ThaiPublica > เกาะกระแส > ถ้าฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์จีนแตกขึ้นมา จะส่งกระทบอย่างไรต่อเศรษฐกิจโลก

ถ้าฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์จีนแตกขึ้นมา จะส่งกระทบอย่างไรต่อเศรษฐกิจโลก

27 กันยายน 2023


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://www.cnbc.com/2023/08/18/china-property-developer-evergrande-files-for-bankruptcy-protection-in-us.html

บทความของสำนักข่าว Reuters เรื่องวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ของจีน รายงานว่า อดีตเจ้าหน้าที่ของจีนคนหนึ่งกล่าวว่า แม้แต่ประชากรจีน 1.4 พันล้านคน ยังไม่พอที่จะเข้าไปอยู่ในห้องพักที่ร้างของจีน เมื่อสิ้นเดือนสิงหาคม 2023 สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนเปิดเผยว่า พื้นที่พักอาศัยที่ขายไม่หมดมีจำนวน 648 ล้านตารางเมตร หากให้บ้านหลังหนึ่งเฉลี่ยมีขนาด 90 ตารางเมตร ก็จะเท่ากับว่ามีบ้านว่าง 7.2 ล้านหลัง

ผู้เชี่ยวชาญบางคนคาดการณ์ว่า จำนวนที่พักอาศัยร้างของจีนดังกล่าวนี้ ยังไม่รวมโครงการที่อยู่อาศัยอีกมากมาย ที่ขายหมดไปแล้ว แต่ยังสร้างไม่เสร็จ เนื่องจากโครงการขาดเงินหมุน หรือเป็นที่พักอาศัยที่นักลงทุนซื้อเก็งกำไรไว้ เพราะช่วงปี 2016 ตลาดอสังหาริมทรัพย์จีนรุ่งเรืองอย่างมาก

อดีตรองหัวหน้าสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนกล่าวว่า ในกรณีที่มองสถานการณ์เลวร้ายที่สุด จำนวนที่พักอาศัยที่ร้าง มีมากพอสำหรับคน 3 พันล้านคน ซึ่งอาจเป็นการมองสถานการณ์ที่เลวร้ายเกินไป แต่ตัวเลขคน 1.4 พันล้านคน คงเป็นการคาดการณที่น้อยไป ที่จะเข้าไปพักอาศัย ในบ้านร้างดังกล่าว

ที่มาภาพ : https://www.amazon.com/Great-Crashes-Lessons-Meltdowns-Prevent/dp/0241422752

‘จีน’ การตกต่ำครั้งใหญ่รายต่อไป?

ในหนังสือชื่อ The Great Crashes (2023) Linda Yueh จาก London School of Economics เขียนถึง “วิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่” (great crashes) ของโลกที่ผ่านมา และคาดการณ์ว่า จีนอาจเป็นกรณีการตกต่ำทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่รายต่อไป วิกฤติทางการเงินที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้ง จะแตกต่างจากวิกฤติ ที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ และไม่มีใครสามารถจะคาดการณ์ได้อย่างมั่นใจว่า วิกฤติครั้งต่อไปจะมาถึงเมื่อไหร่

แต่ที่แน่นอนก็คือว่า จะต้องมีวิกฤติครั้งต่อไปอย่างแน่นอน หากเรามองจากบทเรียนของวิกฤติเศรษฐกิจที่ผ่านมาในอดีต จะต้องจับตามองมาที่จีน

ก่อนหน้าจะเกิดการระบาดของโควิด-19 จีนเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่รายเดียว ที่เติบโตอย่างต่อเนื่องมาตลอดในช่วง 40 ปี เศรษฐกิจจีนยังไม่เคยเกิดปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่เลย แต่ไม่มีประเทศไหนที่จะสามารถขัดขืนวัฏจักรการขึ้นลงทางเศรษฐกิจไปได้ตลอด จีนก็ไม่น่าจะเป็นข้อยกเว้น

เนื่องจากมีสาเหตุ ที่อาจเป็นชนวนทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจในจีนได้หลายอย่าง เช่น ชนวนจากภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีหนี้สินมากมาย เกิดระเบิดขึ้นมา ชนวนการปล่อยเงินกู้นอกระบบธนาคารที่เป็นทางการ หรือจากสถาบันการเงินที่เรียกว่า “ธนาคารเงา” (shadow bank) เมื่อปี 2012 ธนาคารอเมริกาคาดว่า ธนาคารเงาจีนมีสัดส่วน 25% ของเงินให้กู้ทั้งระบบของจีน หรือชนวนอาจมาจากตลาดหุ้นจีนตกต่ำครั้งใหญ่

