ThaiPublica > ประเด็นร้อน > สิ่งที่เห็นและอยากให้ ‘ประเทศไทย’ เป็น > สิ่งที่เห็น อยากให้ประเทศไทยเป็น : “ทนง พิทยะ” ชาตินิยมที่ถูก ต้องเดินหน้าแข่งกับประเทศที่รวยกว่าเรา

สิ่งที่เห็น อยากให้ประเทศไทยเป็น : “ทนง พิทยะ” ชาตินิยมที่ถูก ต้องเดินหน้าแข่งกับประเทศที่รวยกว่าเรา

15 กันยายน 2023


ดร.ทนง พิทยะ ประธานกรรมการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน)

14 กันยายน 2566 สำนักข่าวออนไลน์ ThaiPublica จัดงาน “ThaiPublica Forum 2023 : Transform Thailand…สิ่งที่เห็นและอยากให้ประเทศไทยเป็น?” โดยมี “ดร.ทนง พิทยะ” ประธานกรรมการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวปาฐกถา พร้อมวิทยากรจากหลายภาคส่วน ได้แก่ ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด, ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) และที่ปรึกษา ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, คุณฟูอาดี้ พิศสุวรรณ ประธานมูลนิธิ สุรินทร์ พิศสุวรรณ และคุณเอริกา เมษินทรีย์ เช็น กรรมการผู้จัดการ บริษัทอิน เดอะ ลีด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัดและผู้ร่วมก่อตั้ง Youth In Charge

ดร.ทนง พิทยะ ประธานกรรมการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน)ปาฐกถาพิเศษ โดยกล่าวว่า การที่จะ transform ประเทศไทย เราจะทำอะไรได้บ้าง มองย้อนกลับไปสมัยผมในอายุ 5 ขวบ ถนนหน้าบ้านที่สุพรรณบุรียังเป็นลูกรัง นานนานจะมีรถยนต์เข้าไคันหนึ่ง เข้าไปยากมาก กรงเทพในสมัยนั้นก็ยังไม่มีอะไรมาก มองภาพในสมัยนี้เมืองหลวงเรา บางครั้งเรามองภาพว่า เราเห็นปัญหาประเทศไทยเยอะมาก แต่มองผ่านไป ย้อนหลังไป 70 ปี ประเทศไทยเจริญขึ้นมาเยอะมาก จนกระทั่งรู้สึกว่าเป็นเมืองซึ่งเราสร้างความเจริญขึ้นมา ถึงแม้จะสะสมปัญหาไว้เยอะในตัวมันเอง ปัญหาก็มีทั้งเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม

“ผมได้ฟังนายกรัฐมนตรีแถลงนโยบาย ช่วงแรกท่านระบุปัญหาให้เยอะมากของประเทศไทยว่ามีอะไรบ้าง แต่ถึงเวลาจะแก้ปัญหา ยังไม่เห็นคีย์เวิร์ดสำคัญของการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง เป็นเรื่องนโยบาย ซึ่งเห็นใจ เพราะประเทศไทยปัญหาเยอะมาก นโยบายก็หลวมๆ ซึ่งยังไม่ได้มีกลยุทธ์ในการปฏิบัติที่ชัดเจน นโยบายครอบคลุมทุกอย่าง แต่แต่ละอย่างไม่รู้อะไรปฏิบัติได้ไม่ได้อย่างไร”

ประเทศไทยที่ทรานส์ฟอร์มตัวเองมาแล้ว จะทรานส์ฟอร์มต่อไปอย่างไร มีอะไรบ้าง

ดร.ทนงกล่าวว่า “ผมอยากจะแนะนำรัฐบาล แต่จะทำหรือไม่ เป็นเรื่องของท่านแต่เชื่อว่า จากประสบการณ์ที่เคยทำมา ตั้งแต่ตอนอยู่กับพลเอก ชวลิต และเกิดวิกฤติเศรษฐกิจต้องลอยตัวค่าเงิน และเจ็บช้ำอยู่ประมาณ 5-6 ปีแล้วเราก็กลับมาใหม่ พยายามดูแลแบงก์ไม่ให้ล้ม ให้เหลือมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วเรากลับมาใหม่โตกว่าเดิมมหาศาล”

ในยุคท่านนายกฯทักษิณ ผมก็ได้มีส่วนตั้งแต่เริ่มต้นไทยรักไทยและเข้าไปเป็นรัฐมนตรี ในสมัยที่สอง ก็คิดว่าเราได้ทำอะไรซึ่งเป็นกลยุทธ์ไม่ได้เป็นแต่นโยบายหลวมๆ สร้างกลยุทธ์หลายๆอย่างขึ้น ทั้งกองทุนหมู่บ้าน, OTOP, 30 บาทรักษาทุกโรค ชื่อติดปากชาวบ้านเพราะช่วยชาวบ้านอย่างแท้จริง เป็นกลยุทธ์ที่ชัดเจน

มาดูกลยุทธ์ตอนนี้ที่เห็นชัดเจนคือ Digital Wallet แต่ยังไม่รู้ว่าจะใช้อย่างไร แต่จะขอวิจารณ์ว่าจะใช้อย่างไร ถ้าจะใช้

รัฐบาลที่เกิดขึ้น รัฐบาลใหม่ เนื่องจากการฟอร์มรัฐบาลครั้งนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลรวมตัวกัน ดูด้านหนึ่งเป็นมิติที่ดี ดูอีกด้านเป็นมิติที่ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะต้องการอยู่รอดหรือไม่ ไม่ใช่มิติที่จะสร้างสรรค์ แต่เป็นมิติเพื่อความอยู่รอด

ตำราบอกว่าถ้าเป็นมิติเพื่อความอยู่รอด มันใช้สมองของไดโนเสาร์แบบโบราณต่อสู้ เพื่อจะอยู่รอด แต่ถ้าเป็นมิติเพื่อการสร้างสรรค์ ต้องเป็นสมองของมนุษย์ซึ่งมีปัญญาขึ้นมา ก็หวังว่ารัฐบาลพันธ์ผสมภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ออกแบบมาเพื่อให้เกิดรัฐบาลผสมแบบสร้างสรรค์ ผมก็ไม่แน่ใจ ต้องติดตามต่อไป

