไปเท่าไหร่ ซึ่งเราต้องไปแก้ไขกัน เดินหน้าดีกว่า อย่ามองปัญหาเก่า  ขอให้พี่น้องมั่นใจในพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลชุดใหม่  เราเป็นรัฐบาลของประชาชน เราเชื่อมั่นว่ารัฐมนตรีทุกคน มีความเป็นห่วงต่อประชาชนและมีความเป็นห่วงประเทศ” นายเศรษฐากล่าว

เร่งศึกษากฎหมายประมงใน7วัน

นายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานคณะกรรมการนโยบายสิ่งแวดล้อม พรรคเพื่อไทย  กล่าวว่า  ในช่วงที่ผ่านมาได้เริ่มดำเนินการศึกษาและหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องกฎระเบียบระดับย่อย ซึ่งอยู่ในระหว่างการศึกษาทบทวนอยู่ในขณะนี้ รวมถึงการศึกษาเรื่องกฎหมายลูกด้านการประมง โดยให้เวลาศึกษาเร่งทำงานให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งสัปดาห์

ส่วนการศึกษากฏหมายหลักด้านการประมง มีนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ จะรวบรวมข้อมูลนำเสนอต่อประธานสภาเพื่อพิจารณานำเข้าสู่ที่ประชุมสภาโดยเร็วที่สุด   ส่วนการเจรจาระหว่างประเทศ  จะมีการเริ่มเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านก่อน  เพื่อนำไปสู่การเจรจากับองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations :FAO) ซึ่งเป็นเจ้าของระเบียบ IUU Fishing และจะเจรจากับสหภาพยุโรปในลำดับต่อไป  เพื่อให้ประเทศไทยกลับไปสู่ยุครุ่งเรือง กลับไปสู่การเป็นเจ้าสมุทรอีกครั้ง

……

อนึ่งเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2566 พรรคเพื่อไทยได้เชิญนายมงคล สุขเจริญคณาประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย นายไตรฤกษ์ มือสันทัด รองประธานฯสมาคม นายพิชัย แซ่ซิ้ม รองประธานฯสมาคม นายชินชัย สถิรยากร เลขาฯสมาคม เพื่อมาหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องชาวประมงทั้ง 22 จังหวัด ตามที่พรรคเพื่อไทยได้รับปากไว้กับพี่น้องชาวประมงในช่วงที่ได้ลงพื้นที่รับฟังปัญหาโดยตรงจากพี่น้องชาวประมงแต่ละจังหวัดในช่วงก่อนการเลือกตั้ง โดยที่ประชุมรีวิวประเด็น และสรุปแผนงาน แนวทางที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน ได้แก่

1.เริ่มแก้ที่ต้นเหตุ คือการแก้ไข “กฎหมายพ.ร.ก.ประมง2558/2560 โดยพร้อมนำพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.ก.2558 เข้าสู่การพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรโดยเร็ว

2.การเจรจาระหว่างประเทศบนพื้นฐานข้อมูลที่ถูกต้อง

3.แก้ไขกฎหมายลูกที่สร้างปัญหาให้กับพี่น้องชาวประมง เพื่อพลิกฟื้นคืนชีวิต คืนอาชีพให้กับพี่น้องชาวประมง โดยเร่งด่วน ด้วยแนวทาง การปฎิบัติที่เหมาะสม ฟื้นฟูทะเลไทย ให้มีความสมดุล

4.แนวทางการเยียวยาพี่น้องชาวประมงที่ได้รับผลกระทบ

5.พร้อมร่วมมือในการแก้ไขปัญหาการประมงไทยกับทุกฝ่าย บนพื้นฐานผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน

…….

เจรจาเปิดน่านน้ำการประมงไทยในอินโดนีเซีย

สำหรับข้อมูลจากนายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ อดีตประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย (2539-2541), อดีตนายกสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย, อดีตสมาชิกวุฒิสภา และประธานกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา ให้ความเห็นกรณีการประมงไทยในอินโดนีเซียว่า

1. ประเทศไทยเคยมีเรือประมงเข้าไปทำการประมงในเขตน่านน้ำอินโดนีเซียกว่า 1,000 ลำ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 โดยใช้เครื่องมือประมงที่หลากหลาย ทั้งอวนลาก อวนล้อม และอวนลอย ในบริเวณพื้นที่หลัก 3 เขต ประกอบด้วย บริเวณอินโดนีเซียตะวันออก (ทะเลอาราฟูร่า) บริเวณอินโดเหนือ (นาทูน่า) และบริเวณสุมาตราเหนือ (อาเจะห์) และนำทรัพยากรกลับมายังประเทศไทยปีละกว่า 600,000 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 30,000 ล้านบาท

