ThaiPublica > ประเด็นร้อน > สิ่งที่เห็นและอยากให้ ‘ประเทศไทย’ เป็น > สิ่งที่เห็น อยากให้ประเทศไทยเป็น : “ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ” ไทยต้องมองตัวเองเป็น Middle Power ปกป้องผลประโยชน์ประเทศในระดับนานาชาติ

สิ่งที่เห็น อยากให้ประเทศไทยเป็น : “ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ” ไทยต้องมองตัวเองเป็น Middle Power ปกป้องผลประโยชน์ประเทศในระดับนานาชาติ

17 กันยายน 2023


ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ ประธานมูลนิธิ สุรินทร์ พิศสุวรรณ

14 กันยายน 2566 สำนักข่าวออนไลน์ ThaiPublica จัดงาน “ThaiPublica Forum 2023 : Transform Thailand…สิ่งที่เห็นและอยากให้ประเทศไทยเป็น?” โดยมี “ดร.ทนง พิทยะ” ประธานกรรมการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวปาฐกถา พร้อมวิทยากรจากหลายภาคส่วน ได้แก่ ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด, ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) และที่ปรึกษา ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, คุณฟูอาดี้ พิศสุวรรณ ประธานมูลนิธิ สุรินทร์ พิศสุวรรณ และคุณเอริกา เมษินทรีย์ เช็น กรรมการผู้จัดการ บริษัทอิน เดอะ ลีด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัดและผู้ร่วมก่อตั้ง Youth In Charge

‘ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ’ ประธานมูลนิธิ สุรินทร์ พิศสุวรรณ กล่าวว่า “สิ่งที่ผมอยากพูดในวันนี้ เป็นเรื่องอีกเรื่องหนึ่งที่คิดว่าเป็นเรื่องที่สนใจ และหากวัดกันเรื่อง Training ด้านวิชาการ สิ่งที่คิดว่าตัวเองได้รับการฝึกฝนมาดีกว่า เรื่องอื่นๆในชีวิต ก็คงจะเป็นเรื่องการต่างประเทศ ก็เลยอยากจะพูดในเรื่องนี้ ในวันนี้ครับ…ว่าการต่างประเทศของไทยที่ผมอยากเห็นเป็นยังไง”

สิ่งแรก อยากให้ทุกคนเข้าใจก่อนว่าทำไมการต่างประเทศถึงสำคัญ เพราะเมื่อการเลือกตั้งที่ผ่านมา จะว่าไปแล้วต่างประเทศก็ไม่ได้เป็นจุดสนใจมากนัก มีหลายๆเรื่องที่ได้พื้นที่สื่อ ได้พื้นที่ความสนใจของของพี่น้องประชาชนมากกว่า

แต่การต่างประเทศมันส่งผลกระทบกับชีวิตของเราโดยตรง ตัวอย่างเช่น สงครามยูเครนรัสเซีย มีผลกระทบ เพราะว่าปุ๋ยราคาแพงขึ้นอย่างชัดเจน รัสเซีย และยูเครนเป็นประเทศที่ส่งออกแม่ปุ๋ยเป็นหลักของโลก

ความไม่สงบในตะวันออกกลาง ทำให้น้ำมันมีราคาแพงกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการแพงขึ้น แต่ในอีกมิติ ก็ทำให้อุตสาหกรรมอาหารของเรา โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารกระป๋อง และปลากระป๋อง มีความต้องการมากขึ้น

พูดง่ายๆว่า ยิ่งเกิดสถานการณ์ความไม่สงบในโลกเท่าไหร่ ปลากระป๋องของไทย ก็ขายดีมากขึ้นเท่านั้น แต่ปัญหาที่ตามมาหลังจากปลากระป๋องไทยขายดี ก็คือปัญหาแรงงานขาดตลาด มีตัวเลขสภาอุตสาหกรรมว่าประเทศไทยของเราขาดแคลนแรงงาน ที่จะมาป้อนโรงงาน อยู่มากกว่า 500,000 คน