สมัยเด็กผมเคยผสมพันธุ์ปลากัด ปลากัดลูกหม้อจะอึดมาเวลากัด แต่ที่เร็วมากคือปลากัดลูกทุ่ง ตัวเล็กๆเรียวๆ รวดเร็วมากแต่ไม่อึด ปลากัดลูกหม้ออึดแต่กัดช้า ผมก็เอาลูกหม้อกับลูกทุ่งผสมกัน มันก็อึดเพิ่มขึ้นและกัดเร็วขึ้น ไก่ชนก็เช่นเดียวกัน ซีพีเอาไกชนพม่าผสมไก่ชนไทยผสมไก่ชนเวียดนาม พยายามหา breed ที่เอาชนะคนอื่นให้ได้ ถ้าเป็นพันธุ์ผสมแบบนี้ก็ creative สร้างสรรค์

แต่ประชาชนมึนงงมากๆกับการผสมพันธุ์ทางการเมืองที่ผ่านมา เพราะถ้าดูจากการเลือกตั้ง 38 ล้านคน ผมเชื่อว่าประมาณ 20 ล้านคนคือประชาชนที่เข้ามาเลือกตั้งโดยไม่มีเรื่องบุญคุณ ไม่มีเรื่องอิทธิพล ไม่มีเรื่องการซื้อเสียง อีก 18 ล้านคนมาจากชนบทซึ่งอยู่ภายใต้บารมี ภายใต้การทดแทนบุญคุณ ภายใต้การซื้อเสียง หรือภายใต้อิทธิพลทางความมั่นคง แสดงว่าประชาชนเกินครึ่งเริ่มต้องการเห็นประชาธิปไตยเปลี่ยนแปลงในมือของประชาชน

แต่มันยังไม่จบเพราะรัฐธรรมนูญออกแบบไว้ว่าขอเวลาอีก 4 ปี ให้แน่ใจว่าประชาชนเดินในทางที่ถูกต้อง ผมมองภาพในทางที่ดี แต่เชื่อว่ากลยุทธ์ที่วางไว้คงจะมีวัตถุประสงค์ว่าใช้เวลา 12 ปี ฉะนั้นตอนปฏิวัติ 4 ปี เลือกตั้ง 4 ปี และมาสมัยนี้อีก 4 ปี ก็เชื่อว่าหลังจากนี้การเมืองจะเข้ากรอบที่ประชาธิปไตยจะเป็นใหญ่อย่างแท้จริง ดังนั้นถ้ามองด้วยความหวังดี optimistic อีก 4 ปี เราจะเห็นรัฐบาลที่ประชาชนเป็นเจ้าของในการเลือกตั้ง คิดว่าไม่นาน ผ่านปฏิวัติมา 13 ครั้งแล้ว สำหรับผมก็อยากจะเห็น

สิ่งที่สำคัญคือ ต่างชาติไม่เข้าใจกระบวนการประชาธิปไตยไทยเลย พอไม่เข้าใจก็จะนั่งดู การนั่งดูคราวนี้เป็นครั้งแรกที่เห็นว่า เมื่อการเลือกตั้งเสร็จหุ้นตก ตั้งนายกฯเสร็จหุ้นก็ลงอีก ตอนนี้ก็ยังลงอีก นโยบายระยะสั้นที่นายกฯประกาศไม่ได้ช่วยให้ต่างชาติอยากจะเข้ามาลงทุน คำถามคือ อะไรที่ควรจะทำ นี่คือการบ้านที่ต้องเริ่มคิดว่าความมั่นใจในประเทศไทยก็น้อยมาก เนื่องจากผิดหวังจากการคนส่วนใหญ่เลือกพรรคที่ไม่ต้องซื้อเสียงแต่กลับไปเป็นฝ่ายค้าน อีกด้านหนึ่งจากรัฐบาลเก่า ก็ไม่มั่นใจอีกเนื่องจากเอาฝ่ายค้านมาร่วมรัฐบาล ความไม่มั่นใจของประชาชนคนไทยน้อยมาก ก็สร้างความไม่มั่นใจต่อคนต่างชาติ แล้วก็มีผลกระทบต่อการลงทุนในตลาดหุ้น มีผลต่อการลงทุนของต่างชาติ ที่จะเข้ามาประเทศไทย

สำหรับความท้าทาย ขอแบ่งออกเป็น เรื่องของคนจน, SME, ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ 4 อย่าง เพราะนโยบายเขียนไว้ครอบคลุม พยายามจับประเด็นชัดๆว่ารัฐบาลควรจะคิดอย่างไร จะนอกกรอบได้หรือไม่ จะเอามาใช้ประโยชน์จากดิจิทัลเทคโนโลยีได้หรือไม่

ความท้าทายของนโยบายเศรษฐกิจเพื่อคนจนที่ผ่านมามีปัญหามาก จากผลพวงของนโยบายประชานิยมที่ทำมา ทำให้ชาวบ้านคอยยกมืออ้าปาก ขอความช่วยเหลือจากรัฐ ไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไร นี่คือ สิ่งที่น่ากลัวมากๆ อันที่สองเป็นผลพวงจาก covid-19 รุนแรงมากๆในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทั้งๆที่รัฐบาลอัดฉีดเงินช่วยคนจน เพราะบอกไม่ให้คนทำงาน 2 ปี ทั้งกรรมกรและคนจนทั้งหลาย คนจนในเมือง เกือบจะหยุดเยอะมากในอุตสาหกรรมทั้งหลาย ในสองปีที่ไม่ให้ทำงาน และก็อัดฉีดเงินเข้าไปช่วย ผ่านคนละครึ่งบ้าง พยายามทำทุกอย่าง รัฐบาลก็อัดฉีดใช้เงินเกือบล้านล้าน

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่นั้น…

หนี้ครัวเรือนที่เคยอยู่ระดับ 70% ของ GDP ที่มีประมาณ 18 ล้านล้านบาท หนี้ก็ประมาณ 10 ล้านล้าน พุ่งขึ้นไปในช่วง 4 ปีเป็น 90% ของ GDP หรือเพิ่มขึ้น 20% อีก 3 ล้านล้านที่คนจนเป็นหนี้เพิ่ม

… จากที่รัฐบาลอัดฉีดไปแล้วหนึ่งล้านล้าน โควิด ทำลายและสร้างความยากจนให้คนจนเป็นวิกฤติซึ่งรุนแรงมาก

วิกฤติเศรษฐกิจ 2540 คนรวยคือคนที่เสียหาย รัฐดูแลทุกอย่าง ฟื้นฟูหนี้ ฟื้นฟูแบงก์ ฟื้นฟูทุกอย่าง ใช้เงินเยอะมาก เพื่อคนรวย เพราะหนี้เสียหายเกือบประมาณ 50% ของระบบสินเชื่อของไทย มีความพยายาม save แบงก์ save ทุกอย่าง คนรวยก็กลับฟื้นมาได้ พอถึงเวลาคนจน ถามว่าหนี้ 3 ล้านล้านที่เพิ่มขึ้นมา รัฐบาลจะช่วยอะไรได้บ้าง ยังไม่มีคำตอบ จะพักหนี้ พักหนี้แล้วจะทำอะไรต่อ แล้วเงินต้นอยู่ที่ไหน หนี้ของคนจนส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในจุดที่จะถูกพักได้