2. เรือประมงไทยต้องถอนตัวออกจากน่านน้ำอินโดนีเซีย เนื่องจากความต้องการในการจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำของประเทศอินโดนีเซียภายใต้นโยบายของรัฐบาลใหม่ (นางซูซี ปุดจิอาสตูติ รมต.กระทรวงประมง และประธานาธิบดีวิโดโด) ในปลายปี พ.ศ. 2557 โดยเรือประมงไทยส่วนหนึ่งย้ายไปทำการประมงในประเทศปาปัวนิวกีนี และทะเลหลวง และส่วนหนึ่งย้ายกลับมายังประเทศไทย โดยมีเรือประมงตกค้างอยู่ในอินโดนีเซียประมาณ 250 ลำ เนื่องจากไม่สามารถนำกลับมาได้ (เรือชุดสุดท้ายที่ทำการประมงในอินโดนีเซีย เป็นเรือไทยที่ถอนสัญชาติและโอนไปจดทะเบียนเป็นเรืออินโดนีเซีย และมีบางลำที่เป็นการจดทะเบียนซ้อน)

3. ประเทศอินโดนีเซียได้ปิดน่านน้ำ ไม่อนุญาตให้ต่างชาติเข้าไปทำการประมงในน่านน้ำของตนอีก จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2562 เริ่มมีความพยายามในการเปิดประเทศใหม่ให้มีการทำการประมงร่วมกับต่างประเทศใหม่ (ตนได้รับเชิญจากรัฐมนตรีของอินโดนีเซียให้เข้าไปเจรจาด้วย)
แต่เนื่องจากต่อมารัฐมนตรีมีปัญหาถูกปลด ประกอบกับเกิดโรคโควิด 19 ระบาดไปทั่วโลก ทำให้การเปิดน่านน้ำต้องชะงักไป

4. ในปลายปี พ.ศ. 2565 รัฐมนตรีที่ได้รับแต่งตั้งใหม่ ได้พยายามที่จะเปิดน่านน้ำอีกครั้ง และมีการยกร่างกติกาและระเบียบในการทำการประมงกับต่างประเทศใหม่ซึ่งในปัจจุบัน ทราบว่ามีเรือประมงจีนได้เข้าไปทำการประมงแล้ว และมีเรือประมงไทยจากจังหวัดสงขลาและปัตตานีอยู่ในระหว่างเตรียมการที่จะเข้าไปทำการประมงใหม่ในบริเวณอินโดเหนือ (นาทูน่า)

5. หลักการในการทำการประมงร่วมกัน คือ (1) ประเทศอินโดนีเซียจะเปิดให้ต่างชาติเข้าไปร่วมลงทุนกับภาคเอกชนของอินโดนีเซียในกิจการประมงครบวงจรได้ (รวมทั้งการลงทุนด้วนทุนต่างชาติทั้ง 100%) (2) แหล่งประมงจะเปิดในพื้นที่เขตเศรษฐกิจจำเพาะทั้งหมด (3)
ใบอนุญาตทำการประมงจะออกให้กับบริษัทท้องถิ่นหรือบริษัทร่วมทุน เป็นจำนวนโควตาปลาที่จับได้ในแต่ละปี (4) อนุญาตให้ต่างชาติที่เข้าไปร่วมทุนสามารถนำเรือเข้าไปเป็นทุนได้ แต่เรือประมงต้องมีอายุไม่เกิน 15 ปี(5) อนุญาตให้ใช้แรงงานต่างชาติทำงานบนเรือประมงได้ลำละไม่เกิน 3 คน (6) เครื่องมือประมงที่อนุญาต จะให้แตกต่างกันไปในแต่ละเขตพื้นที่ (เขตที่ชาวประมงไทยส่วนใหญ่สนใจ คือ ในพื้นที่บริเวณอินโดนีเซียตะวันออก (ทะเลอาราฟูร่า) ไม่อนุญาตให้ใช้เครื่องมืออวนลาก) (7) ฯลฯ

6. จากการเจรจาและปรึกษาหารือกันกับ ฯพณฯรัฐมนตรี ของอินโดนีเซีย เรือประมงไทยมีประเด็นปัญหาข้อขัดข้องในกติกาข้างต้นอยู่ 3 ประเด็น คือ (1) เรือประมงที่มีอยู่ มีอายุไม่เกิน 15 ปี (2) ต้องการใช้แรงงานจากประเทศไทย ทำงานบนเรือประมงได้ลำละไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนคนงานที่มีอยู่บนเรือ และ (3) ต้องการใช้เครื่องมืออวนลาก ในพื้นที่บริเวณอินโดนีเซียตะวันออก (ทะเลอาราฟูร่า) ที่ยังไม่อนุญาตให้ใช้ซึ่งในระหว่างเจรจา มีการเสนอให้ฝ่ายอินโดนีเซียพิจารณาทั้ง 3 ประเด็น ดังนี้