ปัญหาในเมียนมามีผลกระทบกับทุกคนโดยตรง ปัญหาผู้อพยพ เป็นสิ่งที่เราเห็นได้บ่อยครั้งเมื่อเกิดการสู้รบกันระหว่างชนกลุ่มน้อย และทหารเมียนมา

ในตอนนี้มีผู้อพยพชาว Karenni เกือบหมื่นคน ลี้ภัยมาอยู่ที่แม่ฮ่องสอน และมีอยู่อีกประมาณ 90,000 คนใน 9 แคมป์ผู้ลี้ภัย ตามชายแดนไทย ที่อยู่ตรงนั้นมาแล้ว 40 ปี

ใครที่เคยได้รับโทรศัพท์จากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ มีโอกาสสูง ที่ปฏิบัติการนั้นเกิดขึ้นในเมือง Myawaddy ที่อยู่ตรงข้ามกับแม่สอดในเขตแดนของเมียนมา

ใครที่อยู่เชียงใหม่ หรือภาคเหนือ ฝุ่นควันส่วนใหญ่ในช่วงกุมภาพันธ์ มีนาคม เมษายนที่ทำให้เชียงใหม่ และเชียงรายเป็นพื้นที่ภัยพิบัติที่มีมลพิษสูงที่สุดในโลก นั้นส่วนมากก็มาจากประเทศเพื่อนบ้าน

ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงมีการสร้างเขื่อนในแม่น้ำแม่โขงตอนบน 10 กว่าเขื่อนในประเทศจีน ทำให้ในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างไม่สามารถใช้สอยน้ำในแม่น้ำโขงตามฤดูกาลได้ เพราะอิทธิพลของจีน ในการควบคุมน้ำขึ้นน้ำลง ทำให้มีปัญหากับชาวบ้านที่อยู่ทั้งสองฝั่งโขง ผลลัพธ์ก็คือ ประเทศลาวจำเป็นต้องสร้างเขื่อนอีกเยอะมากมาย เพื่อที่จะกักน้ำไว้ใช้สอยสำหรับภาคเกษตรกรรม เรียกได้ว่าเป็น chain reaction ทำให้ตอนนี้ นอกจาก 10 กว่าเขื่อนในประเทศจีนแล้ว ในลาวเองก็มีแผนที่จะสร้างให้ครบอีก 10 กว่าเขื่อนรวมแล้วก็มากกว่า 20 กว่าเขื่อนในลุ่มแม่น้ำโขงเองก็มีการแข่งขันผ่านสถาบันต่างๆที่ตั้งขึ้นเพื่อต่อรองเกี่ยวกับการควบคุมการไหล การขึ้น-ลง และใช้สอยประโยชน์ของแม่น้ำโขง

เรามี Lower Mekong Initiative ที่แบ็คโดยอเมริกา

เรามีสถาบันความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขงที่แบ๊ค โดยประเทศจีน

และก็ยังมีคณะกรรมการแม่น้ำโขง Mekong River Commission ที่เกิดขึ้นจาก กัมพูชา ไทย เวียดนาม ลาว โดยที่จีนและอเมริกาไม่เกี่ยวข้อง

ทุกๆองค์กรเกิดขึ้นมา ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศนั้นๆใน อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

ในมิติอื่นๆ อาจจะพูดได้ว่าเรากำลังอยู่ในสภาวะสงครามเย็นระลอกใหม่

ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ ประธานมูลนิธิ สุรินทร์ พิศสุวรรณ

เราซื้อ F-35 จากอเมริกาไม่ได้เพราะที่ผ่านมาหลายปี ในมุมมองของอเมริกา เรามีความเอนเอียงที่ค่อนชัดเจนไปทางจีน ทำให้สหรัฐกลัวว่าหากขายเครื่องบินรบ F-35 ให้ประเทศไทย ก็มีความเป็นไปได้ ที่จะมีข้อมูลของเทคโนโลยีชั้นสูง ที่อยู่ภายในเครื่องบินนี้หลุดรอดไปถึงมือกองทัพจีนได้

