ThaiPublica > เกาะกระแส > สิ่งที่เห็น อยากให้ประเทศไทยเป็น : “เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์” ต้องมี Mechanism ที่ดีในการแก้ปัญหาเพื่อเดินไปข้างหน้า

สิ่งที่เห็น อยากให้ประเทศไทยเป็น : “เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์” ต้องมี Mechanism ที่ดีในการแก้ปัญหาเพื่อเดินไปข้างหน้า

16 กันยายน 2023


ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) และที่ปรึกษา ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

14 กันยายน 2566 สำนักข่าวออนไลน์ ThaiPublica จัดงาน “ThaiPublica Forum 2023 : Transform Thailand…สิ่งที่เห็นและอยากให้ประเทศไทยเป็น?” โดยมี “ดร.ทนง พิทยะ” ประธานกรรมการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวปาฐกถา พร้อมวิทยากรจากหลายภาคส่วน ได้แก่ ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด, ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) และที่ปรึกษา ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, คุณฟูอาดี้ พิศสุวรรณ ประธานมูลนิธิ สุรินทร์ พิศสุวรรณ และคุณเอริกา เมษินทรีย์ เช็น กรรมการผู้จัดการ บริษัทอิน เดอะ ลีด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัดและผู้ร่วมก่อตั้ง Youth In Charge

“สิ่งที่เห็นคือสังคมมีความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมสูงขึ้น ขณะที่การศึกษาไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาช่องว่างความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น แต่การศึกษาไทยแย่ลง มีเด็กมัธยมต้นเลิกเรียนหนังสือสูงขึ้นจนน่าเป็นห่วง ขณะที่อยากเห็นประเทศสร้างกลไกที่ดีแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ สร้างแรงจูงใจระยะสั้นและระยะยาวเพื่อให้ประเทศเดินหน้าได้”ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กล่าว

ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) และที่ปรึกษา ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกล่าวถึงสิ่งที่เห็นและอยากให้ประเทศไทยเป็นว่า สิ่งที่อยากจะพูดถึงคือที่ผ่านมาเห็นประเทศไทยเป็นอย่างไร และเห็นประเทศไทยเป็นอย่างไรในปัจจุบัน และมีความฝันที่อยากเห็นประเทศไทยเป็นอย่างไรในวันข้างหน้า

ก่อนอื่น เวลาเราพูดถึงอยากเห็นประเทศไทยเป็นอย่างไร ต้องดูว่าในช่วงที่ผ่านมาเป็นอย่างไร โดยขณะที่เตรียมสไลด์ที่จะมาพูดเรื่องนี้ ได้เปิดคอนเสิร์ตแกรมมี่ อาร์เอส ในยุค 90 และดูอยู่ประมาณ 2 ชั่วโมงกว่าจนจบ

“ความน่ากลัวสำหรับตัวเองคือเรารู้จักนักร้องทุกคนเลย และร้องเพลงตามได้ด้วย แต่สิ่งที่รู้สึกตลอดเวลาในตอนที่ดูคือ ในยุค 90 ที่เราเป็นวัยรุ่น อุตสาหกรรมการบันเทิงมีนักดนตรีที่โด่งดังอยู่ไม่กี่คน ที่โด่งดังใน 20 ปีที่ผ่านมามีนักดนตรีดังๆ ในช่วงนั้นประมาณ 3-4 คนได้ ที่สำคัญมีค่ายดนตรีใหญ่ๆ แค่ 2 ค่ายและเพลงที่เสนอเหมือนกัน แสดงว่าเขารู้ว่าคนในยุคนั้นชอบเพลงฟังแบบไหน”