…เป็นหนี้นอกระบบ ดอกเบี้ยสูงมากๆ ในที่สุดถูกยึดทรัพย์สินที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ บ้าน ที่ดิน ที่นา รัฐจะเข้าไปดูแลอย่างไรกับธุรกิจสีเทาพวกนี้ ซึ่งสร้าง informal sector ที่ยังไม่รู้จักจบ นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้น

ถ้าเรายังไม่มีวิธีที่จะทำ debt restructuring ให้คนจนได้ เขาก็จะจนต่อไปอีกนาน กว่าจะหมดหนี้อีกนานมากๆ แล้วจะยกหนี้อย่างไร 3 ล้านล้านที่เพิ่มขึ้นมา

สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วเราทำอะไรได้บ้าง

ดร.ทนงกล่าวว่า ในประวัติศาสตร์ตอนที่เรามีปัญหา ไทยรักไทยเป็นรัฐบาล เราบอกว่าเราจะทำกองทุนหมู่บ้านเพื่ออัดฉีดเงินเข้าสู่หมู่บ้าน ตอนนั้นถูกวิจารณ์หนัก ว่าเอาเงินไปแจกชาวบ้าน แต่จริงๆไม่มีการแจก เราเอาเงินไปให้เขาหมุนเวียนใช้กันในหมุ่บ้านโดยมีคณะกรรมการดูแล การใช้เงินทั้งหมด

ปรัชญาก็คือ กองทุนหมู่บ้าน ทุกหมู่บ้าน ประชาชน คนจนทั้งหลายต้องการเงินทุนหมุนเวียน ในระบบเศรษฐกิจของเขา ในระบบเกษตร ระบบปศุสัตว์ ระบบอะไรก็แล้วแต่ ต้องการเงินทุนหมุนเวียน บางคนมีฐานะดีก็ไม่ต้องการ แต่คนที่มีฐานะจนต้องการ ก็ทำให้คณะกรรมการหมู่บ้านดูแลคนที่มีความต้องการเงินทุนหมุนเวียนในการเพาะปลูกหรือเลี้ยงสัตว์

สิ่งเหล่านี้คือปรัชญาว่าทำอย่างไรให้กองทุนหมู่บ้าน รู้จักการจัดการธนาคารตามชุมชน เราไม่เห็นด้วยที่จะแบงก์พาณิชย์ปล่อย เพราะแบงก์พาณิชย์ไม่มีคนพอที่จะติดตาม แต่หากแต่ละหมู๋บ้านจัดขึ้นมาก็จะเป็นธนาคารชุมชน โดขึ้นได้หลังจากนั้น

กองทุนหมุ่บ้านเริ่มต้นด้วยเงินล้านบาท ปัจจุบันนี้ยังมีเงินโดยรวมสูงกว่าที่ลงไป มีส่วนหนึ่งเสียหายบ้างจากปัจจัยฤดูกาล เช่น พายุ น้ำท่วม แต่กว่า 80% ก็อยู่รอด ยังอยู่ได้และมีดอกเบี้ยตามมา ทำให้เขาโตขึ้นด้วย นี่คือความสำเร็จที่คนมองไม่ออกว่า ช่วยพยุงฐานะความเป็นอยู่ของแต่ละหมู่บ้านได้อย่างไรบ้าง

แต่นั่นเป็นเพียงหนึ่งด้าน คือด้านการเงิน ส่วนด้านผลผลิต ทำอย่างไรเขาถึงจะมีผลผลิตและมีตลาดขาย เขาผลิตได้ เลี้ยงไก่เลี้ยงหมู แต่เอาไปขายใคร แลกเปลี่ยนกันเองในหมู่บ้านก็โตได้ในระดับหนึ่ง แต่ทำอย่างไรหมู่บ้านต่อหมู่บ้านมีการซื้อขายกัน ในตำบลต่อตำบล มาเป็นอำเภอต่ออำเภอ มาเป็น OTOP Exhibition ในกรุงเทพ

“เรามองว่านี่คือการเพิ่มผลผลิตและเพิ่มรายได้ มากกว่าการทำนาปกติ เป็นอาชีพเสริมของเขา OTOP ถึงได้เฟื่องขึ้นมา แต่ปรัชญา OTOP ถูกทำลายโดยคนไทย ปรัชญา OTOP ต้องการสร้าง ความสามัคคีในแต่ละตำบล ที่จะร่วมมือกันพัฒนาสินค้าที่เป็นจุดเด่นของแต่ละตำบล และคิดนอกกรอบ และพัฒนาสินค้าเหล่านั้นให้ออกมาเป็นสินค้าสำเร็จรูปที่ดี เพื่อแต่ละตำบลจะได้มีสิ่งที่เชิดหน้าชูตาได้ในหลายๆรูปแบบ ทั้งอาหารและสิ่งประเดิษฐ์

ซึ่งก็ได้ผลบ้างแต่พอได้ผลมาถึงจุดหนึ่งทุกคนเลียนแบบกัน คุณภาพก็หายไป OTOP ปรัชญาคือการรักษาสินค้าและคุณภาพ และปรับปรุงให้ดีขึ้น ไม่ใช่เลียนแบบจนกระทั่ง คุณภาพหายไป

ปรัชญาของ OTOP เลยหายไปอีก ปรัชญาของกองทุนหมู่บ้านก็ไม่ได้รับการขยาย

“ผมก็เลยมาคิดว่า ถ้าจะทำ digital wallet ใช้เงินกว่า 5 แสนล้านแจกคนที่อายุเกิน 15 ปี ถ้าเอาใส่ในกองทุนหมู่บ้านได้จะได้หมู่บ้านละ 6 ล้านบาท มี 7 หมื่นกว่าหมู่บ้าน ในระดับคนจน ลองนึกภาพให้ดีว่าเงิน 6 ล้านบาทจะช่วยเศรษฐกิจหมู่บ้านได้อย่างไร ถ้าทำ transaction บน digital chain ดีๆ ระหว่างหมู่บ้านให้ซื้อขายผลผลิตระหว่างหมู่บ้าน ระหว่างตำบลซื้อขายกันจากผลผลิตของแต่ละคนที่มีอยู่ แนวคิดของรัฐบาลถือว่าดี เรื่องรัศมี 4 กิโลเมตร”