ด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ เราซื้อเรือดำน้ำจากจีนแต่ไม่สามารถใช้เครื่องยนต์จากเยอรมันได้เพราะมีความเสี่ยงที่ข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีของเครื่องยนต์เยอรมัน จะตกไปอยู่ในมือของกองทัพของจีนได้

ความพยายามที่จะลด การพึ่งพาซึ่งกันและกันโดยเฉพาะ ทางด้านเทคโนโลยีของทั้ง 2 ประเทศ มีการจำกัดการขายชิป ที่เป็นชิ้นส่วนประกอบสำคัญของการสร้างมือถือการสร้าง Gadget ต่างๆ ทำให้เรากำลังเห็นโลกของเทคโนโลยี 2 ใบที่พยายามเป็นเอกเทศต่อกันและกัน ซึ่งนั่นทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มีราคาแพงขึ้น มีของน้อยลง เข้าถึงได้ยาก และขาดตลาด

และยังมีความเสี่ยงเรื่องสงครามที่อาจจะเกิดขึ้นได้ระหว่างจีนและไต้หวัน ในเมื่อไต้หวัน มีความสัมพันธ์ทางด้านความมั่นคงและทางด้านค่านิยมที่ใกล้ชิดกับสหรัฐ

นั่นหมายความว่ามีโอกาสที่จะเกิดสงครามใหญ่ได้เช่นกันในเอเชีย การที่ประเทศมหาอำนาจอย่างรัสเซีย ละเมิดอธิปไตยของยูเครน ได้สำเร็จ เป็นตัวอย่างที่ทำให้ทุกๆฉากทัศน์ ของสงครามใหญ่ในที่ต่างๆบนโลก มีความเป็นไปได้ขึ้นมาในทันที

คำถามก็คือไทยจะอยู่อย่างไร ในสถานการณ์ระดับโลก ที่ตึงเครียดเช่นนี้ ในปัจจุบัน

การที่ประเทศไทย ต้องรับมือกับปัญหาความท้าทายที่กล่าวมาข้างต้น และเรื่องอื่นๆอีกมากมาย ที่ผมกล่าวไม่หมด

เรามีเครื่องมือหลักๆ อยู่ 2 อย่างคือ Hard Power และ Soft Power

Hard Power ประกอบด้วย อำนาจทางการทหาร และอำนาจทางเศรษฐกิจ ที่ในบางโอกาส เราอาจจำเป็นที่จะต้องใช้ไม้แข็ง เช่น การเลือกใช้กำลังทางการทหาร หรือ อาจจะเป็นการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ทางด้านการต่างประเทศที่เราต้องการ และเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศไทย

และเรายังมี Soft Power ซึ่งก็คือพลังแห่งการดึงดูด และการโน้มน้าวให้คู่ต่อรอง ให้ฝั่งตรงข้าม ให้พันธมิตร ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศของเราโดยไม่จำเป็นต้องใช้ไม้แข็งเสมอไป

เราอาจจะมีวัฒนธรรมที่ดึงดูด ที่ช่วยในการโน้มน้าวผู้นำของประเทศอื่น

เราอาจจะมีมิตรไมตรีจิตที่ทำให้คู่เจรจาใจอ่อนและยอมเรามากขึ้น

Soft Power เป็นสิ่งที่ถูกใช้ผิดความหมายมากที่สุดคำนึงในระหว่างหาเสียงรอบที่ผ่านมา