นั่นคือสิ่งที่เราเคยเห็นในอุตสาหกรรมดนตรีที่ผ่านมา แต่ในปัจจุบันอุตสาหกรรมดนตรีสองค่ายนี้จะไม่มีบทบาทกับเพลงที่เราฟังมากเหมือนในอดีต เหตุผลสำคัญไม่ใช่ว่านักดนตรีในยุค 90 มีไม่มากเท่าปัจจุบัน แต่นักดนตรีในปัจจุบันมีช่องทางที่จะเสนอเพลงได้มากกว่า ขณะที่นักดนตรีในยุค 90 ไม่มีเทคโนโลยีในการนำเสนอเพลงมาให้เราได้เห็น

“ปัจจุบันมีเทคโนโลยี แสดงว่าการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมดนตรี ที่เราในฐานะผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้นและมีราคาที่ถูกลง มาจากเทคโนโลยี จนทำให้อุตสาหกรรมเพลงที่เดิมมีเพียงค่ายใหญ่ 2 ค่าย วันนี้กลายเป็นอุตสาหกรรมดนตรีที่มีการแข่งขันที่สมบูรณ์แบบมากขึ้น และเรามีทางเลือกของดนตรีให้ฟังหลากหลายมากขึ้น นี่คือการเปลี่ยนแปลงที่เรารู้สึกในฐานะประชาชน”

วันนี้ปัญหาความเหลื่อมล้ำสูงกว่าในอดีต

ดร.เกษรา บอกว่า…

อุตสาหกรรมดนตรี รัฐบาลไม่ได้ยุ่งอะไรมาก อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้อุตสาหกรรมดนตรีเปลี่ยนได้ เพราะรัฐบาลไม่ได้ยุ่งมาก แต่ใช้เทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนให้เดินไป

เหมือนกับที่อาจารย์ศุภวุฒิ สายเชื้อ บอกว่าในประเทศไทย ถ้ารัฐบาลยุ่งอะไรน้อยๆ อุตสาหกรรมและภาคเศรษฐกิจนั้นน่าจะเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะฉะนั้น สิ่งที่ต้องทำก่อนคือการลดกฎเกณฑ์ธุรกิจ นั่นคือสิ่งที่เราเห็นในอดีตที่ผ่านมา

“เมื่อพูดถึงอุตสาหกรรมเพลงแล้วก็ทำให้นึกถึงอุตสาหกรรมละคร ละครสมัยก่อนจะมีพลอตเรื่องอยู่แบบหนึ่งที่ประมาณมีหมอนใบหนึ่งมีเสื่อใบหนึ่งมา แล้วเรากัดก้อนเกลือกินและสามารถประสบความสำเร็จได้เมื่อเราพยายาม และพระเอกมักจะประสบความสำเร็จเมื่อพยายามเข้มแข็ง แข็งแรง ขยัน ก็จะสามารถสร้างความสำเร็จในกรุงเทพฯ และในประเทศไทย นั่นคือละครในอดีต”

แต่ละครในปัจจุบันเราไม่เจอแบบนี้แล้ว พลอตเรื่องละครปัจจุบันจะทุนใหญ่กินทุนเล็ก ทำให้คนเล็กเติบโตไม่ได้ พระเอกกลายเป็นคนไม่รวยและดีแทน แต่ว่าโดนทุนใหญ่ฮุบ ซึ่งแสดงว่าในปัจจุบันเราเห็นการเปลี่ยนแปลง คือการทำงานที่จะประสบความสำเร็จ ในการสร้าง wealth

“ในอดีต หากเทียบกับละครและครอบครัวของตัวเอง พ่อแม่ขายกาแฟถ้วยในตลาดบางรัก มีตึกแถวและถูกเวนคืนที่ดินเอาไปสร้างโรบินสันบางรัก เราไม่มีทางเลือก เราไม่อยากไป เพราะเราทำเป็นแค่ชงกาแฟขาย แต่เราไม่มีทางเลือกอื่น เขาไปทุกคน เมื่อเราไป เราเอาแผงขายกาแฟไปเปลี่ยนเป็นเงินก้อนที่เรามี เราขยัน อดทน จนพ่อแม่ก็ค่อยๆ สร้างธุรกิจ และส่งลูกๆ เรียนจนมีในวันนี้ได้”