“หัวใจสำคัญคือ ถ้าแจก เงินก็จะหมดไป แต่ถ้าให้ยืมดอกเบี้ยต่ำมาก 2-3 % หรือ 5% เงินจะไม่หมดไป รัฐบาลเองที่กู้ยืมเงินมา ก็มีเงินที่จะใช้คืน การใช้งบประมาณก็น้อยมาก เพราะที่เพิ่มเข้ามาก็เพื่อจ่ายดอกเบี้ยให้แก่ 5 แสนล้านเท่านั้น ผมว่า คิดง่ายๆแบบนี้ จะได้ประโยชน์มากกว่าไหม ทุกอย่างอยู่ใน digital chain ทั้งหมด ซื้อขายอยู่ในนี้ ใครซื้อใครขาย แต่เงินไม่ไปไหน เงินไม่หมด เงินเป็นแค่ตัวกลางของการแลกเปลี่ยน แต่พอเอาเงินไปให้ใช้แล้วจบ เงินก็ย้ายไปอยู่กับคนรวยเหมือนเดิม จากคนจนไปสู่มือคนรวย”

แต่เราให้มันอยู่ใน digital chain ให้ได้ ในบล็อกเชนที่ว่า เงินจะหมุนเวียนในรูปของกองทุนหมู่บ้าน ในรูปของตำบล ซึ่งเป็นโหนด(node) ในแต่ละโหนด ของระบบบล็อกเชนทั้งหมด”

พอเขาบอกว่าจะใช้ digital wallet ผมว่าคิดออกมานอกกรอบอีกนิดว่า แทนที่จะแจก แต่เอาไปใส่ในระดับหมู่บ้านแล้วให้คนที่ดูแลวิธีการใช้เงิน วิธีการสร้างผลผลิต และวิธีการซื้อขายกัน ไม่ให้ออกนอกระบบ จะคุมได้ง่ายกว่าไหม ก็ฝากรัฐบาล เชื่อว่าอันนี้เป็นการต่อยอดจากกองทุนหมู่บ้านและ OTOP

OTOP เดิมเราก็ต้องเอาสินค้าเข้ามา แต่ตอนนี้มีแพลตฟอร์มที่สามารถจะสร้างแพลตฟอร์ม OTOP ขายออนไลน์ได้แล้ว ทุกจังหวัดรัฐบาลก็ทำแพลตฟอร์มสำหรับช้อปปิ้งของ OTOP อย่างเดียว แล้วก็ไม่ต้องคิดค่าธรรมเนียม(commission) คนขายรับรองเลยว่า สินค้าเหล่านี้ จะแข่งกันเองในตลาดโลก แพลตฟอร์มนี้กลายเป็นตลาดโลกแล้ว ใครก็ซื้อได้ แล้วเราก็มีระบบขนส่งอยู่แล้ว รับส่งให้ได้หมด ไม่ต้องใช้โทรศัพท์ เสียค่าโทร เป็นระบบออนไลน์ ใช้เงินน้อยมาก ให้มันเป็น node ออนไลน์ทุก node แพลตฟอร์มช้อปปิ้ง ปัจจุบันนี้ใครๆก็ทำได้

OTOP กับกองทุนหมู่บ้านยัง syncronize กันในระบบสร้างผลผลิตรอบๆประเทศไทย รอบๆความเจริญ คือกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ชาตินิยมที่ถูก ต้องเดินหน้าแข่งกับประเทศที่รวยกว่า

ความยากของการปฏิรูปภาคเกษตรกรรมคืออะไร เราพยายามคิดตลอด คิดว่าภาคเกษตรกรรมของเราต้องเป็นใหญ่ในโลก ต้องเป็นผู้ปลูกข้าวมากที่สุดในโลก ต้องส่งออกมาที่สุดในโลก ยางพาราต้องเป็นเจ้าโลก คิดถูกหรือไม่

สินค้าเกษตรอายุสั้น เสื่อมเร็วมาก สร้างมากขึ้น ราคาก็ลง มีน้อยราคาก็ขึ้น ตอนนี้มีภัยแล้งราคาก็ขึ้นแล้ว ฉะนั้นราคาคูณปริมาณที่ผลิต เกือบเท่าเดิม

“การเติบโตภาคการเกษตร มันมีจุดจำกัด เติบโตเฉลี่ยได้ไม่เกิน 3% ในประวัติศาสตร์ประเทศไทย ผลิตมากขึ้นคือราคาที่ลดลง ผลิตน้อยลงคือราคาที่มากขึ้น โตได้แค่ 3% เท่านั้น โตมากกว่านี้ไม่ได้ จะไปหวังอะไรจากมัน เราหวังจากมันเพื่อสร้างความพอเพียงให้กับเรา ในประวัติศาสตร์ 3-400 ปีที่เราอยู่ได้โดยไม่อดตาย เพราะเกษตรสร้างความพอเพียง แต่ไม่ได้สร้างให้เรามีรายได้จากการส่งออกมากพออย่างที่เราคิด”

เราเองกลับต้องไป subsidize การส่งออกข้าวไปให้คนแอฟริกากิน ข้าวไทยไปแอฟริกามากเหมือนสมัยก่อนที่ขายจีน ขายอินโดนีเซีย ขายฟิลิปปินส์ ตอนี้ 80% ไปแอฟริกา ประเทศที่จนที่สุดในโลกซื้อข้าวไทยกับข้าวเวียดนาม แล้วเราจะไปหวังอะไรกับผลตอบแทนจากเขา หวังจะรวยจากเขา เขาไม่มีเงินขนาดนั้น เสร็จแล้วก็คือปัญหาว่าภาคเกษตร มีข้อจำกัดอยู่เยอะ เกษตรสินค้าขั้นปฐมเพื่อความพอเพียง ดูแลเกษตรกรให้ดี

แต่ทำอย่างไรสิ่งที่เพิ่มขึ้นอย่าง innovation ของการส่งทุเรียนไปต่างประเทศ น่าสนใจ ปรับเปลี่ยนให้เร็ว ผลไม้ อาหารสำเร็จรูป ยังไปได้เยอะมากสำหรับประเทศไทย