Soft Power เป็นมากกว่า ข้าวเหนียวมะม่วง เป็นมากกว่าการรำไทย เป็นมากกว่าอาหารไทย แต่เป็นกระบวนการ เป็น process ในการนำทรัพยากรทางด้านวัฒนธรรม ไปใช้เพื่อเป้าหมายอะไรบางอย่าง ที่จะเป็นผลประโยชน์ต่อประชาชนไทย

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มีประโยคแห่งความจริงที่นักการต่างประเทศทุกคน จะต้องเคยได้ยิน ซึ่งก็คือ “Foreign Policy beings at home” ที่หมายความว่า นโยบายต่างประเทศต้องเริ่มที่บ้านของตัวเอง ปัญหาคือในขณะนี้ บ้านเราเปรียบเสมือนบ้านที่กำลังถูกไฟไหม้…

จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องช่วยกันดับไฟและทำบ้านของเราให้แข็งแกร่ง ซึ่งนั่นหมายความว่าอะไร?

 

 

หมายความว่า…การที่การเมืองภายในมีความชอบธรรมอย่างเต็มภาคภูมิ การที่เรามีเศรษฐกิจที่ดี เป็นจุดสนใจของนักลงทุน ทำให้ต่างประเทศเคารพ และมองประเทศไทยอย่างจริงจัง อย่างมีเครดิตในเวทีโลก

เพราะฉะนั้นการต่างประเทศที่ผมอยากเห็นคือ การต่างประเทศที่อยู่บนพื้นฐานของความชอบธรรมทางการเมือง และสภาวะเศรษฐกิจที่ดีมากพอ ที่จะสามารถต่อยอดในการดำเนินการแก้ปัญหาในมิติต่างประเทศ ที่เป็นผลกระทบต่อประเทศไทย ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

และเมื่อมีพื้นฐานการเมืองและเศรษฐกิจภายในประเทศที่ดีมีอยู่ 3 อย่างครับ ที่ผมอยากจะเห็น คือ

1. ประเทศไทยที่มองตัวเองเป็น Midde Power หรือมหาอำนาจระดับกลาง

2. ประเทศไทยที่มองเห็นโอกาสท่ามกลางปัญหาของสถานการณ์ประเทศเมียนมา

3. ประเทศไทยที่มีกองทัพที่มีบทบาทในสังคมนานาชาติ

“ตลอดหลายปีที่ผ่านมา…ผมมีความรู้สึกว่า ประเทศไทยของเรามองตัวเองเล็กไป สิ่งนี้เป็นผลมาจาก การที่เรามีชนักปักหลังมายาวนาน การเข้าสู่อำนาจของรัฐบาลทำให้ประชาคมโลกตั้งคำถามถึง เรื่องความชอบธรรมของการเมืองในอดีต”

ในทางด้านเศรษฐกิจ เรามีผลประกอบการเศรษฐกิจที่แย่เป็นอันดับรองบ๊วย…ของอาเซียนหากนับถึงการเติบโตของ GDP ในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เราเติบโตเฉลี่ยต่อปี 1.8% ส่วนเวียดนามเติบโตสูงสุดในอาเซียนที่ 8.6% ต่อปี”

มีคำนิยามของการต่างประเทศไทยที่ถูกใช้มาอย่างยาวนานก็คือ Bamboo Diplomacy หรือว่าการทูตแบบไผ่ลู่ลม ซึ่งเป็นอุปมาอุปไมยที่เปรียบเทียบต้นไผ่ กับประเทศไทย ที่จะลู่ลมไปมา เอาตัวรอดได้ในสถานการณ์ต่างๆ แต่ไม่หักโค่นลง

แต่การเปรียบเทียบแบบนั้นแปลว่า เรากำลังบอกตัวเอง ว่าเราไม่มีความสามารถมากพอ ในการกำหนดทิศทางลม หรือว่าทำประเทศของเราให้แข็งแกร่งมากพอ ที่จะสามารถต้านทานลมที่แรงได้ ในระดับที่สูงกว่าที่เป็นอยู่