แต่อดคิดไม่ได้ว่า ในช่วง 30 ปีในเวลาของพ่อแม่ในอดีตกับปัจจุบัน ถ้ามีความพยายามที่เท่ากัน ตอบยากเหมือนกันว่า โอกาสในปัจจุบันจะทำให้ความพยายามที่เท่ากันสามารถสร้างความสำเร็จได้ในวันนี้หรือเปล่า

ดร.เกษราบอกว่า คิดไม่ออกเหมือนกันว่าถ้าเราเริ่มต้นจากการขายกาแฟวันนี้ เรายังจะสามารถสร้างความสำเร็จได้เหมือนวันนั้นหรือไม่ เราไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไร (ตอนนี้) แต่เราคิดว่าช่องว่างในการสร้างความสำเร็จในวันนี้มันยากกว่าในอดีตมากเลย ในฐานะที่ผ่านมาและยังทำธุรกิจอยู่ทุกวันนี้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าคนในรุ่นปัจจุบันที่ทำทุกวันนี้ขยันน้อยกว่าสิ่งที่คนรุ่นพ่อแม่ขยัน แต่เป็นเพราะว่าสิ่งแวดล้อมใน กทม. และในประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไป

“จริงๆแล้วประเทศไทยในวันนี้เต็มไปด้วยความไม่เท่าเทียมกันมี เรื่อง inequality แม้ว่าสมัยก่อนก็มีแต่สมัยนี้มันใหญ่ขึ้นเราเห็นความไม่เท่าเทียมกันที่ยิ่งใหญ่ขึ้น”

… เราทำธุรกิจอาจจะสามารถเข้าใจได้เลยโดยไม่ต้องเข้าไปดูตัวเลขเหล่านี้ โดยเราจะเห็นว่าคนที่ใหญ่อยู่แล้วจะใหญ่มากขึ้นไปอีกเรื่อยๆ ขณะที่คนเล็กอยู่ก็เล็กลงไปได้ไม่ยากเลย แม้ว่าเขาอาจไม่อยากเล็กลงแต่สิ่งแวดล้อมทางธุรกิจของเขาทำให้เขาเล็กลง เพราะคนที่เขาใหญ่อยู่แล้วก็จะครอบงำได้ง่ายขึ้นไปเรื่อยๆ”

“Inequality” ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูงมาก

ดร.เกษรากล่าวว่า ถ้าข้อมูลด้านอื่นๆ มีข้อมูลทั้งข้อเท็จจริงดราม่าไปทางเดียวกัน เราจะเห็นว่าประเทศไทย เรามี wealth inequality (ความไม่เท่าเทียมด้านความมั่งคั่ง) ที่แตกต่างกันมาก แล้วเราคงเห็นสภาพสังคมในกรุงเทพฯ ชัดขึ้น เพราะว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองหัวโต เราเห็นความแตกต่างของคนได้ง่ายมาก ถามว่า inequality ก่อให้เกิดอะไร เราจะเห็นว่าเกิดปัญหามากมาย

“ตัวเองรู้สึกว่า inequality ซึ่งถ้าตามทฤษฏี inequality เป็นกำแพงที่ยิ่งใหญ่ซึ่งศักยภาพที่เรามีไม่สามารถชนะได้ คือวิ่งยังไงก็ไม่ชนะ เพราะเราไม่ได้เริ่มต้นบนเส้นเดียวกัน เราแข่งขันวิ่งหรืออะไรบางอย่าง ถ้า inequality คือเส้นชัยอยู่เส้นเดียวกัน คนที่โชคดีกว่าจะเริ่มต้นใกล้เส้นชัยกว่า แต่คนที่ inequality ไม่ดี จะเริ่มต้นอยู่หลังมากหรือห่างเส้นชัย แสดงว่าเขาต้องวิ่งเก่งมาก เพราะบางคนจุดที่เขาเริ่มวิ่งก็จะอยู่ใกล้เส้นชัยแล้ว”