    (1) ขอให้ในระยะแรก เปลี่ยนข้อจำกัดในเรื่องอายุเรือ เป็น “Sea worthiness” เฉพาะในช่วง 5 ปีแรกของการทำสัญญา
    (2) ขอให้สามารถใช้เครื่องมืออวนลาก ในพื้นที่บริเวณอินโดนีเซียตะวันออก (ทะเลอาราฟูร่า) ได้ เพราะเคยอนุญาตให้ใช้มาก่อน และจะไม่เป็นปัญหาต่อการทำลายสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อม
    (3) ขอให้ผ่อนผันให้ใช้คนงานต่างชาติบนเรือประมงได้ในปริมาณร้อยละ 50 ในปี แรก และลดลงเหลือร้อยละ 30 ตลอดระยะสัมปทาน หรือ ขออนุญาตจ้างแรงงานในส่วนที่รัฐบาลอินโดนีเซียกำหนดมาทำงานในประเทศไทยแทน ซึ่งยินดีจะกลับมาหารือกับรัฐบาลไทย

“ทั้ง 3 ข้อเสนอดังกล่าว ท่านรัฐมนตรีได้รับฟังและพร้อมพิจารณา แต่ยังไม่ได้สานต่อข้อเสนอข้างต้น ประกอบกับอินโดนีเซียยังไม่สามารถออกประกาศข้อกำหนดต่างๆได้ทั้งหมด จึงไม่มีการสานต่อมาจนถึงปัจจุบัน”

7. หากรัฐบาลใหม่ สามารถส่งทีมไปเจรจาต่อได้ น่าจะเกิดประโยชน์กับประเทศไทยนานับประการ และมีการแบ่งผลประโยชน์ที่เป็นธรรมต่อฝ่ายอินโดนีเซียด้วย

8. สมมุติว่าเราสามารถส่งเรือกลับเข้าไปทำการประมงในน่านน้ำอินโดนีเซียได้ใหม่ จำนวน 300 ลำ ผลประโยชน์แรกที่เกิดขึ้น คือ จะมีผลผลิตสัตว์น้ำต่างๆปีละไม่น้อยกว่า 360,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 36,000 ล้านบาท ทำให้ประเทศไทยลดการนำเข้าได้ในจำนวนเดียวกัน และหากนำไปเป็นวัตถุดิบในการแปรรูปและส่งออก (ร้อยละ 50) จะเกิดการหมุนเวียนในทางเศรษฐกิจได้ไม่น้อยกว่า 3 รอบ (54,000 ล้านบาท) ในช่วงเวลาเพียงปีเดียว ทั้งนี้ไม่รวมมูลค่าทางเศรษฐกิจอื่นในเรื่องของอุปทานต่างๆในกิจการต่อเนื่องตั้งแต่ค่าจ้าง อาหาร การซ่อมบำรุง และอุปกรณ์ต่างๆที่นำไปจากประเทศไทยอีกนับหมื่นล้านบาท (รวมๆกันน่าจะไม่น้อยกว่าปีละ 100,000 ล้านบาท และหากมีการเพิ่มจำนวนเรือและแหล่งประมง มูลค่าทางเศรษฐกิจก็จะเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว)

9. ในการดำเนินการข้างต้น ต้องการการสนับสนุนจากรัฐบาลไทย คือ

    (1) ปรับปรุงกฎหมายและกฎเกณฑ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องที่เป็นอุปสรรคต่อการทำการประมงนอกน่านน้ำ
    (2) จัดสรรงบประมาณเบื้องต้น ประมาณ 10 ล้านบาท เพื่อใช้ในการเจรจากับต่างประเทศ (โดยเฉพาะประเทศอินโดนีเซีย)
    (3) หาแหล่งทุนในการให้กู้ยืมเพื่อปรับปรุงเรือประมง ลำละประมาณ 15 ล้านบาท โดยมี Grace period 1 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 จำนวน 4,500 ล้านบาท
    (4) หาแหล่งทุนในการให้กู้ยืมเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน ลำละ 10 ล้านบาท จำนวน 3,000 ล้านบาท
    (5) อำนวยความสะดวกในการนำเข้าสัตว์น้ำ และการเคลื่อนย้ายเงินทุนต่างๆ
    (6) กำกับการประกอบการภายใต้กติกา IUU Fishing และไม่มีการค้ามนุษย์ ตามกติกาสากล
    (7) ฯลฯ

  • “วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์” เล่าวิถีประมงทะเล กรณี IUU (ตอนที่1) : ฟันธงรัฐบาลแก้โจทย์ผิด
  • “วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์” เล่าวิถีประมงทะเลกรณี IUU (ตอนที่ 2): วิกฤติแรงงานประมงทะเล มีแต่ “ต่างด้าว-ป.4” บริหารเรือ 50 ล้าน
  • 7 ปี ความดีใจกับการแก้ IUU fishing ของ “รัฐบาลประยุทธ์” บนซากศพชาวประมง
  • EU-IUU หลุมพรางการพัฒนาการทำประมงอย่างยั่งยืน: กรณีประเทศไทย (ตอนที่ 1)
  • 6 ปีกับการแก้ปัญหา IUU Fishing (ตอน1) : ความภาคภูมิใจของรัฐบนความ “Ship-หาย”ของบ้านเมือง