แต่เราลืมไปว่าหากเราสามารถส่องกระจกและมองตัวเอง และเชื่อมั่นว่าเราเนี่ยมีอำนาจมากพอที่จะต่อรองผลประโยชน์สำหรับประเทศด้วยการใช้ทั้ง Hard และ Soft Power บนพื้นฐานของความชอบธรรมทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ดี เราอาจจะเป็นต้นไม้ที่แข็งแกร่งมากพอ ที่จะสู้กับลมและพายุได้

ยิ่งไปกว่านั้น เราอาจจะมีความสามารถในการช่วยกำหนดทิศทางของลมเลยด้วยซ้ำ และในบางเรื่องเราอาจจะเป็นมากกว่า Middle Power ก็ได้

เช่นเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องความยั่งยืน ที่ประเทศไทยจะถูกกระทบเป็นอันดับต้นๆของโลกประเทศหนึ่ง โดยเฉพาะพื้นที่ในกรุงเทพฯ ที่ยุบตัวลง ในขณะที่ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น จากสถานการณ์โลกเดือดที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน เราอาจจะเป็นผู้นำ เป็นตัวตั้งตัวตีของโลก ในเรื่องการค้ามนุษย์

เพราะว่า ตอนนี้เราเป็น ทั้งต้นตอของปัญหา เป็นทางผ่านของปัญหา และเป็นปลายทางของปัญหา หากเรากระตือรือร้นมากพอผมเชื่อเหลือเกินว่าในบางเรื่องเราอาจจะเป็นมหาอำนาจในประด็นย่อยๆไป…ก็เป็นได้

ในเรื่องของเมียนมา ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาอันดับ 1 ของการต่างประเทศไทยในยุคปัจจุบัน ในงานวิชาการของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เรามักจะให้ความสำคัญกับหน่วยของการวิเคราะห์ (Unit of Analysis) ที่เรียกว่า “รัฐ” หรือ State มากที่สุด

แต่ตั้งแต่ยุคต้นปี 2000 เป็นต้นมา มี Concept ใหม่ ที่เรียกว่าความมั่นคงของมนุษย์ หรือ Human Security ที่ถูกผลักดันโดยองค์กรสหประชาชาติ เพื่อให้รัฐต่างๆให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์ กับปัจเจกบุคคลมากขึ้น และให้ยึดมั่นว่า หน่วยของการวิเคราะห์นี้ มีความสำคัญ มากกว่ารัฐ เสียด้วยซ้ำ

ในการดำเนินการนโยบายต่างๆ ทั้งในระดับการเมืองภายในประเทศ และระหว่างประเทศ

ความมั่นคงของมนุษย์คือ สภาวะที่กำหนดว่า มนุษย์คนหนึ่งจะต้องไม่อยู่ในความหวาดกลัว หรือ Freedom from Fear และต้องไม่ขาดแคลนปัจจัยพื้นฐาน หรือ Freedom from Want ในการดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีได้

ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ ประธานมูลนิธิ สุรินทร์ พิศสุวรรณ

ประเทศไทยในอดีตมองปัญหาเมียนมาเป็นเรื่องภัยคุกคาม เป็นเรื่องความมั่นคงทางด้านการทหารเสมอมา มีความจำเป็นที่เราจะต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติ และให้ความสำคัญกับความมั่นคงของมนุษย์ ให้เป็นจุดเริ่มต้นของการวิเคราะห์

เมื่อเรามองปัญหานี้เป็นเรื่องความมั่นคงของมนุษย์ การใช้ Hard Power ในด้านการทหาร จึงไม่ใช่เครื่องมือเดียวที่เราจะใช้แก้ปัญหาได้