ดร.เกษราบอกว่า…

ปัญหา inequality ทำให้คนไม่ต้องการพัฒนาตัวเอง ไม่มี motivation ถามว่าคนโดยทั่วไปเห็นเส้นชัย เห็นความเป็นไปได้หรือไม่ แต่ขณะเดียวกันมีคนข้างหลังเต็มไปหมดที่มีเส้นชัยเดียวกับเรา ขณะที่คนที่อยู่ข้างหน้าเราเขาก็ไม่มีอะไรที่ขยันกว่าเราเลย เพียงแต่เขาเกิดมาในจุดที่ดีกว่าเท่านั้น

ดังนั้น ก็อดคิดไม่ได้ว่าถ้าเป็นเราจะต้องมี motivation (แรงจูงใจ) มากขนาดไหนที่อยากจะทำเพื่อวิ่งไปถึงเส้นนั้น มันต้องวิ่งเก่งขนาดไหนที่จะวิ่งถึงเส้นชัย ขณะที่คนเป็น 100 คนไม่ต้องทำอะไรมากแต่เขาถึงเส้นชัยได้แล้ว อันนี้สำคัญมาก ที่อาจจะทำให้มีเยาวชนคนรุ่นใหม่รู้สึกว่าไม่มี motivation เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มาก เพราะว่าเมื่อไหรก็ตามที่เราไม่มีใจที่จะเดิน ไม่มีเครื่องมืออะไร ที่ทำให้เดินต่อไปได้ ถ้าไม่มีจิตใจที่จะทำให้เกิดความสำเร็จ ก็ยากที่จะเดินไปได้ เพราะฉะนั้น เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องแก้ไข

“นี่คือสิ่งที่เห็นและเราพูดถึงเรื่องนี้ตลอดเวลา และเป็นหัวข้อนี้ก็เป็นเรื่องที่พรรคการเมืองเสนอนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง และไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะว่า inequality ในเมืองไทยมีมานานแล้ว แต่เรายังไม่ได้แก้ปัญหา และในปัญหานี้ก็เป็นนโยบายหาเสียงที่เกิดขึ้นมาหลายสิบปีแล้ว หากย้อนไปดูการหาเสียง สมัยก่อนก็ใช้นโยบายนี้หาเสียงมามากกว่า 10 ปีแล้ว ว่าประเทศไทยไม่เท่าเทียมกัน และวิธีการแก้ปัญหาก็ตามสูตรเลย คือต้องทำให้การศึกษาดีขึ้นเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน และทำให้ระบบสาธารณะสุขดีขึ้นเพื่อให้คนเท่าเทียมกันมากขึ้น เราพูดกันมานานมาก”

แก้การศึกษาไม่ได้ เด็กไทยไอคิวต่ำลง

ดร.เกษราเห็นว่า ในปัจจุบันข้อมูลที่พบคืออันดับไอคิวของเด็กไทยต่ำลงมาก โดยเวียดนาม อันดับ 8 อันดับ 1 ญี่ปุ่น อันดับ 2 คือ เกาหลี 3 คือจีน แต่ประเทศไทยอยู่อันดับ 63 คำถามคือ เราพูดถึงเรื่องนี้มานาน แต่ทำไมวันนี้เรายังเป็นแบบนี้ ทุกพรรคการเมืองก็พูดถึงเรื่องเหล่านี้ แต่การศึกษาเราแย่ลง ซึ่งมองว่าเป็นอะไรที่น่ากลัวมาก เพราะพูดเรื่องนี้มา 10 ปี และทุกคนรู้ว่าเป็นปัญหา แต่ทำไมเรายิ่งทำยิ่งแย่ หรือเราไม่มีความรู้เพียงพอในการจะทำให้การศึกษาของเราสู้เวียดนามได้