“การปฏิรูปภาคเกษตรอย่าไปใช้ชาตินิยมผิดๆ ว่าประเทศไทยต้องเป็นเจ้าโลก มันไม่เป็นทั้งภาคการเกษตร ประเทศไทยเล็กนิดเดียว ผลิตข้าวน้อยกว่าอินเดียตั้งเยอะ ปีไหนอินเดียข้าวดีส่งออก เราก็พัง ข้าวบาสมาติเราสู้ไม่ได้ ปีไหนเวียดนามข้าวดีเราก็แพ้เขาอีกแล้ว เราโต เจริญกว่าเขาไปตั้งเยอะ รายได้ต่อหัวเรามากกว่าเขาเท่าตัว แล้วเราจะไปแข่งกับคนจนทำไม ประเทศไทยต้องเจริญก้าวหน้าไป ไม่ใช่ถอยหลังมาแข่งกับคนที่จนกว่าเรา ความคิดตรงนี้คือ ความชาตินิยมที่ผิด ชาตินิยมที่ถูกคือเดินหน้าแข่งกับคนที่รวยกว่าเรา”

… เหมือนเกาหลีใต้แข่งกับญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นทำงาน 5 วันต่ออาทิตย์ คนเกาหลีใต้จะทำงาน 6 วันต่ออาทิตย์ มีเวลาเพิ่ม 20% เพื่อพยายามเอาชนะญี่ปุ่นภายในกี่ปี นี่คือแนวความคิดชาตินิยมที่ถูกต้อง สร้างความสามารถในการแข่งขัน ไม่ใช่คอยกลัวว่าคนอื่นจะมาแข่งกับเรา ที่เขาจนกว่าเรา นี่คือความยากของภาคเกษตร

เกษตรกรและปศุสัตว์ตอนนี้มีความคิดสร้างสรรค์ขึ้นเยอะ ไม่อยู่กับข้าวอีกแล้ว อยู่กับผลไม้ อยู่กับการ preserve หรือการถนอมอาหาร การผลิตสินค้าต่างๆ ช่วยเขาให้แง่เหล่านี้ ใช้เงินไม่เยอะ ถ้ามีกองทุนหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 6 ล้านอย่างที่พูดก่อนหน้านี้ ผลิตผลเหล่านี้ทำง่ายมาก และระบบออนไลน์ก็ซื้อขายกันได้เยอะมาก

สิ่งที่ตามมาคือว่า เรื่องสุขภาพเราไม่มีปัญหาเลย ตอนนี้ดีมาก คนจนตอนนี้สุขภาพนี้เพราะมีระบบรักษาพยาบาลด้วย 30 บาทรักษาทุกโรค ระบบสาธารณสุขเราดีมาก โควิดเราก็เสียชีวิตน้อยสุดในโลก แต่จะแก้ไขอย่างไรกับการทำมาหากิน จนแล้วแข็งแรง แต่ไม่มีงานที่จะสร้างผลผลิตมากพอ ตรงนี้คือปัญหาของเรา อนาคตลูกหลานคนจนเหล่านี้อยู่ที่ไหน นโยบายเกือบไม่มีเลย นโยบายไม่ได้เขียนเลย เราจะสร้างรายได้ แต่ลูกหลานคนจนต้องการการศึกษาที่ถูกต้อง

“Digital learning คือ หัวใจสำคัญ ถูกที่สุดและดีที่สุดสร้าง digital library มี digital learning แล้วให้ยืม คอมพิวเตอร์ แทปเล็ต ไม่ต้องมีห้องเรียน งบประมาณเป็นเรื่องของเครื่องมือ แทปเล็ต กับ คอมพิวเตอร์ เกือบจะไม่ต้องซื้อหนังสืออีกแล้ว ถูกกว่าเยอะ หนังสือ 5 เล่มซื้อแทปเล็ตได้ 1 ตัว ใส่หนังสือได้เป็นร้อยๆเล่ม”

“ถ้าเราไม่คิดระบบการศึกษาแบบใหม่เหล่านี้ มานั่งพิมพ์ ก ไก่ ขไข่ เพื่อเอากำไรจากคุรุสภา มันเหลวไหลแล้ว ตำราที่บอกว่าคุรุสภาเท่านั้นที่พิมพ์ได้ แล้วคอยจ่ายคอมมิชชันกัน ใช้งบประมาณมหาศาล เปลี่ยนไปเถอะ ลูกคนจนจะได้เรียนรู้มากขึ้น”

สำหรับการปรับตัวของ SME ดร.ทนงกล่าวว่า SME ถูกกระทบโดยคนจีน ซึ่งกำลังมาทำ SME ในไทยเกือบทุกสินค้าที่นำเข้ามา แต่ก่อนเขาให้คนไทยนำเข้าเสื้อผ้าเข้ามาขาย นำเข้าเครื่องประดับ accessories เข้ามา แต่ตอนนี้เขาเข้ามาเองแล้ว ไม่ให้คนไทยขายแล้ว

“ผมไม่ได้มีปัญหาในการให้เขาเข้ามา แต่ปัญหาแล้ว SME ของไทยจะสู้กับเขาอย่างไรได้ จะเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างไร ต้องคิดต่อ ผมคิดว่าไปได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจสู่ยุคดิจิทัล ต้องให้เครื่องมือ SME, Entrepreneur(ผู้ประกอบการ) ทั้งหลาย ซึ่งแต่ก่อนนี้เป็นไปไม่ได้”

ตอนนี้รุ่นลูกๆเขาเก่ง ประเทศไทยตอนนี้โตแค่ 2-3% เพราะโตจากภาคเกษตรเป็นหลัก ภาคอุตสาหกรรมและการค้าเกือบไม่โตเลย การส่งออกถึงลดลง แต่ SME ไทยจากเด็กใหม่ๆ เริ่ม ดิสรัป SME เก่าๆ คนแก่ๆทั้งหลายที่สู้ไม่ได้ เนื่องจากคนรุ่นใหม่เริ่มเอาชนะได้ ผมมีความหวัง ผมสอนหนังสือบริหารธุรกิจที่ NIDA ตอนนี้ครึ่งหนึ่งของห้องเป็น Entrepreneur ทำออนไลนเป็น หากินเป็น ผมภูมิใจมากว่า เด็กเหล่านี้สามารถดิสรัป SME โบราณ, SME โบราณที่ร้องว่าจะอยู่ไม่รอด ก็เอาลูกหลานมาทำ มันโบราณไปหมดแล้ว เครื่องมือมันไปไม่ได้

ธุรกิจคนกลางหายไปแน่นอน อยู่ที่ออนไลน์แพลตฟอร์ม ใครเอาชนะใคร ก็เป็นตัวคนกลางซึ่ง ค่าใช้จ่ายจะน้อยมากในการซื้อขาย โรงงานขนาดเล็กกับขนาดกลาง รัฐบาลต้องดูแลเพราะ เป็นการสร้าง intermediate product ให้แก่ ระบบอุตสาหกรรมของไทย

ในอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยมี โรงงานที่เป็น intermediate product เป็นหมื่นๆโรงงาน เรามี SME หลายหมื่นบริษัทที่ เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมรถยนต์ ทำอย่างไรเขาจะอยู่รอด เขาจะอยู่รอดต่อเมื่องเขา ทรานส์ฟอร์มตัวเองไปสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ ที่ใช้ EV ประหยัดพลังงาน แบตเตอรี บริการอีกรูปแบบหนึ่ง
เทคโนโลยีใหม่ในการซ่อมรถยนต์ ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปหมด จะช่วยเขาได้อย่างไร

ส่วนด้านการค้าและอุตสาหกรรม ดร.ทนงกล่าวว่า นโยบายการค้าเสรีเริ่มไม่ช่วยการค้าระหว่างประเทศของเรา สมัยผมเราทำ FTA กับจีน เราบอกว่าต่อไปนี้การนำเข้า รถยนต์และอุตสาหกรรมไม่คิดภาษีต่อกัน เพราะตอนนั้นเรารวยกว่าจีนสองเท่าตัวเมื่อเทียบจากรายได้ต่อหัว เราเชื่อว่าอุตสาหกรรมรถยนต์จะส่งรถยนต์ไปจีนได้ เราจะส่งอะไหล่รถยนต์ไปจีนได้ ญี่ปุ่นก็บอกว่าทำเลย บริษัทญี่ปุ่นในไทยจะได้ส่งออกสินค้าเหล่านี้

20 ปีให้หลังจีนส่งกลับมาบ้านเราแทน อุตสาหกรรมรถยนต์รถยนต์ใหญ่มหาศาล โตกว่าเราเยอะ อะไรเกิดขึ้น

“Niche ของประเทศไทยอยู่ไหน ไม่มี เพราะอะไร เพราะการค้าการลงทุนของประเทศไทยมาจากต่างประเทศเป็นหลัก จากญี่ปุน จากยุโรป และจากอเมริกา ถึงเวลาจีนเป็นใหญ่ขึ้นมา ไม่มีใครช่วยเรา เราก็ช่วยตัวเองไม่ไหวอีก สิ่งเหล่านี้ก็คือ effect ในที่สุดแล้วเราต้องทำอย่างไร ง่ายนิดเดียว ก็ต้องร่วมมือกับจีน คนอื่นไม่ช่วยเราหรอก เวลาเราเจ๊ง เวลรารวยเขาก็อยากจะมาหุ้นกับเรา แต่คนที่จะช่วยเรา คือคนที่ค้าขายกับเรา มากที่สุด ตอนนี้คือจีน ต้องคิดใหม่ จะร่วมมือกับเขาอย่างไร”

ดร.ทนงกล่าวว่า การปรับสมรรถนะในการแข่งขันกับประเทศคู่ค้าในเอเชียเป็นเรื่องสำคัญมาก เวียดนามเริ่มโตเร็วกว่าเรา กัมพูชายังเติบโตเร็วกว่าเรา ลาวยังโตเร็วกว่าเราเลย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อัตราการเติบโตเร็วกว่าเราทั้งนั้น ฉะนั้นถ้าเป็นแบบนี้อีกสัก 20 ปี ประเทศเหล่านี้จะนำหน้าเรา เวียดนามไม่ถึง 20 ปี เพราะมีประชากรมากกว่าเรา

แล้วเราคิดอย่างไร คำถามถ้าเราอยากจะโต 5% เราต้องทำอย่างไร สมรรถนะการแข่งขันไม่เกิดแล้วเราคิดซ้ำเดิมอยู่ตลอด สิ่งที่ทำขึ้นมาใหม่คือ EEC แต่ทำแล้วไม่เกิด มันเกิดได้แต่ช้ามาก คำถามคือ ช้าเพราะอะไร ช้าเพราะความพร้อมของเรา ที่ทำให้เกิดไม่ได้

ตอนที่มาบตาพุดเกิด ปิโตรเคมีเกิด เพราะเรามีแก๊สธรรมชาติ แล้วเราบอกใช้ประโยชน์จากแก๊สธรรมชาติ ไปโรงแยกแก๊สแล้วเอา by-product ให้อุตสาหกรรมปลายน้ำ(downstream) ให้ได้ มันถึงเกิดเพราะมี resource ในประเทศไทย ที่ช่วยให้เราพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี แต่ resource ที่ EEC มีคืออะไร ที่ดิน ใครๆก็มีที่ดิน สาธารณูปโภค คืนอื่นเขา่ก็มีที่แข่งกับเราอยู่ตอนนี้ ค่าแรงเราก็สูงกว่าเขา ทุนก็ต้องง้อต่างชาติเข้ามา ถ่ายังไม่มา EEC ก็ไม่เกิด

เทคโนโลยี R&D เราก็ไม่มี ความหวังของ EEC ถ้าจะเกิดได้ ต้องทำอะไรเยอะมาก ไม่ใช้สินไร้ไม้ตอก ผมมองว่า มันเกิดได้เพราะระดับการศึกษา ยังดีกว่าประเทศเพื่อนบ้านเยอะ และสาธารณูปโภคก็ดีกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ความเจริญที่เราสร้างขึ้นมาจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมรถยนต์และอุตสาหกรรมส่งออกที่แหลมฉบัง สร้างให้เกิดสาธารณูปโภคที่เยอะมาก แต่ไม่คนมาลงทุนใน EEC เพราะเรามี requirement(ข้อกำหนด) ที่จะให้เขาทำ hi-tech industry

“ญี่ปุ่นมาถามผม อยากให้ทำ hi-tech industry มีวิศวกรให้ไหม robotics มีกำลังคนไหมอยากจะทำ medical equipment มี R&D ไหม มีอะไรให้บ้าง มีแต่ที่ดินกับสาธารณูปโภค”

ถ่าเราเข้าใจสิ่งที่เราขาด และซ่อมแซมมัน EEC ก็เกิดขึ้นมาได้

ส่วนระบบภาษีและกฎระเบียบ เราบอกว่า เราอยากเอา ต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทย พำนักในประเทศไทย ทำมาหากินในประเทศไทย เพื่อประเทศไทยเจริญ ภาษีส่วนบุคคลยังแพงกว่า สิงคโปร์เท่าตัว แพงกว่าฮ่องกเท่าตัว อุตสาหกรรมดิจิทัล ไฮเทค เทคโนโลยีไปอยู่สิงคโปร์หมด ทั้งที่ค่าแรงเขาแพงกว่าเราเกือบสิบเท่า แต่ทำไมเขาไปอยู่ที่นั่นไม่มา EEC เพราะระบบภาษีเราไม่เอื้ออำนวย แม้มี BoI แต่คนต่างประเทศที่จะเข้าอยู่ในบ้านเรา เขามาเสียภาษี 35% เขาไม่เสียหรอก เขาถึงไปอยู่สิงคโปร์แล้วบินมาดูงานในไทย