อีกวิธีหนึ่งคือการใช้แนวคิดมุมมองทางเศรษฐกิจในการแก้ปัญหาด้านมนุษยธรรมในบริเวณชายแดน มีไอเดียหนึ่งที่ตอนนี้กำลังได้รับความสนใจและถูกพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง นั่นก็คือการสร้างจุดเชื่อมต่อด้านมนุษยธรรมและด้านเศรษฐกิจ หรือที่เรียกว่า Humanitarian-Economic Corridor ซึ่งอาจจะมีองค์ประกอบด้านการลงทุน การเปิดโอกาสให้ธุรกิจของชาวเมียนมา สามารถเคลื่อนย้ายฐานผลิต ฐานบริการ เข้ามาในพื้นที่ฝั่งไทย

การสร้างโรงงาน การสร้างพื้นที่ อาจจะเป็น ในจังหวัดตาก ในจังหวัดราชบุรี ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อรองรับผู้ลี้ภัย ไม่ใช่ ในฐานะผู้ที่ต้องได้รับความช่วยเหลือ แต่เป็นผู้ที่มีความสามารถและมีโอกาสใช้ทรัพยากรมนุษย์ ของตัวเอง เพื่อผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจของทั้งตัวเขาเอง และประเทศไทย

แล้วต้องย้ำว่าแนวคิดนี้เป็นแนวคิดที่ต่างจากการสร้างพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษหรือ Special Econmic Zone ในอดีต เพราะฐานของความคิดของพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษนั่นคือ แรงงานราคาถูกที่มาจากต่างประเทศ เราเคยยึดเอาผลประโยชน์ของผู้ประกอบการ และนักลงทุนเป็นหลัก ไม่ใช่ความมั่นคงของมนุษย์ ผ่านมุมมองของหลักการด้านมนุษยธรรม ซึ่งเป็นข้อเสนอใหม่ ที่ควรถูกพิจารณา

องค์ประกอบของ Humanitarian-Economic Corrdior อีกอย่างหนึ่งที่อาจจะเป็นไปได้ คือ การอนุญาตให้แพทย์และพยาบาลชาวเมียนมาสามารถทำการรักษาประชาชนชาวเมียนมา ที่ทะลัก ที่อพยพ ที่ลี้ภัยมาอยู่ใน จังหวัดตาก จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของระบบสาธารณะสุขไทย

ความจริงอีกอย่าง เกี่ยวกับเรื่องเมียนมา ที่ทุกคนจำเป็นต้องทราบ คือการอพยพหรือลี้ภัย หลังจากการเกิดรัฐประหารเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ครั้งนี้มีมิติที่ต่างไป คนที่อพยพหลายๆคน เป็นหมอ เป็นพยาบาล เป็นนักลงทุน เป็นนักธุรกิจ เป็นชนชั้นกลาง ที่หอบทั้งความรู้ความสามารถ และเงินทุนเข้ามาในประเทศไทยในครั้งนี้

“พวกเขาจึงควรที่จะถูกมองเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่า ที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยได้ อย่าลืมนะครับ เรามีปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เรากำลังเป็นสังคมสูงวัย ดังนั้น ชาวเมียนมา ที่อพยพมาในรอบนี้อาจจะมีส่วนในการเติมเต็มในการช่วยแก้ปัญหาของบ้านเราก็เป็นได้”

มีสถิติหนึ่งที่บ่งบอกถึงสิ่งที่ผมได้กล่าวมาอย่างชัดแจ้ง ในปี 2565 ที่ผ่านมาชาวเมียนมาซื้อคอนโด ในประเทศไทย เป็นจำนวนมากเป็นอันดับ 7 ส่วนมูลค่ารวมนั้นมากเป็นอันดับ 5 ส่วนมูลค่าเฉลี่ยต่อยูนิตพวกเขาใช้เงินมากเป็นอันดับ 1

นอกเหนือจากนั้น วิกฤติในเมียนมาทำให้เรารู้ว่าเราพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากเมียนมาเยอะขนาดไหน 20% ของก๊าซธรรมชาติ ที่นำเข้ามาในประเทศไทยมาจากแหล่งบ่อก๊าซธรรมชาติในเมียนมา 8% ของไฟฟ้ามีต้นทางของเชื้อเพลิงมาจากก๊าซธรรมชาติของเมียนมา