“ปัญหาทุกวันนี้หนักเข้าไปใหญ่เราเห็น dropout crisis (วิกฤติเรื่องการหลุดจากระบบการศึกษา) ของนักเรียนใน กทม. ค่อนข้างมาก และพบว่าในช่วง ม.ต้น ประมาณ ม.1 หรือ ม.2 ซึ่งน่าเป็นห่วงมาก เพราะว่าถ้าเกิดตอน ม.3 อาจจะหมายถึงการไปเรียนต่ออย่างอื่น หรือ เรียนจบ ป. 6 อาจจะไปเรียนอย่างอื่น แต่พอเป็น ม.2 มันเหมือนเลิกเรียนคือไปใช้แรงงาน และเราก็พบว่าเด็ก ม.2 ของเราเลิกเรียนจริง”

ดร.เกษราเห็นว่าข้อมูล dropout crisis ของนักเรียนสวนทางกับการเกิดขึ้นโรงเรียนนานาชาติ แต่ถ้าถามว่าการเกิดขึ้นของโรงเรียนนานาชาติเป็นวิธีการแก้ปัญหา inequality ในประเทศไทยหรือไม่ เพราะเราบอกว่าการศึกษาคือการแก้ปัญหา ซึ่งต้องบอกว่าโรงเรียนนานาชาติไม่ได้แก้ปัญหา inequality ในสังคม เพราะคนที่เรียนโรงเรียนนานาชาติก็วนๆ อยู่ใกล้เส้นชัย เนื่องจากต้องยอมรับว่าค่าเทอมแพงมาก และระบบที่เรียนไม่ใช่ของไทย แต่เป็นระบบของอังกฤษ ทุกคนแย่งกันเข้าเรียน แสดงว่าเราไม่เชื่อระบบการศึกษาไทย

“ในฐานะที่เราเป็นแม่คนหนึ่ง เราอยากให้สิ่งที่ดีกับลูก แต่ขณะที่เรามองระบบสังคมสิ่งที่เราอยากแก้ คือเราอยากให้คนที่วันนี้ ที่มีโอกาส น้อยๆ อยู่ไกลเส้นชัยมากๆ มีระบบการศึกษาที่ดี เพื่อให้เขาอยู่ใกล้เส้นชัยมากขึ้น นี่คือการแก้ inequality ที่อยากให้เป็น จากสิ่งที่เราเห็นในปัจจุบัน”

นอกจากเรื่องการศึกษายังมีอีกประเด็น คือระบบ healthcare (การดูแลสุขภาพ) ที่ดี ซึ่งยอมรับว่านโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคเป็นนโยบายสวัสดิการที่จับต้องได้ และคนยากจนสามารถใช้ได้จริง แต่ขณะเดียวกัน เรามีคนไร้บ้าน คนอายุมากที่ไม่ได้อยู่ในระบบบำนาญหรือระบบบริษัทที่ดีจนทำให้มีเงินเหลือในการเกษียณ ขณะที่รัฐให้เงินหลังเกษียณน้อยมาก ได้ประมาณ 600-800 บาทไม่พอกับค่าครองชีพ แต่เมื่อไปดูประเทศที่มีสวัสดิการดีๆ เช่น ฝรั่งเศส เขามีสวัสดิการที่ใกล้กับค่าครองชีพ ทำให้เขาพออยู่ได้ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยปัจจุบัน

ขาดแผนแก้ปัญหาโลกร้อนที่ชัดเจน

แล้วเราคิดว่าประเทศไทยจะเป็นอย่างไรในอนาคต แต่ปัญหาไม่ได้มีแค่นี้ เรายังแก้ปัญหาไม่หมดเลย ปัญหาใหม่มาอีกแล้ว ปัญหาที่เราไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือปัญหาโลกร้อน ซึ่งเป็นปัญหาที่ทุกคนทั้งโลกก่อขึ้น และวันนี้ทุกคนทั้งโลกต้องร่วมกันแก้ไข แน่นอนว่าทุกบริษัทกำลังทำ net zero (การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์) แม้จะเป็นเรื่องดีที่ต้องทำและไทยก็เคยประกาศว่า เราจะทำ net zero ในปี 2065 แต่สิ่งที่น่าคิดคือมีแผนที่ต้องทำให้สำเร็จเยอะมาก เช่น แผนของกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม แต่ความน่ากลัวคือทำให้บริษัทเล็กลำบากมากขึ้น และทุนใหญ่ก็จะได้เปรียบมากขึ้นไปอีก ถ้าเราไม่ได้คิดถึงเขาเลย

ดร.เกษรากล่าวว่า เราต้องทำอย่างไรจึงจะสามารถแก้ปัญหาได้ หากไปดูประเทศที่ประสบความสำเร็จ เช่น สหรัฐฯ เราสามารถเลียนแบบเขาเลยได้หรือไม่ ถ้าเราเลียนแบบเขาได้เหมือนเลย เราน่าจะเแก้ไขได้เลยหรือไม่ ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาโลกร้อนที่เขาทำจริงจังมากคือทำคาร์บอนเครดิต ทำราคาคาร์บอน แต่ถ้าเราทำแบบนั้นได้จะแก้ปัญหาได้หรือไม่ ยังเป็นคำถาม เพราะเราหวังว่าจะสามารถแก้ได้ในเชิงระบบ และแก้บริษัทเล็กด้วยหรือไม่

“อย่างหนึ่งที่อยากให้เห็นว่า การแก้ปัญหาแบบเดียวในระดับโลกจะสามารถทำได้ทั้งหมดหรือไม่นั้น จะเห็นว่าเมื่อไม่นานมานี้ มีข่าวออกมาว่า Verra ซึ่งเป็นหน่วยงานวัดคาร์บอนไม่ได้วัดคาร์บอนอย่างแท้จริง ทำให้ ‘คนกลาง’ ที่คนทั้งโลกให้การยอมรับและเสียค่าใช้จ่ายสูงมากถูกตั้งคำถาม ทำให้เราเริ่มไม่มั่นใจว่าวัดคาร์บอนได้จริงหรือไม่

ในเวลาเดียวกัน เราคิดว่าระบบการศึกษาที่ดีคือระบบการศึกษาสหรัฐฯ แต่เวลาเดียวกัน มีข่าว และมีอยู่ในเน็ตฟลิกซ์ ว่ามีดาราดังในสหรัฐฯ จ่ายเงินให้ลูกเข้าเรียนโรงเรียนดังๆ โดยวิธีการจ่ายเงินให้ลูกตัวเองเล่นกีฬาแปลกๆ จะบอกว่าระบบที่ดีที่สุดในโลกก็จะมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้เสมอ เพราะฉะนั้น การแก้ปัญหาต่างๆ “เครื่องมือและกลไกที่ดี” จะช่วยในการแก้ปัญหา

ไทยขาดเครื่องมือในการปัญหาทั้งระบบ

ดร.เกษรากล่าวว่า สิ่งที่เราเห็นในวันนี้และเราอยากเห็นในอนาคตมีอะไรบ้าง ต้องบอกว่า 3 วันอาจจะบอกไม่หมด สิ่งที่วันนี้อยากแชร์ในฐานะคนที่ผ่าน 495 วันที่ทำงานข้าราชการการเมืองในฐานะที่ปรึกษาผู้ว่ากรุงเทพมหานคร และทำงานครบ 3 อาชีพ คือ เป็นข้าราชการซี 5-6 เป็นนักธุรกิจ และอาชีพสุดท้ายที่ทำอยู่ในวันนี้คือข้าราชการเมือง และทำมาได้ 495 วันพอดี