ภาคอสังหาริมทรัพย์จีน

The Great Crash กล่าวว่า จีนกำลังเผชิญปัญหาฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ ชนวนที่เคยทำให้เศรษฐกิจบางประเทศล้มพังลงมาแล้ว Evergrande บริษัทอสังหาริมทรัพย์ใหญ่อันดับ 2 มีหนี้สิน 305 พันล้านดอลลาร์ หรือ 2% ของ GDP จีน ถือว่าสูงมาก เมื่อมองว่า เศรษฐกิจจีนใหญ่อันดับ 2 ของโลก ส่วน Country Garden บริษัทอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 แม้จะไม่มีหนี้สินมากเท่า แต่ราคาหุ้นก็ร่วงลง เพราะตลาดกังวลต่อภาคอสังหาริมทรัพย์จีนโดยรวม

หนี้สินของ Evergrande มีมากที่สุด ในหมู่บริษัทพัฒนาอสังหารริมทรัพย์ของโลก หนี้สินส่วนใหญ่มีเจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงินของจีน มีเจ้าหนี้ส่วนหนึ่งเป็นนักลงทุนต่างประเทศ ปี 2021 ตราสารหนี้ของ Evergrande ซื้อขายกันที่ 25-50 เซนต์ต่อมูลค่าหนี้ 1 ดอลลาร์ หมายความว่า เจ้าหนี้คาดว่าจะได้เงินคืนแค่ 25-50% จากที่ให้บริษัทนี้กู้เงินไป

แต่สิ่งที่นักวิเคราะห์กังวลก็คือว่า Evergrande เป็นแค่หนึ่งในหลายบริษัทอสังหาริมทรัพย์ของจีน ที่ล้วนมีหนี้สินจำนวนมาก สิ้นปี 2021 บริษัทอสังริมทรัพย์ของจีน มีหนี้สินค้างชำระอยู่ 33.5 ล้านล้านหยวน (5.24 ล้านล้านดอลลาร์) เทียบเท่ากับ 1 ใน 3 GDP ของ จีน หลายบริษัทตกอยู่ในสภาพแบบ Evergrande คือผิดนัดชำระหนี้

หากการผิดนัดชำระหนี้มีเพิ่มมากขึ้น ก็มีโอกาสที่จะเกิดวิกฤติทางการเงิน เมื่อบริษัทอสังหาริมทรัพย์เกิดล้มละลายขึ้นมา ก็จะดึงธนาคารให้ร่วงหล่นตามลงมาด้วย หนี้สินด้านอสังหาริมทรัพย์มีสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 4 ของเงินปล่อยกู้ของธนาคารในจีน สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อสิงหาคม 2022 ว่า หน่วยงานกำกับดูแลธนาคารของจีน ได้เข้าไปตรวจสอบเงินกู้ยืมด้านอสังหาริมทรัพย์ เพื่อประมาณความเสี่ยงต่อระบบการเงินทั้งระบบ

บริษัทอสังริมทรัพย์จีน ที่มีปัญหาทางการเงิน ทำให้ไม่สามารถดำเนินโครงการก่อสร้างที่พักอาศัยจนแล้วเสร็จ แม้จะขายหมดไปแล้ว มีรายงานว่า เฉพาะ Evergrande รายเดียว มีโครงการสร้างที่พักไม่เสร็จ 1.4 ล้านหน่วย ปัญหาอสังริมทรัพย์ของจีนมีผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนที่เกี่ยวข้อง และต่อเศรษฐกิจ เนื่องจากมีสัดส่วนถึง 29% ของผลผลิตทางเศรษฐกิจของประเทศ