ฉะนั้น marketingcenter, support center ไปอยู่สิงคโปร์หมด เราคือ กรรมกรเหมือนเดิม รับจ้างผลิต เขาจ้างเราทำอุตสาหกรรม แต่เราไม่ได้เป็นผู้นำในการตลาด ไม่ได้เป็นผู้นำในการสร้าง สำนักงานใหญ่ ไม่เป็นผู้นำในการค้าอาเซียน เพราะระบบภาษีเราไม่จูงใจ ระเบียบของราชการยังไม่ไปไหน

เราลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลงมาที่ 20% ถูกต้องและเพียงพอแล้ว แต่ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เขาจะมาอยู่ในไทย เขาไม่มาหรอกอย่างที่เราบอกว่าจะเอามืออาชีพเข้ามา อะไรคือแรงจูงใจให้เขาเข้ามา

นโยบายขจัดคอรัปชันก็มหาศาล EEC แม้จะเป็นความหวังก็ต้องสร้างให้เกิด ต้องทำอะไรเยอะมาก

ด้านภาคบริการ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่สุด เกิดอะไรขึ้น ตอนนี้ 60% ของ GDP คือภาคบริการ ทั้งการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมอาหาร บริการในโรงแรม ยกตัวอย่าง แคดดี้ในสนามกอลฟ์ ที่มีการศึกษาในระดับปริญญาตรี แต่มาเป็นแคดดี้เพราะมีรายได้วันละ 750-1,000 บาทจากค่าจ้างวันละ 250 บาทรวมกับค่าทิปอีก 500 บาท

“อุตสาหกรรมบริการคือจุดที่สามารถจะหาเงินกับคนรวย ต้องสร้างให้เกิดเยอะ และสร้างให้ปลอดภัย และมีสิ่งแวดล้อมที่ดี เด็กสมัยใหม่ไม่อยากทำงานกับองค์กร ที่มีค่าแรงถูก ออกมาเป็น freelance นี่คืออนาคตการสร้างรายได้แบบใหม่ และภาคบริการจะเป็นหัวใจให้ประเทศไทยทำได้อีกมหาศาล”

ดร.ทนงกล่าวต่อถึงเศรษฐกิจการเมืองของประเทศไทยว่า เราปล่อยให้โลกหลอกเรา ทุกอย่างที่เป็นเฟคนิวส์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของข่าวทั้งหลาย ยกตัวอย่าง ข่าว ลาวกำลังจะล้มละลาย ผมฟังแล้วใจหายวูบเลย บริษัทผมลงทุนเขื่อนในลาวสองแสนกว่าลาว ลาวล้มละลายจะทำยังไง แต่พอดูของจริงไม่มี

ลาวเป็นหนี้เพิ่มขึ้น เจอค่าน้ำมันแพง ค่าเงินกีบถึงตก หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะลาวไม่มีเงินดอลลาร์หนุนในทุนสำรอง

“การที่ลาวมีปัญหา คำถามประเทศไทยช่วยเขาเป็นไหม แบบเดียวกับที่ญี่ปุ่นช่วยประเทศไทย ญี่ปุ่นช่วยพม่า ไทยเป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่จะเข้าไปช่วยลาวตอนนี้ เพราะหนี้เขาไม่ได้เยอะ แค่ประมาณ 40% ของ GDP ทรัพยากรยังมีอีกมหาศาล มีทุกอย่าง แค่ช่วยซื้อพันธบัตรลาวที่เป็นดอลลาร์ด้วยให้ดอกเบี้ยต่ำ ให้เขาไปจ่ายดอกเบี้ยของหนี้ที่เขามีอยู่ แค่นี้ก็เป็นบุญคุณมหาศาลแล้ว ความเป็นมิตรภาพ แล้วจะลงทุนโครงการอะไรในลาวก็ได้ นี่คือสิ่งที่จีนทำตอนนี้ จีนจะเอาอะไรในลาวก็ได้ แต่ไทยทำไมทำไม่เป็น ไปแอบช่วยพม่าอันนั้นเป็นเรื่องทหาร แต่พอช่วยประเทศที่ควรจะช่วย อย่างลาว ประเทศใกล้เคียงกัน ทำไม่เป็น”

บริษัทเอกชนอย่างซีเค พาวเวอร์ยังต้องช่วยเลย เขาออกพันธบัตรมาไม่มีตลาดเราต้องไปช่วยซื้อ รัฐบาลไทยทำไม่ไม่คิดสิ่งเหล่านี้ แล้วจะทำให้นักธุรกิจมีอำนาจต่อรองมหาศาลในการจะไปใช้ทรัพยากร ทั้งทำโซลาร์เซลล์ พลังงานลม ทำเขื่อนเพิ่มขึ้นได้อีก 4 เขื่อน ไฟฟ้าเราซื้อจากลาวหน่วยละ 2 บาทนิดๆ ถูกที่สุดเท่าที่จะหาได้ ไม่มีที่ไหนนอกเหนือจากนิวเคลียร์ที่ถูกกว่า ฉะนั้นอย่าหลอกตัวเอง

อีกอย่างเราหลอกกันเองทุกวัน เรามีข่าวเยอะมากที่หลอกตัวเอง องค์กรความรู้ในโลกปัจจุบันบิดเบี้ยวไปหมด เราไม่รู้ว่าองค์ความรู้ที่แท้จริงอยู่ที่ไหน องค์ความรู้ที่จะใช้เพื่อสร้างปัญญาอยู่ตรงไหน ใครจะสอนบ้าง องค์ความรู้จาก google เราจะสอนอย่างไรให้ใช้องค์ความรู้เพื่อสร้างปัญญาให้ได้ มันคือ ห้องสมุดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ที่ทุกคนมีได้และจะสร้างปัญญาได้ วิธีสอนแนวใหม่จะต้องเกิดขึ้นให้ได้