“ในฐานะคนที่เห็นมาทั้ง 3 อย่าง 3 อาชีพ พบว่าเรามีปัญหาเยอะมาก และเราเดินต่อไปเราจะเห็นปัญหาใหม่ และปัญหาของโลกไม่ได้หยุดรอให้เราแก้ปัญหาเดิม มันมีปัญหาใหม่เกิดขึ้นทุกวัน แล้วปัญหาภัยธรรมชาติอาจจะมาเร็วกว่าที่เราคิด สิ่งที่ต้องถามคือ เรามีสิ่งที่เป็น mechanism (กลไก) ในการรองรับกับการแก้ปัญหาที่ดีหรือยัง”

ดร.เกษราบอกด้วยว่า เราอาจจะไม่สามารถทำออกมาได้หมดว่าปัญหาอะไรที่เราต้องมี mechanism ที่ดีในการแก้ปัญหา เมื่อเราเจอปัญหาเราควรจะมีระบบอย่างไรในการแก้ปัญหาที่ดีได้

อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ที่มีปัญหาหลายอย่าง ทำให้เห็นว่าในโลกใบนี้มีกลไกหรือเหตุการณ์ที่เราเห็นพ้องต้องกันว่า เป็นการแข่งขันทางสังคมที่เจริญก้าวหน้าขึ้นตลอดเวลา และมีการพัฒนาขึ้นตลอดเวลา ถ้าเรามีกลไกแบบนั้นในการแก้ปัญหาได้คงเป็นเรื่องที่ดี ก็เลยคิดถึงธุรกิจฟุตบอลขึ้นมา เพราะเจริญก้าวหน้าไปมาก

แต่ถ้าเราสามารถสร้างกลไกในการแก้ปัญหาเหมือนธุรกิจฟุตบอล คือ มี government มี short-term goal มี long-term goal หรือมีกลไกการแก้ปัญหา ซึ่งถ้าเราทำอย่างนั้นได้ จะทำให้เราสามารถแก้ปัญหาได้ดีกว่าสิ่งที่เกิดมาในอดีต

“ถามว่า หากดูว่าทำไมฟุตบอลถึงโด่งดังและประสบความสำเร็จ สิ่งแรกที่เขาบอกคือ เป็นกีฬาที่เห็นหน้าชัด หมายความว่าไม่ปิดหน้าเวลาเล่น ทำให้ทุกคนสามารถเป็นดาราได้ แม้ว่าในทีมเราเล่นไม่ดี แต่ถ้าเรามี motivation สูงในการเล่น เพราะเรารู้ว่าค่าตัวเราสูงขึ้นเสมอ ต่างจากถ้าเราอยู่ในทีมแล้วทีมไม่ดี จะไม่มีใครเห็นความสามารถของเราเลย เราจะไม่มี motivation เพราะไม่มีผลตอบแทนที่เราจะได้พัฒนา แต่ฟุตบอลจะไม่เป็นแบบนั้น เพราะแม้ว่าทีมไม่ดี แต่ตัวเราสามารถทำได้ดี ไม่ต้องยิงลูกเข้าประตู แต่เราส่งลูกได้ดี ค่าตัวเราก็ดีขึ้นได้ มีผลคะแนนของตัวเองที่ดีขึ้นได้เช่นกัน”

สร้าง Mechanism แก้ปัญหาเหมือนทีมฟุตบอล

ดร.เกษรากล่าวว่า การที่กีฬาฟุตบอลประสบความสำเร็จเพราะว่ากลไกการทำงานมีทั้ง long-term motivation และ short-term motivation ซึ่งหมายถึงการแข่งขันในนัดนั้น ทุกคนอยากชนะ แต่การแข่งขันในนัดนัดเดียวไม่ได้การันตีทุกอย่าง long-term motivation หมายถึง ความสำเร็จของสโมสร หมายถึงการขายสินค้าอย่างอื่นได้อีกมาก และอาจจะมีดาวเด่นของตัวเอง มีความสำเร็จของทีม