การพึ่งพานี้ทำให้การดำเนินการนโยบายการต่างประเทศ มีข้อจำกัด มีสิ่งที่ต้องคิด มีโซ่ตรวนที่ล่ามความเป็นเอกเทศ ของการดำเนินการนโยบายเกี่ยวกับเมียนมาของประเทศไทยไว้

 

 

ดังนั้นการพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทยกับกัมพูชาให้เป็นแหล่งพลังงานใหม่ ที่มีการเริ่มพูดถึงกันอยู่บ้างแล้วจึงควรถูกมองว่าเป็นเครื่องมือในการลดการพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากฝั่งตะวันตกของประเทศไทย

สุดท้ายสิ่งที่ผมอยากเห็นคือ การใช้ศักยภาพของกองทัพไทยเพื่อเป็นเครื่องมือการต่างประเทศ ผมอยากเห็นประเทศไทยที่มีกองทัพที่มีบทบาท ในสังคมและเวทีนานาชาติ สิ่งนี้เป็นสัญญาณที่จำเป็น ที่จะบอกกล่าวถึงการกลับมาของประเทศไทยบนเวทีโลก เราเคยมีกองทัพที่มีบทบาทมากๆในเวทีนานาชาติ และส่วนใหญ่เราจะกระตือรือร้นในการให้กองทัพมีบทบาทนี้มากที่สุดภายใต้รัฐบาลพลเรือน ซึ่งตัวอย่างที่จับต้องได้มากที่สุด ก็คือการส่งกองกำลังหรือบุคลากรของกองทัพไปช่วยเหลือ ตามโครงการกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติในที่ต่างๆ

หากทุกคนสังเกตดูในสไลด์นี้นะครับ ในยุคชวน 1 เราส่งทหารไปมีส่วนร่วมรักษาสันติภาพในอิรักและกัมพูชา ในยุคชวน 2 เราส่งกองทัพไปช่วย รักษาสันติภาพที่ East Timor

ในยุคของพันตำรวจโททักษิณเราส่งทหารไปช่วยในอิรัก ตอนที่สหรัฐทำสงครามการก่อการร้าย เราส่งไปเซร่าลีโอน ส่งไป Sudan

แล้วเราหายไปจากเวทีกองกำลังสันติภาพโลกหลังจากการเกิดรัฐประหารปี 2006 เรากลับมาอีกครั้ง ในยุคคุณอภิสิทธิ์และต่อมาของคุณยิ่งลักษณ์ที่เราส่งกองทัพไป Sudan…

หลังรัฐประหารปี 2014 เราก็หายไปอีกครั้ง แล้วก็กลับมามีบทบาทใน South Sudan ในช่วงปลายปี 2018 อย่าลืมว่าเรามีรัฐธรรมนูญในปี 2017 และมีการเลือกตั้งในปี 2019 สิ่งที่ผมพยายามสื่อคือ การส่งกองกำลังไปมีส่วนร่วมในเวทีโลกเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความชอบธรรมทางการเมืองระหว่างประเทศของไทย

“ผมเชื่อว่าการมี international linkage หรือภาษาไทยอาจจะเรียกว่า “การเชื่อมโยงกับนานาชาติ” จะทำให้กองทัพหมกมุ่นกับการเมือง กับความมั่นคงภายในประเทศน้อยลง ซึ่งจริงๆแล้วในมุมมองสากล กองทัพมีหน้าที่หลักในการปกป้องประเทศจากภัยคุกคามที่มาจากภายนอกราชอาณาจักร”