Passion กับแรงจูงใจนักการเมือง

ดร.ทนงกล่าวว่า นี่คือ ปัญหาใหญ่ ปัญหาใหญ่มากมาก ก็คือ ว่านักการเมือง ลึกๆเอาแต่ความชอบ ความผิดไม่เคยรับ ไม่เคยมีใครรับว่ามีอะไรผิด “ผมถามตัวเองตอนเป็นรัฐมนตรีคลังช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ ว่าทำไมรัฐมนตรีคนอื่นไม่คิดลอยตัวอัตราดอกเบี้ย เพราะเป็นความผิดทันที่ทำ ถูกดาทันที่ว่าทำให้เศรษฐกิจล้มละลาย แต่เศรษฐกิจล้มไปแล้ว ล้มไปนานแล้ว “นี่คือเหตุผลว่า นักการเมืองเอาแต่ความชอบ สิ่งที่เกิดขึ้นไม่มีใครยอมรับผิดอะไรสักอย่าง”

“ทำอย่างไร Political willingness ความตั้งใจจะทำงานเพื่อบ้านเมือง จะเกิดขึ้นเสียที ผมว่าประชาชนต้องเป็นเจ้าของเมื่อไรก็จะเกิด”

สมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจกับการพัฒนาการเมือง มันเริ่มใกล้ขึ้นมา จากการที่แต่ก่อนเราอยู่ระหว่างอำนาจปืนกับอำนาจเงิน ตอนนี้เรามีอำนาจประชาชนเข้ามาถ่วงแล้ว คราวหน้าอำนาจประชาชนจะได้ 75% ของ voter ตรงนั้นแหละเราจะสร้างรัฐบาลที่สวยงามขึ้นมา

ด้านการต่างประเทศของไทย ดร.ทนงกล่าวว่า อย่าไปหวังมาก “ผมไม่ได้mind นะกับการค้าเสรี แต่อย่างไปหวังกับมันมาก”

“หวังใน bilateral การติดต่อตัวต่อตัวคือหัวใจสำคัญ การคุยกับจีน การคุยกับลาวเพื่อช่วยเขา คุยกับจีนเพื่อให้เขาช่วยเรา คุยกับญี่ปุ่นเพื่อให้เขา พวกนี้ต้องขยันหน่อย ต้องมีการติดต่อที่เป็นทางการและลึกพอ ผู้ที่ไปติดต่อต้องมีอำนาจในการตัดสินใจมากพอ”

ตอนนี้เราทำอะไรทูตเศรษฐกิจ การคลัง ทูตพาณิชย์ ได้แต่เพียงคอยรับแขก ไม่มีอำนาจอะไรเลย แต่ไปรับข่าวสารแล้วส่งมาให้ และไม่รู้เมื่อไรผู้นำไทยควรไปติดต่อ bilateral เพื่อการต่างประเทศให้ได้ผล

ดร.ทนงปิดท้ายที่การเงินการคลัง ดิจิทัลเทคโนโลยี หนีไม่พ้นที่เราจะต้องมา จะใช้อย่างไร ฟินเทคหนีไม่พ้นที่จะต้องมา ใช้เป็นหรือไม่ Digital wallet บนเล็อกเชน จะรักษาวินัยทางการคลัง อย่างไรถ้าแจกฟรี วินัยการคลังจะเสียหายได้ “Promtpay ใช้เป็นหรือไม่ ทั้งที่เป็นนวัตกรรมของประเทศไทยที่สำคัญที่สุด และเป็น National Payment ที่ดีได้ ใช้ให้เป็น มันจะกำจัดคอรัปชัน การโอนเงินที่ไม่ถูกวิธี จะหาเงินที่ไม่ถูกวิธีได้จากระบบ Promptpay”

โครงสร้างภาษีไม่เอื้อต่อการเพิ่มผลผลิต ต้องคิดต่อเยอะมาก

ข้อสรุปก็คือ เราหวังอะไรบ้าง “ผมเชื่อว่า การเมืองพัฒนาจวนจะจบแล้ว เป็นจุดที่ดีอดทนอีกสัก 4 ปี แน่นอนตอนนี้จะเกิดระส่ำระสายมาเพราะฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลมาร่วมกัน มันจะมีการแบ่งผลประโยชน์กันไม่ลงตัวตลอดเวลา”

ส่วนความกลัวจะหมดไป เด็กๆ ผมกลัวคอมมิวนิสต์ จอมพลป. ออกประกาศคอมมิวนิสต์คือผี ค้อนเคียวที่มาทุบเรา แล้วเราก็กลัวคุณทักษิณ จนกระทั่งต้องปฏิวัติ 2 ครั้ง ตอนนี้เรากลัวก้าวไกล “น่ากลัวมากเหรอ เด็ก เด็กอยู่กลุ่มเดียว เรากลัวเขาขนาดนั้นเลยหรือ เราจะหยุดเขาเมื่อไรก็ได้ แต่เรากลัวเขาขนาดนั้นเลยหรือ”

การใส่ร้ายป้ายสีเกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมเราถึงเป็นอย่างนี้ไปได้ นี่คือ ความเป็นจริง ในที่สุดเราหนีไม่พ้น ในที่สุดก้าวไกลต้องชนะ ถ้าก้าวไกลไม่ชนะ มันต้องมีพรรคใหม่ขึ้นมา ที่เก่งกว่าก้าวไกล แล้วเอาชนะใจประชาชนได้ ซึ่งอาจจะเกิด เพราะเด็กรุ่นใหม่ รวมตัวกันใหม่ได้

ส่วนคอรัปชันก็ดีขึ้น ความยุติธรรมและความเป็นธรรมเริ่มดีขึ้น ประชาชนเริ่มไม่ยอม อันนี้ผมว่า “ระบบนิติธรรมอยู่ในมือประชาชนใกล้เคียงกัน และก็ NGO ทั้งหลายเริ่มประท้วงมากขึ้น โอกาสประเทศใกล้จะมาถึงแล้ว ผมมีความหวัง ผมอายุ 80 แล้วคงจะเห็นประเทศไทยอยู่ในมือของประชาชน”

  • สิ่งที่เห็น อยากให้ประเทศไทยเป็น : ‘สมประวิณ มันประเสริฐ’ ชี้ข้อมูลที่สมบูรณ์ ‘หัวใจ’ ปลดล็อกกับดักรายได้ปานกลาง
  • สิ่งที่เห็น อยากให้ประเทศไทยเป็น : “เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์” ต้องมี Mechanism ที่ดีในการแก้ปัญหาเพื่อเดินไปข้างหน้า
  • สิ่งที่เห็น อยากให้ประเทศไทยเป็น : “ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ” ไทยต้องมองตัวเองเป็น Middle Power ปกป้องผลประโยชน์ประเทศในระดับนานาชาติ