หรือแม้ว่าทีมเล่นไม่ดี แต่เราเล่นได้ดี เราก็มี motivation เหมือนกัน และ transformacy หรือการเปลี่ยนผ่านที่ดีนั้นคือความสวยงามของมัน เพราะว่ามันมี transformacy มีกฎเกณฑ์ที่เข้าใจง่าย ทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านที่ดี

นอกจากนี้ยังมี motivation ทั้ง long-term และ short-term และ benefit (ประโยชน์) และง่ายในการวัดผล และทำให้ mechanism ของการทำฟุตบอลเดินหน้าไปได้อีกมาก ถ้าเราสามารถออกแบบ mechanism แบบนี้ที่มีกลไกลการแก้ปัญหาเรื่องใหญ่ๆ ของประเทศ

“เหมือนที่หลายท่านพูดว่า เราแก้ปัญหานโยบายของประเทศต้องมาจากนักการเมือง เพราะนักการเมืองเป็นอาชีพที่สำคัญ เนื่องจากไม่มีนโยบายอะไรที่จะเปลี่ยนประเทศได้มากเท่ากับนโยบายที่ออกมาจากนักการเมือง เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค ก็ออกมาจากนักการเมือง

เพราะฉะนั้น…

นโยบายที่จะออกมาแก้ปัญหาให้คนทั้งประเทศได้จริง ต้องออกมาจากนักการเมือง เราจึงต้องมีกลไกที่ทำให้นักการเมืองมีวิธีการที่สร้าง motivation มี transformacy และการตรวจสอบ

…เพื่อแก้ปัญหาที่คนดูฟุตบอล คนเล่นฟุตบอล สามารถมีส่วนร่วมและทำให้เกิดการแก้ปัญหาจริงๆ ไม่งั้นเราจะได้แค่ตอนหาเสียง ไม่เคยมีผล และไม่มีการทำที่เกิดขึ้นชัดเจน”

ดร.เกษรากล่าวว่า สิ่งที่เรียกว่า การมี mechanism ที่ดี ต้องมีความโปร่งใส การมี simple rule (กติกาง่ายๆ) การที่ให้ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรามีส่วนร่วมและมี motivation ที่ชัดเจนทั้งระยะสั้นและระยะยาว ดังนั้น

สิ่งที่สำคัญและอยากให้ประเทศไทยเป็นมากกว่าคือ อยากจะมี mechanism ที่ดีในการแก้ปัญหาเพื่อเดินไปข้างหน้า

เพราะปัญหามีอีกมาก แต่ถ้าเรามี mechanism ที่ดีในการแก้ปัญหา เราก็น่าจะเป็นคนหนึ่งที่ไม่ได้แพ้คนอื่น ในเรื่องของมันสมอง เรื่องของจิตวิญญาณในการที่เราจะรักชาติเราและอยากจะแก้ปัญหา ต้องมาสร้างกรอบการทำงานที่ทำให้การแก้ปัญหาอยู่ในวงจรที่ทำให้ทุกคนได้กำไร และเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาว

  • สิ่งที่เห็น อยากให้ประเทศไทยเป็น : “ทนง พิทยะ” ชาตินิยมที่ถูก ต้องเดินหน้าแข่งกับประเทศที่รวยกว่าเรา
  • สิ่งที่เห็น อยากให้ประเทศไทยเป็น : ‘สมประวิณ มันประเสริฐ’ ชี้ข้อมูลที่สมบูรณ์ ‘หัวใจ’ ปลดล็อกกับดักรายได้ปานกลาง
  • สิ่งที่เห็น อยากให้ประเทศไทยเป็น : “ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ” ไทยต้องมองตัวเองเป็น Middle Power ปกป้องผลประโยชน์ประเทศในระดับนานาชาติ