The Great Crash มองว่า นโยบายของรัฐบาลจีน มีส่วนทำให้ธุรกรรมของภาคอสังหาริมทรัพย์อ่อนตัวลง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายสี จิ้นผิงเรื่อง “ความรุ่งเรืองร่วมกัน” (common prosperity) ที่เรียก “ภูเขา 3 ลูก” ได้แก่ บ้านพักอาศัย สาธารณสุข และการศึกษา เนื่องจากเศรษฐกิจจะเติบโตช้าลง แผนงานรัฐบาลคือทำให้การศึกษา สาธารณสุข และที่พักอาศัย เป็นสิ่งที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น รัฐบาลใช้มาตรการเช่น “ภาษีทรัพย์สิน” สำหรับบ้านราคาแพง หรือการมีบ้านหลังที่สอง เป็นต้น

ที่มาภาพ : https://www.scmp.com/property/hong-kong-china/article/3162227/evergrande-crisis-four-grandiose-projects-sum-indebted

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก

ภาคอสังหาริมทรัพย์จีน ที่มีหนี้สินจำนวนมาก มีโอกาสสูงที่จะสร้างวิกฤติครั้งใหญ่ทางเศรษฐกิจ หากภาคอสังหสาริมทรัพย์เกิดพังทลายลง จะเป็นชนวนทำให้เกิดวิกฤติต่อระบบธนาคารจีน แต่หนี้สินแทบทั้งหมดของจีน เป็นการกู้ยืมภายในประเทศ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก อาจบรรเทาลงไป เพราะเจ้าหนี้ส่วนใหญ่เป็นองค์กรและคนภายในประเทศ ส่วนการที่รัฐบาลเข้ามาอุ้มช่วยเหลือธนาคาร จะทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจซบเซานานนับสิบปี หรือมากกว่านี้ แบบเดียวกับที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น

The Great Crash วิเคราะห์ว่า หากวิกฤติทางการเงินทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงอย่างรวดเร็ว จะมีผลอย่างไรต่อเศรษฐกิจโลกนั้น ส่วนที่ได้รับผลกระทบอย่างมากคือ สินค้าโภคภัณฑ์ ที่จีนเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่สุดของโลก ต่อสินค้าทุน ที่จีนเป็นผู้ซื้อรายใหญ่สุดเช่นกัน และสินค้าผู้บริโภคอื่นๆ ซึ่งจะทำให้บริษัทธุรกิจทั่วโลก มีผลกำไรลดน้อยลง

หากความต้องการของจีนด้านวัตถุดิบ และสินค้าโภคภัณฑ์ลดน้อยลง ทำให้การนำเข้าน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางและแอฟริกา ลดลงไปด้วย การเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเหล่านี้ก็จะลดลง ปัจจุบัน ชะตากรรมเศรษฐกิจทวีปอเมริกาใต้ ขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจจีน เพราะจีนแซงหน้าสหรัฐฯ กลายเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่สุดของลาตินอเมริกา ก่อนหน้านี้ การขึ้นลงทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ ขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ

กลุ่ม EU เป็นคู่ค้ารายใหญ่สุดของจีน และจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 2 ของ EU รองจากสหรัฐฯ การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีน จะมีผลกระทบต่อ EU เช่น ยอดขายบริษัทรถยนต์เยอรมันในจีนลดลง บริษัทอเมริกันจะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน แม้ว่าการส่งออกของสหรัฐฯไปจีนมีสัดส่วนแค่ 1% ของ GDP สหรัฐฯ แต่ Apple ขาย iPhone ในจีนได้จำนวนมากกว่าที่ขายในสหรัฐฯ

แต่การมองเศรษฐกิจจีนในเชิงลบ คือสิ่งที่ตรงกันข้ามการคำอธิบายอย่าง “เป็นทางการ” ของจีน ถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นว่า เศรษฐกิจจีนมีความสามารถ ในการกลับคือสู่ภาวะปกติ หลังจากเกิดปัญหา เมื่อเร็วนี้ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนกล่าวว่า

“คำวิจารณ์ทั้งหลายที่คาดการณ์การพังทลายของเศรษฐกิจจีน มักปรากฏขึ้นมาเป็นระยะ แต่สิ่งที่พังทะลายกลับเป็นสำนวนโวหารดังกล่าว ไม่ใช่เศรษฐกิจจีน”

เอกสารประกอบ
Even China’s 1.4 billion population can’t fill all its vacant homes, former official says. September 25, 2023, reuters.com
The Great Crash: Lessons from Global Meltdowns and How to Prevent Them, Linda Yueh, 2023, Penguin.