การได้ออกไปมีส่วนร่วม มีบทบาทในระดับโลกในต่างประเทศเป็นการสร้างความพร้อม (ศัพท์ทหารเรียกว่า Readiness ) สร้างความเป็นมืออาชีพ หรือ Professionalism ให้บุคลากรของกองทัพ สร้างความภาคภูมิใจ สร้างเกียรติ สร้างความตระหนักรู้ถึงการอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาสูงสุดของพลเรือน

นอกเหนือจากนั้นการมีส่วนร่วมกับปฏิบัติการของสหประชาชาติในระดับนานาชาติเป็นเรื่อง ที่ภาษาอังกฤษหรือภาษาทฤษฎีเกม เรียกว่ายุทธศาสตร์ Tit for Tat หมายถึงการแลกเปลี่ยนความร่วมมือ การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน…แบบตอบสนองต่อการกระทำของกันและกัน ซึ่งอาจจะไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องกันโดยตรง โดยทันที เสมอไป

ตัวอย่างเช่นหลังจากวิกฤติต้มยำกุ้งปี 1997 เราจำเป็นต้องขอกู้ยืมเงินเพิ่มทุนสำรอง และเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับประเทศ จาก IMF ซึ่งเป็นความช่วยเหลือที่ได้การอนุมัติจากหลายๆประเทศ

การส่งทหารเข้าไปมีส่วนร่วมกับกองกำลังรักษาสันติภาพใน East Timor เป็นการแสดงความรับผิดชอบในเวทีนานาชาติของประเทศไทย หลังจากที่นานาชาติได้ช่วยเหลือเรา จะเห็นได้ว่าถึงแม้เรื่องแรกจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ และเรื่องที่สองเกี่ยวกับความมั่นคง แต่ 2 เรื่องนี้ มีส่วน มีความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกัน การเชื่อมโยงของมิติต่างๆในการเมืองระดับโลกเช่นนี้ จึงทำให้ประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องมีกองทัพ ที่สามารถ และพร้อมที่จะแสดงบทบาทบนเวทีโลก เพื่อเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือ ที่จะช่วยให้การต่างประเทศไทย มีอุปกรณ์ที่สามารถหยิบมาใช้…ได้หลากหลาย

สุดท้ายนี้อยากจะขอกลับไปย้ำอีกครั้งว่า 3 สิ่งที่ผมอยากเห็นในด้านการต่างประเทศไทย คือ

1. ประเทศไทยที่มองตัวเองเป็น Middle Power

2. ประเทศไทยที่มองเห็นโอกาสในปัญหาเมียนมา

3. ประเทศไทยที่มีกองทัพที่มีบทบาทต่อสังคมนานาชาติ

จะเกิดขึ้นได้ยาก หากบ้านของเราทุกคนหลังนี้ ยังเป็นบ้านที่ไฟไหม้ ซึ่งก็เปรียบได้กับปัญหาต่างๆภายในประเทศเช่น ความชอบธรรมทางการเมืองที่ถูกตั้งคำถาม และเศรษฐกิจที่ไม่หลุดพ้น จากความเหลื่อมล้ำเดิมๆ ซึ่งนั่น ก็ทำให้พลัง แห่งการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศไทยในระดับนานาชาติ นั้นถูกจำกัด…อยู่ อย่างน่าเสียดาย

  • สิ่งที่เห็น อยากให้ประเทศไทยเป็น : “ทนง พิทยะ” ชาตินิยมที่ถูก ต้องเดินหน้าแข่งกับประเทศที่รวยกว่าเรา
  • สิ่งที่เห็น อยากให้ประเทศไทยเป็น : ‘สมประวิณ มันประเสริฐ’ ชี้ข้อมูลที่สมบูรณ์ ‘หัวใจ’ ปลดล็อกกับดักรายได้ปานกลาง
  • สิ่งที่เห็น อยากให้ประเทศไทยเป็น : “เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์” ต้องมี Mechanism ที่ดีในการแก้ปัญหาเพื่อเดินไปข้างหน้า